Passion

‘K.C String Combo’
ดนตรีสู้ชีวิตของคนมีฝันอันใหญ่ยิ่ง

วรากร เพชรเยียน 21 Feb 2023
Views: 620

ช่วงเช้าในหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อครั้งนั้นมีวงดนตรีในชุดเอี๊ยมสีกากีขึ้นแสดงบนเวทีเป็นวงแรก K.C String Combo Band จากโรงเรียนสะเดาขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์สงขลา เรียกเสียงกรี๊ดและเสียงปรบมือให้กำลังใจดังก้องหอประชุม เป็นวงดนตรีวงแรกที่ขึ้นโชว์ของการแข่งขันในสนามสงขลา รายการแข่งขัน THE POWER BAND 2022 Season 2 การประกวดวงดนตรีสากลที่ผ่านมา จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

บนเวทีมีหัวใจรักเสียงดนตรีของสมาชิกวงทั้ง 8 คนกำลังบรรเลงเพลงเพราะๆ ในจังหวะอาร์แอนด์บีอยู่บนนั้น

เราได้พูดคุยกับสมาชิกของวงทั้ง 5 คน โดยมี มิน – ธนพงษ์ บุญรอด นำทัพเพื่อน และเป็นนักร้องนำของวง กล้า – นรพนธ์ ขวัญฤกษ์ (คอรัส) ฮัน – ฮัซวานี สะสู (แซกโซโฟน) ที่รักในเพลงคลาสสิก
แบงค์ – วัชรากร แดงวิไล (กลอง) และ สาม – กัญญาจิตร์ จุฑานฤนาท กีตาร์สาว เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งแบนด์ขึ้นมา และวงดนตรีนี้เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนทางด้านดนตรีของโรงเรียน

“ถ้าเราเอาแนวเดียวกันไปสู้กับเขาแล้วเราไม่สามารถสู้เขาได้ เราก็เลยต้องทำฉีกแนวไป
เอาแนวที่เราคิดว่าเราสามารถต่อยอดได้ไกลและสามารถพัฒนาได้เยอะ”

K.C String Combo Band
โรงเรียนสะเดาขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์สงขลา

 

รุ่นแรกของโรงเรียน หาเงินซื้อเครื่องดนตรี

“ถ้าพูดว่าเป็นวงมาก่อนไหม นี่คือรุ่นก่อสร้างวงเลย โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงทางด้านวงดนตรีเท่าไร จนมีครูท่านหนึ่งย้ายเข้ามาสอนดนตรีในโรงเรียน ตอนนั้นเครื่องดนตรีก็ไม่มี มีคีย์บอร์ดหนึ่งตัวของโรงเรียนแค่นั้น” กล้า ตำแหน่งคอรัส เล่าถึงจุดเริ่มต้นวงดนตรี ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อราวสองปีก่อนหน้านี้และเริ่มต้นจากการหาสมาชิกเข้าวง จนในที่สุดก็ได้สมาชิกและเพื่อนๆ ร่วมห้องมาเป็นส่วนหนึ่งสร้างสรรค์ผลงานดนตรีออกมา เริ่มต้นจากการเป็นวงดนตรีโฟล์กซองวงเล็กๆ เล่นในงานเกษียณของคุณครูและงานสถาปนาของโรงเรียน ซึ่งเป็นวันที่แบงค์เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งมือกลองวันแรก

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำวงดนตรี และการเข้ามาแข่งขันในการแข่งขันครั้งนี้คือ การขาดแคลนเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องดนตรีที่มีจึงได้มาจากการยืม และจากของสมาชิกในวง K.C String Combo Band จากนั้นจึงเริ่มออกงานแสดง เปิดหมวกในงานแสดงสินค้าในตัวจังหวัดบ้างและที่ต่างๆ บ้าง เพื่อหาเงินมาซื้ออุปกรณ์ “ต้องหาเงินซื้อของเอง สู้ชีวิตมาก” แบงค์ มือกลองพูด

แต่แม้ว่าจะขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องดนตรีจากทางโรงเรียน แต่อุปกรณ์ต่างๆ อย่างแซกโซโฟน ฮันก็ได้เครื่องดนตรีให้ยืมมาจากคุณครูผู้คุมวง และทำให้ทุกคนสามารถซ้อมและเข้ามาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ได้โดยใช้หัวใจที่รักในการเล่นดนตรีและฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นพรสวรรค์หรือพรแสวง จนทำให้เข้ารอบเข้ามาถึงในสนามสงขลาในครั้งนี้

 

โน้ตเพลงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของสมาชิกทุกคน

นอกจากเครื่องดนตรีที่เป็นความท้าทายแล้ว อุปสรรคการฝึกซ้อมก็มีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่การเรียน การสอบ และสถานการณ์โควิด-19 “คลิปวิดิโอที่พวกเราส่งไปมันเป็นคลิปซ้อมอัดก่อนวันจริงวันหนึ่ง ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าผมเป็นโควิด แล้วอาการมันออกในวันต่อมา ก็เลยต้องส่งคลิปที่เราซ้อมอัดไว้ไปประกวด และจริงๆ จะมีนักร้องผู้หญิงอีกคนด้วยแต่เขาติดโควิดอยู่ ก็เลยไม่ได้มาอัดเพลงด้วยกัน”

แต่อุปสรรคและความท้าทายที่กล่าวมานี้ก็ดูจะเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความสามารถในการแต่งทำนอง และร้องเพลงของแต่ละคนซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวงที่รวบรวมคนที่มีความสามารถและฝีมือเอาไว้อย่างอัดแน่น “เรื่องคอร์ดก็ช่วยๆ กันเขียนกับเพื่อนๆ” ฮัน มือแซกโซโฟน พูดถึงการเขียนคอร์ดและโน้ตเพลงที่ร่วมกันเขียนกับเพื่อนในวง

ด้วยระยะเวลาที่มีน้อยจึงทำให้สมาชิกทุกคนต้องทำงานไว เขียนโครงไว้ ส่วนรายละเอียดของเนื้อเพลงค่อยมาเก็บรายละเอียดอีกทีหนึ่ง โดยจังหวะและคอร์ดเพลงนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากคุณครูด้วยส่วนหนึ่ง ปรับให้มีกลิ่นอายความเป็นเพลงบลูส์นิดๆ ซึ่งทำนองก็ต้องมีความเข้ากันกับสไตล์การร้องเพลงของมิน นักร้องนำที่มีความเป็นอาร์แอนด์บี ทำนองเพราะๆ จังหวะนุ่มๆ

 

ความรักในเสียงดนตรีของความสามารถทั้ง 5 ที่แตกต่างกัน

หากถามว่าในห้าคนนี้ มีใครบ้างที่อยากศึกษาหรือไปต่อทางด้านดนตรี มีสี่คนที่ยกมือ ด้วยสไตล์การร้องเพลงของมิน ที่เริ่มต้นการร้องเพลงจากการฟังคุณแม่ร้องเพลง “เดิมคุณแม่เคยเป็นนักร้องในร้านอาหาร ก็เลยได้ยินคุณแม่ร้องเพลงบ่อยๆ ก็ร้องมาตั้งแต่เด็กแต่ก็ไม่เคยไปเรียนดนตรี ฝึกด้วยตัวเองมาตลอด” ซึ่งบนเวทีกรรมการก็มีทั้งจุดที่แนะนำและชื่นชม พร้อมกับบอกให้มินไปประกวดในรายการแข่งขันร้องเพลงด้วย “มันตื้นตันจนนำตาไหลเลย”

ฮัน แซกโซโฟน ก็เป็นอีกคนที่อยากมาทางสายดนตรี “อยากเป็นครูสอนดนตรี การเล่นดนตรีทำให้ตัวเองไม่ว่าง ทำให้เราได้รู้จักการเป็นสังคมด้วย เพราะในวงก็มีทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง” ซึ่งฮันเริ่มต้นจากการเป็นเด็กในวงโยฯ ของโรงเรียน และชื่นชอบดนตรีคลาสสิก กรรมการเองก็มองเห็นมุมนี้ของฮันที่เล่นได้จังหวะดนตรีคลาสสิกในวงสตริง

สาม มือกีตาร์ เป็นอีกหนึ่งคนที่หลงใหลในการเล่นดนตรีเช่นกัน และหวังว่าในอนาคตจะได้เป็นครูสอนดนตรี โดยเริ่มเล่นจากความชื่นชอบดนตรีที่มองว่าช่วยเสริมเสน่ห์ให้กับคนๆ หนึ่งได้ ซึ่งสามเพิ่งมาเริ่มเล่นกีตาร์ได้ไม่นานนี้เอง “ก่อนหน้านี้คุณพ่อเคยซื้อกีตาร์มาตัวหนึ่งตั้งแต่ตอนเราอยู่ ป.4 แต่ที่บ้านไม่มีใครเล่นดนตรีเป็นเลย ตอนนั้นเล่นไปเล่นมาเจ็บมือก็เลยพักไปช่วงหนึ่ง แล้วกลับมาจับอีกทีตอนจะขึ้น ม.1 ฝึกไปเรื่อยๆ จากยูทูบ” สามเป็นอีกหนึ่งคนที่ครอบครัวสนับสนุนด้านการเล่นดนตรีและการเล่นดนตรีก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดต่างๆ ด้วย

และแบงค์ มือกลอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่ครอบครัวสนับสนุนด้านการเล่นดนตรี และอยากต่อยอดมาทางสายดนตรี “แม่จับไปเรียนครับ ตอนแรกติดเกมแล้วก็ไม่ได้ชอบ เรียนไปได้สักแป๊บก็หยุดเรียนจนมีคนแถวบ้านชวนไปเล่นวง ผมก็เริ่มฝึกซ้อม มาช่วงโควิดที่ผมเริ่มฝึกซ้อมแบบจริงจังจนได้มาเข้าร่วมวงกับพี่ๆ” จากการเล่นกีตาร์ แบงค์พัฒนามาเล่นกลองด้วยแรงสนับสนุนของคุณแม่ที่อยากให้เล่นเครื่องดนตรีหลายๆ แบบ

อีกหนึ่งหนุ่มที่มองอนาคตแตกต่างจากเพื่อนร่วมวงไปอีกเล็กน้อยคือ กล้า ตำแหน่งคอรัส ที่มีความตั้งใจอยากใช้ความสามารถด้านการร้องเพลงและความรักในสายวิชาการและภาษาไทยมาเป็นงานในอนาคต

“ผมเป็นคนชอบอ่านทำนองเสนาะ รู้สึกว่าตัวเองก็มีความสามารถในด้านนี้และชอบภาษาไทยด้วย เลยอยากเป็นครูภาษาไทย” ซึ่งกล้าเริ่มต้นร้องเพลงมาจากการที่คุณแม่เปิดเพลงให้ฟังและร้องเพลงตามร้านอาหาร และได้รับถ่ายทอดฝีมือ การร้อง การใช้ลูกคอมาจากคุณแม่ แม้เส้นทางการเป็นครูสอนภาษาไทยจะเป็นทางสายวิชาการ แต่ก็ยังมีมุมที่กล้าอยากใช้ความสามารถนี้ส่งต่อและสอนเด็กนักเรียนในอนาคตด้วย

 

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

“เราจะเอาชนะวงอื่นยังไง ถ้าเราเอาแนวเดียวกันไปสู้กับเขาแล้วเราไม่สามารถสู้เขาได้ เราก็เลยต้องทำฉีกแนวไป เอาแนวที่เราคิดว่าเราสามารถต่อยอดได้ไกลและสามารถพัฒนาได้เยอะ” กล้า พูดถึงการทำเพลงซึ่งจะเป็นจุดกำหนดทิศทางของวงที่จะพาให้วงประสบความสำเร็จ เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่เมื่อฟังแล้วชวนให้เก็บกลับมาคิดต่อ และเป็นการตามหาแก่นหลักของการทำวงดนตรีที่ต้องมีสไตล์ที่ชัดให้มีความแตกต่างจากคนอื่น

นอกจากแนวเพลงที่ชัดเจนแล้ว ยังมีคอสตูมที่แตกต่างและโดดเด่นจากวงดนตรีต่างๆ ในรุ่นมัธยมศึกษา ที่การเลือกใส่ชุดเอี๊ยมสีกากีกันทั้งวง “มันเป็นชุดออกงาน แบบนักดนตรีงานแต่ง และสีม่วงก็เป็นสีประจำโรงเรียนด้วย เวลาเราออกงานที่เขาจ้างมาเราก็จะใส่ชุดวงแบบนี้” เป็นซิกเนเจอร์ของวงที่ชวนให้น่าจดจำ

และแม้ในการแข่งขันครั้งนี้ K.C String Combo Band จะไม่ได้เข้ารอบไปแข่งขันในรอบสุดท้าย แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับกลับมาคือ ประสบการณ์ชีวิตครั้งใหญ่ คอมเมนต์จากคณะกรรมการจะเป็นกำลังใจและกำลังที่คอยผลักดันให้สมาชิกวงปรับแก้ไขให้ดีขึ้น และอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้รุ่นน้องหรือสมาชิกในรุ่นต่อจากนี้ได้มาสานฝันต่อในครั้งหน้า อย่างที่มินพูดถึง Dream it. Do it จากโครงการครั้งก่อนนี้ไว้ว่า “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง” เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่มีฝันเท่านั้นที่จะเดินก้าวต่อไปได้

จากเรื่องราวความฝันและจุดเริ่มต้นการเล่นดนตรีของสมาชิกในวง นอกจากความรักในการเล่นดนตรีและการร้องเพลงแล้ว ยังมีทั้งเรื่องพรแสวงที่ทำให้ในวันนี้ ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีความชื่นชอบอะไรและจะสร้างเส้นทางที่มองเห็นตัวเองเดินไปในทิศทางนั้นได้อย่างไร เป็นอีกวงดนตรีที่รวบรวมคนที่มีความรักในเสียงเพลง ความสู้ชีวิตของการสืบต่อวงดนตรีเอาไว้ได้อย่างกลมกล่อม กลายเป็นวงดนตรีฟิวชัน อาร์แอนด์บีที่ไพเราะและน่ายกย่อง

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ