Product

“ช้างผ้าไหม”
SUNSANEE GLORY

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 7 Mar 2022
Views: 820

จากจุดเล็กๆ สู่ความงดวามที่ยิ่งใหญ่

เห็นตุ๊กตาช้างผ้าไหมสีสันสวยงามและหมอนใบสวยที่รูปทรงก็ยังคงเป็นช้างเช่นกัน ได้ยินว่าเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ส่วนตัวพี่คือถูกโฉลกกับช้างค่ะ” เจ้าของแบรนด์ SUNSANEE GLORY เอ่ยยิ้มๆ “แม้ว่าเรามีสินค้าหลายแบบ แต่ถ้าชิ้นไหนที่เป็นช้าง หรือผ้าที่ใช้ทำเป็นลายช้างจะขายดีกว่าอย่างอื่น”

สิ่งคิดไม่ได้มาจากตำราการตลาดฉบับไหน แต่เกิดจากการลงมือทำจริง ขายจริง มากว่า 30 ปี สันสนีย์ อุณาภาค เริ่มต้นจากการเข้ามาเสี่ยงโชคในกรุงตั้งแต่จบมัธยม อดทนสู้จากแม่ค้าแผงลอยจนได้ไปออกงานแสดงสินค้าไกลถึงยุโรป ได้เปิดร้านหลายสาขา และมีสินค้าที่สะท้อนความเป็นไทยวางขายใน คิง เพาเวอร์

เพียงแค่เป็นคนชอบขายของ…คงยังไม่พอ

 

มีแค่ห้าร้อย แต่ไม่น้อยหน้าเรื่องความฝัน

“พี่เป็นคนอีสาน เป็นคนตำบลหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ออกจากบ้านมาตั้งแต่ปี 2531 ตั้งใจมาแสวงโชค มีเงินติดตัวมา 500 บาท อยากมาสู้ชีวิตที่กรุงเทพฯ” ชีวิตเหมือนนิยายที่คนชอบเล่าต่อๆ กันมา แต่เมื่อสามสิบปีก่อนมันมีอยู่จริง!

พี่สันสนีย์ออกจากบ้านตอนอายุ 18 ปี เพิ่งจบ ม. 6 หมาดๆ สอบเข้าเรียนวิทยาลัยครูที่อุบลราชธานีได้ แต่ที่บ้านฐานะไม่ดีนัก มีพี่น้อง 7 คน โดยเธอเป็นคนที่ 6 คุณพ่อก็เสียไปหลายปีแล้ว พี่สาวคนโตเพิ่งสอบบรรจุครูได้ยังไม่มีรายได้พอส่งเสีย “พี่สงสารตายายกับแม่ แกเป็นชาวนา อยากออกมาทำงานหารายได้ เห็นเวลามีงานบุญประเพณี คนที่กลับมาจากกรุงเทพฯ จะแต่งตัวสวยๆ เราก็มีความฝันว่าถ้าไปกรุงเทพฯ แบบเขาก็น่าจะได้ทำงานดีๆ มีอะไรแบบคนอื่นเขาบ้าง”

มีเงินซื้อตั๋วรถประจำทาง และสำรองในกระเป๋า 500 บาท เธอมาเริ่มงานร้านอาหารตามสั่งแถวสุขุมวิท หน้าที่เตรียมของ เก็บจาน ล้างจาน ไม่นานก็ย้ายไปอยู่โรงงานเย็บผ้าแถวสี่แยกประดิพัทธ์ เป็นแผนกตัดขี้ด้ายและตรวจสอบความเรียบร้อยของเสื้อ เมื่อมีเวลาว่างจากงานโรงงานก็สวมบทบาทแม่ค้าทันที

“โรงงานกะกลางคืนจะเริ่ม 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า พอออกกะพี่ก็จะไปซื้อของที่ตลาดสะพานสูง พวกผลไม้ดองเอามาขายถุงละบาท ซื้อมันแกวมาปอกเสียบไม้ขายไม้ละบาท หรือแหนมตุ้มโหลละ 10 บาท เอามาขายอันละบาท ก็ได้กำไร 2 บาท เวลาพักเที่ยงก็นำมาวางขาย ได้กำไรครั้งละ 15-20 บาทเลยนะ” มีการเปิดหนังสือวัยน่ารักที่เป็นแค็ตตาล็อกเสื้อผ้าแถวใบหยก-ประตูน้ำ แล้วนำไปจดตามโรงงานร้านค้าว่าใครอยากได้บ้าง พอวันว่างเธอก็มาซื้อไปส่งลูกค้า “ถ้าในหนังสือขาย 290 บาท เราก็จะซื้อได้ประมาณ 190 บาทได้กำไร 100 วิ่งหาให้ได้สัก 10-20 คน ค่อยไปเอาเสื้อผ้ามาส่ง บางทีก็ซื้อผ้าห่มและผ้าเช็ดตัวไปขายสาวๆ ที่โรงงานก็มี

เทียบสมัยนั้นทำงานโรงงานเงินเดือน 1,500 บาท ก็นับว่าเป็นรายได้ที่ดี พอมีเงินส่งกลับบ้าน 500-1,000 บาท ให้ที่บ้านดีใจ

ปริญญาชีวิตที่ได้จากการค้าขาย

ช่วงที่ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตการขาย คือช่วงที่เลิกอาชีพสาวโรงงานมาเป็นพนักงานขายกระเป๋าที่ร้านย่านโรงแรมอินทรา ได้รู้จักความนิยมของผู้คนมากขึ้น ก่อนจะย้ายไปร้านของที่ระลึกแบบไทยๆ เช่น งานทองเหลือง งานผ้า “เคยเข็นรถเข็นไปขายพวกตุ๊กตากวาง เทพพนม งานทองเหลืองตัวใหญ่ๆ แบบเท่าคนเลย ตัวหนึ่งราคาหลายหมื่น ที่ถนนบางรักใกล้ๆ โรงแรมโอเรียนเต็ล กลางวันพี่ก็จะขัดทองเหลืองให้สวยเป็นเงา แล้วกลางคืนก็ไปขาย”

“ราวปี 2535 ตลาดพัฒน์พงศ์เริ่มมีชื่อเสียง แต่ค่าเซ้งร้าน 5 แสนเลยนะ พี่เอาที่นาต่างจังหวัดไปจำนองก็ได้ไม่ถึง 2 แสน พี่สาวคนโตที่เป็นครูก็ไปยืมเงินมาให้ แต่จากนั้นพี่ก็ขายอยู่พัฒน์พงศ์ 8 ปีเลย”

พี่สันสนีย์ขายของที่ระลึกประเภทงานทองเหลืองรูปช้างในอิริยาบถต่างๆ งานไม้แกะสลัก พวงกุญแจช้าง  ช่วงปีนั้นพัฒน์พงศ์เฟื่องฟู ยังไม่มีตลาดอื่นๆ มาแข่งขันมากนัก ทำรายได้ดีมาก “สมัยนั้นจบปริญญาตรีได้เงินเดือนประมาณ 5,000 บาท ส่วนเราหาได้ 4-5 หมื่นต่อเดือน พี่เรียกว่าตัวเองจบปริญญาชีวิต คิดว่าเงินน่าจะสำคัญกว่าการไปเรียนหนังสือ”

แต่ไม่นานภาวะวิกฤตเศรษกิจก็เกิด ทั้งช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย โรคระบาดอีโบลา เกิดฟองสบู่แตก เมื่อนักท่องเที่ยวน้อยลงการค้าขายของที่ระลึกก็ได้รับผลกระทบแน่นอน

 

ผ้าขิดลายช้าง เปิดทางธุรกิจ

เธอกลับไปที่อำนาจเจริญ ไปดูที่บ้านเกิดตำบลหัวตะพานกับตำบลคำพระ เห็นชาวบ้านทอผ้าขิดกันเยอะ ทั้งผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง แต่หน่วยงานที่สนับสนุนให้ทำกลับหาตลาดให้ไม่ค่อยได้ ก็เลยลองบอกให้ชาวบ้านทอผ้าขิดให้เป็นลายช้างให้หน่อย โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไร

“พี่ก็นึกถึงตอนขายกระเป๋าว่ามันสวยดี ก็เลยนำกระเป๋าประมาณ 10 แบบ ส่งไปให้ชาวบ้านใช้ผ้าฝ้ายลายขิดรูปช้างมาทำดู โชคดีที่ชาวบ้านตำบลคำพระเคยไปรับจ้างโรงงานกระเป๋าหนังมาแล้วเป็นสิบปี ก็เลยขึ้นรูปกระเป๋าได้ไม่ยาก พี่ก็หอบทั้งกระเป๋าลายขิด ลายช้าง มาห้อยขายที่พัฒน์พงศ์ คนมารุมเยอะมาก มันเป็นของแปลกที่ไม่ค่อยมีใครเคยเห็น”

แต่ตอนนั้นตลาดพัฒน์พงศ์เริ่มลดความนิยม ตลาดอื่นๆ เปิดตัวมากขึ้น เธอคิดหาหนทางขายสินค้า จนบังเอิญเห็นโฆษณางานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี จึงไปจองพื้นที่แล้วสั่งผลิตสินค้ากันเต็มตัว เมื่อมีคนสนใจมากขึ้นก็ออกงานมากขึ้น ทั้งที่สนามหลวง สวนอัมพร งานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ออกงานไบเทค แม้แต่งานตามหน้าห้างก็ไปด้วย เริ่มมีคนซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงเริ่มมองตามแหล่งที่ทัวร์ต่างชาติมาแวะซื้อของ เช่น ร้านจิวเวลรี่ใหญ่ๆ ก็ได้นำไปฝากขาย

ซึ่งสินค้าที่ขายดีก็ยังเป็นช้างหรือของที่มีลายช้างเช่นเคย

 

ประกาศศักดาช้างผ้าไทยใน King Power

ระหว่างการออกงานแสดงสินค้าในแต่ละครั้ง พี่สันสนีย์ไม่ได้ไปให้ฐานะผู้ขายเท่านั้น แต่จะออกเดินหาสินค้าที่น่าสนใจเพื่อมาเพิ่มเติมในร้านตนเอง  บางครั้งเจอเจ้าที่ทำงานสวยๆ ก็ลองให้นำผ้าของเธอไปลองตัดเย็บมาบ้าง “เจอคนทำตุ๊กตาช้างจากเชียงใหม่ ราชบุรีที่เขาเย็บแล้วสวยดี ก็ขอให้เขานำผ้าของเราไปลองทำ เพื่อให้งานมีมาตรฐานมากกว่าที่ชาวบ้านทำ”

ช่วงที่มีการเปิดโครงการ OTOP ทางกลุ่มชาวบ้านก็ได้รวมตัวขึ้นทะเบียน และพี่สันสนีย์ก็มาออกงานหลายต่อหลายครั้ง จนวันหนึ่งก็ได้พบกับ คิง เพาเวอร์

“ผู้ใหญ่ของ คิง เพาเวอร์ ไปในงาน แล้วให้นามบัตร พร้อมบอกให้เรานำสินค้าที่เป็นกระเป๋าช้าง ตุ๊กตาช้างผ้าไหม เข้าไปที่ คิง เพาเวอร์ ดอนเมือง เราก็ตื่นเต้นมาก เพราะอยากจะเข้ามาขายนานแล้ว แต่ไม่รู้จะติดต่ออย่างไร ครั้งนั้นล่ะ ที่พี่ต้องจดทะเบียนบริษัทจริงๆ เสียที เป็นบริษัท สันสนีย์ กลอรี่ จำกัด ก็ปี 2545 นี่ล่ะค่ะ”

ตุ๊กตาช้างที่ทาง คิง เพาเวอร์ เลือกมาขายมีด้วยกัน 6 สี เป็นช้างทั้งท่านั่ง ท่ายืน ท่าหมอบ และมีหมอนที่เป็นเหมือนตัวช้างทั้งตัว เวลานอนก็จะมีหัวช้างน่ารักๆ ให้มอง “ส่วนใหญ่ คิง เพาเวอร์ จะเลือกแบบที่มีอยู่แล้ว แต่จะมีบางตัวที่เขาแนะนำ เช่น ให้ตัวเป็นสีหนึ่งแล้วหูสีเปลี่ยนไป บางอันก็มีลูกเล่นที่ปรับนิดเดียวแต่ดูเก๋และโมเดิร์นขึ้น จะติดแบรนด์เป็น King Power เลย ให้ขายเฉพาะที่นี่ที่เดียวเท่านั้น”

จากวันนั้น ตุ๊กตาช้างผ้าไหมของพี่สันสนีย์ก็ได้เดินทางยั่วสายตานักท่องเที่ยวกับ คิง เพาเวอร์ มาครบแล้วทุกสาขา

 “ด้วยเงิน 500 พี่ถือว่ากำไรแล้ว”

เคยมีบ้างที่ร่วมงานแสดงสินค้ากับกรมส่งเสริมการส่งออกยังต่างประเทศ “เคยไปงานแสดงสินค้าที่ฝรั่งเศส 2 ครั้ง มีไปสวิตเซอร์แลนด์ และที่อียิปต์ด้วย  ดูจะไม่ค่อยได้กำไร แต่ได้กำไรจากการได้ไปท่องเที่ยวมากกว่า” เนื่องจากปัญหาของภาษา ถ้าขายไม่หมดก็ต้องเก็บสินค้ากลับ เพราะถ้านำสินค้ากลับมาจะต้องมีการจ่ายภาษีนำเข้าอีกครั้ง จนสุดท้ายก็ไม่ได้ไปต่างประเทศแล้ว

ในระยะเวลากว่า 30 ปีมานี้ พี่สันสนีย์ได้เปิดร้านขายของที่ระลึก ทั้งที่จตุจักรพลาซ่า ตลาดนัดจตุจักร ห้างมิกซ์จตุจักร ตลาดน้ำสี่ภาคพัทยา ตลาดน้ำอโยธยา ถนนพัฒน์พงศ์ เอเชียทีค แต่ก็มีปิดไปบ้างบางแห่ง แต่เมื่อสถานการณ์ Covid-19 มาเยือน ตอนนี้ SUNSANEE GLORY เหลือเพียงในตลาดนัดจตุจักร โครงการ 15 และขายผ่าน คิง เพาเวอร์ เป็นหลัก

“พี่ออกมาจากบ้าน เริ่มต้นด้วยเงิน 500 บาท ตอนนี้มีบ้านในกรุงเทพฯ มีบ้านพัทยา ลูกคนโตเรียนจบจากญี่ปุ่น คนเล็กก็อยู่มหาวิทยาลัยปี 4 ในเมืองไทย และกะจะไปเรียนต่างประเทศ พี่ถือว่าได้กำไรแล้ว”

 

จริงๆ ลึกๆ ผู้หญิงเก่งแห่งแบรนด์บอกว่ารู้สึก “ท้อ” อยู่ แต่ว่าท้อไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะสุดท้ายก็ต้องสู้ไปให้ได้  ตำราการตลาดฉบับ SUNSANEE GLORY คือ มองหาโอกาส อดทน ดิ้นรนทุกช่องทาง…จริงๆ นะ

SUNSANEE GLORY 

ที่ตั้ง: บริษัท สันสนีย์กลอรี่ บ้านเลขที่ 1 ถนนรามอินทรา ซอย39 แยก12  แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220

 

Website: SUNSANEE GLORY

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

ชุมชนบ้านคำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เป็นแหล่งทอผ้าลายขิดลวดลายต่างๆ สวยงามระดับได้รางวัลจากงานศิลปาชีพมาแล้ว และยังมีสินค้าแปรรูปอื่นๆ อีกมากมาย สามารถศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพร้อมกับช็อปปิงได้

อ่างเก็บน้ำห้วยสีโท อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ แม้จะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่กั้นลำน้ำห้วยสีโท เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในอำเภอเท่านั้น แต่ก็จัดว่าเป็นที่ที่น่าไปเยือน โดนเฉพาะในฤดูร้อนจะมีหาดทรายสีขาวและน้ำไม่ลึกมากสามารถลงเล่นน้ำได้

โฮมสเตย์บ้านนาภูคำ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ที่พักแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติ บรรยากาศทุ่งนาที่กำลังอินเทรนด์ในยุคนี้ ชิมอาหารพื้นถิ่นที่ปรุงจากวัตถุดิบในท้องที่เอง พร้อมชมการทอเสื่อกก ทอผ้าขิด ได้อีกด้วย

 

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ