Passion

“ของคาวในอาหารหวาน”
ดนตรีจานใหม่ ในแบบ QUINTAREA

ศรัณย์ เสมาทอง 20 Dec 2022
Views: 493

ถ้านี่เป็นการแข่งยิมนาสติก วงนี้เล่นท่ายาก” กรรมการท่านหนึ่งแสดงความเห็นหลังจากวง Quintarea เล่นเพลงจบ “เป็นการเรียบเรียงเพลงที่ผมให้ 10 เต็ม 10” อีกท่านก็ชื่นชม “ทั้ง 5 สนาม Brass Section (กลุ่มเครื่องเป่า) ที่ผมชอบที่สุดคือของวงนี้”

เสียงวิจารณ์จากกรรมการทั้งสามในรอบคัดเลือก THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ในสนามกรุงเทพฯ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง ว่าทำไมเราเองฟังงานของนักดนตรีรุ่นใหม่วงนี้แล้วยังรู้สึกแปลกใหม่

“ผมเป็นคนทำเพลงแบบบ้าบิ่นอยู่แล้ว เรียกว่าทะลุเพดานกรอบความคิดของคนอื่นๆ ทุกคนก็ เฮ้ย ทำอะไร!!” กิ๊ปสัน – ปารมี บำรุงธนทรัพย์ (อัลโต แซกโซโฟน) พูดแบบยังจับทางไม่ได้ว่าเศร้าหรือภูมิใจ “ผมโดนปฏิเสธมาตลอดว่า ยุคนี้ยังไม่ใช่ของคุณนะ ยิ่งในชั้นเรียน ยิ่งไม่มีใครเห็นด้วยเลย แต่อาจารย์จะบอกเสมอว่า…ถึงวันนี้จะยังไม่ใช่ แต่เชื่อว่าวันข้างหน้าจะเป็นของคุณ” ฟังแล้ว น่าจะมีเรื่องต้องเล่าให้ฟังอีกยาว

 

“แจ๊สเป็นพื้นฐานของดนตรียุคหลังๆ รวมถึงดนตรีป็อปด้วย เราก็คิดจะเอาทุกแนวมารวมกัน ดนตรีต่างสไตล์นำมาผสมกันให้ได้ เพื่อสร้างดนตรีแบบใหม่ขึ้นมา เหมือนอาหารคาวที่ซ่อนอยู่ในอาหารหวาน เหมือนเอาเนื้อวัวมากินกับไอศกรีม”

วง QUINTAREA

 

ชั้นห้า…การบันเทิง

ผู้ก่อการวงดนตรีนอกกรอบเดิมทีมีหลายคน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 คน คือ กิ๊ปสัน กับ
นนท์ – ชญานนท์ สิงหธนากร (เบส) ด้วยอยากมีวงไปเล่นตามร้านอาหารตอนกลางคืนบ้าง “แต่เจอยุคโควิดเสียก่อน เลยไม่ค่อยจะมีร้านให้เล่น เราก็เริ่มคิดว่าน่าจะทำเพลงและแต่งเพลงลงยูทูบดีกว่า ก็รวมตัวกันทำในห้องส่วนตัว”

นนท์เล่าย้อนไปถึงตอนเริ่มต้น เพื่อนหลายคนยังเช่าห้องอยู่ตึกเดียวกัน ตกลงใช้ห้องที่ชั้น 5 เป็นที่ทำเพลง ก็ใช้คำภาษาละติน Quint ที่แปลว่า 5 มารวมกับคำว่า Area จึงได้ชื่อวงว่า Quintarea” ความหมายตามการควบกันของคำ แต่เมื่อผ่านเวลามาไม่กี่ปี เพื่อนๆ ที่รวมตัวกันในเวลานั้นก็เลือกเดินทางคนละสายไปหมด เมื่อคิดจะเข้าร่วมงานประกวดครั้งนี้ก็เลยต้องไปรวบรวมสมาชิกใหม่ โดยหน้าที่นี้ตกเป็นของกิ๊ปสัน

“วง Quintarea สมบูรณ์ได้เพราะผมไปเล่นดนตรีข้างนอก ได้เจอคนหลากหลาย งานนี้เจอคนนี้ งานนั้นเจอคนนั้น ต่างคนต่างเล่นแยกกันอยู่นะ ผมก็เลยเรียกมารวมกัน”

ความบันเทิงบังเกิด เพราะคนที่เขาเรียกมารวมตัวกันนั้น เล่นดนตรีและเรียนมากันคนละสไตล์เลย

“บางคนก็เล่นแจ๊ส บางคนคลาสสิก อาร์แอนด์บี  ภาษาดนตรีที่คุยมันไม่เหมือนกัน เราได้รับการปลูกฝังมาไม่เหมือนกัน” ตัวกิ๊ปสันแม้จะเรียนมาทางแจ๊ส แต่ก็ไม่กล้าบอกว่าเป็นแจ๊สเต็มตัว  “ซอลมาสายร้องคลาสสิก ร้องโอเปร่าค่ะ” ซอล (กุญแจซอล) – ไตรสิกขา พึงชุ่มชื่น (นักร้องนำ) บอกความถนัดของตัวเอง แต่เธอก็ยังชอบร้องทางโซลและอาร์แอนด์บีด้วย

ปัน – ปรันตวัฒน์ มารวิชัย (เทนเนอร์ แซกโซโฟน) เรียนแซกโซโฟนสายคลาสสิก เพิ่งจะสนใจแจ๊สและเรียนรู้จากนอกมหาวิทยาลัย ทางด้าน โหน่ง – ณัญดนัย ยาแด้ว (กีตาร์) ก็เล่นบลูส์มาโดยตลอด ส่วนนนท์แม้จะเรียนทางแจ๊ส แต่ปกติชอบเล่นเพลงยุค 60s  อืมมมม…บันเทิงล่ะครับ และวงยังประกอบด้วยสมาชิกอีก 3 คน ทั้งเรน – กันตพงศ์ ศรีนวลขาว (ทรัมเป็ต) ไนซ์ – บดินทร์ แสงด่วน (กลอง) และณัฐ – ศุภกันต์ ทองรัตน์ (คีย์บอร์ด)

“แจ๊สมันเป็นพื้นฐานของดนตรียุคหลังๆ รวมถึงดนตรีป็อปด้วย เราก็คิดจะเอาทุกแนวมารวมกัน ดนตรีต่างสไตล์นำมาผสมกันให้ได้ เพื่อสร้างดนตรีแบบใหม่ขึ้นมา เหมือนอาหารคาวที่ซ่อนอยู่ในอาหารหวาน เหมือนเอาเนื้อวัวมากินกับไอศกรีม”

การที่คนฟังเพลงทั่วไปจะไม่เข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่งานนี้กรรมการเข้าใจเขานะ

จากยอดย้อนกลับสู่ราก

“นึกภาพถ้าคนเจอ UFO ตอนนี้ ทุกคนคงคิดว่า UFO มันลอยได้ยังไง ลอยด้วยพลังงานอะไรสักอย่าง ซึ่งมันต้องหาคำตอบตรงนั้น” กิ๊ปสันเล่าต่อ “มันคือการเอาคนที่แตกต่างสไตล์มาผสมกันให้ได้ แนวดนตรีที่ดังๆ มันมีรากฐานมาจากแจ๊ส  ทั้งอาร์แอนบี โซล ร็อก พังก์ ผมก็แค่เอาทุกอย่างมาผสานกัน”

บางช่วงของเพลงเบสกำลังเล่นอาร์แอนด์บี แต่กีตาร์เล่นร็อกเล่นพังก์ นักร้องร้องแบบโซล กลองเล่น
กอสเปล…โดยหาตัวที่เป็นโครงหลักเช่นให้พังก์เชื่อมกับร็อกก่อน แล้วร็อกเชื่อมอาร์แอนด์บี เสร็จแล้วนำอาร์แอนด์บีไปเชื่อมกับโซล “มันจะซิกแซกไป ไม่ได้มาทีเดียวพร้อมกันนะครับ เมื่อเราทำกลองกับร้อง ให้อยู่ด้วยกันได้มั่นคง ก็เชื่อมอย่างอื่นเข้ามาอีกที”

มีการอธิบายถึง Family Tree จากรากคือแจ๊ส แล้วแตกแยกย่อยเป็นหลากหลายแนว Quintarea เขาไปกวาดสิ่งที่แตกออกไปนั้นมารวมกันใหม่ เชื่อมกันให้ลงตัว ด้วยความเชื่อว่ารากดนตรีมาจากจุดเดียวกันนั่นเอง โดยให้แนวทางคลาสสิกคอยพยุงทุกสิ่งให้มีความหนักแน่น เป็นบทเพลงที่สมบูรณ์

“หนูเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านความคิดของกิ๊ปสันมาตลอด”

ซอลเอ่ยแย้ง “จริงๆ ปากหนูบอกว่า ‘เปิดกว้าง’ แต่ลึกๆ ในสมองแล้วคือปิด แจ๊สนี่ไม่เอาเลย ทั้งๆ ที่ตัวเองร้องโซล ร้องอาร์แอนด์บี ที่มีรากฐานจากแจ๊ส เลยเถียงกับกิ๊ปสันตลอดว่าสิ่งที่เธอทำมันไม่ใช่ คนปกติเขาไม่เก็ตกันหรอก ทุกเพลงที่กิ๊ปสันทำก็คือ ไม่ดี…คนทั้งโลกเขาไม่เก็ตหรอกนะ”

กิ๊ปสันรู้ว่าซอลอาจไม่เคยฟังเพลงแบบที่เขาพยายามทำ จึงพามาฟังเพลงที่ต่างประเทศเคยทำหลากหลายแนว “ฟังตั้งแต่หนึ่งทุ่มไปถึงตี 4 ได้ฟังแซกโซโฟนเล่นกับนักร้อง กลองเล่นกับนักร้อง เล่นแค่สองเครื่อง เลยได้เห็นว่ามันเคยเกิดขึ้นแล้ว แค่เราลองคิดนอกกรอบแบบที่คนไทยเคยคุ้นชินเท่านั้น”

ปันมือแซกผู้เคยคุ้นกับเพลงคลาสสิก เสริมจากประสบการณ์ของเขาบ้าง “นักแต่งเพลงบางคนเอาเครื่องเป่าหลายเครื่องมาเป่าพร้อมกัน ซึ่งบางทีมันไม่สามารถเป็นไปได้ แต่เขาก็ทำแล้วมันเกิดสีสันใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย เช่น เอาแซกโซโฟนไปเป่าคู่ฟลูต จะได้ tone colour ใหม่ๆ  นึกภาพสีแดงผสมสีขาวได้ชมพู แต่มันกลายเป็นชมพูเข้ม ชมพูอ่อน ไม่ใช่ชมพูที่คุ้นๆ กัน เหมือนผัดกะเพราแล้วใส่ถั่วฝักยาว”

เริ่มเข้าใจตอนผัดกะเพรานี่ล่ะ!!! ถ้าผัดกะเพราสายอนุรักษ์นิยม เนื้อสัตว์เท่านั้นต้องไม่มีถั่วฝักยาว หอมหัวใหญ่ แต่พอทำออกมาก็มีบางคนที่ชอบผัดกะเพราแบบใส่ผัก แค่แตกต่างจากเดิม ถ้าทำออกมาอร่อยก็พร้อมจะมีคนชอบนั่นเอง

แต่โอกาสที่ Quintarea 8 คน จะได้แสดงฝีมือให้ได้ฟังก็เป็นเรื่องยาก เพราะตามร้านที่มีเวทีเล่นเขาไม่พร้อมจะจ้างวงที่มีคนเยอะๆ บางร้านขอแค่คนเดียวด้วยซ้ำไป เวทีอีเวนต์ก็ไม่ค่อยเปิดให้วงใหญ่ขึ้นเล่น เหลือแต่การประกวดแบบ THE POWER BAND ที่เขาจะได้ปล่อยของกันเต็มที่

“เคยไปเล่นที่ร้านหนึ่ง ที่มีลูกค้าฟังเพลงทุกแนว ดูเขารับได้หลากหลาย เลยลองเล่นแบบที่เราคิด มีฝรั่งมานั่งฟัง แล้วเขาเก็ตในสิ่งที่เราทำ” ซอลเริ่มเสียงเครือ “คือ…เขาเก็ตในสิ่งที่เราพยายามทำ”

จบประโยคนี้น้ำตาก็ไหล…ซะงั้น

 

ประชาธิปไตยในเสียงเพลง

ด้วยความแปลกของดนตรี และความกล้าที่จะนำเสนอสิ่งที่เขาคิดว่า “นอกกรอบ” วง Quintarea ก็ได้เข้าไปวาดลวดลายใน Class C ของ THE POWER BAND 2022 SEASON 2 ซึ่งเป็นประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด

โลกดนตรีคงไม่มีข้อจำกัด แต่รสนิยม ความชอบ และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ปัญหาของวง คือนักดนตรีช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

“ผมทำเพลงมาสัก 50% เป็นโครงไว้ก่อน” กิ๊ปสันเอ่ยถึงแนวทางแก้ปัญหาที่เขาได้ทำมา  “ผมเป็นคนเลือกว่าใครจะเล่นตรงไหน เพราะผมก็รู้อยู่แล้วว่าเขาเล่นสไตล์ไหน ก็เคยเล่นกับทุกคนในนี้มาแล้ว “ประเทศที่มีประชาธิปไตย 100% แล้วไม่มีกฎหมายก็คงไม่ได้ ต้องมีอย่างละครึ่ง ผมก็เหมือนกฎหมายที่เป็นกาวเชื่อมทุกคน ทำให้ได้รวมร่างกันภายใต้การเคารพซึ่งกันและกัน”

ความสดใหม่ของเขา ทำให้ Quitarea คว้ารางวัลชนะเลิศชมเชย Class C ไปครอง

ปัจจุบัน=อนาคต

อนาคตของนักดนตรีรุ่นใหม่อยากไปในทางไหน โหน่งครุ่นคิดสักพัก “เมื่อก่อนไม่เคยตั้งเป้าหมายในการเล่นดนตรีเลย ตอนนี้อยากได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ รู้สึกว่าโลกของตัวเองแคบไป อยากเปิดโลก อยากไปสัมผัสว่าคนอื่นๆ เขาเป็นยังไง”

“จริงๆ เราก็อยากไปกันทุกคนอยู่แล้ว” นนท์เสริม “ผมอยากเล่นดนตรีให้ทั้งโลกฟัง ไม่ใช่แค่เจาะบางกลุ่ม ไม่ใช่แค่คนใกล้ชิดหรือแค่คนไทย”

แต่กิ๊ปสันก็ยังเชื่อว่าเมืองไทยไม่ใช่จะรับไม่ได้กับแนวเพลงใหม่ๆ นะ เพราะตอนนี้การเปิดรับของบ้านเราค่อนข้างกว้างขึ้นแล้ว “ผมโดนปฏิเสธมาแค่ห้าปีเอง ปกติเขาน่าจะเป็นสิบปี มันเร็วมากนะ…แค่ห้าปีแล้วได้รับการยอมรับแล้ว การฟังเพลงของคนไทยอาจจะไม่ได้เท่าต่างประเทศ แต่มันเริ่มแรงขึ้น พัฒนาขึ้น ง่ายๆ เมื่อก่อนคนปฏิเสธแร็ป แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มทัชกับแร็ป โลกมันเปิดกว้างขึ้นแล้ว”

นอกจากนี้เพื่อนๆ ของเขาที่กระจายตัวอยู่ตามต่างจังหวัด ก็เริ่มอยากให้ไปช่วยทำเพลงในแนวใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ได้นำเสนอสิ่งที่คิด ตอกย้ำความมั่นใจว่าแนวทางนอกกรอบของเขาในปัจจุบัน อาจได้รับการตอบรับที่ดีในไม่ช้า

จากคำบางคำของอาจารย์ที่บอกว่า ถึงวันนี้อาจจะยังไม่ใช่วันของเขา แต่เชื่อว่าวันข้างหน้าจะเป็นของเขา ดนตรีแนวใหม่จากห้องซ้อมชั้น 5 แห่งหนึ่ง ที่ชอบทำตัวเป็นยิมนาสติกที่เล่นท่ายาก  ก็อาจจะกลายเป็นแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมในอนาคตก็ได้ ใครจะไปรู้

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ