Product

‘นายใจดี’ ปักความไทย-ล้านนา
ลงบนผ้าฝ้ายด้วยมือ
ผลผลิตจากเชียงใหม่ที่น่าภูมิใจ

ม.ล.จินดาภรณ์ ชยางกูร 20 Jan 2022
Views: 3,360

นายใจดี หรือแบรนด์ Ninechaidee นั้นมีความหมายอย่างชื่อจริงๆ “พี่ชื่อ ‘นาย’ นามสกุล ‘ใจดี’ ค่ะ” แต่อีกสิ่งที่แฝงในชื่อของแบรนด์ก็คือพี่นายเจ้าของแบรนด์นั้นเป็นมีน้ำเสียงใจดี ราวกับว่านามสกุลนี้ขยายตัวตนความเป็นเธอไปด้วยในตัว

อย่างที่เราเห็นและสัมผัสได้เลยทันที คือสินค้าของนายใจดีนั้นนำผ้าฝ้ายมาแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลาย ทั้งเสื้อที่มีหลายสไตล์ หมวก กระเป๋า และหน้ากากผ้าที่บอกเลยว่าเป็นที่นิยมมากตั้งแต่วางขาย “เราแปรรูปสินค้าจากผ้าฝ้ายและทุกชิ้นจะตกแต่งด้วยงานปักมือ”

นั่นหมายความว่าไม่ใช่ว่าการดีไซน์แต่ละแบบแต่ละลายนั้นใส่ความแบรนด์ลงไปเพื่อให้ถูกจดใจ แต่หัวใจของคนสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นถูกบรรจุลงไปด้วยระยะเวลาที่ใช้กับสินค้าแต่ละชิ้นตั้งแต่ฝีเข็มแรกจนสุดท้าย…สมชื่องานแฮนด์เมด

 

ทำในสิ่งที่ทำได้ และทำด้วยใจที่รัก

“เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ลาออกจากงานประจำแล้วก็มาสร้างแบรนด์” ตัดสินใจลุยเอง ด้วยประสบการณ์ที่มีในเส้นทางนี้อยู่แล้ว เธอคลุกคลีกับผ้าและงานฝีมือ พอจะรู้ว่าจะต้องไปทางไหน “ความจริงตั้งใจลาออกมาเลี้ยงลูก แต่ก็อยากทำอะไรที่คุ้นเคย” จากนั้นพี่นายก็ออกแบบสินค้าของเธอเองแล้วนำไปเสนอวางตามร้าน

“ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ แต่เราก็เข้าโครงการ OTOP แล้วก็ค่อยๆ สร้างแบรนด์นายใจดี” ในแต่ละปีก็จะมีข่าวดีที่บอกว่าแบรนด์เธอค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้า พัฒนาด้วยความตั้งใจ “เราทำงานร่วมสมัย ไม่ดั้งเดิมและไม่โมเดิร์นเกินไป เราใช้งานปักบนสไตล์ที่ดูทันสมัย จะเห็นลวดลายเลยว่านี่คือเอกลักษณ์ของแบรนด์”

ความไทย-ล้านนา ที่มาจากวัยเด็ก

ความตั้งใจของนายใจดีคือการส่งต่อความสุข เพราะฉะนั้นโลโก้ที่ใช้ก็ดูคล้ายจะเป็นรอยยิ้มเช่นกัน ใครได้แค่เห็นก็มีความสุข ความโดดเด่นของสินค้าสำหรับผู้ซื้อไม่ได้อยู่ที่แค่การปักมือที่ก็ถือว่าประณีตและดูอ่อนโยน แต่ลวดลายที่ไม่ซ้ำใคร อย่างกระเป๋าผ้าฝ้าย ลวดลายตัวอักษร

“ตอนแรกที่เริ่มดีไซน์ลายนี้มาจากที่ต้องสอนลูกเขียน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก เราเลยใช้อักษรไทยมาใช้กับแบรนด์” เธอเลยลองลงสินค้าดูแล้วปรากฎว่าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และกระเป๋าลายตัวอักษรนี้หากพลิกหน้าพลิกหลังดูจะรู้ว่าตัวอักษรสองด้านไม่เหมือนกัน “อีกด้านเป็นตัวอักษรภาษาล้านนา สมัยนี้ไม่ค่อยมีโรงเรียนไหนสอนกันแล้ว”

ความร่วมสมัยในลวดลายตัวอักษรสองภาษาที่อยู่บนถูกผ้าใบเดียว ที่พี่นายได้อนุรักษ์เอาไว้อย่างไม่แน่ใจว่าเธอรู้ตัวหรือไม่ อีกยังมีลายดอกไม้ ลายธรรมชาติ “เราได้แรงบันดาลใจจากเหล่าธรรมชาติรอบตัวเรา และวิถีชีวิต”

 

ก้าวต่อไปของนายใจดี แบรนด์สีเขียวที่ชาวบ้านภูมิใจ

แบรนด์ของพี่นายทำงานร่วมกับชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ “เราถนัดเรื่องงานปักมือ จะมีบ้างในการย้อมสีธรรมชาติ แต่จะเป็นแค่บางคอลเล็กชัน ส่วนใหญ่เรายังเน้นผ้าฝ้าย”

อีกข่าวดีที่เพิ่งได้รับมาไม่กี่เดือนนี้คือ นายใจดี ได้รับมาตรฐาน Green Production ระดับดีเยี่ยม(Gold) ซึ่งถือว่าสูงสุดแล้วในตลอดการรองรับที่ได้มาของมาตรฐานนี้ เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกณฑ์คร่าวๆ ก็คือจะต้องไม่มีการใช้วัตถุดิบ สารเคมี หรือแรงงานที่ผิดกฎหมาย และห่วงโซ่การผลิตจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการ

ชุมชนออนใต้จากคำบอกเล่าของพี่นาย เดิมเคยอยู่ที่เชียงรายแล้วถึงได้อพยพมาที่เชียงใหม่ “หมู่บ้านนี้ได้เป็นหมู่บ้าน CIV (Creative Industry Village) ของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย” ให้อธิบายง่ายๆ ก็คือเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่มีสมดุลของการนำวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผสมผสานกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และออกแบบเป็นสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั่นเอง

ลวดลายที่ใช้สายตาดึงดูดมาสู่สินค้าไทย

อย่างที่เล่ามาว่าสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ภายใต้แบรนด์นายใจดี มีให้เลือกหลากหลาย ใช้สอยได้หลายประโยชน์ เช่น หมวก หน้ากากผ้า เสื้อผ้า กระเป๋า ปักลวดลายดอกไม้น่ารัก วิถีชีวิตชุมชนออนใต้ที่ล้นเสน่ห์ และยังมีตัวอักษรไทย-ล้านนา ยังมีลวดลายที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์แบรนด์นายใจดีที่ทำให้ใช้ง่ายอีกด้วย

แต่ที่วางขายเฉพาะกับ คิง เพาเวอร์ นั้นพิเศษก็ตรงที่ หน้ากากผ้า หมวก และกระเป๋าผ้า ปักลายดอกไม้ พี่นายเพิ่มเติมให้ว่าความจริงเสื้อบางแบบก็วางขายเฉพาะกับที่นี่เช่นกัน “เราจะมีเสื้อแบบที่เป็น 2 in 1 ลูกค้าบางท่านอาจจะไม่ทราบว่าใส่ได้สองแบบ” แต่คอเสื้อ 2 in 1 ที่พี่นายดีไซน์ออกมาคือ จะใส่เป็นคอวีก็ได้หรือคอปาดก็ได้ แล้วแต่สไตล์ของคนใส่ “เป็นแบบที่ลูกค้าก็ชอบมากเหมือนกัน”

“ลูกค้าซื้อเสื้อตัวนี้จากทางเว็บไซต์ของ คิง เพาเวอร์ ค่ะ” ในยุคสมัยนี้อะไรๆ ก็ออนไลน์ไปหมด ลองคิดดูว่าสินค้าจากชุมชนในเชียงใหม่ กระจายไปทั่วประเทศอย่างง่ายดายผ่านช่องทางการขายออนไลน์นี้เอง ใครที่ไม่สะดวกไปซื้อด้วยตัวเองก็ยังซื้อได้ และทางแบรนด์นายใจดีก็วางสินค้าส่วนใหญ่กับทาง คิง เพาเวอร์ เพราะลูกค้าซื้อง่ายกว่าถ้าจะต้องเดินทางมาหาพี่นายด้วยตัวเอง “บางทีก็ต้องไปออกบูธตามจังหวัดต่างๆ ด้วย ซื้อออนไลน์ก็สบายกับลูกค้า”

ส่วนหน้ากากผ้าของนายใจดีก็ขายดีตั้งแต่เริ่มมีโรคโควิด-19 ระบาดระยะแรก “ในช่วงที่ผู้คนใส่แค่หน้ากากชั้นเดียวก็ป้องกันได้ ขายดีมาก แต่พอปีนี้ต้องมีอีกชั้นมาเสริมเพิ่ม ลูกค้าก็ยังซื้อหน้ากากผ้าของเราไปใช้ได้ เพราะมีช่องสำหรับใส่หน้ากากอนามัยให้ด้วย” พี่นายย้ำว่าใส่สองชั้นสบายใจกว่า ป้องกันให้แน่ใจ “เราใช้ผ้าฝ้ายทอมือ อากาศถ่ายเทได้ ทำให้หายใจสะดวกไม่อึดอัด”

 

พัฒนาแบรนด์ พัฒนาสินค้า ให้นายใจดีไปต่อได้เสมอ

เมื่อแบรนด์ทำงานร่วมกันชุมชน สร้างสรรค์สินค้าเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสวัฒนธรรมอย่างง่ายที่สุด ก็เท่ากับว่าต้องพัฒนาอยู่เสมอ “นี่คือผลงานของคนในชุมชนจริงๆ นอกจากสวยงามและประณีตแล้ว งานปักของนายใจดีเราแสดงวัฒนธรรมของผู้คนให้โลกได้เห็น” และก็พัฒนาสินค้าให้ทันยุคสมัยไม่ทิ้งความเป็นไทยอยู่เสมอ

คอลเล็กชันต่อไปจะเป็นสไตล์มินิมอล น้อยหน่อยแต่ชัดเจน เพราะพี่นายจะคอยอัปเดตตัวเองตลอดเวลา เธอหาความรู้ตลอดเวลา “ตอนนี้ก็เรียนเรื่องแพ็กเกจเพิ่ม แบรนด์ DNA เราต้องเรียนเพื่อปรับปรุงให้แบรนด์เป็นไปตามเป้าหมาย เราได้เข้าห้างแล้ว ก็อยากจะเพิ่มกลุ่มลูกค้า เราต้องรู้จักลูกค้าและหาว่าความต้องการของเขากับแบรนด์ของเรามีอะไรตรงกันได้บ้าง” จากที่คุณแม่ต้องหยุดช็อป ก็มีคุณลูกช็อปไปด้วยกันแล้ว

นายใจดีเป็นผลผลิตจากบ้าน คือชุมชนที่พี่นายอยู่อาศัย และดีไซน์ก็ได้อินสไปเรชันจากคนในบ้านของเธอเอง การเก็บเกี่ยวสิ่งรอบตัวมานำเสนอได้แบบนายใจดี ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจยาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ และที่สำคัญคือ ‘นายใจดี’ ได้ส่งความรู้สึกเป็นมิตรออกมาทำให้ใครเห็นก็รู้สึกอยากยิ้มให้สินค้า อยากส่งต่อรอยยิ้มด้วยเสื้อผ้า กระเป๋า หน้ากากผ้า หรือว่าแม้แต่หมวกให้กับคนที่รัก นี่อาจจะเป็นเป้าหมายสำคัญจุดหนึ่งที่จะยังถูกรักษาไว้ตลอดไป

 

นายใจดี

ที่ตั้ง: ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

 

Facebook: NINE CHAIDEE 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: NINE CHAIDEE

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

ประตูท่าแพ หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ยังอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนปัจจุบัน ผู้คนยังคงมองเห็นและใช้ชีวิตห้อมลอมกำแพงอิฐเก่าแก่นี้ที่ล้อมรอบคูเมืองและตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ชั้นใน

วัดป่าตึง จากวัดร้างที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กันกับวัดเชียงแสน ที่ได้รับการบูรณะและเป็นที่รู้จักขึ้นมาจากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ แห่งล้านนา เป็นที่ตั้งสรีรสังขารของหลวงปู่ให้ผู้คนได้มาศรัทธากัน

อนุสรณ์สถานช้างเผือกพลายภูบาลรัตน์ สถานีใบยาสูบแม่ผาแหน ช้างเผือกที่เกิดที่ตำบลออนใต้เชือกนี้ที่ชาวบ้านได้น้อมถวายให้เป็นช้างเผือกเชือกที่ 2 ของรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2509 จนช้างเผือกได้เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวาน ชาวบ้านจึงสร้างอนุสรณ์สถานช้างเผือกขึ้น

Author

ม.ล.จินดาภรณ์ ชยางกูร

Author

นักเขียนที่ชอบออกไปข้างนอกเพื่อได้กลับบ้าน สนุกกับการฟังมากกว่าพูด และอ่านบันทึกการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจโลกและผู้คนจากมุมมองของคนที่หลากหลาย