Play & Pride

Suranaree Girls Wind Symphony
ประกาศพลังดุริยางค์หญิงไทยบนเวทีโลก

ศรัณย์ เสมาทอง 13 Oct 2021
Views: 547

“เราเป็นวงดนตรีต่างจังหวัด อยู่ไกลขนาดนี้ ห่างจากโรงเรียนไปนิดเดียวก็เป็นทุ่งนาแล้ว” ครูผู้ควบคุมวงดุริยางค์เครื่องลมของโรงเรียนสุรนารีวิทยาเอ่ยเสียงดัง แต่ในน้ำเสียงมีความมั่นใจแฝงอยู่ มันแน่นอนอยู่แล้ว…เพราะวงไปชนะเลิศการประกวดดนตรีระดับโลก ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสร้าย จนทั้งโลกปิดการเดินทางติดต่อกันนี่เอง

จำชื่อวงนี้ไว้ “Suranaree Girls Wind Symphony” วงดนตรีหญิงล้วน เลือดใหม่ พลังใหม่ของคนไทย

 

…พลังจากเวทีไทย ก้าวไกลระดับโลก…

“ก่อนหน้าปี 2562 เราก็เข้าประกวดมาก่อนแล้วเข้ารอบเหรียญทองบ้างได้ที่ 3 บ้างที่ 2 บ้างวนอยู่อย่างนี้และก็ได้ออกไปแข่งขันต่างประเทศด้วย” อาจารย์อภิวุฒิ มินาลัย อาจารย์ผู้เป็นวาทยกรเล่าถึงการจะไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้นั้น ก็ต้องมีการชนะเวทีเป็นระดับขั้นมาเรื่อยๆ “จะมีสมาคม World Association of Marching Show Bands (WAMSB) ซึ่งในนี้ก็จะมีการแข่งขันคอนเสิร์ตแบนด์อยู่ในนั้นด้วย มีหลักเกณฑ์ว่าคุณต้องผ่านการแข่งขันภูมิภาคเสียก่อน”

วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยา แข่งขันชนะตามลำดับมาหลายปี จนมาถึงอีกปีก่อนไประดับโลก…ครั้งสำคัญ

“ปีนั้นเราได้แชมป์วงบรรเลงคอนเสิร์ตของกรมพลศึกษาและชนะรางวัลของมหิดล” นั่นคือมหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยาหรือ Suranaree Girls Wind Symphony ชนะเลิศการประกวดวงโยธวาทิตนั่งบรรเลงประเภท Concert รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปีครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและ Thailand International Wind Symphony Competition (TIWSC) ที่เป็นการจัดร่วมกันของคิงเพาเวอร์ไทยเพาเวอร์กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดลสองรางวัลนี้ช่วยให้วงยิ่งก้าวไปได้ไกลขึ้น

“เราต้องส่งโปรไฟล์ว่าวงเคยชนะรางวัลอะไรมาบ้าง พร้อมเทปการแสดงไปให้เขาพิจารณา” การพิจารณาคุณสมบัติให้เข้าร่วมแข่งขันของผู้จัดเป็นเพียงด่านแรก แต่ความยากเย็นในการก้าวสู่เวทีสากลนั้นมีอีกหลายด่านนัก 

การแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องลมบรรเลงนานาชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2563 จะพิจารณาโปรไฟล์วงดนตรีว่ามีศักยภาพพอไหม เคยชนะการแข่งขันระดับใดมาบ้าง ดูเทปบันทึกการแสดงประกอบ และขนาดของวง ว่าสามารถเล่นเพลงบังคับได้หรือไม่

“ถ้าเราเล่นเพลงบังคับไม่ได้ก็แข่งไม่ได้อยู่แล้ว มันมีความยากระดับหนึ่ง เห็นโน้ตแล้วจะรู้ว่าเล่นได้หรือไม่ได้ มีเครื่องดนตรีครบไหม คือเพลงสำหรับแข่งโน้ต เพลงจะเขียนบังคับไว้แล้วว่าจะต้องมีเครื่องเล่น 50 ชิ้นขึ้นไป ถ้าวงเล็กก็จะไม่ผ่าน แต่วงของเรามี 66 คน รวมคอนดักเตอร์เป็น 67 คน”  จากนั้นผู้จัดจะส่งจดหมายเชิญสมัครเข้าร่วมแข่งขัน

แต่การที่ 67 ชีวิตจะเดินทางไปสาธารณรัฐเช็ก ต้องมีค่าใช้จ่ายมากถึง 5 ล้านบาท ซึ่งวงต้องหาทางรับผิดชอบให้ได้เพื่อจะได้ “ไปต่อ” และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“นั่นเพราะเราได้ถ้วยพระราชทานฯ กรมพลศึกษาและถ้วยรางวัลของการประกวดที่เป็นการจัดร่วมกันของ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมีจดหมายเชิญเข้าร่วมแข่งขันจากกรุงปราก จึงไปยื่นของบประมาณ ก็ได้มาสองล้านห้า เราจึงอยากให้ทุกคนในจังหวัดรู้สึกว่า วงนี้เป็นวงของลูกหลานทุกคน เลยเปิดงานคอนเสิร์ตเพื่อระดมเงินบริจาค มีคนมาชมถึง 2,000 คน เราก็ค่อย ๆ เล่าให้เขาฟังว่าเพลงที่เราจะเล่นมันเป็นมายังไง ต้องฟังยังไง ลองเล่นท่อนสั้นๆ ให้ฟังเพื่ออธิบาย แล้วค่อยเล่นจนจบเพลง เราได้มาล้านสี่ในคืนนั้น แต่ที่ดีใจคือ คนโคราชเริ่มเข้าใจเด็กๆ และเริ่มฟังเพลงที่เด็กๆ เขาเล่นได้แล้ว” 

ในที่สุด…วงดนตรีนักเรียนหญิงจากโคราชก็พร้อมจะได้ไปวาดลวดลายที่กรุงปราก

…เล่นดนตรีเพื่อความภูมิใจ…

วงดุริยางค์หรือที่เรามักคุ้นชื่อเรียกว่าวงโยธวาทิตของไทยนั้นมีมาตรฐานสูงอยู่หลายโรงเรียนคือถ้าทำคะแนนได้ถึง 80-85 ก็ได้ระดับเหรียญทองแล้วส่วนใหญ่จะเป็นวงของโรงเรียนในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯเชียงใหม่แต่วงของโรงเรียนสุรนารีวิทยาที่บอกตัวเองว่าเป็น “วงดนตรีต่างจังหวัด” เขาก้าวข้ามระดับเหรียญทองขึ้นไปอีก

“ปี 2009 เราก็ชนะ World Music Contest (WMC) ที่เนเธอร์แลนด์ ชนะสูงสุดตอนนั้น” อาจารย์อภิวุฒิ ก็ได้เป็นวาทยกรในครั้งนั้นเล่าถึงสมัยที่ชนะเลิศระดับโลกวงโยธวาทิตประเภทแปรขบวน หรือ Marching Band เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นความภาคภูมิใจในอดีต ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ต้องเป็นของนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในปัจจุบัน

“โลกมันเปลี่ยนไป สังคมมันเปลี่ยนไป สมัยก่อนเรามาซ้อมแถว เราก็จะเก็บตัวกันเป็นเดือน สมัยนี้ปรัชญาการเล่นดนตรีมันค่อยๆ เปลี่ยนไป เด็กๆ ต้องการเล่นดนตรีที่ลึกขึ้น จริงจังขึ้น” นั่นคือหันมาจริงจังกับการนั่งเล่น หรือคอนเสิร์ตที่ใส่ใจรายละเอียดดนตรีมากขึ้น ลดความสำคัญของท่าทางและการแปรขบวนลง

ความที่นักดนตรียังเด็กและอยู่ในสังคมที่ต้องเข้าถึงดนตรีคลาสสิกเหมือน “ปีนบันไดฟัง” ผู้ปกครองหลายท่านก็ยังกังวลกับอนาคตของนักเรียนดนตรีสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือสร้างกำลังใจให้กับทุกคน

 

…การประกวดเป็นวิธีหนึ่งในนั้น…

วงไม่ได้หวังว่าต้องชนะ…อาจารย์อภิวุฒิยังเล่าถึงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทยหรือ Thailand International Wind Symphony Competition (TIWSC) ในปี 2562 แต่อยากให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

ด้วยความที่วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยาเป็นวงต่างจังหวัด นอกจากจะตั้งใจซ้อมกันมายาวนาน และกว่าจะเข้ามาแข่งขันต้องนั่งรถกันตั้งหลายชั่วโมงแล้ว การที่ทุกคนได้มาเล่นในมหิดลสิทธาคาร ซึ่งเป็นที่เดียวกับวงระดับโลกอย่าง ลอนดอน ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และเบอร์ลิน ฟิลฮาร์มอนิก เคยมาเล่น โดยไม่ต้องลงทุนจัดคอนเสิร์ตเอง ไม่ต้องทำประชาสัมพันธ์เอง มีคนเข้ามาดูมากมาย นับเป็นโอกาสที่ดีมาก 

“เราควรจะภูมิใจ ผมบอกเด็กแบบนั้น เด็กจะได้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น” อาจารย์ผู้คุมวงถ่ายทอดถึงความภูมิใจร่วมกัน 

แล้วในที่สุดวงนักเรียนหญิงวงนี้ชนะเลิศการประกวดและยังได้ไปต่อถึงระดับโลก!!!

…ความมั่นใจพาสู่ชัยชนะ…

กุมภาพันธ์ 2563 วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยาวงดุริยางค์หญิงล้วนของโรงเรียนสุรนารีวิทยาจังหวัดนครราชสีมาก็ได้แสดงฝีมือในการแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องลมบรรเลงนานาชาติครั้งที่ 22 (22nd International Festival of Wind Orchestras Prague 2020)  ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ได้รับรางวัลมาได้ถึง 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทองและเกียรตินิยม ด้วยคะแนน 97.33 คะแนน (Gold Medal With Honor) รางวัลบรรเลงเพลงบังคับยอดเยี่ยม (Best Test Piece) รางวัลชนะเลิศในคลาสนักเรียน ( Middle Class ) รางวัลคอนดักเตอร์ยอดเยี่ยมของเทศกาลดนตรี (Best Conductor) 

ความมั่นใจของเด็กนักเรียนที่เคยชนะรางวัลระดับชาติ เคยมีโอกาสได้เล่นบนเวทีเดียวกับวงระดับโลกเคยเล่น เคยได้ออกไปแสดงฝีมือในต่างประเทศ จนไปชนะรางวัลที่เป็นที่สุด ณ อีกฟากหนึ่งของโลก วันนี้ทุกคนคงต้องหันกลับมาฟังเสียงเพลงของเขาและศึกษาเส้นทางที่พวกเขาเดินมา

แล้วจะยังบอกว่าตัวเองเป็นแค่ “วงดนตรีต่างจังหวัด” คงไม่ได้แล้วล่ะ

ผลงานวงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยา (Suranaree Girls Wind Symphony & Marching Band)

วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยา ทำการแข่งขันทั้งระดับสากลและระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ประสบความสำเร็จและฝึกฝนเพิ่มเติมจนได้รับรางวัลมากมายตลอด 

นับจากปี 2532 เป็นต้นมาที่วงได้รางวัลชนะเลิศและรางวัลเหรียญทองจากการประกวดดนตรีโลก ณ เมือง แกร์กราเดอ (Kerkrade) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และชนะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งที่  11-18 (ระหว่างปี 2532-2560 / รายการจัดทุก 4 ปี), การประกวดวงโยธวาทิต นักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดโดยกรมพลศึกษา (เมื่อปี 2534 และระหว่างปี 2552-2559) อีกทั้งยังมีรางวัลจากเวทีอื่น ๆ ที่วงล้วนได้รางวัลชนะเลิศ อาทิ รางวัลชิงถ้วยพระราชทานฯ โดยบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า, การแข่งขันระดับนานาชาติ Thailand International Marching Band Competition 2012, ประกวด World Association of Marching Show Bands (WAMSB) ที่เยอรมนี และเดนมาร์ก, ประกวด Singapore International Band Festival 2016 และ 2018, ประกวด Malaysia International Virtual Band Championships 2020 และ 2021 รวมทั้ง ประกวด CGN Global Online Championships 2021 เป็นต้น 

รางวัลชนะเลิศจากรายการ Thailand International Wind Symphony Competition (TIWSC) มีส่วนไม่มากก็น้อยที่วงได้ต่อยอดไปสู่อีกการประกวดสำคัญ อย่างการแข่งขันที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก

 

ผลงานหลังรายการ TIWSC 2020

การแข่งขันระดับประเทศ
ปี 2562

• รางวัลชนะเลิศ ถ้วยเกียรติยศใน Class B ในรายการ TIWSC 2020 Thailand International Wind Ensemble Competition
จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ 

• รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานฯ การประกวดวงโยธวาทิต นักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย
จัดโดยกรมพลศึกษา 

• ถ้วยรางวัลการบรรเลงเพลงไทยยอดเยี่ยม เพลงบังคับยอดเยี่ยม และเพลงเลือกยอดเยี่ยม 

• รางวัลชนะเลิศ ถ้วยเกียรติยศ Thailand International Band And Orchestra Festival (TIBOF)
จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับ Raff Group ประเทศสิงคโปร์ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

ปี 2563
• รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานฯ การประกวด CONCERT BAND DIVISON 1
จัดโดยสมาคมวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทย และสมาคมการประกวดวงโยธวาทิตโลก Thailand World Music Competition 2020 

• วงดุริยางค์โรงเรียนสุรนารีวิทยาได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประเภททีม
รับรางวัลจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และ นายกรัฐมนตรี 

การแข่งขันระดับสากล
ปี 2563

• การประกวดประกวดวงดุริยางค์เครื่องลมนั่งบรรเลงนานาชาติ (The 22nd International Festival Of Wind Orchestras Prague 2020)
ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ในรุ่น Middle Class
ได้รับรางวัล 4 รางวัล ได้แก่
• รางวัลเหรียญทองและเกียรตินิยม ด้วยคะแนน 97.33 คะแนน (Gold Medal With Honor)
• รางวัลบรรเลงเพลงบังคับยอดเยี่ยม (Best Test Piece)
• รางวัลชนะเลิศในคลาสนักเรียน ( Middle Class )
• รางวัลคอนดักเตอร์ยอดเยี่ยมของเทศกาลดนตรี (Best Conductor)  

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี