People

“ดนตรี…มันโกหกไม่ได้” เด็กไม่ตั้งใจซ้อมจงฟัง!!
อาจารย์บอส – กิติภัทร ภูวะปัจฉิม
ผู้คุมวง DS.RU.BAND

ศรัณย์ เสมาทอง 14 May 2025
Views: 880

Summary

ชื่อวงดนตรี DS.RU.BAND ปรากฏให้เห็นใน THE POWER BAND ทุกซีซัน บางครั้งก็เป็นชื่ออื่น แต่เกิดมาจากจุดเดียวกัน คือชมรมดนตรีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) และไม่ใช่แค่เข้ารอบมาเฉยๆ วงจากชมรมนี้เคยคว้าแชมป์มาแล้วถึง 2 ซีซัน ข่าวว่ามีครูดนตรีท่านหนึ่งที่เป็นคนคอยพยุงปีกศิลปินรุ่นเยาว์ให้โบยบินได้อย่างสง่างาม…ใครกัน?!?

“ตอนเพิ่งเข้ามาเป็นครู ได้เปิดชมรมดนตรีมีคนมาสมัคร…คนเดียว”

เรื่องที่คุยกันมาพักใหญ่เหมือนลอยหายจากสมองไปหมดเลย อะไร? ยังไง? อาจารย์บอส – กิติภัทร ภูวะปัจฉิม ครูสอนดนตรี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) หัวเราะเบาๆ แต่ยังจับไม่ได้ว่าความรู้สึกลึกๆ เป็นอย่างไร

“ตอนนั้นจบใหม่ อายุสัก 22 – 23 ยังไม่ได้รับปริญญา ยังเล่นดนตรีกลางคืนอยู่เลย แต่อยากทำงานกลางวันบ้าง เห็นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เปิดรับสมัครครูดนตรี 1 อัตรา ก็มาลองสอบดู” เขารับ 1 อัตราแต่ก็สอบได้…เปิดชมรมมีสมัคร 1 คน…ผ่านไป 13 ปี วงดนตรีที่อาจารย์บอสปั้นมาก็คว้ารางวัลชนะเลิศที่ THE POWER BAND 2024 SEASON 4

อาถรรพ์หมายเลข 1 หรือเปล่า!?!!

 

“ศิลปินสายพานต้องยาว คือ ต้องทำงานไม่หยุด

ในชีวิตประจำวันต้องมีดนตรี ไม่หวั่นไหว

ต่อให้ผิดหวัง ท้อถอย ก็ยังต้องสร้างผลงาน”

                  อาจารย์บอส – กิติภัทร ภูวะปัจฉิม
ผู้คุมวง DS.RU.BAND
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม)

 

JAZZ VS ลูกทุ่ง

 ก้าวแรกๆ ในสาธิตรามฯ ของอาจารย์บอส ผู้เพิ่งคว้าปริญญาตรีทางสายกีตาร์แจ๊ส ไฟฝันอยากเป็นศิลปินยังคงแรงกล้า “ผมไม่เคยอยากเป็นครูเลย”  รับงานแรก…ให้ทำวงดนตรีของ ‘ชมรมดนตรีลูกทุ่ง’ เพื่อเล่นในงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เสียงหัวเราะตอนที่เล่าว่ามีคนมาสมัครชมรมคนเดียวเหมือนมีความรันทดเจืออยู่

“ไปขอเด็กจากครูอีกท่านที่สอนวงโยธวาทิต ขอเด็กพี่บ้างได้ไหม ผมจะเอามาฝึกเอง พี่เขาใจดีให้คนที่เล่นดนตรีพอได้มา มีกลอง กีตาร์ เบส เปียโน ทรัมเป็ต แซกโซโฟน ทรอมโบน คนที่มาสมัครหนึ่งคนนั้นคือตำแหน่งนักร้อง ซ้อมจนพอไปออกงานได้”

หอม…เอย….หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ ออกวาดลวดลาย ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ลุกมาจับไมค์ร้องเพลงบ้าง วงเล่นดีงามจนได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราว

 

✔ ควรทำเพลงแนวที่เราชอบ

 

“ปกติผมจะเล่นดนตรีให้คนอื่นฟังอย่างเดียว งานลูกทุ่งวันนั้นทำให้ผมรู้สึกว่า…เรามีคุณค่า เด็กๆ เล่นตามที่เราบอกได้ เราสามารถสอนเด็กให้เล่นทุกเครื่องตั้งแต่พื้นฐานจนออกมาเป็นเพลงได้ เริ่มมีความสุขกับการเป็นครูดนตรี”

อาจารย์บอสหัวเราะเบาๆ คราวนี้รู้สึกได้ว่ามีความสุขจริงๆ

 

THE BOSS

อาจารย์บอส จบปริญญาตรี เอกกีตาร์แจ๊ส และปริญญาโท
สาขาสังคีตวิจัยและพัฒนา เอกดนตรีแจ๊ส คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
มีครูดนตรีที่อยู่ในใจเขามาโดยตลอด คือ อาจารย์นุ วุฒิวิชัย
เคยรวมวงกันกับอาจารย์นุ และเพื่อนๆ ในคณะชื่อวงว่า ‘THE BOSS’
เล่นใน ร้าน jazZ happens! ถ.พระอาทิตย์
มีคำครูที่ยังติดอยู่ในใจเสมอมาว่า
“ดนตรีโกหกไม่ได้ บอสเล่นอะไรออกมา
ผมสามารถรู้ได้ว่าคุณเป็นคนยังไง”

อาจารย์บอส เคยทำวง THE BOSS (ภาพจากอาจารย์บอส)

 

อยากเก่ง…ต้องตั้งใจ

ถ้าย้อนไปจุดเริ่มต้น อาจารย์บอสเกิดมาในครอบครัวนักดนตรีโดยแท้ “พ่อของผมเล่นกีตาร์และร้องเพลง Elvis เสียงเหมือนมากกกกก แม่ก็ชอบร้องเพลงเหมือนกัน ตัวผมเองหัดเล่นกีตาร์โปร่งตอน 9 ขวบ โดยมีพี่ชายเป็นคนสอนครับ” การเล่นดนตรีมาตลอดอาจทำให้เข้าใจนักดนตรีรุ่นเยาว์ในทุกช่วงวัย

“ช่วงแรกเด็กไม่ค่อยฟังผม อาจเพราะผมยังดูเด็กๆ ด้วยล่ะ แพสชันของนักเรียนก็น้อย ซ้อมๆ อยู่เดี๋ยวก็ไปวิ่งเล่น ผมนี่เหนื่อยมาก ต้องไปนั่งบอกว่าเล่นอย่างนี้นะ ก็ต้องตีอย่างนี้ เพลงหนึ่งเป็นเดือนเลยนะกว่าจะเล่นได้” แต่ก็เข็นกันออกงานได้เรื่อยๆ เริ่มมีเพลงสากลเข้ามา ไม่ใช่แค่ลูกทุ่งเท่านั้นชมรมดนตรีก็รวบเข้ากับวงโยธวาทิต ออกไปประกวดนอกโรงเรียนบ้าง

 

✔ หาเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนคนอื่น

 

“อยากให้ได้ไปเจอผู้คน แต่ว่าต้องขยันซ้อมนะ จะได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ พอแข่งเสร็จผมจะให้กลับมาเล่นให้น้องๆ ในโรงเรียนดู เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ” ทำให้มีคนทยอยเข้ามาในวงมาขึ้นเรื่อยๆ จนประมาณ 6 – 7 ปีที่แล้วจึงได้แยกออกมาเป็น ‘ชมรมสตริงคอมโบ’ มีวงชื่อ DS.RU.BAND ออกวาดลวดลายตามเวทีประกวดต่างๆ

“อาจเพราะผมมาทางดนตรีแจ๊ส เด็กก็เลยซึมซับแจ๊สไปด้วย เรามองว่า วงเราเป็นฟิวชันแจ๊สเป็นการผสมผสานหลายๆ แนว ไม่ใช่แจ๊ส 100% อาจผสานกับร็อกบ้าง มี improvise ในแต่ละเครื่องดนตรีบ้าง เด็กต้องมีฝีมือในระดับหนึ่ง เราถึงต้องปูพื้นฐานทฤษฎีดนตรีให้แน่นตั้งแต่ ม.1 เลย” ถ้าอยากเก่งเหมือนพี่ๆ ต้องตั้งใจ “เด็กฝึกแกะเพลงเองเอง ซ้อมเอง ต้องมีระเบียบ ทุกวันนี้เด็กแย่งกันซ้อมครับ”

ก็ถ้าไม่ซ้อม มัวแต่ไปวิ่งเล่น ก็อดขึ้นเวที…เลือกเอา!!

วง Under Grey ขึ้นเวทีประกวดวงดนตรีแนว Jazz (ภาพจากอาจารย์บอส)

 

ทายาทแชมป์แจ๊ส

อาจารย์บอส เคยรวมวงประกวด Thailand Jazz Competition ปี 2009
ใช้ชื่อวง Under Grey ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
8 ปีต่อมา ลูกศิษย์ของอาจารย์บอส วง DS.RU.BAND
ก็มาคว้าแชมป์ในประเภท Jazz Big Band
บนเวทีเดียวกัน Thailand Jazz Competition 2017
และ DS.RU.BAND ยังรักษาแชมป์เวทีเดียวกันนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี
คือ Thailand Jazz Competition 2018 และ 2019

ดนตรี…มันโกหกไม่ได้

ชมรมสตริงคอมโบขึ้นชาร์ต Top 3 เด็กสมัครเยอะสุด จากนักเรียน 2,000 คน ทุกปีจะสมัครเข้าชมรมนี้ประมาณ 80 คน

“เราไม่ใช่เหมือนวงโยธวาทิตที่เล่นพร้อมกันทีเดียว 80 เครื่องได้  ถ้าเกิดมีกลองชุดสมัครมา 20 คน จะทำยังไงล่ะ กลองก็มีแค่ 3 ชุด เครื่องมือไม่พอเล่นแน่ๆ ผมต้องจัดออดิชันครับ รับคนได้แค่ 30 เท่านั้น”

ว้า…อาถรรพ์หมายเลข 1 ก็ไม่มีแล้วน่ะสิ

“เกณฑ์คือต้องมีพื้นฐานดนตรีมาก่อน และต้องเล่นให้ดีด้วย มีความโดดเด่นในระดับหนึ่ง  แล้วจะมาสัมภาษณ์เพื่อดูแนวคิด ดูแพสชันของเขา แต่จริงๆ แล้วมันก็เห็นตั้งแต่ตอนเล่นแล้วล่ะ บุคลิกที่แข็งกร้าวหรืออ่อนโยนตอนที่เล่นดนตรีหรือร้องเพลงมันเห็นหมดว่าเป็นคนยังไง คำพูดอาจจะโกหกได้แต่ตอนเล่นดนตรีน่ะมันโกหกไม่ได้”

เด็กนักเรียนมาออดิชันเข้าชมรมดนตรีของโรงเรียน (ภาพจากอาจารย์บอส)

อาจารย์บอสมองไกลไปถึงว่าเด็กคนไหนเหมาะที่จะเข้าคู่กับคนไหน ใครน่าจะรวมเป็นวงเดียวกัน และใครที่มีแววว่าจะพัฒนาตัวเองไปเป็นศิลปินในอนาคตได้ บวกกับการซ้อมตอนเย็นหลังเลิกเรียน 5 วัน 5 เครื่องมือ กีตาร์ เบส เปียโน กลอง นักร้อง ไล่เรียงไปตั้งแต่วันจันทร์ วันที่ไม่ใช่เวรซ้อมก็ต้องไปทำแบบฝึกที่ อาจารย์บอสจะมอบให้ “ถ้าไม่ฝึกมา เล่นให้ฟังก็รู้ครับ”

แล้วงานดนตรีกับวงเพื่อนๆ ของ อาจารย์บอสล่ะ “ผมเลิกเล่นวงข้างนอกตั้งแต่ที่เริ่มจริงจังกับชมรมแล้วครับ”

คุณทิ้งความฝันที่จะเป็นศิลปิน!!!

“จริงๆ ผมสามารถเอาเวลาทั้งหมดไปทำเพลงได้นะ เพราะครูสอนเสร็จก็กลับได้เลย ไม่ต้องอยู่ตอนเย็นสอนวงต่อก็ได้ แต่ผมมีความสุขกับตรงนี้มากกว่า  เคยบอกเด็กนะว่า…ถ้าให้อาจารย์บอสไปนั่งทำเพลงจนเพลงดัง ก็ยังไม่มีความสุขเท่ากับที่เห็นพวกเราขึ้นเวที แล้วเล่นออกมาอย่างที่คิด เห็นคนฟังปรบมือให้พวกเรา…นี่ล่ะคือความสุขของอาจารย์บอส”

เด็กที่ไม่ตั้งใจซ้อมจงฟังไว้!!

 

✔ เตรียมการ perform ให้ดี

 

ศิลปินศิษย์เก่า DS.RU.BAND

มีศิลปินที่เห็นชัดๆ 2 คน ที่อาจารย์บอสเคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ
คนแรกคือ  FrameT หรือ เฟรม – ธธนวุจน์ ชื่นเกษม
ผู้ฝันจะเป็นศิลปินมาตั้งแต่ ม.1 จนไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยและมีผลงานของตัวเอง
ซึ่งเพลง “เพื่อนหลอกๆ” ของแชมป์ THE POWER BAND 2024 SEASON 4
เฟรมก็เป็นคน Mix&Mastering ให้ด้วย
อีกคนคือ หม่อม – ธนบัตร สมบูรณ์สิทธิ์  มือเบส วง H3F
ได้เห็นหม่อมเล่นเบสในช่วง ม.ปลาย ก่อนไปเรียนดนตรีต่อในมหาวิทยาลัย
และมีผลงานเช่นกัน อาจารย์บอสยินดีกับทุกคนที่พบเส้นทางที่สวยงาม
และตามฟังเพลงทุกเพลงของลูกศิษย์มาโดยตลอด

อาจารย์บอสกับนักเรียนดนตรี (ภาพจากอาจารย์บอส)

✔ หน้าตามีผล…แต่ถ้าเพลงไม่ดีก็จบ!!

 

ไม่ว่าอย่างไร ก็จะเล่นดนตรี

ได้ยินชื่อ DS.RU.BAND ทุกปีในการประกวดดนตรี THE POWER BAND ซีซันแรกเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่เกิดการระบาดของ Covid-19 ทางโรงเรียนตัดสินใจระงับการมาเข้าประกวด แต่พอซีซัน 2          วง Jazz Passion ลูกศิษย์อาจารย์บอสก็มาคว้าแชมป์ Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป) ซีซันที่ 3 DS.RU.BAND     ได้รองชนะเลิศอันดับ 2 Class A (รุ่นมัธยมศึกษา) พอถึง ซีซัน 4 DS.RU.BAND ก็เป็นแชมป์

“ตอนนี้ THE POWER BAND เป็นเวทีที่เด็กชมรมทุกคนใฝ่ฝัน เป็นเวทีท็อปทั้งในความรู้สึกของเด็กและของผมด้วย ได้ขึ้นเวทีที่ อักษราคิง เพาเวอร์ นับเป็นประสบการณ์ที่ดี เรารู้สึกว่า System บนเวทีเป็นมืออาชีพมาก การวิเคราะห์ของกรรมการเป็นประโยชน์ Music Camp ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้ ที่แน่ๆ ทำให้เด็กรู้จักการปรับซาวนด์บนเวทีแบบศิลปินเขาทำกัน ที่สำคัญ THE POWER BAND ดันเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่วงที่ชนะนะครับ รู้สึกได้ว่าเขาพยายามโพรโมตทุกคนให้มีซีน สนับสนุนเด็กจริงๆ”

จากนักดนตรีที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นครู ผ่านไป 14 ปี อาจารย์บอสสร้างคนที่จะก้าวไปเป็นอนาคตของวงการเพลงไทยไว้เยอะอยู่นะ

“เคยมีเด็กที่มาออดิชันเข้าชมรมพูดกับผมว่า…ต่อให้วันนี้ผมออดิชันไม่ผ่าน ผมก็จะเล่นดนตรีต่อไป แล้วก็จะมาออดิชันทุกปีเพราะผมชอบดนตรี”

คราวนี้ อาจารย์บอสไม่หัวเราะ แต่ยิ้มอย่างมีความสุข…จริงๆ

ภาพจากอาจารย์บอส

อาจารย์บอส – กิติภัทร แนะนำเด็ก

ที่อยากเป็นศิลปินในยุคปัจจุบัน

✔ ควรทำเพลงแนวที่เราชอบ

✔ หาเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนคนอื่น

✔ เตรียมการ perform ให้ดี

✔ หน้าตามีผล…แต่ถ้าเพลงไม่ดีก็จบ!!

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ