People

ดนตรี โอกาส และการเชื่อมต่อ
ในมุมมองของ “ดร.พีรวัฒน์ ชูเกียรติ”

เพ็ญแข สร้อยทอง 21 May 2024
Views: 786

Summary

ผู้บริหารสยามดนตรียามาฮ่ากับความสำคัญของการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีและมีเวทีสำหรับแสดงออก รวมไปถึงการเชื่อมต่อของผู้คนในอุตสาหกรรมดนตรี และการปรับตัวเพื่อตอบสนองภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่าลืมอ่านไปให้ถึงมุมมองน่าสนใจที่บรรทัดสุดท้ายของบทความ

ในอาณาจักรแห่ง “เสียง” และ “ดนตรี” อันมีชีวิตชีวา “ยามาฮ่า” (YAMAHA) ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดนตรีและเครื่องเสียงจากญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนไทยมาเนิ่นนาน โดยมี บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย รวมทั้งบริหารโรงเรียนดนตรียามาฮ่า 83 สาขาทั่วประเทศ และมีนักเรียนถึง 16,000 คน

กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สยามดนตรียามาฮ่ามีส่วนในการสร้างงานอาชีพทางดนตรีให้แก่ศิลปินและนักดนตรีมืออาชีพจำนวนมาก รวมทั้งร่วมพัฒนาสังคมด้วยการเสริมสร้างให้เยาวชนได้มีพื้นฐานทางด้านความรู้เกี่ยวกับดนตรีอย่างถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งยังให้ความสำคัญกับการเปิดเวทีเพื่อให้ได้แสดงความสามารถทางด้านดนตรี

ล่าสุด “ยามาฮ่า” ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ

 

“ในยุคนี้เรียนดนตรีแล้วไปทำอะไรได้เยอะ จะเป็นซาวนด์เอนจิเนียร์

คนซ่อมเครื่องดนตรี ช่างจูนเปียโน อยากทำเพลง

อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ทำได้ ดนตรีตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเราได้หมด”

ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด

 

ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของ “เวที” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้มีความสามารถได้แสดงออก

“เราอยากพัฒนาความสามารถของเด็กในเรื่องของดนตรี ที่ผ่านมามีเด็กได้พื้นฐานทางดนตรีจากเราแล้วไปต่อยอดจนประสบความสำเร็จหลายคน ทุกคนต้องการสเตจ (Stage) ก่อนที่จะต่อยอดไปถึงเฟม (Fame)”

การที่สยามดนตรียามาฮ่าเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการประกวดวงดนตรี THE POWER BAND เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจเหล่านั้น

“THE POWER BAND เป็นสเตจที่ดี น้องๆ ที่ผ่านเข้าถึงรอบไฟนอล จะได้เข้าแคมป์เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ไม่เฉพาะแค่เรื่องดนตรีหรือเรื่องเทคนิค มีศิลปินและอาจารย์เก่งๆ มาสอน สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากๆ และยังมีค่ายเพลงต่างๆ มาดู ทำให้เด็กๆ มีสเตจแล้วสามารถต่อด้วยเฟมได้”​ คลิกอ่านประสบการณ์และความรู้ดีๆ จาก “THE POWER BAND Music Camp”

การประกวดดนตรีทำให้ค้นพบคนที่มีความสามารถและมอบพื้นที่ให้พวกเขาได้เปล่งประกาย “คนที่มีพรสวรรค์ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ถ้าเขามีแพสชัน มีความฝัน สามารถเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาค ระดับโลกก็เป็นไปได้ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ฐานรากที่ดี

 

ศักยภาพทางดนตรีสร้างได้

โดยเน้นที่พื้นฐานทางดนตรี ทั้งการฟังและฝึกซ้อม

 

“การสร้างพื้นฐานที่ดีให้เด็กๆ ในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เด็กจากทุกภูมิภาคมีโอกาสได้แสดงออก แล้วเราก็จะเอาเพชรมาเจียระไน ทุกอย่างมันเป็นไปได้ เด็กๆ ของเราเก่ง ศิลปินของเราเก่ง ค่ายเพลงต่างๆ ของเมืองไทยก็ไม่น้อยหน้าใคร และจะทำยังไงให้เอาทุกอย่างที่กระจายอยู่มาเชื่อมต่อกันให้ได้”

ขอบคุณภาพจาก ดร.พีรวัฒน์ และ FB: Yamaha Music School Thailand

 

Practice makes perfect!

เคล็ดลับดีๆ จากผู้บริหาร Yamaha

ผู้บริหารสยามดนตรียามาฮ่ามีคำแนะนำสำหรับเด็กและเยาวชนที่
มุ่งมั่นจะก้าวเดินบนเส้นทางดนตรีว่า

“อย่าหลงระเริงกับคำว่าทาเลนท์ (Talent)ทุกคนอาจจะมีทาเลนท์หรือความสามารถพิเศษไม่เหมือนกัน
แต่สิ่งที่สำคัญเหนือกว่าทาเลนท์คือ
Practice makes perfect (การฝึกหัดทำให้สมบูรณ์แบบ)
การเป็นนักดนตรีจะต้องมีวินัย ต้องมีการฝึก ยิ่งบวกกับมีพรสวรรค์มันก็ยิ่งไปได้ไกล คนมีพรสวรรค์ถ้าไม่ฝึกจะไปสู่ความยิ่งใหญ่ หรือประสบความสำเร็จไม่ได้มีวินัย ฝึกซ้อม ขยันฝึกซ้อมแล้วจะสำเร็จ”

ภาพจาก ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ

ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ อธิบายถึงความคิดเรื่อง “Connect the dots” ในบริบทของการทำงานร่วมกับผู้คนในอุตสาหกรรมเสียงและดนตรี ซึ่งจะนำมาซึ่งความสำเร็จร่วมกัน

“ความรักและความเคารพซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เรามีสเตคโฮลเดอร์ (Stakeholder) อยู่ 360 องศา ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของโรงเรียน เด็กนักเรียน ครู อาจารย์ ศิลปิน ค่ายเพลง บริษัทลิขสิทธิ์ คนจัดอีเวนต์ โรงเรียนสามัญ วงโยธวาทิต ฯลฯ”

หนึ่งในสเตคโฮลเดอร์สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครอง ด้วยความเชื่อที่หยั่งรากลึกในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของดนตรี สยามดนตรียามาฮ่าสนับสนุนให้ผู้ปกครองมอบโอกาสอันล้ำค่าให้กับบุตรหลานของตนในการสัมผัสประสบการณ์ทางดนตรี

 

ครอบครัวคือบุคคลสำคัญ

ที่จะผลักดันโอกาสในโลกของดนตรีให้กับเยาวชน

 

“YAMAHA เน้นเรื่องพัฒนาการในด้านการฟังมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 4 ขวบ กล้ามเนื้อของเด็กยังไม่แข็งแรงให้ฝึกเรื่องการฟังก่อน พอโตขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นก็อาจจะพัฒนาต่อไป เช่น เรียนเปียโน

“เด็กๆ อาจจะไม่รู้ว่าเขาเก่งหรือชอบด้านไหน เขาควรจะมีโอกาส ถึงแม้ว่าเรียนแล้วจะไม่ชอบ แต่มันก็จะติดตัวไปตลอดชีวิต ส่วนคนที่เขาชอบดนตรีให้ฝึกซ้อมสร้างวินัยตั้งแต่เด็ก เรื่องเรียนกับซ้อมดนตรีสามารถแบ่งเวลาได้ นักเรียนดนตรีหลายคนเรียนหมอ เรียนวิศวะได้ ดนตรีไม่ใช่อุปสรรคเรื่องการเรียน แต่ดนตรีทำให้เรียนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เด็กมีสมาธิ เป็นเครื่องช่วยในการระบายบางอย่างที่ไม่ดีออกไป”

ภาพจาก ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ

ดนตรียังเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาตนเองรวมทั้งสร้างอาชีพ “ในยุคนี้เรียนดนตรีแล้วสามารถไปทำอะไรได้เยอะ จะเป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ คนซ่อมเครื่องดนตรี ช่างจูนเปียโน อยากทำเพลง อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ทำได้ ดนตรีตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเราได้หมด”

 

ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตน

 

ที่ผ่านมาชื่อ YAMAHA สื่อถึงคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และนวัตกรรม โดยได้รับความไว้วางใจและความชื่นชมจากนักดนตรีและผู้คนในแวดวงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นและพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป สยามดนตรียามาฮ่าตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ในโลกที่วิธีการขายแบบดั้งเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป การจัดหา “โซลูชัน” (Solution) หรือมอบทางออกสำหรับความต้องการและความชอบเฉพาะของคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นคำตอบ

“สมัยนี้ไม่ใช่แค่เอาสินค้ามาตั้งแล้วคนขายมาพูดบอกว่าสินค้านี้ดียังไง แต่จะบอกว่า เรามีโซลูชันที่ตอบโจทย์ท่านยังไง เรามีสินค้าเยอะ แต่ถ้าสินค้าของเราตอบโจทย์ลูกค้าไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เรามีพาร์ตเนอร์เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าได้

ขอบคุณภาพจาก FB: Yamaha Music School Thailand

“เราถึงต้องมีเพื่อน มีพันธมิตร แม้ว่าบางด้านเราจะเป็นคู่แข่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นเพื่อน เป็นพันธมิตร อุตสาหกรรมดนตรีนี้ไม่ได้ใหญ่มาก คนรู้จักกันแทบทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราคิดจะอยู่กันแบบวินวินทุกฝ่าย”

เพื่อก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับผู้บริโภคเจเนอเรชันใหม่ “สยามดนตรียามาฮ่าสร้างตึกใหม่อยู่ใกล้สยาม เราจะอยู่ใกล้กับเด็กเจเนอเรชันใหม่มากขึ้น เด็กสามารถไปมาหาสู่เราได้ง่ายขึ้น เด็กรุ่นใหม่ต้องการโซลูชัน เช่น เขามีปัญหาอย่างนี้ต้องแก้ปัญหาด้วยโซลูชันอะไร เพนพอยต์ของเขาคืออะไร เราจะแก้ตรงนั้น

“อย่างเช่น ถ้าเขามีปัญหาเรื่องดนตรีหรือเสียง เราจะหาโซลูชันในเรื่องของเสียง หรือเด็กอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เรามีโซลูชันให้กับน้องมือใหม่ที่อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือถ้าเขาอยากทำเพลง โซลูชันของเขาควรจะเป็นยังไง ผมว่าสิ่งนี้จะเข้าไปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบความเร็ว ชอบคำตอบเดียวเบ็ดเสร็จทั้งหมด

 

เซ็นเตอร์เรื่องดนตรีที่เจเนอเรชันใหม่

เพื่อสร้างอนาคตที่สดใส

 

“เราอยากให้แบรนด์ YAMAHA ผ่องถ่ายไปสู่เนกซ์เจเนอเรชัน ทุกคนในเจเนอเรชันก่อนหน้านี้อาจจะรู้จัก YAMAHA แต่ว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ ทุกแบรนด์ในโลกก็เจอปัญหานี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

“ภายในบริษัทเราเองก็ต้องปรับ สอดคล้องกับค่านิยมองค์กรในเรื่องของ อะแดปอะบิลิตี้ (Adaptability) เรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้สำคัญและเป็นสิ่งที่เราทำระยะหนึ่งแล้ว เพราะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงในสมัยนี้รวดเร็วมาก เราก็ต้องปรับตัวให้เร็ว”

ภาพจาก ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ

จากมุมมองของ ดร.พีระวัฒน์ ชูเกียรติ ไม่เพียงแต่เผยให้เห็นถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของดนตรี แต่ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสสร้างเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้สำรวจความสามารถทางดนตรีของตนเอง ในขณะที่ธุรกิจยังพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะของโลกและผู้บริโภค การส่งเสริมเชื่อมต่อกันภายในอุตสาหกรรมดนตรีก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ

เหมือนกับเป็น … การประสานของโน้ตที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้บทเพลงมีทำนองไพเราะสวยงามมากยิ่งขึ้น

 

In Tune with ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ

• ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ จบการศึกษา…
ทางด้านสถาปัตยกรรม-วิศวกรรม ก่อนจะกลายมาเป็นผู้บริหารธุรกิจที่มีเสียงและดนตรีเป็นหัวใจ

• “ผมไม่เล่นดนตรี แต่ผมเป็นนักฟัง…
ชอบฟังดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ฟังเพลงหลากหลาย ผมเติบโตมาก็ดนตรีป็อป อย่างเช่น พอล แม็คคาร์ทนีย์ เติบโตมากับ แอร์ซัปพลาย ผมชอบซอฟต์ร็อก ชอบอีซี ลิสซึนนิ่ง แต่ร็อกผมก็ฟัง เช่น เลด เซพเพลิน หรือโปรเกรสซีฟอย่างเช่น พิงก์ฟลอยด์ วงอย่าง ดิ อีเกิล ก็รักมาก

• “ดนตรีสำหรับผมเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5…
ช่วยให้เกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์  ช่วยผ่อนคลาย เป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจได้ดี ช่วยให้เรามีสมาธิ

• “จากปณิธานของ ดร.ถาวร พรประภา (ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามกลการ)…
ที่อยากเห็นเมืองไทยเป็นเมืองแห่งดนตรีหรือเวียนนาตะวันออก ท่านอยากเห็นคนมีความสุข อยากให้คนไทยเอาดนตรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สอดคล้องกับปรัชญาความคิดของทาง YAMAHA ญี่ปุ่น เขาใช้คำว่า คันโด (Kando)

• “คันโด สำหรับผม คือ
มิวสิก แอปพรีซิเอท (Music Appreciate) หมายถึง ความสุขกับเพลง ถึงคุณจะเล่นดนตรีไม่ได้ แต่ว่าคุณก็แฮปปีกับเสียงเพลงได้”

ภาพจาก ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ