Playground

อัปเกรดใยตาลสู่ ‘Nodething’
งานคราฟต์สุดหรูสะท้อนวิถีโหนด

กองทรัพย์ ชาตินาเสียว 6 Jan 2022
Views: 2,544

บนคาบสมุทรสทิงพระ พื้นที่แผ่นดินที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลามีงานคราฟท์สุดหรูซ่อนตัวอยู่ในชุมชน ชาวบ้านที่นั่นผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตที่ฟากหนึ่งทำประมง และในขณะเดียวกันก็ยังทำนาและทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีโหนดที่ใช้สอยประโยชน์จากโหนดที่ขึ้นชุกชุมในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อตั้งเมืองสทิงพระ

‘โหนดทิ้ง’  หรือแบรนด์ Nodething หัตถกรรมจากใยตาลหนึ่งเดียวของไทยที่ยกระดับเส้นใยตาลโตนดจากเชือกผูกเรือประมง ของเหลือทิ้งที่ถูกลืม นำมาถักทอและสร้างสรรค์ใหม่ให้ออกมาเป็นสินค้าสุดหรู อวดโฉมมานานกว่า 2 ทศวรรษ 

ในปี 2540 แม่เสริญศิริหนูเพชรครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นำภูมิปัญญาที่ตกทอดมานับร้อยปีกลับมาปัดฝุ่นใหม่แปรรูปปลุกชีพใยตาลแห่งคาบสมุทรสทิงพระให้กลับมาอีกครั้งเกิดเป็นกลุ่มหัตถกรรมใยตาลสทิงพระหรือเป็นที่รู้จักกันว่า “กลุ่มโหนดทิ้ง”

“โหนด” มาจากต้นตาลโตนดผสมกับคำว่า “ทิ้ง” ซึ่งก็คือของเหลือทิ้งนำมาเพิ่มมูลค่าคล้องกับต.จะทิ้งพระอ.สทิงพระแหล่งต้นกำเนิดของกลุ่ม… 

 

 

ย้อนวิถีโหนด เบื้องหลังงานคราฟต์อินเตอร์

คาบสมุทรสทิงพระหรือเมืองสองเลอยู่ระหว่างอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลาแผ่นดินที่เกิดจากปรากฎการณ์เกาะ 2 เกาะเคลื่อนเข้ามาหากันกินพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาคือสทิงพระสิงหนครระโนดและกระแสสินธุ์ 

สทิงพระเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นตาลโตนดหรือต้นโหนดหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยโดยมากจะปลูกตามคันนาในอดีตต้นตาลทำหน้าที่แบ่งเขตนาข้าวแทนหมุดราชการและปัจจุบันยังเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งของภาคใต้ด้วย 

ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในคาบสมุทรนั้นแสนจะเรียบง่ายชาวบ้านผูกพันกับต้นโหนดมาช้านานเป็น ‘วิถีโหนด’ ที่ยึดอาชีพขึ้นตาลโตนดเฉาะลูกตาลลูกตาลเชื่อมทำน้ำผึ้งแว่นน้ำผึ้งเหลวแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดและการเพาะลูกโหนดเพื่อดำรงชีพ

เบื้องหลังของงานคราฟต์สุดอินเตอร์ Nodething  ก็เป็นส่วนหนึ่งในวิถีโหนดของคนสทิงพระ

“ภูมิปัญญาชาวบ้านรุ่นปู่รุ่นย่าใช้ใยตาลมาทำเชือกผูกเรือมานับร้อยปีเชือกผูกเรือจากใยตาลโตนดนั้นแข็งแรงทนทานแต่คนมักจะมองไม่เห็นคุณค่ารุ่นคุณแม่จึงลองนำใยตาลมาสานเป็นกระเป๋าหมวกตั้งกลุ่มหัตถกรรมขึ้นมีสมาชิกเริ่มต้น 10 คนพัฒนาฝีมือด้วยกันมาแบบบ้านๆ การออกแบบเรียบง่ายไม่หวือหวาช่องทางการตลาดก็น้อยทำให้ช่วง 5-6 ปีแรกสินค้าจากกลุ่มเรายังไม่บูมจึงจำเป็นต้องหยุดโหนดทิ้งไว้ชั่วคราว” 

ปิง-พีระศักดิ์หนูเพชรในฐานะทายาทแม่เสริญศิริเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการถักทอใยตาลภายใต้แบรนด์ “โหนดทิ้ง” 

ไม่คิดทิ้ง โหนดทิ้ง

เด็กหนุ่มที่เรียนจบศิลปกรรมศาสตร์เอกดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยทักษิณนิ้วของเขาออกจะถนัดจับสายกีตาร์มากกว่าใยตาลออกตัวว่าไม่ได้อยากมารับช่วงต่อจากแม่ในตอนแรกแต่ด้วยเหตุผลที่แม่ของเขาเป็นฟันเฟืองหัวขบวนในการขับเคลื่อนชุมชนดังนั้นการทอดทิ้งชาวบ้านนับร้อยจึงไม่ใช่ทางที่เขาเลือกทำเพราะไม่อยากเห็นชาวบ้านที่เคยทำงานด้วยกันต้องไปทำอาชีพอื่นทั้งๆ ที่มีฝีมือและชำนาญด้านถักทอมานับสิบปี 

สายเลือดสทิงพระจึงค้นพบว่า ความเท่เกิดขึ้นจากความภูมิใจในถิ่นเกิด 

“ผมกับแฟนเข้ามารับช่วงต่อจากแม่เมื่อปี 2555 หลังจากแม่ทำมากว่าสิบปี เพราะอยากผลักดันและพัฒนาแบรนด์ให้อยู่ต่อไป ตอนแรกที่ตัดสินใจมาทำ มีความคิดแวบๆ เหมือนกันว่าคนอื่นจะว่าเราเชยหรือเปล่า แต่เราจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันเท่แค่ไหน จนกว่าคนอื่นจะมาบอกว่ามันเจ๋งผมเริ่มเห็นความท้าทายของการเข้ามารับงานต่อจากแม่ และถือว่านี่เป็นภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ หากอดทน ตั้งใจจริง ที่สำคัญรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์กลุ่มหัตถกรรมโหนดทิ้ง” 

เมื่อเข้ามารับงานตรงนี้แล้วปิงตั้งใจจะพัฒนาแบรนด์โหนดทิ้งให้ยังคงอยู่ในรุ่นของเขาด้วยมองว่าการเป็นผลิตภัณฑ์ทำมือและงานทอจากใยตาลเจ้าเดียวในตลาดเมืองไทยโอกาสเติบโตจึงยังมีอีกมากเขาทุ่มไอเดียคิดหาวิธีการผลิตใหม่ๆ มีเครื่องมือเข้ามาช่วยทอจนได้เครื่องตีใยตาลและเครื่องทอเข้ามาช่วยโดยให้ความสำคัญกับแรงงานคนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเพราะเราเป็นคนในชุมชนเป็นญาติพี่น้องกัน

“งานของโหนดทิ้งจะต้องไม่ถูกลืมเหมือนใยตาลก่อนหน้านี้เพราะฉะนั้นผมเข้ามาบริหารต่อจากแม่ก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าอยากพาแบรนด์โหนดทิ้งไปให้ได้ไกลที่สุดทำให้คนสนใจงานคราฟต์จากใยตาลมากขึ้นโดยทุกชิ้นงานจะมุ่งเน้นการผลิตที่ประณีตสวยงามคุณภาพคงทนถึงตอนนี้ผลิตภัณฑ์จึงมีทั้งแบบสานและแบบทอกว่า 40 รายการภายใต้แบรนด์โหนดทิ้ง” 

ทุกรางวัล ช่วยย้ำความภูมิใจ

ด้วยความแข็งแรงทนทานของเส้นใยตาลที่อยู่ได้นานนับสิบปี และข้อดีสำคัญอันเป็นจุดเด่นของเส้นใยตาลที่ไม่เป็นเชื้อรา การออกแบบจึงเน้นคุณค่าของวัตถุดิบคือใยตาล ผสมผสานกับวัสดุประกอบคุณภาพดีและทันสมัย โครงไม้ตาล หนังแท้ ได้เป็นกระเป๋าคุณภาพ สุดหรู หลากสไตล์ โดนใจทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ การเข้ามาของคนรุ่นใหม่ก็เพิ่มดีไซน์ ลูกเล่น กระเป๋าให้โดดเด่นมากขึ้น ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น อเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรป สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้ท้องถิ่นไม่น้อย

การันตีด้วยรางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย, หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ผ่านมาตรฐานชุมชน, ผลิตภัณฑ์เด่นจังหวัดสงขลา และรางวัลโอท็อป 5 ดาวระดับประเทศ และเป็น 1 ใน 10 ผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอีในปี 2559 ที่ได้ดีไซเนอร์เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าให้มีความเป็นสากล ผลักดันเป็นสินค้าส่งออก ขณะเดียวกันก็วางแผนว่าจะตีตลาดกลุ่มคนซื้อที่มีอายุน้อยแต่สนใจงานคราฟต์มากขึ้น

 

ตอนนี้ชื่อแบรนด์ของเรามีโอกาสเข้าไปวางขายอยู่ใน คิง เพาเวอร์ ทั้งออนไซต์และออนไลน์ ซึ่งสินค้าหลักยังคงเป็นกระเป๋า นับเป็นความภูมิใจของคนรุ่นพ่อแม่ที่ท่านสร้างโหนดทิ้งขึ้นมา แล้วเราเข้ามารับช่วงต่อและพัฒนาให้แบรนด์แข็งแรงขึ้น โหนดทิ้ง จึงเติบโตขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ จากเดิมสมาชิกกลุ่มมี 10 คน เกิดการพัฒนาเครื่องตีใยตาลและเครื่องทอเข้ามาช่วย จนถึงตอนนี้มีสมาชิกกว่า 50 ชีวิต ประกอบด้วย ช่างทอ ช่างเย็บ ช่างตัด และช่างประกอบ และยังมีเครือข่ายอีกนับร้อยคอยช่วยในทุกขั้นตอน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน” 

ปิงเป็นตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อภูมิปัญญารุ่นพ่อแม่ เข้ามาเริ่มโดยไม่รู้อะไรเลย แต่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ จนที่สุดแล้วก็พบว่า ทำได้ และทำได้ดี เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังทำให้ “วิถีโหนด” ของชุมชนเป็นที่รู้จักและต่อยอดให้เกิดชิ้นงานที่ทันสมัยได้ดี ไม่เพียงแต่ในบ้านเราแต่ยังสร้างความนิยมแบบโกอินเตอร์ไปไกลอีกด้วย

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: NODETHING

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ที่เที่ยวได้ทุกฤดู

รู้จัก 3 วิถีโหนดนาเลบนคาบสมุทรสทิงพระ 

ถ้าหากคุณมีโอกาสไปเยือนอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ต้องไม่พลาดไปสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตแบบ ‘โหนด-นา-เล’ ทั้งการการแปรรูปวัตถุดิบอย่างตาลโหนด เรียนรู้การจักสาน การดำนา การเกี่ยวข้าว นวดข้าว และเทคนิคการหาปลาแบบชาวเล

วิถีโหนด ชมสาธิตการปีนต้นตาล ลองทำน้ำตาลสด แปรรูปน้ำตาลโตนด ทำขนมพื้นบ้าน อาหารคาวหวาน และสบู่สมุนไพรตาลโตนด ที่สำคัญแวะไปชมและชอปกระเป๋าจากใยตาล ‘โหนดทิ้ง’

วิถีนา เรียนรู้วิธีการทำนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ชมสาธิตการตำข้าว สีข้าว นวดข้าว และเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง

วิถีเล คือ นั่งเรือออกไปเรียนรู้วิถีชาวเล วางอวนหาปลา การกู้อวน ในทะเลสาบสงขลาวิธีการประมง และศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ เช่น นกน้ำนานาชนิด ควายน้ำ และบัวสีชมพู

Author

กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

Author

อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ชอบบันทึกเรื่องราวระหว่างทางด้วยการเขียน แสงอาทิตย์ ต้นไม้ ลำธาร คือจักรวาลความสุข ปัจจุบันยังสนุกกับการค้นหาจักรวาลใหม่ๆ ในฐานะนักเขียนอิสระ