Passion

BERZURK
นักสู้…ผู้ไม่เคยยอมแพ้

ศรัณย์ เสมาทอง 23 Aug 2023
Views: 799

“ผมพูดได้ไม่ค่อยเยอะ ความรู้สึกมันอัดแน่นอยู่ข้างใน ผมเลยสื่อสารออกมาในงานแทน” ฟังคำนักร้องแล้วนึกย้อนไปถึงภาพการเล่นดนตรีบนเวทีอันหนักหน่วง ของวง Berzurk ยังติดตาอยู่เลย

บนเวที THE POWER BAND 2023 SEASON 3 สนามเชียงใหม่ จัดโดยวิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย วงนี้เขาเลือกเพลงแนวป็อปร็อกมาปรับใหม่ให้เป็นแบบ นู เมทัล (Nu Metal) ที่เขาโปรดปรานเพื่อแข่งขันใน Class B ทำดนตรีจังหวะหนักขึ้น อารมณ์หม่น เสียงร้องกระแทกสะใจวัยหนุ่ม

จนกรรมการท่านหนึ่งถึงกับเอ่ยปาก “สมศักดิ์ศรีของคำว่า รุ่นบุคคลทั่วไป” เรียกว่ากระดูกเบอร์แข็งเลยล่ะ เพราะเขามีเพียงนักร้อง กีตาร์ เบส กลอง แค่สี่คนเท่านั้น!!!

“ขึ้นเวทีไหนพวกผมก็จะหนักหน่วงเข้าใส่อย่างเดียวเลย เราสู้หัวชนฝาครับ” เชื่อว่าทั้งวงคิดเหมือนกัน แม้ประโยคนี้จะออกจากปากมือเบสก็ตาม

จะไม่เชื่อได้อย่างไร…เพราะตอนนี้พวกเขาสู้จนผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศไปแล้วน่ะสิ

“อยากเป็นศิลปิน อยากสื่อสารความรู้สึกออกมาเป็นเพลง
ต้องปรับตัวเสมอ และพยายามทำให้ได้ทุกแนว
ยังยืนยันว่า…ดนตรีจะพาเราไปจนถึงจุดสูงสุดที่เราหวังไว้สักวัน”

วง Berzurk (Class B)
THE POWER BAND 2023 สนามเชียงใหม่

Nu Metal ณ ลำพูน

“ตอนแรกว่าจะไม่ลงสมัครงานนี้แล้ว” ต้าร์ – อภิวัฒน์ โพธิพฤกษ์ มือเบส เปิดฉากมาก็เหมือนจะหักมุม “แต่ถ้าไม่ส่งก็คงไม่มีโอกาสได้เล่นด้วยกันอีก”

เพื่อนกลุ่มนี้ล้มลุกคลุกคลานด้วยกันมาร่วม 15 ปี ตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม เขาได้ชื่อ Berzurk มาจากการ์ตูนที่เกี่ยวกับการต่อสู้ เพียงเปลี่ยนตัว s มาเป็น z “ชื่อดูเป็นนักสู้ที่แข็งแรงดี เหมาะกับแนวเพลง Nu Metal ที่เราชอบ” นพ – มานพ อินสุทะ นักร้อง เล่ายิ้มๆ

นพ (ร้องนำ)

ต้าร์ (เบส)

“ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนจักรคำคณาทร” โน้ต – ฉันทิสร พิริยพงศ์พิทักษ์ มือกีตาร์เล่าย้อนความสมัยเรียนอยู่ที่ จ.ลำพูน “ผมอยู่หมู่บ้านเดียวกับต้าร์ ตอนนั้นต้าร์เรียนวิทยาลัยเทคนิคลำพูน ผมรู้จักกับเน ก็เลยชวนมาตีกลอง” ตอนนั้นมือกลอง เน-จักรพงษ์ ชมภูจา เรียนอยู่โรงเรียนป่าซางที่เดียวกับนพก็ชวนกันมารวมวง “ที่จริงสมาชิกยังมีกีตาร์อีกคนมาจากโรงเรียนป่าซาง แต่ครั้งนี้เราลงแข่งกันแค่ 4 คน”

Nu Metal สายเลือดลำพูนออกสู้หัวชนฝาอยู่หลายสนาม เคยคว้าได้ถึงแชมป์ภาคเหนือจากการแข่งครั้งหนึ่ง ในช่วงที่สมาชิกยังเรียนมหาวิทยาลัย

“ผมเชื่อว่าดนตรีจะทำชีวิตเราให้ดีขึ้น” รอยยิ้มเริ่มจางไปจากนัยน์ตาของนพ “แต่มันก็แย่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแทบเดินต่อไม่ไหวแล้ว”

โน้ต (กีตาร์)

เน (กลอง)

 

STYLE & IDOL

นพ – ชัดเจนว่า Front man คนนี้มาแนว Nu Metal
ยึด เฟร็ด เดิร์สต์ (Fred Durst) นักร้องนำวง Limp Bizkit เป็นไอดอล
สารภาพเลยว่ามาเริ่มชอบการร้องแบบผสานแร็ปเข้าไปในเพลงก็เพราะไอดอลคนนี้ล่ะ

โน้ต – ชอบมือกีตาร์ เวส บอร์แลนด์ (Wes Borland) วง Limp Bizkit เหมือนกัน
ก็เขาทั้งเทพ + เท่ขนาดนั้น เล่นอะไรมา…ฟังปุ๊บ…รู้เลยว่าใครเล่น อยากเป็นแบบเขาบ้าง

The Possible Dream

ทุกคนใน Berzurk ตั้งใจเดินสายอาชีพดนตรี เหมือนจะพิสูจน์ตัวเองและท้าทายโชคชะตาไปพร้อมกัน ต้าร์ – มือเบส ที่จบ ปวส. ด้านช่างเชื่อม ก็ยืนยันว่าถนัดงานดนตรีที่สุด แม้จะรับงานตรงสายที่เรียนมาเพื่อเลี้ยงชีพบ้างก็ตาม “ผมอยากเป็นศิลปิน อยากทัวร์คอนเสิร์ต อยากมีเงินให้คนอยู่ข้างหลังสบาย และมันเป็นความฝันของแม่ครับ เขาอยากเห็นลูกออกคอนเสิร์ต”

ช่วงชีวิตที่เหมือนจะราบรื่น บางครั้งก็เหมือนถูกกลั่นแกล้ง ช่วงโควิดงานหายและคุณแม่ที่แยกไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็ไม่สบาย “ผมเคยไปแข่งที่กรุงเทพฯ แม่ก็จะไปแอบยืนดู แม่ทำงานก่อสร้างอยู่แคมป์คนงาน ไม่กล้าให้ใครเห็น”

คุณแม่ของต้าร์จากไปในช่วงภาวะโควิดระบาดรุนแรง โดยที่ลูกชายก็ไม่สามารถไปร่วมงานส่งคุณแม่ที่กรุงเทพฯ ได้ “ผมเลยอยากทำฝันให้สำเร็จสักที ถ้าแม่มองลงมาเขาจะได้เห็น”

 

มุ่งมั่น…แล้วมันจะผ่านไป

ในช่วงที่ Berzerk ต่อสู้มานั้น ภาวะของประเทศและโลกผันผวนหลายครั้ง ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด งานดนตรีกลางคืนที่เป็นงานประจำของหลายคนมีอันต้องปิด-เปิด-ปิด สลับไปมาเป็นระยะ “เหมือนถูกเตะตัดขาให้ล้มอยู่เรื่อย” อาจเป็นคำที่ชัดเจนสำหรับนพ

“งานที่เชียงใหม่ปิด จนผมต้องไปเล่นดนตรีที่กรุงเทพฯ อยู่พักหนึ่ง ไปเล่นย่านโรงงานเลยครับ คือแม่ผมไปขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ ผมก็ลงไปช่วยแล้วหางานดนตรีเล่นด้วย”

รู้สึกว่าวงสนทนาจะเงียบเสียงเป็นระยะๆ อาจเพราะหลายเรื่องเป็นความทรงจำที่ยากจะเอ่ยเป็นถ้อยคำ “ทุกวันนี้แม่ก็ยังส่งลิงก์งานมาให้ แม่อยากให้ไปทำงานที่เกาหลี เขากลัวเราไปไม่รอด” นึกถึงใจคนที่เรียนจบด้านกีตาร์คลาสสิก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มาโดยตรงอย่างเขา คงทำใจลำบาก

นพเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะพูดเบาๆ “ผมพยายามจะทำให้รอดให้ได้ครับ”

หันมาทางโน้ตบรรยากาศยังคงอึมครึม “ตอนนี้พ่อผมป่วยอยู่โรงพยาบาล” พ่อของโน้ตเป็นครูดนตรีทั้งสากลและดนตรีไทย เป็นคนที่ปลูกฝังให้เขารักการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก จนจบปริญญาตรีด้านดนตรีที่สถาบันเดียวกับนพ เครื่องมือถนัดของเขา คือ แคลริเน็ต

“พ่อเป็นเยอะมากครับ เบาหวาน ความดัน หัวใจ เส้นเลือดตีบ รวมฮิตเลย กำลังรอผ่าตัดสวนหัวใจ” ค่ารักษาที่เกินจากหลวงดูแล โน้ตและพี่สาวต้องช่วยกัน แต่เขาก็ยังเลือกหาเงินด้วยดนตรี “มันก็ยังไปได้อยู่ ก็แค่ต้องทำหนักกว่าเดิมอีกนิด…แล้วมันจะผ่านไป”

นี่ถ้า เน – มือกลอง อยู่ตรงนี้ด้วย ไม่รู้จะมีเรื่องราวให้อึ้งอีกไหม รู้เพียงเขาเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จบเอกแซกโซโฟนและเปียโน ตอนนี้เป็นครูสอนดนตรีที่ในเชียงใหม่และลำพูนคู่กับกับเล่นดนตรีในยามราตรี

 

STYLE & IDOL

ต้าร์-นี่ก็ Nu Metal สาวก Limp Bizkit เช่นกัน
เขาชอบสไตล์การเล่นเบสของ แซม ริเวอร์ส (Sam Rivers) ที่ต่างจากวงอื่น
เรียกว่าหนักหน่วงทุกเม็ด แม้จะเป็นเพลงช้าก็หนัก ไม่มีท่อนไหนที่หวานเลย

เน-มือกลองผู้หลงใหล Nu Metal เพราะมันหนักเเน่นและหนักหน่วงถึงใจ
แต่ฉีกมีไอดอลเป็นคนไทย อ.โน้ต-วีรฉัตร เปรมานนท์ มือกลองดีกรีแรงระดับโลก

นักสู้ก็อยากสัมผัสใจผู้ฟัง

อิทธิพลของ Nu Metal ที่เพลงจะหนักหน่วงและมีความหม่นในอารมณ์ ส่งให้ทั้งวงละเอียดอ่อนกับอารมณ์ตนเอง การจะเลือกเล่นเพลงสักเพลงใช้การเชื่อมโยงอารมณ์ของคนร้อง คนเล่น กับเพลงนั้นโดยตรงเลย

“อย่างเพลง ไม่เหมือนใคร ของ D Gerrard มันเข้ากับชีวิตจริงของผม” นพยังจริงจังเสมอ “เราเป็นคนธรรมดา หน้าตาธรรมดา ไปแอบชอบผู้หญิงที่สูงส่งกว่า แม้จะรู้สึกว่าด้อยค่าแต่ก็อยากบอกเขานะ ว่าเราก็มีดี ลองมองที่อื่นนอกเหนือหน้าตาบ้างก็ได้” พอเร่งจังหวะ ใส่ไลน์เบสและกีตาร์ที่หนักขึ้น เหมือนเป็นเพลงของตัวเองไปเลยทีเดียว

“แต่เรามีเพลงของตัวเองที่ทำมา 5 ปีแล้ว ยังไม่ได้เผยแพร่จริงจัง จะนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อใช้รอบชิงชนะเลิศ”

เป็นเรื่องราวในความคิดคำนึงของเขาอีกเช่นเคย เขาอยากให้กำลังใจคนที่รักในช่วงโควิด ไม่ว่าเธอจะไปเจอคนแย่ๆ เรื่องแย่ๆ ทำให้ไม่สบายใจ ไม่มีแรงทำงาน ไม่มีแรงใช้ชีวิต “เราจะอยู่เป็นกำลังใจและรับฟังเธอระบายความอัดอั้นนั้นเสมอ” เขาเชื่อว่าอารมณ์ที่อยู่ในตัวนักดนตรีโดยเฉพาะนักร้อง สามารถส่งไปถึงผู้ฟังได้

สัมผัสได้ถึงความอัดอั้นที่ Berzurk พยายามจะระเบิดออกมา บวกกับนึกถึงดนตรีหนักหน่วงแบบ Limp Bizkit มันจะออกมาเร้าอารมณ์ขนาดไหนหนอ

“อาจจะทำให้ติดป็อปหน่อย อยากทำให้ฟังง่ายขึ้น” ต้าร์เสริม “อยากให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น และเราจะเล่นเหมือนเราเล่นที่ร้านเลย ให้เราเองรู้สึกสบายขึ้นไม่เกร็งเหมือนมาแข่งขัน”

ก็ขอให้เบาลงได้จริงๆ เถิด สาวก Nu Metal ทั้งหลาย

 

“รอฟังเพลงของเรานะ”

ทุกวันนี้นักดนตรีเกิดขึ้นมาได้ง่าย คนที่จะโด่งดังก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่ถ้าจะพิสูจน์ว่าใครเป็น “ตัวจริง” คงต้องอาศัยความพยายามและความอดทนสูง

“ตลาดเชียงใหม่กว้างมาก มีหลายแนวครับ เพลงนอกกระแสก็มี ร้านเล็ก ร้านใหญ่ที่มีดนตรีเล่นเต็มไปหมด” ต้าร์ให้ข้อสังเกต ก่อนที่โน้ตจะช่วยเสริม “แต่เราต้องปรับตัว ผมพยายามเล่นทุกอย่าง เล่นทุกแนวที่ผมจะทำได้”

ทุกคนต้องแกะเพลงใหม่เรื่อยๆ ต้องซ้อมเพลงที่เคยเล่นให้อยู่มือ บางทีก็นำมาเรียบเรียงใหม่อีกต่างหาก นี่ล่ะ การเล่นดนตรีที่เป็น “อาชีพ” อย่างแท้จริง

ถ้าครั้งนี้ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นเวที THE POWER BAND 2023 SEASON 3 รอบชิงชนะเลิศ นักสู้กลุ่มนี้คิดว่าจะสู้กับวงอื่นได้ไหม “ผมพูดไม่เก่ง รอฟังที่ผมสื่อสารออกมาเป็นเพลงก็แล้วกันนะครับ”

อืมมม…รู้สึกได้เลยว่า คู่แข่งของนักสู้ Nu Metal เจอศึกหนักแน่!!

เลือดนักสู้ของวง Berzurk ที่เดินตามความเชื่อและศรัทธา

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ