Passion

“ไข่ดาว”
เมื่อไข่…จะกลายเป็นดาว

ศรัณย์ เสมาทอง 20 Sep 2023
Views: 4,072

Summary

เมื่อนักเรียนดนตรีมารวมตัวกันเป็นวง หลายคนอาจคิดว่าเขา “เก่งอยู่แล้ว” ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ความจริงเขาต้องร่วมกันคิด ร่วมกันฝึกฝน มีความกังวล ตื่นเต้น เครียด ไม่ต่างจากวงอื่น เพราะเขาเชื่อว่าคนเรียนดนตรีหรือไม่เรียนดนตรีก็สามารถทำเพลงที่ดีได้ทุกคน จึงต้องซ้อมดนตรีทุกวัน ซ้อมร้องเพลงทุกวัน จนบางครั้งแทบหมดพลัง แต่เชื่อเถอะ…ความฝันไม่เคยหายไป

“เช้าหนึ่งผมนั่งกินข้าวอยู่กับมือกีตาร์ ผมฮัมเล่นๆ เป็นเมโลดี อยู่ๆ มันก็เข้ามาในหัว แล้วมือกีตาร์ก็อัดเสียงไว้ มาฟังทีหลัง ปรับบางโน้ต ก็ได้ท่อนที่เป็น Interlude เพลง”

ฟังแค่นี้ก็รู้สึกว่าเด็ด!!

คนพูดเป็นมือกลอง ไตเติ้ล – วีรดล ทองน้อย และมือดีที่บันทึกเสียงไว้ได้ทัน คือ ป้าย – ณ สิงหา อุทัยนา เล่นกีตาร์ อยู่ในวง “ไข่ดาว” วงดนตรีของเด็กนักเรียนวัยใส จากโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัย   ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฟังชื่อแล้วกลัว…กลัวว่าจะต้องคุยภาษาวิชาการดนตรีที่ซีเรียส

พอได้คุย…ออกแนวลั้ลลามหาศาล^^

เรา: กรรมการคอมเมนต์วว่าท่อนโซโลเพลงหนึ่งเสียงกีตาร์มันไม่พุ่ง
ป้าย: ใช่พี่ พอฟิลมันมาเราก็ใส่กันเต็มที่ ผมก็ใส่ไม่ยั้งเลยตอนนั้น…มันสุดๆ
เรา: อ้าว ใส่ไม่ยั้ง แล้วทำไมเสียงกีตาร์ไม่พุ่ง
ป้าย: ผมเล่นกีตาร์คอร์ดครับ แต่เพื่อนอีกคนโซโล
เรา: (อ๋อ อย่างนี้นี่เอง – คิดในใจ)

สนุกเฮฮากันทั้งวง แต่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นบนเวทีก็พาเขาเดินผ่านด่านไปฟาดฟันต่อในรอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 จนได้

 

“เราต้องหาเอกลักษณ์ของตนเองให้เจอ
ฝึกเล่นให้มากๆ เพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจเรา
ผ่านเสียงดนตรีของเรา”

วง ไข่ดาว (Class A) สนามนครปฐม
โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สามฟองร้องโชว์ 

ความโดดเด่นของวงไข่ดาวอยู่ที่นักร้อง 3 คน ที่โชว์ร้องประสานเสียงได้น่าฟัง ชายหนึ่ง คือ อเล็กซ์ – อเล็กซานเดอร์ โบว์แมน น่าจะพอคุ้นหน้าจาก The Voice Kids 2020 และหญิงอีกสอง คือ น้ำ – ชลชญา สุริยจันทร์ และ แปม – ณฐยา ชิวารัก 

เรา: ก่อนมาแข่งจัดเวลาซ้อมยากไหม
แปม: ไม่ยากค่ะ เราออดิชันเข้าวง Combo ได้ เขาก็ล็อกเวลาซ้อมไว้อยู่แล้ว
เรา: วง Combo คืออะไร
น้ำ: เป็นวงใหญ่ของโรงเรียนค่ะ มีสมาชิก 20 กว่าคน
เรา: ต้องออดิชันเข้า แปลว่า ต้องเกิดการฟาดฟันมารอบหนึ่งแล้วสิ
แปม+น้ำ: ช่ายยยยย
เรา: งั้นน้องๆ เก่งระดับโรงเรียนเลยน่ะสิ
แปม+น้ำ: ช่ายยยยยยยยยยยยย
เรา: (อ๋อ อย่างนี้นี่เอง – คิดในใจ)

ทีมนักร้อง: อเล็กซ์ – น้ำ – แปม

อาจารย์ปริญญ์ (ควบคุมวงและเรียบเรียงเสียงประสานหลัก) – อาจารย์กวาง (ควบคุมวงร่วม)

ถามครูดีกว่า อาจารย์ปริญญ์ – ปิญชาน์นันท์ ใจประสงค์ ผู้ควบคุมวงและเรียบเรียงเสียงประสานหลัก ได้ความว่าเขามีวงดนตรีใหญ่ไว้แสดงในงานโรงเรียนชื่อ YAMP Combo Band (YAMP – Young Artists Music Program) แต่พอจะลงสนาม THE POWER BAND สมาชิกในวงเยอะพอจะแบ่งได้เป็นสองวง…ก็เลยส่งมาคู่เลย (วงไข่ดาว และ วงคนใดที่ถูกเจียว)

“แบ่งตามเคมีเลยค่ะ ใครที่น่าจะเข้ากันได้ก็จับมาอยู่วงเดียวกัน” งั้นครูก็จับสายลั้ลลามารวมกันน่ะสินะ “เขาก็รู้หน้าที่กันดีนะคะ แต่ด้วยการเป็นนักเรียนดนตรี เขาต้องเรียน ต้องเล่นดนตรีกันทั้งวันอยู่แล้ว พอถึงช่วงซ้อมตอนเย็น บางทีอารมณ์อินดี้ก็มา energy ลดบ้าง เหนื่อยบ้าง ไม่ไหวบ้าง บางทีกว่าจะได้ซ้อมจริงจังก็ใกล้ๆ แข่งขัน”

น้ำเล่าถึงเพลงที่เพิ่งเล่นไปให้ฟัง “เราเพิ่มการร้องคอรัส เป็นท่อนไม่มีดนตรี โชว์การร้องไปเลย ก็เรามีนักร้องตั้ง 3 คน” อเล็กซ์เสริมต่อ “เลยต้องแยกซ้อมร้องไลน์ประสานบ้างครับ เราทุกคนทำงานหนักมากเพื่อจับคีย์และร้องให้ตรงโน้ต”

เรียนร้องอยู่แล้วไม่น่ายาก…แปมรีบแก้ “ยากนะคะ เวลาร้องประสานมันต้องฟังกัน หูต้องผึ่งตลอดเวลา พะวงเรื่องซาวนด์ ไหนจะเรื่องบนเวทีอีก ต้องยืนตรงไหน เดินตรงไหน เรารู้ว่าคนดูต้องมองมาที่นักร้อง ก็ต้องมีท่าทางมีโยกไปด้วย ในหัวก็ต้องฟังต้องคิดท่อนต่อไปอยู่เรื่อยๆ” ขึ้นเวทีก็บ่อยยังต้องเครียดกับเรื่องแบบนี้อีกหรือ “เล่นเสร็จก็จบแล้วค่ะ ความเครียดมันถูกทิ้งไปหมดแล้ว”

“ไข่ดาว” แบบครบวง ภาพโดย Expert Kit
มี Yixiao Shi (ทรัมเป็ต – บนขวาสุด) ที่ต้องไปเล่นให้ วงคนใดที่ถูกเจียว ด้วย

ถ้าต้องเลือก “ศิลปินนี้” แล้วฟังตลอดไป

น้ำ –  The Parkinson
ชอบทั้งแนวเพลง วิธีการร้อง และดนตรี เป็น R&B+Soul+Jazz ปกติก็ชอบเพลงโซลเพลงแบบคนผิวสีร้องมาก

แปม –  Harry Styles
ชอบตั้งแต่มาร่วมวง One Direction พอแยกมามีผลงานก็ยังติดตาม ชอบคนเสียงแหบๆ แต่มีพลัง

อเล็กซ์ –  Taylor Swift
ตอนเด็กฟังหลายคน แต่เธอเป็นคนแรกที่รู้สึก click ทั้งเพลงใหม่-เพลงเก่า เธอแต่งเพลง touch ใจมาก

 

สไตล์ไหนก็ได้ขอให้เอนจอย

ด้วยวงนี้มีกัน 12 คน แต่ส่งตัวแทนมาคุย ทางนักร้องก็มี อเล็กซ์ น้ำ และ แปม ฝั่งนักดนตรี นอกจากมี ไตเติ้ล กับ ป้าย ก็ยังมี จุ้ย – ชัยโรจน์ วัฒนาเกียรติคุณ มือกลองกับเพอร์คัชชัน  และ โซดา – นิธาน พยมพฤกษ์ มือเบสวิ่งมาฮาเป็นระยะๆ

เรา: คนเยอะนะ ตั้ง 12 คน
แปม: สนุกดีนะคะ หลากหลาย นัวดี
ป้าย: บางไลน์ที่คนเดียวเล่นไม่ได้ อย่างกีตาร์ คนหนึ่งเล่น ก็มีอีกคนมาเสริมให้ดีขึ้น
เรา: กลองก็มีสองคน
จุ้ย: ผลัดกันตีคนละเพลงกับเติ้ล อีกคนก็มาเล่นเพอร์คัชชัน
เติ้ล: มีเพอร์คัชชันมันสร้างสีสัน ให้เพลงดูมีอะไร
อเล็กซ์: เคยร้องเดียวรู้สึกกดดัน แต่แบบนี้เซฟกว่า แบ่งความเครียดกันไป
เรา: (อ๋อ อย่างนี้นี่เอง – คิดในใจ)

ภาพซ้าย: โซดา (เบส) – แน็ค (กีตาร์) – ป้าย (กีตาร์)
ภาพกลาง: บอม (คีย์บอร์ด) – ไตเติ้ล และ จุ้ย (กลอง/ เพอร์คัชชัน)
ภาพขวา: น้ำมนต์ (ฟลุต) – ต้นน้ำ (ยูโฟเนียม)

ทีมนี้เลือกเพลงที่คิดว่ามีองค์ประกอบที่สามารถนำมาปรับได้ ไม่ว่าจะเพลง หยอก หยอก ของ LUSS และ ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง ของ Jeff Satur “เรามาทำให้เป็นไลฟ์มิวสิกมากขึ้น อาจารย์ปริญญ์ช่วยค่ะ แต่ก็มีพวก interlude ที่คิดกันเอง” ก็ที่เขาฮัมเล่นจนเป็นเพลงจริงนั่นล่ะ “เราเรียนกันหลายสาขา เลยผสมความเป็นคลาสสิก แจ๊ส ละติน ป็อป ฟังก์ เข้าด้วยกัน”

แล้วเพลงที่เราทำเป็นสไตล์ไหน “ไม่สามารถบอกได้ เป็นทุกแบบเลย multi – function” น้ำกับแปมช่วยกันเล่าอย่างอารมณ์ดี “อย่างเปียโนน่ะ เล่นแต่ละครั้งไม่เหมือนกันสักรอบเลย มีโครงหลักอยู่แต่รายละเอียดอิมโพรไวส์ใหม่ทุกรอบ อารมณ์แจ๊ส”

แต่ดูทุกคนจะอินกับอารมณ์เพลงมากเวลาเล่น จนอยากรู้ว่าระหว่าง Skill กับ Performance เขาให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน จุ้ยตอบหล่อๆ “ถ้า Performance ดีแต่เล่นผิด เล่นไม่ถูก คนฟังก็อาจรู้สึกแปลก ๆ แต่ถ้าตั้งใจเล่นเกินไม่มี Performance เลย คนดูก็จะไม่เอนจอย และน่าเบื่อ”

“สำคัญพอๆ กัน มันต้องไปพร้อมกันค่ะ” นักร้องสาวสรุป…จบนะ

“ถ้าเราต้องเล่นและร้องเพลงที่ยาก
มันจะเกิดการพัฒนาทั้งนักร้อง
และนักดนตรีไปพร้อมๆ กัน”

 

“ก็หนูจะร้องเพลง” 

ลองถามวีรกรรมสมัยเด็กๆ ของ Frontman เผื่อจะมีโมเมนต์แสบๆ บ้าง

แปม: ป.2 หนูโวยวายใส่ครูเปียโน…หนูไม่เล่น!!!
อเล็กซ์: 6 ขวบ ร้องเพลงทั้งวัน ร้องเพลงไม่หยุด
น้ำ: เปิดคาราโอเกะร้องเพลงทุกวัน จนที่บ้านให้สอบเข้าโรงเรียนดนตรี
เรา: (อ๋อ อย่างนี้นี่เอง – คิดในใจ)

แต่ละราย…ไม่ธรรมดา แม้ที่บ้านแปมจะไม่ใช่นักดนตรี แต่ก็สนับสนุนให้เรียนเปียโนตั้งแต่ ป.2 “พ่อให้ไปเรียนเปียโน แต่หนูไม่ยอมเล่น โวยวายใส่ครู…หนูไม่เล่น จะร้องเพลง” แต่ก็ยังอยู่ในโรงเรียนเปียโนต่อนะ “จนถึงวันโชว์เคสของโรงเรียน เขาเล่นเปียโนกัน หนูออกไปยืนร้องเพลงค่ะ”

ก็ออกไปเรียนร้องเพลงแทนตามระเบียบ

“หนูเริ่มจากบัลเลต์ตั้งแต่อนุบาล” น้ำเล่าประวัติบ้าง “พอขึ้นประถม พ่อก็พาไปเรียนไวโอลิน 9 ขวบก็เริ่มสนใจเต้น ร้องเพลง” จะครบทุกอย่างแล้วนะ “เข้ามัธยมการเรียนหนูตกต่ำมาก…พ่อบอกให้เลิกให้หมดก่อน เรียนหนังสือก่อน จน ม.3 เป็นช่วงโควิด ได้อยู่กับตัวเองมาก อยู่กับบ้าน หนูเปิดคาราโอเกะร้องเพลงทุกวัน จนป้าเอาใบสมัครเข้าเรียนที่นี่มาให้”

แรกๆ ก็ยังลังเลกันอยู่ เพราะเห็นว่าค่าเรียนค่อนข้างสูง แต่เพราะ…คาราโอเกะ…ทุกวัน “พ่อบอกว่า เรียนเถอะ โอกาสมันมาแล้ว” อาจเพราะพ่อเคยเป็นนักร้องประสานเสียงที่เคยออกอัลบั้ม ‘คอรัสเพื่อชีวิต’ มาก่อน จึงเข้าใจลูกสาวดีก็เป็นได้

ส่วนอเล็กซ์นั้น คุณพ่อเป็นครูดนตรีและคุณแม่ก็ชอบฟังเพลง ดูละครเพลงด้วย เขาก็ได้เรียนร้องเพลง เรียนเปียโน และอีกหลายเครื่องมือ “เรียนเยอะเพื่อจะได้รู้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ ประมาณ 6 ขวบ ก็รู้ว่าเราชอบร้องเพลง ก็…ร้องทั้งวัน ร้องไม่หยุด”

อเล็กซ์วางแผนไว้แล้วว่าอยากไปเรียนต่อที่อเมริกา และจะหาทางไปแสดงมิวสิคัลในบรอด์เวย์ให้ได้

 

ถ้าต้องเลือก “ศิลปินนี้” แล้วฟังตลอดไป

จุ้ย – เพลงแนว Standard Jazz
ตอนแรกก็ไม่ค่อยชอบ แต่พอเรียนแจ๊ส ได้เล่นกับเพื่อน ได้ฟังเยอะๆ สนุกครับ ดีเทลดนตรีเยอะดี

ป้าย – คิดไม่ออก…ตอบไม่ได้
เล่นกีตาร์ทุกวันอยู่แล้ว ฟังเพลงตัวเองตลอดไปละกัน

ไตเติ้ล – อัสนี-วสันต์
พ่อกับแม่ชอบเปิดให้ฟังตั้งแต่เด็ก เลยซึมซับเพลงเขามา นี่เพิ่งไปดู “คอนเสิร์ต 37 ปี อัสนีและวสันต์” ไปกันทั้งบ้านเลย

โซดา – ขอฟัง Tattoo Colour
ผมชอบมาก พูดว่า “ผมโตมากับ Tattoo” ก็ได้

 

ท่องไว้…มันเป็น-ไป-ได้

เดินทางสายดนตรีกันมาขนาดนี้ อยากรู้ว่าฝันอะไรกับดนตรีกันบ้าง “อยากเป็นศิลปินครับ” ป้าย – มือกีตาร์ตอบเร็ว “อยากเล่น Back up ด้วย แต่ผมเล่นกีตาร์เป็นอยู่อย่างเดียว เล่นกีตาร์ทุกวัน ต้องฝึกอันใหม่ที่เล่นยังไม่ค่อยได้ ยังไม่คล่อง แล้วก็ทวนอันเก่าด้วยไม่ให้ลืม เคยตั้งว่าซ้อมอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง…ขึ้นไป แต่มากสุดก็ได้ ชั่วโมงครึ่ง”

ป้ายรวมกลุ่มกับเพื่อนทำเพลง เคยได้แสดงฝีมือใน Melody of Life Music Festival ที่ด้วยความฝันจะมีเพลงเป็นของตัวเองจริงๆ คงไม่ยากเกินไป

ถ้าถามไตเติ้ล – มือกลอง ก็คิดคล้ายกับเพื่อน “จริงๆ อยากเป็นศิลปิน และอยากเป็น Back up ให้ศิลปินอื่นด้วย มาทางนี้แล้วมันเป็นได้ทั้งสองอย่าง ตอนนี้ก็มีทำเพลงกับเพื่อนบ้าง”

จุ้ย – มือกลองอีกคนมาอีกแนว “ผมอยากทำอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกอยากอยู่ในห้องอัด เป็นคน Mixing & Mastering เพลง อย่างสองอยากทำ Lighting ในคอนเสิร์ต สุดท้ายอยากเป็น Back up ครับ” เรียนอะไรมา…ไม่อยากเป็นคนข้างหน้าหรือ “ผมเรียนเอกกลองแจ๊ส ก็อยากอยู่เบื้องหน้านะ แต่การแข่งขันมันสูงมาก โอกาสทำงานเบื้องหลังอาจสูงกว่า”

เดี๋ยวนะ พวกที่ฮาๆ กับเมื่อกี้หายไปไหนหมด

โซดา – มือเบสนั่งเงียบอยู่นาน เท่าที่ทราบมาโซดามีพี่น้องสามคน ซึ่งมาเรียนอยู่ที่นี่หมดเลย สักวันอาจมีวงดนตรีกับพี่น้องก็เป็นได้ “คงเป็น Back up หรือไม่ก็เป็นศิลปิน” ดูไม่ค่อยกล้าออกตัวว่าอยากเป็นศิลปินกันนะ อยากเอาไฟมาจุดให้จังเลย “หรือไม่ก็อาจทำธุรกิจต่อจากที่บ้าน ครอบครัวทำ Light & Sound ครับ มีทั้งอุปกรณ์ให้เช่า จัดงาน ทำเวทีด้วย” ฟังดูน่าสนใจ

หันไปถามนักร้องว่าอยากอยู่เบื้องหน้ากันใช่ไหม “อยากค่ะ / ครับ” ไม่ผิดหวัง เสียงมีพลังและพร้อมเพรียง แปมน่ะอยากเป็นนักร้องแน่ๆ “ถ้ามีโอกาสนะคะ แต่เบื้องหลังก็สำคัญและสนุกมากเหมือนกัน อยากทำไปพร้อมๆ กัน”

“อยากเล่นมิวสิคัลเรื่อง Sweeney Todd (Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street) เป็นช่างตัดผมที่ฆ่าคน!!” มาแนวมิวสิคัลแบบนี้…ไม่บอกก็คงรู้ว่าใครในวงเป็นคนพูด ตอนนี้นึกถึงแต่หน้า จอห์นนี เด็ปป์ ผู้สวมบท Sweeney Todd เวอร์ชันภาพยนตร์

น้ำ: หนูอยากเป็น Vocal Coach ให้คนที่เขาจะแข่งร้องเพลง
เรา: เป็นครูสอนร้องเพลงนั่นเอง
น้ำ: ใช่…แล้วก็อยากเป็นนักร้องไกด์
แก๊งนักดนตรี: นักร้องไก๊ นักร้องเป้ด นักร้องปล๊า
เรา: (หิวกันสินะ – คิดในใจ)

 

“ไข่” ในวันนี้ คือ “ดาว” ในวันหน้า

การทำเพลงขึ้นมาในยุคสมัยนี้ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน เพราะเทคโนโลยีทำให้แต่ละขั้นตอนง่ายลง “เราต้องหาสไตล์ หาตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ ต้องสื่อสาร เล่าเรื่อง ถ่ายทอดอารมณ์ ผ่านเสียงดนตรีและเสียงร้อง”  นี่คือก้อนความคิดที่เรียบเรียงมาจากสมาชิกวงไข่ดาว

“เราเกิดมาไม่นานยังไม่มีคลังเพลงในหัวมากเหมือนผู้ใหญ่ ที่พอพูดถึงเพลงอะไรสักเพลง เขาก็เล่นกันได้เลย หรือเขาเคยอกหักกับเพลงสักเพลง พอต้องเล่นหรือร้องเพลงนั้น เหมือนกลับไปอกหักได้ทันที ประสบการณ์การฟังดนตรี การเล่นดนตรี และประสบการณ์ชีวิตสำคัญมาก ถ้าไม่ลงมือทำ ไม่ให้เวลากับมัน เราไม่มีทางพัฒนาเลย

คงจะจริง นี่แค่คุยกันแป๊บเดียว รู้สึกเหมือนน้องๆ โตขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ…

วงไข่ดาว มีสมาชิก 12 ชีวิต ได้แก่ 1. โซดา – นิธาน พยมพฤกษ์ (เบส) 2. แน็ค – ชนม์ชนก เทพอาจ (กีตาร์) 3. ป้าย – ณ สิงหา อุทัยนา (กีตาร์) 4. ต้นน้ำ – คมสัน ไพรวัลย์ (ยูโฟเนียม) 5. น้ำมนต์ – ธัญนัท อินทรา (ฟลุต) 6. อเล็กซ์ – อเล็กซานเดอร์ โบว์แมน (ร้องนำ) 7. น้ำ – ชลชญา สุริยจันทร์ (ร้องนำ) 8. แปม – ณฐยา ชิวารัก (ร้องนำ) 9. บอม – สรวิชญ์ ชะลอธรรมนิตย์ (คีย์บอร์ด) 10. ไตเติ้ล – วีรดล ทองน้อย (กลอง/เพอร์คัชชัน) 11. จุ้ย – ชัยโรจน์ วัฒนาเกียรติคุณ (กลอง/เพอร์คัชชัน) 12. Yixiao Shi (ทรัมเป็ต)

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ