Passion

“เตรียมความเท่มาจากที่บ้าน”
นาย–เอกวุฒิ พรานพิทักษ์
มือเบสมือแห่งปี มีดีที่ Ghost Note!

ศรัณย์ เสมาทอง 28 Dec 2022
Views: 532

“เพราะหน้าตา…มั้งครับพี่”

คำตอบกลั้วเสียงหัวเราะสวนมาอย่างเร็วที่ถามความเห็นว่า เหตุใดกรรมการถึงได้ให้รางวัล Outstanding นักดนตรียอดเยี่ยมกับมือเบสอย่างเขา เราหัวเราะตามเพราะไม่เชื่อ!!! 

ก็บรรดากรรมการเวที THE POWER BAND 2022 SEASON 2 ที่จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย เขาโหดได้ใจ จะมามอบรางวัลเพราะหน้าตาดี…ไม่มีทาง

“คือผมตั้งใจซ้อมมาก แล้วก็เล่นแบบเต็มที่ พยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ผมคนเดียวนะครับ เราทำกันทั้งวง” นาย – เอกวุฒิ พรานพิทักษ์ มือเบสของวง CUT-TO วงเก่งจากจังหวัดชลบุรี เก่งขนาดคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 Class B รุ่นบุคคลทั่วไปไปครองละกัน

“แต่เราก็เตรียมความเท่มาด้วยนะ” เอ้า…เชื่อก็ได้

“ผมชอบการเล่น ghost note
คือโน้ตที่ไม่มีเสียงออกมาแต่เราดีด มันเป็นดีเทลที่มากกว่าการเล่นปกติ
ช่วงปกติของเพลงอาจไม่ได้ใช้มากนัก เพื่อให้เพลงไม่โล่ง แต่ในท่อนโซโลก็ต้องใช้เทคนิคที่ยากขึ้น”

นาย – เอกวุฒิ พรานพิทักษ์
(เบส) วง CUT-TO

 

เล่นเบส…ทั้งๆ ไม่รู้จักเบส

“เมื่อประมาณ 9-10 ปีที่แล้ว ตอนผมอายุ 13 เรียนประมาณ ม. 2 มีเพื่อนที่เล่นกีตาร์ชวนไปเล่นดนตรี ผมก็ไม่รู้อะไรเลยครับ เบสยังไม่รู้จักเลย เขาให้เล่นก็เล่นไป” ตอนนั้นเขาเรียนโรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร อยู่ในเขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อนๆ วง CUT-TO ที่เป็นมือกลอง มือกีตาร์ และนักร้องก็เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันนี้ แต่อยู่คนละวง

“วงผมตอนนั้นชื่อวงดัมมี่มั้งครับ จำไม่ค่อยได้แล้ว เล่นกันได้ไม่นานเห็นรุ่นพี่เขาไปประกวดดนตรี ก็อยากไปแข่งกับเขาบ้าง เหมือนหาที่เล่นน่ะครับ เราซ้อมกันแล้วก็อยากไปเล่นให้คนอื่นดูบ้าง”

สมัยนั้นที่ชลบุรีมีเวทีประกวดเล็กๆ เยอะอยู่ วงของนายเพิ่งเริ่มเล่นได้ไม่ถึงปี ก็มั่นใจไปประกวด…ผลก็คือ “ตกรอบไปตามระเบียบสิครับ แต่นั่นแค่เวทีแรกเรายังสนุกอยู่ ก็เล่นกันเรื่อยมา”

ด้วยความขยันซ้อม เน้นเล่นกีตาร์ตามคลิปในยูทูบ แกะเพลงโดยการฟัง ไม่ได้ร่ำเรียนโน้ตหรือหลักการดนตรีเป็นเรื่องเป็นราว ผ่านไปปีเดียวก็เริ่มแกร่งมั่นใจว่าเราเป็นมือเบสเต็มตัว พอขึ้นมัธยมปลายก็ได้รวมวงกับเพื่อนต่างห้องสมาชิกวง CUT-TO นี่ล่ะ ก็มี โอที – ธิติวัฒน์ คฑาวัฒน์วีระเกตุ (ร้องนำ) นนท์ – เมธานนท์ แดงสุธา (กลอง) หนึ่ง – อภิสิทธิ์ ไชยศรี (กีตาร์) และนายเล่นเบส ส่วนคีย์บอร์ดนั้นยังไม่ได้พบหน้ากัน

“ม.ปลายนี่วิ่งงานประกวดตลอดเลย เยอะจนผมก็จำไม่ได้แล้ว คือเราเล่นมาเยอะแล้ว พอจะไปแข่งก็เลือกเล่นเพลงที่เรามีอยู่แล้วมาซ้อม อาจทำดีเทลเพิ่มนิดหน่อย  แต่วงเราไม่ได้เล่นตามร้านอาหารนะครับ เพื่อนบางคนอาจไปเล่นแต่ผมไม่ได้เล่นด้วย”

อาจเป็นเพราะข้อตกลงที่เป็นสัญญากลายๆ ที่ทำกับพ่อแม่ “พ่อแม่ไม่ได้ห้ามเล่นดนตรี เขาเปิดใจให้เรามาก แต่เราก็ต้องเรียนด้วย เล่นดนตรีแล้วเรียนแย่พ่อแม่ไม่โอเค ผมเรียนแผนคณิต-อังกฤษ ด้วย” พูดเป็นนัยว่าวิชาที่เรียนนั้นยาก ต้องขยันมากเป็นพิเศษ แต่ก็คุ้มที่ขยันล่ะ “ผมได้เกรด 3 กว่าครับ และพอเล่นดนตรีจริงจังไปแข่งได้รางวัล ก็มีเงินมาช่วยที่บ้านบ้าง เขาก็เห็นว่ามันไปได้”

เป้าหมายต่อไป…เรียนมหาวิทยาลัยด้านดนตรี

จากแกะเพลงเล่น สู่ Music Academy 

“ผมดูนักดนตรีระดับโลก อย่าง วิคเตอร์ วูดเท่น (Victor Wooten) แล้วชอบมาก มาร์คัส มิลเลอร์ (Marcus Miller) ก็ชอบ ถ้าคนไทยก็มือเบสวง ETC (มิ้นท์ – ปรชญา รามโยธิน) ผมอยากเก่งให้เหมือนเขา อยากมีชื่อเสียง” อยากเป็นนักดนตรีเก่งๆ ไม่มีทางลัดแน่นอน “ใช่ครับ ก็ต้องฝึกอย่างเดียวเลย”

ตลอดมัธยมวงของนายเล่นดนตรีแนวฟังก์มาโดยตลอด แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยทั้งวงเข้าเรียนสายแจ๊ส คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เหตุผลของนายมีง่ายมาก คืออยากเปิดโลกไปสู่ดนตรีแบบที่ตัวเองไม่เคยเล่น

“ตอนเล่นฟังก์ส่วนใหญ่เราใช้วิธีแกะเพลงมาเล่นรวมวง ใช้ชุดคอร์ดแบบปกติเสียเป็นส่วนใหญ่ พอมาเรียนแจ๊สมาเจอการใช้ Tension Chord คือมันสามารถเล่นคอร์ดเดียวกันไปได้หลากหลายมากขึ้น บางคอร์ดมันเล่นไปในทางที่เราไม่เคยเล่นเลยด้วยซ้ำ ก็พยายามเอาสิ่งที่เรียนมามาประยุกต์ใช้กับการเล่นฟังก์” คือก็ยังชอบฟังก์กันอยู่ดี เพราะการประกวด THE POWER BAND 2022 เขาก็ใช้แนวดิสโก-ฟังก์ ในการประกวด

ในมหาวิทยาลัยนี่เอง วง CUT-TO มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง นักร้องนำจากที่เรียนเอก Voice ก็รู้สึกว่าศิลปะการแสดงมีความน่าสนใจมากกว่าจึงย้ายสาขา และได้นำมุมมองแบบการละครเข้ามาใช้ในการเล่นดนตรี  มือกีตาร์ซึ่งปกติใช้ความสามารถเล่นดนตรีอาชีพอยู่แล้ว และไม่ได้คาดหวังใบปริญญาทางด้านดนตรีก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อไปใช้ชีวิตในรูปแบบอื่น และเขาก็ได้พบกับมือคีย์บอร์ด มาร์ค – ธนทัต มณีนูญธวัฒน์ ที่นี่

แต่ช่วงเวลาแสวงหาของชีวิต วง CUT-TO ก็ออกสู่ยุทธจักรน้อยลง ให้จอมยุทธทั้งหลายได้ไปฝึกปรือฝีมือกันให้บรรลุ

ช่วงประมาณ ปี 3 นายก็เริ่มออกเล่นตามร้านอาหาร ซึ่งเขาก็มองว่าเป็นการฝึกทักษะไปในตัว แต่ถ้าเป็นช่วงที่ต้องแข่งขันเขาจะฝึกหนักกว่านั้น “ช่วงนี้ผมเล่นเบสทุกวัน จนแทบไม่มีวันพัก ตื่นมาก็เล่นๆๆ ไปจนถึงเที่ยงคืน แล้วนอน…พอตื่นมา บ่ายโมงก็เริ่มซ้อมอีก วนอยู่แบบนี้ จนนิ้วนี่ปวดเลย”

เขามองว่าทำอะไรต้องมีเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางว่าวันไหนจะต้องทำอะไร “แต่ถึงวันหนึ่งมันก็จะตันครับ เพราะพอบรรลุ มันก็มีจุดหมายใหม่ที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ” 

คนที่จะ outstanding เขาคิดกันแบบนี้ใช่ไหม !?!

 

CUT-TO เท่อย่างพร้อมเพรียง

หากได้ฟังวง CUT-TO เล่นในการประกวด หลายคนคงว้าวกับรายละเอียดดนตรีที่เขาบรรจงใส่เข้าไปในเพลง พยายามนำทฤษฎีแจ๊สที่ร่ำเรียนมาเข้ามาใช้กับแนวดิสโก-ฟังก์ที่เขาชื่นชอบ

“เพลงทั่วไปจะมี 1 คีย์ คอร์ดทั้งหมดในเพลงก็จะเป็นชุดที่อยู่ในคีย์นี้ อาจมีเปลี่ยนคีย์ช่วงท้ายเพลงบ้าง แต่เพลงของเราจะดัดแปลงให้มี 3 คีย์ เปลี่ยนไปมา…แต่พยายามไม่ให้คนจับได้ว่าเราเปลี่ยนคีย์”

ใช้การโซโลโชว์ลีลารายเครื่องมือจากคีย์บอร์ด มาเบส มากลอง มากีตาร์ ใช้ลักษณะคล้ายดนตรีแจ๊ส “ถึงโชว์ทีละคน แต่ไม่ได้อิมโพรไวส์ (ด้นสด) นะครับ เรามีโครงวางไว้” จริงเหรอ?

จากลีลาที่ฟังยังสงสัยอยู่ “ก็…อาจจะมีอิมโพรไวส์บ้าง ถ้าเราเล่นผิด ส่วนตัวผมก็มีเล่นผิดจากที่ซ้อมก็เลยอิมโพรไวส์ไปเลย” นั่นไง!!!

เขาวางหมากให้ทุกคนได้มีบทบาท ช่วงร้องนักร้องจะนำมา แต่พอท่อนฮุกดนตรีก็จะเด่นขึ้นมาบ้าง แบ่งกันเล่น แต่จะไม่พยายามใช้การเล่นแบบ unison หรือโชว์การเล่นพร้อมกันบ่อยนัก “ด้วยเครื่องมือมันไม่ได้เยอะ เราก็ต้องช่วยกันเล่นให้แน่น เลยตั้งใจให้ทุกคนมายืนเรียงหน้ากันเลย ให้ความสำคัญกับทุกคน แต่เราจะเลือกให้ถูกที่ถูกเวลาว่าเราจะเล่นตรงไหน”

เรียกว่าเตรียมความเท่กันมาพร้อมหน้าทั้งวงอย่างที่เขาบอกจริงๆ

“อยากเล่นให้เป็นมืออาชีพ อยากให้ performance ดูดี เราตั้งใจมาก เพราะเวทีนี้ยากครับ คนเก่งเยอะ เก่งตั้งแต่วงรุ่นเด็กมัธยมแล้ว”

 

Ghost Note = Outstanding

แล้วเบส…ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหน้าที่เป็นคนคอยคุมจังหวะและสนับสนุนคนอื่นๆ มันจะมีความโดดเด่นฉายแววออกมาได้ยังไง

“ผมชอบการเล่น ghost note คือ โน้ตที่ไม่มีเสียงออกมาแต่เราดีด มันเป็นดีเทลที่มากกว่าการเล่นปกติ ช่วงปกติของเพลงอาจไม่ได้ใช้มากนัก มีมาบ้างเพื่อให้เพลงไม่โล่ง แต่ในท่อนโซโลก็ต้องใช้เทคนิคที่ยากขึ้น”

ghost note หรือ โน้ตผี บางทีก็เรียกว่า dead note พูดง่ายๆ คือเขาจงใจดีดสายเบสให้บอด ได้ยินเสียงทึบไม่ใสกังวานเหมือนการดีดปกติ โดยจะเป็นการดีดระหว่างการดีดสายปกติ นั่นคือเขาต้องรัวนิ้วเล่นโน้ตแบบสายบอดเพิ่มขึ้นจากปกตินั่นเอง

“มีการ slap เบสด้วย (การตบบนสายเบส) เพราะชอบเป็นการส่วนตัว บางเพลงใช้ slap บวกกับ ghost note ที่ค่อนข้างซับซ้อนนิดหนึ่ง มันจะมีจังหวะที่เร็วแล้วเป็น ghost not ด้วย ค่อยๆ ไล่อารมณ์” หมายถึงคนที่เล่นเบสจะรู้ว่ามันยากใช่ไหม? “ใช่…แล้วมันเท่ด้วย ตั้งใจทำเลยเพราะคิดว่าจะเท่ ถ้าเป็นแนวเพลงอื่นเบสอาจพยุงเพลงอยู่ด้านหลัง ผมเลยทำให้ชัดขึ้นกับการเล่น ghost note นี่ล่ะ”

ที่นายบอกว่า “เตรียมความเท่มาด้วย” มันเป็นแบบนี้นี่เอง มิน่าล่ะ กรรมการถึงเทคะแนน outstanding ให้กับเขา

วันข้างหน้าแม้ยังไม่รู้จะเดินไปทางไหน นายก็ยังเล่นดนตรี back up ให้กับศิลปินบางคน สักวันก็อยากทำเพลงของตัวเองกับเขาบ้าง “มันมีไฟมาเป็นช่วงๆ ถ้าทำได้ก็ดี ยุคนี้สื่อโซเชียลทำให้เราเผยแพร่ผลงานตัวเองได้ง่าย แต่ค่ายเพลงก็ยังคงสำคัญอยู่นะครับ ตอนนี้เดินทางไหนก็ได้ครับ…ที่ไปแล้วมันดี”

ชีวิตสายดนตรีที่แสนเรียบง่าย เดินทางมานิ่มๆ ไม่ต้องฝ่าขวากหนาม แต่สามารถวางหมากเตรียมเท่มาจากบ้าน และทำสำเร็จเสียด้วย

วงการเพลงเมืองไทยคงต้องจับตามือเบสคนนี้ไว้ดีๆ เสียแล้วล่ะ

ชมฝีไม้ลายมือของ CUT-TO ในการประกวด THE POWER BAND 2022 SEASON 2

ภาพยนตร์สารคดี “กล้าฝัน กล้าทำ” The Making of THE POWER BAND 2022 Season 2

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ