People

3 เจเนอเรชัน
กับ 60 ปี ผ้าทอเขาเต่า
ยูนีคหนึ่งเดียวในโลก

วรากร เพชรเยียน 3 Apr 2024
Views: 644

Summary

เกือบทศวรรษแล้วที่ “ป้าแส” จากรุ่นแม่ฝากภูมิปัญญาทำผ้าทอลายเต่ากับผ้าขาวม้าเก้าเส้นไว้กับ “พี่หน่อย” และยังส่งต่อให้รุ่นหลานอย่าง “พี่บิว” ช่วยกันรักษาองค์ความรู้และงานฝีมือการทอผ้าขาวม้าที่อินเทรนด์เหลือเกินไปถึงระดับโลกในเวลานี้…ให้ยังคงอยู่เป็นมรดกยั่งยืนต่อไปของชุมชนบ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ป้าบอกพี่หน่อยว่า ทำอันนี้ต่อจากแม่นะ ก็บอกทุกวัน เสียงคุณป้าแส นักเรียนทอผ้ารุ่นแรกของกลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่าเล่าให้เราฟัง

ปัจจุบันผ่านมาแล้วเกือบหกสิบปี นับตั้งแต่วันที่นักเรียนทอผ้ารุ่นแรกเริ่มศึกษาด้านการทอผ้า โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มให้มีการเรียนรู้การทอผ้าในชุมชนบ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในวันนี้กลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่า จึงมีคุณป้าแส – ณัฐากาญจน์ เอี่ยมสำอางค์ เป็นประธานกลุ่มฯ ส่งต่อความรู้และงานที่รักมาสู่ คุณหน่อย – ธัญรดา พลายชมภู ลูกสาว และคุณบิว – ธนาวัฒน์ เอี่ยมสำอางค์ ซึ่งเป็นหลานรุ่นที่ 3 ให้งานหัตถกรรมทอผ้าและผ้าทอลายเต่ายังคงเป็นผ้าลายยูนีคแบบเฉพาะตัวที่ใครก็ทำตามไม่ได้ และได้รับการเผยแพร่ส่งออกไปสู่สายตาชาวโลกสำหรับ LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ โดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ กลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่า สร้างสรรค์คอลเลกชันพิเศษที่ถูกนำไปวางจำหน่ายถึงเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ด้วย อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการออกแบบให้เป็นคอลเลกชันพิเศษนี้ คลิก

 

“ภูมิใจมากๆ พอมาเรียนรู้ในเรื่องของผ้าลึกๆ แล้วมันไม่ง่ายเลย

งานที่เราทำมันคือเทคโนโลยีเมื่อร้อยปีที่แล้ว 40-50 ปีแล้วเรามาได้ไกล

เราภูมิใจในรากเหง้าความรู้ที่สะสมกันมา

3 เจเนอเรชัน กลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่า
ประจวบคีรีขันธ์

 

60 ปีที่แล้ว อะไรก็ไม่ง่าย

ย้อนไปหกสิบปีก่อน ชุมชนบ้านเขาเต่าเป็นหนึ่งในชุมชนที่ยากจนและห่างไกล แม้ไม่ไกลนักจากพระราชวังไกลกังวล แต่การเดินทางนั้นยังแสนยากลำบาก น้ำท่าเข้าไม่ถึง ประชาชนทำอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ มีไร่ปลูกสับปะรดและทับทิมอยู่บ้างประปราย หญิงชาวบ้านไม่มีอาชีพเสริมเลี้ยงชีพและครอบครัว แม้แต่คุณป้าแสที่ในขณะนั้นอายุได้สิบกว่าปีก็ทำได้เพียงรับจ้างถางหญ้า ที่คุณป้าเล่าว่าทำได้วันละ 10-15 บาท

แต่หลังจากในหลวง ร.9 เสด็จฯ มาพัฒนาชุมชน มีที่ดินสามไร่กว่าที่คนในชุมชนทูลเกล้าฯ ถวายจึงได้สร้างอาคารถาวรให้นักเรียนทอผ้าในขณะนั้นใช้ศึกษาและทอผ้าเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งแรกเริ่มนั้นคุณป้าแสและเพื่อนร่วมรุ่นต้องเรียนรู้ตั้งแต่การปลูกหม่อนไหมไปจนถึงการทอผ้าจนสำเร็จ คลิกอ่านเรื่องราวการทอผ้าด้วยหัวใจของชุมชนนี้

 

เห็นคุณค่าของงานที่ทำ ไม่หลงลืมราก(เหง้า)ตัวเอง

 

“ป้าทำตั้งแต่ด้ายเส้นเดียวจนเป็นผืนผ้า เส้นด้ายเราจะย้อมหลายครั้งแล้วลงแป้งมัน เสร็จแล้วต้องมาตีเป็นเส้นเดียว ขั้นตอนนี้ต้องใช้กำลังมาก ยามทอก็ต้องมากรอเข้าหลอด แล้วแช่น้ำให้จมถึงจะเอามาทอได้ สมัยก่อนถ้าได้หนึ่งผืนเราต้องมาล้างขี้ฟันหวี สมัยก่อนจะยากมาก คนเก่งๆ จะทอได้วันหนึ่งสามผืน ได้ผืนละ 5 บาท” คุณป้าแสเล่าให้เราฟัง

ย้อนกลับไปสมัยนั้นอะไรๆ ก็ยากลำบาก ค่าแรงก็ถูก ยังต้องหาตลาดเอง และส่วนหนึ่งก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐช่วยรับผ้าทอไป จนสุดท้ายต้องแยกย้ายกันไปในปี พ.ศ. 2536 การเปลี่ยนมือก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อรุ่นคุณหน่อย ลูกสาวของคุณป้าแสเข้ามาทำต่อ

 

ยืดหยุ่นเสมอ พร้อมพัฒนาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

กว่าจะออกมาเป็นผ้าหนึ่งผืนในรุ่นที่ 2 และ 3

เกือบสิบปีที่กลุ่มทอผ้าหยุดงานไป งานหัตถกรรมกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในรุ่น 2 ในปี พ.ศ. 2545 ด้วยความสำนึกรักและมองเห็นคุณค่าในงานที่ในหลวง ร.9 ท่านทรงริเริ่ม กี่ทอผ้าในสมัยของคนรุ่นก่อนก็ได้รับการซ่อมแซม และเริ่มต้นบริหารงานอย่างจริงจัง โดยมีคุณหน่อยเป็นตัวหลักในการออกแบบลายผ้า

“เส้นใยฝ้ายเราสั่งจากขอนแก่นและสมุทรปราการ ต่อมาก็ออกแบบลายและจุงให้ได้ความยาวของหน้าผ้าที่ต้องการ โดยคำนวณหลังออกแบบลาย อย่างผ้าขาวม้าหน้าขึ้น 35 ความยาว 200 เมตร จะมีเส้นด้ายทั้งหมด 1,750 เส้น เราก็ต้องมาออกแบบว่าจะวางล็อตสียังไง” คุณหน่อยเล่าถึงขั้นตอนการทอ หลังจากจุงแล้วจึงนำไปใส่ฟันหวี ม้วนเขาเพลา ขึ้นกี่แล้วจึงนำมาทอ

คนทอแต่ละคนก็จะมีสไตล์การทอที่แตกต่างกัน ผ้าที่ได้แม้ว่าจะเป็นลายเดียวกันแต่ก็มีคาแรกเตอร์ต่างกัน ซึ่งหนึ่งในผู้ทอหลักก็คือ คุณบิว หลานชายรุ่นที่สามมาสืบต่องานทอผ้า

“จริงๆ ผมจบการตลาดมา แต่เรื่องทอผ้ามาเรียนรู้ที่โรงทอผ้า มีอาจารย์มาสอน เวลามีลายใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนปัญหากับอาจารย์ เส้นด้ายแบบนี้ มีวิธีแก้ปัญหายังไง” ปัจจุบันคุณบิวเป็นผู้ทอหลักร่วมกับชาวบ้านในกลุ่มทอผ้ารุ่นปัจจุบันอีก 8-9 คน ส่วนที่เป็นรุ่นตั้งแต่แรกมามีมากกว่าสามสิบคน

การเป็นลูกหลานรุ่นที่สาม ได้สืบสานงานหัตถกรรมทอผ้าเป็นความสุขและได้รับความภูมิใจให้คุณบิวเสมอมา

“ผมภูมิใจมากๆ ทั้งตัวเองและอีกสองรุ่นที่เขาริเริ่มกันมา พอเรามาเรียนรู้ในเรื่องของผ้าลึกๆ แล้วมันไม่ง่ายเลย ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้าไป แต่งานที่เราทำมันคือเทคโนโลยีสมัยก่อน เมื่อร้อยปีที่แล้ว ซึ่งผมเองไม่เคยมีพื้นฐานความรู้นี้มาก่อนเลย 40-50 ปีแล้วเรามาได้ไกล มีเทคนิคที่จะทำให้เข้ากับยุคสมัยนี้ได้ เราภูมิใจในรากเหง้าความรู้ที่สะสมกันมา” คุณบิวเล่า

 

เวลายาวนานในการฝึกฝน ให้ผลลัพธ์ดีเสมอ

 

ผ้าทอสามรุ่น งานทอเขาเต่าสุดยูนีคสู่งานแปรรูป

งานทอที่โดดเด่นของบ้านเขาเต่า คือ ผ้าทอลายเต่า ผ้าขาวม้าเก้าเส้น และผ้ายกที่มองแล้วเหมือนผ้าขิด แต่ใช้วิธีทำต่างกัน

“เราไม่ได้รู้เรื่องผ้ามัดหมี่หรือผ้าลายขิด แต่เรามีความรู้เรื่องผ้ายก เลยปรึกษากับอาจารย์เพื่อประยุกต์ผ้ายกให้มีลวดลายแบบผ้าขิด แต่ผิวสัมผัสยังเป็นผ้ายก ผ้าขิดส่วนใหญ่จะมีขาเหยียบน้อย แต่มีไม้ตะกอเยอะ เราก็ใช้สลับกัน” คุณบิวเล่า

นอกจากกระบวนการทอผ้าที่คงเอกลักษณ์ตั้งแต่วันแรกแล้ว ฝ้ายแต่ละเส้นที่มาจากคนละต้นก็ยังให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน “เวลาเขาเก็บฝ้ายมาก็เก็บมาจากคนละต้น ซึ่งเติบโตมาไม่เหมือนกัน ฝ้ายบางล็อตมาสวย บางล็อตก็ท้าทาย มีสิ่งที่ยากต่อการทำงาน คาแรกเตอร์ของด้ายแต่ละล็อตมันไม่เหมือนกัน” คุณบิวเล่า

ผ้าฝ้ายที่ทอแล้ว นอกจากจะขายเป็นฝืนก็ยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งได้กลุ่มต่างๆ มาช่วยกันแปรรูป “เราทอผ้าเป็นชิ้นกันอยู่แล้ว ผ้าของเราก็นำไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก บางคนมีความชำนาญตัดเสื้อผ้าชายหนึ่งกลุ่ม หญิงหนึ่งกลุ่ม หมวกและกระเป๋าหนึ่งกลุ่ม แต่กลุ่มของเรายังขาดการดีไซน์ ขาดผู้มีความรู้เรื่องการวางแพตเทิร์นที่จะเอาไปทำอย่างไรให้ดูทันสมัย” คุณหน่อยเล่าให้เราฟัง

แต่ความกังวลเรื่องการพัฒนางานให้ทันสมัย เพราะการเปลี่ยนแปลงมาเมื่องานของคนสามเจเนอเรชันจากบ้านเขาเต่าจะได้ไปโชว์ไกลถึงเมืองเลสเตอร์ ซิตี้

 

สามัคคีกัน เป็นสิ่งขับเคลื่อนให้งานสำเร็จ

ทอฝ้าย ทอฝันไปเลสเตอร์

“คนทอ คนออกแบบ เขามีความภูมิใจในสิ่งที่ทำนะ ตั้งแต่การพูดคุย กระบวนการ มันอยู่ในความยากลำบากของเขามาทั้งหมด ทางทีมงานเขาเห็นผลงานแล้วใช่ในสิ่งที่เขาต้องการ แค่นี้พวกเราก็ภูมิใจแล้ว เห็นแบบนี้ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ช่วยกันพัฒนาสืบสานและรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป” เสียงคุณหน่อยเล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจและดีใจ เมื่อเธอเป็นแฟนของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ อยู่แล้ว

 

โอกาสดีจะมาในเวลาที่เหมาะสม พร้อมคว้าไว้เสมอ

 

ความพิเศษหนึ่งในคอลเลกชันล่าสุดจากสินค้า LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย คือการหยิบผ้าขาวม้าเอกลักษณ์ของบ้านเขาเต่ามาใช้และผ้าทอลายฟ็อกซ์ที่ดัดแปลงจากผ้ายกลายเต่า เป็นลายที่คุณบิวใช้เวลาพูดคุย ดัดแปลงแบบเป็นเดือนกว่าจะได้ทอเป็นผืน

 

มาถึงวันนี้การเดินทางของกลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่าเดินมาไกลอีกก้าวหนึ่งแล้ว คอลเลกชันพิเศษยิ่งสร้างความภูมิใจให้กับชาวบ้านในชุมชน สมาชิกในกลุ่มทอผ้า โดยเฉพาะคุณป้าแส ผู้เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการกลุ่มทอผ้า

“นอกจากหาตลาดเอง ทำเอง ที่เราอยู่มาห้าสิบกว่าปีก็ด้วยความซื่อสัตย์ หมู่บ้านป้าไม่มีบรรพบุรุษที่ทอผ้าเป็นเลย ป้าเรียนรู้ บากบั่นมา แล้วตอนนี้ป้าภูมิใจมากๆ ป้าก็มองภาพในหลวง ร.9 อยู่ตลอดว่าท่านยังคงมองเราอยู่”

ปัจจุบันงานทอผ้าในกลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่าถูกส่งต่อกันมาเป็นรุ่นที่สามแล้วจากที่เกือบปิดไปถาวร แต่เพราะเห็นคุณค่าในงานฝีมือที่ได้เรียนรู้มา วันนี้งานทอผ้าจึงได้พัฒนาไปไกลกว่าที่เคย และยังออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติ อาจเป็นสัญญาณว่างานเหล่านี้จะไม่ถูกลืมไปอีกแล้วอย่างแน่นอน เพราะเวลาที่ผ่านมาเกือบหกสิบปีพิสูจน์แล้วว่างานหัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่ามีคุณค่าเกินกว่าที่จะเลือนหายไป

“ผมเชื่อว่ามันไม่หายไปเลยหรอก บางทีก็คิดนะว่าคนรุ่นหลังจะใส่ผ้าทอกันไหม แต่ถ้ามันหายไปเลยก็น่าเสียดายจริงๆ” คุณบิวพูดปิดท้าย

 

ถอดรหัสความสำเร็จกลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่า

✔ การเห็นคุณค่าของงานที่ทำและเรื่องราวความเป็นมาเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง

✔ มีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

✔ การฝึกฝนอาจใช้เวลายาวนาน แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ

✔ ความสามัคคีของสมาชิกเป็นเรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้งานสำเร็จและพัฒนาต่อไปได้

✔ มองหาและพร้อมคว้าโอกาสที่เข้ามาเสมอ โอกาสที่ดีจะเข้ามาในเวลาที่เหมาะสม

พลังแห่งเป็นไปได้ของฝีมือคนไทย LCFC BAN KHAO TAO COLLECTION ผ้าขาวม้าไทย….ดังไกลระดับอินเตอร์

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก