Passion

แก๊ง “หน้าโรงเรียน” กลับมา…เปลี่ยนคลาสใหม่
ใจเกินร้อยเหมือนเดิม
เพิ่มเติมคือ … ประสบการณ์แน่นปึ๊ก!

เพ็ญแข สร้อยทอง 2 Aug 2023
Views: 3,964

Summary

การเติบโตจากประสบการณ์ของวง “หน้าโรงเรียน” กับการย้ายมาประกวดTHE POWER BAND 2023 Season 3 ใน Class B เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จากที่เคยเล่นกับเด็กนักเรียนมัธยมด้วยกันเอง ครั้งนี้มาประกวดรุ่นเดียวกับรุ่นพี่ที่มีฝีมือมีประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ในอีกรูปแบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกเดินทางเพื่อค้นพบตนเอง การเติบโต และพัฒนาในฐานะนักดนตรี จนสามารถเป็นตัวแทนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศในรุ่นบุคคลทั่วไป

ในการประกวดวงดนตรี ชัยชนะหรือความสำเร็จอาจจะไม่ได้มารูปของถ้วยรางวัลหรือตำแหน่งเสมอไป 

ปีที่แล้ววง “หน้าโรงเรียน” เป็นหนึ่งในวงดนตรีซึ่งผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศของการประกวด THE POWER BAND 2022 Season 2 แม้สุดท้ายจะไม่ได้รับตำแหน่งหรือรางวัลใด แต่วันนั้นสมาชิกทุกคนไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า พวกเขาต่างมี “ประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้” ติดตัวไปด้วย

และนั่นก็เป็นสิ่งที่จุดประกายความปรารถนาอันแรงกล้าให้พวกเขากลับมาอีกครั้งในปีนี้

“สมาชิกวงของเราซัปพอร์ตกันและกัน นักดนตรีซัปพอร์ตนักร้อง นักร้องซัปพอร์ตนักดนตรี
ต่างคนต่างช่วยกันชูขึ้นมา”

วงหน้าโรงเรียน
THE POWER BAND 2023 Season 3 Class B สนามขอนแก่น

 

เชื้อเพลิงจากความหลงใหล

หลังการประกวดในปี 2565 วงหน้าโรงเรียนไม่ปล่อยให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาดหวังมาบั่นทอนกำลังใจ พวกเขาใช้ความหลงใหลในดนตรีเป็นเชื้อเพลิงเพื่อพาตัวเองกลับมาอีกครั้งกับการประกวดวงดนตรีสากล THE POWER BAND 2023 SEASON 3 ประจำปี 2566 ภายใต้คอนเซปต์ IT’S POSSIBLE, MUSIC MAKES LIFE POSSIBLE จัดโดยวิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

วง “หน้าโรงเรียน” ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน คือ ข้าวหอม – ภัทรภร เติมทานาม (ร้องนำ) จันทร์เจ้า – สุพิชญา ยวงจันทร์ (ร้องนำ) บุ๋น – สรกฤช สาลี (กีตาร์) แบงค์ – จักรกริช จันสีดา (เบส) มิวสิค – ศิริศักดิ์ เทนสุนา (คีย์บอร์ด) และ ภีม – พรพิพัฒณ์ ตลาดขวัญ (กลอง)

พวกเขาในวัย 17-18 ปี นอกจาก แบงค์ ที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิตแล้ว สมาชิกที่เหลือทั้งหมดยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีสิริเกศ จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนักร้องนำ 2 คนที่เป็นน้องใหม่ของวงแล้ว คนอื่นๆ เป็นสมาชิกเก่าซึ่งร่วมประกวดมาด้วยกันตั้งแต่ปีที่แล้ว

ภาพโดย Expert Kit

ปีนี้ที่สนามขอนแก่น หน้าโรงเรียนย้ายจากการประกวดใน Class A (ระดับมัธยมศึกษา) มาลง Class B (ระดับบุคคลทั่วไป) ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในวงที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ

แม้ว่าระหว่างทางจะพบกับอุปสรรคข้อจำกัดทั้งเรื่องเวลาและระยะทาง แต่พวกเขาก็เดินไปข้างหน้ามุ่งมั่นผ่านมาได้

“ครั้งนี้มีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่าปีที่แล้ว เตรียมตัวประมาณ 5 วัน ถ่ายคลิปส่ง หลังประกาศผลแล้วก็ซ้อมประมาณหนึ่งอาทิตย์ แล้วก็มาแข่งเลย”

ด้วยสมาชิกวงอยู่ต่างที่กัน ขณะที่เกือบทั้งวงอยู่ที่ศรีสะเกษ แต่แบงค์อยู่ถึงรังสิต “ผมกลับศรีสะเกษวันเสาร์ – อาทิตย์เพื่อมาทำเพลง” แบงค์เล่า “หลังจากนั้นก็แยกกันซ้อม มีถ่ายคลิปส่งวิดีโอมาให้กันดูว่า ซ้อมวันนี้เป็นยังไงบ้าง แล้วผมก็ไปทำการบ้านว่าควรต้องปรับตรงไหน มีอาจารย์และรุ่นพี่คอยช่วยแนะนำ

ภาพโดย Expert Kit

“วันไหนที่รู้สึกว่าอาการหนักก็จะโทรศัพท์มาตอนซ้อม คุยกันว่าควรต้องปรับตรงไหน ผมไม่ได้ซ้อมกับวงเลย ถึงจะมีวิดีโอคอล แต่ก็เล่นด้วยกันไม่ได้ เพราะเสียงมันดีเลย์ กว่าจะได้มาเจอกันและซ้อมพร้อมกันคือคืนก่อนประกวดที่ขอนแก่น ซึ่งต้องซ้อมและจูนกันเยอะ”

ข้อจำกัดเหล่านั้นเหมือนจะ “เป็นไปไม่ได้” แต่วงหน้าโรงเรียนก็ข้ามพ้นทุกข้อจำกัดและทำให้ “เป็นไปได้” ในที่สุด

ประสบการณ์และบทเรียนที่น่าจดจำ

ในวันประกวดที่ขอนแก่น วงหน้าโรงเรียนนำบทเพลง “บานปลาย” ของ โบกี้ไลอ้อน และ “ร (W8)” ของ จีน กษิดิศ มานำเสนอ เมื่อต้องขึ้นเวทีเพื่อทำการแสดงอีกครั้ง หัวใจของพวกเขาเต้นเป็นหนึ่งเดียว ก่อนจะร่ายเวทมนตร์จากการฝึกฝนบวกกับประสบการณ์การแข่งขันอันที่เก็บเกี่ยวมา

“เรามีประสบการณ์แล้วทำให้มั่นใจมากขึ้น ต่างกับปีที่แล้วที่ขึ้นเวทีแรกไปแล้วก็ทั้งลน กังวล ตื่นเต้น ครั้งนี้มันออกมาดีกว่าปีที่แล้ว ทั้งเรื่องวงและความสามารถส่วนตัวของนักดนตรี ตอนไปประกวดรอบชิงฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว เราได้ความรู้มากมาย ได้รู้จักคนเยอะ โลกกว้างขึ้น”

การย้ายมาประกวดใน Class B เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความกดดันเพิ่มมาขึ้น “มันเหมือนจากที่เคยเล่นกับเด็กนักเรียนมัธยมด้วยกันเอง ครั้งนี้มาประกวดรุ่นเดียวกับรุ่นพี่ที่มีฝีมือมีประสบการณ์ ไม่ได้ประกวดกับเพื่อนๆ ที่เคยเห็นหน้า หรือเคยเล่นด้วยกันมาสมัยอยู่มัธยมอีก เพราะอยู่คนละคลาสกัน”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ในอีกรูปแบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกเดินทางเพื่อค้นพบตนเอง การเติบโต และพัฒนาในฐานะนักดนตรี

 

ดนตรีเสริมสร้างสายสัมพันธ์

การกลับมาครั้งนี้ของวงหน้าโรงเรียน พวกเขามีอาวุธเด็ดคือ นักร้องนำหญิง 2 คน สมาชิกใหม่ของวงซึ่งลีลาการร้องอย่างประทับใจ

จันทร์เจ้ากับข้าวหอมมีความเป็น “ดีว่า” ที่เปล่งประกาย เป็นองค์ประกอบที่เข้ามาเติมเต็มวง รวมทั้งช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดของกันและกันได้อย่างดี

“เราสองคนร้องเพลงด้วยกันมาตั้งแต่เรียนประถม เราร้องเพลงมาตลอด เคยร้องกับวงนี้มาก่อนตั้งแต่ตอนอยู่ ม.4-ม.5 แล้วเพิ่งกลับมาซ้อมด้วยกันอีกเมื่อสัก 6 เดือนก่อน” ข้าวหอมเล่า

ทั้ง 6 คนในวงเป็นเพื่อน – พี่ – น้อง บางคนรู้จักกันมายาวนานตั้งแต่เรียนชั้นประถม การซ้อมเพื่อแข่งขันเป็นเหมือนเบ้าหลอมทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกแน่นแฟ้นขึ้น

พวกเขาได้ค้นพบแก่นแท้ของการทำงานเป็นทีม นั่นคือ การสนับสนุน ชื่นชมในจุดแข็ง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

จันทร์เจ้า – ข้าวหอม (ร้องนำ)

แบงค์ (เบส) – บุ๋น (กีตาร์)

“สมาชิกวงของเราซัปพอร์ตกันและกัน นักดนตรีซัปพอร์ตนักร้อง นักร้องซัปพอร์ตนักดนตรี ต่างคนต่างช่วยกันชูขึ้นมา” แบงค์พูด

การตัดสินใจเข้าร่วมประกวดดนตรีครั้งนี้เป็นเอกฉันท์จากทุกคน ไม่เพียงแต่ปรารถนาในชัยชนะหรือความสำเร็จ แต่พวกเขายังมีความสุขเมื่อได้สร้างสรรค์บรรเลงดนตรีร่วมกันด้วย

กะเพราหมูกรอบไข่ดาวเยิ้มๆ … เกี่ยวอะไรกับวงหน้าโรงเรียน!

เมื่อถูกร้องขอให้ตอบคำถามที่ “น่าเอร็ดอร่อย” ว่า หากจะต้องอธิบายความโดดเด่นอันแตกต่างของวง “หน้าโรงเรียน” ด้วยของกินสักจาน พวกเขาจะเป็นอาหารรสเลิศประเภทใด? คำตอบที่ได้คือ …

กะเพราหมูกรอบไข่ดาวเยิ้มๆ!

ใช่ – กะเพราหมูกรอบไข่ดาวเยิ้ม ๆ คือ เมนูโปรดของแก๊งหน้าโรงเรียน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังค้นพบแก่นแท้ของวงดนตรีของตนเอง โดยการเปรียบเทียบกับอาหารยั่วน้ำลายจานนี้

“มันเป็นอาหารที่ผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง ต้องทำหมูกรอบก่อนจะนำมาผัดกะเพรา เหมือนกับการเล่นดนตรีของพวกเรา ต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง พิถีพิถันกว่าจะออกมาให้ทุกคนได้ลิ้มรส หมูกรอบจะทำยังไงให้อร่อย ต้องมีวิธี ถ้าทำแล้วไม่กรอบอร่อยก็ต้องทำใหม่ เหมือนกับวงดนตรีของเราที่จะต้องซ้อมแล้วซ้อมอีกเพื่อให้อร่อย”

คำตอบที่ได้นี้มีรสชาติพอๆ กับเสียงดนตรีของพวกเขา เป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์และชวนน้ำลายสอ วงดนตรีนี้ ไม่เพียงแต่มีพรสวรรค์ด้านดนตรีเท่านั้น แต่ยังมีด้านที่ขี้เล่นและมีจินตนาการอีกด้วย

ภีม (กลอง) – มิวสิค (คีย์บอร์ด)

 

กลับมาเพื่อทำอย่างเต็มที่

การกลับมาประกวดครั้งนี้ วงหน้าโรงเรียนตั้งธงว่าจะทำให้ดีที่สุด เพราะว่านี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งพวกเขาจะได้ขึ้นเวทีร่วมกันแบบนี้

“ในปีที่แล้วเรายังเด็ก เรายังอ่อนประสบการณ์ แต่ปีนี้เราโตขึ้น เราอยากก้าวข้ามข้อจำกัดของเราเอง”

วันนั้นที่ขอนแก่น วงหน้าโรงเรียนได้รับคอมเมนต์จากกรรมการเรื่องเกี่ยวกับเอกลักษณ์หรือจุดเด่นของวง

“กรรมการให้การบ้านมา เราต้องเลือกว่า จะเป็นวงแบ็กอัปให้นักร้องสองคน หรือเราจะเป็นแบนด์ ก่อนหน้านี้พวกเราก็แสดงความเป็นแบนด์มาตลอด แต่ว่าครั้งนี้มันค่อนข้างกระชั้นชิด เราพยายามจะทำให้ทันประกวด เลยทำให้การแสดงของวงเราไม่ชัดเจน”

สิ่งซึ่งวงหน้าโรงเรียนต้องทำคือ ออกแบบการแสดงที่ “นักดนตรีต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น อาจต้องมีท่อน    โซโล่ของแต่ละคน ต้องซัปพอร์ตกันมากขึ้น ช่วยกันชูขึ้นมาให้เป็นแบนด์”

รวมทั้งต้องทำให้ “วิชวล” ของวงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว แสดงตัวตนที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และโดดเด่นสร้างความประทับใจได้ “วันประกวดที่ขอนแก่น เราตกลงกันว่าจะแต่งตัวสีเอิร์ธโทนให้เหมือนกัน แต่มันกลายมาเป็นเอิร์ธโทนแบบไฟไหม้ (หัวเราะ)” เพราะขาดความพร้อมเพรียง

ด้วยตั้งใจรับคำแนะนำของคณะกรรมการผู้มากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมดนตรีเพื่อไปปรับปรุงแก้ไขทำให้การคิดถึงภาพของวงหน้าโรงเรียนในวันที่พวกเขาขึ้นเวทีในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ นั้นน่าตื่นเต้นไม่น้อย

รู้จักใกล้ชิดกับวงหน้าโรงเรียนที่กล้าก้าวผ่านขีดจำกัดของตัวเองผ่าน THE POWER BAND 2023 THE SERIES EP.4 

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ