People

‘ขจร ยังเขียวสด’ ชายผู้เสกสรรปั้นสร้าง
‘หุ่นละครเล็ก’ ให้มีชีวิตดั่งมนุษย์

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 19 May 2025
Views: 620

Summary

คุยกับ ‘ขจร ยังเขียวสด’ ทายาทรุ่นสามของบรมครูผู้สืบสานหุ่นละครเล็กมาสู่อนุชนรุ่นหลัง ครูสาคร ยังเขียวสด หรือครูโจหลุยส์ บุรุษที่อยู่เบื้องหลังการสร้างและรังสรรค์ ‘หุ่นละครเล็ก’ ที่โลดแล่นร่ายรำราวกับมีชีวิตของ ‘คณะอักษราหุ่นละครเล็ก’ มากว่า 20 ปี ด้วยทักษะงานช่างที่ฝึกและสั่งสมมาตั้งแต่ ป.2

หุ่นละครเล็กกว่าร้อยตัวที่เรียงรายอยู่ภายในห้องเก็บหุ่นของ ‘โรงละครอักษรา’ ถูกสร้างและรังสรรค์โดย ‘ขจร ยังเขียวสด’ ทายาทรุ่น 3 ของบรมครูผู้สืบสานหุ่นละครเล็กมาสู่อนุชนรุ่นหลัง ครูสาคร ยังเขียวสด หรือครูโจหลุยส์

เรากำลังได้นั่งคุยกับปูชนียบุคคลศิลปินและช่างฝีมือ หนึ่งในผู้สืบสาน ลมหายใจให้หุ่นละครเล็ก ศิลปะไทยชั้นสูงยังคงดำเนินต่อไป (และใช่แล้ว บริเวณหนึ่งด้านในของโรงละคร อักษราคิง เพาเวอร์ มีห้องขนาดใหญ่อยู่ห้องหนึ่งซ่อนอยู่ ห้องนี้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เก็บรักษาหุ่นที่หมุนเวียนนำมาใช้กับงานการแสดงของคณะหุ่นละครเล็ก) …และต้องขอขอบคุณโรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายทำครั้งนี้

เคล็ดวิชาการทำหุ่นละครเล็กของขจร ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เขาอยู่ ป.2 “ทุกคนในตระกูลยังเขียวสดต้องฝึกโขน ต้องทำหัวโขนเป็น ตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่จำความได้ก็เห็นปู่ เห็นพ่อเล่นโขน”

“จำได้ว่าฝึกโขนและทำหัวโขนตั้งแต่ ป.2 ต้องตื่นตี 5 ทุกวันมาฝึกโขนพอ 7 โมงก็ไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียนก็ทำหัวโขน พอ 6 โมงเย็นก็ต้องซ้อมโขนอีกรอบ ทำแบบนี้ทุกวัน”

“ปู่ พ่อ และอา ช่วยกันสอนทำหัวโขน เริ่มจากปิดหัว ปิดหุ่น กดตัวกระจัง ทาสี ก็เน้นทักษะพื้นฐานไปก่อน พวกวิชางานฝีมืออะไรก็ไม่ได้ไปเรียนจากที่ไหนหรอก ผมจบแค่ ป.4 ด้วยความที่ลูกหลานเยอะส่งเรียนไม่ไหว ต้องออกมาช่วยกันทำมาหากิน”

ขอบคุณภาพจากขจร ยังเขียวสด

 

“ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง กลัวตัวเองไม่พัฒนา

สิ่งที่ผมยึดมั่นและจะรักษาไว้ตลอดคือสิ่งที่ปู่ยึดถือ

นั่นก็คือ ‘ทำหุ่นต้องใช้วัสดุที่หาง่ายที่สุดเท่านั้น’”

                                                       ขจร ยังเขียวสด (ศิลปิน)
คณะอักษราหุ่นละครเล็ก

 

รู้อะไรไม่สู้ ‘รู้วิชา’  

“ถ้าไม่ได้วิชาทำหัวโขนก็ไม่รู้จะหาเลี้ยงชีพยังไง” ขจรเล่าว่า พ่อของเขาค่อนข้างเกเรเลยทะเลาะกับปู่บ่อย “ทะเลาะกันทีไรก็พาผมออกไปอยู่ที่อื่น พอดีกันก็กลับมา ใช้ชีวิตแบบนี้ตั้งแต่เด็กจนโต”

“พอมีครอบครัว ความรับผิดชอบก็มากขึ้น ผมทำหัวโขนมาตั้งแต่เด็กก็เอาวิชาความรู้นี้มาเป็นอาชีพ รับทำ รับซ่อมหัวโขนให้กับโรงละคร โรงลิเก คาบาเร่… รับซ่อมเครื่องแต่งตัว ทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด จนกระทั่งคุณอา (นิรันดร์ ยังเขียวสด) ชวนผมให้ช่วยทำหัวโขน พออยู่กับอาสักพักผมก็ตัดสินใจกลับไปอยู่กับปู่ ช่วงนั้นเองที่ทาง คิง เพาเวอร์ มาชวนปู่เพราะต้องการสืบทอดศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก”

ขอบคุณภาพจากขจร ยังเขียวสด

 

รื้อฟื้นลมหายใจ ‘หุ่นละครเล็ก’ 

“หุ่นละครเล็กตัวแรกที่ผมทำ ผมเริ่มจากที่นี่ ช่วงที่รอทาง คิง เพาเวอร์ กำลังดำเนินการสร้างโรงละครอักษราฯ ปู่สอนให้ผมทำหุ่นละครเล็กเพื่อใช้แสดงและให้ผมได้ร่วมทำหุ่นละครเล็กถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย”

“จำได้เลยว่าบางครั้งปู่ต้องเข้าโรงพยาบาล ผมก็หอบเครื่องมือ อุปกรณ์ไปให้ปู่สอนต่อตรงข้างเตียงคนไข้นั่นแหละ แล้วก็กลับมาฝึกๆๆ โชคดีว่าตอนนั้นยังมีทีมทำหุ่น มีคุณอาเป็นหลัก เราก็ใช้ทักษะเดิมบวกกับครูพักลักจำ จากปู่บ้าง จากอาบ้าง จนสุดท้ายมันก็กลายเป็นรสมือของผมเอง”

เราถามต่อว่า แล้ว ‘รสมือ’ ของเขาเป็นแบบไหน ขจรอธิบายว่า มันต้องมาจากหัวใจและความเข้าใจ “เอาธรรมชาติเข้าใส่ เมื่อก่อนผมไม่เคยเข้าใจที่ปู่พูดนะว่า ‘สามประสานใจเป็นหนึ่ง’  คืออะไร แต่พอได้เป็นคนเชิดหุ่น ได้ทำหุ่นเอง ถึงเข้าใจว่ามันคือการเอาจิตวิญญาณของคนเชิดใส่เข้าไปในหุ่น ดังนั้นหุ่นทุกตัวที่ผมทำจะต้องมีความเป็นธรรมชาติที่สุด และยังคงอัตลักษณ์ของหุ่นละครเล็กตระกูลยังเขียวสดเอาไว้”

ถอดอัตลักษณ์หุ่นละครเล็กของตระกูลยังเขียวสด

ขจรเล่าว่า การทำหุ่นละครเล็ก ต้องใช้ทักษะงานช่างหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น ช่างปั้น ช่างปัก ช่างรัก ช่างบุโลหะ ที่สำคัญที่สุดคือ ‘ช่างพยนต์’ หรือผู้ใส่กลไกให้หุ่นสามารถขยับได้ซึ่งถือเป็นที่สุดของงานช่าง

แต่ถึงจะใช้ทักษะงานช่างหลากแขนง แต่อัตลักษณ์หุ่นละครเล็กของตระกูลยังเขียวสดที่ลูกหลานยึดถือมาโดยตลอดตามความตั้งใจของปู่สาครก็คือ “ต้องทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายที่สุด”

“หุ่นของปู่จะใช้แค่ปูน แป้ง กระดาษ ไม้ ตัวหุ่นทำจากกระดาษน้ำหนักจะได้เบา คนเชิดไม่ต้องแบกน้ำหนักมากไป หุ่นทุกตัวจะมีสัดส่วนเท่ากับคน เพียงแต่ย่อขนาดให้เล็กลง”

ขจรบอกว่าจุดที่ยากที่สุดในการทำหุ่นละครเล็กคือ ‘กลไก’ ที่อยู่ภายใน “ปู่บอกเสมอว่าหุ่นต้องเบา รอกต้องดี เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าคนเชิดหุ่นต้องการอะไร ปัญหาอะไรที่เขาต้องเจอบ้างเวลาเชิดหุ่น คนทำหุ่นจะต้องเชิดหุ่นเป็นด้วย”

“ทำหุ่นเป็น ต้องเชิดเป็น เพราะจะรู้ข้อดีและข้อเสีย ช่วงแรกๆ ผมต้องฝึกทำหุ่นไปด้วยและฝึกเชิดหุ่นไปด้วย การแสดงครั้งแรกของผมคือ การแสดงหุ่นละครเล็กถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 จากนั้นก็ยังขึ้นแสดงบนเวทีของโรงละครอักษรา มาปีหลังๆ หันมาทำหุ่นอย่างเดียวเพราะพออายุมากขึ้น เริ่มเชิดไม่ไหว”

ขจร และวายุ ยังเขียวสด ลูกชาย

ปัจจุบัน ขจร รับหน้าที่สร้าง ซ่อม และดูแลหุ่นละครเล็กของ ‘คณะอักษราหุ่นละครเล็ก’ ทั้งหมด “อย่างที่เล่าไป ช่วงแรกมีทีมทำหุ่น แต่ตอนนี้ผมทำคนเดียวเกือบคนทั้งหมด ถ้าช่วงไหนงานเยอะก็จะให้ลูกชาย (บิ๊ก – วายุ ยังเขียวสด) มาช่วยทำ ตอนนี้เขาก็เป็นนักแสดงหุ่นละครเล็กของที่นี่ หรือใครอยากมาฝึกผมก็ยินดีสอน” อ่านเรื่องราวของ อักษราหุ่นละครเล็ก ที่รวมนักแสดงหลายรุ่นเข้าไว้ด้วยกัน คลิกที่นี่

“ใจจริงผมอยากให้คนเชิดหุ่นทุกคนรู้พื้นฐาน เช่น การผูกรอก ถ้ารอกขาดทำยังไง เพื่อจะได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้”

 

ข้อคิดดีๆ จากศิลปินรุ่นใหญ่ถึงศิลปินรุ่นหลัง

✔ อย่าทำงานสุกเอาเผากิน ศิลปินที่แท้จริงจะทำแบบนั้น

✔ ต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ

✔ อย่าหวงวิชา เพราะศิลปินรสมือไม่เหมือนกัน

 

เติมความสดใหม่ในวันที่ไฟในใจยังไม่มอด

อยากรู้เหลือเกินว่า วิธีคิดของคนที่ใช้เวลามากกว่าค่อนชีวิตคลุกคลีอยู่กับการทำหัวโขน ทำหุ่น คืออะไร? ทำไม่ถึงยังมองทุกอย่างรอบตัวเป็นความสดใหม่ได้เสมอ ขจร เชื่อว่า ตราบใดที่การแสดงหุ่นละครเล็กยังคงมีอยู่ เขาก็ยังสนุกไปกับสร้างสรรค์หุ่นรูปแบบใหม่ๆ

“เราต้องไปยึดติดอยู่กับโลกเดิมๆ วันนี้โลกมันเปลี่ยน เราก็ไปให้ได้ทัน แต่ไม่ใช่พยายามยัดเยียดสิ่งเดิมๆ ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างตอนไปจอร์แดนผมทำหุ่นระบำหน้าท้องใส่กลไกให้สะโพกส่ายได้ ไปเกาหลีก็ทำหุ่นใส่ชุดประจำชาติ ไปญี่ปุ่นก็ใส่กิโมโน เราสามารถแทรกศิลปะไทยผ่านสิ่งเหล่านี้ได้”

“ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง กลัวตัวเองไม่พัฒนา รู้เยอะไม่ผิด แต่ต้องไม่รู้ดีไปซะทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นคนไม่พัฒนา แต่ถึงจะพัฒนาอะไร สิ่งที่ผมยึดมั่นและจะรักษาไว้ตลอดคือ สิ่งที่ปู่ยึดถือก็คือ ‘ทำหุ่นต้องใช้วัสดุที่หาง่ายที่สุดเท่านั้น’”

“ต้องยอมรับนะว่า ศิลปวัฒนธรรมมันมีเสน่ห์ก็จริง แต่ให้นั่งดูเดิมๆ ก็เบื่อ ถ้าเราไม่พัฒนาคนก็ไม่อยากดู” ชวนอ่านเรื่องการแสดงที่ Thai Taste Hub ชมฟรีวันละ 2 รอบ คลิก

 

พลังแห่งความเชื่อมั่น

เป็นใครก็เสียดายถ้าวันหนึ่ง ศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของไทยที่โลดแล่นร่ายรำบนเวทีของหุ่นละครเล็กจะหายไป ขจรบอกว่า ตั้งแต่จำความได้ ปู่ไม่เคยหยุดที่จะต่อลมหายใจให้กับหุ่นละครเล็ก

“แต่ลึกๆ ท่านก็กังวลว่าวันหนึ่งจะไม่มีพลังมากพอที่จะผลักดัน เพราะตระกูลเราไม่ได้มีเงินทุน หาเช้ากินค่ำ และเราก็ทำมันด้วยใจจริงๆ แต่พอ คิง เพาเวอร์ มาสนับสนุน ไม่เพียงต่อลมหายใจให้กับหุ่นละครเล็ก แต่ยังได้สานต่อความฝันของปู่ให้เป็นจริงด้วย”

ขจรยังบอกอีกว่า การที่มีคนเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขาทำ มันยิ่งทำให้พวกเขามีแรงและมีพลังที่จะทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป

“ต้องขอบคุณ คิง เพาเวอร์ ที่ให้การสนับสนุน ทำให้นักแสดงและคนทำงานไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง ได้ใช้เวลาไปกับการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผมเองก็มีเวลาที่จะคิดดีไซน์หุ่นใหม่ๆ นักแสดงก็จะกระตือรือร้น อยากฝึก มันไม่ใช่แค่ต่อลมหายใจให้กับหุ่นละครเล็กแต่ยังต่อลมหายใจให้กับคนทำงานทุกคน”

เมื่อถามว่า มีอะไรอยากฝากถึงศิลปินหรือคนทำงานรุ่นหลัง ขจรบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องศิลปะก็อยากให้ช่วยกันสืบสานต่อไป ไม่ว่าจะศิลปะการแสดงหรือศิลปหัตถกรรม แต่เรื่องที่เขาขอให้เน้นย้ำก็คือ ‘อย่าหวงวิชา’

“ไม่ว่าคุณจะเป็นช่างที่ทำงานศิลปะแขนงไหน อย่าหวงวิชา เพราะต่อให้เขารู้เคล็ดลับอะไรก็ตาม ยังไงศิลปินก็มีรสมือไม่เหมือนกัน ไม่มีใครอยู่ยงคงกระพันหรอก ถ้าคุณมีหัวใจเป็นศิลปินจริงๆ หวงแหนมรดกนี้จริงๆ ต้องส่งต่อ วันหนึ่งคุณไม่อยู่มันก็จบไป”

“อย่าให้มันตายไปกับคนรุ่นเรา ส่งต่อมันให้กันคนรุ่นหลัง” ขจร กล่าวทิ้งท้าย

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์

Author

พีระรัตน์ ธรรมจง

Photographer

ทุกภาพที่ผมโฟกัสคือสิ่งสำคัญ ครอบครัวก็เช่นกันเป็นสิ่งสำคัญที่ผมโฟกัส