Playground

“ดล” ผลงานเส้นใยธรรมชาติ
ชุมชนไทยวนจากเชียงแสน

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 18 Aug 2022
Views: 668

“รักบ้านเกิด” อาจดูเป็นคำธรรรมดาที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่สำหรับ อนุภา มณีจันทร์ เจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์ ดล (DONN) ได้ลงมือทำและพิสูจน์ให้เห็นมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แถมยังเป็นคำว่ารักถึง 2 ความหมายอีก คือ “รักและรักษ์บ้านเกิด” ด้วยการหยิบเอาเส้นใยจากกล้วยเป็นหลัก ใช้เส้นใยผักตบชวาบ้าง…นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์งานฝีมือในแบบของคนไทยวนจากเชียงแสน

จากเส้นใยกล้วยนำมาทอแล้วทำเป็นกระเป๋า คิดค้นไปไกลจนถึงนวัตกรรมแผ่นหนังเส้นใยกล้วยที่สร้างจากเซลล์ของหนังกล้วย!!

นอกจากจะนำผลิตผลเกษตรอย่างต้นกล้วยและผักตบชวาที่ร่วมกับชุมชน อ.ดอนแร่ จ.ราชบุรี มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังพัฒนาสินค้าต่อเนื่องจนถึงขั้นคว้ารางวัลและจดสิทธิบัตรที่ในอนาคตจะเป็นการตอกย้ำไปอีกว่า ต้นกล้วยที่เราเห็นอยู่ทั่วไป มีทั้งคุณค่าและมูลค่ากว่าที่เราคิด ซึ่งกระตุ้นให้พวกเราต่างลุกขึ้นมามองสิ่งรอบตัวให้เกิดการร่วมลงมือทำกับชุมชนของตัวเองในวันหนึ่งก็ได้

จากการเป็นมนุษย์เงินเดือนในสายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่นับเป็นแรงบันดาลใจให้เธออินกับงานด้านสิ่งแวดล้อม เธอได้พบกับคุณป้าผู้พิการทางสายตาหนึ่งข้างในชุมชนที่มีอาชีพหลักในการทำผ้าจกทอมือ ที่ทั้งครอบครัวเหลือเงินเพียง 5 บาท ทำให้เห็นว่าถึงเวลาที่ควรอนุรักษ์เรื่องราวการทอผ้าของชาติพันธุ์และผู้คนในชุมชนของเธอที่เป็นไทยวนมาจากเชียงแสน ซึ่งอพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ไว้ และพร้อมทำให้มีความยั่งยืน

 

จากฟางข้าว สู่เส้นใยผักตบชวาและกล้วย

“ดล” (Donn) ชื่อนี้มาจากชื่อพื้นที่ของชุมชนนี้ เพราะหากอ่านคำภาษาอังกฤษบางครั้งอ่านออกเป็นเสียงคำว่า “ดอน” นั่นหมายถึง ชื่ออำเภอดอนแร่แห่งนี้ จากเริ่มต้นที่อยากช่วยให้คนในชุมชนเลี้ยงชีพด้วยการทอผ้าได้ แต่แรงบันดาลใจหลักของเธอ คือการนำขยะทางการเกษตรมาแปลงเป็นเส้นใยธรรมชาติหรือสิ่งที่เพิ่มมูลค่าได้ ตั้งแต่ทำไม้อัดฟางข้าว สู่เส้นใยกล้วยและผักตบชวา

“คิดฟุ้งและฝันไว้ก่อนจะเอาผลทางการเกษตรไหนมาทำอะไรได้บ้าง โดยมองจากสภาพพื้นที่และปัญหาตอนเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ราชบุรี พบว่าต้นกล้วยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ขวางทางน้ำ เมื่อไปค้นข้อมูลพบว่าราชบุรีมีการปลูกกล้วย 5 อันดับแรกของประเทศไทย และคิดว่าเชือกกล้วยที่ดูเหนียวและยาวก็น่าจะมีคุณสมบัติมาทอผ้าได้เช่นกัน”

ย้อนกลับไป 3 ปีก่อน คุณอนุภาได้เจออาจารย์ผู้รู้จัก กำลังทำวิจัยเรื่องเส้นใยผักตบชวา ประกอบกับทางภาครัฐเองต้องการกำจัดผักตบชวา ถือเป็นโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้และนำเรื่องกระบวนการคาร์บอนฟุตปรินต์เข้าไปช่วยอาจารย์ด้วย เพื่อให้กระบวนการผลิตทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดขยะ (zero waste) และงานวิจัยดังกล่าวก็ได้รับรางวัลที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเหรียญเงิน 2 ปีซ้อน

“รางวัลนี้ส่งผลให้เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เพราะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า มีความฝันแล้วลงมือทำ ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้” โดยเธอใช้แนวคิดการใช้เศษผ้าหรือเส้นด้ายที่เหลือมาผลิตสินค้า (Upcycling) ที่นำขยะการเกษตรมาแปรรูป

 

จาก ‘รัก’ สู่ ‘รักษ์’

เมื่อค้นพบวิธีการทำเส้นใยจากธรรมชาติแล้ว มีความมุ่งมั่นว่า ตั้งแต่ต้นทางการผลิตเส้นใยกล้วยไปสู่ปลายทางต้องสร้างขยะให้น้อยที่สุด และสุดท้ายก็ทำได้ ซึ่งนอกจากไม่เกิดขยะแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นระหว่างทางได้หมด ตั้งแต่การตีใยกล้วยหรือไฟเบอร์ซึ่งถือเป็นส่วนที่แข็งแรงและเหนียวที่สุด นำมาทอผ้า ส่วนขั้นตอนการตีเส้นใยที่มีทั้งเนื้อกับน้ำ น้ำก็สามารถนำไปสกัดเป็นกลิ่นน้ำมันหอมระเหย โดยอยู่ระหว่างการรอผลิตเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนที่สูง

ขณะที่เนื้อเยื่อที่มีเส้นใยกล้วยและน้ำปนอยู่นำไปผลิตเป็นกระดาษได้ และล่าสุดกับการผลิตแผ่นหนังเส้นใยกล้วยที่สร้างจากเซลล์ของหนังกล้วย ถือเป็นนวัตกรรมตัวใหม่ที่คิดค้นกันขึ้นมา โดยไปจดลิขสิทธิ์และได้อนุสิทธิบัตรมาแล้วเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้งหมดทำให้เห็นแล้วว่า กระบวนการผลิตเส้นใยกล้วยเป็น zero waste อย่างสมบูรณ์

การสื่อสาร คือ เครื่องมือสำคัญกับชุมชน

จากที่ทำงานทางด้าน ISO ที่เกี่ยวข้องกับระบบมาตรฐานและสิ่งแวดล้อมมา คิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทนี้กับชุมชนได้ แม้ต้องปรับการสื่อสารและใช้ระยะเวลาเพื่อให้ทุกคนเห็นแนวทางการการทำข้อตกลงในการปฏิบัติให้ได้คุณภาพที่สม่ำเสมอ

“เราจะใช้วิธีแบบเดิมที่เคยทำตอนทำงานไปหาชาวบ้านในชุมชนไม่ได้ จึงใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร เช่น ในเวลาต่อวัน พี่ๆ จะได้เงินในการทำงานต่อชิ้นงานเท่าไร เพราะหากทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย จะไม่มีการบังคับกัน หรือในกรณีต้องตีกลับงานไปจะต้องบอกเหตุผลให้ชัดว่า อะไรคือสาเหตุที่เราไม่รับงานชิ้นนั้น แล้วก็พร้อมช่วยกันหาสาเหตุไปด้วยกัน ที่สำคัญต้องสร้างความเข้าใจตรงกันว่า ทุกกระบวนการผลิตจากเส้นใยกล้วยสู่กระเป๋าแต่ละใบต้องพยายามให้เกิดของเสียระหว่างทางให้น้อยที่สุด”

พยายามสื่อสารและเหมือนเป็นการระดมสมองด้วยกันก่อนที่จะเริ่มรูปแบบการทำงานร่วมกัน ซึ่งกว่าจะได้โมเดลการผลิตงานที่ลงตัวโดยมีข้อตกลงร่วมกันนั้นใช้เวลาไม่น้อย ให้การผลิตงานออกมาทุกครั้งเหมือนเดิมในทุกขั้นตอน  ของเสียที่เกิดขึ้นเท่าไร ประกอบกับความที่เราก็เป็นลูกหลานในชุมชนด้วยทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และทุกคนก็ต่างเปิดใจรับฟังและยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้เพราะทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกัน

 

กล้วยน้ำว้าสามารถช่วยชุมชนอย่างยั่งยืน

ถึงวันนี้ชุมชนดอนแร่ก็สามารถผลิตเชือกกล้วยที่เหนียวมาทอผ้ามาเป็นเวลา 10 ปี โดยไม่มีการปลูกกล้วยเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทุกอย่างคือการนำสิ่งที่แต่ละบ้านของคนในชุมชนมีอยู่แล้วมาทำ จะเห็นบรรยากาศตลอดที่จะมีชาวบ้านแวะมาบอกว่า เพิ่งตัดกล้วยนะไปเอามาได้เลย เราก็แค่ไปตามเก็บที่เขาตัดไว้มาตีเป็นเส้นใย ส่วนบ้านไหนที่ทำเส้นใยและทอผ้าเราก็ให้โอกาสเขาได้ทำที่บ้านกันเต็มที่ เพราะทุกคนเข้าใจระบบการทำงานที่ช่วยกันวางรูปแบบไว้แล้ว

“ดีใจที่วันนี้เรานำขยะทางการเกษตรอย่างต้นกล้วยทำให้มีคุณค่ามากขึ้น และที่สำคัญยังสามารถช่วยชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมถึงพร้อมแนะนำและสอนการตีเส้นใยกล้วยให้กับชุมชนอื่นด้วย หากชุมชนนั้นมีการทอผ้าอยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายแห่ง โดยของที่ จ.ร้อยเอ็ด มีการรับซื้อผ้ากลับมาด้วย”

 

หลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่หยุดพัฒนาเพื่อชุมชน

ส่วนใหญ่ดลจะผลิตกระเป๋าหรือสิ่งต่างๆ จากเส้นใยกล้วยเป็นหลัก โดยพยายามดีไซน์กระเป๋าให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีส่วนน้อยเป็นผักตบชวา เนื่องจากยึดวัตถุดิบกล้วยของคนในชุมชนเป็นหลักมากกว่า ซึ่งนอกจากทุกกระบวนการผลิตการตีเส้นใยจะได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแล้ว ก็ไม่หยุดที่จะค้นหาวิธีการหรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อดูคุณสมบัติของเส้นใยกล้วยว่ามีดีอย่างไรนอกเหนือนำมาทอผ้า

ปรากฏว่ามีรุ่นน้องทำวิจัยสนใจจะร่วมต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วย ไปสู่การนำเส้นใยกล้วยไปทดสอบการทำเป็นเสื้อกันกระสุนได้ เพราะกล้วยมีโมเลกุลที่แข็งแรงและมีความมันเงา รวมถึงไปพัฒนาทำเฟอร์นิเจอร์จนได้โซฟาที่ทำจากเส้นใยกล้วย

“ตลอด 10 ปีที่ไม่หยุดหานวัตกรรมมาช่วยทดสอบและพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่จากชุมชนดอนแร่ เพราะคิดว่าที่นี่คือชุมชนของเรา ไม่มีใครที่จะทิ้งรากเหง้าของตัวเองได้ แม้บางช่วงได้หายไปจากชุมชนเพราะไปเรียนหรือทำงาน แต่วันหนึ่งทุกคนก็ต้องกลับมาบ้านเรา เราก็คือส่วนหนึ่งในชุมชน ซึ่งในวันที่เรายังมีแรงและกำลังพอที่จะทำได้ โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาช่วยชุมชน เราก็ควรทำ และเริ่มจากแค่ทำในพื้นที่ของเราให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนก่อน ทุกอย่างก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น” คุณอนุภาเล่า

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าของ “ดล”

ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ของดลตอนนี้มาจากเส้นใยกล้วยเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการได้ร่วมจำหน่ายในช่องทางคิง เพาเวอร์ ได้ประมาณกว่า 1 ปี จากมีคนแนะนำให้สมัครเข้าโครงการ Thai Power และนอกเหนือไปจากการผลิตทุกอย่างที่มาจากธรรมชาติและก่อให้เกิดของเสียระหว่างการผลิตให้น้อยที่สุดอยู่แล้ว

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความเป็นดล คือ ประวัติความเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมจากเชียงแสน เพราะเชียงแสนมีประวัติศาสตร์การทำกระเป๋าทอมือแบบไทยมาช้านาน โดยมีความเชื่อและเกี่ยวข้องในแบบฮินดู หรือตามหลักธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเทียบให้เข้าใจง่าย นั่นคือ หลักฮวงจุ้ยที่กระเป๋าแต่ละใบที่แต่ละคนถือจะบอกถึงลักษณะอำนาจ บารมี หรือสิ่งที่ค้ำชูของคนถือได้ว่าเป็นแบบไหน ดังนั้นกระเป๋าแต่ละใบนั่น จะมีลักษณะความเป็นตัวตนของผู้ถือที่ซ่อนอยู่เสมอ

 

อนาคตของดลและชุมชนดอนแร่

รางวัลการประกวดผลิตเส้นใยธรรมชาติที่กรุงเจนีวา กลายเป็นสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตไต้หวันแบบไม่ได้ตั้งใจ โดยเขาส่งภาพการตั้งโรงงานผลิตเส้นใยจากธรรมชาติที่ประเทศเขามาให้ดู โดยเชื่อมั่นในความสามารถของคนไทยจริงๆ แค่เราอาจมีข้อจำกัดเรื่องของทุน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องพยายามทำต่อเนื่องคือสร้างตัวตนที่ชัดเจนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

“เมืองไทยยังเป็นเมืองการเกษตร ถ้าทุกบ้านที่ยังมีชุมชนทอผ้าเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว สามารถขอคำแนะนำเรื่องการตีเส้นใยจากผลิตผลทางการเกษตรจากดลได้ เราพร้อมช่วยทุกชุมชนและช่วยกันรักษาการทอผ้าแบบมือที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละท้องที่ไว้ให้ได้ เราอาจมีข้อจำกัดเรื่องทุนทรัพย์ แต่ถ้าเรายังช่วยกันให้ทุกชุมชนทอผ้า มีรายได้จากสิ่งนี้ต่อไป เราน่าจะพร้อมสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกได้อย่างแน่นอน”

ปัจจุบันเส้นใยกล้วยจากชุมชนดอนแร่นำไปผลิตกระเป๋าเป็นส่วนใหญ่ จะเน้นการย้อมสีจากสีธรรมชาติเป็นหลักหรือไม่ก็ไม่ย้อมเลย เพราะตั้งใจจะไม่มีการใช้สีเคมีเด็ดขาดเนื่องจากเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมมาก

สิ่งที่ดลกำลังพยายามพัฒนาต่อไป นั่นคือ ผลิตภัณฑ์แผ่นหนังจากเส้นใยกล้วยหรือหนังวีแกนที่ไปจดลิขสิทธิ์มาแล้ว ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น เพราะการผลิตแผ่นหนังเส้นใยกล้วยนี้จะมาพิสูจน์ให้เห็นความแตกต่างจากอุตสาหกรรมการทำหนังส่วนใหญ่ที่ต้องยอมรับว่ามีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะขั้นตอนการผลิตแต่ละอย่างตั้งแต่การฟอกเนื้อ ขัด การทำให้หนังสัตว์ตึงตัว สิ่งต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อบริเวณโดยรอบของโรงงานการผลิตโดยเฉพาะพวกสารระเหยต่างๆ

 

ทุกคนก็ช่วยโลกใบนี้ได้

จุดเริ่มต้นของดล แม้เกิดจากที่เห็นคุณป้าที่พิการสายตาขายผ้าทอมือไม่ได้ แต่หลักของทั้งหมด คือ การใส่ใจและดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเอาเศษผ้าทุกอย่างมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ โดยทุกกิจกรรมหรือขั้นตอนการผลิตทุกอย่างต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็สามารถช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้

“เริ่มจากตัวเรา โดยยังไม่ต้องไปมองไกลถึงการทำเพื่อคนอื่น จากนั้นเมื่อเราทำได้ก็เริ่มจาก พ่อแม่ ญาติ เครือญาติ คนข้างบ้าน แล้วค่อยๆ ขยายผลไปยังคนอื่นๆ ในมุมมองที่กว้างขึ้น และจากที่ทำดลมาได้ถึง 10 ปีนี้ ก็เพราะเชื่อว่า ถ้าเราสร้างความฝันจากสิ่งที่เรารักจะไม่ยาก แต่ถ้าสร้างความฝันจากสิ่งที่จะรัก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ยากกว่า” คุณอนุภาให้แรงบันดาลใจทิ้งท้าย

นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งจากคนในชุมชนที่รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก แล้วก็ยังรักชุมชนของตัวเอง โดยที่ไม่ยอมทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเชื่อว่าถ้าชุมชนอยู่ได้ ตัวเราเองก็อยู่ได้

 

ดล (DONN)

ที่ตั้ง: 2/1 หมู่ 5 ต. ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000

 

Facebook: DONN

 

Instagram: DONN

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: DONN

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง