Passion

ต้น-จ.อ.พักตร์พงษ์ และ อาร์ท-อุเทน
นักกีฬาเทคบอลทีมชาติคู่ซี้
กับความหวังของไทย

วรากร เพชรเยียน 2 May 2024
Views: 531

Summary

ทำความรู้จักคุณต้น – จ.อ.พักตร์พงษ์ เดชเจริญ และคุณอาร์ท – อุเทน กู้เขียว สองนักกีฬาทีมชาติสกิลเด่นไปพร้อมกับทำความรู้จักกีฬาเทคบอล อุปกรณ์ดูคุ้นๆ แต่ไม่รู้จัก…กีฬาใหม่ที่น้อยคนจะรู้จัก แต่อาจเป็นความหวังใหม่ เป็น”พลังคนไทย” ที่ไปโชว์ความสามารถในต่างแดน

‘เทคบอล Teqball’ อาจเป็นกีฬาที่น้อยคนจะรู้จักและแทบไม่บูมในไทย อาจเพราะเป็นกีฬาที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยเรามีนักกีฬาเทคบอลทีมชาติเก่งๆ  ไปแข่งชิงแชมป์โลกมาแล้ว นับเป็นตัวแทน “พลังคนไทย” อย่างแท้จริง

วันนี้เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับ คุณต้น – จ.อ.พักตร์พงษ์ เดชเจริญ และ คุณอาร์ท – อุเทน กู้เขียว สองนักกีฬาเทคบอลทีมชาติกับเส้นทางสายกีฬาที่ผันเปลี่ยนและการเป็นนักกีฬาเทคบอลชุดแรกของประเทศที่ต้องเรียนรู้กันใหม่หมด ทั้งนักกีฬาและโค้ช อยู่มาตั้งแต่จัดตั้งสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย เพื่อพาการกีฬาของประเทศไทยไปสู่อีกขั้นหนึ่ง และแม้ว่าจะเพิ่งเล่นได้ไม่กี่ปีแต่ก็ได้ไปแข่งขันกับชาวต่างชาติให้คนนอกได้เห็นศักยภาพด้านกีฬาของคนไทยด้วย

ทักษะของเทคบอลคือมันซ้ำท่าไม่ได้ ยากกว่าตะกร้อขึ้นมาเยอะเลย

เราต้องปรับเปลี่ยนตลอด ดูจุดเด่นของคู่เราเป็นยังไง

และเล่นบอลให้เข้ากับจุดเด่นของเขาด้วย

คุณต้น – จ.อ.พักตร์พงษ์ และ คุณอาร์ท – อุเทน
นักกีฬาเทคบอลทีมชาติไทย

 

เส้นทางกีฬาของสองทีมชาติไทย

กว่าจะมาถึงวันที่ทั้งคุณต้นและคุณอาร์ทได้เล่นคู่กันในสนามแข่ง ก่อนหน้านี้แต่ละคนจะมีเส้นทางแตกต่างที่เหมือนกัน คือความหลงใหลในกีฬา คุณต้นเริ่มต้นจากการเป็นนักกีฬาตะกร้อ เล่นมาตั้งแต่ยังเด็ก

“ผมเริ่มเล่นตะกร้อมาตั้งแต่อายุเก้าขวบ แล้วก็เล่นมาเรื่อยๆ ตอนนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองบุหนองนาหล่ำ จังหวัดอุดรธานี หลังจากนั้นก็ได้เป็นเยาวชนทีมชาติตะกร้อ แล้วพอจบ ม.6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ก็ขึ้นเป็นทีมชาติชุดใหญ่ของกีฬาตะกร้อ” หลังจากนั้นก็มีหันเหไปเล่นตะกร้อชายหาดบ้าง ถอดรองเท้าเล่นบนชายหาด จากนั้นจึงมีโค้ชตะกร้อทีมชาติมาชวนให้ลองเล่นเทคบอลดู เมื่อ 4 ปีก่อน ขณะนั้นกีฬาเทคบอลเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยสดๆ ร้อนๆ

ภาพจากคุณต้นและคุณอาร์ท

การเข้ามาในเส้นทางเทคบอล ยังมีเพื่อนนักกีฬาเทคบอลชุดแรกอีกหลายคน แบ่งเป็นชาย 9 คน หญิง 9 คน คุณอาร์ทเป็นหนึ่งในนักกีฬาชุดแรก ซึ่งรู้จักกับคุณต้นมาตั้งแต่สมัยเล่นตะกร้อชายหาด คุณอาร์ทก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เล่นกีฬามาตั้งแต่สมัยยังเด็ก แต่ค่อยๆ หันเหและปรับเปลี่ยนกีฬาเรื่อยมา จากนักกีฬาฟุตบอลโรงเรียน ค่อยๆ เปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนมาเล่นกีฬาเทคบอลในที่สุด

 

ใครคือไอดอลของพวกคุณ?

คุณต้น : “ลิโอเนล เมสซี เพราะเขาถนัดซ้ายและผมก็ถนัดซ้าย
เขาเป็นอัจฉริยะในการเล่น ไม่ต้องใช้กำลัง ร่างกายไปเล่นแต่ใช้สมองในการเล่นฟุตบอล
ซึ่งผมก็เป็นคนชอบวางแผนในการเล่นเทคบอล”

คุณอาร์ท : “รัตติกร เพียลุน ฉายา ‘จอนหลังเท้า’
เป็นผู้ชายคนแรกที่ผมไปนั่งดูแล้วเขายืมรองเท้าผมไปเตะ
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมอยากเล่นตะกร้อและบอกตัวเองว่าจะต้องเก่งเหมือนเขาให้ได้”

 

อะไรทำให้คุณอาร์ทเปลี่ยนจากฟุตบอลมาเป็นตะกร้อ?

“ผมชอบฟุตบอลแต่มาเตะตะกร้อเพราะฟุตบอลต้องวิ่งเยอะ ตะกร้อไม่ต้องวิ่ง พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ตะกร้อเป็นกีฬาที่ออกไปหาเตะได้ง่าย มีสปอนเซอร์จ้างเราก็พอเลี้ยงดูตัวเองได้ ผมติดทีมชาติครั้งแรกตอนเล่นเตะลูกขนไก่ ชัตเติ้ลค็อก ที่ประเทศเวียดนาม จากนั้นกลับมาเล่นซีเกมส์ที่ประเทศลาว” แล้วเส้นทางจากตะกร้อก็ขยับมาเป็นตะกร้อชายหาด ได้พบกับเพื่อนๆ และคุณต้น จากนั้นจึงได้รับคัดเลือกให้มาเป็นนักกีฬาชุดแรกของกีฬาเทคบอล

เทคบอลที่ไม่ค่อยมีใครรู้

“เรามาเรียนรู้กันใหม่หมดทุกคนทั้งโค้ชทั้งนักกีฬา” คุณต้นตอบ

กีฬาเทคบอลที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้เพียงแค่สี่ปี แต่จริงๆ แล้วเป็นกีฬาที่นักกีฬาสามารถปรับใช้เทคนิคจากการเล่นกีฬาชนิดอื่นได้ มีอะไรที่คล้ายกับกีฬายอดนิยมอย่างตะกร้อและปิงปองอยู่ด้วย เป็นความแตกต่างที่เหมือนกัน (อยู่หน่อยๆ)

“กีฬาตะกร้อจะเป็นสนามแนวระนาบ ส่วนเทคบอลจะมีโต๊ะคล้ายโต๊ะปิงปอง แต่เป็นแนวโค้งหลบลูก ตะกร้อกับลูกบอลก็ไม่ค่อยเหมือนกัน ลูกเทคบอลกับลูกฟุตบอลจะใช้ขนาดเท่ากันแต่น้ำหนักต่างกัน เบากว่าลูกบอลเตะพื้นแต่หนักกว่าลูกวอลเลย์บอล”

 

เทคนิคไหนสำคัญสุดสำหรับกีฬาเทคบอล?

คุณต้น : “ปัจจุบันนี้คนไทยเรายังขาดลูกเสิร์ฟ ถ้าเสิร์ฟดี
เทคนิคดีของเราต้องเสิร์ฟเยอะๆ เพราะเป็นกีฬาใหม่สำหรับคนไทย
อีกหนึ่งอย่างคือพื้นฐานในการคอนโทรลฟุตบอล”

คุณอาร์ท : “เห็นด้วยกับคุณต้นครับ ซ้อมเสิร์ฟเยอะๆ
ถ้าเราเสิร์ฟแรกดีมันก็มีโอกาสชนะเขาได้”

 

ความท้าทายของการเล่นกีฬาเทคบอล คือการที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้ทั้งสติ สมาธิ พละกำลัง และจดจำท่าเล่นของตนเองและคู่แข่งด้วย แต่ละท่าที่เล่นต้องสลับกัน ทักษะของเทคบอลคือมันซ้ำท่าไม่ได้ ยากกว่าตะกร้อขึ้นมาเยอะเลย ถ้าเราใช้ขาขวาแล้วจะกลับมาใช้บริเวณขาขวาไม่ได้ ต้องสลับเป็นขาซ้ายหรือส่วนอื่น มีอวัยวะที่สามารถเล่นได้ 9 ส่วน คือขาขวา ขาซ้าย เข่าขวา เข่าซ้าย ไหล่ขวา ไหล่ซ้าย หน้าอก หัว  และหลัง” คุณอาร์ทตอบ

ภาพจากคุณต้นและคุณอาร์ท

ในการจะออกไปแข่งขันแต่ละครั้ง นักกีฬาต้องใช้เวลาฝึกฝนกันหนักหน่วงเป็นเดือนๆ หนึ่งวันซ้อมอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ต้องจริงจังมากๆ ด้วย เพราะเพอร์ฟอร์มแมนซ์ระหว่างซ้อมมีผลต่อการตัดสินใจของโค้ชในการจับคู่ส่งไปแข่ง

“ผมเล่นกับคุณอาร์ทมาปีกว่า แต่เราไม่ได้เล่นคู่กันตลอด มีการสลับคู่กันเพื่อหาคู่ที่ไปแข่งด้วยกันดีที่สุด ทั้งหมดอยู่ที่การวางแผนของโค้ช ซ้อมสองสามเดือนนี้คนไหนโดดเด่นขึ้นมาก็มาจับคู่กัน ถ้าใครไม่พร้อมทางร่างกายฟอร์มจะดร็อปลงอย่างเห็นได้ชัด ก็ต้องจริงจังตั้งแต่ตอนซ้อม โค้ชจะได้วางแผนถูก” คุณต้นตอบ และในทุกครั้งที่ได้จับคู่ไม่ว่ากับนักกีฬาคนไหน หนึ่งในทักษะที่นักกีฬาต้องมี คือความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคู่ของตัวเอง

“เราต้องปรับเปลี่ยนตลอด ดูคู่ของเราว่าเขาเล่นลักษณะยังไง จุดเด่นของคู่เราเป็นยังไง และเล่นบอลให้เข้ากับจุดเด่นของเขาด้วย”

 

เทคบอลที่มีทั้งเสน่ห์และเรื่องสนุก

เทคบอลที่แม้จะมีกลิ่นอายของกีฬาชนิดอื่นๆ รวมกันนี้ จริงๆ แล้วมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง มีความยากไม่เหมือนใครและคุณต้นกับคุณอาร์ทยังมีเรื่องสนุกๆ เป็นประสบการณ์มาบอกต่อให้เราฟัง

เสน่ห์ของเทคบอลคืออะไร ในมุมของคนที่หลงใหลในการเล่นกีฬา?

“มันท้าทายดี เพราะต่างชาติได้เห็นเราไปเล่น แล้วคนไทยตีลังกาเตะได้ มันสร้างสีสันและยกระดับกีฬาเทคบอลขึ้นมาได้เลย ส่วนมากนักกีฬาต่างชาติเขาจะทำไม่ได้ เขาจะมีแต่ลูกยืนเตะ กีฬานี้ประมาณ 99% ได้ทักษะการตีลังกาเตะมาจากตะกร้อเลย” คุณอาร์ทตอบ

อาจเป็นเรื่องดีเพราะในโรงเรียนต่างๆ ตะกร้อเป็นกีฬาที่นิยมสำหรับสอนนักเรียน หลายคนจึงได้ทักษะนี้มาด้วย การแข่งขันแรกที่คุณอาร์ทและคุณต้นได้ไปแข่งด้วยกัน คือชิงแชมป์ที่ประเทศเยอรมนี Teqball World Championships 2022 แม้จะตกรอบ 16 แต่ก็ได้รับเลือกให้ไปแข่งใน Gala Match เล่นคู่กับบราซิลและเอาชนะมาได้

“หลังจากที่เราจับคู่ไปแข่งที่เยอรมนี เป็นครั้งแรกที่เราได้เล่นที่ต่างประเทศ กระแสที่ได้กลับมาค่อนข้างดีมากๆ” คุณต้นตอบ จนถึงตอนนี้เราได้เป็นหนึ่งในชาติเอเชียที่มีสมาคม และนักกีฬาเทคบอลไปต่อสู้กับชาวต่างชาติแล้ว ซึ่งแต่ละครั้งก็มีเรื่องสนุกๆ กลับมาเป็นความทรงจำชวนประทับใจ

“มีครั้งหนึ่งตอนนั้นแต้มมันสูสี 11 เท่า ผมชงไปหลังโต๊ะแล้วผมก็หลับตา ผมยังหัวเราะตัวเองเลย แล้วต้นเตะลงยังไงไม่รู้ครับ สรุปเราชนะ แต่เราก็มาแพ้รอบชิงกับคู่มือหนึ่งของโลกจากประเทศฮังการี”

แม้ว่าจะชนะบ้าง แพ้บ้าง แต่สิ่งที่ทั้งคุณต้นและคุณอาร์ททำสำเร็จแล้วคือการได้เป็น ‘นักกีฬาทีมชาติ’ ที่เป็นความฝันในวัยเด็กของทั้งคู่ “อยากรู้ว่าทีมชาติเขาเก็บตัวซ้อมยังไง เล่นยังไง มันเป็นความฝันของเด็กน้อยคนหนึ่ง” คุณต้นตอบ และมากไปกว่านั้นคือการที่ทั้งคู่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเทค บอล กีฬาชนิดใหม่ในประเทศไทยและได้สนับสนุนให้เด็กๆ หันมาเล่นกีฬามากยิ่งขึ้น

 

นักกีฬารุ่นใหม่ทำยังไงให้ฝันกลายเป็นจริง?

คุณต้น: “อันดับแรกต้องมีวินัยกับตัวเอง ตั้งใจ ขยัน อดทน
มีความพยายาม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามา ซ้อมกีฬาจะมีท้อบ้าง
เหนื่อยบ้าง อยากเลิกเล่นบ้าง ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทำให้อาจถอดใจไปเสียก่อน”

คุณอาร์ท: “อยากให้น้องๆ ที่สนใจหรืออยากเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดไหน
อันดับแรกเอาชนะใจตัวเองให้ได้ อยากเล่นกับมันจริงๆ
อยากลองทำมันจริงๆ หรือเปล่า ขยันฝึกซ้อม อดทน ตั้งใจซ้อมให้เยอะ”

ส่งต่อความภูมิใจกับความหวังกีฬาใหม่ที่ไม่สั่นคลอน

แม้ว่านักกีฬาเทคบอลทีมชาติจะได้ไปแข่งในหลายประเทศ เอาชนะต่างประเทศมาแล้วแต่นักกีฬาอย่างคุณต้นและคุณอาร์ทก็ยังมีงานประจำอื่น ทำไปพร้อมกับสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วย ปัจจุบันคุณต้นรับราชการ มียศเป็นจ่าเอก ส่วนคุณอาร์ททำงานอยู่ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย

“ณ ปัจจุบัน ผมว่าการเป็นนักกีฬาเทคบอลทีมชาติยังเป็นอาชีพไม่ได้ เพราะการแข่งขันในบ้านเรายังไม่แพร่หลายเหมือนกีฬาอื่น สองคือยังไม่มีลีกส์ และสามคือยังไม่มีสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาแต่ละคน นักกีฬาแต่ละคนมีอาชีพหลัก เพราะเรายังไม่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบมากพอ”

แต่ถึงอย่างนั้นคุณต้นและคุณอาร์ทก็ยังมีความหวังที่จะทำให้กีฬาเทคบอลเป็นที่รู้จักมากขึ้น “อนาคตก็หวังว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา เพราะปัจจุบันนี้เด็กก็เล่นเยอะเพียงแต่ยังไม่เปิดเป็นกีฬาที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ขนาดนั้น เรายังไม่ท้อนะ เพราะมันยังเป็นกีฬาใหม่และเราพยายามผลักดันให้มันเป็นกีฬายอดนิยมระดับต้นๆ ของประเทศด้วย” คุณต้นตอบ

นอกจากนี้ทั้งสองยังได้มีโอกาสไปร่วมรายการ THE POWER GANG ซึ่งใช้สนามฟุตบอลโรงเรียนบดินทรเดชานนทบุรี ที่เป็นสนามฟุตบอลจาก “โครงการ 100 สนามฟุตบอลสร้างพลังเยาวชนไทย” ในการนำเสนอกีฬาเทคบอลให้คนรุ่นใหม่รู้จักและได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมสุดท้าทายเพื่อนำลูกฟุตบอลไปส่งต่อให้กับโรงเรียนบ้านหนองบัว และโรงเรียนบ้านโคกกว้าง จังหวัดขอนแก่นด้วย “ภูมิใจครับที่ได้สานฝันให้เยาวชนเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทใด ภูมิใจที่น้องๆ อยากเล่นฟุตบอลแล้วเราสามารถมอบฟุตบอลให้น้องๆ ใช้เล่นได้”

หลังจากได้พูดคุยกันมาเกือบสี่สิบนาที เราชื่นชมในความสามารถทั้งด้านการเล่นกีฬาและความหลงใหลของทั้งคู่ที่พาให้ทั้งคู่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาชนิดใหม่ของไทย นี่จะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อพากีฬาเทคบอลไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และเป็นที่ยอมรับของคนต่างชาติด้วย ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นคุณต้นและคุณอาร์ท รวมถึงนักกีฬาเทคบอลทีมชาติคนอื่นๆ พาชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแน่นอน

 

รับชมสาระความสนุกของรายการ THE POWER GANG EP. 1 เทคบอล

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก