Product

INTHAI อินเนอร์ไทยๆ
ส่งลายครามสู่ศิลปะที่ผลิบาน

วรากร เพชรเยียน 1 Mar 2024
Views: 649

Summary

ทำความรู้จักเครื่องประดับของ INTHAI แบรนด์สินค้าแฟชั่นที่ตั้งใจเล่าศิลปะแบบไทยๆ ในมุมใหม่ที่เข้าใจง่าย หยิบใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ให้คนรุ่นใหม่และคนต่างชาติที่รักแฟชั่นและงานศิลปะได้ลองและหลงใหลดีไซน์ที่มีอินเนอร์แบบไทยๆ

จากคอลเลกชันที่เริ่มต้นโดยมีลายครามเป็นลายเส้นซิกเนเจอร์ ซึ่งเป็นสีสันและศิลปะที่อยู่คู่กับคนไทยมานานและชาวต่างชาติก็เริ่มสนใจ

มาถึงตอนนี้แบรนด์อินไทยที่ คุณมายด์ – อารียา บุญช่วยแล้ว เจ้าของแบรนด์ เคยเล่าด้วยความรักในงานศิลปะและเส้นทางการก่อตั้งแบรนด์ คลิกอ่านเรื่องของเธอ ว่าได้ชื่อมาจากคำว่า อินเนอร์+ความเป็นไทย ก็ยิ่งผลิความเป็นไทยให้เราได้เห็นมากขึ้น เราเลยได้เห็นลายไทยอยู่บนผ้าพันคอผืนเล็ก – ผืนใหญ่ เสื้อผ้า ต่างหูสำหรับสายเท่หรือสายหวาน เครื่องประดับรูปแบบต่างๆ พร้อมสีสันที่ยิ่งสดใสโดนใจ และโมเดิร์นขึ้นอีก…เราพร้อมพาไปอัปเดตผลงานใหม่ๆ ฮิปๆ โดนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาแฟชั่นนิสต้าทั้งหลาย

 

ลายครามที่คำราม

จากโปรเจกต์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่ทำให้ได้ผลิตสินค้าออกมาเป็นตัวทดลองเพื่อส่งงานอาจารย์ นำไปสู่การต่อยอดโอกาสเป็นแบรนด์ INTHAI ขึ้นมา ซึ่งกว่าจะเริ่มต้นได้คุณมายด์เริ่มจากเรียนรู้การทำเซรามิกซึ่งเป็นไอเทมหลักของแบรนด์ก่อน

“เราก็ไปเรียนรู้เรื่องการจักสาน การทำเซรามิกก่อน เราต้องรู้ว่ากระบวนการทำเป็นยังไง พอเรารู้กระบวนการ เราก็จะรู้ว่าเราจะดีไซน์ต่อยอดไปได้ยังไง” โดยมีลายครามเป็นซิกเนเจอร์ ด้วยโทนสีน้ำเงินที่เรียบง่ายและเรียบหรู และเมื่อนำมาประกอบกับความอ่อนช้อย ความหวาน และดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ของศิลปะแบบไทยยิ่งทำให้ชิ้นงานแต่ละชิ้นมีดีเทลที่สามารถมองไปได้เรื่อยๆ มีเรื่องราวให้เล่าไม่รู้จบ

ตั้งแต่จุดนั้นลายครามก็คำรามเรื่อยมา กลายเป็นแบรนด์ที่เน้นการนำความเป็นไทยมาใส่ในโลกแฟชั่นที่มีทั้งความเฟมินินและเท่ในคราวเดียวกันและกลายเป็นแบรนด์ที่มีผลงานแต่ละชิ้นสื่อสารความเป็นไทยได้แบบ…มินิมอลและโดนใจสายอาร์ต “เวลาออกแบบแต่ละคอลเลกชัน หลังๆ เราจะรีเสิร์ชความเป็นไทยผสมกับเทรนด์การสวมใส่ว่าตอนนี้เขาชอบสีอะไร แล้วเอาสีสันไปอยู่บนส่วนไหนของร่างกาย เป็นโทรศัพท์หรือกระเป๋า แต่เรายังเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่นำเอกลักษณ์ไทยมาต่อยอดเป็นของใช้บนร่างกายหรือสวมใส่ในชีวิต ประจำวันเหมือนเดิม”


 

ปัดฝุ่นลายไทยดั้งเดิม

ลายไทยใช่ว่าจะอยู่เพียงบนสิ่งของไทยๆ แบบดั้งเดิม ด้วยมุมมองที่แตกต่าง อินไทยได้หยิบลายไทยที่หลายคนอาจไม่เคยจินตนาการว่าลายเหล่านี้จะสามารถประดับบนร่างกายได้สวยงามอย่างนี้ อย่างลายชามตราไก่หรือลายถาดสังกะสี หรือแม้กระทั่งลายเครื่องเบญจรงค์ที่แต่ละแบบก็ใช้เทคนิคการทำที่แตกต่างกัน

“ลายชามตราไก่ลิงก์มาจากเซรามิกลายคราม โดยยึดโทนสี เทคนิคการปาดแบบรวดเร็วมาปาดบนลายผ้าและเซรามิก ซึ่งเราไปศึกษาการทำชามตราไก่จากจังหวัดลำปาง ด้วยความเป็นงานทำมือและต้องผลิตจำนวนมาก มันต้องใช้การทำที่รวดเร็วมาก โดยใช้การตวัดแปรงเร็วๆ เพื่อให้เป็นหางไก่” นอกจากสีที่ใกล้เคียงกับชามตราไก่แล้ว ผ้าพันคอของอินไทยยังเกิดจากเทคนิคการปาดแบบเร็ว โดยนำมาปาดลงบนแผ่นอะคริลิกใส จากนั้นจึงนำไปสแกนต่อเป็นลายผ้า เพื่อให้เห็นเทกซ์เจอร์ของการปาดสีที่ชัดขึ้น เป็นฟิลลิ่งที่หาได้แค่บนชามตราไก่เท่านั้น


ถาดสังกะสีเป็นอีกคอลเลกชันหนึ่งที่ฉีกจากสีฟ้าครามมาเป็นสีสันที่สดใสยิ่งขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากถาดสังกะสีรองอาหารหรือที่เห็นตามวัดที่มักจะเป็นลายดอกไม้สีส้มอมแดง สีน้ำเงินและเขียว ลายเหล่านี้เกิดจากการใช้สเปรย์สีพ้นทับๆ กัน “ตอนเขาพ่นลายสเปรย์จะเกิดการทับซ้อนกันของลาย จะเห็นลายที่โดนพ่น สเปรย์ทับนิดหน่อย เราก็เลยดึงเอกลักษณ์นั้นมาใช้กับสีน้ำ แล้วเวลาทำลายบนคอมพิวเตอร์ ก็จะเห็นการซ้อนกันของลาย ออกมาเป็นลายผ้าและมีเครื่องประดับเซรามิกด้วย”

ลายเหล่านี้รวมถึงลายเบญจรงค์ การจักสานและลายต่างๆ ที่คุณมายด์วาดด้วยมือ ซึ่งนอกจากจะนำมาพัฒนาเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับเซรามิกและลายผ้าพันคอแล้ว ยังมีกริปต็อกสำหรับติดโทรศัพท์เป็น     ไอเทมที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ด้วย

ดีเทล สุดว้าว! ในทุกคอลเลกชัน

ด้วยความซับซ้อนและประณีตของศิลปะแบบไทยๆ สินค้าแต่ละชิ้นในทุกคอลเลกชันของอินไทยเลยยิ่งต้องซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย ที่ซับซ้อนที่สุดเห็นจะเป็นลายเครื่องเบญจรงค์ที่อินไทยเลือกมาใช้ทั้งสองยุค คือสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์

“เบญจรงค์จะมีลายดอกไม้กับเครือเถาล้อมรอบถ้วย แต่เราจะดึงชิ้นส่วนของลายเบญจรงค์อย่างดอกไม้เล็กๆ มาใช้ เบญจรงค์สมัยรัตนโกสินทร์จะใช้น้ำทองเขียนลายและสีอีกห้าสี ส่วนเบญจรงค์อยุธยาก็จะนำมาต่อลายใหม่ให้มีความเป็นกราฟิกมากขึ้น แต่จะไม่มีสีทอง” และด้วยความที่ลายเครื่องเบญจรงค์ต้องเผาสามรอบ ประกอบกับการใช้เทคนิคฟิลลิ่ง เขียนสีอะคริลิก งานนี้จึงเป็นงานท้าทายที่สุด

แต่ในส่วนของความท้าทายนี้ก็นำไปสู่การขยายทีม โดยเน้นที่การจ้างงานเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนรู้ตั้งแต่วิธีการปั้น การลงสี ไปจนถึงขั้นตอนการแพ็กสินค้า “เซรามิกบางส่วนก็จะส่งต่อให้น้องๆ ทำ มีกลุ่มเด็กๆ ที่อยู่แถวบ้าน ช่วงปิดเทอมเราก็จ้าง สอนน้องเขียนลาย เป็นงานทำมือทั้งหมดเลย เราพยายามจ้างแนวชุมชนมากกว่าโรงงาน แต่ก็ยังต้องมีโรงงานเพื่อให้สามารถทำคู่กันไปได้” เป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นจากการได้ความรู้ในรั้วสถาบัน และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสู่การเป็นแบรนด์ที่ได้ต่อยอดความรู้ให้คนอื่น

 

ต่างชาติชอบ คนไทยชื่นชม

นอกจากคนไทยจะชื่นชอบที่เอกลักษณ์ความเป็นไทยและสีสันแล้ว ต่างชาตินักเดินทางยังชื่นชมในศิลปะของไทยจากการนำเสนอผ่านบูทจำหน่ายสินค้าของ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ด้วย “สินค้าผ้าพันคอได้กระแสตอบรับค่อนข้างดีค่ะ เป็นช่องทางให้ชาวต่างชาติได้เห็นสินค้าของ INTHAI สินค้าแบรนด์ไทยหลากหลายมากขึ้นเยอะ ซึ่งตรงแนวคิดที่เราต้องการจะสื่อสารเอกลักษณ์ไทยๆ แทรกไปกับสินค้าแฟชั่นให้คนต่างชาติได้รู้จักด้วย”

จากสินค้าที่เน้นลายคราม วันนี้อินไทยค่อยๆ เพิ่มสีสันและเทคนิคขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส “ช่วงโควิด-19 ได้กลับไปรีเสิร์ชและสรุปคอลเลกชันในใจตัวเอง ว่าจะทำอะไรบ้าง แล้วพอหลังโควิดก็ได้เริ่มผลิต พอปล่อยมาทีเดียวตู้มเลย ซึ่งก็ได้ฟีดแบ็กที่ดี ตอนแรกเราคิดว่าคนจะชอบโทนน้ำเงินขาว แต่พอได้ทำอะไรใหม่ๆ ดอกไม้และสีสันก็รู้ว่าคนชอบเอกลักษณ์ไทยที่เราดึงเอกลักษณ์ที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นออกมา สีสันสดใสและความสนุก”


ถ้าใครได้ลองติดตามผลงานของ INTHAI แม้จะเพียงแค่เปิดดูผ่านๆ เราเชื่อว่าภาพจำของอินไทยที่มีลายครามและความอ่อนช้อยในสไตล์ของแบรนด์จะต้องฝังแน่นอยู่ในความทรงจำแน่นอน นี่เป็นอีกหนึ่ง       แบรนด์คนไทยที่ในทุกๆ ปีทำให้เราได้เห็นการผลิบานที่สวยงามและทำให้ศิลปะไทยๆ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างง่ายดาย

 

อินไทย (INTHAI)

ที่ตั้ง: INTHAI STUDIO 154 หมู่ 5 ซอยนาคดี-มังกร ตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10280

FACEBOOK: INTHAI 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: INTHAI

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ