Passion

“ความสุขปั้นได้”
ของ อู๋ วิทยา 103PAPER SHOP

วรากร เพชรเยียน 15 Mar 2024
Views: 656

Summary

พูดคุยกับคุณอู๋ – วิทยา ชัยมงคล จบมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของ 103PAPER SHOP แบรนด์ที่หลงใหลในงานศิลปะและเห็นคุณค่าของเศษวัสดุ กับความสุขและแนวคิดการใช้ชีวิต และความฝันที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังที่ทำให้เรากลับมาตามหาความสุขทางใจและสัมผัสที่ใช่ของตัวเอง

เราอยู่กับมันซะจนไม่ใช่การทำงานแล้ว เนี่ย..ชีวิตเราเป็นแบบนี้” เขาหมายถึงการหยิบวัสดุที่เขาใช้ในการสร้างสรรค์…ค่อยๆ ปั้นมันให้กลายเป็นของใช้ – ของแต่งบ้าน นัยว่าเขากำลัง “ปั้นความสุข” ของตัวเอง…ถ่ายทอดออกมาแบ่งปันผู้คน

เราได้กลับมาพูดคุยกับคุณอู๋ – วิทยา ชัยมงคล ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของ 103PAPER SHOP อีกครั้ง (หลังจากการพูดคุยครั้งก่อนที่แบรนด์เคยใช้ชื่อว่า “103 Paper” คลิกอ่าน  ถึงความน่าสนใจของสินค้าภายใต้แบรนด์ 103PAPER SHOP ที่สร้างความประทับใจให้เราตั้งแต่แรกเห็น โดยเฉพาะกับสตอรีของการนำเอาเศษกระดาษมาผ่านกรรมวิธี ทำเป็นงาน Paper Sculpture หายากที่สวยงามตั้งโชว์อยู่ใน คิง เพาเวอร์ และได้รับความนิยมด้วยรูปลักษณ์สวยงาม…เรื่องราวเบื้องหลังผลงานเป็นความน่าทึ่งที่เขาหยิบเอากระดาษเหลือใช้ เนรมิตออกมาเป็นงานดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ ในลักษณะของ “ประติมากรรมกระดาษ”

“อยากทำแบรนด์ไปให้ยาวนาน เวลาดูรายการทีวี

ที่มีคนไปสัมภาษณ์ร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วเขาบอกเป็นรุ่นที่สองที่สาม

เราเองก็อยากสัมผัสความรู้สึกแบบนั้น

อู๋ – วิทยา ชัยมงคล
เจ้าของแบรนด์ 103PAPER SHOP

เรื่องราวของคุณอู๋กับแบรนด์ของเขา ทำให้เราอยากทำความรู้จักเบื้องลึกความหลงใหล แนวคิดดีๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของแบรนด์จากแพสชันของคุณอู๋ที่สร้างผลงานทุกชิ้นของ 103PAPER SHOP ให้เต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์ที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ

 

หลงรัก “ความยั่งยืน”

กระดาษ คือ สัมผัสที่คุ้นเคยเสมอมาตั้งแต่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ เป็นวัตถุดิบพื้นฐานของแจกันทุกใบและของแต่งบ้านทุกชิ้นจาก 103PAPER SHOP ซึ่งเริ่มต้นจากที่คุณอู๋มองเห็นกระดาษเหลือใช้ในสำนักงานจับเทคนิคทางศิลปะมาดัดแปลงจนปั้นขึ้นรูปได้ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ กระบวนการออกแบบที่สินค้าทุกชิ้นเริ่มต้นโดยมีรูปทรงเรขาคณิตเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ก็สะท้อนความสนใจของคุณอู๋เช่นกัน

“โดยพื้นฐานเราสนใจสิ่งที่มันธรรมดา เรียบง่าย มองเห็นอยู่ทั่วไป เรขาคณิตเป็นรูปทรงพื้นฐานของเกือบทุกสิ่ง อย่างทรงกลม ทรงกระบอก ทรงกรวย ผมมองว่ารูปทรงแบบนี้มันเป็นรูปทรงพื้นฐาน ก็เป็นความสนุกที่จะทำให้มันเกิดวิธีคิดขึ้นมา แล้วค่อยๆ แตกยอดออกมาเป็นดีไซน์”

รูปทรงเรขาคณิตที่นำมาปรับนั่นแต่งนี้ถูกนำมาเล่าอีกทีผ่านงานปั้น จากกระดาษเหลือใช้ในสำนักงาน คุณอู๋ค่อยๆ เรียนรู้ ค้นหาคุณลักษณะสำคัญของวัตถุดิบอื่นๆ ใช้ความหลงใหลในงานที่ทำต่อยอดไปเรื่อยๆ

“จริงๆ มันมีวัสดุอื่นๆ ที่มันหมดประโยชน์ไปแล้ว ซึ่งเราก็พยายามมองหาว่ามันสามารถเอามาดัดแปลงอะไรได้บ้างไหม เรามีการทดลองวัสดุอื่นๆ เหมือนกันแต่ยังไม่ได้พัฒนาต่อ อย่างพวกกากวัชพืช โดยหลักแล้วเราจะยังคงเน้นที่กระดาษ เพราะเรารู้สึกกับมันแบบนั้นด้วย ถ้าเป็นวัสดุอื่นเราอาจจะต้องไปคิดค้นใหม่”

ความหลงใหลในแนวคิด Sustainable หรือความยั่งยืนของคุณอู๋ ค่อยๆ เติมแจกันแต่ละใบ งานปั้นแต่ละชิ้น…ให้ค่อยๆ มีสีสันและลวดลาย ความสวยงาม เรียบง่ายเหล่านั้นคือ ผลรวมของวัตถุดิบที่เคยถูกมองข้ามและเกือบจะถูกทำลาย ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนของชีวิตที่แสนจะเรียบง่ายและสวยงามของคุณอู๋และคุณน้อย (อัจฉรา ตันนี) ด้วย

 

ถอดรหัสแนวคิดความสุขในชีวิต

ของคุณอู๋ วิทยา 103PAPER SHOP

1. Sustainable อาจเริ่มต้นจากการเลือกใช้ของที่สามารถใช้ได้ในระยะยาว รอจนกว่าจะเสีย จะพัง ไม่วิ่งตามเทรนด์มากจนเกินไป

2. มีความรู้สึกลึกซึ้งกับงานที่ทำ แล้วทุกวันจะไม่เหมือนการทำงาน แต่คือการใช้ชีวิต

3. มองความเรียบง่ายแล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นมุมมอง ไอเดียใหม่ในการทำงาน

4. รู้คุณค่าของงานที่ทำ และทำในสิ่งที่ตัวเองชอบโดยไม่กดดันตัวเองให้เป็นเหมือนใครหรือตามเทรนด์จนเกินไป

5. มีความฝันเป็นแรงผลักดันในชีวิต ไม่ว่าฝันนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

หลงรัก…ชีวิตธรรมดาที่กำลังดี

 แนวคิด Sustainable เข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตของคุณได้ยังไงบ้าง?

“เราไม่ได้เพิ่งเริ่มสนใจนะครับ เราสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว เวลาจะเลือกของใช้เราก็จะใช้จนมันพัง จนมันเสีย และเราไม่ได้เปลี่ยนของบ่อย”

ความยั่งยืนในอีกแง่มุมหนึ่งเป็นมากกว่าเพียงแค่การใช้สิ่งของและหยิบสิ่งเหล่านั้นมาดัดแปลงใหม่ แต่คือความยั่งยืนทางใจที่เกิดขึ้นโดยมีความเรียบง่ายของวิถีการใช้ชีวิต และความสุขที่ได้จากการสัมผัสจากการทำงานเป็นคำตอบของสมการ

“เรามีวิธีการใช้ชีวิตที่ธรรมดามากๆ เราไม่คิดว่าเราไปทำงานแต่เหมือนเราไปใช้ชีวิต เราไม่ได้รู้สึกว่ามันลำบากอะไร ถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยแต่เป็นความเหนื่อยที่พักก็หาย ไม่ได้เป็นความรันทด หดหู่ เรายังรู้สึกว่าเรามีแนวคิด ดีไซน์ที่อยากทำเยอะอยู่ ถ้าได้ทำงานทุกวันมันก็ดีและสนุกกับเรามากกว่า”

เราคุยกับคุณอู๋มาสองครั้ง และคำที่คุณอู๋มักจะพูดถึงคือ การสัมผัสถึงชิ้นงานของตัวเอง ในที่นี้อาจหมายถึงความรักในสิ่งที่ทำซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำงานทุกอย่าง

“ความชอบมันไม่เคยลดน้อยลงไป มันอาจจะเท่าเดิมหรือมากขึ้นก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เรายังอยากทำมันทุกวัน ถ้าไม่นับว่าจากเดิมเรื่องสีก็สนุกขึ้นหรือหาวิธีให้มันมีลูกเล่นมากขึ้น การโยงกับสิ่งหนึ่งได้นานๆ อยู่กับมันจนไม่เบื่ออาจจะพิสูจน์อะไรบางอย่างว่าเรารู้สึกกับงานพวกนี้ยังไง เราใช้ชีวิตกับมัน สนุกกับมันไปทุกวัน”

ถึงจุดนี้ชวนให้เราย้อนกลับมาคิดถึงการทำงานในชีวิตของตัวเอง ว่าเราสัมผัสและรู้สึกกับงานที่ทำอย่างลึกซึ้งแล้วหรือยัง

 

ใส่ใจสร้าง “งานรักษ์โลก”

ในช่วงที่คุณอู๋เริ่มต้นทำแบรนด์แนวคิด Sustainable กับของแต่งบ้านยังเป็นแนวคิดใหม่ งานที่เน้นการนำวัสดุมารียูส ดัดแปลงให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในบ้านเรา เป็นความท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่งของการสร้างงาน ยิ่งไปกว่านั้น เขายังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากความตั้งใจนั้นด้วย

“มันมีความท้าทายเลยแหละ เป็นเรื่องของความสนุกในระหว่างการทำ เราไม่รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่เราทำออกมาแล้วมันเป็นดีไซน์ชั้นเลิศหรือเปล่า เพียงแต่เรารู้สึกว่ามันออกมาจากสิ่งที่เรารู้สึกกับสิ่งนี้ มีประโยคหนึ่งที่เคยได้ยินมา เขาบอกว่า ‘เราอาจจะกำหนดไม่ได้ว่างานเราจะขายได้รึเปล่า แต่สิ่งที่เรากำหนดได้แน่นอนคือกำหนดให้งานเราดีแค่ไหนก็ได้’ เราก็จะทำงานของเราให้มันออกมาดีที่สุดก่อน มันจะขายได้ไหม อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราเริ่มต้นทำ”

ปัจจุบันแนวคิดเรื่องของความยั่งยืน eco-friendly เริ่มเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจกันมากขึ้น คุณอู๋เองก็ภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่หยิบเอาเศษวัสดุมาสร้างเป็นชิ้นงานใหม่ๆ และมองถึงการเติบโตในอนาคตของวงการศิลปะด้วย

“ผมว่าเดี๋ยวนี้สังคมทั้งไทยและทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่อง Eco กับเรื่อง Sustainable ในระยะหลังก็เริ่มเห็นมีคนทำด้านนี้มากขึ้น ใช้วัสดุต่างๆ ซึ่งผมมองว่าดีเลยนะเพราะมันจะทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ

ผมเองตอนที่เริ่มต้นสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้มีการตื่นตัวมากนัก จุดเริ่มต้นของเรามันเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราค่อยๆ ทำขึ้นมา ทุกวันนี้หลายอย่างดีขึ้น เครื่องมือ คนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ผมว่าอีกหน่อยมันจะมีดีไซน์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตเรื่อยๆ เหมือนกัน”

กองหนุนสำคัญและความฝันสูงสุด

นอกจากคุณอู๋แล้ว 103PAPER SHOP ยังมีคุณน้อย – อัจฉรา ตันนี คนรักของคุณอู๋เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินทาง เริ่มต้นแบรนด์มาจนถึงวันนี้ เป็นกองหนุนคนสำคัญของคุณอู๋ด้วย

“กองหนุนของผมหลักๆ เลยคือ ครอบครัวที่เข้าใจและช่วยเหลือในส่วนของการทำทุกๆ กระบวนการถัดจากการผลิต มีคุณน้อยเป็นหลักเลย ส่วนที่เหลือจากการผลิต ไม่ว่าจะลูกค้า วางบิล เอาของส่งห้างฯ เขาจะเป็นคนจัดการเรื่องต่างๆ ทั้งหมด ผมก็จะคอยซัปพอร์ตด้วย แต่หลักๆ เราก็จะมีหน้าที่ในการผลิต แต่เราก็ยังทำในจำนวนคนไม่มากนัก เราก็คิดว่ามันดีและเหมาะ”

จนถึงวันนี้คุณอู๋ค่อยๆ ขยาย มีลูกมือเพียงหยิบมือมาช่วยในการเตรียมงานก่อนเริ่มงานปั้น ซึ่งปัจจุบัน 103PAPER SHOP เริ่มมีออร์เดอร์ คนในประเทศและต่างประเทศรู้จักมากขึ้น…ส่วนหนึ่งผ่าน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี สินค้าของ 103PAPER SHOP ก่อนถูกส่งต่อออกไปในหลายประเทศ นับเป็น “พลังคนไทย” ได้รับความสนใจจากคนที่ชื่นชอบงานที่มีแนวคิดส่งเสริมความยั่งยืนและรักษ์โลก

“เราไม่ได้ทำงานสำหรับทุกคน มันจะเป็นชิ้นงานที่ไปอยู่กับคนที่เขาสนใจมัน เพราะเป็นชิ้นที่ต้องได้รับการดูแล ไปวางที่เปียกชื้นอาจจะไม่เหมาะสม มันเลยต้องการคนที่เข้าใจถึงจะได้เป็นเจ้าของ ตัวชิ้นงานก็จะเรียกลูกค้า เรียกเจ้าของของมันเอง”

 

ความฝันสูงสุดของคุณอู๋คืออะไร?

“อยากทำแบรนด์ไปให้อีกยาวนาน เวลาดูรายการทีวีที่มีคนไปสัมภาษณ์ร้านก๋วยเตี๋ยวแล้วเขาบอกเป็นรุ่นที่สองที่สาม เรารู้สึกดีทุกครั้ง เราเองก็อยากสัมผัสความรู้สึกแบบนั้น อีกอย่างคือ เรารู้ว่าสิ่งที่ทำมันเป็นของฟุ่มเฟือย ในภาวะเศรษฐกิจหนึ่งอาจจะไม่มีคนสนใจในสิ่งนี้เท่าไร เพียงแต่ว่าเราทำให้มันอยู่ที่ความยั่งยืนขนาดนั้นได้ เหมือนกับแบรนด์เนมดังๆ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นมันก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ทำไมคนถึงอยากมี เราก็อยากจะรู้สึกแบบนั้น คนรู้สึกว่าอยากเป็นเจ้าของ 103PAPER SHOP สักชิ้น”

ทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับคุณอู๋ สิ่งที่ได้กลับมาคือเรื่องราวใหม่ๆ อาจเป็นไอเดียหรือไม่ก็เป็นแรงบันดาลใจ วันนี้เราพอจะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของทั้งคุณอู๋และกับแบรนด์ 103PAPER SHOP แล้วว่าเบื้องหลังนั้นมีความสุขที่เรียบง่าย มีความฝัน ความตั้งใจอยู่ ซึ่งก็น่าจะเป็นคำตอบได้แล้วว่าทำไม 103PAPER SHOP ถึงได้เป็น     แบรนด์ที่หลายคนวาดฝันไว้ว่าจะต้องมีในครอบครอง

 

103PAPER SHOP

ที่ตั้ง : ถนนลาดปลาเค้า แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230

 

Facebook: 103PAPER SHOP

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: 103PAPER SHOP

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ