Product

ผ้าไหมลายบาติก
ที่ไม่มีใครเหมือนของ ‘ฅญาบาติก’

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 27 Jan 2023
Views: 883

จากความผิดหวังสู่เส้นทางเดินใหม่ที่ ชนันญา ดรเขื่อนสม เจ้าของแบรนด์เชื่อว่าสิ่งใดเกิดแล้วย่อมดีเสมอ บวกอินเนอร์ที่ทำสิ่งใดต้องออกมาจากข้างใน ผนวกกับความไม่ย่อท้อในการคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างแล้วทดลองจนชำนาญ 

ในที่สุดทำให้ได้เอกลักษณ์สินค้าทำจากผ้าไหมปักธงชัยมาผสมผสานกับการเขียนลายเป็นแบบบาติกที่เป็นลวดลายใหม่และหาใครเหมือนไม่ จนทำให้แบรนด์ ‘ฅญาบาติก’ จากท้องถิ่นอีสานมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย

 

ผ้าไหมปักธงชัยคือจุดเริ่มต้น

จากวิถีแม่ค้าขายส่งเสื้อผ้าย่านประตูน้ำของคุณชนันญา ดรเขื่อนสม ผู้ประกอบการที่เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้กลับมาบ้าน รับจ้างตัดเย็บแล้วจึงเรียนรู้เรื่องผ้าบาติก

“ปกติรับตัดเสื้อจากผ้าไหมปักธงชัยอยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะเอาความรู้เรื่องการเขียนลายบาติกมาประยุกต์ใช้กับผ้าไหมดู และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่บอกกันแบบปากต่อปาก บวกกับสามีพอเข้าใจกระบวนการสร้างลวดลายแล้ว ก็สามารถเขียนลายจนมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองที่เป็นลวดลายกราฟิกต่างๆ”

เหตุผลที่กล้าเอาผ้าไหมปักธงชัยมาทำแบบบาติก แม้จะมีต้นทุนที่แพงกว่าผ้าชนิดอื่น แต่เพราะมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นกระบวนการเลี้ยง การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำที่ต้องทำให้สภาพแวดล้อมสะอาด ไม่ให้เกิดน้ำเสียเด็ดขาดเพื่อป้องกันการเกิดแมลงซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวหม่อนได้ โดยตั้งใจว่าต้องทำงานชิ้นแรกออกมาให้ลูกค้าประทับใจให้มากที่สุด และเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ บวกกับปักธงชัยมีชื่อเสียงของผ้าไหมจิม ทอมป์สัน อยู่แล้ว ส่วนบริเวณพื้นที่แวดล้อมต้องได้กระบวนการเรียนรู้การผลิตเส้นไหม การแยกเส้น ลวดลาย ความหนาของเส้น รวมถึงเทคนิควิธีการย้อมสี ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มีเฉดสีของผ้าไหมเยอะที่สุด

 

กาวนวัตกรรมคือความบังเอิญที่มีอยู่จริง

การทำลวดลายผ้าบาติกบนผ้าไหมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนมีคนนำผ้าพื้นขนาดใหญ่มาให้เขียนลาย ถึงกระทั่งจะให้ก๊อบปี้ลวดลายแบบจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการวาดลวดลายด้วยฝีมือการเขียนในแบบตัวเอง ซึ่งไม่ชอบทำเพราะลายเส้นจะไม่อิสระ แต่ก็ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นให้ฉุกคิดว่า ถ้ามีคนให้เขียนผ้าพร้อมกันจำนวนมาก การเขียนลายคนเดียวไม่น่าจะทัน จึงเริ่มต้นคิดและหาเทคนิควิธีในการปรับวิธีการเขียนลายใหม่

“ทดลองกันเป็นปีๆ กว่าจะได้เทคนิคการเขียนลวดลายบาติกบนผ้าไหมแบบใหม่ ลองใช้ตั้งแต่แป้งผสมน้ำ ใช้แบะแซมาเขียนลาย จนลองใช้กาวเขียนลายแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ตกตะกอนเห็นเส้นกาวลอยขึ้นหลังเทน้ำออก แล้วผสมกาวใหม่จนเริ่มไม่เห็นการซึมของกาว ล้างออกก็ง่าย การลงกาวกั้นเทียนก่อนจะทำให้เกิดลวดลายใหม่ กาวทำให้เกิดลวดลายส่วนเทียนทำให้เกิดการ crack หรือรอยแตก พอผ่านการชุบสีและล้างน้ำออก ลายที่ออกมาดูเหมือนรอยพื้นดินที่แตกของถิ่นอีสาน”

 

วิธีทำบาติกแบบใหม่ต้องใช้เวลาทดสอบ

การใช้กาวมากั้นเทียนช่วยลดข้อจำกัด ทำให้เพิ่มจำนวนคนวาดลายได้ และยังเขียนได้กับผ้าไหมทุกประเภทอีกด้วย แต่ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับในการวงการผลิตผ้าบาติกในระยะแรก เพราะถือว่าไม่ได้มีวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ก็ใช้เวลาในการยอมรับ และรอผลการตอบรับจากลูกค้าเป็นตัวตัดสินว่าจะให้โอกาสกับฅญาบาติกได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งถือว่าดีเพราะลูกค้าชอบที่มีลวดลายแปลกตาแบบใหม่บนผ้าไหมที่ยังคงมีความมันวาวอยู่

“ช่วงแรกเน้นการสื่อสารออกไปว่าเอกลักษณ์ของเราคืออะไร และเป็นการใช้ผ้าไหมท้องถิ่นแท้ 100% โดยทุกผืนงานมีรอยแตกที่แสดงอัตลักษณ์ของผืนดินถิ่นอีสานได้อย่างชัดเจน ส่วนตัวเชื่อว่าทุกอย่างต้องอาศัยเวลาในการทดสอบและเป็นบทพิสูจน์ อย่าไปจดจ่อหรือเคร่งเครียด เพราะหลายครั้งเมื่อปล่อยวางกลับได้สิ่งใหม่ที่ไม่คาดคิดกลับมาเสมอ เหมือนตอนที่ลองใช้กาวเขียนลายครั้งแรก ตอนนั้นเขียนเสร็จก็แช่ทิ้งไว้ สรุปว่าปัญหาก็มีทางออกของมันเอง”

ชื่อ “ฅญา” นี้มีที่มา

เพราะเคยผิดหวังจากงานเมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งมา ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะจากที่ฅญาบาติกเคยพลาดไม่ระวัง มัวทำแต่งานจนไม่เคยสนใจข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ จนบาดเจ็บกลับมาอยู่บ้าน และเดิมเป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรมะที่เห็นว่าการจะทำอะไรต้องรู้ให้แจ้งเห็นจริง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ที่พุทธคยา และเพื่อเป็นการเตือนใจในการทำงานของตัวเอง จึงตั้งใจว่าแบรนด์นี้ต้องสะท้อนความเป็นตัวตนอย่างแท้จริง โดยจะไม่ไปก๊อบปี้งานใคร ทุกชิ้นต้องเกิดจากการสร้างสรรค์เอกลักษณ์ด้วยตัวเอง และความที่ชิ้นงานส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวกับผ้าและผู้หญิง จึงเปลี่ยนจาก ‘ค’ เป็น ‘ฅ’ และ ‘ย’ เป็น ‘ญ’ แทน

 

ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพราะรับไหมหลายประเภทของชุมชน 

เดิมเป็นเรื่องปกติที่คนจะนิยมเส้นไหมดูดี เรียบ เนียน ละเอียด และสวยงาม แต่นั่นคือการที่ต้องใช้เครื่องจักรมาช่วยผลิตแบบระบบอุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่คนหันมาชื่นชอบการทอมือแบบธรรมชาติ แต่จะได้เส้นไหมมีปุ่มหรือปม สมัยก่อนหากมีไหมแบบนี้จะถูกมองว่าเป็นเส้นไหมตกเกรดไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมและเป็นการเพิ่มมูลค่าในการผลิตได้เป็นอย่างดี

“ถือว่าฅญาบาติกได้มีโอกาสช่วยชุมชน เพราะรับผ้าไหมตามแต่ละบ้านที่มีความถนัด และมีความสุขที่อยากทำเป็นหลัก เพราะจะทำให้เขาผลิตวัตถุ

ดิบที่ดีออกมา โดยมีทั้งแบบวิถีเดิมทอมือและเริ่มเห็นวัยรุ่นอายุ 18 ปี กลับมาริเริ่มเรียนรู้งานทอผ้าด้วยมือต่อจากคนรุ่นก่อน หรือบางบ้านที่ถนัดใช้เครื่องจักรในการผลิต เพราะอยู่ที่เราเองจะนำวัตถุดิบผ้าไหมแบบไหนมาวาดลวดลายให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท เช่น ผ้าไหมที่ทอจากเครื่องจักรจะมีความเบาบางนำมาเป็นผ้าพันคอ ถ้าแบบเนื้อหยาบก็มาทำเป็นกระเป๋า จนมีสินค้าตั้งแต่ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าเล็ก กระเป๋าสะพาย หมวก สร้อยคอที่ทำด้วยผ้าไหม”

 

คว้าโอกาสช่วยแตกไลน์สินค้า

ช่วงแรกมางานแสดงสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่เมืองทองธานี ผลตอบรับไม่ดีมาก แต่คิดว่าไม่อยากยืนรอลูกค้าเพียงอย่างเดียว พอเขาประกาศให้ห้างร้านหรือผู้แทนจำหน่ายสินค้ารายใหญ่มาให้เจอกับผู้ผลิตรายย่อย จึงยอมทิ้งบูทและได้คิวมาเจอกับทาง คิง เพาเวอร์ เพราะคิดว่าแบรนด์ฅญาบาติกน่าจะตอบโจทย์การเป็นของที่ระลึกได้ จึงนำผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่มาแสดงไปให้ดู

ปรากฏว่า คิง เพาเวอร์ ตอบรับหลายประเภท อย่างหมอนรองคอที่ทำจากผ้าไหมแบบบาติก ซึ่งขายไม่ค่อยดีที่งาน OTOP แต่กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจมากโดยเฉพาะจากลูกค้าชาวต่างประเทศ จนได้รับคำแนะนำให้ขยายผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่มเสื้อผ้าที่จะต้องไม่ซ้ำลายและเน้นไปที่ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาลอง เพราะต้องใช้การตัดสินใจระยะสั้นแค่เพียงก่อนขึ้นเครื่องเท่านั้น

เธอยอมรับว่า พอเจอเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้การขยายสเกลงานที่เตรียมผลิตรองรับออร์เดอร์มีอันต้องสะดุดไป ทำให้ต้องมีขยายงานไปยังการปลูกผลผลิตที่เกี่ยวกับพืชสีเขียวมากขึ้น จากปัญหาก็ทำให้ได้ค้นพบการก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่งของแบรนด์ฅญาบาติก เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองนำนวัตกรรมที่ใช้สารธรรมชาติที่อยู่ในพืชกับสารธรรมชาติที่อยู่ในสัตว์ (จากหม่อน) มาอยู่ด้วยกัน

อัตลักษณ์ของฅญาบาติก

นอกจากความเป็นผ้าไหมที่นำมาเขียนแบบบาติกที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนแล้ว การแครกหรือลวดลายการแตกของเทียนที่ใช้กาวกั้นเทียนออกเป็นลายกราฟิกต่างๆ ก็เป็นที่ทำให้คนจำแบรนด์ฅญาได้ รวมถึงการใช้สองสีแบบทูโทนไม่ได้ฉูดฉาด ซึ่งปัจจุบันพยายามเพิ่มรูปแบบหรือคอลเลกชันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การแต่งตัวของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ที่เน้นสวมใส่ได้ภายในวิถีชีวิตประจำวัน และให้สีสันดูน่าใช้ รวมถึงออกเป็นกิฟต์เซตให้แมตซ์กับกระเป๋าที่จะใช้ และสิ่งสำคัญคือต้องทำให้เสื้อผ้าใส่ได้สบาย ซักแล้วสีไม่ตกหรือสามารถซักปนกับเสื้อผ้าอื่นได้ และต้องรีดง่าย เพราะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ชอบอะไรที่ง่ายไม่มีความยุ่งยาก

 

ไม่ยึดติดกรอบแบบเก่าจึงทำให้ได้สิ่งใหม่เสมอ

ฅญาบาติก ถือเป็นแบรนด์ที่นำสินค้าท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าผ่านวิธีและกระบวนการคิดใหม่โดยไม่ยึดติดแบบเดิม จึงสามารถสร้างความแตกต่างหลายด้าน แม้ช่วงแรกอาจยังไม่ได้การยอมรับหรือเป็นที่สนใจ ก็ไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องของการออกแบบดีไซน์ก็เน้นการเข้าไปอบรมเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะมีดีไซน์เนอร์มืออาชีพคอยมาให้คำแนะนำ และนำมาปรับในแต่ละผลิตภัณฑ์ รวมถึงการได้ไปโอกาสไปร่วมแสดงงานสินค้าในประเทศต่างๆ ก็จะเก็บมาเป็นไอเดียสร้างสรรค์งานใหม่ๆ อยู่เสมอ

ตลอด 15 ปีทำออกมาแล้วกว่า 10 คอลเลกชัน และทำให้เห็นว่า ไหมคือความมหัศจรรย์ของเส้นใย ยิ่งผลผลิตของปักธงชัย คือเส้นไหมที่เรียบและทอสวย จึงได้ค้นพบว่าก่อนที่ตัวหนอนจะออกมาเป็นดักแด้นั้น ก็ทำให้ได้เส้นใยเป็นสีทอง จึงทดลองทอเป็นผ้าโดยไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม แล้วจึงไปเขียนลาย ซึ่งทำให้ไม่เกิดน้ำเสีย แถมลายที่เขียนก็ติดเส้นไหมได้ดีจนเกิดเป็นมิติ ตอนนี้ได้ทดลองผลิตเป็นสินค้าต้นแบบไว้ก่อนทั้งกระเป๋าและหมวก แต่ยังไม่ได้นำจำหน่าย อยู่ระหว่างการคิดทำคอลเลกชันที่ทำจากไหมดิบให้น่าสนใจและตรงโจทย์ลูกค้ามากที่สุด

…ฅญาบาติกน่าจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างชัดเจน เพราะเป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อย่างผ้าไหมปักธงชัย และใช้วิธีแบบงานเขียนลวดลายบาติก แถมยังคิดค้นเทคนิควิธีที่สร้างความหลากหลายของตัวเอง ซึ่งถือว่าได้มาสร้างมิติใหม่ทั้งในแง่ของผู้ใช้และผู้สร้างสรรค์ผลงานผ้า…

 

ฅญาบาติก (KAYABATIK)

ที่ตั้ง: 244/4 ม.12 ซ.ประชาอุทิศ ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 30150

 

Facebook: KAYABATIK

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: KAYABATIK

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถหาสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนจะโปะ แหล่งเรียนรู้วิธีการทอผ้าไหมแบบโบราณ และโดดเด่นทางเรื่องมัดหมี่
ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ ศูนย์จำหน่ายผ้าไหมของ 4 จังหวัดในแถบอีสาน ที่กำลังผลักดันให้เป็นศูนย์กลางเส้นใยไหมที่สำคัญของประเทศ
ร้านอาหารไวท์เฮ้าท์ มีเครื่องดื่มและอาหารให้ได้ลองลิ้มชิมรสที่หลากหลาย พร้อมมีมุมที่ให้ถ่ายรูปเช็กอินมากมาย

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง