Passion

วิถีสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ
แบบ ANIME AS LEADERS

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 16 Dec 2022
Views: 520

กลุ่มเด็กหนุ่มที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงทางด้านดนตรีมารวมตัวกัน ในนาม Anime As Leaders วงที่ผ่านเข้ารอบมาจากสนามกรุงเทพฯ กับลีลาโชว์ที่ไม่ธรรมดา พวกเขาเป็นนักศึกษาจาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งสร้างชัยชนะให้กับตัวเอง ด้วยการคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รุ่น Class C ประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดมาครอง จากเวที THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ พลังคนไทย

อนิเมะ แอส ลีดเดอร์ส เป็นวงที่ตั้งขึ้นในรูป ทริโอ้ แบนด์ ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ
อันดา – อลันดา ฉันทรัตนโชค (กีตาร์) กัน – ถิรคุณ มาศศรี (เบส) และ TJ – Tristan Josh Trinidad (กลอง) พวกเขาร่วมกันฉีกกฎเกณฑ์ทางดนตรีด้วยการจับดนตรีแจ๊สมาสรรสร้างเป็นแนวทางใหม่ ด้วยความที่แต่ละคนเป็นนักเรียนดนตรี ทำให้ซาวนด์ดีไซน์ที่ทำออกมา มีเมโลดี้ที่ฟังแล้วแปลกหูไม่เหมือนใคร

นี่คือวงดนตรีที่น่าจับตาอีกหนึ่งวงจาก เวที THE POWER BAND กับคาแรกเตอร์ทางดนตรีให้ความแปลกหู แปลกตาในอรรถรสยามบรรเลงเพลง จนเราอยากพาไปทำความรู้จักกับวิชันทางดนตรีของทั้ง 3 หนุ่ม ที่มาพร้อมแนวคิด “นอกกรอบ” ขนานแท้

 

คัมภีร์ความสำเร็จ แบบ Anime As Leaders

• เมื่อเจออะไรที่ชอบ ต้องมุ่งมั่น
• ตั้งใจค้นหาเวทีแสดงออกผลงาน
• ใช้เวทีบีบให้ตัวเองมีพัฒนาการ
• ต้องโฟกัสสิ่งที่ควรทำให้ได้ แล้วไปให้สุดทาง

 

แตกต่างที่ลงตัว

การมาเจอกันของสมาชิกทั้ง 3 มีจุดร่วมตรงที่พวกเขาเป็นเพื่อน-พี่น้องที่เรียนอยู่สถาบันเดียวกัน เลยทำให้แต่ละคนจูนเข้าหากันง่ายดาย แม้เส้นทางชีวิตในวัยเด็กของแต่ละคนจะต่างที่มา แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของการมารวมตัวเพื่อทำในสิ่งที่รักเหมือนกัน นั่นคือ การเล่นดนตรี

อันดา ผู้เติบโตมาในวิถีของเด็กที่ชอบเล่นเกมชนิดเข้าเส้น อันดาเป็นคนที่ทุ่มเทในแต่ละสิ่งที่ทำสูงมาก เขาจึงมีเป้าหมายการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใคร “การเล่นเกมของผม คือเล่นทั้งวัน เล่นทั้งคืน เล่นเพราะอยากเอาชนะมันให้ได้ แต่ไม่ได้ติดเกมนะครับ แค่รู้สึกว่ามันเป็น mission ในชีวิต (หัวเราะ) ผมก็เลยรู้สึกว่า อยากเอาความทุ่มเทในแบบที่เล่นเกม ไปทำกับอาชีพให้ได้”

แล้วสิ่งที่คิดก็เกิดขึ้นจริง เมื่อวันหนึ่งอันดาได้พบกับดนตรี และมีความใคร่รู้ในศาสตร์นี้อย่างจริงจัง เพราะอยากนำไปประกอบอาชีพในวันข้างหน้า อันดาจึงเริ่มฝึกฝนเล่นดนตรีด้วยตัวเองวันละ 14-15 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย กระทั่งคุณพ่อของเขาเห็นความแน่วแน่นี้ จึงตัดสินใจส่งเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่นั่นทำให้อันดาได้พบกับคำตอบในโลกของตัวโน้ตที่ยังค้นไม่เจอ

ต่างกับวิถีของกัน กับจุดเริ่มต้นทางดนตรีที่มาด้วยพรสวรรค์ล้วนๆ “ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นทารก พ่อจะเห็นว่าผมโฟกัสกับดนตรีได้นานกว่าปกติ พอเขารู้ว่าผมน่าจะมาทางนี้ได้ พ่อเลยส่งผมไปเข้าโครงการ พรสวรรค์ศึกษา ของ ดร.สุกรี (เจริญสุข) เพื่อที่จะได้อยู่กับดนตรี ผมเลยได้ไปซึมซับในเรื่องของพื้นฐานทางดนตรีตั้งแต่นั้นมา

แล้วผมก็เริ่มเรียนเปียโน ได้เรียนดนตรีอีกหลายชนิด แต่ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจครับ ว่าเราชอบหรือไม่ชอบดนตรี เป็นคนที่ทำได้นะ แต่ก็ไม่ค่อยอยากจะรู้ตัวเองสักเท่าไร (หัวเราะ) เราก็เลยใช้ชีวิตไปตามกรอบที่มันมีไว้” ด้วยความที่ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเองในตอนแรก ทางครอบครัวเลยให้กันลองสอบเข้าเรียนในสายสามัญที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาดูก่อน เพื่อที่จะวัดความรู้สึกว่ารักดนตรีแค่ไหน ซึ่งสุดท้ายกันก็ได้รับคำตอบว่า ดนตรีคือสิ่งอยู่ในชีวิตแล้วมีความสุขที่สุด กันจึงพุ่งเป้าไปสอบเข้าที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในระดับอุดมศึกษาอย่างไม่ลังเล เพราะอยากเจอสังคมที่พูดภาษาดนตรีเหมือนๆ กัน

 “พวกเรามีเสียงในหัวเหมือนกันครับ”

TJ – Tristan Josh Trinidad (กลอง) วง ANIME AS LEADERS

 

แต่กับทีเจ เด็กหนุ่มชาวฟิลิปปินส์ ผู้เติบโตขึ้นในเมืองภูเก็ต จะมีเรื่องราวของตัวเองในแบบที่แตกต่างไป ด้วยที่เจเกิดมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นนักดนตรีกลางคืน ทำให้เขามีต้นทุนการซึมซับดนตรีเข้ามาในชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก “ที่พ่อบอกก็คือผมเริ่มเคาะจังหวะได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แล้วก็เริ่มมาตีกลองตอนอายุ 7 ขวบ เพราะรู้สึกว่ามันสนุกดี

พอได้ตามไปดูพ่อเล่นดนตรีที่โรงแรมก็รู้สึกว่าชอบมาก ก็เลยตัดสินใจที่จะเล่นกลองตั้งแต่ตอนนั้นครับ” ความที่ยังเป็นเด็ก จึงมีบางช่วงที่ทีเจรู้สึกขี้เกียจฝึกซ้อม แต่ด้วยคุณพ่อเป็นคนเข้มงวดและอยากให้เขาเล่นกลองอย่างจริงจัง จึงซื้อกลองชุดมาให้ฝึกซ้อมพร้อมส่งทีเจไปเรียนกลองที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่า ตอนอายุ 15 เพื่อเสริมทักษะทางดนตรีให้แน่นขึ้น

หลังจากฝีมือเริ่มอยู่ตัว คุณพ่อก็ส่งไปเล่นในสนามจริงกับนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางดนตรีให้มากขึ้น โดยระหว่างเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต ทีเจได้รวมตัวตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ เพื่อไปประกวดดนตรี จนได้รางวัลชนะเลิศจาก Hot Wave Music Awards ปี 2019 มาครอง จากตรงนั้นทำให้เจทีรู้ตัวเองว่า เขาอยากจริงจังกับศาสตร์ด้านกลองให้ลึกซึ้ง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นเป้าหมายที่ทีเจเลือกจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ให้แจ๊สเป็นคำตอบของชีวิต

หลังได้มาเข้าเรียนด้านดนตรีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สมาชิกทั้ง 3 ต่างได้พบคำตอบในสิ่งที่ตัวเองกำลังค้นหาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเจอมากหรือน้อย สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั้งสามมาคลิกกันได้อย่างแนบสนิทก็คือ ทุกคนมีรสนิยมความชอบในดนตรีแจ๊สเหมือนกัน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางของวง อนิเมะ แอส ลีดเดอร์ส ที่พวกเขาอยากนำเสนอแจ๊สในรูปแบบที่เป็นตัวเอง

“เรามารวมตัวกัน เพราะเรามีแนวทางที่เราชอบเหมือนกัน แต่แนวก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราตกผลึกกับดนตรีมากพอ นิสัยเรามันจะเข้าไปอยู่ในดนตรีทุกๆ แนวครับ เพราะสิ่งที่จูนกันก็คือเรื่อง Mindset เวลาที่เรามาทำเพลงด้วยกัน เราจะมีอะไรที่คิดอะไรเหมือนๆ กัน มุมมองการทำเพลงมันเลยไปด้วยกันได้” อันดาอธิบาย

“เรียกว่าเป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรมมากๆ ครับ การทำเพลงของวงเราก็คือ การที่เราเอาความรู้สึกที่เป็นนามธรรมนั้น ค่อยๆ มาสร้างให้เกิดเป็นเมโลดี้ สร้างให้เกิดทำนองดนตรี สร้างให้เป็นจังหวะขึ้นมา ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเมโลดี้หรือจังหวะพวกนี้เราจะมีแนวคิดที่คล้ายๆ กันหรือเปล่า แต่ที่เรารู้คือ เรามีความรู้สึก เรามีความต้องการ เรามีความปรารถนาที่เป็นเรื่องนามธรรมพวกนี้ที่เรามีคล้ายๆ กัน” กันบอกบ้าง

“พวกเรามีเสียงในหัวเหมือนกันครับ” ทีเจช่วยย้ำ

ส่วนที่มาของชื่อวง Anime As Leaders พวกเขาตั้งเลียนคำมาจากชื่อวงสัญชาติอเมริกัน ที่เล่นแนวโพรเกรสซีฟ-เมทัล อย่าง Animal As Leaders ที่พวกเขาชื่นชอบ

“เราอยากหาอะไรให้มันเหมือนเขาหน่อย (หัวเราะ) ก็เลยเปลี่ยนจาก Animal ให้เป็น Anime As Leaders ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลยครับ” อันดาบอกพร้อมเสียงหัวเราะร่วน “Animal As Leaders เขาเป็นวงระดับโลกเลยครับ แล้วส่วนตัว ผมรู้จักกับมือกีตาร์ของวงเขาอยู่ จริงๆ อยากแอบแกล้งเขาอยู่แล้วแหละ ว่าเนี่ย พวกเรามาแข่งขันนะ แล้วก็มีเล่นคอนเสิร์ต ก็มีคำว่า Anime เป็นชื่อวงด้วยอะไรอย่างนี้ด้วย พอเขาดูสตอรี่แล้วก็บอกว่า โห พวกยูกวนมาก (หัวเราะ) แค่นี้เลยครับ”

 

“ผมเชื่อว่าเพลงที่มาจากความรู้สึก ต่อให้วันนี้ไม่มีคนฟัง

สิ่งที่เราจริงใจกับดนตรี ผมเชื่อว่าคนฟังต้องรู้สึกบ้างแหละ ผมไม่เคยกลัวเลยว่าทำเพลงออกมาแล้วคนจะไม่ฟัง”

อันดา – อลันดา ฉันทรัตนโชค (กีตาร์) วง ANIME AS LEADERS

 

 

เป้าหมายบนเวทีประกวด เพื่อเผยแพร่แนวคิด  “นอกกรอบ” ทางดนตรี

ด้วยความที่แต่ละคนมีพื้นฐานดนตรีที่สั่งสมกันมามากในชนิดที่เรียกว่า “แน่นปึ้ก” บวกเข้ากับศาสตร์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเพิ่ม ยิ่งทำให้สมาชิกแต่ละคนได้อัปสกิลทางดนตรีกันมาแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีมือหรือไอเดียการสร้างเมโลดี้ใหม่ๆ

เมื่อเวทีประลองฝีมือทางดนตรี THE POPWER BAND เปิดรับสมัครขึ้นในปีนี้ จึงเป็นโอกาสที่สมาชิกทั้ง 3 จะได้ออกมาสำแดงไอเดียการทำเพลง อันเป็นลายเส้นเฉพาะตัวในแบบ อนิเมะ แอส ลีดเดอร์ส ให้ผู้คนได้รับรู้

“คือเรามีความปรารถนาในแนวทางของเราชัดเจนครับ (หัวเราะ) เราเลยอยากเอาสิ่งนี้มานำเสนอ เพราะสิ่งนี้มันไม่เคยมีในประเทศไทย คือแนวที่เราเล่นกัน เราจะมี Mindset ของเรา คือดนตรีแจ๊ส แต่เสียงมันไม่ได้ออกมาเป็นแจ๊ส ซึ่งผมตื่นเต้นที่จะได้นำความแปลกใหม่นี้มาเล่นในการประกวด
THE POWER BAND เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นเวทีใหญ่ เป็นรายการใหญ่ ผมจะตื่นเต้นมากที่เราได้เล่นแสดงสกิลบนเวทีแบบนี้ ได้เลือกซาวนด์แบบนี้ มีการถ่ายทำที่ดี เพราะฉะนั้นการมาแข่ง เราไม่ได้มาแข่งกับใครเลย แค่รู้สึกว่าเราจะได้มา พรีเซนต์เพลงของพวกเราแค่นั้นเอง

พอประกาศรางวัลว่าเราอยู่ในอันดับ 1–2-3 แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว มีตังค์ใช้ แล้วได้ถ่ายรูปเท่ๆ 3 คนบนเวที แค่นี้ก็สุดยอดแล้ว” อันดาบอกความรู้สึกด้วยรอยยิ้ม ไม่ต่างจากน้องร่วมวงอีก 2 คน

 

งานทดลองดนตรีแนวใหม่กับที่มาแห่งชัยชน

สิ่งที่ทำให้ อนิเมะ แอส ลีดเดอร์ส ได้รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ในครั้งนี้ มีจุดเด่นอยู่ที่การเรียบเรียงเมโลดี้ บวกเข้ากับแนวคิดของการทำเพลงที่ไร้กรอบ เลยกลายเป็นความโดดเด่นที่ทำให้คณะกรรมการมองเห็นความตั้งใจและไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของพวกเขา

มือกีตาร์ผู้สวมหมวกอีกใบในการแต่งทำนอง ขอเล่าถึงส่วนนี้ “เพลงแรกคือ จยย หรือ JYY มันมาจากคำว่า ใจเย็นๆ ครับ (หัวเราะ) ไอเดียของเพลงมาจากที่ผมทำกระเป๋าตังค์หาย แล้วในกระเป๋าก็มีพวกบัตรประชาชน ตังค์ ใบขับขี่ เอกสารต่างๆ ทุกอย่างหายหมด รู้สึกเซ็งมาก เราก็เลยเอาความรู้สึกนี้มาแต่งเพลง แล้วจริงๆ เพลงนี้มีเมโลดี้ของเพลง กระเป๋าแบนแฟนยิ้ม (เดอะ ริชแมน ทอย) อยู่ ผมเลยเอาเสี้ยวหนึ่งของเมโลดี้นั้นมาแต่งเป็นเพลงของตัวเอง คอนเซปต์ของเพลงก็จะมีสไตล์ของพวกเราอยู่ คือมันจะอึดอัด…แหกกฎทุกอย่างในแง่ความรู้สึก อะไรที่รู้สึกว่าจะไปมันก็จะไม่ไป อะไรที่รู้สึกว่า เนี่ยจะต้องเสียงสูงมันก็จะต่ำ อะไรที่ควรยาวมันจะสั้น อะไรที่กำลังจะสบายมันอึดอัด

ผมจะแหกกฎทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แต่ทั้งหมดที่ผมทำ เพื่อระงับสติอารมณ์ของตัวเอง (หัวเราะ) ซึ่งมันจะย้อนแย้งกับคนที่คิดว่า ถ้าทำแบบนี้มา เพลงมันจะเป็นแบบนี้ แต่ของเรามันจะไม่ใช่ ”

 “เราได้นำเสนอวิธีคิดดนตรี…ด้วยความที่มันเป็นแนวใหม่

อย่างน้อยพวกผมอยากจะให้ได้เริ่มรู้สึกถึงแนวทางแบบนี้ไม่มากก็น้อยครับ”

กัน – ถิรคุณ มาศศรี (เบส) วง ANIME AS LEADERS

 

กันยังอธิบายเพิ่ม “มันคือการระงับความคิดไม่ให้เดินไปไกล ด้วยความขัดแย้งของดนตรีครับ ความที่มีวิธีสร้างที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากปกติมาก เพราะวิธีการสร้างมาจากแค่ภาพในหัว หรือแค่คอนเซปต์อะไรสักอย่างที่เรามีขึ้นมา แล้วเราก็ใส่ลงไปเลย โดยที่เราสนใจกฎทฤษฎีดนตรีน้อยมากๆ คือถ้าจะใช้กฎทฤษฎีดนตรีจริงๆ…คงต้องเรียกว่าไม่ใช้เลยดีกว่า (หัวเราะ)”

“ถ้าทำตามทฤษฎีดนตรีจะบอกว่า ทำแบบนี้จะต้องได้แบบนี้ มันคือกรอบที่บอกว่า แบบนี้มันฟังดูดีไงครับ เราเลยตั้งใจจะทำให้มันไม่ดูดี (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นคำว่าทฤษฎีของผมจะไม่มีเลย แต่ถ้าเอามาวิเคราะห์ กัน คนก็อาจจะรู้สึกว่า โห นี่มันทฤษฎีดนตรีนั่นแหละ เรียนดนตรีมาจะต้องทำแบบนี้-ซึ่งไม่ใช่ Mindset ในการทำเพลงของเรามันเป็นแบบนี้เลย”

กับอีกเพลงที่ใช้ในการแข่ง คือ “ลงใจ” ของ โบกี้ ไลอ้อน “เพลงนี้ผมรู้สึกว่าเพราะ แต่เราตั้งใจจะทำเพลงนี้ไม่ให้ ‘ลงใจ’ น่ะ แต่เป็น ‘ลงแดง’ (หัวเราะ) แทน เพราะคิดว่า เออ มันปั่นดีนะ คือเรารู้สึกว่าคอนเซปต์ของพวกเรา หรือนิสัยของพวกเราจะกวนๆ น่ะครับ

คือด้วยวิธีการอะไรก็ตาม เราเลยพยายามจะหาความคิดสร้างสรรค์มาใส่ คือถ้าเอาต้นฉบับมาตีความใหม่แล้วแค่เล่นไป เราก็รู้สึกว่ามันเฉยๆ เราก็เลยเอามาตีความกวนๆ ปั่นๆ ในแบบของเรา ก็เลยเอา “ลงใจ” มารีอะเรนจ์ในคอนเซปต์ว่า แต่งยังไงก็ได้ให้ลงแดง (หัวเราะ)

แต่เพลงนี้มันจะไม่เหมือนเพลงแรกที่เราเล่น เพลงแรกกับเพลงสองเราตั้งใจทำให้อารมณ์มันต่างกัน คือเพลงแรกมันจะซัดมาแต่แรก จะมีช่วงเบรกแล้วกลับมาซัดเหมือนเดิม แต่ลงใจคือค่อยๆ มาแล้วระเบิดตอนท้าย เราตั้งใจให้กราฟมันเป็นอย่างนั้นครับ”

แสดงว่าทฤษฎีดนตรียังเป็นเรื่องสำคัญ ? เราถามพวกเขา

อันดาตอบทันที “สำคัญมากครับ การเรียนทฤษฎีดนตรีมันมีความสำคัญตรงที่ทำให้เราสามารถทำเพลงได้หลุดกรอบ ถามว่าจำเป็นไหม-มันจำเป็นมาก แต่อย่างที่บอกครับ ถ้าถึงจุดหนึ่งที่เราตกผลึกแล้ว ผมวางได้เลย เพราะสุดท้ายมันก็จะอยู่ที่ความเข้าใจของเราเองนั่นแหละ”

“ผมชอบคำนี้มากเลย ก่อนที่เราจะออกจากกรอบ เราควรจะรู้ว่าในกรอบมันมีอะไรบ้าง เราจะได้รู้วิธีที่เราจะออกจากกรอบได้จริง ซึ่งสิ่งที่พี่อันดาบอก การที่เราจะออกจากกรอบทฤษฎีดนตรีได้ มันต้องเกิดจากการที่เราศึกษาทฤษฎีดนตรีจนเราแตกฉาน แล้วมันก็ต้องแตกฉานพอที่เราจะสามารถออกมา โดยที่ยังมีการยอมรับในตัวเราได้ด้วยนะครับ” กันสรุปเหตุแห่งชัยชนะที่พวกเขาคว้ามาให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น

บินสู่เป้าหมายในอนาคตให้ไกลกว่าที่ฝัน

แม้ชัยชนะที่ได้รับจะนำมาสู่ความภาคภูมิใจในวันนี้ แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต ที่ทุกคนจะนำมาเป็นกำลังใจในการสร้างเพลง ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังสร้างนั้นมาถูกทางแล้ว แต่กับอนาคตในเส้นทางการเล่นดนตรี หนุ่มๆ วง อนิเมะ แอส ลีดเดอร์ส กำลังวางเป้าหมายก็คือบินให้ไกลในระดับอินเตอร์ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่อันดาเคยตั้งเป้าหมายในตอนเด็กว่า จะนำสิ่งที่เขาชอบและทุ่มเทนำมาสร้างเป็นอาชีพให้ได้

“ถึงตอนนี้พวกผมยังเรียนกันอยู่ แต่พวกผมก็มีช่องทางในการสร้างรายได้ทางดนตรีมาก่อนอยู่แล้วครับ” กันบอกถึงแผนงาน

อันดาจึงช่วยขยายให้เข้าใจยิ่งขึ้น “การมีอาชีพเป็นศิลปินก็ส่วนหนึ่งนะครับ คือจริงๆ ผมมีแนวทางของผมอยู่ ผมมีอาชีพเป็นศิลปินเดี่ยวในทางกีตาร์ ผมเคยได้รางวัลเป็นที่ 1 ระดับโลก (1st Abasi Neural Contest 2020) เป็นรายการแข่งของทางอเมริกาจัด ซึ่งเขาคัดมือกีตาร์จากทั่วโลก 6-7 ร้อยคนได้ครับ หรืออย่างไปสอนกีตาร์ ก็จะมีคนต่างชาติเข้ามาติดตาม ผมอยากเดินทางแสดงแบบเวิลด์ทัวร์ การเล่นดนตรีในเมืองไทย เป็นสังคมหนึ่งที่ทำเพลงขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ ถึงจะอยู่รอดและขายได้ แต่ดนตรีที่ผมอยากทำเราแต่งเพลงมาเพราะเรารู้สึก ไม่ได้แต่งเพลงมาเพื่อคิดว่าแล้วใครจะฟังบ้าง? และผมเชื่อว่าเพลงที่มันมาจากความรู้สึก ต่อให้วันนี้ไม่มีคนฟัง แต่วันหนึ่งก็จะมีคนที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนกับเรา แล้วมันเป็นอะไรที่เราจริงใจกับดนตรี สิ่งที่เราจริงใจกับดนตรี ผมเชื่อว่าคนที่ได้ฟังจะต้องรู้สึกบ้างแหละ เพราะฉะนั้นผมไม่เคยกลัวเลยว่าทำเพลงออกมาแล้วคนจะไม่ฟัง”

กันขอเสริมอีกนิด “มีสิ่งที่ผมคาดหวัง หลังจากที่เราชนะรายการนี้ก็คือ อย่างน้อยเราได้นำเสนอวิธีคิดดนตรีในรูปแบบนี้ ความที่มันเป็นแนวใหม่ วิธีคิดที่ค่อนข้างใหม่มาก อย่างน้อยพวกผมอยากจะให้มีการเริ่มรู้สึกได้ว่ามีเพลงแนวทางแบบนี้มากขึ้น หรือให้มันได้แฝงตัวเข้าไปอยู่ในบรรทัดฐานของสังคมไม่มากก็น้อยครับ”

ถึงตั้งใจอยากจะเปลี่ยนวงการดนตรีไทยให้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น แม้จะยังทำได้ไม่เต็มร้อยเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยสิ่งที่พวกเขาสื่อสารผ่านดนตรี ก็สัมฤทธิ์ผลให้มีคนได้รับรู้แล้วส่วนหนึ่ง

“สิ่งที่พวกเราเห็นว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับเด็กที่อยากประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของพื้นฐานทางสังคม กับประสบความสำเร็จทางความคิดของตัวเอง เมื่อเจออะไรที่ชอบ ก็อยากให้เขาอยู่กับสิ่งนั้นจริงๆ มุ่งมั่นแล้วก็ตั้งใจค้นหาอีเวนต์ หาเวที ซึ่งเดี๋ยวนี้มันจะมีงานประกวดให้เราได้สร้างสรรค์ ให้เราได้แสดงเยอะมาก อยากให้ตั้งใจหาสถานการณ์เพื่อบีบให้เราต้องมุ่งมั่นกับสิ่งที่เราชอบนะครับ

แล้วอีกเรื่องที่สำคัญมากก็คือการโฟกัส เพราะการจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ เราต้องโฟกัสให้ถูกว่าสิ่งที่เราควรจะทำมันมีอะไรบ้าง แล้วมันควรจะเชื่อมต่อกันยังไงบ้าง และถ้าเรารู้ตัวเองแล้วอย่างเรื่องดนตรี ก็ทำมันเลย ทำให้สุดไปเลย”

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ