Passion

“เป็นแค่ตัวแทนไปรับรางวัล”
คุณ New Cluster
เพราะเพื่อน ถึง Outstanding

ศรัณย์ เสมาทอง 13 Oct 2023
Views: 763

Summary

เสียงกรี๊ดลั่นฮอลล์ เมื่อสิ้นเสียงประกาศรางวัล Outstanding น้องคุณ – นรภัทร อภัยจิตต์ มือกีตาร์ วง New Cluster ก้าวออกมารับรางวัล เขาอายุเพียง 13 ปี เพิ่งเล่นกีตาร์เมื่ออายุ 8 ขวบ แต่ลีลาและเสียงกีตาร์เข้าตากรรมการ “เป็นแค่ตัวแทนไปรับรางวัล” น้องบอกสั้นๆ เพราะเขาเชื่อว่ารางวัลนี้เป็นของ New Cluster ทั้งวง

“ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรมากครับ” อ้าว…ทำไมล่ะ ได้รางวัลใหญ่อยู่นะ “ไม่รู้ครับ..น่าจะง่วงครับ”

เรายกนาฬิกาขึ้นดู อ่อ นี่ก็ปาเข้าไปจะสองทุ่มแล้ว เด็กอายุ 13 แบบ น้องคุณ – นรภัทร อภัยจิตต์ มือกีตาร์ วง New Cluster ง่วงนอนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

พอถามถึงความรู้สึกแรกตอนที่เล่นรอบชิงชนะเลิศเสร็จ “โล่งครับ” แสดงว่าซ้อมมาหนักละสิ “ใช่ครับ” ครูโหดใช่ไหม “ครูไม่โหดครับ แต่แม่โหด” อ้าววววว “เห็นไหมๆ ครูน่ะใจดี” เสียงครูแทรกมา คุณแม่รีบเสริม “ครูเป็นคนห้ามทัพค่ะ”

โอเค…ขอสรุปข้อมูลเป็น 3 ข้อหลักๆ ข้อที่ 1 น้องคุณผู้ได้รับรางวัล Outstanding Class A ในฐานะมือกีตาร์ จากการประกวด THE POWER BAND 2023 SEASON 3 พูดน้อยตามสไตล์มือกีตาร์เก่งๆ (เห็นมาหลายรายแล้ว) ข้อที่ 2 คุณแม่กวาง – ภาณุมาศ อภัยจิตต์ น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญ ข้อที่ 3 ครูบุ๊ค – พงศกร เลิศศักดิ์วรกุล อยู่ใกล้ชิดน้องคุณแน่ๆ อยากรู้อะไรคงต้องถามคนนี้

หันไปมองน้องคุณหน้าง่วง…เฮ้ย…เด็กเฟี้ยวๆ ที่โซโลกีตาร์โหดๆ บนเวทีเมื่อกี้หายไปไหนเนี่ย!!!!

“ชอบเล่นเวทีใหญ่ๆ อยากให้คนรู้จัก

อยากไปเล่นกับมือกีตาร์ระดับโลกคนอื่น”

                                                                    น้องคุณ – ด.ช.นรภัทร มือกีตาร์ วง New Cluster
รางวัล Outstanding เวที THE POWER BAND 2023

 

วันละ 8 นาที

“เป้าหมายอยากเป็นมือกีตาร์ระดับโลก”

ประโยคนี้ก้องอยู่ในหัวเราเสมอมา ไม่ว่าจะไปดูเทปที่น้องไปออกรายการทีวี ไปแข่งขันที่ไหน หรือวันนี้เองเลยก็ตาม…น้องคุณก็พูดประโยคนี้เสมอ

แล้วมีเวลาซ้อมกีตาร์ไหม “มีเวลาซ้อมครับ ช่วงปกติก่อนจะแข่ง THE POWER BAND ก็ซ้อมวันละ 8 นาทีครับ” เสียงหัวเราะของคุณแม่และครูดังลั่น เด็กแบบไหนกันซ้อมแค่นั้นแล้วเก่งขนาดนี้ (อ่านเรื่องวง New Cluster)

“น้องเขาถือกีตาร์รอบบ้านเลยค่ะ” แม่เล่า “กีตาร์เหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของเขา แต่ชอบเล่นอะไรก๊อกๆ แก๊กๆ นะ” ครูบุ๊คก็เสริมเลยว่าตอนที่ครูสอน แม้หูจะฟัง แต่มือก็เล่นอะไรก๊อกๆ แก๊กๆ อยู่กับกีตาร์

หันไปถามน้องคุณว่า เวลาอยู่บ้านแขวนกีตาร์แล้วเดินไปทั่วบ้านจริงไหม “เวลาที่ไม่ได้ซ้อมจริงจังอะไรมาก ก็หิ้วไปเรื่อยๆ” การหิ้วไปมาไม่ถือเป็นการซ้อมใช่ไหม “ครับ” 8 นาทีที่บอกว่าซ้อม นั่นคือแบบจริงจังใช่ไหม “ครับ”

ตอบสั้นแต่ได้ความแบบคุณเขาล่ะ

“แต่ช่วงที่มีแข่ง THE POWER BAND ประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา ก็ซ้อมประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน” เข้าใจน้องที่เรียนรู้ด้วยแพสชันโดยแท้ เพราะอายุยังน้อย แถมอายุการเล่นกีตาร์ก็เพียง 5 ปีเท่านั้น เริ่มตอน ป.2 อายุ 8 ขวบ ตอนนี้อายุ 13 ปี และออกมาเรียนแบบ Homeschool หลายปีแล้ว

“เด็กๆ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องคะแนนนะคะ แต่เราเห็นปัญหา คือ คนชอบตีค่าเด็กว่าต้องเก่งตรงนั้น ต้องเก่งตรงนี้เหมือนๆ กัน มีการตัดสินด้วยเกณฑ์ประเมินแบบเดียวกัน”

เราเองก็แปลกใจ เพราะยุคนี้แล้วเรื่องราวของ พหุปัญญา (Multiple Intelligences) ที่พูดถึงความสามารถอันหลากหลายของมนุษย์ น่าจะส่งถึงผู้ใหญ่ทุกคนแล้ว “เด็กที่เก่งทางศิลปะทางดนตรีก็ยังถูกด้อยค่า พอมีคนตีค่าเขาว่า…ไม่เก่ง มันทำให้เขาขาดความมั่นใจ ขาดจุดยืน ไม่รู้ว่าควรทำอะไรต่อไป ไม่รู้จะพัฒนาไปทางไหนดี และเขาก็จะไม่กล้าทำอะไร” ข้อสุดท้ายนี้ล่ะสำคัญที่สุด “คุณน่ะเขาชอบดนตรี เขาชอบเล่นกีตาร์” ดีใจที่คุณแม่ค้นพบสิ่งนี้ในตัวลูกชาย

และขอเตือนพี่ๆ อย่าด้อยค่ามือกีตาร์เด็กที่ซ้อมวันละ 8 นาทีนะ!!!

ภาพโดย Expert Kit

 

“เสียงมาก่อนสัญลักษณ์

เขาเข้าใจและรู้จักเสียง

ก่อนจะรู้ว่าคือคอร์ดอะไรเสียอีก”

                                                                 ครูบุ๊ค – พงศกร เลิศศักดิ์วรกุล
ผู้ดูแล วง New Cluster พูดถึงน้องคุณ

กีตาร์อายุ 3 วัน

สมัย 8 ขวบ ตอนนั้นยังอยู่ในโรงเรียนเหมือนเพื่อนๆ “เรียนวันละ 8 ชั่วโมงแล้ว ไม่ต้องไปเรียนวิชาการเพิ่มหรอก ลองเข้าชมรมดนตรีดีกว่าไหม…สาวกรี๊ดนะเว้ย” แม่ผู้คุยกับลูกเหมือนเพื่อนสนับสนุนลูกเต็มๆ ให้เข้าชมรมดนตรี

“เข้าไปแบบเล่นอะไรไม่เป็นเลยครับ”

อ้าว แล้วทำไมเลือกเล่นกีตาร์ “ไม่รู้เหมือนกันครับ”

เห็นคนอื่นเล่นแล้วชอบเหรอ “ไม่ครับ”

ยังไงกัน “ที่ชมรมเขาแย่งกันเล่นกลองครับ”

กีตาร์ในชมรมมีกี่คน “มีคุณคนเดียวครับ”

วันนั้นน้องกลับมาบ้านบอกแม่ว่าจะเล่นกีตาร์ “อีกวันแม่ก็ไปซื้อกีตาร์เลย” แม่กวางเล่ายิ้มๆ “แต่เล่นได้ 3 วัน ก็เดินมาบอก คุณไม่เอาแล้ว…มันเสียงไม่ดี”

หือออออ รีบหันไปถามน้องคุณ ทำไมรู้ว่าเสียงไม่ดี เพราะกีตาร์แบรนด์ที่แม่เล่าให้ฟังเขาก็นิยมใช้กันอยู่ เสียงไม่ดีหรือไม่ชอบกันแน่ “จริงๆ น่าจะไม่ชอบครับ มันเป็นพวกเสียงป๊องๆ แป๊งๆ น่ะครับ” ก็แน่ล่ะสิ เพราะคุณชอบเล่นแนว Rock กับ Progressive Rock บางทีก็ล้ำไป Metal เสียด้วยซ้ำ

การเล่นกีตาร์ครั้งแรกๆ ของเขาก็คือไปฟังและดูตามคลิปเพลง แล้วเล่นตามทั้งเพลง! “พอเล่นไปสัก 4-5 รอบ มันติดหู ก็จะจำได้เอง ครูก็จะสอนพวก power chord อย่างเดียว” ก็เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ยากเกินไป power chord ก็จะจับโน้ตสัก 2 ตัวก็ได้แล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจคือ น้องคุณไม่ได้เริ่มจากการเรียนทฤษฎีเป็นขั้นตอน ตอนแรกไม่ได้รู้เลยว่าคอร์ด C Am Dm เป็นอย่างไร เขาฟังเสียงเป็นหลัก “เขาหาเสียงเจอเลย คือเสียงมาก่อนสัญลักษณ์” ครูบุ๊คเล่า “ถ้าถามน้องว่าเพลงนี้ท่อนฮุกคอร์ดแรกคอร์ดอะไร เขาตอบไม่ได้ แต่…พึ่ม…ตีกีตาร์ คอร์ดนี้ละครับ ซึ่งถูกด้วยนะ เขาเข้าใจเสียง เข้าใจการเล่น ตอนหลังก็ต้องมาเริ่มสอนโน้ต สอนทฤษฎี”

ครูบุ๊คเข้ามาช่วยวางแผนการซ้อม โดยดูว่าจะมีคอนเสิร์ตอะไร มีแข่งอะไร แล้วเลือกว่าเราควรเล่นเพลงแบบไหน ไปเจอเวทีไหน “ผมจะให้การบ้านเด็กๆ New Cluster ว่าอาทิตย์หน้าเราจะเล่นเพลงนี้นะ ไปแกะมานะ เอาเท่าที่ได้ แต่ว่าความละเอียดในการฟังของเด็ก ที่แกะเพลงมามันก็ไม่ลึกเท่าไร ผมจะแนะนำต่อว่าตรงนี้มันควรมีไลน์อะไรเพิ่มไหม ประมาณนั้น”

มีดื้อไม่ยอมเล่นไหม “ถ้ากีตาร์เนี่ย คอร์ดง่ายไป เพลงดูไม่มีอะไร กีตาร์ไม่มีอะไรทำ ไม่โดดเด่น ได้แต่ตีคอร์ดง่ายๆ ตีคอร์ดวนๆ จะบอกมาเลยว่าไม่ชอบ” ชัดเจนเสียจริงน้อง

“แต่ผมก็จะพยายามให้ลองทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำเรื่อยๆ”

ภาพโดย Expert Kit

 

“พอเขาขึ้นเวทีแล้วเล่นไม่ได้อย่างที่คิด

เด็กจะคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก้าวข้ามไม่ได้

ถ้ามีเวทีอยากให้มีโอกาสเล่นบ่อยๆ”

แม่กวาง – ภาณุมาศ อภัยจิตต์
ผู้ปกครองน้องคุณ วง New Cluster พูดถึงลูกชาย

เพราะเพื่อน…จึงเป็นไปได้

น้องคุณเคยลงแข่งกีตาร์หลายครั้ง ที่พอจะเสิร์ชในโลกไซเบอร์แล้วเจอชื่อ ก็มี Overdrive Rock Dream Team the Battle งานนั้นเข้ารอบ 1 ใน 8 แต่เป็นการแข่งแบบ Open ไม่จำกัดอายุนะ งานรวมกีตาร์มือดีระดับประเทศแบบนี้ ก็ทำให้ต่อยอดพบปะผู้คนมากมาย

วันหนึ่งก็เลยกลายมาเป็นลูกศิษย์ของ บอม – ณัฐธีร์ รุ่งเลิศนิรันดร์ มือกีตาร์ วง Yes’sir Days ที่เคยเป็นแชมป์เวทีที่น้องคุณใฝ่ฝันด้วย

“พี่บอมมีส่วนช่วยให้เราได้รางวัล Outstanding ของ THE POWER BAND นี้ด้วย” แม่กวางเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจในรอบชิงชนะเลิศ “เราคุยกับพ่อแม่น้องทุกคน ว่าการจะดันให้วงเราได้รางวัลมันอาจจะยากสำหรับเด็ก เรามองว่าทั้งกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง และประสบการณ์พี่น่าจะสู้พี่ๆ ได้ยาก แต่เราอยากให้เด็กได้มีกำลังใจเลยจะดึงจุดเด่นในวงขึ้นมา”

ตอนนั้นครูบุ๊คเห็นว่ามีรางวัล Outstanding ด้วย จึงวางหมากว่าต้องทำอย่างไร “ช่วงโซโล ถ้าเราจะโชว์เป็นการ Battle ระหว่างทั้งวงกับมือกีตาร์ มันน่าจะส่งให้การโซโลโดดเด่นขึ้นมาได้ เราต้องไปคุยกับเด็กด้วยว่า ตั้งใจจะทำแบบนี้ รางวัล Outstanding ครั้งนี้ ถ้าได้มามันจะเป็นรางวัลของทุกคนนะ เพราะถ้าไม่มีทุกคนน้องคุณก็ไม่มีทางได้”

หมากตัวสำคัญอีกหนึ่ง คือ พี่บอม ครูบุ๊คบอก “ผมให้น้องคุณเขาทำไลน์โซโลมาก่อน แล้วส่งไปให้พี่บอมช่วยเกลา ให้ออกมาเป็นเวอร์ชันที่ใช้แข่ง” น้องคุณเล่าต่อ “บางครั้งที่พี่บอมไม่ว่าง งานเยอะ ก็จะส่งเป็นคลิปมาให้ดู แต่บางครั้งถ้าพี่บอมว่าง ก็จะออนไลน์ สอนเล่นทีละ step เลยครับ”

ทั้งเพลงเขาจะค่อยๆ เล่นให้หนักขึ้น Time Signature ของเพลงจะเปลี่ยนจาก 4-4 เป็น 12-8 หมายความว่าเพลงจะเร็วขึ้น “จากนั้นเราก็มี Solo Battle ปะทะกัน พอใกล้จะจบ ทั้งวงก็เล่นเป็น Tutti เล่นรวมกันระเบิดพลังสู้กีตาร์อีกหนึ่ง แล้วก็จบหายไปเลย คิดว่าจะออกมาน่าสนใจ”

ออกมา ว้าวววว เลยล่ะ…นี่ยังไม่รวมช่วงเริ่มเพลง 2 “ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง” ที่น้องคุณ เปิดเพลงด้วยสกิลเดี่ยวซอด้วย

น้องคุณ และสมาชิกวง New Cluster กับครูบุ๊คและคุณแม่กวาง
ที่ THE POWER BAND 3 สนามกรุงเทพฯ

 

“ครูบุ๊คทำโครงสร้างเพลงมาให้คุณดูโดดเด่น แล้วให้เพื่อนเล่นซัปพอร์ต ส่วนคุณเป็นแค่ตัวแทนไปรับรางวัลครับ” ฟังน้องพูดก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า วงดนตรีที่มีคนช่วยคิด ช่วยวางแผนดีๆ มันดีแบบนี้นี่เอง ความมุ่งมั่นที่จะเป็น “มือกีตาร์ระดับโลก” ของน้องคุณ คงจะเป็นไปได้ไม่ยากเย็น

ดีไม่ดีอาจจะได้เฉิดฉายไปทั้ง วง New Cluster ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

ย้อนกลับไปดูช่วงน้องคุณ battle กับเสียงดนตรีอื่นๆ ของวง New Cluster บนเวที THE POWER BAND 3 นาทีที่ 2.40 ชั่วโมง

ติดตามสารคดี The Power Band 2023 presents a“Music Makes Life Possible” story ดนตรี ความฝัน ความเป็นไปได้

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ