Passion

‘เพี้ยน’
วงดนตรีที่เล่นไม่เพี้ยนสักโน้ต

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 20 Oct 2022
Views: 531

‘เพี้ยน’ ที่ไม่ได้แปลว่า เสียงเพี้ยน! และไม่ได้หมายถึงบุคลิกหรือนิสัยเพี้ยนๆ ของคนในวง แต่ในภาษาอีสาน ‘เพี้ยน’ แปลว่า ‘เพื่อน’…เพื่อนที่ไม่จำกัดวัยแต่มีหัวใจที่เต้นด้วยบีทเดียวกัน วงดนตรีจากโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ. บุรีรัมย์ จึงประกอบไปด้วยสมาชิกวงตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวนทั้งหมด 12 ชีวิต

ก่อนซาวนด์ดนตรีของวงเพี้ยนจะบรรเลง เดาทางไม่ถูกจริงๆ ว่าลีลาของกลุ่มเด็กมัธยมจากจังหวัดบุรีรัมย์ที่เดินทางไกลข้ามภาคเพื่อมาแข่งที่สนามชลบุรีจะมีอะไรโดดเด่นจากวงอื่นๆ จนกระทั่งโน้ตของตัวเองดังขึ้น!

“เข้ารอบชัวร์!” และนี่คือการคาดเดาที่ไม่มีผิดเพี้ยน เมื่อชื่อของวงถูกประกาศให้เป็น 1 ใน 3 วง Class A ของ THE POWER BAND 2022 SEASON 2 การประกวดวงดนตรีสากล โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จากสนามชลบุรีที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ

 

ไม่ใช่เวทีแรก และจะไม่ใช่เวทีสุดท้าย

THE POWER BAND 2022 SEASON 2 ไม่ใช่เวทีแรกที่พวกเขาลงประกวด แต่เป็นเวทีแรกที่ น่าน – ชนาธิป ดวงฤทธิ์ (คีย์บอร์ด) บอกว่า “เป็นครั้งแรกที่มีเครื่องเป่าจากวงโยธวาทิตมารวมทีมครับ”

วงเพี้ยน เคยชิมลางการประกวดบนเวที B Market Music Contest ที่จังหวัดสุรินทร์มาก่อน สมาชิกหลายคนจึงไม่ค่อยตื่นเต้นแบบที่เรียกว่า “ตื่นเวที” แต่สองนักร้องนำซึ่งเป็นน้องเล็กสุดของวงอย่าง ปลาย -ชนันชิดา บำรุง และ น้ำใส – ภัณฑิรา นพรัตน์ ถึงจะเจนเวทีการประกวดร้องเพลงมาทั้งคู่ แถมยังเก่งกาจขนาดสอบเข้าโรงเรียนด้วยโควตาความสามารถพิเศษด้านดนตรี แต่การขึ้นแสดงพร้อมกับเพื่อนอีก 10 ชีวิตก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

พวกเขาเล่าว่าอาจารย์เป็นคนส่งลิงก์ข่าวประกวด THE POWER BAND 2022 SEASON 2 มาให้ “แค่เห็นก็ตื่นเต้นแล้วครับ อยากมามากๆ เอาจริงๆ เวทีไหนเปิดโอกาสก็อยากไปทุกที่ครับ จะได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา พวกผมไม่อยากเก่งแค่ในจังหวัด แต่อยากไปลองแข่งกับวงอื่นๆ ได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ”

คุน – กาจไกวัล ขันอาสา (มือกลอง) หนุ่มพูดน้อยมือหนักจังหวะแน่น ที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกวงเพี้ยนได้ไม่นาน บอกว่า ถึงจะรู้ว่าคนอื่นๆ เก่งกว่าแต่ก็ไม่ได้กดดันมาก “เพราะเราก็เก่งเหมือนกันครับ (หัวเราะ)” ปลายบอกกับเราว่า พอรู้ว่าจะต้องประกวดเวทีใหญ่ขนาดนี้ก็แอบหวั่นเหมือนกัน แต่เธอกับน้ำใสก็มีวิธีเอาชนะความกลัวคือ “ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและซ้อมเยอะๆ ค่ะ ยิ่งซ้อมก็ยิ่งมั่นใจ และต้องซ้อมคู่กันเพื่อให้เสียงมันเข้ากัน”

“ไม่ต้องใช้ความกล้าอะไรเลย แค่ลงมือทำ ทำไปเรื่อยๆ

ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้มันเป็นแค่ความฝันค่ะ”

น้ำใส – ภัณฑิรา นพรัตน์ (ร้องนำ)

 

เลือกที่รัก มักได้ทำในสิ่งที่ชอบ

ความลงตัวอย่างน่าประหลาดของวงเพี้ยน คือความต่างของวัยที่ถึงจะไม่ได้ห่างแบบต่างเจน แต่ทั้งหมด…ทั้งต่างวัย ต่างที่มา ย่อมต่างความคิด น่านเล่าว่า ในวงส่วนใหญ่เป็นนักเรียนโควตาความสามารถพิเศษด้านดนตรี เครื่องเป่าก็มาจากวงโยฯ มีบางคนที่สมัครเข้ามาเอง และบางคนอาจารย์เห็นแววเลยช่วยให้เข้าวง ถึงจะต่างที่มาแต่ทุกคนเลือกแล้วว่าจะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

พวกเขายังยืนกรานอีกว่า “เราไม่เคยทะเลาะกันแต่แกล้งกันเป็นประจำ” โดยเฉพาะตอนซ้อมทุกคนจะรู้หน้าที่ของตัวเอง แบ่งหน้าที่กันชัดเจน น่านบอกว่า ถ้าได้เพลงมาจะช่วยกันแกะโน้ตแล้วค่อยมาเล่นรวมกัน “อาจารย์จะมาช่วยปรับซาวนด์ ปรับโน้ตให้พวกเราอีกทีครับ ส่วนเรื่องขี้เกียจซ้อมก็มีบ้างครับ แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องมา ถ้าไม่มาผมก็ไปลากเพื่อนมาเอง”

ด้านสองสาวของวงสารภาพว่า “แรกๆ ก็เกร็งๆ เพราะพี่เขาดูแปลกๆ กันหมดเลย แต่จริงๆ แล้วพี่ๆ เขาก็ใจดีนะคะ มีอะไรก็แนะนำตลอด ตอนนี้ก็สนิทกันมากขึ้นแล้วค่ะ”

“ผมว่าความเกรียนมั้งครับ เลยทำให้พวกเราสนิทกันและสามัคคีกัน แต่ถ้าถามทีละคนนะ ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน คือเราอยากเล่นดนตรีเหมือนกันและอยากเก่ง ถึงจะงอแงบ้างเวลาเรียกซ้อม แต่พอเริ่มซ้อมทุกคนก็เอาจริง ยิ่งช่วงใกล้แข่งต้องซ้อมทุกวันเพื่อเก็บรายละเอียดดนตรีให้แม่นยำมากๆ ผมว่าช่วงหลังๆ ยิ่งทำให้เราสนิทกันมากขึ้น” น่านเล่า

แต่ก็ไม่ได้ลงตัวทุกครั้งไป เรียนก็เหนื่อย ซ้อมก็หนัก อาการท้อแท้เลยผลุบๆ โผล่ๆ มาเป็นระยะ วิธีปลุกพลังของทีมนี้ก็ง่ายมาก แค่ตบไหล่เบาๆ 2-3 ทีแล้วบอกว่า “เฮ้ย สู้ๆ เพื่อน”

“เพี้ยน” อย่างมีสไตล์

แนวเพลงในสไตล์ป็อป-ร็อกผสมโซลและฟิวชันที่ฟังง่ายเข้าถึงได้ไม่ยาก ผนวกซาวนด์ดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ แทรกไลน์ของเครื่องเป่าได้อย่างลงตัว คือความโดดเด่นที่คณะกรรมการเองยังต้องเอ่ยปากชม นั่นคือสิ่งที่ผู้ชมอย่างเราเห็นจากหน้าเวที แต่เมื่อถามพวกเขาว่า อะไรคือจุดเด่นของวงเพี้ยน

“นักร้องครับ” น่านตอบแทบจะทันที

“ในวงที่มีนักร้องสองคนและประสานเสียงกันได้เป๊ะขนาดนี้ผมว่าหายากอยู่นะครับ วงดนตรีส่วนใหญ่ก็มีนักร้องนำแค่คนเดียว ถึงจะมีสองคนก็ผลัดกันร้อง แต่วงเราผมยกเครดิตให้นักร้องครับ”

“คนที่เล่นดนตรีรู้ทุกคนแหละครับว่า ถ้าอยากไปให้ถึงฝันคุณก็ต้องซ้อม

หรือถ้าอยากลงแข่งแต่กลัว ก็ต้องหาอะไรมาปลุกใจ”

น่าน – ชนาธิป ดวงฤทธิ์ (คีย์บอร์ด)

 

“แต่หนูคิดว่าซาวนด์ดนตรีของวงนะคะ” น้ำใส นักร้องนำ ให้ความเห็นว่า “ตอนไปแข่งเวทีก่อนหน้านี้กรรมการชมว่าซาวนด์เพลงดี เล่นเหมือนใช้เปิดเทปคาสเซ็ตต์มาเลย” ปลายพยักหน้าเห็นด้วยพร้อมกับเสริมว่า “จริงๆ ทุกคนเก่งเหมือนกันนะคะ แต่ถ้าเด่นสุด น่าจะเป็นกลองค่ะ”

ในขณะที่คุน (มือกลอง) ก็ตอบกลับอย่างถ่อมตัวว่า “เด่นสุดผมว่านักร้องกับกีตาร์นั่นแหละครับ เพราะมีท่อนที่ได้โชว์ไลน์ของตัวเอง แต่ถ้ามีไลน์ของผมเมื่อไหร่ ผมก็จะจัดหนักไม่ยั้งแน่ครับ”

 

‘กล้าฝัน’ ก็ต้อง ‘กล้าลงมือทำ’

กว่าจะเก็บแต้มเพื่อเข้าใกล้ความฝันก็ไม่ได้สวยงามเหมือนภาพที่เห็น เพราะจริงๆ แล้ววงเพี้ยนเกือบต้องพักฝันกันทั้งวง หลังจากมีอคีย์บอร์ดคนเก่าต้องถอนตัวก่อนถึงรอบคัดเลือกที่สนามภาคตะวันออกเฉียง เหนือด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้วงเข้าประกวดไม่ได้และเสียศูนย์กันไปพักใหญ่

โชคดีที่ฝันของสมาชิกที่เหลือมีพลังมากพอที่จะดึงทุกคนให้ลุกขึ้นเดินต่อ จนได้สมาชิกครบองค์และเข้าประกวดที่สนามชลบุรี และคว้าตั๋วเข้าชิงชัยรอบชนะเลิศ พิสูจน์ให้เห็นว่าอุปสรรคใดๆ ก็ต้านทานความฝันของพวกเขาไม่ได้

“คนที่เล่นดนตรีรู้ทุกคนแหละครับว่า ถ้าอยากไปให้ถึงฝันคุณก็ต้องซ้อม หรือถ้าอยากลงแข่งแต่กลัว มันก็ต้องหาอะไรมาปลุกใจ สำหรับผมการมาซ้อมกับเพื่อนๆ ในวงทำให้ผมกล้ามากขึ้น เหมือนมีเพื่อนที่จะเดินตามความฝันเดียวกันมันก็มีกำลังใจ อยู่กับเพื่อนผมไม่กลัวอะไรเลยครับ” น่านบอก

ส่วนคุนบอกว่า วิธีขจัดความกลัวเพื่อให้กล้าทำตามความฝันของเขาไม่เหมือนใครคือ “หายใจเข้าลึกๆ ครับ แต่ตอนนี้เหมือนเป็นช่วงที่ผมกำลังเลือกระหว่างวิชาการกับดนตรีครับ แต่ก็จะไม่ปิดโอกาสตัวเอง มีเวทีก็ไปแข่ง ชนะก็ไปต่อแน่นอนครับ”

สำหรับปลายสาวน้อยเสียงใส เธอใช้ความขยันเอาชนะความกลัวเพราะเธอเชื่อว่า ความมั่นใจที่เกิดขึ้นจะทำให้เรามีความกล้ามากขึ้น และเธอคงยอมไม่ได้ถ้าจะมีใครมาบอกให้เธอเลิกร้องเพลง “เพราะชีวิตหนูขาดเสียงเพลงไม่ได้ค่ะ”

เช่นเดียวกับน้ำใส การฟังเยอะๆ ซ้อมบ่อยๆ ทำให้เธอสู้กับความกลัวได้ เธอยังฝากบอกเพื่อนๆ ทุกคนที่มีความฝัน ไม่ว่าจะฝันอยากเป็นนักร้องเหมือนกัน หรือฝันอยากเป็นอะไรก็ตาม “ไม่ต้องใช้ความกล้าอะไรเลย แค่ลงมือทำ ทำไปเรื่อยๆ ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้มันเป็นแค่ความฝันค่ะ”

‘แค่ลงมือทำ’ คำง่ายๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจสร้างให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นได้ง่ายๆ เช่นกัน ซึ่งการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในวงดนตรี Class A ที่จะได้ไปประชันฝีมือในรอบชิงชนะเลิศ เป็นบทพิสูจน์ที่ดีของการลงมือทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็แค่พัก พร้อมก็สู้ใหม่ เพราะถึงทางมันจะยาวไกล แต่อย่างน้อยสำหรับพวกเขามันเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ 12 ความฝันไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่ฝันอย่างแน่นอน

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ