Playground

“เกิดอะไรขึ้น!!! กับชุมชนแม่นาจาง”
เมื่อนักเตะตีนเปล่าขอแตะมาตรฐานบ้าง

ศรัณย์ เสมาทอง 3 Feb 2022
Views: 515

เกิดอะไรขึ้น!!! ทำไมมีสนามฟุตบอลแบบนี้อยู่บนดอย คำถามนี้ผุดขึ้นแน่ๆ ถ้าใครได้เห็นภาพสนามฟุตบอลสีน้ำเงินสวยตั้งอยู่บนภูเขามีป่าไม้ล้อมรอบ ที่สำคัญสนามนี้อยู่ห่างจากเมืองไม่น้อยเลย

“บ้านแม่นาจาง ห่างจากตัวอำเภอแม่ลาน้อย 70 กว่ากิโลเมตร ถ้านับจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ร้อยกว่ากิโลเมตร แม้ถนนจะดีแล้วแต่ทางขึ้นเขาลงเขาตลอด ใช้เวลาเดินทางจากแม่ลาน้อยประมาณชั่วโมงกว่าถึงสองชั่วโมง” สุทธิพันธ์ ธำรงศักดิ์โสภณ ผู้ดูแลสนามซึ่งได้รับมอบจากคิง เพาเวอร์ที่แม่นาจาง เล่าให้ฟัง

นี่เป็นหนึ่งในโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย ของ คิง เพาเวอร์ เป็นสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสีน้ำเงินมาตรฐานสากล กลางชุมชนปกาเกอะญอ “แรกสุด ผอ. โรงเรียนบ้านแม่นาจาง เป็นคนริเริ่ม แต่ว่าโรงเรียนมีแค่ชั้นประถม ประมาณ 80-90 คนเท่านั้น เลยมาคุยกับพ่อหลวงผู้นำหมู่บ้าน อบต. ทำโครงการร่วมกัน จึงได้มาเป็นสนามฟุตบอลของชุมชน” ผู้ดูแลสนามเล่าต่อ “เวลาเปิดไฟสนามซ้อมบอลกัน คนแก่ที่ไม่เคยเห็นสนามแบบนี้ถึงกับเดินมาดูรอบสนามเลยครับ” หลังคำตอบแรกจบไป ก็เกิดคำถามใหม่ขึ้นอีก

“มีสนามดีๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อ” หลังจากผ่านเวลามาแล้วหลายปี อยากรู้…จริงๆ นะ

 

มีสนาม…แล้วเล่นกีฬากันมากขึ้น

ตำบลแม่นาจางเป็นชุมชนเล็กๆ บนดอยสูง แบ่งเป็น 7 หมู่บ้าน พี่สุทธิพันธ์บอกว่าเกือบทั้งหมดเป็นชาวปกาเกอะญอ มีเพียงหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้นที่เป็นชาวละว้า แต่บนดอยสูงขนาดไหนก็ตาม กีฬาฟุตบอลก็ยังครองใจผู้คนได้อยู่ดี “ผมก็ชอบเล่นนะครับ ตั้งแต่สมัยสนามเก่าเราก็เล่นแบบตั้งกติกาของเราเอง ตกลงกันเอง” สนามเก่าที่ว่าตั้งอยู่จุดเดียวกันกับสนามคิงเพาเวอร์นี่ล่ะ แต่เป็นสนามดินแดง นักกีฬาเล่นฟุตบอลฝุ่นตลบจนผมกลายเป็นสีแดงกันถ้วนหน้า เสาประตูก็ทำด้วยไม้ ต้องซ่อมหรือทำใหม่แทบทุกปี  ถ้าฝนตกสนามก็กลายเป็นโคลน “เราก็เล่นกันกลางฝนเลยครับ” คราวนี้สีผิวก็สีเดียวกับสีผมกันทุกคน

ด้วยสนามมีอยู่จำกัด คนที่ครองสนามเล่นฟุตบอลก็มักเป็นเยาวชนที่โตหน่อย ไปจนถึงคนอายุราวๆ สามสิบ ส่วนเด็กๆ กับผู้ที่สูงวัยกว่านั้นมักเบียดเวลาไม่ได้ แต่เมื่อมีสนามมาตรฐาน โรงเรียนได้ใช้ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา เด็กๆ ก็ได้เวลาลงเล่นนอกเวลาเรียน ผู้ใหญ่ก็เริ่มขยับแข้งขา

พี่เขาว่าหลังเลิกงานบนดอยเมื่อก่อนไม่มีอะไรทำก็ตั้งวงก๊ง…ก็เปลี่ยนชุดลงเตะฟุตบอลกันแทน

ดีงามสิครับแบบนี้ “ทั้งเด็ก เยาวชน และคนที่อายุ 30 กว่า 40 กว่า ก็หันกลับมาเล่นกีฬา หมู่บ้านใกล้เคียงก็มาใช้บริการสนามด้วย อย่างหมู่บ้านแม่กองแปห่างไปครึ่งกิโลเมตร หมู่บ้านแม่นาจางเหนือห่างไปกิโลเมตรกว่าๆ หมู่บ้านแม่ขีด ไกลหน่อยห่างไป 5 กิโลเมตร ก็มีจองสนามมาเล่นกันด้วย”

แล้วไม่ใช่แค่ฟุตบอลด้วยนะ วันดีคืนดีสนามน้ำเงินก็กลายเป็นสนามแข่งแชร์บอล วอลเลย์บอล ไปจนถึงลานปาร์ตี้คริสต์มาสกันเลยทีเดียว

มีสนาม…แล้วเกิด “แม่นาจางลีก”

สนามสีน้ำเงินส่งมอบให้ชุมชนแม่นาจางประมาณปี 2563 ปีถัดมาเขาจัดการแข่งกีฬาของคนบนดอยกันเลย “เราจัดแข่งเป็นแบบฟุตบอลลีกเลยครับ เรียกว่า แม่นาจางลีก จัดโดยกรรมการสนาม อบต. และผู้นำชุมชน มีลงสมัครแข่งขั้นตั้ง 12 ทีม แข่งกันหลายสัปดาห์เลย” ไม่ใช่แค่เพียงตำบลแม่นาจางเท่านั้น คนจากที่อื่นอย่างตำบลขุนแม่ลา ตำบลแม่โถ ก็ส่งทีมมาลงแข่งด้วย

พี่สุทธิพันธ์ที่สมัยเด็กๆ เคยเล่นฟุตบอลแบบตั้งกฎกติกากันเอง คราวนี้ก็ผันตัวมาเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันอย่างเต็มตัว “ผมก็เล่นกีฬามาตั้งแต่ประถม ไปเรียนที่ไหนก็ก็เล่นมาตลอด ตอนนี้อายุ 30 กว่าแล้ว ถ้ามีรายการแข่งในอำเภอ ผมก็เป็นหัวหน้าทีมเยาวชนพาไปแข่งเสมอ”

แม่นาจางลีกจัดแข่งกันช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 ความสำเร็จในครั้งนั้นก็เตรียมจัดครั้งต่อไป แต่ภาวะโควิด 19 ระบาดก็มาหยุดทุกสิ่ง มีมติให้งดใช้สนามฟุตบอลไปช่วงหนึ่ง  พอพ้นการระบาดหนักก็เริ่มอนุโลมให้มาเล่นกันบ้าง ความหวังของคนแม่นาจางอยู่ที่หลังโควิดซาลง

“เราเตรียมจัดฟุตบอลลีก เป็นครั้งที่ 2 จากเดิมมีแค่ทีมรุ่นบุคคลทั่วไป ก็จะเพิ่มลีกของผู้อาวุโส อายุ 40 ปีขึ้นไปด้วย  และถ้ามีเด็กที่พัฒนาฝีมือได้เยอะๆ อาจจะมีฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 13 ปีด้วย”

นี่เหมือนพี่เขากำลังสานฝันวัยเด็กอยู่กลายๆ

มีสนาม…จึงมี “นักเตะตีนเปล่า”

เด็กๆ นักเรียนที่บ้านแม่นาจางจะมีกันถึงแค่ชั้นประถม 6 ได้เรียนวิชาพลศึกษากันแค่สัปดาห์ละ 1 วัน สมัยที่สนามยังเป็นสนามดินก็พื้นขรุขระ อย่าหวังฝึกฝนทักษะให้ก้าวไกล พอเป็นสนามมาตรฐานก็มีช่วงเวลาที่ได้ลงเล่นอยู่บ้าง แต่ก็ยังขาดโอกาสที่ดี

“เวลาเยาวชนหรือเด็กโตกับผู้ใหญ่จองสนามเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนก็มักมีเด็กๆ มานั่งดูเสมอ บางวันมานั่งรอตั้งแต่ผู้ใหญ่มายังไม่ถึงสนาม  เราก็มีช่วงที่เปิดให้เด็กๆ ลงไปเล่นบ้าง” วันจันทร์-ศุกร์ เปิดให้จองสนามเล่นกันช่วงเย็นหลังสี่โมงเย็นไปจนสามทุ่ม ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ เปิดตั้งแต่เช้า 8-9 โมง ไปจนถึงสามทุ่ม แล้วแต่ว่าใครจะจองมาเล่น มีการเก็บค่าจองสนามเพื่อนำไปเป็นค่าไฟและค่าดูแลสนาม แต่กับเด็กๆ ให้เล่นกันฟรี!!

เด็กอยากเล่นมาก แต่ครูสอนก็ไม่ค่อยมี กระนั้นยังขยันมาเล่นกันเรื่อยๆ ทางสนามก็จับเป็นทีมจัดแข่งกันเสียเลย ให้ทุกคนได้ตื่นตัวและมีกำลังใจในการเล่นมากขึ้น “ตอนเริ่มจัดมีอยู่แค่ 2-3 ทีม เป็นทีมละ 7-8 คน บางคนก็ไม่มีชุดกีฬาเป็นเรื่องเป็นราว บางคนไม่มีรองเท้าเราก็ให้ลงแข่ง เพราะเห็นว่ามีความตั้งใจ”

นักเตะตีนเปล่า!!! รุ่นเล็กอีกต่างหาก

นึกภาพตัวเองสมัยเด็กๆ ที่ไม่มีรองเท้ากีฬาแบบคนอื่นแล้วอยากเล่นกับเขา ถ้ากลัวรองเท้านักเรียนพังก่อนเวลาอันควร ก็ต้องลงเล่นเท้าเปล่า เจ็บก็เจ็บ แต่ความสนุกมันมหาศาล “ก็ค่อยๆ พัฒนาไปครับ เด็กหลายคนก็มีแวว ในอนาคตถึงอยากเพิ่มฟุตบอลเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี เข้าไปในการแข่งแม่นาจางลีกด้วย”

ตอนนี้แม่นาจางก็เริ่มรวมทีมเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไปแข่งระดับอำเภอกันแล้วล่ะ แต่ไม่รู้เหมือนกันนะว่ายังเป็น “นักเตะตีนเปล่า” กันอยู่อีกไหม

มีสนาม…ความหวังจึงบังเกิด

“ก่อนจะมีสนามจากคิง เพาเวอร์ ทีมเยาวชนแม่นาจางของเราออกไปแข่งฟุตบอลข้างนอกตำบลทีไร ก็ตกรอบมาตลอด” พี่สุทธิพันธ์พูดติดตลก แต่รู้สึกได้ถึงความตั้งใจ “ตอนนี้ก็ดูมีทักษะดีขึ้น ก็หวังว่าจะติดเข้ารอบบ้าง ก็ยังไม่มีโอกาสพิสูจน์ เพราะติดช่วงโควิดพอดี”

ตอนนี้ก็เริ่มได้ประลองฝีมือกับหมู่บ้านใกล้เคียงบ้างแล้ว  เด็กๆ หลายคนก็ดูฉายแววจากการฝึกฝนด้วยตนเอง “ดูการเลี้ยงบอล ยิงลูกบอลก็ดีขึ้น พวกเราก็เด็กดอยอะนะ…ถ้ามีครูเก่งๆ มาสอนน่าจะไปได้ไกล” นั่นคือความหวังของเขา คือ อยากให้สักวันมีนักกีฬาเก่งๆ หรือทีมชาติไทย ที่มาจากบ้านแม่นาจางกับเขาบ้าง

ใครจะไปรู้ ว่านักเตะเด็กดอยตีนเปล่า วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นดาวซัลโวระดับประเทศ…ยุคนี้แล้ว…อะไรก็เกิดขึ้นได้ เชื่อสิ

น่าไปแอ่ว…ไม่ไกลบ้านแม่นาจาง

โครงการหลวงแม่ลาน้อย แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ใน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ที่สวยงามและอบอุ่นด้วยวิถีชีวิตของชาวเขา โดยเฉพาะฤดูทำนา ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จะได้เห็นนาข้าวขั้นบันไดตลอดสองข้างทาง รวมทั้งชมแปลงผักปลอดสารพิษ ที่ปลูกกันทั้งปี

ถ้ำแก้วโกมล เมื่อสำนักงานทรัพยากรธรณีแม่ฮ่องสอน ขุดเจาะอุโมงค์ที่ อ.แม่ลาน้อย เข้าไปตามสายแร่ พบความแวววาวของผลึกแร่แคลไซต์ สีขาวใสที่เคลือบฉาบผนังภายในถ้ำ ยิ่งยามต้องแสงไฟยิ่งแวววาว จนได้ชื่อว่า “ถ้ำน้ำแข็ง” พบได้เพียง 3 แห่งในโลก คือ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศจีน และเมืองไทยของเรานี่ล่ะ

น้ำตกแม่นาจาง เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูง มี 3 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 5 เมตร เกิดจากลำห้วยแม่นาจางกับลำห้วยปลากั้งไหลมาบรรจบกัน บริเวณน้ำตกเป็นป่าสมบูรณ์ สามารถซึมซับธรรมชาติได้อย่างเย็นใจ

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี