People

แม่ขวัญยืนและบุษตรี
2 เจเนอเรชัน
สานความยั่งยืนให้ผ้าไทยทรงดำ

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 13 Mar 2023
Views: 625

การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นสัจธรรม ตั้งแต่วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม หรือแนวคิดในแต่ละบุคคล ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการสืบสานและอนุรักษ์ ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชุมชน แต่อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้สองแม่ลูกคนละเจเนอเรชัน อย่าง แม่ขวัญยืน ทองดอนจุย  อายุ 71 ปี และ ดีจริง – บุษตรี ทองเปลี่ยว ซึ่งเป็นลูกสาว อายุ 37 ปี ทายาท OTOP และประธานกลุ่มผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว ยังเลือกสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้คิดค้น สอนสั่ง โดยรวมเป็นเรื่องราวที่แฝงอยู่ในการทำเสื้อผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี จนถึงทุกวันนี้

“หมดห่วงเรื่องสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้ให้ เชื่อว่าจะไม่หายไปตามกาลเวลาอย่างที่เคยกังวล
เพราะนอกจากลูกสาวมาช่วยแล้ว ตอนนี้คนในชุมชนต่างก็กลับมาเห็นคุณค่า
และพิสูจน์ให้เห็นว่าภูมิปัญญาจากรุ่นต่อรุ่นสามารถสร้างทั้งอาชีพได้”

แม่ขวัญยืน ทองดอนจุย กลุ่มผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว

 

ปลูกฝังหัวใจพี่น้องไทยทรงดำจากรุ่นสู่รุ่น

ดีจริงเริ่มต้นให้เล่าให้ฟังว่า เธอผูกพันกับวิถีชีวิตการทำผ้าไทยทรงดำมาตั้งแต่ 9 ขวบ เพราะเห็นยายทอผ้าซิ่นใช้เองตั้งแต่เธอเกิดจนถึงคุณยายเสียชีวิตกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และดีจริงเองก็มีหน้าที่ช่วยแม่ไปขายผ้าไทยทรงดำ จนสามารถมีรายได้ส่งเธอผู้ซึ่งเป็นเพียงลูกสาวคนเดียวเรียนจบปริญญาตรี แม้ระหว่างทางเจออุปสรรคเรื่องสุขภาพไปบ้าง ทำให้เรียนได้เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันธรรมดาก็ช่วยแม่ขายผ้า

สิ่งที่ไม่เคยลืมคือ คำที่ยายฝากฝังไว้กับดีจริงว่า ขอให้ยายได้พึ่งพาอาศัย โดยอย่าลืมเชื้อสายความเป็นลาวโซ่ง และช่วยสืบทอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษนี้ต่อไป

“เห็นยายนั่งทอผ้าอยู่ที่บ้านตลอด และแม่เป็นคนเอาผ้าไปขาย พอแม่ขายดีชาวบ้านคนแก่ๆ ที่ทอผ้าได้ไม่รู้จะขายทางไหน แม่ก็ลุยช่วยคนเฒ่าคนแก่ให้มีรายได้สืบเนื่องมาเรื่อยๆ จนได้ OTOP และไปขายตามงานแสดงสินค้าที่ต่างๆ ในจังหวัด ส่งที่ห้างเจเจมอลล์ และออกที่งานเมืองทองธานี แต่เราเพิ่งเข้ามาดูแลจริงจังแทนแม่มากขึ้น เพราะแม่เริ่มไม่สบายต้องผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก ก็เลยอยากรับหน้าที่สืบสานวัฒนธรรมเหล่านี้แทน เพราะไม่อยากให้แม่ต้องทำงานหนัก และต้องการดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาและฟื้นฟูร่างกายแทนแม่เอง”

 

✔️ อย่าลืมสิ่งที่บรรพบุรุษได้สอนไว้
เพราะนี่คือภูมิปัญญาและรากเหง้าของเรา

 

คุณแม่ขวัญยืนเล่าให้ฟังว่า รู้สึกดีใจที่ลูกมาช่วยดูแลและรับสืบสานงานบรรพบุรุษนี้ต่อ เพราะชุมชนไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว คือชาวลาวโซ่งที่ถูกต้อนมาเป็นร้อยปีตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และได้กระจัดกระจายอยู่ตามหลายจังหวัด โดยคุณทวดของแม่ขวัญยืนก็มาเริ่มปักหลักที่นี่ และเริ่มตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันนี้

“ลาวโซ่งเป็นคนใจดี มีความซื่อสัตย์ กตัญญู จนมีคนทำวิจัยศึกษาความเป็นอยู่และวัฒนธรรมกลุ่มลาวโซ่งขึ้นมา และเราก็เห็นว่าต้องรักษาประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษให้บนผืนแผ่นดินนี้ให้ได้ ใจหนึ่งก็เห็นใจน้องดีจริงที่ไม่สบายตั้งแต่เด็กทำให้ต้องเรียนการศึกษานอกโรงเรียนในวันหยุด ส่วนวันธรรมดาก็มาช่วยแม่ขายของแทน แต่ปัจจุบันได้ผ่านการอบรมจนเป็นทายาท OTOP มาดูแลกลุ่มทอผ้าแทนเราได้แล้ว”

การสืบสานและต่อยอดไม่ง่าย แต่ก็ภูมิใจทำ

ดีจริงบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มารับช่วงนี้ต่อจากแม่ เพราะปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่คนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอมีน้อยที่จะมารับช่วงการทำผ้าต่อ จนเริ่มเห็นจำนวนคนที่พร้อมทำผ้าไทยทรงดำน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

“เมื่อก่อนมีประมาณ 50-60 คน ตอนนี้เหลือเพียง 25 คน เพราะส่วนใหญ่เพื่อนๆ หรือคนที่อายุเท่ากันเรา พอเขาเขาเรียนจบปริญญาตรีแล้วไปทำงานด้านอื่น เช่น ข้าราชการ พยาบาล ครู เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ส่วนตัวอยากทำในสิ่งที่แม่และคุณยายทำมาต่อเนื่อง จึงเริ่มไปร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อจะทำให้ผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาวเป็นที่รู้จักมากขึ้น และครั้งหนึ่งแม้เคยได้เจอกับทาง คิง เพาเวอร์ แล้ว แต่ก็เข้าใจว่าอาจยังไม่ใช่โอกาสหรือถึงเวลาของเราจริงๆ”

 

✔️ รู้จักถ่อมตนอย่าโอ้อวดและมีมรณานุสติ
จะได้ไม่ลืมตัว

 

 

โอกาสและความประทับในการส่งต่อภูมิปัญญา

คุณแม่ขวัญยืนบอกเข้าใจและเห็นใจลูกว่าการมาทำเรื่องนี้ต่อต้องเจอกับอะไรบ้างในยุคปัจจุบัน แต่ก็พยายามบอกเขาว่า นอกจากทำเพื่อเราเอง เพื่อคุณยายเพื่อแม่ เพื่อชุมชน โดยเฉพาะชาวบ้านคนสูงอายุที่เขายังทอผ้าได้ ที่สำคัญคือการได้ช่วยสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้คิดค้นไว้ให้แล้ว แม้ต้องใช้เวลาและรอโอกาสที่จะเข้ามาพิสูจน์ แต่เชื่อว่าถ้าโอกาสเข้ามาก็จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับเราได้ไม่น้อยเลย เหมือนกับตอนที่รุ่นยายและรุ่นแม่ได้สัมผัสมาแล้ว

ครั้นตอนที่แม่ได้ไปเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 กับคุณยาย จำเหตุการณ์ได้เลยว่าตนเป็นกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปสาธิตการทอผ้าหน้าพระพักตร์ ขณะที่รอเฝ้าฯ พระองค์ท่าน เมื่อสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ตรัสว่าผ้าที่คุณยายทอสวยงามมากจริงๆ เลยจ้ะ พอพระองค์เสด็จฯ กลับก็ทำให้สินค้าที่เรานำมาแสดงทั้งหมด เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ หมอน ของที่ระลึกต่างๆ มีคนขอซื้อหมดเลย เป็นความปลาบปลื้มให้กับพวกเราเป็นอย่างมากที่พระองค์สนพระทัยกับคนกลุ่มเล็กๆ อย่างพวกเรา

พอสมัยแม่ที่ตัดสินใจประกวดประเภทสิ่งทอพื้นบ้าน คิดทำผ้ารูปช้างของพระนเรศวรมหาราชโดยนำผ้าไทยทรงดำที่เป็นสีดำนิลมาตัดเป็นตัวช้าง ส่วนอานช้างเป็นสีสันด้วยดอกจันทน์แล้วทำเป็นโขลงช้างมีพ่อแม่ลูกเลย และได้รับรางวัลที่ 3 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดีใจมากเหมือนเป็นปริญญาชีวิตให้กลุ่มไทยทรงดำเลย พอมารุ่นของลูกสาวก็เห็นความพยายามของเขาที่จะทำให้ผ้าไทยทรงดำเป็นที่รู้จัก จนกระทั่งวันหนึ่งก็ได้โอกาสร่วมทำงานกับคิง เพาเวอร์

 

✔️ ประนีประนอมต่อกัน
จะโกรธกันขนาดไหน ต้องรู้จักให้อภัย

 

ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนคนไทยทรงดำสู่เวทีโลก

เมื่อเจอพี่ๆ ทีมงาน คิง เพาเวอร์ ที่เมืองทองธานี คิดว่าโอกาสอันดีกำลังจะมาถึง…ตอนนั้นลึกๆ แอบหวังเสมอว่าอยากได้รับการคัดเลือกให้ทำงานร่วมกัน ทั้งแม่และเธอต่างช่วยกันอธิษฐานขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ เพราะอยากให้เกิดการช่วยกันสานต่อการทำผ้าไทยทรงดำ หลังจากเริ่มเห็นคนรับช่วงสานต่อเรื่องนี้กันน้อยลงทุกวัน

อีกทั้งชุมชนยังจะได้มีรายได้จากตรงนี้ด้วย จนกระทั่งเมื่อทีมงานออกแบบของ คิง เพาเวอร์ ตกลงเข้ามาร่วมเวิร์กช็อปกับชุมชนบ้านดอนมะนาว ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนในชุมชนต่างก็ตื่นเต้น ดีใจและภูมิใจที่ ภูมิปัญญาของผ้าไทยทรงดำกำลังจะเป็นที่รู้จักในในวงกว้างมากขึ้น

“ทุกคนภูมิใจกันสุดๆ เพราะแม้ภายในชุมชนเองจะช่วยกันอนุรักษ์ผ้าไทยทรงดำ ด้วยการยังคงใช้สวมใส่ในวันเทศกาลสำคัญต่างๆ รวมทั้งในวิถีชีวิตประจำกันอยู่ แต่การที่คนนอกชุมชนได้เห็นความสำคัญกับสิ่งที่บรรพบุรุษได้คิดไว้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนหันมาร่วมอนุรักษ์ผ้าไทยทรงดำกันมากขึ้น”

 

✔️ รู้จักช่วยเหลือกันและกัน
(เหมือนกับที่ตอนนี้ลูกหลานเริ่มกลับมาขอเรียนรู้การทำผ้าไทยทรงดำแบบดั้งเดิม)

 

คู่คิดที่ช่วยทำผ้าไทยทรงดำสู่เลสเตอร์ซิตี้

ดีจริงย้อนเล่าบรรยากาศให้ฟังว่า ก่อนเกิดโควิด-19 ทีมออกแบบของ คิง เพาเวอร์ มาร่วมเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นกับชาวชุนชนทั้งหมด เช่น ลวดลายแต่ละประเภท การทอ การปักเย็บ โดยมีโจทย์ไว้ว่า อยากนำเอกลักษณ์ของไทยทรงดำไปประยุกต์กับเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด หมวก พวงกุญแจ หรืออื่นๆ เป็นของที่ระลึกของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ และถ้าต้องทำขึ้นมาจริงๆ จะสามารถรองรับกับออร์เดอร์ที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง

“พี่ๆ เขาช่วยคิด เหมือนเป็นพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำ ดูแล เป็นเพื่อนพวกเราตลอดเวลา อย่างเสื้อยืดลายสุนัขจิ้งจอกเป็นโจทย์หนึ่งที่ทำยากเพราะมีรายละเอียดมาก ตรงขอบปากหรือหูมีถึง 4 ชั้น ดังนั้นต้องฝึกเย็บไม่ให้ย่นจนชำนาญและสวยงามเสียก่อน บางคนใช้เวลาปักลายเสื้อหนึ่งตัวนานเป็นสัปดาห์ จนสรุปแล้วมีคนที่ทำออกมาสวยงาม 11 คน แต่ไม่น่าจะผลิตได้ทัน จึงต้องไปหาลูกหลานที่ปัจจุบันไปประกอบอาชีพอื่นแต่ยังพอมีพื้นฐานการเย็บปักหรือเคยช่วยที่บ้านมาร่วมกันปักด้วย จนขยายกำลังคนปักเสื้อลายนี้ได้เป็น 28 คน ทุกคนยินดีเรียนรู้เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานฝีมือภายในชุมชนไปสู่สายตาคนทั่วโลก”

ทั้งนี้ ของที่ระลึก LCFC COLLECTION 2022/23 LIMITED EDITION แต่ละชิ้นจะมีความเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยทรงดำกลมกลืนอยู่ทุกชิ้น แต่มีการออกแบบให้ดูมีความทันสมัย แต่ละชิ้นไม่เพียงแต่ใช้งานฝีมือของชาวไทยทรงดำ ปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งยังถูกตีความนำมาใช้ในชิ้นงานด้วย

“รู้สึกโล่งและมีแรงฮึดขึ้นมาก พอชุมชนไทยทรงดำบ้านดอนมะนาวได้โอกาส
ร่วมงานกับ คิง เพาเวอร์ ทำให้คนในชุนชนรักและสามัคคีขึ้น
คนอายุน้อยๆ พร้อมและกล้ามาเริ่มต้นเรียนรู้เย็บผ้าปักผ้าไทยทรงดำของชุมชนตัวเองมากขึ้น”

ดีจริง – บุษตรี ทองเปลี่ยว
กลุ่มผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว

 

พร้อมขับเคลื่อนและบันดาลใจ…อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ถึงตอนนี้ดีจริงเธอรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมากในการมารับช่วงต่อคุณแม่และคุณยาย เพราะเป็นภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น แต่จู่ๆ จากสิ่งที่ไม่เคยฝัน กลายเป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้กับบรรพบุรุษด้วย

“รู้สึกโล่งและมีแรงฮึดขึ้นมามาก จากที่เคยรู้โดดเดี่ยวว่าจะทำอย่างไรดี เพราะมีคนที่คิดและทำเหมือนกันน้อยลงทุกวัน แต่พอชุมชนไทยทรงดำบ้านดอนมะนาวได้รับโอกาสร่วมงานกับ คิง เพาเวอร์ ทำให้หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คนในชุนชนมีความรักและมีความสามัคคีมากขึ้น

หลายคนพร้อมและกล้ามาเริ่มต้นเรียนรู้การเย็บผ้าใหม่ บางคนเริ่มไปศึกษาหาข้อมูลหรือสอบถามความเป็นไทยทรงดำกับญาติพี่น้องของตัวเอง และก็ได้เห็นหลายคนอึดและอดทนกับตัวเอง รื้อผ้ารื้อด้ายที่หัดจนกว่าจะเย็บให้สวยเป็นเดือนๆ  และที่ดีใจมากคือ เริ่มเห็นคนอายุน้อยๆ ช่วงวัยรุ่น อายุ 18-19 ปี ขอมาเรียนรู้เรื่องการเย็บปักผ้าไทยทรงดำของชุมชนตัวเองมากขึ้น”

 

✔️ รู้จักเฝ้ารอและอดทน แต่ต้องไม่หยุดเรียนรู้
เพื่อสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษให้ไว้

 

เช่นเดียวกับแม่ขวัญยืนที่รู้สึกว่า เรื่องราวดีๆ เช่นนี้ทำให้พวกเขามีความเข้มแข็งทั้งกายและใจกลับขึ้นมาอีกครั้ง ยิ่งแรงใจดีก็จะทำให้ทุกคนตั้งใจผลิตงานออกมาดีให้สมกับที่เขาเลือกเรามาถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่สากล และเมื่อแรงใจดีแล้วย่อมส่งผลทำให้แรงกายดีตามมาเพราะอยากจะทำให้ดีที่สุดที่สำคัญเป็นช่วงจังหวะพอดีที่ คิง เพาเวอร์ เข้ามาก่อนเกิดโควิด-19 เล็กน้อยจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนในชุมชนมีกำลังใจที่จะต่อสู้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะทำให้มีอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“ตอนนี้หมดห่วงเรื่องการสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้ เชื่อว่าจะไม่หายไปตามกาลเวลาอย่างตอนแรกที่กังวล เพราะนอกจากจะมีลูกสาวมาช่วยแล้ว ตอนนี้คนในชุมชนต่างก็กลับมาเห็นคุณค่าและร่วมแรงกายใจอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษได้ทิ้งเอาไว้ให้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นสามารถสร้างทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมให้ลูกหลานได้สามารถเลี้ยงชีพได้”

สิ่งที่อยากฝากไว้ให้กับคนในชุมชน นั่นคือ อย่าลืมความเป็นลาวโซ่งที่ทุกคนเหมือนเป็นพี่น้องกันหมด ต้องคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  รู้จักประนีประนอม เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ที่สำคัญคือต้องรู้จักถ่อมตัวประมาณตนอยู่เสมอ ทำความดีไม่ต้องโอ้อวดเหมือนที่บรรพบุรุษได้สอนไว้ไปกับเรื่องราวบนผ้า และการรวมกันเป็นกลุ่มต้องอย่าลืมว่าหลายครั้งที่ทำ ต้องทำด้วยจิตสาธารณะเป็นหลักที่ทุกคนต้องรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วย เพราะนี่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านดอนมะนาวมีความเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น

เชื่อได้ว่าการสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวไทยทรงดำของแม่ขวัญยืนและบุษตรีน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ ชุมชนได้กลับมาลองสำรวจคุณค่าและเรื่องราวในชุมชนของตัวเองไม่มากก็น้อย

 

หลักคิดการทำกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำ บ้านดอนมะนาว

✔️อย่าลืมสิ่งที่บรรพบุรุษได้สอนไว้ เพราะนี่คือภูมิปัญญาและรากเหง้าของเรา

✔️รู้จักถ่อมตน อย่าโอ้อวด และมีมรณานุสติ จะได้ไม่ลืมตัว

✔️ประนีประนอมต่อกัน จะโกรธกันขนาดไหน ต้องรู้จักให้อภัย

✔️รู้จักช่วยเหลือกันและกัน (เหมือนกับตอนนี้ที่ลูกหลานเริ่มกลับมาขอเรียนรู้การทำผ้าไทยทรงดำแบบดั้งเดิม)

✔️รู้จักเฝ้ารอและอดทน แต่ต้องไม่หยุดเรียนรู้เพื่อสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษให้ไว้

 

กลุ่มทอผ้าไทยทรงดำ บ้านดอนมะนาว 

ที่ตั้ง: 39 หมู่ 2 ต.ดอนมะนาว อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี

 

LCFC THAI SONG DUM COLLECTION

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก