People

ดนุภพ กมล
ฟันเฟืองสำคัญของ Muzik Move

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 13 Feb 2023
Views: 993

• ผมมองตัวเองว่าเป็นคนดนตรีคนหนึ่ง ที่มีความชื่นชอบที่จะทำงานร่วมกับศิลปินและคนเบื้องหลัง
• หลักการของ Muzik Move มีศิลปินเป็นศูนย์กลาง และเรามองว่าดนตรีเป็นศูนย์กลางของการผลักดันให้ธุรกิจบันเทิงเดินหน้าต่อไป
• ความสุขของคนทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีมันอาจจะดูเหมือนยาก เราอาจจะต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับความติสต์ หรือความยากในการผลักดันผลงานออกมาตามตาราง หรือกรอบการทำงานที่ควรจะเป็น

หากคุณค้นหาค่ายเพลงที่น่าจับตามองในปีที่ผ่านมา ชื่อของ “Muzik Move” จะอยู่ในรายชื่ออันดับต้นๆ พวกเขาคือผู้สร้างความสำเร็จให้กับศิลปินมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อิ้งค์ วรันธร เอิ๊ต ภัทรวี วง Indigo ศิลปินคู่ดูโอ Serious Bacon เบล วริศรา บีน นภสร ไปจนถึงรุ่นใหญ่ อย่างบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ วง ETC วง Silly Fools วง Zeal และอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินคุณภาพที่สร้างสีสันและผลักดันให้เกิดดนตรีที่หลากหลายให้วงการเพลงไทยสปอตไลต์ไม่เพียงจับไปที่ตัวค่าย แต่ยังส่องไกลถึงคนเบื้องหลังอย่าง บอม – ดนุภพ กมล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท Muzik Move และหนึ่งในผู้ที่คอยขับเคลื่อนกำหนดทิศทางธุรกิจของค่ายให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

Thaipower.co เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักผู้บริหารรุ่นใหม่ที่กำลังเขย่าอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้สั่นสะเทือน

“สิ่งยากที่สุดของค่ายเพลง คือความเป็น artist ซึ่งอยู่ในทั้งศิลปินและคนเบื้องหลังเลย..

.เราวิ่งด้วยความเร็ว ที่อาจจะไม่เร็วนัก แต่เราเข้าใจคนทำงานหลังบ้านทั้งหมด

ทั้งคนทำเพลง ทั้งศิลปิน ก็จะวิ่งไปได้พร้อมกัน”

ดนุภพ กมล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท Muzik Move

 

คีย์ในการสร้างความสำเร็จให้คนดนตรีฉบับของ “คุณบอม Muzik Move”

✔️มองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยู่เสมอ

✔️ต้องหาสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับปัจจัยสำคัญทางธุรกิจให้พบ

✔️อย่าลืมที่จะเปลี่ยนสิ่งใหม่ไปตามความเปลี่ยนแปลงไปของโลกใบนี้

✔️การทำ Music Business ต้องตอบรับและให้ความสำคัญกับผู้ฟังกลุ่มย่อยด้วย

✔️ต้องให้โอกาสศิลปินเติบโตในแบบที่เขาเป็น …พร้อมกับให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาแสดงศักยภาพในฐานะ “ศิลปินใหม่” ด้วย

 

จุดเริ่มต้นฐานะเบื้องหลังคนดนตรี

“ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ผมก็เหมือนเด็กนักเรียนปกติ เรียนหนังสือ เล่นกีตาร์ ร้องเพลง ทำวงไปประกวด Hot Wave Music Awards จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้เล่นวงของมหาวิทยาลัย แต่ความฝันจริงๆ อยู่ในเรื่องการทำงานเบื้องหลังมากกว่า จนได้เป็น Sound Engineer ทำงานกับโพรดิวเซอร์ อยู่เบื้องหลังของศิลปิน เรียกได้ว่าโชคดีที่ผู้ใหญ่ ผู้บริหารหลายๆ ท่านช่วยแนะนำแนวทางแล้วก็ผลักดันมา ไม่ว่าจะเป็น พี่ป้อม อัสนี โชติกุล ศิลปินเบอร์ 1 ของยุคนั้นเลย

วันที่เจอพี่เขาครั้งแรก เขาเป็นกันเองมาก เดินมากอดคอ ผมนี่ได้อัดเสียงให้พี่ป้อม วันแรกก็มือสั่น ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก พอได้ทำงานจริงๆ เจอทั้งพี่ป้อม เจอพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ หรือศิลปินคนอื่นๆ ที่ทุกคนน่ารัก

คือศิลปินหน้าม่านเขาอาจจะดูเหมือนอยู่ห่างไกลมาก แต่เวลาทำงานด้วยกันกับคนเบื้องหลัง ทุกคนให้ความเป็นกันเอง ผมอาจจะโชคดีที่พี่ๆ แนะนำมาในทางที่เป็นความฝันของเราด้วย ทำงานตรงนั้นไปได้สัก 10 ปี ผมก็อยากหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ เลยเลือกที่จะไปเรียนต่อในสาขามิวสิกแมเนจเมนต์ ที่ประเทศอังกฤษ พอเรียนจบกลับมาพี่ป้อมก็ให้โอกาสอีกครั้งได้ขึ้นมาทำมาร์เก็ตติ้งให้กับค่ายเพลงสหภาพดนตรี และหลังจากนั้นมีการรีแบรนด์เป็น Muzik Move อย่างในวันนี้ ต้องถือว่าผมโชคดีที่ได้ทำตามความฝันมาตลอด”

 

✔️มองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

บริหารค่ายเพลงคือโจทย์ใหญ่ในชีวิต

“ผมมองว่าสิ่งที่ยากที่สุดของค่ายเพลงของการทำงานกับ artist คือความเป็น artist ซึ่งอยู่ในทั้งศิลปินและคนเบื้องหลังเลย คนเขียนเพลง โพรดิวเซอร์ หรือพนักงานเองก็จะมี DNA นั้นอยู่ มันมี dynamic ที่ค่อนข้างสูง คือต้องเข้าใจเขาในการทำงาน Artistic feeling หรือเรื่องของตารางเวลาในการทำงาน อาจจะต้องมีความหลวมบ้าง มีความหย่อนบ้าง ตึงบ้าง

ผมว่าความที่เป็นคนโพรดักชันมาก่อนทำให้เรารู้จักคนทำงานทุกส่วน ข้อหนึ่งคือเรื่องความตึง ความหย่อนทำให้เราเข้าใจว่า ตึงแค่ไหนดี หย่อนแค่ไหนดี หย่อนมากก็เสียตารางเวลา พังทั้งระบบ ตึงมากก็ไม่สามารถร่วมงานกับศิลปินได้ ผมว่าอันนี้เป็นข้อดี อีกเรื่องหนึ่งคือ ด้วยความที่เป็นคนเบื้องหลัง มีเครดิตกับการทำงานกับศิลปินมากหน้าหลายตา มันทำให้คนที่เดินเข้ามาทำงานกับเราก็มีความเคารพและเชื่อในทิศทางที่เราให้ไป การทำงานร่วมกับค่าย ก็จะมี Business Input ว่าศิลปินนี้เราควรจะวางเขาในร่องไหน ทำเพลงประมาณไหน หรือ Music Platform ไหนที่เหมาะสมจะไปทางนั้น หรือโชว์ เช่น โชว์ของศิลปินคนนี้จะไปทางไหนดี

เราจะช่วยได้ตรงนั้น ซึ่งพอพูดไปแล้วศิลปินหรือคนทำงานก็เชื่อว่า นี่คือสิ่งที่เรามีประสบการณ์มาก่อน คำแนะนำพวกนี้ก็จะได้รับการตอบรับที่ดี อันนี้เป็นข้อดี

ข้อด้อยคือเรื่องของเวลา เราอาจจะมี 2 part ในตัวเอง ทั้งด้าน Production ด้วย แถมยังผูกฝั่งของ Production เอาไว้ด้วย Business เองก็พยายามที่จะประชุมเยอะๆ กับทุกทีม ปัญหาคือเวลาที่เราจะเดินหน้าต่อ ด้วยความที่เป็น Head ของ Business ผมเองก็พยายามที่จะหาความรู้เพิ่มเติม หรือกระโดดออกไปในพื้นที่อื่นๆ มีการ Collab กับ Business อื่นๆ ในฐานะของผู้บริหารที่จะวิ่งนำไป ก็วิ่งไปได้ไม่เร็วนัก อันนี้อาจจะเป็นข้อเสียนะ มันอาจจะทำให้ Business ขยายช้าลง เมื่อเทียบกับผู้บริหารคนอื่นที่เขา Business จ๋าเลย มันอาจจะกลับไปที่ข้อดีเนอะ

ถ้าเราไป Business จ๋าเลย วิ่งเร็วไปแล้วมันขาดกับทาง Production หรือหลังบ้าน มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ เหมือนวิ่งนำไปแล้วไม่ดูข้างหลังเลย เราวิ่งด้วยความเร็วนี้อาจจะไม่เร็วนัก แต่เราเข้าใจคนทำงานหลังบ้านทั้งหมด ทั้งคนทำเพลง ทั้งศิลปิน ก็จะวิ่งไปได้พร้อมกัน”

 

✔️ต้องหาสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับปัจจัยสำคัญทางธุรกิจให้พบ

“ศิลปิน” คือจักรวาลของ Muzik Move

หลักการของ Muzik Move มีศิลปินเป็นศูนย์กลาง เป็นที่ตั้งของบริษัท ด้วยความที่ชื่อบริษัทตั้งขึ้นมาจากไอเดียนี้ เรามองว่า ‘ดนตรีเป็นศูนย์กลาง’ ของการผลักดันให้ธุรกิจบันเทิงมันเดินหน้าต่อไป

เรามองว่าศูนย์กลางของ Muzik Move คือ ศิลปิน และ Content ที่มาจากศิลปิน หลักการในการดำเนินธุรกิจก็เลยเป็นการผลักดันศิลปินไปในทุกด้าน

เรากำลังพยายามที่จะสร้าง Eco System ให้ส่งเสริมศิลปินให้เติบโตไปในทุกด้าน ก็จะเติมเต็มกันเอง ต่อยอดกันในแต่ละส่วนของงาน ศิลปินทำเพลง ออกซิงเกิล ก็จะมี Music Business ดูแล พอออกเพลงไปแล้วเริ่มมีการจ้างงานแสดงเข้ามา มี Artist management ดูแล เริ่มมีชื่อเสียง Showbiz จัดคอนเสิร์ตให้

ถ้าไม่ใช่ Music Base เป็นแบบ Lifestyle Base เราก็จะมีเอเจนซีที่จับศิลปินไปเชื่อมกับลูกค้าแบรนด์ต่างๆ เพื่อขายภาพลักษณ์ ไล่ไปถึงการเป็นพรีเซนเตอร์ เช่น น้องอิ้งค์ ก็จะมีเอเจนซีดูแล ไปถึงอินเตอร์ จากในประเทศเราก็จะต่อยอดศิลปินไปนอกประเทศ ก็จะมีโครงสร้างของ Inter Business ที่ดูแล มีเรื่องของการทำเพลงที่เป็นภาษาต่างประเทศ หรือว่าเอาศิลปินไปเดินสายโชว์ต่างประเทศ เป็นงานที่เราจัดเอง รวมไปถึงพวก Music Festival ต่างๆ ในต่างประเทศ ก็จะเห็นว่ามันครบ Loop พอศิลปินไปถึงต่างประเทศแล้ว อย่างอิ้งค์พอออกอัลบั้มเสร็จเดินทางกลับมาก็ทำเพลงต่อ มันก็จะวนเป็น Loop ครบ Lifestyle ของศิลปินพอดี แต่ช่วงที่เรากำลังจะรันกับต่างประเทศ โควิดก็มาพอดี”

 

เส้นทางเกือบฉลุย แต่ไปสะดุดที่โควิด

“อุปสรรคสำคัญในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นโควิด โควิดมัน disrupt ทุกอย่าง Muzik Move เองพอโควิดมา disrupt ธุรกิจก็หยุดดำเนินไปช่วงหนึ่ง ‘ช็อกน้ำ’ อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็พยายามตั้งตัวอย่างที่เล่า

ช่วงนั้นผมก็หาไอเดียเพื่อปรับอะไรต่างๆ ว่าเราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจมันอยู่รอด เราพยายาม Hybrid Turn to Online ทั้งหมด งานขายก็พุ่งเข้าหาสปอนเซอร์แทน แต่สปอนเซอร์ก็ติดปัญหาเรื่อง On ground เหมือนกัน การส่งเสริมการขายหลายๆ อย่างที่เป็น On ground ก็ทำไม่ได้ จึงพยายามที่จะพัฒนาโมเดลต่อมา ตัวอย่างเช่น ในฝั่งของ Showbiz ช่วงที่โควิดดีขึ้นแล้ว เราก็พัฒนาโมเดลที่เรียกว่า Hotel Fest  เป็นการจัดคอนเสิร์ตในโรงแรมที่ตัวตึก Support ได้ เช่น ตั้งเวทีข้างล่าง ศิลปินเล่นข้างล่าง คนขึ้นไปอยู่บนห้องดูคอนเสิร์ตจากห้องในโรงแรม และก็มีการถ่ายทอดสดด้วย ก็เริ่มเป็นการหาอะไรให้ศิลปินออกไปเล่นบ้าง จนมันคลี่คลายทั้งหมดเราก็เริ่มมีแคมปิง ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ๆ ที่จัดเอาศิลปินไปเล่นตามแคมปิงที่คนเริ่มอยากจะท่องเที่ยว อยากจะออกมาข้างนอกบ้างแล้ว เป็นการแสดงในสเกลที่ไม่ใหญ่มาก ปลอดภัยมีการเว้นระยะ มาถึงช่วงนี้เริ่มผ่อนคลายก็เริ่มมีคอนเสิร์ต มีเฟสติวัลต่างๆ”

 

✔️อย่าลืมที่จะเปลี่ยนสิ่งใหม่ไปตามความเปลี่ยนแปลงไปของโลกใบนี้

 

โควิดทำชีวิตทุกคนเปลี่ยน แม้แต่วงการเพลงก็ยังเปลี่ยน

“น่าจะเป็นปัญหาพื้นฐานของการทำธุรกิจ Muzik Move ปีนี้เป็นปีที่ 6 ในเชิงของการรีแบรนด์มาแล้วก็มีค่ายเพลงมากขึ้นด้วย ปัญหามันอาจจะเป็นเรื่องการปรับตัวและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย ทิศทางของการบริโภคเพลง อาจจะเพราะโควิดด้วย และอะไรอีกหลายๆ อย่าง พฤติกรรมของผู้บริโภคเพลงเปลี่ยนไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนฟังแตกออกเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น

ด้วย Digital disruption ของโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง Mass media กลายเป็น
โซเชียลมีเดีย ซึ่งคนฟังเองก็เฉพาะกลุ่มมากขึ้น สามารถเลือกฟังได้มากขึ้น และ Music platform เองก็พัฒนาตัวเองให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การปรับเพลงให้เหมาะกับคนฟัง มีความเป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น ก็ทำให้จากที่เป็นศิลปินที่เป็นที่นิยม สามารถครองชาร์ตเพลงต่างๆ กลายเป็นศิลปินที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

ศิลปินอินดี้มีพื้นที่ให้ได้ออกมาทำให้คนฟังมากขึ้น คนฟังเองก็ขยายไปในทิศทางที่ฟังศิลปินที่ชอบและเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ มากขึ้น ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ที่ฟัง Mass ครองชาร์ตอยู่อย่างเดียว ตัวค่ายเองก็ต้องปรับตัวตาม จึงเป็นที่มาที่ไปที่ Muzik Move แตกออกเป็นค่ายย่อยต่างๆ ต้องปรับตัวตามผู้ฟัง มันก็เลยเกิดค่ายย่อยของ Muzik Move ขึ้น”

 

9 ค่ายย่อยรวมเป็น 1 Muzik Move

ทิศทางในอนาคตด้วยความที่แต่ละค่ายแตกออกมาเป็นกลุ่มย่อย พอการแบ่งแต่ละค่ายชัดเจนแล้วที่เราพัฒนาคือต่อเนื่องจากเรื่องแรก ตัวโครงสร้างแนวความคิดเดิมของ Muzik Move ก็คือ Eco System ที่สนับสนุนศิลปิน

แนวทางในอนาคตของเราก็คือ การสร้างอย่างต่อเนื่องให้สนับสนุนในทิศทางของทุกๆ ค่ายเพลง อย่าง Show Business ที่เราสนับสนุนผู้ฟัง Mass อย่างเดียว โครงสร้างเราก็ต้องสามารถที่จะสร้างให้เขาเดินไปในทางอินดี้ได้ด้วย เราก็ต้องคุยกับเขาในหลายๆ รูปแบบของศิลปินมากขึ้น ก็โชคดีว่าจากที่เคยทำให้ศิลปินเบอร์ใหญ่มากๆ เราก็ต้องพัฒนาสเกลที่เล็กลงมา มีขนาด 500 – 1,000 คน ที่เล็กลงที่เข้ากับกลุ่มผู้ฟังของศิลปินที่เล็กลงมา หรือว่าแฟนมีตติ้งต่างๆ

 

✔️การทำ Music Business ต้องตอบรับและให้ความสำคัญกับผู้ฟังกลุ่มย่อยด้วย

 

อย่างน้องเบล กลุ่มแฟนของเขาก็จะเป็นแบบ Idol fanbase มากกว่า ชื่นชอบในมุมนั้น ซึ่งเราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน จากคอนเสิร์ตขนาดใหญ่มาเป็นงานแฟนมีตติ้งในขนาดที่เล็กลงมา ทีมก็ต้องพัฒนาในจุดนั้นเช่นกัน อย่างเรามีศิลปินเป็นกลุ่มที่เป็นเชิงอินฟลูเอนเซอร์ พรีเซนเตอร์มากขึ้น ทีมมาร์เก็ตติ้งเองจากเดิมที่เคยโฟกัสที่การทำ Event ให้กับลูกค้า ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้มีความเป็น…ไม่อยากเรียกว่าโมเดลลิ่ง แต่พัฒนาให้สามารถ target ลูกค้าที่เป็นการขายงานแบบในมุมของภาพลักษณ์มากขึ้น เป็นการสร้างแบรนด์ให้กับตัวศิลปิน“

พร้อมเปิดประตูต้อนรับสมาชิกใหม่เสมอ

“ศิลปินรุ่นใหม่โอกาสเยอะมาก เดี๋ยวนี้ศิลปินเองแทบจะไม่ต้องรอค่ายในการโพรโมตตัวเอง จริงๆ เป็นสิ่งสำคัญด้วย เป็นหัวใจสำคัญของศิลปินยุคนี้ที่มีอาวุธในมือ ก็คือโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้สามารถโพรโมตตัวเองได้ตั้งแต่ก่อนเข้าค่าย

หลังจากอยู่ค่ายผมพูดในมุมค่าย เครื่องมือนั้นก็ยังสำคัญที่จะสร้างกลุ่มแฟนของตัวเอง ทุกคนมีเครื่องมือนี้ในมือ อยู่ที่ว่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้แค่ไหน และทิศทางในการใช้ ตัวค่ายเองก็มา
สนับสนุนในฝั่งหลัง ซึ่งอาจจะแนะนำได้ว่าทิศทางของการโพรโมต การใช้โซเชียลมีเดียแต่ละอันมันใช้ทางไหนดี ทางไหนเหมาะกับเขา ก็จะมาดูในเรื่องภาพลักษณ์ต่างๆ และต่อยอดในการหารายได้ทางฝั่งธุรกิจต่างๆ ตัวศิลปินยุคใหม่เองก็มีโอกาสมากขึ้นเยอะ ว่าจะเลือกไปในทางไหน อยู่ที่ตัวเขา แล้วก็การพัฒนาความน่าสนใจในตัวเองมากกว่า

พอเครื่องมือมันเอื้อให้กับคนทุกคน ใครก็ตามก็ขึ้นมาเป็นนักดนตรี นักร้อง ยูทูบเบอร์ ได้ มุมสำคัญในการก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินคือแสงในตัวที่เขาต้องหาให้เจอ ทำอย่างไรให้ต่างกับคนอื่น ทำอย่างไรให้คุณค่าในตัวที่แตกต่าง ที่ฉายแสงออกมา ทำให้มีเอกลักษณ์ในตัวออกมาชัดเจน อันนี้สำคัญ ทำให้ศิลปินที่มาจากการประกวดหลายๆ คนจะไปได้ไม่สุด อันนี้ก็เป็นความยาก แล้วก็เป็นดาบสองคม ประโยชน์ก็มี แต่โทษก็คือจำนวนมันเยอะ ก็ยากที่จะทำให้ตัวเองแตกต่าง ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับศิลปินใหม่ๆ ที่จะเปล่งประกายออกมา”

 

ก้าวสู่โลกดิจิทัลไปพร้อมกัน

“เราไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ กับศิลปิน ในยุคปัจจุบันก็ให้อิสระเต็มที่ เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะสื่อความเป็นตัวเองของศิลปินออกมา เราก็ช่วยมอนิเตอร์ของการโพสต์ต่างๆ แล้วก็มีคำแนะนำอยู่เหมือนกัน ผมหรือผู้บริหารเองก็เล่นโซเชียลมีเดีย พี่พล (คชภัค ผลธนโชติ Boxx Music) เองตอนนี้ก็เป็นดาว TikTok ผู้บริหารพนักงานเองก็ต้องเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะได้ทันกับตัวสื่อ

สิ่งที่เราทำเรียกได้ว่าเป็นไกด์ เป็นการให้คำแนะนำว่าโพสต์แบบไหนที่เหมาะสม ที่ไม่เสี่ยงเกินไป หรือโพสต์แบบไหนที่จะดึงคนฟังได้

ในมุมหนึ่งที่จะเป็นไอเดียในการเดินหน้าต่อของ Muzik Move ก็คือเรื่องฐานแฟนเพลง ซึ่ง TikTok
ทวิตเตอร์ก็เป็นเครื่องมือในการสร้างตรงนั้นด้วย เป็นที่ที่แฟนๆ อยู่ มุมของการสื่อสารของศิลปิน เราก็มีการแนะนำศิลปินว่าในทวิตเตอร์ ศิลปินเบอร์ไหนควรจะมีการสื่อสารแบบไหนที่จะมีประสิทธิภาพ ในแต่ละแพลตฟอร์ม”

 

✔️ต้องให้โอกาสศิลปินเติบโตในแบบที่เขาเป็นพร้อมกับให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาแสดงศักยภาพในฐานะ “ศิลปินใหม่” ด้วย

 

ไม่เคยหยุดค้นหาเฟ้นหาดาวดวงใหม่

ที่ผ่านมา Muzik Move คือพันธมิตรสำคัญของบริษัท คิง เพาเวอร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเฟ้นหาคนดนตรีที่จะสร้างฝันให้เป็นจริง ผ่านการประกวดบนเวที
THE POWER BAND 2023 Season 3 “หลายๆ อย่างมาเชื่อมกับเรื่องที่เล่าไปแล้ว เด็กๆ รุ่นใหม่ที่เขามีโซเชียลมีเดียเข้ามาไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ จะเป็นนักร้องนักดนตรี ผมมองว่าการประกวดดนตรีมันเป็นจุดแรกที่น้องๆ เด็กรุ่นใหม่ได้ก้าวเป็นศิลปินตัวจริง

การที่เขาเข้ามาในการประกวด เขาจะได้เจอกับการโชว์ของศิลปิน อย่างการประกวด
THE POWER BAND เราส่งศิลปินไปโชว์เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าประกวดในทุกภาคทุกสนาม น้องๆ ก็จะได้เจอกับการโชว์จริงๆ ของศิลปิน การที่เขาได้ดูศิลปินที่เขาชอบหรือเป็นแรงบันดาลใจให้ ก็เป็นพื้นที่แรกที่เขาจะเข้าใจมุมของการแสดงดนตรีสดบนเวที

อีกมุมหนึ่งคือกรรมการ การที่เราส่งกรรมการเข้าไปเป็นอีกมุมที่จะช่วยน้องๆ ได้ ในเรื่องความรู้ความเข้าใจที่จะแสดงออกทางดนตรีที่แสดงบนเวที เวทีการประกวดเป็นเวทีที่น้องจะมาแสดงพลังและศักยภาพให้คนได้เห็นจริงๆ เป็นโอกาสที่เขาจะแสดงความแตกต่างออกมา ทำให้สามารถก้าวสู่ความเป็นศิลปินได้ในอีกขั้นหนึ่ง

สมมติว่าไม่มีเวทีประกวดทุกคนก็จะอยู่ในโลกออนไลน์ก็อยู่ที่บุญแล้วว่าจะมีค่ายเพลงเห็นหรือเปล่า อยู่ที่โอกาสแล้วที่จะได้ออกมา การประกวดพอเขาได้แข่งขันมาเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าจะชนะเลิศ Top 3…
Top 5 มันคือโอกาสที่จะฉายแสงให้บุคลากรในวงการเห็น ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น พี่ๆ  Producer หรือศิลปินเห็นว่าน้องคนนี้เก่ง ชักชวนมาเป็นศิลปินได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ได้มีประสบการณ์จริงในการเติบโตเป็นศิลปินต่อไป”

 

หมุดหมายปลายทาง

ความสุขของคนทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีมันอาจจะดูเหมือนยาก เราอาจจะต้องต่อสู่ฝ่าฟันกับความติสต์ หรือความยากในการผลักดันผลงานออกมาตามตารางหรือกรอบการทำงานที่ควรจะเป็น

หนึ่งในความสุขก็คือการที่เราได้อยู่กับศิลปินเหมือนกัน ผมก็อยากทำให้ Muzik Move เดินไปให้สุดทางของ Muzik Move โจทย์ของเราคือการดันศิลปินในแต่ละเบอร์ ให้ไปให้สุดทางของเขา ศิลปิน Top 3 ของเรา อย่างน้องอิ้งค์ ตั้งแต่เริ่มทำงานกันที่ซิงเกิลแรก วางแผนมาด้วยกันเขาจะมีอะไรบ้าง มีเพลง มีคอนเสิร์ต ผมเคยพาอิ้งค์ไปต่างประเทศ ไปญี่ปุ่น  อังกฤษ ออสเตรเลีย วันแรกที่เขาไปเล่นที่ญี่ปุ่นคนฟังไม่รู้จักเขาเลย แล้วก็ไปเล่นในสเกลที่เล็กมาก

เห็นเขาทำได้ดี ฟังเขาร้องแล้วก็น้ำตาซึมเหมือนกัน ว่าเราพาเขามาเล่นในจุดหนึ่ง คอนเสิร์ตแรกของเขาที่ Voice Space คน 2,000 ทุกครั้งที่อิ้งค์ขึ้นคอนเสิร์ตแบบนี้ น้องจะร้องไห้ เพราะเขาจะรู้สึกขอบคุณแฟนๆ ที่มา staff เองก็จะร้องไห้เหมือนกัน ดีใจที่น้องไปอยู่ในจุดนี้แล้วนะ มีคอนเสิร์ตของตัวเอง แฟนๆ ตัวจริงของเขาที่จ่ายค่าบัตรเพื่อมาดูเขา เพื่อมาซัปพอร์ตเขา ปลายปีที่ผ่านมาก็เพิ่งมีคอนเสิร์ตใหญ่ที่อิมแพค อารีน่า นี่ก็เป็นอีกความฝันหนึ่งกำลังทำในขั้นต่อไป

สำหรับผมก็คือมองเล็กๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองไกลมาก ว่าเราจะเป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก มองเล็กๆ ในแต่ละก้าว ให้ความสุขเล็กๆ ในแต่ละก้าวมันเติมพลังให้เราได้ดีกว่า ทำความสำเร็จในแต่ละก้าวเล็กๆ ต่อไปเรื่อยๆ “

 

ดนุภพ กมล โฟกัสถึง THE POWER BAND 2023 Season 3:

“ศิลปินพิเศษสำหรับการประกวดปีนี้ คือ Serious Bacon กับ Tattoo Colour ที่จะมา
ร้องเพลงถ้าเธอไม่ไหว ในอีกสไตล์หนึ่ง การประกวดใน Season 3 นี้ มีค่ายเพลงชั้นนำของประเทศมารวมกันมากถึง 6 ค่ายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Muzik Move, Warner Music, LoveIs Entertainment, WhattheDuck, Small Room และ XOXO ที่มาร่วมแจมเพิ่มในปีนี้ ที่ผ่านมาในส่วนของค่ายเพลงเราได้ส่งศิลปินไปให้กำลังใจน้องๆ ผู้เข้าประกวดแต่ละภาค เพื่อไปแชร์ประสบการณ์ อีกทั้งยังมีกรรมการที่เป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำเพลง ไม่เฉพาะน้องๆ ผู้เข้าประกวด ศิลปินที่ไปร่วมงานก็ตื่นเต้นด้วยเหมือนกัน พวกเราเองก็ได้เติมแรงบันดาลใจกันด้วยเหมือนกัน”

 

THE POWER BAND 2023 Season 3 เริ่มรับสมัครวันที่ 13 กพ.เป็นวันแรก ไปจนถึง 4 สค. 2566  ติดตามกติกาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์: https://www.music.mahidol.ac.th/thepowerband/#openModal

เฟซบุ๊ก:THE POWER BAND 

 

บรรยากาศงานแถลงข่าว THE POWER BANS 2023 SEASON 3

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน