Passion

The Piclic Band
ร็อกพริกขี้หนูแห่งเชียงใหม่

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 10 Nov 2022
Views: 1,720

“ปิ๊กลิ๊ก” หรือ “ปิ๊กหลิ๊ก” ในภาษาเหนือ แปลว่า “ของเล็กๆ หรือคนตัวเล็ก” ด้วยเป็นคำคุณศัพท์ที่ให้ความหมายตรงตัว คำนี้จึงถูกเลือกมาตั้งเป็นชื่อวงดนตรี “เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์” (The Piclic Band) เพื่อสื่อให้เห็นความน่าเอ็นดูของเหล่าสมาชิกวงที่มีลักษณะ “ตัวเล็กตัวน้อย” เมื่อได้เห็นภาพ บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้…ยาว บอกเลย! แต่เชื่อเถอะ! คุณจะอ่านจนบรรทัดสุดท้ายอย่างเพลิดเพลิน เพราะสาวน้อยทั้งหมดคุยกันสนุกสนาน สดใส เอเนอร์จีดีๆ ส่งต่อพลังบวกมากกก

The Piclic Band ในปัจจุบัน คือวงดนตรีแนวสากลนิยมที่ผันตัวมาจากการเป็นวงอูคูเลเล่ มีสมาชิกประกอบด้วยสาวน้อยวัยมัธยม 5 คน ได้แก่ ฟิล์ม – ปณิชา มณีวรรณ (ร้องนำ) ไอเดียร์ – พรณชกร วงศ์คำมูล (คีย์บอร์ด) กิฟท์ – สุทธิดา พันธ์ศรี (กีตาร์) ฟีฟ่า – อภิสรา แก้วก๋อง (เบส) และ ยูเมียว – รมิตา อุบลแก้ว (กลอง) 

ก่อนหน้านี้ เรามีโอกาสได้เห็นฝีมือในทางดนตรีของ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ มาบ้างแล้วที่สนามแข่งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ บนเวทีประกวดดนตรี THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย 

หลังจากที่พวกเธอเปิดโชว์ ด้วยลีลาโซโลร็อกแบบจัดหนัก ซึ่งดูจะขัดกับภาพของเด็กน้อยหน้าตาน่าเอ็นดู 5 คนในชุดยูนิฟอร์มโรงเรียน แวบหนึ่งของการแสดง เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ ทำให้เรานึกถึงวงดนตรีหญิงล้วนสัญชาติญี่ปุ่น อย่างวง เบบี้เมทัล (BABYMETAL) ขึ้นมารางๆ แต่ภาพนั้นก็ถูกสะบัดออกจากความคิดไปอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเธอไม่ได้เป็นวงแนวไอดอลคอร์ขนาดนั้น แต่ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ คือ เกิร์ล แบนด์ รุ่นเล็กที่ใช้ดนตรีแนววาไรตี้-ป็อป-ร็อกนำทาง ซึ่งผลการแข่งขันในวันนั้น ก็ไม่ผิดไปจากที่คาด ด้วยความโดดเด่นของโชว์สื่อออกมา ทำให้ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ โดนใจกรรมการ จนได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสามของวงรุ่นคลาส A ระดับมัธยมศึกษา เข้าไปสู่การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ ได้สำเร็จ

และพากันข้ามด่านสุดท้าย จน “เจ้าตัวเล็กทั้ง 5 ชีวิต” นำหัวใจร็อกๆ ของพวกเธอ กระโดดขึ้นไปโยกหัวบนเวทีด้วยความสนุกสนานอย่างเต็มที่! และคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ

“ตอนนี้ยังตื่นเต้นไม่หายเลยค่ะ (หัวเราะ) มันเป็นรางวัลที่พวกหนูรู้สึกคุ้มค่ามากกับการที่ฝึกซ้อมกันมาหนัก ก็ดีใจมากๆ ที่ได้มา มันทำให้เรารู้ว่า ถ้าเรามีความฝัน แล้วพยายามทำตามฝันให้เต็มที่ ทุกอย่างที่สโลแกนการประกวดบอกไว้ ว่า Dream it, Do it กล้าฝัน กล้าทำ…ถ้าคุณมีฝัน แล้วคุณอยากจะทำให้สำเร็จ พอทำสำเร็จ มันก็จะมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกไกล ซึ่งรางวัลที่ได้มา หลังจากนี้ก็คงจะเอาไปซื้อเครื่องดนตรี เเล้วเอาไปพัฒนาทางด้านดนตรีต่างๆ ต่อไปอีกค่ะ”

ความเป็นมาของ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ เราได้รับรู้มาแล้วส่วนหนึ่ง จากการพูดคุยกับ“ครูแตน”
ฐิติพงศ์ วงศ์ชัย
ครูคุมวงดนตรีเมื่อไม่นานนี้ แต่มุมความคิด ความอ่าน และความผูกพันฉันท์เพื่อนและพี่น้องของสาวๆ ทั้ง 5 คนที่เล่นดนตรีด้วยกันมาตั้งแต่เรียนประถม 3 มันทำให้เราอยากรู้จักความเป็นวง  “เล็กพริกขี้หนู” จากโรงเรียนวชิราลัย อ.สารภี จังหวัดเชียงใหม่ วงนี้ให้มากขึ้น

 

เมื่อการเดินทางของคนตัวเล็กๆ อารมณ์ดี 5 คน มีจุดเริ่มต้นที่ดนตรี…

“ตอนแรกทุกคนต่างก็มาเรียนดนตรีกับครูแตนค่ะ แล้วครูก็เห็นว่าพวกเราเคมีเข้ากันดี ตอนแรกพวกหนูก็ไม่รู้เลยว่าวงเราชื่ออะไร ตอนแรกก็ไม่มีชื่อค่ะ ก็หาอยู่นานมาก”
ฟิล์ม นักร้องนำ เป็นคนเปิดเรื่องราวด้วยเสียงเจื้อยแจ้วกับช่วงเวลาของการหาชื่อก่อนจะมาใช้
เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน

 

TP: แล้วตอนนั้นตั้งชื่อวงว่าอะไรกันคะ?

ฟิล์ม: ก็มีชื่อนั้นชื่อนี้ วงสายพุทธก็มีนะคะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็เห็นว่า “โอ้ มันตัวน่อย สูงกว่าหลักกิโลน่อยเดียว” (ฟิล์มเล่าด้วยสำเนียงภาษาเหนือ) ก็เลยมาเป็น ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ ค่ะ แต่ตอนแรกหนูก็อยากให้วงชื่อ ราพันเซล แบนด์ นะคะ (หัวเราะ) แต่ครูไม่เอา มันติงต๊องไป (หัวเราะ)

ยูเมียว(ภาพถัดไป): ตอนนั้นเป็นเด็ก ก็ยังไม่ได้คิดอะไร ก็เลยตามครูเลยค่ะ (หัวเราะ)

 

TP: พอมาเป็นเกิร์ล แบนด์เต็มตัว คิดว่าจุดเด่นของวงเราอยู่ตรงไหน?

ฟิล์ม: ความเฮฮาค่ะ สร้างเสียงหัวเราะ ถึงแม้จะนั่งมองหน้ากันเราก็…
(ฟิล์มทำเสียงหัวเราะเอิ๊กขึ้นมา ทำเอาเพื่อนๆ หัวเราะตาม) มันมีเสียงหัวเราะแบบนี้กันตลอด บางคนอาจจะคิดว่า “อิน้องนี่เป็นอะหยัง” อะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ความจริงเราจะหัวเราะกันตลอดเวลา แล้วด้วยความที่เราเล่นดนตรีมาด้วยกันตั้งแต่ ป.3 เวลาทำอะไรมันก็เหมือนมองตาแล้วก็รู้ใจกันทุกเรื่องค่ะ
(ว่าแล้วฟิล์มก็ทำท่ามองจับผิดไอเดียร์ที่นั่งอยู่ตรงข้าม เรียกเสียงหัวเราะของเพื่อนๆ ให้ครึกครื้นขึ้นอีกรอบ)

TP: แต่ละเวทีที่เคยประกวดมา เคยได้รางวัลจากที่ไหนบ้าง?

ฟิล์ม(ภาพถัดไป): มีหลายเวทีค่ะ อย่างประกวดของยามาฮ่า ก็ชนะเลิศอันดับที่ 1 ของรุ่นเล็กค่ะ แล้วไมค์ทองคำเด็กก็ได้ไป ตอนนั้นหนูไปออดิชันร้องเพลงของหนูเอง หนูไปร้องเพลง “เธอคือดวงใจ” ก็อยากจะเอาวงของหนูไปด้วย เก็บกระเป๋าไปกันหมดเลยค่ะ (หัวเราะ)

 

TP: เดอะ เพาเวอร์ แบนด์ นี่มาเป็นปีแรกกันใช่ไหมคะ แล้ววางแผนการประกวดปีนี้กันมาอย่างไร?

ฟิล์ม: คนนี้เลยค่ะ (ฟิล์มชี้ไปที่กิฟท์) เขาเป็นคนไปกดเพจ แล้วมาบอก “เนี่ย มันดีนะ เพราะมันได้เปิดโลกกว้าง” เขาเป็นคนส่งมาเลยค่ะ จัดแจงโน้นนี่ทุกอย่าง แล้วคนอื่นๆ ค่อยมาตกลงกัน ต้องขอบคุณกิฟท์ แล้วก็ขอบคุณคุณครูด้วยค่ะ คุณครูนี่คอยช่วยซัปพอร์ตเราตลอดเลย

กิฟท์: ตอนที่เห็นก็รู้สึก “เฮ้ย เราพลาดไม่ได้แล้ว” เลยมาถามเพื่อนๆ

 

TP: พอลงสมัครแล้ว มีการแบ่งพาร์ตการทำงานในวงยังไงคะ?

ฟิล์ม: พอหนูรู้เพลงปุ๊บ หนูก็ไปฝึกร้องเลยค่ะ จำเนื้อ จะได้รู้ว่าตรงไหนต้องใส่ดีเทลอะไรบ้าง แล้วมาลองเล่นด้วยกัน พอรู้ว่าจะเอาแบบนี้นะ ก็ซ้อมเลยค่ะ แบ่งกันไปซ้อม…แบ่งกันไปฟัง ต้องฟังเวอร์ชันเดียวกันด้วยนะคะ

ฟีฟ่า: พอได้เพลงก็มาหาคอร์ดค่ะ แกะเพลงในพาร์ตตัวเอง แล้วค่อยเอามารวมกัน แล้วก็จะเติมนิดเติมหน่อยให้เป็นเพลงที่สมบูรณ์

กิฟท์: เราจะคุยกันก่อนว่าจะเอาท่อนนี้ๆๆ แล้วก็แยกฝึกซ้อมค่ะ โดยเอาสเกลที่น่าสนใจใส่เข้าไป ให้เพลงน่าสนใจขึ้น

ยูเมียว: ของหนู พอรู้เพลงแล้วก็จะแบ่งท่อนกัน  ก็ถามกันดูว่าจะเอาท่อนไหนบ้าง แล้วก็เอามาซ้อมในส่วนของหนูก็คือ ตีกลอง เราจะได้รู้ว่าจะตีหรือเอาจังหวะไหนมาปรับใช้ได้บ้างค่ะ

ฟีฟ่า(ภาพถัดไป): หนูก็จะมาหาโซโลที่จะใช้ค่ะ แล้วก็หาคอร์ดที่เข้ากับเนื้อร้อง ท่อนแบบไหนก็หามาให้ได้ค่ะ

 

TP: แต่ละคนมีศิลปินที่เป็นต้นแบบในการเล่นดนตรีกันไหม และได้เอาแนวทางของนักร้องชอบมาปรับใช้กับตัวเองแบบไหน?

ฟิล์ม: ถ้าในแง่ของเสียงดี เสียงใส หนูชอบพี่แก้ม วิชญาณี ค่ะ แต่ถ้าเป็นน้ำเสียงหรือสเกลการร้องอะไรต่างๆ หนูชอบพี่โบกี้ไลอ้อน แล้วก็มีคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่หนูจำไม่ได้ เพราะหนูมีเยอะเกินไป (หัวเราะ) ตอนแรกหนูเป็นคนที่ร้องขึ้นเสียง (อิมโพรไวส์) ยังไงก็ไม่ได้เลยค่ะ แต่พอหนูเห็นพี่แก้มร้อง พวกเพลงดีสนีย์ หนูก็เลยฝึกร้องตาม เพราะหนูเห็นพี่เขาร้องตามคอนเสิร์ต หนูก็อยากร้องให้ดี ร้องให้คมชัดเหมือนพี่เขาบ้าง หนูก็เลยลองเอามาปรับใช้ แล้วหนูก็ไปเรียนร้องเพลงเพิ่มด้วยค่ะ ตอนนี้หนูชอบร้องเพลงสากลมากเลยค่ะ ร้องป็อปก็ชอบ ร้องเกาหลีก็ได้ค่ะ ก็ร้องแบบฮัมๆไป (หัวเราะ) เหมือนตอนนี้กำลังหาค่ะว่าชอบร้องแนวไหนมากที่สุด

ฟีฟ่า: หนูชอบพี่ขวัญ วงอินดิโกค่ะ พี่เขาเล่นเบสเท่ดี หนูก็เอาท่าทางแล้วก็สไตล์การเล่นของพี่เขามาปรับใช้ค่ะ

กิฟท์(ภาพบน): หนูชอบพี่ยอด บอดี้สแลมค่ะ พี่เขาเล่นแล้วดูมีเสน่ห์ เป็นตัวของตัวเอง หนูคิดว่าถ้าหนูฝึก หนูน่าจะมาทางนี้ได้

ยูเมียว: ไอดอลของหนูคือ พี่ตาล Softwhip ค่ะ ซึ่งพี่ตาลเป็นมือกลองผู้หญิง หนูก็เป็นมือกลองผู้หญิงเหมือนกัน หนูชอบสไตล์การเล่นของพี่เขา คือมีความแน่น ลูกรับส่งดี อะไรดีหมดเลย ตีกลองได้สุดยอดมากค่ะ

ไอเดียร์(ภาพบน): หนูชอบพี่หนึ่ง จักรวาล เพราะว่าพี่เขามีลูกเล่นเยอะ แล้วก็หางเสียงเยอะ ท่อนโซโลที่พี่เขาใช้ หนูก็นำเอามาใช้บ้าง ปรับบ้างค่ะ แล้วก็มีเสียงด้วย เสียงที่จะโซโลก็หาๆๆ ให้มันเข้ากันค่ะ เทคนิคการเล่นของหนูก็จะโยกให้มัน แล้วก็เล่นให้ดีค่ะ

TP: ตอนโชว์บนเวทีเห็นกรรมการชมการตีกลองของฟีฟ่าเยอะมาก หนูมีเทคนิคการตีของตัวเองไหม?

ยูเมียว: ตอนนั้นหนูคิดแค่ว่า หนูตีแล้วหนูมีความสุข หนูสนุก หนูมัน แค่นั้นเองค่ะ (หัวเราะ) หนูก็เลยใส่เต็มเลย แล้วก็คงความเป็นท่อน…คงจังหวะไว้ ลูกส่งต้องทำให้คงที่ ก็ต้องคงจังหวะไว้ด้วยค่ะ

 

TP: Performance บนเวที เราต้องวางแผนกันไหมคะ? ว่าจะทำยังให้โชว์มันออกมาดูน่าสนใจที่สุด

ฟิล์ม: นัดค่ะ เราต้องทำให้คนเห็นแล้วต้องรู้สึก “โอ้โห!” ฉะนั้นเราต้องทำให้โชว์ไม่ธรรมดาเกินไป แต่ความพิเศษหลักๆ คือ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ เป็นสไตล์ป็อป-ร็อก แล้วก็มีหมอลำด้วย แต่มันก็จะแล้วแต่เพลง แล้วแต่เวทีด้วยค่ะ

กิฟท์: แต่ท้ายที่สุดแล้วเราจะเล่นดนตรีมีความสุขที่สุด แล้วก็จะทำโชว์ให้คนดูสนุกและมีความสุขไปกับเราที่สุด

ยูเมียว: ทำให้สนุก แล้วโชว์ให้สุดๆ ไปเลยค่ะ

 

TP: อย่างเพลงที่เลือกมาแข่ง ได้เอามาปรับเล่นยังไงให้เป็นสไตล์เรา

ฟิล์ม: เพลง “ช่างมัน” (สมเกียรติ) ที่ใช้ในรอบคัดเลือกที่เชียงใหม่ เป็นเพลงสนุกเลยค่ะ คลายเครียด เพราะเพลงแรกเป็นเพลงเศร้า มันจะต่อกันเหมือนเรื่องราวเดียวกัน ในเมื่อเศร้ามาแล้วเราก็ต่ออารมณ์ให้สนุก เราก็จะเน้นเทคนิคหลายๆ อย่างเข้าไป ส่วนเพลง “เจ็บน้อยที่สุด” ของวงซีล ที่ใช้ทั้งการประกวดที่เชียงใหม่และรอบตัดสินนี้ เราเอามาทำให้เป็นเจ็บมาก…เป็นการส่งต่อว่าความเจ็บนั้นมันโครตเจ็บเลย ในมุมของหนูที่เป็นนักร้องนะคะ หนูรู้สึกว่าเพลงนี้มันเข้าถึงอารมณ์ดี มันพุ่ง แล้วมันสามารถใส่ไดนามิก ใส่เทคนิคให้พุ่งได้อีก

ในขณะที่เพลง “ถ้าฉันเป็นเขา” อีกเพลงที่เราใช้ในรอบนี้คือตีความให้เป็นมุมมองตามที่วงเราเป็นวงผู้หญิง พยายามใส่อารมณ์ลงไปให้เป็นเพลงอกหักในแบบผู้หญิงเลยจะต่างจากต้นฉบับที่เป็นเพลงของผู้ชาย มีการเปลี่ยนทางเดินของคอร์ด ให้ดนตรีมันฟังดูแปลกไปเลย

 

TP: แล้วมีการเล่นตรงจุดไหนที่ยังต้องแก้ไขบ่อยๆ 

กิฟท์: น่าจะเป็นเรื่องยูนิซัน(ที่หมายถึงการเล่นเป็นหนึ่งเดียว)ค่ะ

ยูเมียว: บางทีมันก็จะมีจุดที่เราเล่นไม่พร้อมกันบ้าง เล่นเร็วไปบ้าง เล่นช้าไปบ้าง

กิฟท์: ถ้าเร่งไปมันก็จะไม่พร้อมกัน

ฟิล์ม: แต่เรื่องการรับส่งไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ เพราะเราเล่นด้วยกันมานาน (มองตาก็รู้ใจเลยใช่ไหม? -เราดักทางพร้อมหัวเราะ ฟิล์มพยักหน้าติดตลก ทำเอาเพื่อนๆ หัวเราะกันคิก “ไม่มีอะไรค่ะ พวกเรามองหน้ากันก็หัวเราะแล้วค่ะ” เหล่าเด็กน้อยช่วยกันเฉลยด้วยเสียงหัวเราะสดใส)

 

TP: ประสบการณ์บนเวทีประกวด THE POWER BAND ให้อะไรกับเราบ้าง?

ฟิล์ม: หนูได้ปลดปล่อยเยอะมากเลยค่ะ ในเรื่องของการเอนเตอร์เทน หนูยอมรับว่าเมื่อก่อนหนูไม่ค่อยกล้าแสดงออกในเรื่องเอนเตอร์เทนเลย ถ้าครูไม่ให้พูด หนูก็ไม่พูด เอาแต่ร้อง ร้องมันก็ได้ แต่เรื่องเอนเตอร์เทนไม่โอเค จริงๆ เป็นคนขี้อาย จนหนูเริ่มปรับตัวจนมาเป็นปัจจุบัน กล้ามากขึ้น แต่ไม่ได้ทำอะไรเสียๆ หายๆ นะคะ (หัวเราะ) กล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น

กิฟท์: พวกเราอยู่ด้วยกันแล้วสนุกค่ะ มันเลยเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้เราด้วย เรารู้สึกเหมือนเราเป็นครอบครัวหนึ่งที่ผูกพันกันค่ะ

ยูเมียว: หนูประทับใจเวลาที่เราเล่นดนตรีด้วยกันค่ะ มันจะมีฟีลลิงที่เรามัน เราสนุก เราโยกหัวไปด้วยกัน (หัวเราะ) คือมันจะรู้กันอยู่แล้ว ซึ่งทุกเวทีมันจะมีฟีลลิงแบบนี้

ฟิล์ม: มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของจริงค่ะ (หัวเราะ) ดูจากมือกีตาร์กับมือคีย์บอร์ดนะคะ เวลาหนูหันไปทีไรจะเห็นเขาสองคน..(ฟิล์มเลียนแบบท่าลีดกีตาร์โยกหัวเข้าหากัน) หนูไม่เคยเห็นเขานิ่งเลยค่ะ หนูก็จะ “โหววว” (หัวเราะ)

TP: ทราบข้อมูลมาว่า ตอนเด็กๆ ฟิล์มเคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ มันยังส่งผลกับการร้องเพลงในตอนนี้อยู่ไหมคะ?

ฟิล์ม: เมื่อก่อนหนูเป็นคนเหนื่อยง่าย สุขภาพหนูไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนคนอื่น วิ่งก็เหนื่อย ร้องเพลงก็เหนื่อย มันเวียนหัวค่ะ  พอถึงปัจจุบันก็เบาๆ ลงแล้ว มันก็ยังมีอยู่ แต่หนูว่ามันไม่เป็นอุปสรรคค่ะ

 

TP: ดนตรีมีส่วนเยียวยาให้เราในแง่ไหน?

ฟิล์ม: ของหนูเลยนะคะ มันช่วยบริหารร่างกายของหนู คือหนูร้องเพลงก็ต้องบริหารปอด ทำให้หนูแข็งแรงขึ้นเยอะเลยค่ะ เมื่อก่อนหนูทำอะไรนิดก็ปากเขียว ปากช้ำ…หอบ แต่พอได้มาร้องเพลง มันทำให้หนูได้ดูแลสุขภาพ กลับมารักตัวเอง เมื่อก่อนหนูไม่ได้ดูแลตัวเอง ดูแลเสียงของหนูเลยค่ะ เมื่อก่อนคิดว่า “ทำไมต้องดูแล” แต่พอมาเป็นนักร้องมันส่งผลเลยค่ะ ถ้าไม่ดูแลก็ไม่ได้เลย อะไรนิดหน่อยเสียงแหบ แล้วมันทำอะไรไม่ได้เลย ก็ต้องดูแลและบำรุงร่างกาย

ยูเมียว: เวลาเครียดๆ หนูก็จะเปิดเพลงฟัง แล้วการเล่นดนตรีมันช่วยให้ผ่อนคลาย บำบัดความเครียด แล้วก็ได้ปลดปล่อยค่ะ

กิฟท์: หนูก็เหมือนกับยูเมียวเลยค่ะ มันทำให้เราผ่อนคลาย เราสามารถอยู่กับดนตรีได้ทั้งวันเลย

 

TP: ตอนนี้ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ ตั้งเป้าความฝันของวงกันไว้ถึงไหน อยากเป็นศิลปินกันไหมคะ? 

กิฟท์: อยากค่ะ ตอนนี้ก็อยากพัฒนาตัวเอง แล้วก็หาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ค่ะ

ฟิล์ม: หนูก็อยากเป็นศิลปิน เป็นไอดอล เป็นความฝันของหนูเลยค่ะ

 

TP: มีคำแนะนำดีๆ สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากเล่นดนตรี และอยากทำความฝันให้เป็นจริงแบบ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ บ้างไหม?

ฟิล์ม: ถ้าเป็นรุ่นน้องๆ หนูจะบอกเขาว่า ดนตรีมันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ คุณจะต้องลอง แล้วจะรู้ว่า การเข้าสายดนตรี เข้าแล้วออกยากค่ะ (อมยิ้มแล้วบอกว่า) …เพราะมันสนุก ถ้าคนที่เล่นไม่เป็น แรกๆ เขาอาจจะรู้สึกว่า “อุ๊ย สับสน ยาก” แต่พอเราแกะเพลงได้ โอ้โห ยิ่งแกะได้เองโดยที่ไม่ต้องมีครูมาดู มันภูมิใจนะคะ เวลาไปเล่นเวทีไหน ที่ครูไม่ต้องคุม แล้วทำได้เอง มันจะภูมิใจ เพราะว่าเป็นผลงานของเราทำเอง แล้วมีครูเป็นคนคอยซัปพอร์ต แค่ชี้แนะนิดๆ หน่อยๆ ค่ะ

ยูเมียว: ถ้าใครชอบหรืออยากลองเล่นดนตรีให้ทำเลยค่ะ ในช่วงแรกๆ อาจจะยากหน่อย แต่อยากให้อดทน ถ้าชอบจริงๆ ให้ฝึกเลยค่ะ เพราะถ้าเล่นไปเล่นมาจะรู้สึกว่าสนุกมากๆ

ไอเดียร์: อย่าเพิ่งท้อกับมันค่ะ

เวทีนี้ได้กลายเป็นประสบการณ์อันน่าจดจำในช่วงหนึ่งของชีวิตสำหรับ เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ ทั้ง 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว “พวกเราดีใจที่ได้มาเวทีนี้  ดีใจที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก ดีกว่าที่จะไม่มีโอกาสได้มายืนอยู่ตรงนี้ แล้วไม่โฟกัสไม่ให้ความสำคัญกับมันค่ะ”

 

ผลงานที่ผ่านมาของ The Piclic Band

  • ออกรายการไมค์ทองคำเด็ก
  • ชนะเลิศ” ประกวดวงดนตรี Yamaha Band Festival 2019 (รุ่นเล็ก)
  • รางวัล “ขวัญใจ ปตท.” ประกวดวงดนตรี บทเพลงรักแห่งแผ่นดิน ปีที่ 9
  • รางวัล “ขวัญใจ ปตท.” ประกวดวงดนตรี บทเพลงรักแห่งแผ่นดิน ปีที่ 10
  • รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 (รุ่น 12-17ปี)
  • ประกวดวงดนตรี The Dreamer Academy EP.6  “Music Online Challenge”
  • รางวัล “รองชนะเลิศอันดับ 2” ประกวดวงดนตรี Music of light 2022 AWARD
    เนตรฤทัย ทอด้วยใจแทนตา และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน