Product

“ตุ๊กตาแก้ว” สะท้อนความเป็นไทย
หลอมหยาดเหงื่อและแรงใจสร้าง

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 14 Jan 2022
Views: 546

ตุ๊กตาแก้วรูปช้างท่วงท่างดงาม ตกแต่งด้วยสีทองวาววับ ประดับคริสตัลหลากสีล้อแสงไฟเป็นประกาย ถูกตาต้องใจผู้มาเยือนจากต่างแดน เขามักนำกลับไปเป็นของฝากหรือของที่ระลึก เพื่อจดจำว่าครั้งหนึ่งเคยได้มาเยือนสยามประเทศ

“มีตั้งแต่รูปช้างทรง ช้างศึก ช้างโพธิ์ทองที่สื่อถึงความร่มเย็น และอีกหลายแบบ…แต่ช้างทรง เป็นชิ้นที่ขายดีที่สุด” รอยยิ้มของผู้ที่รังสรรค์ผลงานชิ้นสวยเป็นเครื่องยืนยันถึงความภูมิใจ เพราะกว่าจะได้ตุ๊กตาช้างมาแต่ละตัวต้องอาศัยความอดทนต่อความร้อนของเปลวไฟและสมาธิอันมุ่งมั่นตลอดระยะเวลาการทำงาน

นี่คือผลงานที่รวบรวมงานหัตถศิลป์ไทยสวยๆ มานำเสนอให้นักท่องเที่ยวโดยมี คิง เพาเวอร์ เป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้คนไทยได้มีอาชีพ…มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

ยิ่งไปกว่านั้น “งานเป่าแก้ว” ที่งดงามแบบใช้คำบรรยายว่า “วิจิตรบรรจง” ได้อย่างเต็มที่ คอลเล็กชันที่อยู่ในแบรนด์นี้นั้น เป็นงานฝีมือของผู้พิการ!!!

 

ก้าวแรก…จากมิอาจก้าว

ถ้านำชีวิตคนมาเปรียบเทียบกับการเป่าแก้ว จากแก้วแท่งตันตรงๆ หากจะดัดหรือแปรเป็นรูปร่างก็ต้องอาศัยความร้อน ค่อยๆ เพิ่มแรงไฟเข้าไปจนแก้วเริ่มหลอมจึงจะสร้างสรรค์ได้ดังใจหวัง ชีวิตคนเรา…ก็ต้องอาศัยความอุตสาหะ อดทน ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ฝึกฝน หล่อหลอมทุกสิ่งให้กลายเป็นความสำเร็จ  แต่สำหรับ ภพต์ เทภาสิต ในฐานะนายกฯ อาจต้องเหนื่อยมากกว่านั้น เพราะเขาเริ่มจากแท่งแก้วที่แตกกระจาย กว่าจะหลอมชีวิตขึ้นมาใหม่ได้ก็ใช้เวลามากกว่าคนอื่น

เมื่อปี 2536 เขาประสบอุบัติเหตุทางถนน กระดูกสันหลังหัก กล้ามเนื้อช่วงล่างไม่มีความรู้สึกใดๆ ชีวิตหนุ่มวัยเบญจเพสที่กำลังรุ่งโรจน์ก็ร่วงหล่นสู่พื้นดิน

“ก็พยายามเรียนปั้นแป้งเป็นตุ๊กตาเพื่อนำไปขาย ตอนนั้นขายได้ชิ้นละ 10-20 บาท การตลาดก็ไม่ค่อยดีเท่าไร และยังเจอสังคมมองเราว่าไร้ค่าด้วย” แต่เขารู้ดีว่า การเสียโอกาสในการเดินไม่สามารถหยุดความก้าวหน้าของเขาได้ ยิ่งมัวมานั่งท้อแท้ยิ่งจะทำชีวิตหยุดชะงัก

นายกสมาคมคนพิการจังหวัดนนทบุรีได้ชวนเขาไปเรียนรู้อาชีพต่างๆ มากกว่า 30 อาชีพ ไปทดลองทำ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ มุ่งทั้งสร้างอาชีพให้ตนเองและนำไปสอนสมาชิกคนอื่นๆ “ไปดูว่าอาชีพไหนที่คนพิการเรียนรู้ได้ นำไปพัฒนาเป็นอาชีพได้จริง มีผลกำไรที่สูง อย่างพวกผลิตพิมเสนน้ำ ยาดม ยาหม่อง มีคนทำกันเยอะ ราคาขายไม่ได้สูงมาก โอกาสทำกำไรหรือได้เงินเป็นกอบเป็นกำก็ยาก แต่งานเป่าแก้วจะขายได้ราคาดีกว่า ในตลาดมีคู่แข่งน้อยมาก”

ที่มีคู่แข่งน้อยนั้นมีเหตุผล  การจะเป็นช่างเป่าแก้วที่สร้างผลงานได้สวยงามต้องใช้เวลาฝึกฝนนาน  เวลา 1-2 ปี ยังทำได้แค่พื้นฐาน กว่าจะชำนาญจนทำงานชิ้นใหญ่ๆ มีรายละเอียดซับซ้อนอาจต้องฝึกปรือเกิน 5 ปีขึ้นไป “ต้นทุนแพงด้วยนะ หัวแก๊สหัวหนึ่งก็หลายพันแล้ว ไหนจะถังแก๊สหุงต้ม ไหนจะถังออกซิเจน ทุนเริ่มต้นอาจถึง 2-3 หมื่นเลยนะ”

เขาจึงใช้วิธีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างงาน

 

(ผลงานของ) “ก้าวต่อไป”…ด้วยความเชื่อ

ในช่วงแรกกลุ่มของภพต์เป่าแก้วเป็นรูป 12 นักษัตร นำความเชื่อของผู้คนมาใช้ในการตลาด “จากความเชื่อเรื่องการเสริมดวง เสริมราศี นำตัวนั้นตัวนี้ไปแขวนหรือห้อยเพื่อเสริมดวง หรือนำวางในร้านแล้วค้าขายรุ่งเรืองอะไรแบบนั้น”

ใช้แท่งแก้วตันหลายขนาดตั้งแต่ 3-5 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของชิ้นงาน มาเผาด้วยไฟจากแก๊สหุงต้มผสมกับออกซิเจน ซึ่งจะมีความร้อนสูงถึง 1,800 เซลเซียส พอแก้วเริ่มอ่อนตัวก็จะขดรวมกันให้เป็นตัวที่ใหญ่ขึ้น หรือถ้าดึงยืดออกก็จะเป็นเส้นเล็กลงกลายเป็นหางหรืองวง เมื่อทำเสร็จแล้วก็ทิ้งให้เย็นแล้วทาด้วยสีสำหรับเพนต์แก้ว บางส่วนที่เป็นสีทอง ใช้น้ำทองทาเคลือบลงไป ตอนแรกจะดูเป็นสีเหลืองด้านๆ ต้องนำเข้าเครื่องอบในอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง เพราะถ้าร้อนเกินไปชิ้นงานจะแตกร้าว

ถึงแม้จะมีครูคอยให้คำแนะนำและผ่านการทำงานมายาวนาน ทุกวันนี้ตุ๊กตาแก้วก็ยังคงออกมาร้าวอยู่บ้าง โดยเฉพาะชิ้นใหญ่ๆ นำไปอบ 5 ตัว ก็อาจจะร้าวไปสัก 2 ตัว

“มือใหม่ๆ ทำตัวหนึ่งอาจใช้เวลาไป 1-2 ชั่วโมง ถ้ามือเก่าๆ ทำแป๊บเดียวก็เสร็จ การใช้เวลานานก็จะเปลืองแก๊ส เปลืองออกซิเจน จะหมดทุนไปกับตรงนี้มากอยู่”

เมื่อความชำนาญสูงขึ้น ก็เริ่มคิดถึงชิ้นงานที่ขนาดใหญ่ขึ้น ใส่รายละเอียดเข้าไปสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้สูงยิ่งกว่าเดิม จากงาน 12 นักษัตร ที่ขายได้ตัวละ 50 บาท เมื่อทำเป็นตัวกิเลน หรือ ปี่เซียะ ตัวโตๆ ราคาก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายพันบาท แม้จะต้องลงทุนเพิ่มและยังลุ้นกันการแตกร้าวเพราะชิ้นยิ่งโตยิ่งร้าวง่าย ก็ยังถือว่าได้กำไรเพิ่มขึ้น

(ตุ๊กตาแก้ว) ก้าวใหญ่…สู่ความเป็นไทย

จากกลุ่มผู้พิการเล็กๆ ในจังหวัดนนทบุรี ร่วมมือกันสร้างอาชีพเลี้ยงตัว ก็ได้ขยายวงกว้างขึ้นๆ เมื่อปี 2554 ก็ได้กลายเป็นสหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์คนพิการไทย ดูแลผู้พิการทั่วประเทศมากกว่า 400 คน โดยมี ภพต์ เทภาสิต เป็นประธานสหกรณ์

ทางกลุ่มเริ่มนำความเป็นไทยเข้ามาใส่ในชิ้นงาน อาจเป็นศิลปวัฒนธรรมไทย หรือสัญลักษณ์ที่เมื่อเห็นแล้วจะนึกถึงเมืองไทย เช่น ช้างไทยและเรือสุพรรณหงส์ เรือสุพรรณหงส์ลำใหญ่สุดที่เคยทำมีขนาด 2 ฟุต จากแท่งแก้วเราก็หลอมให้ละลาย แล้วทำการสานหรือถักไปทีละนิดๆ เป็นงานที่อาศัยเวลามาก กว่าจะเสร็จทั้งชิ้นใช้เวลาร่วมเดือน”

ไม่ใช่เพียงความละเอียดในการเป่าแก้วและการเคลือบทองเท่านั้น แต่ยังมีคริสตัลที่ถูกนำมาประดับแทนการทาสี เพิ่มมูลค่าผลงานให้สูงยิ่งขึ้น “เราใช้กาวติดคริสตัล แต่บางทีก็ต้องเจาะผิวแก้วด้วยสว่านหัวเล็กๆ เบาๆ พอที่จะเกิดรอย เพื่อให้กาวยึดติดกับผิวแก้วได้แน่นหนาขึ้น”

“ในจำนวนสมาชิก 400 กว่าคน มีคนที่เป่าแก้วสร้างชิ้นงานได้แค่ประมาณ 23 คนเท่านั้น ที่เพราะมันยากจริงๆ เวลาทำก็ต้องไม่มีลม ถ้ามีลมไฟจะเปลี่ยนทิศเป็นอันตราย มันเลยร้อนมาก ตอนทำชิ้นงานแทบจะแก้ผ้าทำ แล้วคนเป่าแก้วต้องมีสมาธิสูงนะ เพราะเวลาฟังเสียงไฟแก๊สฟู่ๆ นานๆ จะพาให้ง่วง ถ้าแก้วร้อนๆ เป็นพันองศากระเด็นใส่แขนขาก็เป็นเรื่องใหญ่เลยล่ะ”

ผลงานเป่าแก้วของกลุ่มเริ่มโด่งดังในแวดวง OTOP และ คิง เพาเวอร์ ก็ได้คัดสรรชิ้นงานสวยๆ มาจำหน่ายในหมวดสินค้าที่ระลึก

ตัวที่ขายดีที่สุด คือ รูปช้างทรง เป็นช้างที่มีการประดับคริสตัลสวยงาม ตอนหลังก็พัฒนาเป็นรูปช้างแบบอื่น เช่น ช้างรบ ช้างร่มโพธิ์ ช้างน่ารักที่ได้ต้นแบบมาจากหนังการ์ตูน  และยังมีรูปม้าที่ขนาดใหญ่กว่าช้าง 2 เท่า เป็นรูปม้ากระโจนประดับคริสตัล แอบได้ยินว่าทำยากกว่าช้างเสียด้วย เพราะมันใช้ขาหลังสองขากับหางในการตั้ง จึงต้องทำให้สมดุลที่สุดไม่ให้ล้มง่าย

“นอกจากต้องระวังตอนอบสีทองไม่ให้แก้วร้าว ความยากเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง คือ คิง เพาเวอร์ จะกำหนดขนาดและน้ำหนักมาด้วย ธรรมชาติของแก้วเมื่อเย็นลงจะหดลงเล็กน้อย ถ้าเขาออร์เดอร์มา 100 ตัว เราต้องทำ 200 ตัว เพื่อมาคัดขนาดและน้ำหนักให้ใกล้ที่กำหนดมาที่สุด”

เพื่อเพิ่มมูลค่าชิ้นงานจะบรรจุในกล่องผ้าไหม หรือ ตู้กระจก ซึ่งได้สร้างงานให้กับผู้พิการเพิ่มขึ้น เพราะทางสหกรณ์ได้แบ่งงานให้ทำกันคนละหน้าที่ คนเป่าแก้วก็ทำเป็นชิ้นงานออกมา คนที่เคลือบสีทอง คนประดับคริสตัล ก็เป็นคนละคนกัน กล่องและตู้ก็คงจะส่งให้กับผู้ที่มีความสามารถในด้านนี้เป็นผู้ผลิต ซึ่งบางทีก็กระจายงานไปถึงคนในครอบครัวซึ่งไม่ได้พิการอีกด้วย

(ชิ้นที่ได้จาก) ก้าว…ที่ภาคภูมิใจ

จากแก้วที่แตกกระจาย เมื่อได้แรงไฟที่เหมาะสมหลอมเศษเสี้ยวเหล่านั้นรวมกันใหม่อีกครั้ง ก็พร้อมจะช่วยผลักดันให้คนที่ล้าแรง ได้สร้างตนเป็นรูปเป็นร่าง มีความแข็งแกร่ง สร้างสรรค์สิ่งงดงามที่ผสานความเป็นไทยให้ประจักษ์ต่อสายตาประชาคมโลกต่อไป

“คนพิการไม่ได้ไร้คุณค่า หากใจเราสู้ ค้นหาความสามารถในตัวให้เจอ เชื่อว่าทุกคนสามารถกลับมายืนในสังคมอย่างภาคภูมิใจเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปแน่นอน”

แม้มิอาจก้าวเดิน…แต่การก้าวไปข้างหน้าของผู้สร้างสรรค์ “ตุ๊กตาแก้ว” ช่างมั่นคงเหลือเกิน

Facebook: สหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์คนพิการไทย จำกัด 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: สหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์คนพิการไทย

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ชุมชนคนมอญที่ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมไว้ให้เราได้สัมผัส มีเครื่องปั้นดินเผาชั้นดีเป็นพระเอกของเกาะ สามารถซื้อหากลับบ้าน หรือจะลองลงมือปั้นกับเขาเลยก็ได้

สวนมาลัยบัววิคตอเรีย อ.บางบัวทอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สามารถรื่นรมย์กับ ‘บัววิคตอเรีย’ หรือบัวกระด้งยักษ์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร รับน้ำหนักได้ถึง 80 กิโลกรัม ถ้าตกลงบนใบบัวก็ไม่ต้องกลัวจมน้ำสินะ

Street Art เมืองนนท์ Street Art เก๋ๆ อยู่ใต้สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ อ.เมือง จ.นนทบุรี หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า สะพานนนทบุรี 1 เขานำพื้นที่ว่างมาแปลงร่างเป็นแกลเลอรีกลางแจ้ง มีภาพวาดสะท้อนวิถีชีวิต สถานที่สำคัญ และเรื่องราวของชุมชนเมืองนนท์ในสมัยก่อน ให้เราได้พักผ่อนหย่อนใจและถ่ายรูปสนุกๆ ไปพร้อมกัน

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ