Playground

ของฝากเมืองนราฯ จากฝีมือคนท้องถิ่น
“บีฟิช” กรือโปะอ่าวมะนาว

วรากร เพชรเยียน 17 Aug 2023
Views: 2,119

เมื่อพูดถึงนราธิวาส เนื่องจากเป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนอาจมองข้ามความสวยงามของธรรมชาติ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผู้คนร่ายรำให้เห็นอยู่ทั่วไป ทะเลใต้โดยเฉพาะที่อ่าวมะนาวเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวยอดนิยม ไม่เพียงสวยงามไม่แพ้ทะเลใดในโลกแล้วยังเต็มไปด้วยวัตถุดิบอาหารสำคัญ มีหาดทรายสะอาด และเป็นจังหวัดที่มีภูมิปัญญาอาหารแปรรูปแสนอร่อย สร้างสรรค์เป็นของฝากขึ้นชื่อที่ใครได้ย่างกรายเข้าไปในเมืองนราฯ เป็นต้องซื้อติดมือกลับมาทุกราย

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลนราธิวาส ที่อ่าวมะนาวเป็นจุดสำคัญที่ชาวประมงท้องถิ่นออกเรือจับปลาขาย ปลาที่มีมากมายในท้องน้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำถูกส่งออกไปขายหลากหลายพื้นที่ ปลาจำนวนหนึ่งถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากขึ้นชื่อของจังหวัด เป็นข้าวเกรียบทอดกรอบรสชาติดั้งเดิมอร่อยติดลิ้น “บีฟิช” จึงเริ่มต้นขึ้นมาด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกลของ คุณโจ – สมาน สมานดิลกกุล พัฒนาสูตรข้าวเกรียบทอดกรอบธรรมดาๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานแปะป้ายสินค้า OTOP 5 ดาว สร้างชื่อให้กับอ่าวมะนาว จังหวัดนราธิวาสได้เป็นอย่างดี

 

ประมงท้องถิ่นส่งปลามาแปรรูป

“นราธิวาสเป็นจังหวัดที่ทำประมง ส่วนใหญ่ปลาที่จับได้เป็นปลาทู ปลาหลังเขียวเป็นการประมงส่งขายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ปลาทูเป็นปลาที่ชาวประมงส่วนใหญ่จับได้ มีมากในพื้นที่ ราคาปลาไม่สูงเท่าปลาอื่นและเป็นปลาที่มีอยู่ตลอด”

การเป็นจังหวัดที่มีการทำประมงเป็นอาชีพ ทำให้มีปลามากมายจนล้นตลาด ปลาทูซึ่งเป็นปลาที่มีมากในพื้นที่จึงมีปริมาณมากเพียงพอที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากการขายปลาสดในตลาด

ข้าวเกรียบทอดทำจากปลาทู…เรียกแบบคนนราฯ ว่า “กรือโปะ”

หนึ่งในภูมิปัญญาของคนนราธิวาสจึงเป็นการนำปลาทูมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง ทำเป็นขนมต่างๆ รวมถึงการนำมาทำเป็นข้าวเกรียบทอดหรือ “กรือโปะ” ตามภาษามลายูที่แปลว่า ข้าวเกรียบ ของกินเล่นที่ชาวบ้านนิยมทำกินกันในบ้าน บ้างก็แพ็กเป็นถุงกิโลกรัมส่งขายสร้างรายได้กลับมา ภูมิปัญญาความอร่อยเฉพาะตัวของข้าวเกรียบนราธิวาสนี่เองที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวจนถูก “บีฟิช” เลือกนำเอาภูมิปัญญานี้มาพัฒนาต่อ สร้างโรงงานและรับซื้อปลาจากชาวประมงท้องถิ่น

“การผลิตครั้งหนึ่งเราใช้ปลาทู 50 กิโลกรัม สามารถผลิตได้ 500 ถุง การรับซื้อปลาจากชาวประมงช่วงไหนตลาดต้องการสินค้ามากก็รับซื้อมาก แต่ถ้าช่วงมรสุมบางทีเฉพาะในนราธิวาสไม่พอก็ต้องรับจากจังหวัดข้างเคียง อย่างปัตตานี สงขลาบ้าง” ปลาทูสดๆ คุณโจเล่าว่ารับซื้อทั้งตัวเมื่อเดินทางจากท่าเรือมายังโรงงานก็จะถูกนำไปเข้ากระบวนการผลิตต่อ

 

ปลาทูโป๊ะเรือมาเป็นกรือโปะ

“ถ้าข้าวเกรียบทำจากปลาทูจะได้รสชาติที่หวานกว่าและพองกว่าปกติ เมื่อเทียบกับปลาอื่นซึ่งเราก็เคยทดลองทำมาแล้ว”

ไม่ใช่แค่ปลาทูเยอะ แต่ปลาอร่อย คือเหตุผลที่ข้าวเกรียบนราธิวาสมีรสชาติโดดเด่นและพองกรอบกว่าใคร ซึ่งปลาทูทั้งตัวที่รับซื้อจากชาวประมงนำมาเข้ากระบวนการผลิตปรับใช้มาจากภูมิปัญญาการทำข้าวเกรียบทอดแบบพื้นบ้านตามแบบของคนนราธิวาส โดยเริ่มต้นจากการทำความสะอาดปลาทู ผ่าเอาเครื่องใน ตัดหัวออกแล้วล้างให้สะอาด

 

ขั้นตอนความอร่อย: บด – ผสม – ตัดแผ่น – ทอด

“พอได้ปลาแล้วเราเอาปลาไปบดละเอียดพร้อมก้าง จากนั้นก็เอามาผสมกับแป้งและเครื่องปรุง แล้วเอามานวดให้เป็นแท่งเอาไปต้มจนสุก จากนั้นนำไปแช่แข็ง อีกวันก็เอามาตัดเป็นแผ่นบางๆ แล้วก็เอาไปทอด”

ข้าวเกรียบนราฯ มีอยู่สองรูปแบบให้เลือกคือแบบทอดกรอบที่ตัดแล้วนำไปทอด กับอีกรูปแบบคือแบบแห้งที่หลังจากตัดแล้วไม่นำไปทอดแต่นำไปตากแห้งแทน จากนั้นจึงนำมาบรรจุลงถุง แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน กรือโปะนราธิวาสก็เป็นภูมิปัญญาอาหารที่สูตรและวิธีการทำถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้เนื้อสัมผัสกรุบกรอบและรสชาติดั้งเดิม

 

รสชาติดั้งเดิมแต่แปลกใหม่

ด้วยความเป็นผลิตภัณฑ์ที่สานต่อจากภูมิปัญญาอาหารแปรรูปที่คนนราธิวาสทำสืบต่อกันมา คุณโจที่คุ้นชินกับรสชาติกรือโปะแบบดั้งเดิมจึงเริ่มพัฒนารสชาติใหม่ๆ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากสูตรกรือโปะของคุณแม่และการสังเกตของตัวเอง

“คนนราธิวาสจะกินข้าวเกรียบกับน้ำจิ้ม เป็นน้ำจิ้มคล้ายๆ น้ำจิ้มไก่ จนมาวันหนึ่งอยากเพิ่มไลน์การผลิตก็เริ่มผลิตรสสไปซี่เป็นสูตรของคุณแม่ แล้วก็คิดว่ามันลำบากที่ต้องมาจิ้มน้ำจิ้ม เราก็เลยลองเอาน้ำจิ้มมาเคลือบข้าวเกรียบเผื่อว่ามันจะทำให้มันสะดวกขึ้น”

กิน “กรือโปะ” แบบคนนราฯ ต้องจิ้มน้ำจิ้ม

“บีฟิช” จึงเป็นเจ้าแรกที่ผลิตกรือโปะรสสไปซี่แพ็กส่งขาย จากนั้นรสชาติอื่นๆ ก็ค่อยๆ ถูกผลิตตามมาโดยแต่ละรสชาติก็ได้แรงบันดาลใจจากความนิยมของคนไทยในขณะนั้น อาทิ รสโนริสาหร่าย รสไข่เค็ม ก็ได้มาจากการมองเห็นความนิยมในตลาดที่คนส่วนใหญ่ชอบกิน นอกจากนี้ยังมีรสชาติไทยๆ อย่างรสต้มยำที่เป็นรสชาติสะท้อนวัฒนธรรมที่ตั้งใจส่งขายต่างประเทศ

“รสต้มยำนี้เราทำเผื่อส่งออกด้วย ต้มยำมันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งเราก็เน้นส่งออกด้วย ลูกค้าต่างชาติก็ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เป็นการสะท้อนความเป็นไทยลงไปในข้าวเกรียบนราธิวาส” ความพิเศษของรสชาติทั้ง 5 รสที่ “บีฟิช” รังสรรค์มานี้จึงยิ่งทำให้กรือโปะนราธิวาสเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นหนทางสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและสร้างชื่อให้จังหวัดแล้ว ยังเป็นสินค้าขายดีที่นักท่องเที่ยวนิยมหยิบติดมือกลับไปกินเองหรือเป็นของฝากจาก คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ด้วย

ของฝากนราฯ ส่งออก สร้างเงินสร้างงานสู่ชุมชน

กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์กรือโปะที่มีรสชาติดี ใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและวางตั้งได้นี้ เบื้องหลังมีเรื่องราวของจังหวัดนราธิวาสรวมอยู่ในทุกสัดส่วน ตั้งแต่ปลาทูที่ได้จากการทำประมงของคนนราธิวาส รวมไปถึงคนจากจังหวัดข้างเคียง ฝีมือการทำปลาและสมาชิกในโรงงานก็เป็นคนนราธิวาส ซึ่งคุณโจเล่าว่าความสำเร็จจากการพัฒนานี้เป็นทางที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย ปัจจุบันในโรงงานมีการจ้างงานชาวบ้านกว่า 60 คนมาเป็นพนักงานผลิต

นอกจากการได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ภูมิปัญญาการแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่นให้ไปสู่ระดับที่มีมาตรฐานยังเป็นการเพิ่มมูลค่า สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนราธิวาสด้วย “แต่ก่อนชาวบ้านที่นี่แพ็กใส่ถุงพลาสติกขาย 100 กรัม 25 บาท ขายแค่เฉพาะในพื้นที่มันก็เก็บได้ไม่นาน แตกง่าย เราก็เป็นแบรนด์แรกๆ ที่แพ็กใส่ถุงให้เก็บได้นานและส่งขายได้ไกลขึ้น จนตอนนี้สินค้าของเราเป็นสินค้าของฝากหลักจากนราธิวาส ได้รับรางวัลสินค้า OTOP 5 ดาว”

 

หน้าตาดี รสชาติดี มีรางวัลการันตี

การได้รับรางวัลและพัฒนาเป็นสินค้าที่มีรูปลักษณ์ดีขึ้นนี้ส่งเสริมจังหวัดนราธิวาสในหลากหลายด้าน มีกระแสตอบรับจากคนไทยหันมาสนใจและรู้จักกรือโปะของคนนราธิวาสมากขึ้น ไปจนถึงการได้วางจำหน่ายในคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ซึ่งปัจจุบันวางขายในสนามบิน ทั้งสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนาม บินนานาชาติภูเก็ต ถูกใจกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีนที่นิยมรับประทาน ทั้งยังรวมไปถึงการส่งออกต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศจีน นำมาซึ่งความภูมิใจให้กับทั้งคนในโรงงานและคนนราธิวาสที่มีสินค้าพัฒนาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมสร้างชื่อให้กับจังหวัด

จากที่หลายคนอาจนึกภาพจังหวัดภาคใต้ได้แค่ทะเลสีฟ้าสวย หรืออาจนึกถึงความเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ผลผลิตเฉพาะจากชุมชนอ่าวมะนาวได้โชว์อีกด้านหนึ่งของนราธิวาสผ่าน “บีฟิช” ออกมาให้เราได้ทำความรู้จัก เป็นภูมิปัญญาที่ฝังรากลึกอยู่ในจังหวัด ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยฝีมือคนท้องถิ่น เป็นของดั้งเดิมที่ถูกนำมาเล่าใหม่ในรูปแบบใหม่ซึ่งจะเปลี่ยนภาพจำของจังหวัดนราธิวาสในมุมมองของคนทั่วไปให้มีรสอร่อย กลมกล่อมเพิ่มขึ้น และแตกต่างจากที่เคยคิดไปอย่างสิ้นเชิง

 

บีฟิช (BeFish)

ที่ตั้ง: 147/13 หมู่ 7 9.โคกเตียน อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส 96000

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: BEFISH

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว ชมความงามของโค้งอ่าวที่ยาวถึง 4 กิโลเมตร สลับโขดหินเป็นระยะๆ ทะเลไทยและหาดทรายสะอาด เหมาะแก่การพักผ่อนและมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายหาดให้ค้นพบพันธุ์ไม้สวยงามต่างๆ

• มัสยิด 300 ปี มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ (มัสยิด 300 ปี) มาชื่นชมสถาปัตยกรรมที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2167 ชมความสวยของหลังคา จั่ว ช่องลมที่ถูกแกะสลักอย่างสวยงาม ปัจจุบันใช้ประกอบศาสนกิจให้ชื่นชมแค่ภายนอก

• ตลาดตาบา ตลาดตาบาหรือด่านตากใบ เป็นช่องทางท่องเที่ยวและค้าขายของประเทศไทยและมาเลเซีย เปิดเป็นตลาดให้เข้ามาจับจ่ายซื้อของ หรือแม้กระทั่งจะข้ามเรือไปประเทศมาเลเซียก็ยังสามารถขึ้นเรือได้ที่นี่

 

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ