People

“The Power Band”
เวทีแห่งโอกาส ในมุมมองของ
“พี่นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล”

นันนภัสร์ สีหราช 22 Nov 2021
Views: 502

โอกาสสำคัญสำหรับคน(รัก)ดนตรีมาถึงแล้ว!! 

เวลานี้เราชวนใครคุยถึงเรื่องของ “โอกาส” ไม่มีใครคุยสนุกสุดสาระเท่า คุณนิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records อีกแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุยกันในวันที่ประตูโอกาสแสดงความสามารถอย่าง เวที The Power Band การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย กำลังเปิดกว้างอย่างที่สุด

“พี่นิค จีนี” ผู้มีประสบการณ์ผ่านเก้าอี้กรรมการเวทีประกวดมาแล้วมากมาย ให้โอกาสแจ้งเกิดศิลปินดังๆ มาแล้วไม่น้อย เรียนรู้ชีวิตการทำงานจากการลงมือทำ (ทำความรู้จักผลงานประวัติศาสตร์ของพี่นิคให้ไปเสิร์จกูเกิลอ่านรายการผลงานยาวเป็นหางว่าวได้) เรื่องราวของประสบการณ์ที่หลากหลายมอบการเรียนรู้ให้เจ้าตัว แน่นอนว่ายังเป็นบุคคลผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้พวกเรา และในวันนี้โชคดีที่พี่นิคเปิดโอกาสให้  Thaipower.co ได้ชวนคุยถึงมุมมอง วิธีคิด และบรรดา “กุญแจ” สำคัญที่เป็นกลยุทธ์พิชิตความสำเร็จในชีวิตทุกเรื่อง!!

 

ว่ากันด้วยเรื่องเวทีประกวดดนตรี

 

TP : ความสำคัญของโครงการประกวด The Power Band นี้ ในมุมมองของคุณคืออะไรคะ

พี่นิค : ความสำคัญของโครงการนี้ดีมากๆ เปิดโอกาสให้คนรักดนตรีได้แสดงออกความสามารถ ทำให้คนมีความสามารถได้มีเวที คนจำนวนมากต้องการโอกาสให้ตัวเองนำเสนอผลงาน ฝากฝีมือที่เขาอุตส่าห์บ่มเพาะ…ฝึกทักษะมาอย่างดี จริงๆ แล้ว The Power Band เป็นเวทีที่ทำให้คนหมกมุ่นในเรื่องที่ดี การประกวดนี้เป็นการส่งเสริมให้คนได้โฟกัสในเรื่องที่เป็นเรื่อง ให้แนวทางเป้าหมายในชีวิต เพราะบางคนอาจยังไม่มีไดรฟ์ที่จะทำอะไร

ที่จริงการประกวดทุกอย่าง ไม่เฉพาะดนตรีเป็นเรื่องดีหมด แต่การประกวดดนตรีจะมีอีกข้อดีที่แตกต่างจากการประกวดอื่น คือทำให้ผู้ประกวดได้ฝึกเรื่องการทำงานทีมเวิร์กในมุมมองที่จะเรียกว่า “Hackathon” เลยก็ว่าได้ ในการเล่นดนตรีด้วยกัน ผู้เข้าประกวดจะพบหลายคุณสมบัติสำคัญในตัวสมาชิก อย่างภาวะผู้นำ-ผู้ตามที่ดี พบตัวตน…ว่าคุณคือใครในวง ซึ่งเหมือนเป็นการจำลอง “องค์กร” หนึ่งขึ้นมา ใครมีความเผด็จการ ไม่ฟังทีมเลยหรือบางวงก็ประชาธิปไตยอย่างเดียวแล้วไม่มีการช่วยสรุปหรือแก้ไข มีแต่ออกความคิดเห็นกัน  

การทำงานของวงดนตรีวงหนึ่งเหมือนการวิ่งมาราธอน เมื่อสมาชิกวิ่งไปไม่พร้อมกัน ก็จะมีคนที่แซงหน้าไป เมื่อการประกวดเป็นการทำงานในระยะสั้นๆ ก็จะช่วยในเรื่องการสร้างทีมได้ในแบบหนึ่ง 

“The Power Band

เป็นเวทีที่ทำให้คนหมกมุ่นในเรื่องที่ดี

การประกวดนี้เป็นการส่งเสริมให้คนได้โฟกัส

ในเรื่องที่เป็นเรื่องให้แนวทางเป้าหมายในชีวิต”

 วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

 

TP : คุณมีความเห็นอย่างไรคะ สำหรับการที่เวทีนี้จะมอบประสบการณ์ครั้งสำคัญ ให้กับผู้เข้าประกวด

พี่นิค : การประกวดไม่ได้ส่งผลแค่ให้วงดัง แต่ให้วงได้รู้จักตัวเองด้วย ให้ได้พัฒนาตัวเองด้วยอยู่แล้ว แต่ยังให้ผู้เข้าประกวดรู้จักทำงานรวมหมู่ สิ่งนี้จะเป็นที่จดจำไปตลอดชีวิตเขา ไม่ว่าที่สุดแล้วเขาจะเป็นหมอ วิศวกร หรือประกอบอาชีพอะไร 

การประกวด The Power Band ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ผมมองว่าเมื่อ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ซึ่งมีกำลังสนับสนุนสังคม ร่วมกันจัดกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีศักยภาพในเรื่องของดนตรี การประกวดเวทีนี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีต่อไปจนกลายเป็นอีกเวทีประวัติศาสตร์และมีความยั่งยืน เหมือนอย่างที่ผ่านมาผมได้ร่วมมากับเวทีประกวดดนตรี Hot Wave Music Awards เมื่อครั้งอดีต

 

TP : จากประสบการณ์กับการประกวด หลายๆ เวที คุณมองว่างานประกวด The Power Band ซึ่งเป็นการประกวดวงดนตรีสากลผสมเครื่องเป่า มีความเฉพาะตัวในมุมไหนอย่างไรบ้าง

พี่นิค : ตรงที่เรากำลังเหมือน Shift ตัวเอง ขยับให้ขึ้นมาอยู่ในจุดที่เรียกว่า “สแตนดาร์ด” ยิ่งขึ้น แต่การประกวดรูปแบบนี้จะทำให้เราได้วงที่ออกจะมีความเป็นทฤษฎีสูง 

เหมือนว่าถ้ามีรางวัล “ยอดเยี่ยม” กับ “ยอดนิยม” เวทีประกวดของเราเวทีนี้จะเป็นรางวัลยอดเยี่ยมมากกว่า สมาชิกวงที่มาจะมีจำนวนมาก ต้องมีการซ้อมเยอะเพื่อความพร้อมเพรียง และอื่นๆ ด้วยหลายอย่างที่กำหนดไว้ในโจทย์สำหรับผู้เข้าประกวดโดยมาตรฐานจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถามว่าถูกหรือผิด…ไม่มีคำตอบ เราชอบแบบนี้ จึงทำแบบนี้ 

(ในสายตากรรมการ)

เก่งไม่พอ ยังต้องสร้างสรรค์ด้วย

TP : ในฐานะหนึ่งในกรรมการผู้ตัดสิน คุณมองหาอะไรในตัวผู้เข้าประกวด ในสายตาของกรรมการ

พี่นิค : โดยนิสัยของผมที่อยู่ในวงการเพลงอาชีพ ก็มักจะมองหาคนที่จะเติบโตในเส้นทางนี้ได้อย่างจริงๆ จังๆ ไม่ได้คาดหวังแค่ได้เห็นนักดนตรีเล่นโน้ตเป๊ะๆ แต่หวังจะเห็นคนเรียนทางดนตรีมาแล้วคลี่คลาย “ความเป๊ะ” เป็นตัวของตัวเอง ต่อให้คุณเล่นโน้ตเป๊ะ เล่นเพลงคลาสสิกซูเปอร์ยาก ก็จะไม่มีใครตื่นเต้นในสิ่งที่คุณทำ นอกจากแค่ว่า “อืมม คุณเก่ง” 

ผมกำลังจะบอกว่าสำหรับเวทีนี้ เสน่ห์ก็ยังเป็นอีกเรื่องสำคัญกว่าความเป๊ะอย่างเดียว เวทีนี้เรายังคาดหวังให้ทำผลงานสร้างสรรค์…จากพื้นฐานเบสิกที่เยี่ยม ให้เอาเบสิกมาใส่ความสร้างสรรค์ให้น่าสนใจขึ้น 

 

TP : คือขอให้ข้ามไปถึงความสร้างสรรค์ให้ได้ อย่างนั้นใช่ไหมคะ

พี่นิค : ใช่ คือ .. อย่าเอาโจทย์ที่เราให้มาส่งเป็นคำตอบ หมายความว่าคุณต้องตีโจทย์ของเราให้แตก จงใช้โจทย์ของเราไปหาคำตอบที่น่าสนใจมานำเสนอเรา

 

TP : เวที The Power Band นี้นับเป็นเวทีแห่งโอกาส อยากให้คุณพูดถึงคำว่า “โอกาส” ในมุมมองของกรรมการสักนิด และในฐานะที่คุณให้คุณค่าโอกาสเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของชีวิตสำหรับคุณด้วย…

พี่นิค : คนชอบตีความคำว่าโอกาสกันในต่างกรรมต่างวาระ และคนชอบขอโอกาส ในขณะที่ผมบอกว่า “โอกาสเราต้องสร้างเอง” ผมมักพูดเสมอว่า ผมแขวนโอกาสไว้บนเพดาน ใครมีปัญญาต่อโต๊ะเก้าอี้บันไดให้ปีนขึ้นไปเอาได้เลย ผมไม่หวงเลยแต่คุณต้องปีนนะ ต้องไต่เต้า เพราะถ้าผมเอามาหยิบยื่นให้คุณ แบบนั้นเขาเรียกว่าใช้เส้น ซึ่งมันก็จะไม่ได้พิสูจน์ว่าคุณจะใช้โอกาสนั้นได้คุ้มค่าหรือเปล่า แต่ถ้าคุณปีนขึ้นไปคว้าโอกาสนั้นได้ แปลว่าคุณเหมาะสมกับโอกาสนั้นๆ 

 โอกาสมีอยู่ทั่วไปไหม ให้ไปเปิดหนังสือพิมพ์ ไปเปิดเว็บหรืออะไรต่างๆ ดูจะเห็นว่ามีรับสมัครต่างๆ อยู่เต็มไปหมด ดังนั้น ผมจึงพูดเสมอว่าโอกาสมันแขวนอยู่บนเพดาน คนที่มีโอกาสก็คือคนที่มาไขว่คว้ามันได้ไป นั่นคือได้โอกาสเกิด นั่นคือเรื่องจริงของโลกนะครับ เพราะไม่มีใครวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งพร้อมกัน ไม่มีใครได้ที่หนึ่งกันทุกคน เพราะฉะนั้นเหมือนเราต้องไปวิ่งเข้าหาโอกาส คว้ามันให้ได้ อย่าไปร้องขอ เพราะโอกาสไม่ได้เกิดจากการร้องขอแน่ๆ ฉะนั้น ถ้าเมื่อไรมีใครให้พูดถึงโอกาส ผมมักจะบอกว่า “โอกาสมันเป็นของน้อง ไม่ใช่ของพี่ มาคว้าไปเลย” 

 

…โอกาสอยู่ในอากาศ…

 

TP : “ไม่มีใครสอนงานไม่มีตัวอย่าง ไม่มีอะไรเลย…นอกจากโอกาส” สิ่งที่คุณเคยเขียนไว้ในหนังสือ ร็อก-ฐ-ศาสตร์ เล่มที่คุณเขียนไว้ ทำให้เห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับโอกาสอย่างมากนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉายาที่คุณได้รับว่าเป็น มิสเตอร์ Opportunity…มีที่มาอย่างไรคะ

พี่นิค : นั่นเป็นความตั้งใจในวันที่เปิดค่ายจีนี เรคคอร์ด 

 

การเสาะแสวงหาโอกาส

คือ “ประตู” สู่ความสำเร็จ

TP : การเป็น “มิสเตอร์ Opportunity”…ให้อะไรกับคุณบ้าง

พี่นิค : ผมเชื่อในเรื่องของความพยายามและรู้ค่าของคำว่าโอกาส เราแสวงหาโอกาสนั้น ด้วยตัวเราเองตั้งแต่วันแรกของการทำงาน ผมค้นหาวิธีที่จะให้ได้โอกาสแต่ไม่เคยมองหาคนที่จะมอบโอกาสให้ ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตทำงานด้วยการเป็น NGO ในนามกลุ่มละครมะขามป้อมรุ่นตั้งไข่เลย แล้วเราก็ส่งต่อจนเขาตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อสื่อชาวบ้านในปัจจุบัน ทั้งที่จริงๆ งานอาสานี่ควรจะเป็นงานสุดท้าย มาทีหลังแต่เราเลือกทำเป็นสิ่งแรกๆ ในชีวิต 

นอกจากนั้นเราก็มีแพสชันอยากทำงานด้านครีเอทีฟด้วย ซึ่งมีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ผมไปทำงานเป็นเซล ซึ่งทำให้ได้เจอผู้คนเยอะ ซึ่งจะนำพามาซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ผมเลยไปสมัครเป็นเซลขายโฆษณาในหนังสือ…ขาย Ad ซึ่งใช้วิธีออกไปสัมภาษณ์แล้วก็ขอ Ad สมัยนั้นเหมือนเขาจะเรียกว่า “Profile Ad” คือสัมภาษณ์บุคคลแล้วก็ขอ Ad จากเขา ซึ่งไม่มีใครให้ (หัวเราะ) 

 

TP : อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้สำคัญในครั้งนั้นคะ

พี่นิค : มันทำให้เรารู้จักคนที่เราไปทำสัมภาษณ์ เขาไม่ได้สนใจสินค้าของเราแต่ทุกคนสนใจตัวเรา จากการพูดคุยตอบโต้กันในวัยยี่สิบกว่าๆ ของผม ทุกคนชักชวนให้ไปทำงานกับเขา มีทั้งในตำแหน่งเดิมคือ เซล และหน้าที่ Marketing ซึ่งที่สุดแล้วผมเปิดโอกาสให้ตัวเองแล้วก็ได้ทำงาน ได้รู้ค่าของการแสวงหาโอกาส และยังได้รู้จักความรู้สึกของคนที่อยากได้โอกาส เมื่อเราเติบโตขึ้นในเวลาต่อมา ได้มีโอกาสให้โอกาสคนอื่น ผมเป็นคนให้โอกาสผู้คนจนถึงนาทีสุดท้าย ลองให้การบ้านเขา แล้วเราจะเจอผู้กล้าผู้เหมาะสมในที่สุด

อย่างหนึ่งที่รู้เมื่อเราโตขึ้น คือเราต้องเปิดประตูออกให้มันกว้างๆ ให้โอกาสเข้ามาหาเรา นี่คือเหตุผลที่ผมทำค่ายจีนี เรคคอร์ดด้วยคอนเซ็ปต์ของการให้โอกาส มีเสื้อจีนียุคแรก ผมใส่คำว่า Chance (ซึ่งก็คืออีกคำที่หมายถึง “โอกาส”) ลงไป เพราะต้องการให้เป็นความรู้สึกเข้าถึงง่ายหน่อยและกระชับดี ในเวลานั้นเราเล่นกับนักดนตรีตัวเล็กๆ 

 

TP : ประสบการณ์สำคัญในการเป็น “นิค จีนี” สำหรับคุณคืออะไรคะ

พี่นิค : ถ้าเรามุ่งมั่นและมีความเชื่อ เราวางแผนทุกอย่าง ทำงานทุกอย่างบนความเชื่อมั่นศรัทธา มีหลักการในการทำงานจริงๆ เราจะสำเร็จได้ อย่างตอนทำค่ายจีนี เรคคอร์ด ชื่อค่ายก็เรียงร้อยโดยเลือกมาจากร้อยกว่าชื่อ เมื่อเลือกชื่อนี้ ซึ่งย่อมาจาก Generation who independently engage in society เราก็ใช้

เป็นหมุดหมายที่ผมตั้งไว้เลยแต่แรก ผมได้รับอะไรมากมายจากการทำงานนี้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้เอาจากการลงมือทำงานจริง แล้วเอามาสรุปเป็นบทเรียนให้ตัวเอง ผมมีความเชื่อว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องให้เป็นมาสเตอร์พีซเสมอไป เราต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ ครั้งนี้น่าจะดีกว่าครั้งที่แล้วและให้ครั้งสุดท้ายต้องดีกว่าที่ผ่านๆ มา 

 

การทำงานอย่างมีหลักการและกลยุทธ์จะช่วยให้เกิดการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง

 

 

…หลากหลายบทบาท ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง…

TP : ครั้งหนึ่งการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอคนแรกของไทย เคยมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคุณ…การทำงานดังกล่าวให้การเรียนรู้อะไรกับชีวิตของคุณคะ

พี่นิค : นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าการไขว่คว้าโอกาส ผมเคยอยากทำงานศิลปะมาแต่เด็ก ตอนที่ได้รับโอกาสให้ทำ ไม่เคยมีใครรู้จักสิ่งนี้มาก่อนเลย แต่สำหรับผมนั่นแปลว่าไม่มีอะไรผิดด้วยนี่นา ผมเลยคิดว่าลองทำดูสักตั้ง ตอนนั้นผมใช้ความรู้สึกวาดเอา เคยเล่นละครมาแล้ว เคยวาดรูป ดนตรีก็พอเล่นได้ก๊องแก๊ง เอาทุกอย่างที่เคยได้ทำมารวมกันแล้วสร้างให้ออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอ จากนั้นค่อยกำหนดโจทย์ ทฤษฎีไปเรื่อยๆ เริ่มจากหาทีมงาน 

สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราได้คิดและค้นหา แล้วอยู่ดีๆ ผมก็เป็นผู้กำกับ MV คนแรกของประเทศไทย ถือว่าเป็นเกียรติเลย เอ้าคนแรกก็คนแรกไม่เป็นไร แต่ผมมักจะขอถ่อมตัวเอาไว้นิด คนอื่นเรียก “คนแรก” ผมเรียกว่าเป็น “คนแรกๆ” เรามีโอกาสได้ทำมากกว่าใคร เพราะเป็นค่ายเพลง…อยู่ในบริษัทขายเพลง 

แล้วพอสิ่งที่ทำมันออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอจริงๆ วันแรกที่เอาไปออกอากาศ มีทีมงานวิ่งกรูกันมาดูแล้วพูดกันว่า “เอ๊ย ประเทศไทยมีมิวสิกวิดีโอแล้วเว้ย” ประโยคนี้คนอื่นจำไม่ได้แต่ผมจำได้แม่นตั้งแต่ได้ยิน เวลานั้นซึ่งไม่ได้ทำงานนี้คนเดียวได้สำเร็จ มีทีมงานและยังมีอีกคนสำคัญอย่างคุณอู๊ด (คุณชูพงษ์ รัตนบัณฑูร รับตำแหน่ง DP) เป็นบัดดี้ดีช่วยกันด้วย

ถามว่าได้อะไร สำหรับผมได้เรียนรู้ แล้วที่สุดยี่สิบปีให้หลังมันสามารถกลายเป็นวิชาทำ MV ที่ทำให้คนได้ฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สำหรับคลาส ABC ได้แก่ ABC Talent และ ABC Real กลายเป็นหลักสูตร ABC (Academic of Business Creativity ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม) ซึ่งตุ้ม (คุณสรกล อดุลยานนท์) ให้ผมไปร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรอีกหลายๆ ท่าน บรรยายเรื่องการทำ MV ให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งผมออกแบบสิ่งที่ต้องทำแล้วให้ผู้เข้าอบรมทำตาม Process เพื่อผลลัพธ์ (เป็นมิวสิกวิดีโอ) ออกมาเป็นที่พอใจสำหรับผู้อบรม และยังตามไปสอนการทำ MV ให้กับคลาสของ AIS และ SCB ต่ออีกด้วย

 

ทำงานทีม ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยบุคคลคนเดียว

TP : การสอน…ทำให้คุณมีลูกศิษย์ แล้วการเป็นครูหรือการเป็นโค้ชนี้ ให้โอกาสอะไรกับคุณบ้าง

พี่นิค : ผมถือว่าตัวเองเป็นผู้แบ่งปันประสบการณ์ ไม่อาจเอื้อมเป็นโค้ช ประสบการณ์ที่หยิบมาสอนหวังจะให้เป็นประโยชน์กับผู้มาอบรม จึงเล่าถึงสิ่งที่ทำมา สำเร็จมา และความสำเร็จนั้นให้แนวทางอะไรที่นำไปใช้ได้ 

                นั่นยังให้เราได้ทบทวน ได้รวบรวมการปฏิบัติงานออกมาเป็นเชิงทฤษฎี ที่สำคัญยังได้ให้เป็นวิทยาทาน ซึ่งสำคัญมากและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมขยันเขียนบทความในเพจนิคจีนี จนรวมออกมาได้เป็นหนังสือเล่ม 2 (หลังจากร็อก-ฐ-ศาสตร์) ชื่อ “ศูนย์บรรเทาท้อ” ซึ่งเป็นการเขียนจากการเจอสถานการณ์หนึ่งๆ มันเป็นปกิณกะ มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องต่างๆ โดยผมแค่ทำหน้าที่รวบรวมสิ่งที่คิดมาให้คนอ่าน ก็ให้แนวคิดให้กำลังใจ 

 

ฟัง-อ่าน-คิด-ทำ-เขียน-พูด…สูตรสำเร็จฉบับย่อ

 

TP : การเป็นคนเขียนหนังสือล่ะคะ ช่วยให้คุณได้เรียนรู้อะไร

พี่นิค : ทำให้เราพูดได้แม่นยำขึ้น จริงๆ แล้วกระบวนการของผมต้องทำให้ครบวงจร สำหรับผมคือ ฟัง-อ่าน-คิด-ทำ-เขียน-พูด เวลาคิดบางครั้งมันสะเปะสะปะ แต่พอเขียนแล้วได้เรียบเรียง จัดระเบียบความคิดออกมา เมื่อออกไปพูดมันก็จะไม่ยาก เขียนหนังสือเหมือนเป็นการลับมีด เขียนหนังสือเยอะมันก็คม คือผมไม่ใช่นักเขียนจริงๆ แต่เป็นนักบันทึกประสบการณ์มากกว่า 

ยอมรับว่าการทำงานเขียนเหนื่อยมาก ได้เงินที่น้อยมาก แต่ก็มีความสุขมาก ผมเคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องพระเครื่องในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่เราวางแผนการเขียนเอง บางครั้งต้องออกไปนั่งคุยหาข้อมูลมาเติม ต้องนัดเซียนพระเพื่อไปสัมภาษณ์เขา คอลัมน์ชื่อ “คำคมคารมเซียน” ทำด้วยความที่เราเล่นพระแล้วดูพระไม่เป็น ก็จะโดนเขาหลอก พอผมเป็นนักเขียน เขาก็พร้อมจะให้ข้อมูลและคุยกับเรา เรียกว่าใช้มาเป็นกลยุทธ์ในการเล่นพระด้วยการบังคับตัวเองให้เป็นนักเขียน 

 

 

TP : อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณมีเวลาทำสิ่งเหล่านั้นได้ในขณะที่น่าจะยุ่งกับความรับผิดชอบในงานที่ต้องทำ และยังมีสิ่งใหม่ๆ ที่ได้ทำต่อไปอยู่เรื่อยๆ อีก

พี่นิค : เวลาทำงาน ผมมีหน้าที่บริหาร บริหารดีก็จะมีเวลาเยอะ ในส่วนการทำงานที่ดีคือเปิดโอกาสให้ทีมได้สร้างงาน ผมจะใช้วิธีกระจายงานให้ทีมงานรุ่นน้องได้ทำงานและแสดงความคิดเห็น ผมคอยให้แนวทางและตรวจสอบ ช่วยบอกว่าโดน-ไม่โดน เอา-ไม่เอา ถ้าเราไม่ทำงานแบบนี้ เราจะผูกขาดรสนิยม นั่นคือทำไมผมจึงเลิกกำกับมิวสิกวิดีโอ

TP : อยากให้พูดถึงหน้าที่ผู้บริหาร กับงานใหม่ล่าสุด นับเป็นความท้าทายใหม่ สำหรับคุณไหมคะ

พี่นิค : ไม่ได้ตื่นเต้นมาก ในประวัติผมงานที่ผ่านมาจะมีแต่คำว่าก่อตั้ง แผนกมิวสิกวิดีโอก่อตั้ง…ก่อตั้งฝ่าย    โปรโมต ก่อตั้ง บริษัท Uppercut กับก่อตั้งบริษัท Genie Records ฯลฯ ครั้งหนึ่งทุกอย่างเคยเป็นเรื่องใหม่มาตลอด เวลานี้ผมยังทำโน่นทำนี่อยู่ตลอด ล่าสุดมีคนชวนมาเปิดบริษัทชื่อ OKOL เป็นบริษัท KOL ที่ OK เป็น Total Solution ในการทำ Marketing คือทำจนเห็นผลลัพธ์เรื่องยอดขาย ผมใช้ทักษะบริหารคนจากที่เคยทำมาทั้งหมด แล้วเปลี่ยนเป็น KOL เขาขอให้ผมเป็นซีอีโอให้ เพราะเราเป็นคนที่เขา Expect และ Respect เรื่องบุคคลที่สุดแล้ว 

 

TP : มีปรัชญาหลายๆ ข้อที่คุณเคยเอ่ยถึง เช่น ปรัชญาของเต๋า หรืออย่างในการทำมิวสิกวิดีโอที่คุณเคยพูดว่าเพลงมันมีหัวใจของมัน แล้ว “หัวใจ” ในการใช้ชีวิตของคุณคืออะไร

พี่นิค : คนจะชอบถามผมว่าทำงานยังไงถึงจะสำเร็จ ผมมักจะตอบว่าหลายคนชอบพูดว่าเขาทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักแล้วจะมีความสุข ในขณะที่หลายคนหาสิ่งที่ตัวเองรักมาทำไม่ได้ เขาเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นพยายามรักในสิ่งที่ตัวเองทำก็จะได้สำเร็จ แต่ผมจะบอกว่าให้ทำเพื่อคนที่เรารัก แล้วเราก็จะพบความสำเร็จที่มีความสุข ซึ่งเป็นวิธีที่ผมใช้มาตลอด 

 

เคล็ด(ไม่)ลับ สู่ความสำเร็จ

ฉบับ “พี่นิค”

• (ในสายตากรรมการ) เก่งไม่พอ ต้องสร้างสรรค์ด้วย

• ทำงานทีม ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยบุคคลคนเดียว

• การเสาะแสวงหาโอกาส คือ “ประตู” สู่ความสำเร็จ

• การทำงานอย่างมีหลักการและกลยุทธ์ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง

• ฟัง-อ่าน-คิด-ทำ-เขียน-พูด…สูตรสำเร็จฉบับย่อ

Author

นันนภัสร์ สีหราช

Author

นักเขียนอิสระ รักการอ่าน การฟัง การชม นิยมเรื่องเล่าให้แรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวผ่านบุคคล ดนตรี ศิลปะ หรืออาหาร

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก