Passion

ซูเฟียน ดอเล๊าะ
จากฝันที่ไกลเอื้อม…สู่โลกนักบอลอาชีพ

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 14 Jul 2025
Views: 508

Summary

เด็กใต้จากปัตตานี วัย 11 ปี ที่รู้ว่าทุกครั้งเมื่อได้เตะฟุตบอลนั่นคือสิ่งที่รักสุด แต่ไม่กล้าฝันว่าจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่น พร้อมเปิดโลกเรียนรู้ทั้งในสนามและนอกสนาม ทำให้ภายใน 7 ปี   เขาสะสมประสบการณ์มีค่า ทั้งเข้าแคมป์เยาวชนทีมชาติ U 17 จนตอนนี้เป็นนักฟุตบอลอาชีพไทยลีก 3 ทีมเอฟซี ยะลา ด้วยวัยเพียง 16 ปี

ทุกคนย่อมมีฝัน แต่คงมีไม่มากที่รู้จักตัวเองเร็วแล้วพร้อมตั้งหลัก แถมมุ่งมั่นทำทุกอย่างให้ถึงเป้าหมายการเป็นนักกีฬาฟุตบอลให้ได้ ซึ่ง ซูเฟียน ดอเล๊าะ คือเด็กชายคนนั้น ที่รู้ตัวว่ารักฟุตบอลมาตลอดตั้งแต่อนุบาลถึงปัจจุบันจะขึ้น ม. 6

ชีวิตของเด็กหนุ่มชายแดนใต้คนนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยหัวใจของการเป็นนักกีฬาฟุตบอลเรื่อยมา จนคว้าโอกาสเป็นหนึ่งเดียวจากภาคใต้ไปเข้าร่วมแคมป์ฝึกซ้อมในฐานะเยาวชนทีมชาติไทย U 17 และได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพไทยลีก 3 สังกัดทีมเอฟซี ยะลา

 

“ผมไม่ได้ขยันซ้อมมากกว่าคนอื่น แต่ผมตั้งใจมากกว่าคนอื่น
ด้วยการศึกษาศาสตร์ฟุตบอลที่อยู่นอกสนามจากหน้าจอมือถือ
เพื่อให้การเล่นตำแหน่งกองกลางที่ได้รับ
เกิดการประยุกต์จนเป็นสไตล์การเล่นเฉพาะตัว”

ซูเฟียน ดอเล๊าะ
นักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย U17,
นักฟุตบอลทีมไทยลีก 3 สังกัดทีมเอฟซี ยะลา

 

เมื่อแรกเตะตา พอได้สัมผัสก็หลงรัก

“งานแข่งกีฬาฟุตบอล อบต. ที่ไปดูกับพ่อเพื่อเชียร์คนในหมู่บ้าน” คำตอบที่ได้จากซูเฟียนทันทีที่บอกเล่าว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นอยากเล่นฟุตบอล เพราะเป็นภาพจำตั้งแต่อนุบาลตอนสัก 4-5 ขวบ พอกลับถึงบ้านก็บอกพ่อว่า ‘อยากเล่นฟุตบอล’ จากนั้นทุกเย็นหลังเลิกเรียนก็จะไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ เพราะรู้ว่าเมื่อใดร่างกายได้เตะฟุตบอลจะมีความสุขมากทุกครั้ง

“เล่นฟุตบอลมาสักพักก็อยากเป็นนักฟุตบอลที่ได้ลงเล่นในสนามและแข่งไปเรื่อยๆ เท่านั้นพอ เพราะมองว่าหนทางความเป็นไปได้น้อยมากที่จะได้เป็นนักฟุตบอลแบบจริงจัง กระทั่งตอน ป.6 คุณพ่อของเพื่อนที่เขาทำอะคาเดมี เขาเห็นผมลงแข่งขันที่โรงเรียน เลยชวนให้ไปลงแข่งในนามอะคาเดมี และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่บอกกับตัวเองว่า จะเริ่มจริงจังสู่ความฝันการเป็นนักฟุตบอลให้ได้ หลังจากได้คำแนะนำจากโค้ชว่า หน้าที่กองกลางที่เป็นหัวใจหลักหนึ่งของทีมควรทำอย่างไรอ่านเรื่องราวของอะคาเดมีแห่งนี้ จากความตั้งใจของ ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา ประธานสโมสร เอฟซี ยะลา คลิกที่นี่

 

เดินทางข้ามจังหวัดไม่ใช่อุปสรรคในการซ้อม

“ความจริงจังในการเล่นฟุตบอลมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมกังวลว่าทำให้พ่อแม่ลำบากเพราะต้องขับรถข้ามจังหวัดไปกลับ 35 กม. ทุกเย็นหลังเลิกเรียนที่ จ.ปัตตานี เพื่อไปซ้อมที่อะคาเดมี จ.ยะลา แต่ทางบ้านก็สนับสนุนโดยมีคุณน้าช่วยรับส่งตอนเย็นทุกวัน พร้อมบอกเราว่า ถ้าจริงจังก็ต้องขยันซ้อมให้มากกว่าคนอื่น

ทุกเช้าผมเลยตื่นมาวิ่งก่อนคนอื่นเพื่อให้ร่างกายฟิต แล้วถึงอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน บ่าย 2 น้าก็จะมารับไปซ้อมช่วงเย็นหลังเลิกเรียนตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ถึงจะเหนื่อยแต่สนุกเพราะได้เรียนรู้การเล่นฟุตบอลมากขึ้น” จนความมุ่งมั่นที่เขาขยันซ้อมกว่า 8 เดือน ทำให้ซูเฟียนได้เข้าเรียนระดับ ม.1 ที่โรงเรียน  พีระยานาวินคลองหินวิทยา จ.ปัตตานี ด้วยโควตานักเรียนโปรแกรมนักกีฬา และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้รู้จักสนามสีน้ำเงินจาก คิง เพาเวอร์

 

เคล็ด (ไม่) ลับการเตรียมพร้อมเป็นนักฟุตบอลที่ดี

1.รู้จักวางแผน แต่ละวันจะรู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง
เพียงแต่ต้องจัดลำดับให้ดี

2.มีวินัย พยายามรักษาและทำตาม
สิ่งที่วางแผนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการฝึกซ้อม

3.มีความต่อเนื่อง ต้องคิดบวกตลอดเวลาในการซ้อมอย่างต่อเนื่อง
เพราะแม้นับหนึ่งได้เสมอ แต่จะทำให้ช้ากว่าคนที่ไม่เคยหยุด

 

การพัฒนาที่ได้รับจากสนามฟุตบอลที่เด็กๆ หลายคนใฝ่ฝัน

“ผมเห็นสนามหญ้าที่โรงเรียนครั้งแรกก็ตื่นเต้น ที่สนามมีหญ้าเป็นสีน้ำเงิน เคยเห็นแต่หญ้าเขียว และพอได้สัมผัสก็รู้สึกว่ามันนุ่มมาก พอลองเล่นดูก็รู้สึกได้เลยว่าหญ้าของสนามช่วยประคองลูกบอลให้ดี  ที่สำคัญช่วยเซฟอาการบาดเจ็บสำหรับคนเตะได้เป็นอย่างดี เพราะหญ้าสูงและมีเม็ดยางสีดำของหญ้าอยู่เยอะ เลยเอื้อต่อการเล่นบอลและพัฒนาทักษะของเรามาก แถมถ้าซ้อมตอนเย็นก็มีไฟสนามค่อยส่องแสงสว่างให้อีก”

ถือเป็นสนามที่เด็กหลายคนใฝ่ฝันอยากมีสนามแบบนี้ ซึ่งต่างจากที่พวกเขาเคยสัมผัสเวลาฝนตกพื้นแฉะและไม่สม่ำเสมอทำให้วิ่งยากและเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเพราะเท้าจะติดโคลน สนามแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งปั้นและบ่มเพาะเด็กและเยาวชนรักฟุตบอลมากแห่งหนึ่ง เพราะมีนักฟุตบอล 170 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,178 คน

เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรอรับโอกาสที่มาถึง

เมื่อซูเฟียนเป็นโรงเรียนประจำที่นักเรียนต้องกินนอนที่นี่ สำหรับนักเรียนโปรแกรมนักกีฬาต้องตื่นตี 5 เพื่อทำศาสนกิจและทำภารกิจส่วนตัวให้เสร็จก่อน 6 โมง แล้วออกกำลังกายซ้อมบอลระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ค่อยเข้าเรียนตามปกติ และมาซ้อมตอนเย็นอีกครั้งตลอดวันจันทร์ถึงเสาร์ ระหว่างเวลา 16.00-18.00 น.

“ถึงผมจะเคยผ่านการเล่นกองหน้าบ้าง แต่สุดท้ายลงตัวกับตำแหน่งกองกลาง ที่ผมมองว่าเสน่ห์คือ ได้เล่นฟรีสไตล์และมีโอกาสได้แตะลูกฟุตบอลมากกว่า เพราะเป็นทั้งตัวรับและตัวจ่ายบอล แต่จะเหนื่อยเร็วเพราะต้องวิ่งทั่วสนาม ขณะที่กองหน้ามีโอกาสยิงประตูได้มากแต่จะกดดันกว่า

ผมเริ่มฝันเป็นนักบอลอาชีพ ตอน ม.2 จึงศึกษาเทคนิคนอกตำรามากขึ้นจากคลิปหรือวิดีโอบน     ยูทูบ แล้วนำมาปรับใช้เวลาฝึกซ้อม จริงๆ ผมก็ตั้งใจฝึกขยันซ้อมเหมือนเพื่อนๆ และไม่ได้ทำมากกว่าคนอื่น แต่ผมตั้งใจมากกว่าคนอื่น เพราะคิดว่าตอนนี้ศาสตร์ฟุตบอลสามารถหาดูได้จากสื่อทั่วไปแล้ว อยู่ที่ว่าใครจะเลือกซ้อมตามเกมแบบเดิม หรือหาข้อมูลเพิ่ม”

ขอบคุณภาพจาก ซูเฟียน ดอเล๊าะ

 

วันที่โอกาส & การเรียนรู้ใหม่มาถึง

พอเรียนชั้น ม.4 หรือ อายุ 15 ปี โค้ชและครูก็เสนอชื่อเขาไปร่วมกิจกรรม “Talent ID” เป็นตัวแทนภาคใต้ตอนล่างกลายเป็นตัวแทนจากภาคใต้ทั้งหมดให้เข้าร่วมแคมป์เยาวชนทีมชาติอายุไม่เกิน 17 ปี (U 17) ที่ จ.ชลบุรี กับเพื่อน 30 คนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศ

นับเป็นเรื่องตื่นเต้นของที่บ้าน คนในหมู่บ้าน และโรงเรียน เพราะไม่เคยมีใครได้รับโอกาสมาถึงระดับนี้ แม้อุปสรรคคือรองเท้าสตั๊ดที่พัง แต่พ่อทำทุกอย่างให้ลูกมีรองเท้าไปเข้าแคมป์นี้ให้ได้ ซึ่งที่บ้านเราไม่มีเงินมากเพราะทำงานรับซื้อขี้ยางไปขาย แต่ได้เพื่อนบ้านช่วยกันรวบรวมเงินมาให้

7 วันที่เข้าแคมป์ U 17 ถือเป็นช่วงที่ซูเฟียนได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้มากขึ้น เพราะช่วงแรกตามเพื่อนไม่ทันหลายเรื่อง ตั้งแต่ระบบความคิด ทักษะการเล่นบอล ที่สำคัญคือสปีดการเล่นของแต่ละคนสุดยอดมาก จนเขาต้องโทร.ขอคำแนะนำจากโค้ช อาจเป็นช่วงแรกยังปรับตัวไม่ทัน ให้ค่อยๆ เรียนรู้และตื่นตัวเยอะๆ

“ผมไม่ได้ท้อนะ พอคุยกับโค้ชเหมือนได้ปรับทุกข์ ตอนแรกดูจากทีวีที่เขาแข่งกันคิดว่าเราน่าจะทำได้ พอเจอเพื่อนๆ ตัวจริง เขาเร็วกว่าเราทุกเรื่อง อย่างเวลานัดซ้อม 9 โมง ผมไปก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง พอถึงสนามปรากฏว่าหลายคนมาถึงก่อนผมแล้ว ทำให้เราเปลี่ยนความคิดว่าต้องขยัน มีวินัย และอดทนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรง เพื่อนที่ตัวเล็กกล้ามเนื้อเขายังแข็งแรงทุกส่วน มาเทียบกับเราและเพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่ว่าจะตัวใหญ่หรือตัวเล็กกล้ามเนื้อยังไม่แกร่งเท่าเขาเลย”

ขอบคุณภาพจาก ซูเฟียน ดอเล๊าะ

 

มีท้อบ้างแต่ไม่เคยถอย

ตอนแรกคิดว่าการไม่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวจริงใน U 17 ให้ไปแข่งต่างประเทศจะเป็นเรื่องที่เขาจะเสียใจมากสุด ซูเฟียนกลับเข้าใจสถานการณ์และมองเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะโค้ชบอกว่า ให้กลับไปฟิตร่างกายให้แข็งแรงก่อน เพราะจริงๆ โค้ชบอกเขามีเซนส์ในการเล่นบอล

อีกทั้งซูเฟียนเห็นด้วยกับโค้ชในเรื่องความยังไม่พร้อมของสภาพร่างกาย จึงตั้งใจกลับไปสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มความแข็งแรงก่อน และมองเห็นว่าตัวเขาเองมาไกลเกินฝันของเด็กคนหนึ่งแล้ว จากที่เคยคิดว่าไม่น่าจะผ่านคัดเลือกตั้งแต่รอบแรก

“ช่วงที่ยากลำบากที่สุด คือ เริ่มต้นเป็นนักกีฬาฟุตบอลเข้าอะคาเดมีตอน ป.6 ด้วยความไม่รู้และอยากลดความตุ้ยนุ้ย จึงอดอาหารหลังซ้อมตอนเย็น มีเพียงข้าวเหนียวไก่ 1 ห่อ ที่กินตอนซ้อนท้ายรถน้าจากยะลากลับบ้านปัตตานี สุดท้ายโค้ชบอกเป็นนักกีฬาว่า อย่าอดข้าว แต่ควรกินให้ถูกต้อง เพราะนักกีฬาต้องใช้ร่างกายหนักในการซ้อมตลอดเช้า-เย็น อีกทั้งอาจเป็นช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นที่ต้องการความท้าทายและประสบการณ์ยังไม่เยอะ คิดว่ายังไม่มีบททดสอบหนักๆ ถึงขั้นทำให้ท้อจนถอย มีแต่ความมุ่งมั่นเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างจริงจังเพื่อรอโอกาสเติบโตในสนามใหญ่ต่อไป”

ขอบคุณภาพจาก ซูเฟียน ดอเล๊าะ

 

อนาคตที่วาดไว้

โอกาสและบทบาทใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อได้เข้าสโมสรทีมเอฟซี ยะลา ซึ่งเป็นไทยลีก 3 ทำให้ซูเฟียนเป็นนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่อายุ 16 ปี และมีรายได้จากการซ้อมที่มาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่บ้าน

“ตอนกำลังขึ้น ม. 6 และเป็นทั้งนักฟุตบอลของโรงเรียนและนักบอลอาชีพของเอฟซี ยะลา ผมเลยต้องบริหารเวลาการฝึกซ้อมให้ดี ซึ่งตลอด 7 ปี ที่เล่นฟุตบอลมาถือว่ามาไกลเกินฝันมาก ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนของที่บ้าน คนในหมู่บ้าน ครู โค้ช และโอกาสในการพัฒนาด้วยการฝึกบนสนามสีน้ำเงินที่โรงเรียน

ผมตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในทุกสนาม เพราะเชื่อว่าถ้าเราเตรียมตัวให้ฟิตและพร้อมตลอดเวลา เดี๋ยวฝีเท้าเราก็ไปเตะตาแมวมองที่ทำให้ได้ไปสู่ทีมใหญ่ หรือถ้ามีโอกาสจริงกับบทบาททีมชาติต่อไป”

ขอบคุณภาพจาก ซูเฟียน ดอเล๊าะ

 

แรงบันดาลใจที่ขอส่งต่อความเป็นไปได้

“จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสนี้ แต่ทำได้ เชื่อว่าเด็กๆ อีกหลายคนก็ต้องทำได้เช่นกัน เพียงแค่อย่ารอโอกาส แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองมากที่สุด

ตอนนี้ศาสตร์ฟุตบอลเข้าถึงได้ง่ายจากแค่หน้าจอมือถือ การเรียนรู้มีอยู่รอบตัวรอบโลก เราสามารถฝึกซ้อมตามการค้นหาผ่านโซเชียลมีเดียได้ ที่สำคัญคือ ต้องเปลี่ยน Mindset ที่เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองและฝึกฝนบ่อยๆ

ผมเชื่อว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องมีคนเห็น หรือการที่ตัวเล็กก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะอยู่ที่ความสามารถมากกว่า พอเรารู้ข้อจำกัดตัวเองแล้วก็ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้ร่างกายฟิตขึ้นมา และฝึกปรือในแบบที่คนอื่นไม่มี ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจในเกมการเล่น”

เรื่องราวของเยาวชนในชายแดนใต้คนนี้ น่าจะเป็นพลังคนไทย ที่เป็นแรงบันดาลใจได้ดี หวังว่าเรื่องราวของซูเฟียน ดอเล๊าะ จะพอเป็นแรงขับเคลื่อนเอาชนะความกลัว เปลี่ยนให้เป็นพลังความกล้าและพร้อมที่จะลงมือทำตามความฝัน เพราะเด็กหนุ่มคนนี้ทำให้เห็นแล้วว่า พลังของความเป็นไปได้มีอยู่จริง…

 

ชมคลิป 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย: จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ ‘ล้านความเป็นไปได้’

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก