Passion

HUUKI HUUDA
ในวันที่เติบโตและจะก้าวต่อ

นันนภัสร์ สีหราช 21 Mar 2023
Views: 482

พวกเขาคือวงจัดจ้านที่สุดบนเวทีแรกของการประกวดที่ผ่านมา ภาพการแสดงของวงที่สมาชิกแต่ละคนต่างปล่อยพลังกันอย่างเต็มที่ให้กับเพลงที่พวกเขาเลือกมาเล่น ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของการประกวดที่ขอนแก่นสนามแรกเมื่อ SEASON 2 และอีกครั้งที่การแข่งขันรอบ FINALของเวที THE POWER BAND ที่จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ
คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย คือพลังแห่งรูปธรรมของการทำสิ่งที่รักออกมาอย่างเต็มที่จนเราสัมผัสได้

ก่อนการแข่งขันของสนามภูมิภาคนี้ที่จังหวัดขอนแก่นสำหรับ THE POWER BAND 2023 SEASON  3 ภายใต้คอนเซปต์ “THE POWER OF POSSIBILITIES ชีวิตไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้” จะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น…พวกเขากำลังเตรียมตัวเพื่อลงแข่งขันอีกครั้งในปีนี้

เราได้ชวนตัวแทนของวง 5 คนจากสมาชิกทั้งหมด พูดคุยกันถึงการรวมตัวทำสิ่งที่พวกเขารักซึ่งไม่ว่าจะเวลาผ่านไปแค่ไหน พวกเขามีดนตรีเป็นศูนย์กลาง เมฆ – วัฒน์ชานนท์ สิงมะหาพรม (กีตาร์) โอม – ปุญญพัฒน์ เวชกามา (เพอร์คัชชัน) และ 3 สาวพาร์ตนักร้อง จันทร์จ้าว – ชนัญชิดา คายทอง (ร้องนำ) ปันปัน – ปารัช ศฤงคาร และ เกรซ – วรินดา โพลา (สองสาวคอรัส)

“สำหรับการประกวด น่าจะทำให้เราได้รับประสบการณ์ และได้รู้ว่าโลกดนตรีใบนี้มันกว้างมาก
รู้สึกว่าทุกคนจะได้แกะเปลือกตัวเอง…ได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา
เราไม่ได้มาในนามนักเรียน แต่มาในนาม ศิลปิน…มันแตกต่างจากคำว่านักเรียนมาเล่นดนตรี”

วง HUUKI HUUDA โรงเรียนเลยพิทยาคม

 

บทสนทนาต่อไปนี้ ไม่รู้เริ่มตรงไหน แต่การคุยกันอย่างสนุกสนานพาให้เราได้ทำความรู้จักพวกเขา โดยเดินทางไปสู่การคุยบรรทัดสุดท้ายอย่างรวดเร็วแบบได้หัวเราะไปตลอดทาง อีกทั้งพวกเขายังให้มุมมองเกี่ยวกับการประกวดและการเตรียมพร้อมขึ้นเวทีประกวดเอาไว้ได้น่าสนใจ “ครูอู๋” (ณัฐพงษ์
เกรียงไกรวงษ์ ผู้ดูแลให้คำปรึกษาและควบคุมวง) เล่าให้ฟังว่าการแข่งขันสำหรับ Season 3 ปีนี้ เด็กๆ สมาชิกในวงกำลัง(ซุ่ม)เตรียมตัวให้ “พร้อม” ลงแข่งยิ่งกว่าเดิม จัดฟอร์มทีมให้ลงตัวยิ่งขึ้น และพวกเขาคาดหวังชัยชนะพร้อมการเติบโตและพัฒนาตนเอง

สิ่งที่รู้แน่ชัดคือเด็กกลุ่มนี้ที่ใช้ชื่อวงว่า Huuki Huuda (ฮูกิ ฮูดะ) แบบอยากให้มีกลิ่นอายของสไตล์ญี่ปุ่นหน่อยๆ (แต่ที่มาคือล้อเสียงมาจาก ‘ฮู้ขี้ฮู้ดาก’ คำหยอกล้อของหมู่เพื่อนในภาษาอีสาน) เป็นนักเรียนมัธยมโรงเรียนเลยพิทยาคม จ.เลย ที่มาลงแข่ง Class A สนามขอนแก่น พวกเขาทำสิ่งที่รัก คือการร้องเพลงและเล่นดนตรี…ด้วยความรักและความสุขอย่างแท้จริง

 

TP: จุดเริ่มต้นในการรวมตัวกันของพวกเขา เล่าให้ฟังหน่อย

เมฆ: การรวมตัวของพวกเราทั้งหมด 9 คน เริ่มต้นเรามีกันอยู่แค่ 5 คน ซึ่งเริ่มจากการอยู่ในวง
โยธวาทิตของโรงเรียนกันก่อน เรามีความตั้งใจจะมาสมัครประกวด THE POWER BAND กันตั้งแต่ปีแรกแต่เตรียมตัวไม่ทัน ตอนนั้นนักร้องนำ (พี่จันทร์จ้าว) ยังไม่ได้มาอยู่กับวงเลยครับ สมาชิกบางคนก็ยังไม่เข้ามาในวงเลยด้วยครับ ครูอู๋ เป็นคนทักมาว่าถ้าอยากประกวดก็ได้เวลาแล้ว ครูส่งคลิปประกวดของปีที่แล้วมาให้ดูก่อนหน้าประกวด 3 เดือน

จนพวกผมก็ได้มารู้จักพี่จันทร์จ้าว น้องปันกับน้องเกรซ แล้วก็พี่เจ้าคุณมือพิณ เพราะพวกเขามากันกับชุดร้องเพลง เสียงดีก็เลยไปทาบทามเขา ทำให้ได้นักร้องมาเข้าวงอีก 2 คน กับมือพิณที่เข้ามาช่วย เดิมนักร้องนำของวงเขาอยากเล่นคีย์บอร์ดมากกว่า ก็เลยเปลี่ยนตำแหน่ง เวลานั้นเรายังเป็นวงใช้ชื่อ Huuki Huuki (ฮูกิ ฮูกิ) กันอยู่เลยครับ พอสถาปนาวงใหม่ถึงกลายมาเป็น Huuki Huuda

TP: ไหนชวนสาวๆ ลองมาคุยให้ฟังบ้างสิคะ

จันทร์จ้าว: หนูเข้ามาในวงทีหลัง ก็รู้สึกเกร็งๆ นิดหนึ่ง แต่พอเข้ามาอยู่แล้วตรงกันข้ามกับที่คิดคือทุกคนแปลกด้วยกันหมด หนูก็เข้าไปทักบ้างแต่กลัวไม่โอเค ปรากฎมาอยู่ด้วยกันได้ด้วยความแปลก(หัวเราะ)
แปลกยังไงคะ

เกรซ: เหมือนคนบ้าเลยค่ะ ไม่เป็นคนปกติ รู้สึกผูกพันกัน

(ทุกคนหัวเราะ)
เมฆ
: คือตอนแรกเหมือนเป็นสีคนละสีกัน แบบแต่ละสีเฉดแปร๊ดๆ แล้วจากนั้นค่อยเบลนด์สีกัน

 

TP: เห็นวงมีโลโก้ชื่อวงกับสีที่ใช้ เป็นชมพูแบบ shocking pink สีนี้มีความหมายอะไรกับวงไหมคะ

เมฆ: สีนี้มีความแสบดากครับ (ทุกคนแทบจะหัวเราะพร้อมเพรียงกัน) ชื่อวงมาจากคำฮูขี้ฮูดาก ความหมายแบบ…คนขี้ใจลอย คอยใจจะขาดครับ (หัวเราะ)

 

TP: ครูอู๋บอก เป็นชื่อวงที่มาจากไอเดียของสมาชิกในวง เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ

โอมกับเมฆ: ที่มาของคำนี้ เป็นคำติดปากที่พวกเราด่ากันเป็นคำพูดที่ใช้กันในวง สมมติวันนี้โอมเล่นไม่ดี แต่ละคนก็ป้ำๆ เป๋อๆ ไม่สมประกอบครับ..เรียกว่าเหมาะสมกับคำนี้กันทั้งนั้นเลย

ทุกคน: สภาพพพพ (หัวเราะ)

โอมกับเมฆ: ตอนเราคิดชื่อวง คือเราอยากได้ภาษาอังกฤษเท่ๆ แต่เราอยากได้วงสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งนึกคำที่ออกแนวนั้นไม่อออกเลยครับ พอคิดคำออกมา..มันไม่เข้าหูเลยครับ มีแค่คำว่าอาริกะโตะ

 

TP: ทำไมวงถึงชอบไปทางแนวญี่ปุ่นกันคะ

ทุกคน: คือมันเท่ แล้วก็ Funk ญี่ปุ่น เจป็อป จนกลับมาทางอีสาน คือถ้าลองไปดูในรายละเอียด
อาร์แอนด์บีกับแนวอีสาน แทบจะเป็นทางเดียวกันเลยครับ มีความญี่ปุ่นครับ คนนี้ก็มีความลูกสาวหมอลำ

 

TP: อยากให้แต่ละคนเล่าถึงพื้นฐานความชอบเรื่องดนตรีหน่อยค่ะ

เกรซ: ตอนแรก เกรซขึ้น ม.2 แรกๆ ในโรงเรียนมีหลายชุมนุม แต่หนูเลือกลงชุมนุมนักร้อง หวังจะคลายเครียดจากการเรียนด้วยการร้องเพลง หนูชอบเรียนภาษาอังกฤษค่ะ หนูเป็นคนชอบมาเข้าชุมนุม หนูเข้าไปร้องเพลงที่ชุมนุมทุกวันเลย

จันทร์จ้าว: ที่บ้านหนูทำธุรกิจคาราโอเกะ คุณตาของหนูบอกก่อนท่านเสียว่า “เป็นนักร้องให้ตาเน้” แล้วท่านก็เสีย คำขอนั้นเลยค่ะก็ทำให้หนูคิดมาตลอด จุดเริ่มต้นของหนูเลยคือก่อนนี้หนูผิดพลาดเยอะ หนูได้การบ้านเยอะสุดในวง

 

TP: เพราะอะไรคะ (มีเสียงกระซิบว่าเพราะขี้เกียจ)… การบ้านสำหรับนักร้องนำต้องทำอะไรบ้างคะ

จันทร์จ้าว: ทำหน้าที่เอนเตอร์เทนค่ะ พวกการพูดและการร้อง ร้องให้ถูกคีย์ เข้าจังหวะให้ถูก (สิ่งที่ยากสำหรับนักร้องนำคืออะไรคะ?) คือการอยู่ดีๆ ก็ไม่มั่นใจในตัวเองขึ้นมา เมื่อมีอะไรกระทบใจหนูนิดๆ หน่อยๆ แต่หนูก็ผ่านมาได้ และหนูชอบร้องคาราโอเกะมากๆ

ปันปัน: ปกติที่บ้านไม่มีใครเล่นดนตรี เว้นแต่พ่อชอบฟังเพลง ที่บ้านเคยขายเทปคาสเซ็ต ตอนเด็กหนูก็ไม่ได้ชอบเล่นดนตรี แต่ก็ไม่เคยชอบ ไม่ได้สนใจเลยค่ะ พอเข้ามา ม.1 ที่โรงเรียน เห็นรุ่นพี่ในวงโยฯ เขาเล่นเครื่องเป่ากัน แล้วอยู่ดีๆ มันก็ดึงดูดให้เรารู้สึกอยากเล่นบ้าง

พอเข้า ม.1 ได้ก็ไปเข้าชุมนุมนี้แหละที่จ้องไว้เลยค่ะ ตำแหน่งแรกไม่ได้ร้องเพลงแต่เลือกเป่าแซกโซโฟนก่อน และเคยเล่นคีย์บอร์ด เพิ่งมาฝึกร้องเพลงเมื่อปีที่แล้วเพราะรู้สึกว่ามันทำให้เรามีความสุขค่ะ (การเล่นดนตรีสองชิ้นนั้นจนมาร้องเพลง ให้ความสุขต่างกันยังไง) ถ้าพูดถึงภาพจำ หนูคิดว่าเครื่องดนตรีเป็นเรื่องการ performance ในการสื่ออารมณ์ ส่วนการร้องเพลงเป็นการใช้เสียงของเราที่จะเกี่ยวกับอารมณ์ในการถ่ายทอดการร้องออกมาค่ะ แต่สองอย่างคือเราต้องมีอารมณ์ร่วมไปด้วยค่ะ

TP: การร้องประสานเสียงของสองคนเป็นส่วนที่แตกต่างไปจากการร้องนำของพี่เขา อยากให้ช่วยกันเล่า

ปันกับเกรซ: ยากตรงที่เราต้องร้องไม่ใช่เสียงเดียวกับนักร้อง แล้วพอนักร้องนำต้องร้องเสียงดังกว่า พวกเราก็ต้องมีสมาธิมากๆ เลยค่ะ เพราะบางครั้งไลน์ประสานเสียงด้วยกันเองก็เป็นคนละเสียงค่ะ
ดังนั้นมันให้การฝึกสำหรับเรื่องของสมาธิในชีวิตจริงกับเราด้วยค่ะ

จันทร์จ้าว: สำหรับหนู หนูเองจะไม่ได้ยินเสียงน้อง แล้วก็จะไม่ได้ยินเสียงตัวเองด้วยค่ะ

เกรซ: เกรซกับพี่ปันปันจะแยกไปซ้อมกัน แล้วพี่เจ้าจะแยกไปอีกที

ภาพโดย Expert Kits

เมฆ: พี่เจ้าจะแยกไปซ้อมกับแบนด์ เพราะจะลืมเนื้อบ่อยมาก อะไรที่อยากให้ทำ…จะไม่ได้ทำ (ฮาครืนกันทั้งวง) ตอนที่เราเลือกเพลงมาประกวด เราเลือกเพลงขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วมาคุยพร้อมกัน กับครูด้วยครับว่าพวกเราทำได้แค่ไหน จนกระทั่งสรุปออกมาได้เป็นสองเพลงที่เลือกในการประกวดภูมิภาค (เพลงบันไดสีแดงของ Hugo กับเพลง ร(W8) ของ Gene Kasidit)

พอเลือกเพลงได้ลงตัวแล้ว เวลา rearrange เพลง เราจะเริ่มกันที่เครื่องดนตรีพื้นฐาน กลอง เบส และคีย์บอร์ด ทำออกมาแล้วดูว่าเราชอบกันไหมน่ะครับ จากนั้นค่อยเติมเสียงกีตาร์ เสียงร้องคอรัส พิณ และเพอร์คัชชัน ค่อยมาเสริมให้เป็นสีสันกับเพลงของวง

 

TP: ความสนุกในการรวมวง มีสมาชิกที่มีส่วนร่วม…

เมฆ: บนเวที 9 คน รวมแบ็กอัปอีก 2 เป็น 11 คนครับ ส่วนมากเราจะใช้ชีวิตกันอยู่ที่ห้องดนตรี แต่แรกเป็นห้องเก่าๆ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วงยังอยู่ทันกับสมัยที่รุ่นพี่ของเราได้เข้ารอบการประกวดดนตรีครั้งหนึ่งในอดีต วงรุ่นพี่ได้รับรางวัลมาเลยได้มีโอกาสปรับปรุงห้องดนตรีดของพวกเรา จากเดิมที่เป็นห้องโล่งๆ ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย ค่อยมีแอร์และมิกเซอร์อัดเสียง

นอกจากนั้นพวกเรามีโอกาสได้ไปออกงานกับพี่ๆ ทำให้มีโอกาสได้เห็นกระบวนการทำงานทั้งเบื้องหลัง เบื้องหน้าในการโชว์ ฝ่ายซาวนด์ เทคนิคเชียล แบ็กอัป อะไรทุกส่วนที่เขาทำงานเลยเลย มันทำให้เราเข้าใจว่าทุกส่วนทำงานยังไงและต้องการอะไร เราเหมือนไปช่วยยกของแต่ได้รับประสบการณ์เต็มๆ เลยครับ

ช่วงแรกพวกผมเป็นเด็กเกาะเบาะครับ ไปให้พี่ๆ เขาเห็นหน้า..มายืนกันหน้าสลอน แสดงออกสนใจว่าเขาทำอะไรกันน่ะ น่าสนุกจังเลย… ช่วงแรกก็ยกของกันครับ ยกของกันไปกันมาอยู่ดีๆ ก็ได้ไปเล่นแทนเฉยเลยที่มีอยู่ครั้งหนึ่งมีพี่เค้าไม่มา ตอนนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมากจากวันนั้นทำให้วันนี้ไม่สั่น ผมกับโอมจะไปเกาะเบาะมาด้วยกันครับ

โอม: เมฆจะเป็นแบ็กอัปของพิณ ส่วนผมจะไปเป็นแบ็กอัปของกลองครับ ผมก็จะคอยช่วยเสมอไม่ว่าจะช่วยได้หรือไม่ได้ ก็จะรอช่วยก่อนครับ

 

TP: ช่วงที่ช่วยกันคิด มีไอเดียในการเตรียมทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องเพลงไปจนถึงเรื่องแต่งตัว การทำสติกเกอร์โลโก้… อยากให้ช่วยกันเล่าถึงบรรยากาศในการทำงาน

เกรซ: มีหลายบรรยากาศมากเลยค่ะ

เมฆ: ลองให้นึกภาพถึงห้องกระเบื้องเล็กนิดเดียว พวกเราจะเอาไอแพดมาช่วยกันคุยกันแล้วจดสิ่งต่างๆ เก็บเอาไว้ เรื่องการแต่งตัว จริงๆ แล้วจะเป็นแบบใครอยากแต่งอะไรก็แต่ง อย่างสามคนนี้ก็เจน-นุ่น-โบ(หัวเราะ) ผมก็ไม่รู้ยังไงเหมือนกัน พวกเราจะไปที่ตลาดของมือสอง ที่เลยจะมีตลาดคลองถม วันจันทร์ของทุกสัปดาห์ พวกเราก็จะไปเลือกกัน ทั้งตัวผมไม่ถึง 100 บาท เสื้อนี่ 20 บาท

 

TP: วงได้รับการกล่าวขวัญถึงสไตล์การแต่งตัวพอสมควร พวกเราจะเรียกแนวอะไรคะ

เมฆ: อิเหละเขละขละครับ

(ทั้งวงได้ฮาครืนกันอีกแล้ว)

เกรซ: อย่างเวลาก่อนเราไปตลาด เราจะคุยกันมาก่อนแล้วว่าพวกเราจะแต่งตัวแนวไหนดี

เมฆ: ตอนแรกเราคิดว่าจะใส่ชุดนักเรียนเล่นกันปกติ แต่คิดว่ามันเป็นงานสุดท้ายที่จะได้ใส่ เลยเอาสักหน่อย  ทีแรกก็ดีไซน์ไว้แบบหนึ่ง แต่พอไปเดินตลาดแล้วเห็นชุดมันเตะตา คิดว่าใส่แล้วเท่ เท่อยู่แหละ

 

TP: แต่ที่สุดแล้ว คนดู…กองเชียร์ของวง เค้าจะบอกว่าเป็นแนวญี่ปุ่น

เมฆ: ก็อาจจะฟีลแนวๆ นั้น แต่แรกพวกเราคุยกันว่าจะแต่งแนวญี่ปุ่นไปเลยครับ

เกรซ: แบบชุดนักเรียนญี่ปุ่นค่ะ

เมฆ: แต่ที่สุดแล้วเราก็ล้มเลิกความคิดนั้นไปซะอย่างนั้น

 

TP: วงมีไอดอลของวง หรือจะเป็นไอดอลของแต่ละคนเป็นใครกันบ้าง

เมฆ: ของผมชอบวงมายด์ครับ ผมจะได้รับอิทธิพลมาจาก Jacob Collier วง Manchester Orchestra หรือไม่ก็ วง Brother Men ทั้งหมดนี้เลยครับ

โอม: ของผมชอบ Hugo เป็นการส่วนตัว เพลงของเขาทำให้เราหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งได้เลย

ปันปัน: ของปันน่าจะชอบแนวของ Tilly Bird แนวเพลงสากลชอบและฟังเยอะจริงๆ ตัวอย่างก็จะเป็น John Mendes,  Ed Sheeran

จันทร์จ้าว: หนูชอบเสียงของ Illslick และก็ชอบแนวการแร็ปของเขาด้วย มันเสนาะหูนะคะ ซึ่งหนูชอบมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

TP: แต่ละคนดูจะฟังเพลงกันเยอะมากเลยนะคะ

เมฆ: ตื่นมาต้องฟังเพลงครับ ไม่งั้นเหมือนมันขาดอะไรไป ผมเรียนโปรแกรมศิลป์ดนตรี เรียนดนตรีไม่เหมือนเรียน ประสบการณ์มาจากนอกเวลาเรียนเป็นส่วนมาก และจากที่ตามรุ่นพี่ไปช่วยงานนั่นแหละค่ะ ในห้องเรียนไม่ได้เน้นเรื่องพื้นฐาน

เกรซ: เกรซชอบ Tilly Bird ค่ะ

ปันปัน: หนูชอบพี่ Bowkylion เสียงพี่เค้าเพราะมากแล้วการใช้เสียงหลบของพี่เค้าก็เพราะมากด้วยค่ะ

 

TP: การเล่นดนตรี วงทำยังไงที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น…เรียนรู้ด้วยตัวเองหรือยังไงคะ

เมฆ: พอเราทำเพลงกันเสร็จแล้ว เราจะขึ้นโครงกันเอง ลองเล่นแล้วฟังกันเองก่อน จากนั้นครูอู๋จะมาช่วยฟัง แล้วให้ความเห็น แบบนั้นดีกว่าไหม ลองเติมนี้หน่อยไหม ครูอู๋จะเป็นคนทำหน้าที่เป็นกระจกให้กับพวกเรา นอกนั้นก็จะมีรุ่นพี่ๆ ที่กลับมาจากการเรียนที่กรุงเทพฯ ให้ความเห็นกับเราว่าปรับนั่นไหมนี่ไหม ลองดูไหม สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับผลงานของพวกเรา มักจะเริ่มต้นจากคำว่า “ลองดู” ครับ

 

TP: ความสำคัญของครู(ผู้คุมวง)สำหรับสมาชิกในวงคืออย่างไรคะ

เมฆ: สำคัญมากครับ ถ้าไม่มีใคร พวกเราก็ไม่น่าจะมาถึงตรงนี้ ครูเป็นเหมือน god เป็นเทพเจ้าสำหรับพวกเราเลยครับ

โอม: อาจจะแค่ได้เล่นกันอยู่แค่ในห้องเพราะพวกผมเป็นเด็กวงโยฯ

เมฆ: คงจะไม่ได้ออกมาเปิดหูเปิดตาดูโลกกว้างเหมือนอย่างนี้กันครับ ไม่ได้รับมายด์เซตแบบ โอ้โหมีแบบนี้ด้วย รวมทั้งสิ่งที่ครูสอนในแง่การวิเคราะห์ด้วย ผมว่าครูเป็นครูที่สอนดนตรีและยังเป็นครูสอนชีวิตให้กับพวกเรา ครูจะดุในสิ่งที่ควรจะดุครับ

โอม: อีกอย่างหนึ่งที่พวกเรามาแข่งก็ด้วยแรงผลักดันจากครูด้วยครับ ได้เห็นครูตอนสมัยประมาณ ม. 3 ม. 4 ครูเองก็ประกวดดนตรีแล้วครับ ครูทั้งตกเวที…

เกรซ: …ตบแอมป์ แล้วก็ล้มใส่ลำโพง

 

TP: มีอะไรเล่าถึงการทำงานกลุ่มใหญ่ กับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาร่วมพูดคุยด้วยกันกับเราบ้าง

เมฆ: พี่โฟน มือเบสของวงจะเป็นคนที่เป็นแกนหลักในการทำ arrange แรก นักร้องจะใช้คีย์ไหน ดนตรีจะเลือกจังหวะยังไง เป็นคนที่เก่งมากๆ เลยคนหนึ่ง แต่พี่เขาจะไม่ถนัดในการสื่อสารออกมา หรืออีกคน…ลองพูดถึงออร์แกนไหม ออร์แกนเป็นมือคีย์บอร์ดของวง เมื่อก่อนเป็นนักร้อง

เกรซ: ออร์แกนเป็นคนดีค่ะ ตอนซ้อมพี่เขาตั้งใจมากๆ

เมฆ: งานนี้เป็นงานแรกที่เขาเล่นในตำแหน่งคีย์บอร์ด เริ่มฝึกตั้งแต่ศูนย์เลย…และฝึกด้วยตัวเอง คือมันมีใจมาก ซ้อมทั้งวันทั้งคืน (เอ้า ไอดอลอยู่ในวงนี่เอง) ส่วนโอม ก็เหมือนกันแค่อยากลองเพอร์คัชชัน เลยติดตีกลองไปเลยครับ ส่วนนี่ก็ลองร้องเฉยๆ แล้วก็ติดไปเลย

 

TP: ฟังดูก็เหมือนจะได้ส่วนผสมที่ลงตัว

จันทร์จ้าว: พูดถึงมือพิณค่ะ ดูเหมือนน้องจะชอบอาหาร แต่เรื่องดนตรีของเขาสุดยอด แบบเล่นได้เลยว่าเล่นยังไง น้องเค้าเล่นพิณมาตั้งแต่ประถม

โอม: แล้วเขาก็เป็นมือเบสวงโปงลางด้วย

จันทร์จ้าว: แต่จริงค่ะ ที่เค้าจะแข่งกันมาสายกับหนู (เมฆรีบบอกว่านัดกันบ่ายโมง ชี้จันทร์จ้าวว่าคนนี้จะมีบ่ายสองครึ่ง ส่วนมือพิณของวงมาสี่โมงเย็น)

 

TP: ทำไมมันจะต้องมีเอกลักษณ์ขนาดนั้นคะ

เกรซ: เค้าบอกจะอาบน้ำแต่จริงๆ เล่นโทรศัพท์อยู่

 

TP: อะไรคือความโดดเด่นของวง Huuki Huuda

เมฆ: คิดว่าเรามีความโดดเด่นในเรื่องของการผสมผสาน เล่นกันหลากหลายแบบแล้วเอามารวมกัน เป็น experimental ที่ไม่ใช่ experimental

 

TP: แต่พอได้ดูทุกคนขึ้นเวทีเล่นเพลงของวง ความรู้สึกแรกที่ชัดมากเลย คือทุกคนมีความสุขกันมากเลย …ทำอย่างไรให้ความกดดันหายไปคะ

เกรซ: ความกดดันก็มีค่ะ แต่บางครั้งไปซ้อม ไม่มีไฟที่จะซ้อมกัน…

เมฆ: …ก็เปิดไฟ

(ตึ่ง-โป๊ะ! ทุกคนช่วยกันประสานเสียง)

โอม: ก่อนขึ้นเวทีพวกเราตื่นเต้นกันทุกคนครับ แต่พอขึ้นเวทีปั๊บ เราต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าใครจะมาเสนออะไรหรือใครจะเป็นยังไง ไม่ต้องยุ่ง เพราะเวทีนี้เป็นเวทีของเรา

เมฆ: This is my stage, look at me คิดแบบนี้ครับ

จันทร์จ้าว: ตอนแรกหนูก็อยากจะนอนบนเวทีแต่หนูกลัวจะไม่สุภาพ หนูเลยไม่นอน แต่จริงๆ หนูอยากทำอย่างนั้นใจจะขาดเลยค่ะ ไม่ใช่เพื่อนๆ ห้ามไว้แต่หนูต้องห้ามตัวเองค่ะ

(ฮากันทั้งหมด)

เกรซ: พอเล่นจบจะรู้สึกว่าหมดความกังวลแล้ว รู้สึกว่ายังอยากเล่นต่อไปอีก อยากมีเวลาอีก

TP: การได้เล่นดนตรีบนเวทีมันต่างจากการได้เล่นดนตรีในทุกๆ วันของทุกคนยังไงคะ

เมฆ: ต่างตรงที่สายตาคนดูที่พวกเราไม่เคยได้รับมาก่อนครับ ปกติเราเล่นดนตรีอยู่ในห้องซ้อม นอกจากจะมีพวกเรากันเองแล้ว นอกนั้นก็จะเป็นคนรู้จัก ซึ่งมันทำให้พวกเราไม่กล้าใส่สุดลงไปในเพลงที่เล่นกันอยู่ กลับกันพอมาแสดงบนเวทีนี้ ซึ่งเราไม่รู้จักใครแล้วก็ไม่มีใครรู้จักพวกเราเลย เรากลับรู้สึกว่าเราใส่สุดได้  แล้วผมก็จะเล่นดนตรีด้วยความรู้สึกว่าคนจะได้รู้จักผมวันนี้แหละ

โอม: (แซวกันเอง) เนี่ยใครน่ะ?

หลายคนช่วยกันตอบ: Huuki Huuda ไง

(ฮาครืนกันอีกรอบ)

 

TP: คิดว่าความสุขที่ได้รับจากการรวมตัวเป็นวงกันมาประกวดคืออะไรคะ ช่วยอธิบายความรู้สึกนั้นให้ฟังหน่อย

เกรซ: หนูรู้สึกว่าทุกคนจะได้แกะเปลือกตัวเองออกมา ให้เห็นคาแรกเตอร์ที่อยู่ภายใน ได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา บางทีก็เป็นการที่พวกเราทุกคนรู้สึกร่วมกับการแสดง หลักง่ายๆ คือพวกเรารู้สึกยังไงกันเองก่อน แล้วคนดูหรือคนฟังที่อยู่ข้างล่างเวทีเขาจะได้สัมผัสกับสิ่งนั้น

เมฆ: เราคิดแบบนี้ครับ…ตอนซ้อมให้คิดว่าเราอยู่บนเวที ส่วนตอนเล่นอยู่บนเวที ให้เราคิดว่ากำลังเล่นอยู่ในห้องซ้อม เล่นเหมือนซ้อม ซ้อมเหมือนเล่น

โอม: แล้วอีกอย่างหนึ่งครับ คือพวกเราไม่ได้มาในนามนักเรียน แต่มาในนาม “ศิลปิน” นะครับ

เมฆ: มันแตกต่างจากคำว่านักเรียนมาเล่นดนตรี เราอยากมาเสิร์ฟ… ยกตัวอย่างการเสิร์ฟอาหารก็ได้นะครับ เสิร์ฟอาหารแช่แข็งเข้าไมโครเวฟก็ได้นะครับ แต่พวกเราอยากเป็นอาหารสด กุ้งเด้งๆ เอามาให้ทุกคนได้กินกัน

เกรซ: มันเหมือนได้มาแสดงศักยภาพค่ะ รู้สึกว่าทุกคนมีความสุข

จันทร์จ้าว: หนูมองเป็นเรื่องความผูกพันมากกว่า อย่างเช่นพอช่วงเย็น ก็ต้องมาซ้อมที่นี่นะ กับเพื่อนๆ กลุ่มนี้ จากคนที่สะเปะสะปะไปเรื่อย วงนี้ทำให้หนูมีความสุขที่ได้อยู่ในวงนี้

เมฆ: คือถ้าเราไม่ได้ซ้อมดนตรี พอเลิกเรียนไปนั่งเล่นกันสักนิดแล้วกลับบ้าน มันเป็น Safe Space ที่เรามีความสุขจริงๆ และอยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ ทุกคนไว้ใจได้ และเป็นที่ที่แต่ละคนได้เป็นตัวเองที่สุดเลย

 

TP: การเป็นพี่ใหญ่กับการเป็นนักร้องนำ ที่ทำหน้าที่ผู้นำของวง สำหรับจันทร์จ้าวแล้วเป็นยังไงคะ

จันทร์จ้าว: เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มากๆ เลยค่ะ

 

TP: ส่วนมากเป็นพี่ดูแลน้อง หรือน้องๆ ช่วยกันดูแลพี่คะ

จันทร์จ้าว: ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้องๆ ดูแลพี่มากกว่านะคะ ความที่หนูไม่ค่อยรู้อะไร หนูจะมีคำถามถามเพื่อนๆ ในวงอยู่ตลอด อันนี้คืออะไรเหรอ อันนี้คือยังไง…อย่าง อะไรคือ G Minor …น้องๆ จะช่วยตอบหนูให้

 

TP: มีใครในวงบ้างคะ ที่อยากมีอาชีพทางด้านนักร้องนักดนตรี

จันทร์จ้าว: หนูค่ะ

โอม: ผมอยากเป็นนักดนตรีนี่แหละครับ อยากทำเพลงออกมาให้คนฟังแล้วยิ้ม ส่วนที่เรียนวิทย์-คณิต…มันเป็นความรับผิดชอบครับ

ปันปัน: หนูอยากเป็นนักจิตวิทยาค่ะ หนูอาจจะอยากมีอาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพเสริมในอนาคต และยังเสริมความสุขให้ชีวิตของเราด้วยค่ะ

เกรซ: สิ่งที่หนูอยากทำ มีนะคะ แต่มันไม่ค่อยสอดคล้องกับดนตรีเท่าไร หนูชอบที่ได้มาร้อง ถ้าหนูได้เรียนคณะที่หนูชอบ เวลาเครียดหนูก็จะมาร้องเพลง หนูอยากเรียนไม่แพทย์ก็ทันตะฯ ค่ะ หนูเลยเลือกเรียนวิทย์-สุขภาพ เพราะมันเรียนหนักดีค่ะ หนูชอบเวลาที่หนูป่วยแล้วเห็นหมอ หมอเท่มากเลย สามารถต่อชีวิตคนคนหนึ่งได้นานเลย

จันทร์จ้าว: หนูอยากเปิดร้านเหล้าค่ะ อยากเป็นเจ้าของร้านเหล้าค่ะ หนูอยากฟังเพลงค่ะ (ทุกคนแทบจะประสานเสียงแซวว่า “ฮูขี้…”) อะไรล่ะ ก็ร้านเหล้าก็จ้างนักร้องมาร้องเพลงไง หนูอยากไปอยู่ในบรรยากาศที่เราชอบ

 

TP: ตอนวงอื่นขึ้นเล่นบนเวที พวกคุณอยู่ข้างเวทีด้วยความรู้สึกยังไงคะ

เมฆ: รู้สึกว่าวงอื่นๆ เค้าน่าจะสนุกกันน่าดูเลย อีกอย่างข้างบน(เวที)ก็เล่นกันดุมากเลยครับ เราศึกษาการประกวดของวงในปีที่ผ่านมา ส่วนมากดูข้อเสียก่อนเลยว่าแต่ละวงเค้ามีข้อเสียอะไรกันบ้าง แล้วเราก็จะเอามาบอกกับพวกเราว่า “อย่าทำเรื่องพวกนี้” หรือดูมาตรฐานของวงในปีที่ผ่านมา มีส่วนที่พวกเราทำการบ้านส่วนนี้กันหนักมาก หนักจริงๆ ครับจนไม่สนใจการบ้านจากการเรียนของตัวเอง

 

TP: ช่วยกันทิ้งท้ายหน่อยว่าสมาชิกมารวมวงกันด้วยความรักที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบด้วยกัน การประกวดช่วยให้เราดีขึ้นไหม เก่งขึ้นไหม…อย่างไร ทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรไหมคะ

เมฆ: เราน่าจะได้ประสบการณ์ให้กับตัวเองกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการได้ “ชั่วโมงบิน” จะสูงขึ้น แล้วก็ยังจะได้เจอและรู้จักคนใหม่ๆ และได้รู้ว่าโลกดนตรีใบนี้มันกว้างมาก

 

การที่ HUUKI HUUDA ผ่านเข้ารอบไปถึงยังเวทีไฟนอลได้ สำหรับพวกเขาแล้วรางวัลไม่ได้มีความหมายเท่ากับโอกาสที่เกิดได้ขึ้นจริงด้วยมือของพวกเขาเอง…กับความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ซึ่งนับตั้งแต่การเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขึ้นเวทีก็มีความหมายสำหรับเด็กๆ ที่พื้นฐานการใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัดแล้ว พวกเขายอมรับว่าเวทีประกวดที่ผ่านมาทำให้แต่ละคนเติบโตขึ้นไม่น้อย ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้จะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ และสำหรับก้าวต่อไป วงกำลังเตรียมเรื่องของการประกวดในปีนี้อีกด้วย

Author

นันนภัสร์ สีหราช

Author

นักเขียนอิสระ รักการอ่าน การฟัง การชม นิยมเรื่องเล่าให้แรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวผ่านบุคคล ดนตรี ศิลปะ หรืออาหาร

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ