Passion

ทีมฟุตซอลผู้บกพร่องทางการได้ยิน
กับ ภารกิจพิชิตฝันเพื่อชาติ

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว 9 Apr 2024
Views: 630

Summary

แวะไปชวนทีมฟุตซอลผู้บกพร่องทางการได้ยินทีมชาติไทยที่เพิ่งคว้ารางวัลอันดับ 4 ของโลกหมาดๆ มานั่งคุยถึงความสำเร็จครั้งนี้ พวกเขารู้สึกอย่างไร มีปัญหาและความยากลำบากอะไรไหม ความหวัง ความฝัน และแผนในอนาคตของพวกเขามีอะไรบ้าง ไปจนถึงเมนูเพิ่มพลังกายพลังใจ การสัมภาษณ์ภายใต้ความเงียบงันเป็นอย่างไร ไปอ่านกัน!!!

คนหูหนวกหรือผู้บกพร่องทางการได้ยินเสมือนกลุ่มคนที่ยืนอยู่ในเงาของสังคม เรารู้ว่าพวกเขาอยู่ร่วมกันแต่อาจมองเห็นพวกเขาไม่ชัดนัก วันหนึ่งทีมฟุตซอลเล็กๆ ทีมหนึ่งเข้าร่วมรายการแข่งขันระดับโลก และคว้าลำดับที่ 4 จากการแข่งขัน 5th World Deaf Futsal Championships มาได้

วันนี้แสงเริ่มส่องมาหาพวกเขามากขึ้น ผู้คนรู้จัก มองเห็นพวกเขา และรับรู้ว่าทีมฟุตซอลผู้บกพร่องทางการได้ยินนั้นสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในฐานะนักกีฬาตัวแทนของชาติ…เป็น “พลังคนไทย” ที่น่ายกย่อง อ่านเรื่องของกัปตันฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย คลิก

ทีมฟุตซอลนี้ไม่ต่างจากนักกีฬาทั่วไป เพียงแค่พวกเขาสื่อสารกันด้วยภาษากาย สายตา และภาษามือ เราอยากชวนทุกคนไปรู้จักทีมฟุตซอลทีมนี้ให้มากขึ้น เพราะกว่าที่ทีมจะสร้างความเป็นไปได้เพื่อมาถึงความสำเร็จวันนี้ได้นั้น ไม่มีอะไรง่ายเลย แต่ปัญหาและอุปสรรคก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการที่จะไม่พยายาม เราได้คุยกับ โค้ชเอก วิศาล ไหมวิจิตร ผู้ฝึกสอนและดูแลทีมมาตลอดกว่า 10 ปี และ 6 นักกีฬาตัวแทนของทีม ได้แก่ ฉัตร ฉัตร โชติช่วง บอล ดนัย มุ่งอ้อมกลาง เจมส์ นรินทร์ มั่นประสงค์ เต้ย เจริญ แซ่น้า แบงค์ จักริน หมายถิ่นกลาง และ น็อต นนทวัฒน์ ดีโนนอด และที่แปลกไปกว่าการคุยปกติคือ ครั้งนี้เราคุยกันผ่านล่ามภาษามือ (ขอบคุณ คุณแอน ชนินันท์  แย้มขวัญยืน กับคุณวัช ปรเมศวร์  ถนอมศักดิ์ ล่ามภาษามือของทีม)

นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการสัมภาษณ์เลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าตื่นเต้นมาก!!!

โค้ชเอก – วิศาล ไหมวิจิตรและทีม

 

การได้รวมทีมก็เป็นความสุขแล้ว

เราอาจไม่คุ้นกับฟุตซอลเท่ากับฟุตบอล เราเลยอยากรู้เหตุผลที่ทุกคนมาเล่นฟุตซอล ทั้งที่มีกีฬาหลายชนิดให้เลือก ทั้งทีมส่งสายตาสื่อสารกัน ก่อนน็อตจะตอบว่า “การได้เล่นกันเป็นทีมนี่แหละครับ คือเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้” ฉัตรเห็นด้วยว่า “มันเป็นกีฬาประเภททีมครับ ได้เล่นร่วมกับเพื่อน ใช้เวลาด้วยกัน แค่ได้มาเตะก็มีความสุขแล้ว”

บอลเคยเล่นฟุตบอลแบบ 11 คนมาก่อนตามชื่อของเขา บอกว่าทักษะการเล่นจะคล้ายกันและสามารถนำความรู้จากการเล่นบอลสนามใหญ่มาใช้ได้ด้วย เจมส์ผู้รักษาประตูร่างใหญ่บอกว่า “ผมคิดว่ากีฬาฟุตซอล ยากกว่า การส่งรับลูก การตัดสินใจ มันต้องเร็วเพราะเกมมันค่อนข้างเร็วครับ”

 

หัวใจ สายตา ภาษามือ และแสงเลเซอร์

หลังการสัมภาษณ์เราอยู่เพื่อดูทีมซ้อมต่อ เพราะอยากรู้ว่าการซ้อมจะเป็นอย่างไร โค้ชและนักกีฬานั้นสื่อสารกันแบบไหน แล้วเราก็ได้เห็นบรรยากาศรอบสนาม โค้ชพร้อมกระดานไวท์บอร์ดและหมุดแม่เหล็กสีต่างๆ สำหรับวางกลยุทธ์ไม่ต่างจากที่เคยเห็นในกีฬาฟุตบอล ที่ต่างคือ ข้างๆ โค้ชมีล่ามภาษามือประกบอยู่เสมอ เพื่อถ่ายทอดคำพูดของโค้ชสู่นักกีฬาอย่างละเอียด ข้างสนามนักกีฬานั่งรวมกลุ่มคุยกันด้วยภาษามือ ในสนามนักกีฬาส่งสายตาและส่งซิกให้กันอย่างเงียบเชียบ แล้วเราได้เห็นอุปกรณ์สำคัญในมือโค้ช นั่นคือ ปากกาเลเซอร์ ทำให้เข้าใจว่าโค้ชนั้นสื่อสารกับนักกีฬาในสนามอย่างไร ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ยินเสียงโค้ชตะโกน โค้ชจะใช้ปากกาเลเซอร์ชี้ไปที่ขาของนักกีฬาเพื่อเรียก และชี้ไปยังจุดที่วางแท็กติกให้นักกีฬา ซึ่งนักกีฬาก็รับรู้และทำตามที่โค้ชวางแผนได้อย่างทันท่วงทีจนเรามองตามแทบไม่ทัน นี่สินะ ความไวในรูปแบบของฟุตซอล

3 เคล็ดลับความสำเร็จของทีมในมุมมองโค้ชเอก

1.ความมีระเบียบวินัยของผู้เล่น เชื่อฟังโค้ช และใช้แท็กติกการเล่นตามที่เราต้องการ

2.เรื่องหัวใจ มีใจสู้ ทั้งที่รู้ว่าทีมเราเป็นรอง แต่ก็สู้เต็มที่  มีใจรวมกันเป็นทีมเวิร์ก

3.เรื่องของดวง เราดวงดี เป็นจังหวะดีที่ทีมแข็งเขาฟอร์มไม่ดี ทีมเราฟอร์มดีกว่า

 

จุดแข็งที่เรามี

การแข่งขันในอนาคต ทีมคงต้องเจองานยากและความท้าทายอีกไม่น้อย เราถามโค้ชเอกถึงจุดเด่นของทีมในตอนนี้ “ตอนนี้เราเปลี่ยนทีมที่อายุไม่เยอะ ช่วงอายุน้อยถึงกลาง เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติดีและผู้เล่นมีวินัยในการซ้อม เชื่อฟังโค้ช และพยายามทำตามรูปแบบที่เราต้องการได้”

“ถึงเราจะเป็นรองทีมยุโรปเรื่องรูปร่าง สมรรถภาพทางกาย และเรื่องการฝึกซ้อม เพราะเรามีเวลาเก็บตัวน้อย อย่างอิหร่าน ญี่ปุ่น เขาเก็บตัวมาหลายเดือนแล้ว และเขามีทัวร์นาเมนต์ของคนหูหนวกอย่างต่อเนื่อง แต่เราอาศัยเรื่องของระบบ ความมีวินัย และความรวดเร็ว เราจะใช้ความเร็วของรูปร่าง ใช้ความคล่องแคล่วว่องไวเข้าไปแข่งขันในเกม”

ส่วนตัวนักกีฬาเองมองว่าส่วนดีที่สุดคือ  “ทีมเวิร์กครับ เราช่วยกันเล่นและมีความเป็นนักสู้ ความสามารถเราอาจจะไม่ได้ดีกว่าทีมอื่น แต่เราร่วมแรงร่วมใจกันเล่น” นี่สิพลังของคนไทย ใครว่าเราเล่นกีฬาแบบทีมไม่ดี นี่ มาดูทีมนี้ได้เลย

“ยอมรับว่าทีมเราไปแข่งขันชิงแชมป์โลก เราเป็นรองทุกทีม

แต่ใจเราสู้ เราร่วมแรงร่วมใจกันเล่น

แต่พอเข้าไปถึงจุดนั้นได้ก็รู้สึกภูมิใจ เป็นเกียรติประวัติให้ตัวเอง

ทีมฟุตซอลผู้บกพร่องทางการได้ยินทีมชาติไทย

 

อุปสรรค…ที่ต้องข้ามผ่าน

แม้ทีมจะก้าวสู่สนามระดับโลก และอยู่ในลำดับต้นๆ ก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไม่น้อย นี่คือปัญหาที่โค้ชเอกมองว่ามีส่วนสำคัญต่อการก้าวไปข้างหน้า เราขาดความต่อเนื่องจากการที่สมาคมกีฬาฟุตซอลแห่งประเทศไทยหรือการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) มีงบให้น้อย ไม่มีงบเก็บตัวระยะยาว อีกหน่อยเราก็จะลำบากที่จะพัฒนาต่อเนื่อง และทัวร์นาเมนต์ของเราก็ยังน้อย ถ้าอีก 2-3 ปี ยังเป็นแบบนี้เราอาจจะหยุดอยู่กับที่หรือเดินช้ากว่าคนอื่น”

“เราไม่มีสถานที่ซ้อมของตัวเอง ต้องขออาศัยใช้พื้นที่คนอื่น แต่เราก็ได้รับการสนับสนุนจากสโมสรต่างๆ ที่เราขอความอนุเคราะห์ไปให้ใช้สนาม แต่ถ้าเขาต้องใช้เราก็ไม่มีที่ซ้อม ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการพัฒนา”  

ในส่วนของทีมนั้น ฉัตรบอกเราว่า “อยากให้ทางสมาคมฯ ดูแลเรื่องการฝึกซ้อม อยากได้งบประมาณเยอะกว่านี้ เช่น เรื่องชุดซ้อม เพราะผมคิดว่ากีฬาคนพิการไม่ได้เป็นที่นิยม คนเข้าถึงและได้รับการสนับสนุนน้อย”

นี่คือเสียงสะท้อนจากทีมฟุตซอลทีมเล็กๆ ทีมหนึ่งที่หวังว่าจะมีใครได้ยินในสิ่งที่พวกเขาพูด (ผ่านภาษามือ)

ความคาดหวังและความใฝ่ฝัน

วันนี้พวกเขายังคงเป็นนักกีฬาฟุตซอลทีมชาติที่เดินตามฝัน เข้าแข่งขันเพื่อคว้าชัยชนะ ในระยะอันใกล้ที่จะมีสนามใหญ่ระดับโลกอีกครั้ง น็อตบอกว่า “อยากได้ที่ 1 ครับ อยากได้เหรียญทองมาให้ประเทศไทยเลย”

แต่ทุกคนก็มองไปที่เป้าหมายระยะไกลของตัวเองด้วย  เต้ยเล่าเป้าหมายของเขาว่า “ตอนนี้ขอโฟกัสไปทีละแมตช์ให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดไปเรื่อยๆ แต่ในอนาคตผมอยากติดทีมฟุตซอลชุดใหญ่ อยากทำผลงานตรงนี้ให้ทุกคนเห็นว่า สามารถต่อยอดไปได้” ส่วนบอลกับน็อต ก็ฝันคล้ายๆ กันคือ การเป็นโค้ชเพื่อสอนน้องๆ รุ่นหลังต่อไป ให้พัฒนาวงการฟุตซอลต่อไป”

ฉัตรยืนยันว่า เขาอยากช่วยตรงนี้ให้นานที่สุด ถ้ามีโอกาสก็อยากติดทีมชาติชุดใหญ่ เพื่อมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ และฝากถึงคนที่สนใจฟุตซอลว่า “อยากให้น้องๆ ที่มีความฝันตั้งใจพัฒนาตัวเองต่อไป อย่าท้อ เชื่อว่าวันหนึ่งต้องเป็นวันของเรา” เหมือนที่วันนี้เป็นวันของพวกเขาเช่นกัน

ขอบคุณภาพจากทีมฟุตซอลผู้บกพร่องทางการได้ยินทีมชาติไทย

ในศึกเดฟลิมปิกฤดูหนาว (20th Winter Deaflympic) ที่ประเทศตุรเคีย เมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่สนามสุดท้ายของพวกเขา ยังมีการแข่งขันแมตช์ต่างๆ และความท้าทายใหม่ๆ รอพวกเขาอยู่อีกมาก ทีมฟุตซอลทีมนี้ยังคงก้าวต่อไป คำว่า ท้อ ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของทีมพวกเขาอย่างแน่นอน หรือไม่ก็…รู้จักในฐานะผลไม้ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

ขอบคุณภาพจากทีมฟุตซอลผู้บกพร่องทางการได้ยินทีมชาติไทย

 

เมนูเพิ่มพลังสังสรรค์หลังซ้อมของสมาชิกทีม

• คาร์โบไฮเดรตเน้นๆ เพื่อเพิ่มพลังงาน เช่น ขนมปังและข้าวผัด

• เครื่องดื่มสุดโปรด อย่างกาแฟ เติมความสดชื่นกันสักหน่อย

• เมนูยอดฮิตในดวงใจที่ยังไงก็ขาดไม่ได้ คือ ชาบูและหมูกระทะ

 

Exclusive…ชมเบื้องหลังการสัมภาษณ์อย่างออกรสแต่เงียบเสียงที่สุดครั้งนี้ จากนักเขียนของเรา ที่นี่

Author

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว

Author

นักเล่าเรื่อง ผู้มีหนังสือและการเดินทางเป็นดั่งลมหายใจ นิยมชมชอบท้องฟ้า กาแฟ และแมว

Author

พีระรัตน์ ธรรมจง

Photographer

ทุกภาพที่ผมโฟกัสคือสิ่งสำคัญ ครอบครัวก็เช่นกันเป็นสิ่งสำคัญที่ผมโฟกัส