Passion

ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยกีฬาและการวิ่งเพื่อคนอื่น
ของ ดร.ป้าย – ปิยภูมิ กลมเกลียว

อณิศา จิตตภานันท์ 27 Nov 2023
Views: 595

Summary

ราว 10 ปีก่อน ศิลปินกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันวิ่ง ด้วยประโยคบันดาลใจจาก เอมิล ซาโตเปก (Emil Zátopek) นักวิ่งชาวเชโกสโลวาเกีย ที่ว่า “ถ้าคุณอยากจะวิ่ง ก็วิ่งสักไมล์ แต่ถ้าคุณอยากมีชีวิตใหม่ ก็จงวิ่งมาราธอน” กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ ดร.ป้าย นักวิ่งทีมก้าวคนละก้าว และอาจารย์พิเศษ คณะสหเวชศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ได้เริ่มวิ่งก้าวแรกไปพร้อมกันกับพวกเขาด้วย

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่คนไทยหันมาสนใจการวิ่งมาราธอนและได้เปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนเมืองจำนวนหนึ่งให้ละสายตาจากหน้าจอมือถือแล้วหันมาวิ่งออกกำลังกายแทน สนามวิ่งรายการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในทุกภาค เชิญชวนทั้งนักวิ่งและคนอยากวิ่งออกให้ไปใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง และปัจจุบันก็ยังมีคนก้าวเข้าวงการวิ่งอย่างต่อเนื่อง

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยกีฬา และแพสชันด้านกีฬาที่ ดร. ป้าย – ปิยภูมิ กลมเกลียว ส่งต่อให้คนรอบข้างวิ่งไปจนถึงเส้นชัย

 “การวิ่งเป็นการแข่งกับตัวเอง

เมื่อเราก้าวข้ามความสับสนกับความเหนื่อย ใจจะสั่งให้ขาก้าวออกไป

เราก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้เมื่อไหร่

ความสุขจะอยู่ตรงเส้นชัย…น้ำตาแห่งความดีใจมันมาเอง

ปิยภูมิ กลมเกลียว (ดร.ป้าย)

 

ก้าวแรกของแพสชันด้านกีฬา

“แพสชันกีฬาของผมน่าจะมีมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเล่นกีฬามาตั้งแต่มัธยม จนได้เป็นนักกีฬาประจำจังหวัดเพชรบุรี และได้รับโควตานักกีฬาเรียนต่อจนจบปริญญาตรีและโท จากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้รับทุนในระดับปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ ด้านสุขศึกษาและพละศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ผมได้เปิดโลกด้านกีฬามากขึ้นกว่าเดิม ได้รู้ว่าพอเราเอาวิทยาศาสตร์มาใช้กับกีฬามันทำให้นักกีฬาพัฒนาได้จริง

ส่วนที่ผมเริ่มต้นวิ่งมาราธอน ต้องย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจ ตอนนั้นมี พี่ตูน บอดี้สแลม และ พี่นาวิน ต้าร์ รวมกลุ่มศิลปินมาวิ่งกันในชื่อ กลุ่มเต่าน้อย ผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นผู้ดูแลการวิ่ง เป็นที่ปรึกษา สอนเทคนิค หรือพูดง่ายๆ ก็คือมาเป็นเพื่อนวิ่งเพื่อให้ทุกคนผ่อนคลาย แล้วแบบเริ่มวิ่งไปด้วยกันจากศูนย์ เพราะผมมีพื้นฐานการออกกำลังกายและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่ไม่ได้มีพื้นฐานในการวิ่งมาราธอน

ที่ผ่านมาผมเป็นนักกีฬาเทนนิส ว่ายน้ำ ฟุตบอล แต่ผมเอาความรู้ที่เรียนมามาทดลองด้วยตัวเอง แล้วแนะนำโดยยึดหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬา เราวิ่งกันมาเรื่อยๆ จนพัฒนาเป็นระยะ 5 กม. 10 กม. ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. แล้วมาเริ่มฟูลมาราธอน 42.195 กม. ครั้งแรกที่งานสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กรุงเทพมาราธอน”

 

ทริกจากดร.ป้าย สำหรับคนอยากวิ่ง

• ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี

• ช่วงซ้อมเน้นโปรตีนเป็นหลัก

• ก่อนและวันลงแข่งให้เน้นคาร์โบไฮเดรต ให้ร่างกายมีพลังงานไปใช้ตอนวิ่ง

• พักผ่อนให้เพียงพอ

• การยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญทั้งก่อนหรือหลังการเล่นกีฬา

ก้าวแรกจากการเป็นเพื่อนวิ่ง ต่อยอดมาถึงพาคนอื่นวิ่ง

“ผมก็ได้รับโอกาสจากพี่ตูนให้เป็นทีมวิ่งซัปพอร์ตครั้งแรกในโครงการ “ก้าวคนละก้าว 10 วัน 400 กม.” จากกรุงเทพฯ สู่ อ.บางสะพาน ซึ่งมีพี่ป๊อก – อิทธิพล สมุทรทอง และหมอเมย์ – พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ วิ่งอยู่ข้างพี่ตูน ส่วนผมวิ่งอยู่ด้านหลังคอยสังเกตอาการต่างๆ และพอเริ่มมีแขกรับเชิญมาวิ่งด้วย หลายท่านยังไม่เคยวิ่งผมก็ไปช่วยดูแลให้เขาวิ่งได้อย่างสนุก มีความสุข ให้เขาผ่อนคลาย คอยให้คำปรึกษาว่าวิ่งยังไงให้จบ จากนั้นก็เป็นทีมวิ่งซัปพอร์ตมาตลอดทุกโครงการ”

 

ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้คือความสุข

การวิ่งเป็นการแข่งกับตัวเอง คนไม่เคยวิ่งเลยคงไม่เข้าใจถึงความรู้สึกที่เข้ามาปนกันในขณะที่กำลังวิ่ง ยิ่งในระยะฟูลมาราธอนจะเป็นช่วงที่อยู่กับตัวเอง มีทั้งความสับสน ความคิดที่ตีกันเองว่าเรามาวิ่งทำไม เพื่ออะไร จะไปต่อหรือจะหยุด และหาคำตอบให้ตัวเอง ระหว่างนี้ถ้าเราตกผลึกได้ว่าเราวิ่งทำไม ร่างกายมันจะไปต่อได้เอง

เมื่อเราก้าวข้ามความสับสนกับความเหนื่อย ใจจะสั่งให้ขาก้าวออกไป เราก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้เมื่อไหร่ ความสุขจะอยู่ตรงเส้นชัย เข้าเส้นชัยเมื่อไหร่ น้ำตาแห่งความดีใจมันมาเอง เป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากตอนที่สับสน เป็นความรู้สึกดีใจที่เราทำได้ เป็นความสุขในอีกรูปแบบหนึ่งที่ทุกคนจะหันหน้ามามองกันโดยไม่ต้องพูด สนามวิ่งเป็นสนามมิตรภาพที่ทุกคนช่วยเหลือกัน ดูแลกัน ช่วยกันเชียร์อัปให้ทุกคนวิ่งไปข้างหน้า ยิ่งสนามที่ยากๆ เรายิ่งต้องดูแลเอาใจใส่กันมากขึ้น เพราะจะจบมาราธอนได้ ต้องเตรียมตัวดี ทีมงานหลังบ้านต้องพร้อม และการวิ่งที่ดีต้องวิ่งจบแบบไม่บาดเจ็บ เพราะมันแปลว่าเราพร้อม”

 

ก้าวแรกของคนอยากวิ่ง

“สำหรับคนที่ไม่เคยวิ่งเลย ผมแนะนำให้เริ่มจากเดินก่อน ฝึกจังหวะการหายใจให้สัมพันธ์กับจังหวะการก้าวเท้าและการแกว่งแขนให้ได้ก่อน ถ้าทำได้แล้วค่อยเริ่มเดินเร็วขึ้น พอได้สักระยะค่อยๆ ปรับเป็นวิ่งช้าๆ จนกว่าเราจะควบคุมจังหวะหายใจได้ดี เพราะหลายคนหายใจไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดจุกเสียด แล้วค่อยปรับความเร็วตามต้องการ อีกอย่างคือ อยากให้หาต้นแบบหรือไอดอลของตัวเองเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราออกมาวิ่ง แต่ต้องดูความเป็นไปได้ด้วยนะ ถ้าจะเอาอย่างนักกีฬาอาชีพอันนั้นก็ยากไป ต้องดูบริบทร่างกายเราด้วย และเป้าหมายที่ตั้งไว้จะต้องมีความท้าทายในระดับหนึ่ง ไม่ได้ง่ายมากแต่ต้องไม่ยากเกินไป ไม่งั้นเราจะท้อ พอทำได้แล้วต้องตั้งเป้าหมายต่อไป

ส่วนทริกเดียวของการวิ่งให้จบคือวินัยคำเดียวเลย ต้องมีวินัย และซ้อมสม่ำเสมอ ไม่ต้องวิ่งทุกวันก็ได้ ตัวผมเองก็ไม่ได้วิ่งทุกวัน แต่ต้องเมนเทนร่างกายสม่ำเสมอ ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี ช่วงซ้อมให้เน้นโปรตีนเป็นหลัก ก่อนและวันลงแข่งให้เน้นคาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ เน้นกินอาหารที่ให้พลังงาน เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานไปใช้ตอนวิ่ง พักผ่อนให้เพียงพอ มาราธอนไม่มีคำว่าฟลุค แต่ต้องมาจากวินัยและความตั้งใจที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้”

ก้าวออกมาวิ่งแล้วได้อะไร

“ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นนะครับ เรื่องแรกที่ได้คือสุขภาพดีแน่นอน ตามมาด้วยเรื่องบุคลิก เราจะเห็นว่าคนที่วิ่งจะมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป คือได้ทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี อีกเรื่องจะได้สังคม ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่นด้วย ตอนนี้คนที่ออกมาวิ่งมีเยอะมาก แต่ละคนจะมีแอดติจูดที่ต่างออกไป มีทั้งวิ่งทำเวลา ทั้งวิ่งเพื่อสุขภาพ ทำให้เราได้เจอคนหลากหลายอาชีพ บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนเราก็ได้เรียนรู้จากคนนั้นคนนี้ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตอนวิ่ง”

 

ก้าวต่อไป…จะวิ่งเพื่อตัวเอง

ที่ผ่านมาผมวิ่งเพื่อคนอื่นมาตลอด เพราะแพสชันในการวิ่งของผมคือการพาทุกคนไปถึงเส้นชัยเพื่อสัมผัสความสุขที่ได้เอาชนะตัวเอง วิ่งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น เพื่อให้คำปรึกษา…เพราะผมเองทดลองด้วยตัวเองมาก่อนแล้วว่าวิธีไหนดี ได้ผลเป็นอย่างไร เราพูดได้ว่าเราแข็งแรงมาจากตรงนี้ๆ เราทำแบบนี้ เราวิ่งแบบนี้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนอินบ็อกซ์มาปรึกษาตลอด ผมก็จะให้คำแนะนำให้ลองทำแบบนี้ดูสิ เหมือนเราแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

สำหรับส่วนตัวผมวิ่งเพื่อคนอื่นมาตลอด ยังไม่เคยวิ่งทำเวลาเพื่อตัวเองเลย แต่ก็มีความตั้งใจที่จะลงฟูลมาราธอนเพื่อตัวเองสักครั้ง ผมยังรอโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าศักยภาพตัวเองมีมากขนาดไหน เร็วๆ นี้คงจะได้วิ่งเพื่อตัวเอง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะสนามไหนนะครับ”


ก้าวแรกที่เรียกว่า
“โอกาส”

ผมมองว่าถ้าเด็กได้มีโอกาสและเราเอาหลักการออกกำลังกายด้วยวิทยาศาสตร์มาใช้พัฒนา เราน่าจะมีนักกีฬาอาชีพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย ที่ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย มอบสนามฟุตบอลให้โรงเรียนขาดแคลน เป็นโอกาสที่เราหยิบยื่นให้โดยที่เด็กๆ ไม่ต้องวิ่งหา แต่เราเข้าไปหาเด็กๆ เอง ทำให้เด็กมีโอกาสได้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นมันจะเป็นการคัดสรรนักกีฬาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปในตัว

ผมคิดว่าเมื่อเขามีสนามให้ฝึกซ้อม ถ้าเด็กมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มันจะต่อยอดไปถึงระดับเยาวชนและระดับอาชีพได้ เพราะจริงๆ สนามฟุตบอลอาจจะไม่ได้เป็นสนามฟุตบอลอย่างเดียว อาจจะเอาไปใช้ในกีฬาอย่างอื่นด้วยก็ได้ การมอบสนามฟุตบอลก็คือการสร้างโอกาสที่จะทำให้ค้นพบนักกีฬาช้างเผือก และผมคิดว่าอีกไม่นานจะต้องมีนักกีฬาที่เกิดจากโครงการนี้แน่นอน”

 

ก้าวไปด้วยกันในฟุตบอล นัดเปิดสนามของโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย

“ก่อนลงสนามผมต้องเอาสตั๊ดมาปัดฝุ่นก่อนนะ (หัวเราะ) เพราะผมมีโอกาสเตะฟุตบอลน้อย แล้วคงฝึกซ้อมเดาะบอล แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วกีฬาทุกชนิดมันเชื่อมโยงกัน ทั้งการวิ่ง การขยับตัว ความคล่องแคล่วว่องไว สปีด มันต้องใช้ทุกอย่างอยู่แล้ว ถ้าเราเมนเทนร่างกายเราดี ความแข็งแรงยังดีอยู่ เราก็กลับไปเล่นฟุตบอลได้ กับน้องๆ ก่อนเริ่มเตะฟุตบอล ผมคงไปนำวอร์มร่างกาย การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการเล่นกีฬาทุกชนิดครับ

 

ชมสนุกสนานในรายการบุกสนาม EP 20 FOX HUNT X โรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม ที่ได้เชิญดร.ป้าย เป็นแขกรับเชิญในรายการ

Author

อณิศา จิตตภานันท์

Author

เด็กบัญชีผู้รักตัวหนังสือมากกว่าตัวเลข เริ่มต้นเขียนจากอ่านเยอะแล้วอยากเล่า หลงเสน่ห์จานชามวินเทจและแคคตัส มีความสุขกับอาหารอร่อยและการเดินทาง

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ