Passion

“เจ มณฑล” บนเส้นทางสายดนตรี
ที่วาดไว้ด้วยตัวเอง

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 15 May 2023
Views: 516

เจ – มณฑล จิรา ในวันเวลาของยุค 90 เขาคือนายแบบและนักแสดงขวัญใจวัยรุ่นเบอร์ต้นๆ ของบ้านเรา แต่ความชอบและความหลงใหลในเสียงดนตรีทำให้เขาเลือกขยับออกจากสปอตไลต์ ถอยไปศึกษาและทำงานดนตรีจริงจัง ทั้งมีวงดนตรีของตัวเองที่ชื่อ Kenna ไปเป็นคนเบื้องหลังให้หลายศิลปินไทย อย่าง Slot Machine ฮิวโก้ – จุลจักร จักรพงษ์ เป้ อารักษ์ และอีกมากมาย โดยเขามีเป้าหมายในชีวิตว่าอยากจะเป็นศิลปินตัวจริง  เขาใช้เวลากว่ายี่สิบปี ในการมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างหนัก ยอมไม่แต่งงาน!…ยอมไม่มีครอบครัว! เพื่อให้ถึงเป้าหมายในการทำผลงานที่วางไว้

เราได้โอกาสชวนเขาคุยทุกเรื่อง ทั้งสิ่งที่กำลังทำ สิ่งที่อยากทำ และสิ่งที่จะไม่ทำ

“คนมักจะมองที่หน้าตาผมก่อนผลงานเพลงมาตลอด ผมก็เลยต้องทำงาน ต้องพิสูจน์ตัวเอง”

เจ – มณฑล จิรา ศิลปิน

 

แล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่ออัลบั้มล่าสุด “ด้วยความเคารพ” ของเขาสำเร็จออกมาสมใจ พร้อมคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม บนเวที สีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 32 มาครองได้สำเร็จ และสิ่งที่ตอกย้ำในความสำเร็จของเขาให้เด่นชัดยิ่งขึ้นก็คือ อัลบั้มนี้ เขาทำทุกอย่างคนเดียว

แน่นอนว่าเขาคนนี้เป็น “ศิลปิน” และที่แน่ๆ อีกสิ่งคือ…หลังๆ มานี้ เขาไม่ได้ค่อยได้ให้สัมภาษณ์สักเท่าไร

 

 เรื่องไม่(เคย)ง่าย ของชีวิตเจ มณฑล

ใครจะเชื่อว่าเส้นทางที่เขาเลือกเดินนี้ไม่ได้ง่าย เพราะความหน้าตาดีกลายเป็นอุปสรรคโดยไม่ตั้งใจ เลยทำให้หลายๆ คนโฟกัสที่คุณสมบัติหน้าตาของชายคนนี้มากกว่าผลงานเพลงของเขา…และเรื่องนี้ เจเป็นคนเล่าให้เราฟังด้วยตัวเอง

“คนมักจะมองที่หน้าตาผมก่อนผลงานเพลงมาตลอด ผมก็เลยต้องทำงาน ต้องพิสูจน์ตัวเอง ตั้งแต่ผมเริ่มมาทำงานเบื้องหลัง ผมต้องทำงานหนักกว่าทุกคน เพราะว่ายังไม่ทันเริ่มเลยเราก็จะถูกตัดสินแล้วว่าผลงานไม่น่าดี คนนี้เขาหน้าตาดี เขาควรจะเป็นนายแบบเป็นนักแสดงต่อไป และส่วนมากที่เราเห็นเปอร์เซ็นต์มันเยอะ ที่คนหน้าตาดีมาจากเบื้องหน้าพอมาทำเบื้องหลังส่วนมากจะห่วย

เราก็เลยต้องพิสูจน์ เราต้องทำงานที่ต้องดีกว่าของเขาสองเท่า เขาถึงจะ เฮ้ย! คนนี้เขาอาจจะไม่ได้มีดีแค่หน้าตาก็ได้ อาจจะมีอะไรอยู่ เราต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นให้ดีกว่าเขาเยอะๆ เลย เพื่อให้รู้สึกว่าเราเท่ากัน ไปเปรียบเทียบกับเขาได้ ถ้าเราอยู่เท่ากันกับเขา เขาจะอ้อ! ก็เพราะหน้าตา เราต้องดีกว่าเขาเยอะมากๆ เขาถึงจะโอ้! คนนี้เก่ง”

TP: ยังไงคนก็มองว่าเจเดินทางมาเป็นศิลปินมันง่าย
เจ:
ใช่ แต่มันยาก เราทำดูเหมือนไม่ยากใช่ไหม เราไม่ลำบาก มีตังค์อยู่แล้ว ครอบครัวสนับสนุนแล้วก็หลายๆ อย่าง แต่พอเราเข้าไปคุยกันจริงๆ เขาบอกอ๋อ ยากว่ะ เขาถามว่าใช้ชีวิตยังไง เราต้องเสียสละหลายๆ อย่างเพื่อมาทำตรงนี้ได้ ตัวอย่างง่ายๆ เลย เรายังไม่มีครอบครัว เราไม่คิดจะแต่งงาน ถ้าอยากจะทำงานตรงนี้เพื่อไม่อยากให้มันเครียด เราต้องตัดตรงนั้นทิ้งไป ยิ่งถ้าอยากจะเป็นครีเอทีฟแล้วไม่ได้อยากทำเพลงที่มัน commercial เพื่อที่จะไปเล่นในผับ เพื่อที่จะมีรายได้เข้ามาตลอดเวลา เพื่อมาเลี้ยงลูกได้… เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำแบบไหน

รู้มาตั้งแต่ตอนเราเรียนมหาวิทยาลัยว่า ถ้าเลือกทางนี้มันมีหลายๆ อย่างที่เราต้องเสียสละ เพื่อที่จะทำตรงนี้ให้มันสนุก นั่นง่ายหรือเปล่า ถ้ามองมาระยะยาวเนี่ยยาก แต่ว่าในเมื่อเราเริ่มเร็ว ตั้งแต่ตอนเด็กๆ และทำโดยไม่เครียด  ไม่ได้ต้องมาลำบากกับมัน เราเห็นเพื่อนๆ ที่มีลูกแล้วเขาต้องไปรับงาน ไปทำงานอย่างอื่น เขาเลือกไม่ได้ แต่เพื่อที่จะมีโอกาสที่จะเลือกได้ เราต้องตัดหลายๆ อย่างทิ้งไปเลย ยากหรือง่ายก็แล้วแต่คนจะคิด

 

เรื่องราวเล็กๆ ของเจ – มณฑล

● ทุกวันนี้เขาเป็นชายหนุ่มที่ไม่ดื่มเหล้า:
ไม่สูบบุหรี่ เล่นโยคะ และเข้านอนตอนสี่ทุ่ม

ผลงานมาสเตอร์พีซของเจ:
“ด้วยความเคารพ” เป็นอะไรที่ครบที่สุดของผมละ ทุกอย่างมาจากคนคนเดียว
เราครีเอตมาร้อยเปอร์เซ็นต์

● หลักดำเนินชีวิต:
เราจะมองอนาคตว่าน่าจะดีกว่านี้ตลอด

● เรื่องราวในการทำเพลง:
มาจากเรื่องที่สนใจ หรือเราอยากจะอธิบายในมุมมองของเรา
บางทีก็เป็นประสบการณ์หรือว่ามาจากเรื่องราวที่เราไปสังเกตมา แล้วมาสร้างเป็นเรื่อง

● คำจำกัดความของชีวิตเจ มณฑล:
ต้อง Make the Motivation
เรา relax บ้างก็ได้ ถึงอายุนี้แล้วเรา calm down ก็ได้ วันนี้ไม่อยากทำก็ได้
เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าต้อง refresh ต้อง productive แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้นทุกวัน

TP: ความสำเร็จในฐานะนักดนตรีของเจคืออะไร

เจ : คือการได้ค้นหาแล้วก็ทดลองวิธีการทำเพลงนี่แหละ ที่เราต่อยอดได้เรื่อยๆ นับจากสีสัน อะวอร์ดส์ เราได้รางวัลอัลบั้มออฟเดอะเยียร์ ผลงานของเรา ได้ทำเองทุกขั้นตอนเลย แบบเป็นวันแมนโชว์หรือวันสต็อปช็อป

 

“อยากรู้ว่าตัวเองจะทำงานคนเดียวทุกขั้นตอน..ได้มั้ย”

TP: งานของ เจ มณฑล จะต้องแตกต่าง…
เจ: มีงานของศิลปินอื่นที่เราร่วมทำด้วย เขาแค่ไม่ได้แปะชื่อผมไว้บนปก อาจจะเป็นรูปของวงหรือว่าชื่อของวง แต่ตอนที่เราทำงานในห้องอัด ผมได้ลงมือทำค่อนข้างเยอะ พอเป็นงานของผมเอง มีคนจะมาช่วย ผมก็ว่าไม่ได้ เพราะถ้าเขามาช่วย 25 เปอร์เซ็นต์ มันก็เท่ากับ…คล้ายกับงานชิ้นอื่นๆ

เราอยากจะทดลองดูว่าถ้าเราทำคนเดียว อย่างแรก เราทำได้หรือเปล่า? อย่างที่สอง เราทำออกมาแล้วมีคนเขาจะสนหรือไม่? พอได้รับรางวัลแล้วมันเหมือนคอนเฟิร์มว่า โอเคงานที่เราทำเราไม่ต้องไปกลัวว่ามันจะแปลกเกินไปหรือจะฟังยาก เรามีโอกาสทำ…นั่นคือความสำเร็จ ซึ่งผมคิดว่าคือที่ได้ทดลองเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ โดยที่เราใช้ความสร้างสรรค์สร้างผลงานของเราเอง โดยไม่ต้องไปตามหรือไปกลัวคนจะไม่ฟัง หรือกลัวมันไม่ถูกกระแส

TP: ใช้อะไรเป็นสิ่งนำทางในการทำงาน
เจ: ผมบังคับให้มัน base on feeling ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผมไม่ไปปรึกษาใครเลย ไม่มีแบบ เฮ้ย! เพื่อนๆ มาฟังเพลงนี้ดูไหม

ส่วนมากศิลปินเขาจะทำไปสักพักหนึ่งแล้วก็อยากจะส่งให้คนนี้ฟัง ส่งให้โพรดิวเซอร์คนนั้นฟัง ให้ทางค่ายฟัง…แล้วก็ให้คำแนะนำ แต่ของเรา ทำจนเสร็จแล้วโดยที่ไม่ต้องไปถามใครเลย ทุกอย่างเสร็จแล้วค่อยให้เขาฟังแล้วก็ปล่อยเพลงออกไปเลย ใครจะคิดยังไงก็คิดไป นี่คือการคอนเฟิร์มว่าการตัดสินใจทุกอย่างในทุกขั้นตอนมันมาจากตัวเราเอง

TP: เรียกได้ว่ามีความดื้ออยู่ในตัว
เจ: ใช่ ใช่ แน่นอน จะเจ๊งก็เจ๊งคนเดียว จะดีก็ดีคนเดียว คนเขาจะคิดว่าคนนี้อีโก้เยอะ ต้องการทำผลงานคนเดียวเลยไม่แบ่งกับคนอื่น อย่างแรก มันท้าทายตัวเอง อย่างที่สองคิดว่าช่วงต้นที่ผมกำลังสร้างอาชีพศิลปินถือว่าเราเพิ่งเริ่มตรงนี้ ในส่วนโพรดิวเซอร์เรามีอยู่นานแล้ว arranger, mixing engineer, musical director นี่เราก็ทำมานานแล้ว แต่ที่เป็นอาร์ติสต์สจริงๆ เนี่ย ผมถือว่าผลงาน “ด้วยความเคารพ” เป็นชุดแรกและเป็นการเริ่มต้นของผมในการเป็นศิลปินกับการนำประสบการณ์ทุกอย่างมาใช้

“ผมเป็นอาร์ติสต์ที่ชื่อ มณฑล ได้ละ”

TP: อะไรผลักดันให้เจรู้สึกว่า จะทำผลงานชิ้นนี้เป็นก้าวที่หนึ่ง
เจ: ผมอยากทำมานานแล้ว แต่ในเมื่อยังทำด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ ก็เหมือนมีอุปสรรคในการเริ่ม เราก็ต้องค่อยๆ เก็บประสบการณ์ ทดลองทีละอย่าง เรียนรู้ไปเรื่อยๆ พอพร้อมแล้ว ก็มาดูในส่วน mixing  อัลบั้มที่เคยทำออกมาแล้ว เห็นว่าไปเทียบกับงานที่เป็นสากลได้ เราก็โอเค เราพร้อมแล้ว ก็มาดูส่วนของ songwriting วงที่เราไปช่วย เขามีเพลงที่ดังแล้วได้รางวัล ก็คิดว่าพร้อมละ เราก็เก็บมาทุกขั้นตอน จนรู้สึกว่าพร้อมที่จะมาทำของตัวเราตั้งแต่ต้นจนจบ  ตอนนี้ผมเป็นอาร์ติสต์ได้ละ ใช่ไหมฮะ เป็นอาร์ติสต์ที่ชื่อ มณฑล

TP: หลังจากนี้เจจะทำงานในส่วนของอาร์ติสต์มากขึ้น?
เจ: มากขึ้น เราอยากจะทำในส่วนของอาร์ติสต์มากขึ้น ส่วนของโพรดักชันให้คนอื่น ผมคิดว่าน่าจะน้อยลงเรื่อยๆ งานเป็นอาร์ติสต์ เราทำเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องรอใคร มีความคิดเราอยากจะทำ เริ่มได้เลยเมื่อพร้อมทุกขั้นตอน งานในหน้าที่อื่นมีหลายอย่างที่ไม่ได้อยู่ในคอนโทรลของเรา การที่เราได้สร้างผลงานเป็นอาร์ติสต์ในระยะยาวดีกว่าด้วย และทำไปได้เรื่อยๆ

TP: เจได้ไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการงานประกวดดนตรี THE POWER BAND 2022 Season 2 (จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย)  ปกติเป็นกรรมการบ่อยไหม
เจ: ไม่ครับ ธรรมดาผมไม่ค่อยชอบมาเป็นกรรมการ เพราะว่าที่เราเคยเห็น จะมีหลายรายการที่เราเห็นว่ากรรมการมาแล้วก็มาให้คำแนะนำโดยที่กรรมการจริงๆ ก็ไม่ค่อยรู้เท่าไร ยิ่งบอกควรจะร้องเพลงแบบนี้ ควรจะเต้นแบบนั้น แล้วกรรมการเองเคยเต้นไหม หรือว่ากรรมการเองก็ร้องไม่ได้ เราควรเอาเวลาของเราไปทำสิ่งที่เราถนัดหรือว่าไปพัฒนาในสิ่งที่เราทำอยู่มากกว่า แต่ว่าผมกับต้นตระกูล (อ.ต้นตระกูล แก้วหย่อง) สนิทกัน ร่วมงานกันอยู่เรื่อยๆ เห็นว่าการแข่งขันที่ผ่านมามันอาจจะตรงกับสิ่งที่เราเข้าใจ เป็นคนที่พยายามผลักดันแนวเพลงใหม่ๆ หน่อย 

TP: คิดยังไงกับความครีเอทีฟของเด็กยุคนี้
เจ: ส่วนใหญ่มีสองแบบ บางคนอยากทำให้ครีเอทีฟ บางคนก็อยากทำอะไรครีเอทีฟตามคนที่คิดว่าเขาครีเอทีฟ…เราชอบวงนี้ อยากทำเพลงแบบวงนี้ นั่นครีเอทีฟหรือไม่? สมัยนี้มีสตรีมมิ่งให้ฟังเยอะ พอฟังแล้วเห็นว่าอันนี้ต่าง อยากทำแบบนี้ เราจะมีอะไรที่มันแตกต่าง แบบนั้น ครีเอทีฟหรือไม่? อาจจะไม่แต่เขาแค่อยากตามอะไรที่มันใหม่ หรือหลายคนอาจจะบอกว่าเพลงนี้ดังมากต้องเป็นเพลงที่ดีแน่เลย ไม่จริง ไม่จำเป็น

TP: เจ มณฑล อยากทำอะไรอีก
เจ: ผมกะจะทำอัลบั้มไทยอีกสองชุด แล้วหลังจากนั้นผมคงยังจะทำเพลงไทยแค่เป็นอีพีหรือซิงเกิล ไม่ได้ทำเป็นอัลบั้มแล้ว  แล้วผมจะหันไปแต่งเพลงภาษาอังกฤษ เมื่อก่อนผมก็แต่งเพลงภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้ผมมาโฟกัสกับเพลงไทยก่อน เรามีแค็ตตาล็อกเพลงไทยอยู่ประมาณห้าสิบเพลง หลังจากนั้นเราก็จะไปทำเพลงภาษาอังกฤษ

 

“เริ่มเร็วและให้มองไกล คือสำคัญสุด”

TP: ตำแหน่งของคุณคือจุดในฝันของหลายๆ คน คุณมีคำแนะนำไหม
เจ: อย่างแรก ผมว่าการที่เราทำแล้วเราเสถียร ในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ยังไงใครที่อยากทำมองไปเลยยี่สิบปี ว่า ถ้าเราพยายามไปถึงจุดนั้นไปเรื่อยๆ ภายในยี่สิบปีมันน่าจะไปถึง

อาจมีคนคิดว่าอยากจะถึงภายในห้าปี หรือภายในสองปี ส่วนมากมันจะไม่ถึงหรอก แต่ก็อาจจะมีแบบปีเดียวสองปี แต่แบบนั้นจะมีส่วนของดวงของโชคเข้ามาด้วย หรือว่าเขามีพรสวรรค์จริงๆ เรามาพูดถึงคนทั่วไปล่ะ การที่เขาอยากจะมาทำตรงนี้ เราบอกว่าทำได้แค่ต้องใช้เวลาหน่อย เรียนรู้ หาประสบการณ์ยี่สิบปี อยากจะเป็น expert ใช่ไหม หมื่นชั่วโมงเองของการที่จะมุ่งกับมัน ยี่สิบปีเนี่ยเปอร์เซ็นต์ที่จะถึงมันสูงมาก สำคัญก็คือ คุณต้องรู้ตัวเองให้เร็ว ต้องเริ่มเร็วๆ ของเราอายุ 18 – 19 เราก็เริ่มรู้แล้ว อายุ 42 เราก็ถึงแล้ว ตอนนี้เรา comfortable เราลุยต่อได้แล้ว เราไปได้เรื่อยๆ เลย อีกยี่สิบปี…สามสิบปีก็ยังไปได้

TP: ตลอดยี่สิบปีที่ทำเพลงมา เจชอบช่วงชีวิตของตัวเองช่วงไหนที่สุด?
เจ: น่าจะช่วงตอนนี้แหละครับ เพราะทุกอย่างเหมือนเป็นการเรียนรู้การเก็บข้อมูลการเตรียมตัวมาส่งเสริมปัจจุบัน

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ