Passion

ทำไมถึงรักวันพุธ!?!
สนทนาใสๆ กับวงวัยทีน
I Love Wednesday

ศรัณย์ เสมาทอง 28 Apr 2023
Views: 659

“เราเป็นเด็กวงโยฯ กันอยู่แล้วครับ เขามีประเพณีมาจากรุ่นก่อนๆ ให้มีวันหยุดเป็นวันพุธ”

“วงเราก็เลยหยุดวันพุธด้วย”

“วันพุธตั๋วหนังถูกค่ะ”

“เรารักวันพุธมาก”

“อะ ตั๋วหนังถูก เราก็ไปดูหนังกันดีกว่า”

โอยยยยย แค่คำถามแรกว่าทำไมวงชื่อ I Love Wednesday เจอน้องๆ รุมตอบเหมือนทัวร์ลง นี่ดีนะที่มาคุยกันแค่ 7 คน ถ้ามาครบทั้งวง 12 คนนี่คงจะเซ็งแซ่กว่านี้

“ดนตรีสร้างความสุขให้เราได้ แต่ละเพลงยังมีความหมายที่แตกต่างกัน

ซึ่งถ้าเจอเพลงที่ใช่ อาจช่วยให้คนที่จิตใจย่ำแย่ รู้สึกสนุกช่วยฟื้นฟูจิตใจได้”

วง I Love Wednesday
โรงเรียนโยธินบูรณะ

 

ต้นเสียงสดใสสมวัยคงไม่เกิน ปิ๊งปิ๊ง รัสริณณ์ พัฒนพลวิชญ์ นักร้องหญิง เด็กนักเรียนชั้น ม.3 มาคู่กับนักร้องชาย ก้องภพ พรมโคตร คนนี้เพิ่งอยู่ ม.2 เอง “พอดีผมสอบโควตาความสามารถพิเศษเข้าโรงเรียนด้วยการร้องเพลง แล้วเป็นนักร้องคนเดียวของปีนั้นด้วย ครูเลยจับเข้าวงตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วครับ” ปิ๊งปิ๊งรีบบอกว่า ตนเองก็เข้ามาด้วยโควตาความสามารถพิเศษร้องเพลงเหมือนกัน แต่ถ้าใครจำได้น้องปิ๊งปิ๊งเธอผ่านเวทีระดับประเทศมาหลายรายการแล้ว

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม I Love Wednesday วงดนตรีที่มีนักร้องอยู่ ม.ต้น กับนักดนตรีที่เกือบทั้งหมดอยู่ ม.ปลาย จากโรงเรียนโยธินบูรณะ ก็วาดลวดลายจนได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2022 Season 2 ที่จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์
ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

ต้องมีอะไรดีมากกว่าความสดใสวัยทีนแน่ๆ

 

หนึ่งปี…ห้าเวที

โรงเรียนโยธินบูรณะขึ้นชื่อเรื่องดนตรี ทั้งวงโยธวาทิต ดนตรีสากล รวมดนตรีไทยเข้าไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีห้องเรียนพิเศษเกี่ยวกับดนตรีอะไรเลย ชมรมดนตรีก็มีสมาชิกไม่มาก เพราะเขาต้องการกระจายนักเรียนไปตามชมรมต่างๆ ซึ่งที่นี่มีชมรมอยู่จำนวนร่วมร้อยชมรม

“ถ้าชมรมดนตรีสากลมีแค่ 50 คนเท่านั้นเอง ม.ต้น กับ ม.ปลาย อย่างละ 25 คน” ครูแอ๊นท์ –
ณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง
ครูวิชาดนตรีสากล บวกตำแหน่งครูดูแลควบคุมวงโยธวาทิตและวงสตริงเล่าให้ฟัง “เราให้เลือกชมรมผ่านทางออนไลน์ ใครเร็วก็ได้ไป คนที่อยากเล่นดนตรี แต่มาลงชมรมไม่ได้ก็เยอะอยู่นะ ก็เลยจัดเวทีให้ได้ลองเล่นกัน”

ในหนึ่งปีการศึกษาโรงเรียนจะจัดเวทีให้น้องๆ ได้ขึ้นเล่นดนตรีถึง 5 เวที ฟังตัวเลขเหมือนไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าเทอมหนึ่งของน้องๆ มัธยม ระยะเวลาแค่ 3 เดือนนิดๆ นั่นหมายถึงมีเวทีให้เล่นแทบทุกเดือน

“เทอม 1 มี 2 เวที เทอม 2 มี 3 เวที เทอมแรกนักเรียน ม.1 กับ ม.4 เพิ่งเข้ามาใหม่ เพิ่งเริ่มฟอร์มวงกัน เราก็ไม่คัดกันเข้มเท่าไร ให้โอกาสได้ลองเล่นกันเต็มที่ แต่พอเทอมสองอย่างเวทีวันเด็ก เราจะทำ
การออดิชันอย่างเข้มข้น จริงจัง ใครจะได้ขึ้นเล่นต้องผ่านการซ้อมมาอย่างหนัก”

เอาเป็นว่า…ที่นี่มีน้องที่เล่นดนตรีได้รวมนับเป็นสิบเครื่องเลยล่ะ

 

นักดนตรีวัยใส

“หนูร้องเพลงมาตั้งแต่ 6 ขวบ” ปิ๊งปิ๊งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักร้อง “จริงๆ ตอนอยู่ในท้องแม่ พ่อหนูชอบร้องเพลงให้แม่ฟัง พอเกิดมาจนพูดได้ หนูก็ได้ร้องเพลงเล่นกับพ่อ จากนั้นก็เรียนร้องเพลงจริงจัง”

“พ่อผมก็ร้องเพลงเหมือนกัน เลยสนับสนุนให้ผมร้องด้วย” ก้องภพนักร้องชายก็ไม่ต่างกัน “ผมรู้สึกว่าเป็นนักร้องมันเด่นดี อยากโชว์ อยากอยู่แถวหน้า ผมร้องเพลงตั้งแต่อนุบาลเลยนะ”

มาทางพี่ๆ ม.ปลายบ้าง อย่าง โฟน – เบญจพล รอดอารีย์ อยู่ในวงเล่นทั้ง อัลโต้และเทเนอร์
แซกโซโฟน “ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่ ป.3 ตอนแรกเล่นสแนร์มาก่อน แล้วเกิดอยากลองเล่นอย่างอื่นบ้าง ก็ไปลองคีย์บอร์ด…รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้า มันใช้มือมากไปหน่อย เลยมาลองเล่นอัลโต้แซกโซโฟน รู้สึกดีเพราะสำเนียงของเครื่องดนตรีมันเป็นเสียงสูง เราสามารถบังคับสำเนียงให้ไปตามเพลงได้ จะเล่น แจ๊ส เล่นลูกทุ่ง ก็ได้หมด” ในขณะที่มืออัลโต้แซกโซโฟน อีกคน ฟิล์ม – ก้องภพ อมฤตธานนท์ ก็เอ่ยเสริม “แต่เริ่มเล่นแซกโซโฟนตั้งแต่ ป.5 เลยครับ พอเข้ามัธยมมาก็พยายามพัฒนาฝีมือให้มากขึ้น” พอถามว่าพัฒนาไปถึงขั้นไหน ฟิล์มก็ตอบยิ้มๆ “ก็ความสามารถเทียบเท่า ม.6 ครับ” ถ่อมตัวจริงนะน้อง

เบียร์ – วรากร ผดุงทศ มือกีตาร์คนนี้ดูจะสนใจหลายอย่าง “ผมเล่นกีตาร์ตั้งแต่ ป.4 เล่นได้ปีสองปีก็เลิก มาเป่าแซกโซโฟนแทน แล้วเพิ่งกลับมาเล่นกีตาร์จริงจังอีกทีตอน ม.4  แซกโซโฟนก็ยังเล่นได้อยู่ แต่ถ้าถามว่าเล่นอะไรเป็นหลักก็คือกีตาร์ครับ”

ส่วนมือคีย์บอร์ด แซมเปิล – ศิวกร แพร่แสงเอี่ยม เขาก็ยังเล่นแคลริเน็ตอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับ เพชร – ตรีเพชร กี่ศิริ  มือเบส ที่บางครั้งก็เห็นเล่นเฟรนช์ฮอร์นด้วย

ความน่ารักของเด็กๆ โรงเรียนนี้คือ นักดนตรีรุ่นพี่จะเป็นคนสอนรุ่นน้อง เนื่องด้วยเด็กอยากเล่นดนตรีกันเยอะ ครูอาจรับมือไม่ทัน รุ่นพี่ก็จะอาสาเข้ามาช่วยสอนตั้งแต่โน้ต ทฤษฎีดนตรี  คอร์ดเพลง ให้พื้นฐานกับน้อง ไม่ต้องมากั๊กวิชากัน

“แต่ละคนมีจุดเด่นไม่เหมือนกันครับ” เสียงน้องผู้ชายเอ่ย เรามองไม่ทันว่าเป็นใคร แต่เรียกรอยยิ้มได้กว้างเชียว

the way for tomorrow”

ความสดใสร่าเริงดูจะเป็นสิ่งที่เขาเลือกมานำเสนอ ระหว่างบทเพลงเราจะได้เห็นนักดนตรีวาดลวดลายไม่แพ้นักร้อง มีการแสดง มีอุปกรณ์ประกอบเพื่อเล่าเรื่องราวของบทเพลงนั้นด้วย “กลุ่มเครื่องเป่าไม่รู้จะเรียกเครื่องเป่าหรือแดนเซอร์ดี รู้สึกว่าขโมยซีนมากๆ แต่ก็สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับโชว์” กรรมการท่านหนึ่งเอ่ยชมหลังการแสดงจบลง

“เราพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องการแสดงลงไปในบทเพลง ทั้งการเต้นการแสดงหน้าเวที  ทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมกับเพลงมากขึ้น” ฟิล์มพูดจริงจัง เพราะเขาต่างรู้ว่าทุกวงทุกโรงเรียนเก่งๆ ด้วยกันทั้งนั้น การสร้างคาแรกเตอร์ตัวเองให้ชัดเจน น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูสายตาคนดูและกรรมการได้

แซมเปิล บอกว่า พวกเขาไปดูงานอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ตมาเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นทำนอง สัดส่วนจังหวะเพลง แล้วมาคุยกันเพื่อหาจุดร่วมที่ลงตัว “เรารวมกันโหวต ฟังทุกเพลงที่เขามีให้เลือกแล้วมาโหวตกัน” เพชรพูดถึงการเลือกเพลงก่อนนำไปเสนอครูแอ๊นท์ ครูก็จะช่วยแนะนำว่าสิ่งใดเหมาะ สิ่งใดไม่ควร แนะทางออกให้ลองเล่นกัน

“อย่างเพลง อาหมวยหาย เราเพิ่มแร็ปเข้าไป เมโลดี้ไม่เหมือนต้นฉบับด้วยนะ เปลี่ยนอารมณ์เพลงไปเลย” ปิ๊งปิ๊งกับก้องภพนักร้องนำของวงช่วยกันเล่า “อยากสื่ออารมณ์ที่ต่างไป ของเดิมชายหนุ่ม
จีบอาหมวยดูใสๆ น่ารักๆ ก็อยากมาเปลี่ยนให้คนที่มาจีบเป็นหนุ่มแบดๆ หน่อย กวนๆ ให้เข้า
คาแรกเตอร์จริงๆ ของนักร้อง” พูดถึงความกวนของตัวเองแล้วก็แอบขำตัวเองอยู่ในที “เราเปลี่ยนสัดส่วนทั้งหมดของเพลง จนเราจำออริจินัลไม่ได้แล้ว”

เพลง “อาหมวยหาย” ของ I Love Wednesday จึงมีกลิ่นอายฟังก์บวกแร็ปเบาๆ พอให้คนในวงโชว์ สเตปโยกย้ายได้บ้าง

แล้วเพลง “ถ้าเธอไม่ไหว” เป็นยังไงบ้างครับ….น้องๆ แย่งกันตอบเหมือนเดิม

สรุปความได้ว่า พวกเขาจะพยายามบอกให้คนที่ท้อแท้มีพลังบวก มีกำลังใจ  มีเปลี่ยนเนื้อเพลงไทย เป็นอังกฤษ จีน ให้คนชาติอื่นได้มีกำลังใจไปด้วยกัน โอ!! ไม่ธรรมดา “ดนตรีมันสร้างความสุขให้เราได้ ทำให้เราอินไปกับเพลงเพลงนั้น เพราะแต่ละเพลงมีความหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าเจอเพลงที่ใช่ อาจช่วยให้คนที่จิตใจย่ำแย่ รู้สึกสนุกช่วยฟื้นฟูจิตใจได้” เบียร์กล่าวนุ่มๆ

ส่วนปิ๊งปิ๊งขอร้องเพลงให้ฟังแทนคำอธิบาย

“จับมือฉันไว้ จะพาเธอผ่านไปวันพรุ่งนี้

ถ้าเธอไม่ไหว ค่อยเริ่มใหม่อีกที

และฉันคนนี้จะไม่ไปไหนไกล

So hold my hand. We’ll find the way for tomorrow.

If it is too hard. It starts that you go.

And as you know I’m here with you.”

ส่วนภาษาจีนที่เธอก็โชว์ความสามารถไว้ด้วยนั้น สุดความสามารถเราที่จะแกะออกมาเป็นคำให้ได้อ่านกัน

 

ฝันนั้นยังไกล

ความหวังกับเวทีประกวด “เราซ้อมมาขนาดนี้แล้วก็ต้องหวังบ้าง ถ้าได้นี่กรี๊ดแตกเลยนะคะ” ปิ๊งปิ๊งแชร์ความรู้สึกก่อนใคร ส่วนแซมเปิลมานิ่มๆ “ผมว่ามันได้ประสบการณ์แล้วนะ ตอนแรกผมเป่าแคลริเน็ต ไม่ได้เล่นคีย์บอร์ด คอร์ดก็จำไม่ค่อยได้ แต่พอมาลงประกวดตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็พยายามจำคอร์ดให้ได้มากขึ้น ได้เล่นคีย์บอร์ดมากขึ้น เคยถามตัวเองเหมือนกันว่าทำไมยังเล่นดนตรีอยู่ คือผมมีความสุขที่ได้เล่นกับทุกคนในวง ได้โชว์ ได้เดินไปมาถึงปลายทางของงานๆ หนึ่ง ก็รู้สึกว่าตรงนั้นมันมีความสุขและสนุกที่ได้ทำ อยากเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ”

ทางด้านพี่ ม.6 มองว่า “นี่ก็เป็นเวทีใหญ่ที่สุดในชีวิตการเล่นดนตรีของผม และเป็นปีสุดท้ายในโรงเรียนแล้ว อาจไม่ได้เจอกับรุ่นน้องอีก (ฮืออออ…น้องๆ ส่งเสียงร้องไห้ระงม) ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้วครับ”

ฟิล์มดูนิ่งไป “ผมฝันว่าก่อนจบ ม.6 อยากไปรายการใหญ่ๆ พร้อมทุกคน เพราะจบ ม.6 ผมคงไม่ได้จริงจัง ดนตรีสำหรับผมหลังจบ ม.6 คงเป็นแค่งานอดิเรก เพราะคงต้องเดินสายการตลาด”  โฟนก็ไม่ต่างกัน “เมื่อก่อนชอบดนตรีเพราะเสียงดนตรีทำให้ผมผ่อนคลาย ชอบทำนอง จังหวะ พอเห็นคนอื่นเล่นก็คิดว่าเราจะเล่นได้แบบเขาไหม  พอวันนี้มาเล่นแล้วรู้สึกอินกว่าฟังคนอื่นเล่นอีก แต่ถ้าพูดถึงอนาคต ผมอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ครับ คงไม่ได้เป็นนักดนตรีแบบจริงจัง”

ทางคนที่มุ่งมั่นสายดนตรีก็มี เบียร์อยากเป็นกีตาร์มืออาชีพ “ฝันว่าจะมีคนรู้จักเรา อยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ ติดอันดับ Top” ก้องภพนักร้องชายก็ตั้งใจจะเป็นศิลปินนักร้อง “อยากมีเพลงเป็นของตัวเองครับ” ส่วนปิ๊งปิ๊งชัดเจนมาตั้งแต่เด็กแล้ว “อยากเป็นศิลปิน ชอบร้องเพลง ไม่ชอบอย่างอื่นแล้ว เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีและมีความสุข ถ้าเราต้องทำอาชีพที่เราไม่มีความสุข มันก็ไม่อยากทำ ทำอะไรที่เราชอบดีกว่าค่ะ”

เพชรมือเบสเปิดเผยความในใจ “ในอนาคตหลังจากจบไป ผมอยากให้กลับมารวมตัวกันอีก แล้วสร้างเป็นวงดนตรีที่จริงจัง” เอ้า มีคนจริงจังแล้ว จำชื่อน้องๆ กันไว้นะ

อีกไม่กี่ปีอาจมีศิลปินร่าเริงสดใสประดับวงการก็เป็นได้

ไปดูหนังกันดีกว่า

ใครบางคนในวงกล่าวทิ้งท้าย “ที่เรามารวมตัวกันได้เพราะครูเห็นศักยภาพของทุกคน คนนี้เล่นเบสได้ เล่นกีตาร์ได้ หรือเครื่องมืออื่นๆ ทุกคนมีแนวทางคล้ายกันไม่ต้องปรับเยอะ” ปีที่ผ่านมาน้องๆ เดินทางมาลึกถึงรอบชิงชนะเลิศ ปีนี้คนในวงอาจหายไปเยอะ เพราะถึงเวลาไปโลดแล่นในระดับมหาวิทยาลัยกันแล้ว

สัญญา ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นใดๆ ในการจะมารวมวงกันอีกครั้ง อาจมั่นคงจนเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต เพราะเส้นทางยังอีกยาวไกลนัก

ในวันโรงเรียนเปิดเรียน ถ้าใครผ่านไปทางโรงเรียนโยธินบูรณะ ช่วงหลังเลิกเรียนจะได้ยินเสียงซ้อมดนตรีแน่ๆ นั่นอาจเป็นน้องๆ วง I Love Wednesday เจเนอเรชันใหม่กำลังซ้อมอยู่ แต่ถ้าผ่านไปแล้วเสียงเงียบ! เดาได้เลยว่าเป็นวันพุธ!!

“ตั๋วหนังถูก เราก็ไปดูหนังกันดีกว่า” ครับผม!!!!

• กลับไปทำความรู้จักนักร้องนำหญิงเสียงทรงพลังของวง I Love Wednesday ที่เราเคยสัมภาษณ์เธอไว้ อ่านเรื่องราว “ปิ๊งปิ๊ง สาวน้อยเสียงใสฯ” ได้ที่ คลิก

• “It’s Possible, Music Makes Life Possible” พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 กำลังเปิดรับสมัคร สนามกรุงเทพฯ เปิดรับสมัครจนถึง 5 พฤษภาคม 2566 สนามขอนแก่นเปิดรับสมัครถึง 26 พฤษภาคม 2566 และสนามเชียงใหม่เปิดรับสมัครจนถึง 16 มิถุนายน 2566 การแข่งขันในปีนี้สำหรับ Class A (รุ่นมัธยมศึกษา) ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันเดียวกันเท่านั้น และ Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป) ติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th/thepowerband / Facebook: thepowerband.mahidol

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ