Passion

“มอซอ” วงร็อกภูเก็ต
เพราะความต่างคือจุดเด่น

วรากร เพชรเยียน 4 Oct 2022
Views: 1,939

เสียงกีตาร์โซโล ทรัมเป็ต…เครื่องเล่นต่างๆ บนเวทีดังก้องหอประชุม สอดรับประสานเสียงร้องของนักร้องสาวบรรเลงเพลงแนวร็อกมันๆ กลายเป็นจุดขายของ ‘มอซอ’ วงดนตรีจากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จังหวัดภูเก็ต ที่ติดตาตรึงใจ จนได้เข้ามาเป็นหนึ่งในวงดนตรีจาก Class A ในการแข่งขันรอบสนามสงขลา เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในรายการแข่งขัน THE POWER BAND 2022 ซีซั่น 2 การประกวดวงดนตรีสากล โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

วงดนตรีในโรงเรียนจากจังหวัดภูเก็ต ก้าวเข้าใกล้เส้นชัยไปอีกขั้นด้วยการผ่านเข้ารอบจากสนามสงขลา นับว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่เป็นกำลังใจให้กับเหล่าคนที่มีความรักในเสียงดนตรีอย่างแท้จริง ครั้งนี้เราได้มาพูดคุยกับตัวแทนจากทีมมอซอ โดยมี บีม – เบญญาภา กองดี (นักร้องนำ) มานำทัพเพื่อนนักดนตรีอีกสามคนคือ เชลซี – ปัณณธร ลิ้มรักษ์ (ทรัมเป็ต) บาส – ชุติพนธ์ กรุมรัมย์ (คีย์บอร์ด) และปูน – โป สรินท์ จันทร์แป้น (กีตาร์) พูดคุยถึงความรัก ความทุ่มเททางด้านดนตรีของพวกเขา และการทำวงดนตรี

 

มอซอ ชื่อวงสั้นๆ แต่มีความหมาย

“มอซอ แปลว่า สบายๆ เราอยู่ไหนก็ได้สบายๆ บ้านๆ มอซอๆ” คือที่มาของชื่อวงที่ถึงจะมีกลิ่นอายความบ้านๆ สบายๆ แต่แนวทางการเล่นดนตรีของวงกลับสวนทางกัน ด้วยการเป็นวงดนตรีแนวร็อกจ๋า บ้าบิ่น ใส่ความมัน ความสุดตั้งแต่เสียงดนตรี กลอง ไปจนถึงเสียงร้องของบีม ทำให้มอซอกลายเป็นอีกวงที่สามารถเอาชนะการประกวดจากเวทีต่างๆ มาได้ และได้มาเป็นอีกหนึ่งวงที่จะได้เข้ามาแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในกรุงเทพมหานคร

ซึ่งการรวมตัวของมอซอ ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวของรุ่นพี่ที่ค่อยๆ เพิ่มเติมสมาชิกวง สืบต่อและผลัดเปลี่ยนหน้ากันเรื่อยมา บีม นักร้องนำเข้ามาอยู่ในวงมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.2 จนถึงตอนนี้อยู่ชั้น ม.5 แล้ว ก็ได้เห็นการผลัดเปลี่ยนสมาชิกวง รวมถึงการเห็นพัฒนาการจากวงสตริงมาเป็นวงที่เติมสมาชิกจากวงโยธวาทิต ทำให้เชลซีและเพื่อนๆ เครื่องเป่าได้เข้ามาร่วมแจมในครั้งนี้ด้วย

ส่วนการเริ่มต้นทำเนื้อเพลงของวงนั้น สมาชิกทุกคนมีส่วนรับผิดชอบงานในหน้าที่ของตัวเอง แต่ละคนต่างมีอิสระในการคิด จินตนาการท่วงทำนองในพาร์ตของตัวเอง “เราเริ่มจากการคุยกับคุณครูก่อนว่าจะทำเพลงออกมาแนวไหน ถามคีย์เสียงของนักร้อง ของเครื่องเป่าที่จะมีครูทำโน้ตเพลงให้ แต่ส่วนอื่นๆ ก็จะคิดเป็นพาร์ตของตัวเอง เขียนโครงของแต่ละคนแล้วส่งให้ครู ครูก็จะทำโน้ตเครื่องเป่าส่งกลับมาให้ซ้อม”

บาส เล่าถึงการทำงานของวงดนตรีทั้งหมดที่สมาชิกในวงร่วมกันบรรเลง ประสานเข้ากันได้เป็นอย่างดี จึงเป็นภาพสะท้อนของความสามารถของแต่ละคน “แต่ละคนก็มีฝีมือการทำเพลงของแต่ละคน ทำส่วนเล็กๆ ของตัวเองแล้วเอามารวมกันก็เป็นก้อนใหญ่” บีม นักร้องนำพูดเสริมต่อ

 

ดนตรีคือชีวิต บันดาลทุกสิ่ง ปลดปล่อยความรู้สึกทุกอย่าง

“ดนตรีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ถ้าเราไม่มีอะไรทำเครื่องดนตรีช่วยได้ มันจะสื่อออกไปทุกอย่างเลยว่าเรารู้สึกอะไร” ปูน มือกีตาร์ น้องเล็กชั้น ม.2 ของวงที่อยู่ท่ามกลางพี่ๆ เล่าถึงความหมายของดนตรีในมุมมองของตัวเอง ซึ่งปูนเริ่มต้นเล่นดนตรีในช่วงปิดเทอม โดยมีคุณแม่สนับสนุนให้เริ่มเล่นดนตรีเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หากได้เห็นปูนบนเวทีคงต้องพูดว่า เพอร์ฟอร์แมนซ์ของปูนคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าดนตรีสามารถสื่อความหมาย ทุกความรู้สึกได้จริงๆ จากเด็กตัวเล็ก นั่งนิ่งๆ แต่บนเวทีความมั่นใจในขณะที่กำลังดีดกีตาร์อย่างเมามันก็ทำให้ปูนดูตัวใหญ่ขึ้น

อีกหนึ่งคนที่ ‘ตัวใหญ่ขึ้น’…มั่นใจในตัวเองขึ้นคือ บีม นักร้องนำที่นอกเวทีเธอเป็นเหมือนเด็กมัธยมศึกษาหน้าตาน่ารักทั่วไป แต่บนเวทีกลับดูมั่นใจกว่า มีเอเนอร์จีของการเป็นศิลปิน บีมเริ่มต้นร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเด็กเช่นกัน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากความมั่นใจของตัวเองที่มีมาตั้งแต่ยังเล็ก จนทำให้วันนี้เธอมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเข้ามาทำงานในวงการ เป็นศิลปินบนเวที “บีมเริ่มร้องเพลงมาตั้งแต่ห้าขวบ พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ เป็นคนที่กล้าแสดงออกมาก เวลาพ่อแม่พาไปงานอะไร เห็นเวทีเป็นไม่ได้ก็จะขึ้นไปร้องเพลง” นอกจากการเรียนร้องเพลงแล้ว ยังฝึกฝนด้วยตัวเองจนเธอสามารถร้องเพลงได้หลากหลายแนว ทั้งลูกทุ่ง เพื่อชีวิต ป็อป สากล มาจนถึงดนตรีแนวร็อกที่เข้ากับคีย์เสียงของตัวเอง

นอกจากนี้ในความเป็นนักร้องนำของบีม ก็เป็นเหมือนการฝึกฝนทักษะการควบคุมวง เป็นหน้าที่ที่ท้าทายของการเป็นแม่ทัพ ซึ่งเธอได้กำลังใจดีๆ มาจากคุณพ่อ “เวลาที่บีมต้องขึ้นเวที พ่อจะเป็นคนที่มาคุยกับบีม เหมือนแกเป็นผู้จัดการส่วนตัว ก่อนแข่งก็โทร.มาบอกว่าทำเต็มที่นะลูก ใส่ให้สุดเลย เราเป็นแม่ทัพเราต้องพาเพื่อนไปถึงฝั่ง”

นักดนตรีเปลี่ยนสาย การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

นอกจากความรักในดนตรีของปูนและบีมแล้ว บาสและเชลซีก็เริ่มต้นเล่นดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็กเช่นกัน แต่เป็นการเปลี่ยนสายดนตรีที่เล่นมาเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นในปัจจุบัน

มือคีย์บอร์ดรุ่นใหญ่อย่างบาสเริ่มจากการเป็นมือกลองมาก่อน ซึ่งเขาเริ่มเล่นมาตั้งแต่ยังเด็ก “เดิมทีผมไม่ได้เล่นคีย์บอร์ด ผมเป็นมือกลอง พอขึ้นชั้นมัธยม มีมือกลองอยู่เยอะมาก เราไปนั่งดูพี่เขาซ้อม ไม่มีตำแหน่งอะไร สุดท้ายครูบอกว่าให้ไปเล่นคีย์บอร์ดก็เล่นมาจนถึงตอนนี้” แต่ถึงอย่างนั้นการเล่นคีย์บอร์ดก็เป็นเหมือนการเปิดประสบการณ์เส้นทางการเล่นดนตรีที่แตกต่าง ให้บาสได้มีสกิลในการเล่นดนตรีมากขึ้นไปด้วย และแม้ในอนาคตบาสจะอยากเข้าสู่วงการสายวิศวะคอมพิวเตอร์ที่เป็นแพสชันทางด้านวิชาชีพ แต่ดนตรีก็จะยังคงเป็นงานอดิเรกที่หยิบจับอะไรขึ้นมาก็สามารถบรรเลงเป็นเพลงได้

จากมือคีย์บอร์ดที่เปลี่ยนสายเครื่องดนตรีมา เชลซี เป็นอีกคนที่เริ่มต้นจากการอยากเล่นกลองสแนร์ แต่จำชื่อกลองไม่ได้ ชีวิตผันผวนมาจนได้จับทรัมเป็ต จนกรรมการของเวที THE POWER BAND ถึงขั้นออกปากชมในฝีมือการเล่นบนเวที ชวนให้ไปเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล “ดีใจที่ได้ยินอาจารย์เป้พูดคำนั้นออกมา ใจเราอยากเรียนที่มหิดลอยู่แล้ว ยังติดเรื่องทุนที่มันหนักเกินไป แต่ก็ดีใจที่ได้รับคำชมและคำติ” เชลซีเป็นอีกคนที่เริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็ก จากการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นนักดนตรีในโบสถ์ แม้จะไม่ได้เล่นกลองสแนร์ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ แต่จนถึงตอนนี้ทรัมเป็ตก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจสำหรับเชลซีไปแล้ว “มันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขที่สุด รักมันมากที่สุด”

จากความชอบกับจังหวะชีวิตที่ผันผวนให้แต่ละคนมาจับเครื่องดนตรีชนิดใหม่เล่น ก็เป็นอีกข้อดีที่ทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้เครื่องดนตรีอื่นๆ และได้เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้วงมอซอสมบูรณ์แบบขึ้น

 

ความแตกต่าง ไม่เหมือนใครในแบบมอซอ

จากการได้เห็นประกาศผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊กและตัดสินใจเข้าร่วมการประกวดจนได้เข้ารอบจากสนามสงขลา มีอุปสรรคและเส้นทางการฝึกซ้อมที่ค่อนข้างฉุกละหุก แต่ก็ผ่านมาได้ “อุปสรรคด้วยเรื่องเวลา เรื่องงานของแต่ละคน เราฝึกซ้อมกันได้น้อยมาก แต่เวลาที่ได้มาซ้อมด้วยกันก็เต็มที่ เพราะบางคนก็รับงานนอก เล่นดนตรี ร้องเพลงของตัวเอง” บาสเล่าถึงการฝึกซ้อมที่ใช้เวลาฝึกซ้อมกันแค่หนึ่งอาทิตย์ก่อนมาประกวด ด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคนจึงทำให้มีเวลาน้อย

“เวลามีใครจ้างมาเราก็ต้องรับงานของตัวเองก่อน งานของตัวเองมันทิ้งไม่ได้ หนูก็ต้องหาเงินส่งตัวเองเหมือนกัน” บีม นักร้องนำก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีภาระหน้าที่อื่นนอกจากการเรียน ด้วยการใช้ความสามารถของตัวเองมาเปิดหมวกเล่นดนตรี เป็นอีกหนึ่งในเรื่องที่พิสูจน์ได้ว่า การเป็นศิลปินสามารถหาเงินได้ และส่งตัวเองได้

แม้วงมอซอจะมีเวลาฝึกซ้อมด้วยกันน้อย แต่ด้วยความรักในเสียงดนตรีที่นำทางชีวิตของสมาชิกแต่ละคนก็สามารถประสานรวมกัน บรรเลงเป็นเพลงร็อกเพราะๆ จังหวะมันๆ ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจ ความคิดและใช้ความแตกต่างเป็นจุดเด่นของวง “แต่ละวงมันไม่เหมือนใครอยู่แล้ว แต่เรานำเสนอในแบบที่เราเป็น ความเป็นร็อก ไม่ว่าจะเป็นเพลงไหนเราก็จะขอนำเสนอเพลงในแบบวงร็อกของพวกเรา”

ไม่เพียงความแตกต่างของสมาชิกวงที่เริ่มต้นจากเส้นทางความฝัน สมาชิกวงโยธวาทิตมาร่วมเล่นกับสมาชิกวงสตริง แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราวชีวิตที่แตกต่างและต่อสู้ดิ้นรนพาตัวเองไปถึงฝั่งฝันของแต่ละคนด้วยที่เป็นเสน่ห์ของวงมอซอที่ทำให้วงดนตรีเล็กๆ กลายเป็นวงร็อกที่ไม่เหมือนใครบนเวทีการแข่งขัน

“ถ้าเราได้รางวัลจากรายการนี้ก็คงเป็นเหมือนกับการได้เพิ่มไฟในตัวเราให้มากขึ้นไปกว่าเดิมมากๆ” ในพาร์ตการแข่งขันรอบสุดท้าย วงมอซอตั้งใจจะใช้คอมเมนต์ที่ได้รับมาจากคณะกรรมการของสนามสงขลานี้มาเป็นเครื่องนำทาง ให้ทั้งวงสามารถเดินไปได้ถูกทาง นับว่าพวกเขาเป็นอีกหนึ่งวงดนตรีจาก Class A ที่น่าจับตาและน่าชื่นชมในความรักเสียงดนตรีของสมาชิกทุกคนอย่างแท้จริง

 

ไปชมบรรยากาศสนามสงขลาและล้วงลึกทำความรู้จักกับวงมอซอ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ภูเก็ต กันเลย!

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ