Passion

“ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง”
แจ๊สหนุ่มรุ่นใหม่
โชว์พลังท็อปฟอร์ม คว้าแชมป์ THE POWER BAND 2021

ศรัณย์ เสมาทอง 1 Dec 2021
Views: 481

“ตอนที่เดินออกจากบ้านมาก็คิดในใจถึงคนดูว่า ‘วันนี้ผมตั้งใจมาเล่นให้ดูอย่างเต็มที่ ช่วยดูผมหน่อยนะ อยู่บนเวทีก็คิดตลอดว่า…ดูนะ…ดูนะ…’ อยากให้ได้ฟังว่าเพลงๆ หนึ่งมันสามารถเรียบเรียงไปได้ไกลขนาดไหนในเวอร์ชันของเรา จะชนะหรือไม่ชนะไม่เป็นไร” ถึงจะเป็นความคิดมือแซกโซโฟนเพียงคนเดียว แต่จากสายตาของเพื่อนพ้องวงแจ๊สหน้าใสๆ ยืนยันว่า คงคิดไม่ต่างกัน

ในที่สุด “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง” คว้ารางวัลชนะเลิศ (ประเภทบุคคลทั่วไป) จากเวที THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย และพ่วงรางวัลเขียนเนื้อเพลงยอดเยี่ยมไปด้วยอีกหนึ่งรางวัล

เด็กหนุ่ม 9 คนที่มีพื้นฐานดนตรีค่อนข้างแน่น เพราะล้วนร่ำเรียนมาทางด้านดนตรีแจ๊สและดนตรีสมัยนิยมในระดับมหาวิทยาลัย ลีลาการแสดงดนตรีบนเวทีจึงดูสบายๆ “พวกผมใช้คำว่าเสี้ยนเวทีได้เลย อยากเล่นบนเวทีกันมาก ถึงจะเคยเล่นกันมาบ่อยแล้วก็ยังชอบอยู่ คือเล่นคนเดียวหรือเล่นกันเองมันก็ไม่มีความสุขเท่ากับการมีคนฟัง”

แต่เชื่อเถอะ…แค่ความสุขที่ได้เล่นดนตรีและความอยากให้คนได้ฟังเพลงของเขา ยังไม่พอที่จะทำให้คนเราเก่งกาจถึงขนาดนี้หรอก

 

ถุงเท้า…มาได้ไง

“ทุกคนคุยกันแล้วรู้สึกว่าถูกจริตกัน มาเล่นแล้วก็ค้นพบว่ารสนิยมใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเพลงที่ฟัง วิธีการเล่น ก็รวมกลุ่มเล่นในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย” เอม-พีรณัฐ  ชัยสังฆะ มือคีย์บอร์ด นักศึกษาปี 4 เปียโนแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เอ่ยแทนเพื่อนทั้งวง ที่เหลืออีกสามคนที่เรามีโอกาสได้สนทนากันก็มี ยอร์ค-สรวิชญ์ พุทธวรรักษ์ มือกีตาร์ไฟฟ้า กระเต็น-เวทิต สืบนุการณ์ มือแซกโซโฟน และวรวลัญช์ น้อยกมล นักร้องนำ ผู้ที่บอกว่าชื่อเล่นเขาสะกดว่า สไปทร์ (แทนสไปรท์ตามวิถีทั่วไป)…ซึ่งนั่นอาจแปลได้ว่า เขาไม่(อยาก)เหมือนใคร!

ส่วนชื่อวงนั้นมาจากระหว่างการซ้อมเพื่อประกวดดนตรีรายการหนึ่งเมื่อประมาณ 2 ที่แล้ว มือกีตาร์เขาสวมถุงเท้าแดงไปซ้อมแล้วมีคนทักว่า “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง” ก็เลยกลายเป็นชื่อวงในทันที งานนั้นทุกคนสวมถุงเท้าสีแดงและถอดรองเท้าเล่นกันบนเวทีด้วยอารมณ์ขี้เล่น “เวลาซ้อม 50% ก็ซ้อม แต่อีกครึ่งหนึ่งเราก็จะเล่นกันสนุกสนาน มีเล่นเกมกันบ้าง” ใครเอ่ยขึ้นมาก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่มีเสียงคัดค้านใดๆ

 “ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนทุกๆ ครั้ง

เพราะว่ามันเป็นแพสชันของเรา

ถ้าเราทำแล้วยังตื่นเต้นกับมันอยู่

ก็แสดงว่าเรายังชอบมันอยู่”

สไปทร์-วรวลัญช์ น้อยกมล
วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง (นักร้องนำ)

 

“ทุกคนในวงนี้จะมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองค่อนข้างสูงอยู่แล้ว” กระเต็น มือแซกโซโฟนพี่ใหญ่ ที่อายุมากกว่าทุกคนในวงสองปีเอ่ยนิ่งๆ “เราค่อนข้างเรียนรู้เร็ว คุยกันในภาษาดนตรี พอเวลาบอกจะให้ทำอะไรให้ปรับเปลี่ยนอะไรก็สามารถทำได้ทันที”

ยืนยันด้วยเหตุการณ์ตื่นเต้นเล็กๆ ในขณะทำการซาวนด์เช็กบนเวที THE POWER BAND มือคีย์บอร์ดซึ่งติดธุระสำคัญก่อนการแข่งขันจริงส่งเสียงมาว่ายังอยู่อีกไกล ไม่รู้จะมาทันหรือเปล่า “ถ้าเอมมาไม่ทัน เราก็จะต้องตัดพาร์ตของเอมทิ้ง เราก็ยังจะเล่นกันต่อ จึงเกิดการพูดคุยเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเล่นให้จบให้ได้” สไปทร์ที่ดูเหมือนจะชิลมากบนเวทีบอกความในใจ…แต่เอมก็มาทัน…และเพลงก็สมบูรณ์ขึ้นมาทันที

ยังแอบสงสัยว่าถ้าเขามาไม่ทันจริงๆ “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง” จะยังคว้าชัยครั้งนี้ได้หรือไม่

บทเพลง-ของเรา

เอม-มือคีย์บอร์ดเป็นผู้เริ่มต้นทำการเรียบเรียงเพลงที่ใช้ประกวดในครั้งนี้ วงนี้เขาใช้คำว่า “สารตั้งต้น” สำหรับการก่อการ “ผมจะมีโจทย์ในใจตั้งแต่ตอนซ้อมแล้ว แต่พอถึงเวลาก็จะเปิดพื้นที่ไว้ เพราะว่าพี่ๆ เพื่อนๆ ทุกคนก็ต่างมีความสามารถกันอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้จำกัด”

เมื่อมีการเริ่มต้นขึ้นมาแล้วที่เหลือก็จะขยายความออกไป ใช้พื้นฐานดนตรีของแต่ละคนเติมรายละเอียดลงไปในเพลง คล้ายๆ การทำ mind map บางครั้งก็บันทึกเสียงตอนซ้อมแล้วส่งให้ทุกคนกลับไปฟัง เพื่อเตรียมคิดวิธีการเล่นของตัวเองมา แล้วก็นำมาเสนอตอนซ้อมอีกครั้งว่าอยากจะใส่อะไรเพิ่มไปในเพลง แต่โครงจริงๆ ก็เกิดจากการเล่นด้วยกันครั้งแรกนั่นล่ะ

“ถึงแม้ทุกคนจะมีสิ่งที่คิดไม่เหมือนกันแต่มีสไตล์ที่คล้ายกัน เราก็ช่วยกันตบให้มันเข้ามาดูใกล้เคียงกันมากขึ้น เหมือนจะเป็นอิสระแต่มันก็มีแบบแผนสไตล์แจ๊ส เล่นอีกรอบก็เพราะครับ แต่ว่าจะไม่เหมือนเดิม มันเป็นอย่างนั้นเลยครับ”

เนื้อเพลง “ไม่ต้องน่ารักกว่านี้แล้วเธอ” ที่แต่งมาร่วมแข่งในรายการนี้โดยเฉพาะ ก็มาจากเพลงที่เอมเคยแต่งไว้นานแล้ว มีทั้งเมโลดี้และเนื้อร้องท่อนฮุกมาพร้อมแล้ว เมื่อนำมาเปิดฟังด้วยกันทั้งวง นักร้องนำก็แต่งเนื้อร้องท่อนอื่นๆ เพิ่มเข้าไป และนักดนตรีคนอื่นๆ ก็ใช้วิธีที่ถนัดเติมสีสันให้กับเพลงนี้จนสมบูรณ์ “

เป็นเพลงเกี่ยวกับการไปส่องสาวน่ารักๆ ตามมหาวิทยาลัยทั่วไปล่ะครับ” คือคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับแนวคิดของเพลงนี้ และยังสะท้อนมุมมองสะท้อนวัยกับความสนใจของวงตามประสาหนุ่มๆ

“…ไม่ต้องน่ารักกว่านี้เเล้วเธอ ที่เป็นตอนนี้ก็ทำฉันละลาย เเค่ขอได้ไหมที่รักอย่าทำเเบบนี้ให้ใคร เเค่เธอน่ารักกับฉันก็พอ ไม่ได้อยากขออะไรให้มากมาย เท่านี้เองเเหละที่รักที่ขอจากเธอ…” ท่อนฮุกที่เรียบง่ายแต่แฝงความน่ารักแบบนี้ล่ะ ที่ทำให้เพลงนี้ชนะใจกรรมการในรางวัลเขียนเนื้อเพลงยอดเยี่ยม

“แม้ทุกคนจะมีสิ่งที่คิดไม่เหมือนกัน

แต่มีสไตล์ที่คล้ายกัน เหมือนจะเป็นอิสระ

แต่มันก็มีแบบแผนสไตล์แจ๊ส

เล่นอีกรอบก็เพราะครับ แต่ว่าจะไม่เหมือนเดิม”

เอม-พีรณัฐ  ชัยสังฆะ
วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง (คีย์บอร์ด)

 

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนในวงคิดคล้ายกัน คือต้องการเล่นดนตรีเพื่อความสนุกสนาน บรรยากาศการซ้อมก็ไม่เคร่งเครียด เหมือนการเล่นเพื่อแชร์วิธีคิดออกมาให้ฟังกัน ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้องเล่นแบบไหน “ใครคิดว่ามันน่าจะเล่นยังไง ก็เล่นตามนั้นแล้วค่อยๆ มาเบลนด์เข้าหากัน” เพราะพื้นฐานทางดนตรีที่ใกล้เคียงกันและในวงก็มีสไตล์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเพลงไหนมาแนวทางของ “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง” ก็สามารถครอบลงไปได้ทั้งหมดอยู่แล้ว

“ในเพลงมันจะมีท่อนที่เราวางกันไว้ ว่าตรงนี้จะเป็นอย่างนี้นะ แต่ว่าจะมีช่วงที่เราสามารถ enjoy การเล่นของเราได้ enjoy กับเพื่อนๆ ได้ เหมือนกับทุกคนจะไปขับรถแข่งซึ่งปกติจะกังวลกับการขับรถมากๆ แต่เรามีข้อดีคือเราขับรถกันค่อนข้างชำนาญ ก็อาจมีเล่นโทรศัพท์ได้บ้าง หันไปคุยเล่นกับเพื่อนได้บ้าง มันก็จะ relax และ enjoy”

เชื่อแล้ว…ว่าวงนี้ตอนอยู่ในห้องซ้อมคงจะร่าเริงสนุกสนานกันสุดๆ แน่นอน

มีแค่ ‘ได้’ กับ ‘ไม่ได้’

การจะเป็นนักดนตรีที่เก่งนั้นไม่ได้มาง่ายๆ และคงไม่ได้เพียงข้ามคืน ทักษะส่วนตัวถือเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคนที่ต้องกระทำ แต่ต้องฝึกหนักขนาดไหนและต้องฝึกนานแค่ไหน ใครจะเป็นผู้บอกได้

“มันอยู่ที่ความอยากเก่ง ไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องทำหรือไม่ต้องทำ” กระเต็นเอ่ยจริงจัง “สุดท้ายถ้าคุณไม่ต้องการมัน 5-6 ชั่วโมง หรือ 8 ชั่วโมง ทำให้ตายมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เราต้องนึกว่าเราเป็นนักกีฬาต้องฝึกพื้นฐานให้ร่างกายมันฟิตอยู่ตลอดเวลา” ยิ่งเป็นนักดนตรีแจ๊ส ต้องเพิ่มการฝึกคิด ต้องรู้จักประยุกต์การเล่นในแบบต่างๆ สะสมไปเรื่อยๆ เป็นเติมฝีมือใส่ไว้ในกระเป๋าของตนเองให้มากขึ้นเวลาไปเล่นแล้วแบกกระเป๋าใบใหญ่ไป ความน่าสนใจของลีลาดนตรีก็จะมากขึ้น

“ผมซ้อมทุกวันครับ เอาง่ายๆ คือต้องจับเครื่องทุกวัน” เพราะสุดท้ายแล้วหน้าที่การงานจะเป็นตัวบอกเอง ว่าคุณซ้อมพอหรือยัง “ดนตรีมันมีแค่ได้กับไม่ได้ มันไม่มีคนแบบเล่นไม่ได้แล้วดูเหมือนเล่นได้ เล่นไม่ได้ก็คือเล่นไม่ได้ ไม่มีใครสามารถหลอกใครได้ ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองเราก็จะย่ำอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา” ยอร์คเสริมได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งกว่าเดิม

ที่เห็นทุกคนมีนิสัยรักความสนุกสนาน แต่เมื่อถามถึงการฝึกซ้อมส่วนตัวก็ยืนยันว่าซ้อมกันมาเป็นร้อยชั่วโมงแล้ว ตั้งแต่เริ่มจับเครื่องดนตรีสมัยประถม “เรียกได้ว่ามันอยู่ในนิ้วหมดแล้ว ยิ่งโตขึ้น ยิ่งมองโลกต่างไป วิธีคิดหรือสิ่งที่เรารู้สึกมันก็ต่างไป ความรู้สึกเปลี่ยน อารมณ์เปลี่ยน สิ่งที่เรารับรู้เปลี่ยน การเล่นของเราก็เปลี่ยนตามไป ทุกอย่างมีผลต่อการเล่นดนตรีหมดเลย”

หรือว่า “วิธีการใช้ชีวิต” ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มพูนทักษะทางดนตรีของพวกเขา

 “ดนตรีมันมีแค่ได้กับไม่ได้

มันไม่มีคนที่เล่นไม่ได้แล้วดูเหมือนเล่นได้

ไม่มีใครสามารถหลอกใครได้

ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองเราก็จะย่ำอยู่กับที่”

ยอร์ค-สรวิชญ์ พุทธวรรักษ์
วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง (กีตาร์)

พกความตั้งใจมาจากบ้าน

สำหรับการแข่งขันในแต่ละครั้ง วงนี้เขารู้สึกว่าการแข่งขันเป็นโอกาสที่ผ่านเข้ามา แล้วเขาก็คว้าไว้ แต่หลังจากเล่นเสร็จแล้วเขาก็จะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป เหมือนการแข่งเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน วันนี้ก็เป็นเพียงอีกวันหนึ่งที่เขาได้อยู่กับดนตรี เป็นอีกวันที่เขาได้ทำตามแพสชัน เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นมืออาชีพต่อไป

“แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนทุกๆ ครั้ง เพราะว่ามันเป็นแพสชันของเรา ถ้าเราทำแล้วยังตื่นเต้นกับมันอยู่ก็แสดงว่าเรายังชอบมันอยู่ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีนะครับ” แต่สไปทร์ก็สามารถความสะกดความตื่นเต้นไว้ได้ในลีลาการร้องที่ดูสบายๆ

ความอยากเล่นดนตรีบนเวทีของ “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง” เป็นเรื่องหลักที่ทำให้ตัดสินใจลงแข่ง “คนส่วนใหญ่ในวงก็กำลังจะจบปี 4 ก็อยากใช้เวลาสนุกๆ ด้วยกันสักรอบ เพราะจากนี้เราต้องไปทำงานแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเราจะได้เล่นด้วยกันแบบนี้อีกหรือเปล่า” ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา โควิด-19 แยกพวกเขาห่างจากผู้ชมมานานเกินไป ทำให้เอมรู้สึกว่า “คล้ายๆ คนเข้าฟิตเนสทุกวันน่ะครับ พอมันปิดก็หมดสนุก เล่นอยู่คนเดียวที่บ้านก็ไม่สนุกเท่ากับไปเล่นในฟิตเนส เล่นดนตรีคนเดียวหรือเล่นกันเองมันก็ไม่มีความสุขเท่ากับการมีคนฟัง แม้ THE POWER BAND จะเป็นการแข่งแบบบันทึกเทป แต่เราก็จะนึกอยู่ตลอดว่า เรากำลังเล่นให้คนฟัง แล้วก็นึกต่อไปด้วยว่าถ้ามีคนเปิดมาฟังเขาจะรู้สึกยังไง เป็นการ express สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารไปให้ถึงคนฟัง อยากรู้ว่าเขาจะเข้าใจเหมือนเราหรือเปล่า”

มือแซกโซโฟนพี่ใหญ่ยังยืนยันเหมือนที่เขาเคยบอกไว้ ว่าออกจากบ้านมาพร้อมความตั้งใจจะมาเล่นให้ทุกคนฟัง มาแสดงดนตรีให้ทุกคนดู และคิดอยู่ในหัวตลอดเวลาว่า “ดูนะ…ดูนะ…” เป็นการสร้างทัศนคติให้เหมือนกันทั้งวงที่น่าสนใจไม่น้อย

“เราไม่ค่อยได้ซ้อมกัน เพราะโควิด 19 ทำให้ไม่ค่อยเจอกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าผมซ้อมกันไม่พอนะ เราใช้วิธีเตรียมตัวเองมาให้ดีก่อนจะมาซ้อมกัน เพราะต่อให้ซ้อมเป็น 10 ครั้ง แต่หากไม่ทำการบ้านมามันก็ไม่มีประโยชน์ สู้ซ้อมแบบมีคุณภาพสูง ๆ ครั้งเดียวยังดีเสียกว่า”

“ดังหรือไม่ดังไม่ใช่เป้าหมายหลัก

ผมต้องการฝากผลงานไว้กับโลกนี้มากกว่า

อย่างน้อยถ้าเราตายไปเพลงยังอยู่”

กระเต็น-เวทิต สืบนุการณ์
วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง (เทนเนอร์ แซกโซโฟน)

ทางเดินสายดนตรี

หลายคนบอกว่าโชคดีที่ครอบครัวให้อิสระในการเลือกทางเดินที่เขามีความสุข ผ่านการเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษา และการเรียนรู้ด้วยการใช้ชีวิตของเขาเอง จนประสบผลสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งของชีวิต สิ่งใดคือเป้าหมายต่อไปของพวกเขา

“ดนตรีมันไม่มีที่สิ้นสุดนะครับ คือโชคดีมากที่ผมเจอความสุขของผมแล้ว ก็อยากเล่นดนตรีเป็นอาชีพ อยากนำเพลงของผมไปสู่สายตาชาวโลก ดังหรือไม่ดังเนี่ยก็ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ผมต้องการฝากผลงานไว้กับโลกนี้มากกว่า อย่างน้อยถ้าเราตายไปเพลงยังอยู่” กระเต็นผู้เกิดมาในครอบครัวหมอ เป็นหมอกันมาหลายเจเนอเรชัน แต่วันนี้เขาเลือกบทบาทของตัวเองที่แตกต่าง…จะสร้างสรรค์บทเพลงไว้เป็นสมบัติของโลกแทน

บางคนก็อยากอยู่กับดนตรีไปตลอดชีวิต อาจจะไม่ใช่เป็นนักดนตรีออกหน้าเวทีเสมอไป งานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ งานเพลงประกอบภาพยนตร์ สิ่งใดก็ได้ที่สามารถใช้ความสามารถด้านดนตรีในการทำงาน

“โปรดิวเซอร์บางคนเล่นโคตรเก่งเลย แต่ก็ไม่ได้เป็นเพอร์ฟอร์มเมอร์” ยอร์คยังลังเลกับคำว่าอาชีพ “จุดหมายสูงสุดของผมค่อนข้างยาก คืออยากอยู่กับดนตรีไปตลอด ไม่อยากจะต้องไปทำอย่างอื่นเพื่อหาตังค์ แล้วค่อยมาเล่นดนตรี อยากเล่นดนตรีแล้วมีข้าวกินด้วย เลยยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าจุดหมายสูงสุดผมอยากเป็นอะไร”

คงจะหลีกหนีไปไหนไกลไม่ได้ เพราะความสุขที่สุดในชีวิตของเขา คือ ดนตรี

แต่หลังจากชัยชนะบนเวที THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง น่าจะมีคนจับตามองมากขึ้น คงมีคนเผ้ารอชมการแสดงดนตรีของเขามากกว่าที่ต้องสร้างความรู้สึกว่า “ช่วยดูผมหน่อยนะ…ดูนะ…ดูนะ…” และน่าจะเดินบนถนนสายดนตรีต่อไป

เพราะเชื่อว่าลีลาแจ๊สของ “เด็กเสี้ยนเวที”

กลุ่มนี้…ยังพลิ้วต่อไปได้อีกไกล.

 

ความเก๋าของชาว “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง”

• “ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง”

…วงเคยคว้ารางวัลชนะเลิศ Artchestra Music Contest 2019 จัดที่ เซ็นทรัล ศาลายา มาก่อน

• นักร้องนำ สไปทร์-วรวลัญช์ น้อยกมล

…เคยเข้ารอบ The Voice 2019 ในทีมโค้ชคิ้ม เคยเอ่ยไว้ในการแข่งขันว่า “ผมชอบร้องเพลง ผมรักการร้องเพลง” และได้ร่วมกับ หมิง–อภิวิชญ์ ดีไพโรจน์สกุล มือกีตาร์ และเพื่อนๆ เป็นวง di age (ได เอท) อาจคุ้นเสียงกันบ้างในเพลง จูบกันสักครั้ง (Kiss You)

• มือคีย์บอร์ด เอม – พีรณัฐ ชัยสังฆะ

…เป็นศิลปินหนุ่มหน้าใสชื่อ Aimzillow ของค่าย MILK! Artist Service Platform หลายคนอาจคุ้นเคยกับ “Trust Me” เพลงง้อแฟนที่แสนน่ารัก ไม่น่าแปลกใจที่สามารถแต่งเพลง “ไม่ต้องน่ารักกว่านี้แล้วเธอ” จนคว้ารางวัลเขียนเนื้อเพลงยอดเยี่ยมไปสบายๆ

• มือเทนเนอร์ แซกโซโฟน กระเต็น-เวทิต สืบนุการณ์ 

…เคยชนะการแข่งขัน Thailand International Jazz Conference Solo Competition 2020 และยังรวมกับเพื่อนๆ มีผลงานในวง SRI (ศรี) ในแนวเพลง Alternative R&B พร้อมสร้าง YouTube Channel ทำเพลงดีๆ ให้ได้ฟังกันในนาม “Coverดีๆมักจะมาตอนเมากาว”

• นักดนตรีคนอื่นๆ ของวง
…เช่น มืออัลโต แซกโซโฟน ก็เคยผ่านงานรางวัลมาหลายเวที และสมาชิกในวงทุกคนต่างเป็นนักดนตรีแบ็กอัพให้กับศิลปินวงต่างๆ อีกมากมาย

 

ตามติดผลงานเพลงพิเศษ “ไม่ต้องน่ารักกว่านี้แล้วเธอ” ของวงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง จากขอบเวที THE POWER BAND โดยเฉพาะ ได้แล้วที่ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย

 

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ