Summary
ใครฝีมือดี ใครมีลีลาเด็ดบ้าง บนเวที THE POWER BAND 2025 SEASON 5 สนามขอนแก่น เรารวบรวมมาให้แล้วแบบครบๆ ที่นี่ที่เดียว!!! ใครเป็นใคร จากวงไหนกันบ้าง…แต่ละคนมีลีลาดนตรีสะดุดตา สะดุดใจพวกเราอย่างไร ตามไปดูกันเลย
บนเวที THE POWER BAND ในแต่ละปี เราจะได้พบเจอนักดนตรีฝีมือดีมากมายที่มาพร้อมความฝันและพลังอันล้นเหลือใน THE POWER BAND 2025 SEASON 5 จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมพันธมิตรค่ายเพลงระดับแนวหน้าของประเทศ และ Multiply by Eight ภายใต้คอนเซปต์ MUSIC CREATES MORE POSSIBILITIES พลังดนตรี เป็นไปได้ ไม่สิ้นสุด ก็เช่นกัน
สนามขอนแก่นนี้เราได้พบทั้งนักดนตรีหน้าใหม่ที่เพิ่งเคยลงสนามแข่งขันเป็นครั้งแรก แต่พกความมั่นใจและลีลาเหลือร้ายจนเราไม่อาจปล่อยผ่าน ส่วนนักดนตรีคนดีคนเดิมที่เคยรู้จักจากวงดนตรีที่เคยมาประกวดแล้ว ก็พบว่าฝีมือของพวกเขาพัฒนาแบบก้าวกระโดด ที่ทำเราตื่นเต้นจนตาโตไปกับสิ่งที่เห็นบนเวที
ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของวงไหนก็ตาม….ทั้ง คุณ มือแซกโซโฟน วง FIVE BY FIVE โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ โฟร์วีล มือกีตาร์ วง FUSION ISLAND โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) กรุงเทพฯ ต้นไม้ มือเบส วง Hidden Track โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จ.ศรีสะเกษ ภัช มือกลอง วง MOOMA สังกัดอิสระ จ.นครราชสีมา ปัณณ์ มือเบสควบคอรัส วง Penmanship โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ จอนนี่ มือเบส วง SISWEET โรงเรียนศรีสุวิช จ.ชลบุรี ริว มือเบส วง ZENITH สังกัดอิสระ กรุงเทพฯ หรือ เอย มือคีย์บอร์ดควบคอรัส วง สกลพัฒน์ โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา จ.สกลนคร เช็กผลการแข่งขันผู้เข้ารอบ THE POWER BAND 2025 SEASON 5 จากสนามขอนแก่น พร้อมอ่านบรรยากาศแบบเกาะขอบเวทีจากสนามนี้ คลิกเลยที่นี่
นี่คือ “ดาวสนาม” ซึ่งเป็นทั้งตัวแทนและเป็นตัวตึงของแต่ละวงที่ Thaipower.co เราจะพาไปทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น มีใครบ้าง ไปดูกันเลย อ่านเรื่องรวมนักร้องนำของวงประกวดรุ่นมัธยมฯ สนามขอนแก่นของ ซีซัน 5 คลิกที่นี่
• จอนนี่ – จอนนี่ เจมส์ จูเนียร์ สมิท
มือกีตาร์ วง SISWEET
โรงเรียนศรีสุวิช ชลบุรี
“ผมเป็นมือกีตาร์สายหวานที่เจ๋งครับ”
จอนนี่แนะนำตัวกับเราแบบนั้น เป็นคำจำกัดความที่เหมาะกับเขาจริงๆ จอนนี่เป็นมือกีตาร์พูดน้อย แต่ดีดหนัก (แน่น) ด้านล่างเวทีเขาค่อนข้างขี้อาย แต่พออยู่บนเวทีกับกีตาร์ตัวเก่งเหมือนมีองค์ลงประทับ ด้วยลีลาการเล่นกีตาร์ที่เร้าใจ มีออรานักดนตรีเต็มขั้น ทั้งที่เป็นเพียงเด็กมัธยมฯ การลีดกีตาร์บนเวทีทำให้ผู้ชมไม่สามารถละสายตาได้เลย ถึงขนาดกรรมการต้องชมว่า “หน้าตาแบบนี้ ฝีมือขนาดนี้ คงเป็นที่ถูกใจสาวๆ ในอนาคตแน่นอน” (ฮา)
จอนนี่เริ่มนับหนึ่งกับกีตาร์ตอน ม.1 และเขาเรียนรู้และจริงจังกับกีตาร์อยู่ 3 ปี แม้ตอนเริ่มต้นมันจะยาก แต่เทคนิคการซ้อมของจอนนี่คือ “ผมยึดพื้นฐาน ยึดสเกล และแกะเพลงมาเรื่อยๆ” จนครูจุ้ย (ครูผู้คุม
วง SISWEET) เห็นถึงพัฒนาการ จอนนี่เลยได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ SISWEET” อ่านเรื่องครูจุ้ย ศุภกร ผู้คุม วง SISWEET
แน่นอนว่าปลายทางคือ ศิลปิน แต่ ณ วันนี้ แผนการซีวิตของจอนนี่กำลังมุ่งมั่นคือ “พยายามแบ่งเวลาเรียนและการซ้อมกับวงครับ” เพราะเขากำลังจะก้าวต่อไปในเส้นทางสายดนตรี “ผมอยากเรียนต่อด้านดนตรีและเข้าคณะดุริยางคศิลป์ครับ”
• ปัณณ์ – ปัณณ์ มิ่งเมือง
มือเบส วง Penmanship
โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ
“ผมเป็นมือเบสที่ร้องเพลงเพราะ”
บนเวทีปัณณ์ดูเป็นมือเบสที่ขี้เล่น เด่นด้วยเบสสีเหลืองและตุ๊กตาน่ารักที่ห้อยอยู่ที่ปลายเบส ปัณณ์เล่นเบสด้วยความสุข ขนาดเรานั่งไกลจากเวทีเรายังมองเห็นรอยยิ้มและดวงตาที่ประกายความสุขขณะที่เขาเล่นเบสเลย แม้ว่าปัณณ์จะร้องประสานเพียงไม่กี่ท่อน แต่ทุกคนที่ได้ยินเสียงนั้น ก็จะรู้สึกเหมือนกันว่า เขาร้องเพลงได้ดีเหมือนกันนี่นา
ปัณณ์กับเพื่อนอยากทำวงดนตรีจึงตั้งวง Penmanship กันขึ้นมา ตอนแรกมีกันแค่ 4 คน (เบส คีย์บอร์ด กลอง และกีตาร์) เขารับหน้าที่ร้องนำและเล่นเบสด้วย “จากนั้นก็คิดว่าน่าจะมีนักร้องหลักคนหนึ่ง เพราะผมเล่นเบสต้องยืนอยู่กับที่เลยไม่สามารถเป็น Front Man ที่ดีได้” เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมปัณณ์ถึงไม่ร้องแล้วหามือเบสล่ะ “หามือเบสยากกว่าหานักร้องครับ” อ่อ เป็นดังนี้นี่เอง
ปัณณ์ได้แบ่งปันเทคนิคการซ้อมของตัวเองให้ฟังว่า “ผมซ้อมกับเมโทรนอม (เครื่องเคาะจังหวะ) และเวลาที่ได้ดูวงที่ชอบเล่นสด ถ้าเขาอะเรนจ์เพลงใหม่ ผมก็จะไปแกะเพลงแล้วลองเล่นตามครับ” และการได้ขึ้นไปโชว์บนเวทีนั้นให้สิ่งดีๆ กับปัณณ์หลายอย่าง “การขึ้นเวทีที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือ คอมเมนต์ที่กรรมการให้ สำคัญทุกเวที และได้ประสบการณ์ผ่าน Accident ที่เกิดขึ้นบนเวทีเอาไว้ใช้แก้ไขในครั้งต่อๆ ไปครับ”
Suggestion
• โฟร์วีล – ภาคภูมิ ทองประสูตร
มือกีตาร์ วง FUSION ISLAND
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) กรุงเทพฯ
“ถ้าคนเห็นผมเล่นกีตาร์ ใครก็คิดว่ามึน
เพราะผมชอบทำตัวแปลกๆ”
บนเวทีวันนั้นโฟร์วีลเล่นดนตรีสนุกเต็มที่ ถึงขนาดว่าลงเวทีมาแล้วเขาก็จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง เพราะการเล่นกีตาร์ทำให้โฟร์วีลรู้สึกได้ปลดปล่อย เหมือนที่เขารู้สึกกับกีตาร์ “การเล่นกีตาร์มันอิสระ เราจะทำอะไรกับมันก็ได้ ให้เสียงมันไปแค่ไหนก็ได้ และผมก็อินไปกับทุกโน้ตที่ผมเล่น” นอกจากการเล่นกีตาร์ที่โดดเด่นแล้ว แว่นตาแฟนซีที่เขาใส่ขึ้นเวทีก็เด่นใช่ย่อย
แต่ชีวิตนักดนตรีของโฟร์วีลไม่ง่ายนัก “ผมอ่านโน้ตไม่เป็น เรื่องสัดส่วนก็ไม่เข้าใจ ได้เพื่อนๆ ในวงช่วย ก็เข้าใจมากขึ้น คล่องขึ้น ผมใช้เวลาแกะเพลงนานมาก จนผมท้อ” แต่ทุกคนก็ให้กำลังใจและช่วยเขาเสมอ “ทุกคนทำให้ผมกลับมาตั้งใจและจริงจังอีกครั้ง พอทำได้ก็รู้สึกดีและมีความสุขที่จะเล่นดนตรีมากขึ้น” อาจารย์บอส (อาจารย์ผู้คุมวง) บอกเสมอว่า “วงดนตรีจะขาดเครื่องดนตรีเครื่องใดเครื่องหนึ่งไม่ได้เลย” อ่านเรื่องของอาจารย์บอส ครูผู้คุมวง DS.RU.BAND และ FUSION ISLAND คลิกที่นี่
นี่คือการประกวดครั้งแรกในชีวิตของโฟร์วีล “เวทีนี้ให้ประสบการณ์มาก ผมไม่เคยขึ้นเวทีใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ผมได้ฝึกสกิลเพิ่มขึ้น ถ้าผมไม่ได้ซ้อมเพื่อมาแข่ง ผมคงไม่เก่งเท่านี้”
• ริว – ณัฐวัฒน์ ศรีบานเรือง
มือเบส วง ZENITH
สังกัดอิสระ กรุงเทพฯ
“การเล่นเบสมันมีองค์ประกอบ
คล้ายๆ ผู้ปิดทองหลังพระ”
นี่คือเหตุผลที่ริวหลงใหลในเบส เขาอธิบายเพิ่มว่า “คนที่ฟังเพลงเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจฟังเสียงเบสหรือได้ยินเสียงเบส แต่ถ้าคนที่ชอบหรือตั้งใจฟังจะเห็นถึงความสวยงามในนั้น เสียงเบสเหมือนเป็นเลเยอร์ที่ให้เสียงจากเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ได้ ‘นอนทับ’ ทับซ้อนๆ กันไป และเสียงเบสมันทำยังให้เพลงสมบูรณ์ขึ้น” ช่างเป็นคำพูดที่ถ่อมตัวเหมือนตัวตนของริวเลย
ริวเป็นคนเดียวในวง ZENITH ที่ไม่ได้เรียนดนตรี แต่ที่เขามารวมวงกับเพื่อนๆ ก็เพราะความอินในดนตรี และเป็นความฝันที่อยากเรียนสายดนตรี แต่ที่ไม่เรียนเพราะว่า “ผมคิดเยอะมากว่า ถ้าเราไม่เก่งพอล่ะและเป็นความกลัวด้วย ถ้าเรียนดนตรีแล้วจะไปทำอาชีพอะไร หรือถ้าเป็นนักดนตรีแล้วไม่รุ่งจะไปทำอะไรต่อ เลยคิดว่าจะเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก”
แต่การที่ชื่อของริวมาปรากฏตรงนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาเก่งและมีดีพอที่ทำให้มีคนมองเห็น เพราะการตบเบสของริวสะเทือนถึงขั้วหัวใจของคนฟัง แม้ว่านี่จะเป็นการขึ้นเวทีประกวดครั้งแรกของเขาก็ตาม “ผมอยากมีบรรยากาศแบบนี้สักครั้งในช่วงวัยนี้ การแข่งวันนี้ตอนแรกกดดันมาก เพราะวงที่เราแข่งด้วยในเวทีนี้ ปีที่แล้วเขาเข้ารอบกันหมดเลย แต่พอมาวันจริงก็ไม่ได้รู้สึกกดดันขนาดนั้น ตอนเล่นผมทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณ นี่อาจจะเป็นเสน่ห์ของผมก็ได้” ริวสรุปถึงตัวเขาสั้นๆ
• ภัช – ณปภัช ตัณฑวรรธนะ
มือกลอง วง MOOMA
สังกัดอิสระ นครราชสีมา
“ตีผิดนิดหน่อย
แต่บ่อยนิดหนึ่ง ขอบคุณครับ”
ภัชรู้ตัวเร็วว่าเขาชอบอะไร เพราะตั้งแต่อนุบาลเขาก็เริ่มจับไม้กลองแล้ว “ผมเห็นคุณครูตีกลองแล้วรู้สึกว่าอยากไปอยู่ตรงนั้น อยากลองตีดูบ้างว่ามันเป็นอย่างไร” เราเห็นภัชบนเวที THE POWER BAND มา 3 ปีแล้ว และรู้สึกว่าเขาแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ในวัย 13 ปี เขาเป็นมือกลองที่สุดยอดคนหนึ่งทีเดียว
เทคนิคการซ้อมของภัชนั้นสนใจ “เวลาซ้อมผมจะใช้ไม้กลองที่ใหญ่กว่าเวลาตีปกติ ข้อมือเราจะแข็งแรงขึ้น เวลากลับไปใช้ไม้กลองเดิมมันจะตีสบายขึ้น ตีลื่น ไม่ติดขัด” เอ้า มือกลองทั้งหลายลองเอาไปฝึกกันดู
แม้ว่าภัชจะตีกลองอยู่ด้านหลัง แต่พลังแห่งเสียงกลองของเขามันส่งมาให้เราเห็นเขาชัดเจนจนเหมือนมีสปอตไลต์ฉายลงมา “ผมรู้สึกว่าตีกลองมันเท่” ใช่ครับ เราก็ว่าเท่มากๆ
และสิ่งที่ทำให้ภัชหลงใหลการตีกลองคือ “มันได้เล่นกับเพื่อนๆ เวลาอยู่กับวงแล้วมันพอดี และทำให้เพื่อนๆ เข้ากับจังหวะของเราได้” นี่แหละเสน่ห์ของภัช และเสน่ห์ของการตีกลอง
• คุณ – สุภเวช รุ่งจิรธนานนท์
มือแซกโซโฟน วง FIVE BY FIVE
โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ
“ผมคือมือแซกสายฟ้านะครับ”
หมายความว่าเวลาที่คุณเป่าแซกนั้น เขารัวนิ้วเร็วไปตามโน้ตดนตรีและพลิ้วดุจสายฟ้าฟาด เพราะเทคนิคการฝึกฝนของเขานั้นจะฝึกแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปใส่ใจทุกรายละเอียด แม้วันแรกที่คุณเริ่มเป่าแซกเสียงจะไม่ออกก็ตาม แต่วันนี้คุณเป็นมือแซกที่มีเสน่ห์พลิ้วไหวบนเวที ลีลาดีในทุกโน้ต จนกรรมการและรุ่นพี่ในวงการแซก อย่างกรรมการพี่เป้ (ไพสิฐ คำกลั่น) เอ่ยปากชม
ตอนแรกคุณเริ่มหัดเป่าแซกเพียงเพราะอยากเข้าเรียนในห้องพิเศษดนตรี โรงเรียนหอวังตามพี่ชาย ก่อนที่เขาจะพบว่า “ผมชอบแซกจริงๆ เพราะเสน่ห์ของแซกสำหรับผมคือเล่นได้ทุกแนว ไม่ว่าจะคลาสสิกหรือป็อป” คุณเป็นนักดนตรีสายคลาสสิกมาตลอด นี่เป็นการเปิดประสบการณ์ประกวดกับวงแนวป็อปเป็นครั้งแรก เพราะเขาได้แสดงฝีมือในงานโรงเรียนจนพี่ๆ ถึงกับต้องชวนมาร่วมวง และคุณก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง
เวลาอยู่บนเวทีคุณจะเอาอารมณ์ใส่ลงไปในเพลงที่เล่นด้วยเสมอ ปล่อยฟีลลิงไปตามความหมายของเพลง เสียงแซกของเขาจึงเข้าสู่ใจคนฟังเสมอ แม้จะมีผิดพลาดไปบ้าง แต่เขาก็ภูมิใจกับสิ่งที่ทำไป “วันนั้นผมพลาด เผลอเหยียบสายไฟ แล้วมันวี้ดครับ” ฮาๆ
Suggestion
• เอย – ช่อลดา ไพเรืองโสม
มือคีย์บอร์ด & คอรัส วงสกลพัฒน์
โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา สกลนคร
“เล่นผิดไม่ว่า แต่ท่าต้องได้”
เอยอยู่ในตำแหน่ง 1 ใน 2 คีย์บอร์ดของวงสกลพัฒน์แต่ควบหน้าที่คอรัสด้วย แรกเริ่มเอยเข้าวงโยธวาทิตตามเพื่อน ด้วยความอยากลองอะไรใหม่ๆ เธอจึงสมัครเข้าวงสตริงทั้งที่เล่นเครื่องดนตรีไม่เป็นสักอย่าง และเหตุผลที่เลือกเล่นคีย์บอร์ดน่ะเหรอ “รู้สึกว่ากดลงไปเฉยๆ ก็เป็นโน้ตแล้ว หนูไม่ชอบอะไรยากๆ คิดว่าคีย์บอร์ดน่าจะง่าย แต่พอมาเล่นจริงๆ แล้วยากมาก” จากวันที่เล่นคอร์ดซีเป็นเพียงแค่คอร์ดเดียว ผ่านมา 3 ปี เอยได้เป็นส่วนหนึ่งของวงสกลพัฒน์ และก้าวขึ้นเวทีประกวดแล้ว
ขณะที่อยู่บนเวทีไม่ว่าจะเพลงช้าหรือเร็วเอยจะเต้นไปด้วยขณะที่เล่นคีย์บอร์ด จนเราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า นี่คือมือคีย์บอร์ดหรือแดนเซอร์ของวงกันนะ “จริงๆ หนูไม่ได้มาสายดนตรีเลย หนูเป็นนางรำมาก่อน แต่เวลาที่เล่นคีย์บอร์ดหนูจะชอบเต้นไปด้วย แล้วก็มีเล่นผิดบ้าง แต่ไม่ว่ายังไงก็จะโยกตลอด เพราะถ้าเราไม่เต้นวงก็จะไม่มีสีสัน”
วันนี้เอยและวงสกลพัฒน์ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแล้ว สิ่งที่เธออยากบอกกับเพื่อนๆ วงอื่น คือ “เก่งไม่กลัว กลัวซ้อมค่ะ” ไม่ว่าใครจะเก่งขนาดไหนเราไม่กลัว เรากลัวเขาซ้อมเยอะ แต่เอยก็จะซ้อมให้เยอะและหนักกว่า เพราะว่าความหวังปีนี้ของทุกคนในวงคือ ช่วยกันคว้าแชมป์!!!
• ต้นไม้ – ภัทรวัต รัตนวัน
มือเบส วง Hidden Track
โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ศรีสะเกษ
“ไลน์เบสผมมันซิ่ง”
คือมันรวดเร็ว เฟี้ยวฟ้าว สวิงสวาย เคยมีคนบอกต้นไม้แบบนั้น แล้วเขาประทับใจ ต้นไม้จะเล่นเครื่องดนตรีได้มากมาย เพราะเขาคือมือเบสที่เล่นดนตรีได้หลายอย่าง แต่ตอนนี้เขาชอบเบสที่สุด “ผมว่าเบสมันถึงใจดี และชอบตรงที่มันทำหน้าที่ควบคุมจังหวะเพลงของวง”
ปีที่แล้วต้นไม้มาประกวด THE POWER BAND ในฐานะมือทรัมเป็ต เมื่อตำแหน่งเบสว่างลง อาจารย์เลยชักชวนเขามาเล่น แม้จะเคยหัดมาบ้าง แต่ก็เพิ่งมาฝึกเบสอย่างจริงจังเพื่อร่วมวงเมื่อ 6 เดือนที่แล้วนี่เอง แต่ด้วยความเฟี้ยวฟ้าว เขาจึงพัฒนาฝีมือได้รวดเร็ว และโชว์สกิลการตบเบสได้โดดเด่นบนเวที อ่านเรื่องของครูเสือ ครูผู้คุมวง Hidden Track คลิกที่นี่
ผ่านการขึ้นเวทีมา 2 ปีซ้อนแต่เขาก็ยังตื่นเต้นมากอยู่ดี วิธีแก้ก็คือ “พยายามทำใจให้นิ่งๆ ให้เหมือนซ้อมอยู่ในห้องซ้อมที่โรงเรียนครับ” และความเจ๋งของการได้มาแข่งบนเวที THE POWER BAND ของต้นไม้คือ “เวทีนี้ให้ประสบการณ์เยอะมาก ให้มิตรภาพได้รู้จักกับวงอื่นๆ และอัปสกิลของผมด้วยครับ”
วงประกวด THE POWER BAND 2025 SEASON 5 สนามขอนแก่น
กับเพลงที่พวกเขาใช้ขึ้นเวทีประกวด มีดังนี้…
วง FIVE BY FIVE – โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ กับเพลง วันครบเลิก (NONT) และ เพลง ทิ้งให้จำ (INDIGO)
วง FUSION ISLAND – โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) กรุงเทพฯ กับเพลง จันทร์อังคารพุธพฤหัสศุกร์เสาร์อาทิตย์ (Patrickananda) และ เพลง คลั่งเธอ (NONT)
วง Hidden Track – โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จ.ศรีสะเกษ กับเพลง วันครบเลิก (NONT) และ เพลง Pick a Card (PiXXiE)
วง MOOMA – สังกัดอิสระ จ.นครราชสีมา กับเพลง ร(W8) (Gene Kasidit) และ เพลง พัง (INDIGO)
วง Penmanship – โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ กับเพลง รู้แค่นี้ Mint (Bowkylion) และ เพลง หยดน้ำตา (4EVE)
วง SISWEET – โรงเรียนศรีสุวิช จ.ชลบุรี กับเพลง Day One (PUN) และเพลง ติดฝน (PiXXiE)
วง ZENITH – สังกัดอิสระ กรุงเทพฯ กับเพลง ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง (Fade) (Jeff Satur) และ เพลง I like boys (4EVE)
วง สกลพัฒน์ – โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา จ.สกลนคร กับเพลง ยังคงคอย (Hers) และเพลง พบรัก (INK WARUNTORN)
THE POWER BAND 2025 SEASON 5 THE SERIES EP.1 รอบโซนนิ่งขอนแก่น “สกลพัฒน์-SUNTOY” เป้าหมาย คือ รางวัล