People

ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา แห่ง พีระยาฯ
หัวใจของครูผู้สร้างโอกาสให้เด็กชายแดนใต้
ผ่านการศึกษา กีฬา และศาสนา

เพ็ญแข สร้อยทอง 9 May 2025
Views: 512

Summary

นักการศึกษาผู้สานต่อภารกิจจากพ่อ สร้างโรงเรียนที่ผสานวิชาการ กีฬา และศาสนา เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ “ฟุตบอล” ที่กลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนชีวิตเด็ก และพัฒนาเยาวชนสู่เวทีระดับชาติ พร้อมปลูกฝังความเป็นคนดีที่มีศาสนาเป็นเข็มทิศ และใช้ลูกฟุตบอลขับเคลื่อนอนาคตสู่สังคมที่ดีขึ้น เราจะพาทุกคนไปรู้จักเรื่องราวของที่นี่…ตั้งแต่ก่อนจะมีอะคาเดมีฟุตบอล

“อาจจะเป็นสายเลือด หรือ DNA ก็ได้ที่ทำให้ผมเดินมาทางนี้”

ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา เริ่มต้นเล่าเรื่องราวการทำงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นเส้นทางที่เขาสานต่อจากรุ่นพ่อ เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

“คุณพ่อของผมเป็นโต๊ะครู ท่านร่วมกับชุมชนก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขึ้นมา เพื่อให้เด็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ขาดโอกาส ได้เข้าถึงการศึกษา”

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

‘เด็กชายอัสมี’ ผู้เติบโตมากับโรงเรียนศาสนาแห่งนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ลูกชายของครูใหญ่ แต่เขาเป็นพยานของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความตั้งใจจริงของคนคนหนึ่งที่เชื่อในพลังของการศึกษา และวันนี้ เขากลายเป็น “คนที่เดินเรื่องต่อ” จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นใหม่

หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ช่วงประมาณปี พ.ศ.2544 ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา กลับมารับช่วงบริหารโรงเรียนที่พ่อเริ่มต้นไว้ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตฯ  ในฐานะผู้จัดการและผู้อำนวยการ โรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ต่อยอดพัฒนาจนกลายเป็นโรงเรียนเอกชนที่วันนี้มีนักเรียนกว่า 1,600 คน ครอบคลุมตั้งแต่ปฐมวัยถึงมัธยมปลาย ด้วยหลักสูตรบูรณาการที่ผสมผสานความรู้สายสามัญและศาสนาเข้าด้วยกัน

แต่สิ่งที่ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ “แตกต่าง” และเปล่งแสงท่ามกลางพื้นที่ห่างไกล คือการที่เขาได้นำ “กีฬา” โดยเฉพาะ “ฟุตบอล” เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างอนาคตให้เด็กๆ ด้วย

 

“เราเคยให้ทุนเขาเป็นค่าเทอม แล้วเขากลับมาให้คืนกับโรงเรียน

อยากให้เราเอาไปช่วยรุ่นน้องที่ลำบาก ทำให้เราซาบซึ้งแล้วรู้สึกว่า

การสร้างคนด้วยการศึกษามันยิ่งใหญ่มหาศาล

คนเป็นครู เมื่อเห็นลูกศิษย์ได้ดิบได้ดี ก็มีความสุข

เราก็ไปบอกคนนั้น เล่าให้คนนี้ฟังว่า ลูกศิษย์ฉันเป็นแบบนี้

ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา ผู้อำนวยการ
โรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา จังหวัดปัตตานี

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

 

เพราะเด็กบางคนไม่ได้ถนัดท่องสูตร แต่ถนัดจ่ายบอล!

“ผมเองเป็นนักกีฬาตั้งแต่เด็ก…”

เสียงของ ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาเมื่อพูดถึงวันเก่าๆ ในวัยเด็กที่กีฬาคือชีวิตของเขา “สมัยเด็กๆ เราไม่มีสนาม ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่โรงเรียน แต่ว่าเราชอบด้านนี้”

ด้วยรู้ถึงความสำคัญจึงได้มีการส่งเสริมให้เด็กๆ เล่นกีฬาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจ

“ตอนแรกกีฬาในโรงเรียนไม่ได้เล่นเป็นระบบอะไร ผมแค่อยากให้เด็กได้เล่นกีฬากันตอนเย็นๆ”

แต่เมื่อได้เห็นความสามารถของเด็กๆ ได้เห็นประกายตาของพวกเขาขณะเตะบอล ทำให้รู้ชัดว่า ฟุตบอลนี่แหละจะพาพวกเขาไปไกลกว่านั้น

“ในโรงเรียน เด็กบางคนเก่งวิชาการ แต่บางคนกลับเก่งกิจกรรม เช่น นักฟุตบอลส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหลังห้องที่ไม่สนใจวิชาเรียน แต่พอได้เล่นกีฬา พวกเขาจะมีส่วนร่วม ซึ่งทำให้คิดว่า การใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก นอกเหนือจากการเรียนในระบบวิชาการน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ลองทำดูแล้วก็พบว่า … มันได้ผล”

 

✔ รู้จักเปลี่ยนความพ่ายแพ้ ให้เป็นพลัง

 

จากความพ่ายแพ้ สู่สนามแห่งโอกาส

ในช่วงแรกๆ ที่สร้างทีมฟุตบอลของโรงเรียนขึ้นมาและมีโอกาสพาลูกทีมไปแข่งฟุตบอลในกรุงเทพฯ ผลปรากฏว่า พีระยาฯ “แพ้ราบคาบ” แต่แทนที่จะยอมแพ้ ดร.มูฮัมมาดอัสมีเปลี่ยนความพ่ายแพ้เป็นพลัง และเริ่มวางระบบการพัฒนากีฬาอย่างจริงจัง จนก่อตั้ง “พีระยา ฟุตบอล อะคาเดมี” ขึ้นในปีพ.ศ. 2562

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

หกปีต่อมา เด็กจากอะคาเดมีคว้าเหรียญระดับจังหวัด และระดับประเทศ หลายคนได้โควตาเข้ามหาวิทยาลัย และบางคนไปไกลถึงการเซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลอาชีพ

จากบทบาทผู้บริหารโรงเรียน วันนี้ ดร.มูฮัมมาดอัสมียังเป็นประธานพีระยา ฟุตบอล อะคาเดมี รวมถึงนั่งตำแหน่งประธานสโมสรเอฟซี ยะลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เขาใช้ผลักดันเด็กในพื้นที่เข้าสู่เส้นทางฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจัง

“ตอนแรกแค่หวังว่าเด็กโรงเรียนเราจะติด 1 ใน 10 ของภาคใต้ก็ดีใจแล้ว แต่ตอนนี้เราอยู่แถวหน้าของภาคใต้”

ดร.มูฮัมมาดอัสมีเล่าถึงหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับทีมฟุตบอลของพีระยาฯ คือ สนามหญ้าเทียมที่ได้รับจากโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย ของ คิง เพาเวอร์

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้ เพราะมีคนขอไปเยอะ แต่เราส่งไปด้วยความตั้งใจจริงๆ”

ในหลายพื้นที่ของชนบท แม้แต่สนามฟุตบอลธรรมดาก็ยังหายาก การที่มีสนามฟุตบอลมาตรฐานสากลตั้งอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้จึงถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและพิเศษอย่างยิ่ง

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

“ความแตกต่างระหว่างเด็กในชนบทกับเมืองมันมีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แต่พอมีสนามนี้ก็เหมือนกับว่า ถ้าพวกเขาขยันและทุ่มเทกับการฝึกซ้อม ความเหลื่อมล้ำความแตกต่างมันก็จะแคบลง”

 

✔ เปลี่ยนความรักกีฬาฟุตบอล

ให้กลายเป็นโอกาสของชีวิต

 

“เข้มแข็งแต่ไม่ก้าวร้าว อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ”

นั่นคือคำที่ พีระยา ฟุตบอล อะคาเดมี ภายใต้การดูแลของ ดร.มูฮัมมาดอัสมียึดถือมาโดยตลอด

เพราะเป้าหมาย ไม่ใช่แค่ปั้นนักฟุตบอลให้เก่งเกมเพียงอย่างเดียว แต่คือการบ่มเพาะ “คนดี” คนที่มีหัวใจของนักกีฬา และมีหลักยึดในชีวิต

หัวใจของนักกีฬา… ที่ชนะเป็น และแพ้เป็น

หัวใจของมนุษย์… ที่มีศาสนาและศีลธรรมเป็นหลักยึด

ด้วยเชื่อว่า… ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้วัดกันแค่สกอร์ในสนาม แต่วัดจากการยืนหยัดในความดี แม้จะต้องอยู่ท่ามกลางแรงยั่วยุจากสิ่งผิดๆ

“เราใช้ศาสนาเป็นเหมือนวัคซีน ฉีดให้เขาตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันที่เขาออกไปเจอโลกจริง จะได้ไม่เถลไถล ไม่ไหลไปกับสิ่งที่ไม่ดี”

พีระยาฯ ไม่ได้หวังให้นักเตะในอะคาเดมีทุกคนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่หวังว่า ไม่ว่าเขาจะเติบโตไปในสายฟุตบอลอาชีพ หรือเลือกเส้นทางอื่นในชีวิต เขาจะยังคงเป็น “คนดี” ที่มีน้ำใจนักกีฬาอยู่ในทุกบทบาท

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

หัวใจของครูที่เต้นเพื่อลูกศิษย์ทุกคน

สำหรับ ดร.มูฮัมมาดอัสมีเด็กทุกคนที่พีระยาฯ เหมือนกับลูกของเขาซึ่งต้องดูแลเป็นอย่างดี เด็กที่มีความสามารถในฟุตบอลจะได้เป็นสมาชิกของอะคาเดมีและได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่ ส่วนเด็กเรียนดีแต่ยากจนจะได้รับทุนการศึกษา เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนต่อจนจบ และมีโอกาสได้งานทำและมีอาชีพที่มั่นคงในอนาคต

 สิ่งที่ทำให้หัวใจของ “ครู” ดวงนี้พองโตที่สุด ไม่ใช่รางวัล ไม่ใช่ชื่อเสียง ไม่ใช่ภาพข่าว แต่คือวินาทีที่มีลูกศิษย์เดินกลับเข้ามาในโรงเรียน พร้อมบอกว่า

“อาจารย์ครับ ผมอยากช่วยรุ่นน้อง เหมือนที่เคยได้รับโอกาสจากที่นี่”

เด็กที่ได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนจนเรียนจบออกมามีหน้าที่การงานที่ดี แล้วก็กลับมา “ให้” ตอบแทน นั่นแหละ คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นรางวัลของคนเป็นครู ที่ได้เห็นสิ่งเล็กๆ ที่เคยปลูกไว้ในใจเด็กเติบโต แตกหน่อ และกลายเป็นเงาไม้ให้คนรุ่นต่อไป

“เราเคยให้ทุนเขาเป็นค่าเทอม แล้วเขากลับมาให้คืนกับโรงเรียน เราบอกไม่ต้องหรอก เพราะว่าเป็นเรื่องที่เราอยากทำอยู่แล้ว แต่เขาก็บอกว่า อยากให้เราเอาไปช่วยรุ่นน้องหรือคนอื่นที่เขาลำบาก เพื่อเป็นทุนการศึกษา ทำให้เราซาบซึ้งแล้วรู้สึกว่า การสร้างคนด้วยการศึกษามันยิ่งใหญ่มหาศาล

… คนเป็นครู เมื่อเห็นลูกศิษย์ได้ดิบได้ดี ก็มีความสุข เราก็ไปบอกคนนั้น เล่าให้คนนี้ฟังว่า ลูกศิษย์ฉันเป็นแบบนี้” และเราได้ยินความภูมิใจในประโยคนี้

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

 

You’ll Never Walk Alone!

• ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา คือผู้มีฟุตบอลอยู่ในหัวใจ

• สำหรับเขา ฟุตบอลไม่ใช่แค่เกม
แต่เป็น “ความสวยงาม” ที่สร้างมิตรภาพ

• ระหว่างเพื่อนมนุษย์ เพราะไม่ว่าจะมาจากไหน

• เชื้อชาติ ศาสนาใด
ทุกคนสามารถเล่นลูกบอลกลมๆ ลูกเดียวกัน

• ในฐานะแฟนบอล “ลิเวอร์พูล” คือ ทีมโปรด
และ “เราควรเล่นเหมือนลิเวอร์พูล”

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

• ดร.มูฮัมมาดอัสมี เคยบอกกับ
ทั้ง พีระยา ฟุตบอล อะคาเดมี และ เอฟซี ยะลา
“ผมชอบสไตล์การเล่นของลิเวอร์พูล
ชอบที่พวกเขาบุกใส่คู่ต่อสู้และทำให้เกมดูสนุก”

• ความรักในทีม “หงส์แดง” อย่างเต็มหัวใจ
สนามฟุตบอลของโรงเรียนจึงใช้ชื่อว่า “อัสมีแอนฟิลด์”

• และถ้าหากว่า ลิเวอร์พูลมีเพลงและคำขวัญประจำทีม
คือ You’ll Never Walk Alone” – “คุณจะไม่มีวันเดินเดียวดาย”

สำหรับ ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา แล้ว
เด็กๆ ที่พีระยาฯ ก็จะไม่มีวันเดินอย่างเดียวดายเหมือนกัน

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

“ผมอยากเห็นพื้นที่นี้… ใช้ลูกฟุตบอลเป็นแรงขับเคลื่อนมากกว่าลูกระเบิด”

ความปรารถนานี้ของ ดร.มูฮัมมาดอัสมีถูกต่อยอดเป็นสนาม เป็นลูกบอล เป็นนักเรียน เป็นนักเตะ และกลายเป็นพลังจริงๆ ที่กำลังเปลี่ยนชีวิตของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้หลายๆ คน

ไม่ใช่แค่ให้เด็กเรียนรู้กีฬา แต่เป็นการฝึกทักษะชีวิต เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ

“เด็กคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้เป็นนักเตะทีมชาติ แต่อาจกลายเป็นโค้ช เป็นผู้ตัดสิน เป็นคนขายเสื้อกีฬา หรือทำอะไรอย่างอื่นที่เกี่ยวกับกีฬาก็ได้…”

ที่พีระยาฯ… เขาไม่ได้สร้างเพียงโรงเรียน แต่สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่เด็กๆ สามารถเติบโตได้ทั้งกาย ใจ และความฝัน

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

แม้ที่ผ่านมาจะต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง แต่ดร.มูฮัมมาดอัสมียังไม่หยุดลงมือทำ ทั้งหาซื้อที่ดินเองเพื่อทำสนามบอล 11 คน ร่วมมือกับโรงเรียนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้จัดโปรแกรมการแข่งขันแบบลีกภายใน เพื่อให้เด็กได้เล่นและแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

 

✔ โอกาส…เริ่มต้นสร้างด้วยตัวเราเอง

 

“เราอาจไม่มีเงินมาก แต่มีความตั้งใจ เราสร้างโอกาสจากตัวเราเองก่อน”

เมื่อมีโอกาส ดร.มูฮัมมาดอัสมียังได้สะท้อน “เสียงเล็กๆ” จากชายแดนใต้นี้ ไปยัง “คนที่มีอำนาจ”

“เราทำงานระดับเล็ก แต่ปัญหามันระดับประเทศ เราก็สะท้อนไป อาจไม่เสียงดังนัก แต่เริ่มมีคนรับฟังมากขึ้น ถ้ารัฐเข้ามาช่วยดูแลมากกว่านี้ ใช้การศึกษากับกีฬาช่วย เราเชื่อว่าปัญหาความไม่สงบ หรือแม้แต่ยาเสพติดที่ระบาดในพื้นที่จะดีขึ้น”

ขอบคุณภาพจากดร.มูฮัมมาดอัสมี

 

แรงบันดาลใจส่งท้ายจากชายแดนใต้

เรื่องราวของ ดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา คือพลังที่บอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเมืองหลวง หรือจากงบประมาณมหาศาล แต่สามารถเริ่มได้จาก “ความตั้งใจ” ของคนธรรมดาที่อยากเห็นเด็กสักคนมีอนาคตที่ดีขึ้น

เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้บริหารโรงเรียนหรือประธานสโมสรฟุตบอล แต่คือผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งโอกาสในใจของเด็กหลายพันคนในพื้นที่ห่างไกล

และบางที—ถ้าคุณกำลังมองหาเหตุผลที่จะเริ่มลงมือทำอะไรเพื่อใครสักคน เรื่องของเขาอาจเป็นคำตอบนั้น

 

โอกาสจากศึกษา – กีฬา – ศาสนา

ตามอย่างวิถีของดร.มูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา

✔ รู้จักเปลี่ยนความพ่ายแพ้ ให้เป็นพลัง

✔ เปลี่ยนความรักกีฬาฟุตบอล ให้กลายเป็นโอกาสของชีวิต

✔ โอกาส…เริ่มต้นสร้างด้วยตัวเราเองก่อน

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์