Playground

ผ้าสองลายผ่านเทคนิคแช่น้ำซาวข้าวเหนียว
ของผ้าบ้านนาคำไฮ

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 19 Jan 2023
Views: 599

ไม่มีอะไรทำไม่ได้บนโลกนี้ถ้าตั้งใจ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแรงบันดาลใจจากพลังคนไทยกลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เริ่มจากไม่ใช่งานถนัด แต่เพราะลองเรียนรู้ใหม่ ใช้การสังเกตกี่ทอผ้า จนสามารถสร้างลวดลายผ้าใหม่เอง ของ กิตติพันธ์ สุทธิสา ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ และเจ้าของแบรนด์เทวาผ้าไทย และแน่วแน่กับการสานต่อการทอผ้าแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยหนึ่งผืนจะมีสองลวดลาย คือ ลายยกดอกและลายมัดหมี่ พร้อมค้นพบเทคนิควิธีทำให้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมมีความนุ่มลื่นดูเงาสวยงาม จนปัจจุบันกลุ่มนี้ดำเนินงานมา 8 ปี และยังมีการวางแผนเพื่อการส่งต่อให้คนรุ่นหลังอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

 

มาโดยบังเอิญแต่เรียนรู้จริงจัง

คุณกิตติพันธ์ตอบคำถามถึงการมาดูเรื่องการทอผ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสานต่อเรื่องนี้มากกว่า จึงทำให้รู้ว่ามีจุดเริ่มต้นมาเรียนรู้แบบบังเอิญ แต่สุดท้ายธรรมชาติความเป็นผู้ชายที่ถนัดเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนผืนผ้าฝ้ายและผ้าไหมของเทวาผ้าไหมจนมาถึงทุกวันนี้

“เดิมทำงานแผนกแม่บ้านที่โรงแรมในกรุงเทพฯ พอคุณพ่อเสียเลยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านกับแม่ด้วยการขายลูกชิ้นทอด แต่พอเห็นป้านั่งทอผ้าทั้งวันเลยเอ่ยปากขอความรู้เรื่องผ้ากับท่านไว้ บวกกับหากมีหน่วยงานราชการเปิดอบรมที่ไหนจะขอไปร่วมฟังบรรยายด้วย และช่วยป้าขับรถเอาสินค้าที่ทอได้อย่างไปขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ”

พอป้าเริ่มวางมือเพราะอายุมากขึ้น จึงตัดสินใจไปจดทะเบียนตั้งกลุ่มกับกรมพัฒนาชุมชน เมื่อปี 2557 และด้วยความสงสัยตามธรรมชาติของคนเรียนจบด้านช่างยนต์มา เมื่อสังเกตกลไกการทำงานของกี่ที่ใช้ทอผ้า จนเริ่มคิดและทดลองใช้กี่รูปแบบใหม่ๆ

“เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่ลองเปลี่ยนการใช้กี่ด้วยการเหยียบอีกแบบที่ทำให้เกิดลวดลายใหม่ขึ้นมา ตอนแรกบางคนอาจจะมองว่าผิด แต่เราไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงใคร แค่ลองเปลี่ยนความคิดตัวเองแล้วเริ่มลงมือทดลองทำ เพราะเชื่อว่างานศิลปะจริงๆ ไม่มีอะไรที่ผิดถูกเสมอไป”

 

เทวาผ้าไทยเริ่มเป็นรูปร่างจริงจัง

จากเดิมที่ป้าและคนในชุมชนทอผ้าอยู่แล้ว แต่ไม่มีรถวิ่งไปออกขายจึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขามาช่วยและมีรายได้ เมื่อผ้าได้รับการตอบรับดีทำให้ผู้สูงอายุภายในชุมชนรู้สึกกลับมามีคุณค่าในตัวเองอีกครั้งหนึ่ง จนเผลอคิดอยากสร้างโรงงานทอผ้า แต่สุดท้ายมาลงตัวเป็นการทอผ้าจากบ้านใครบ้านมันดีที่สุด แล้วก็เลือกเอาตามสิ่งที่แต่ละบ้านถนัดเป็นหลักดีกว่า เนื่องจากแต่ละคนมีความชำนาญในการประยุกต์การทอผ้าออกมาที่แตกต่างกัน และคิดว่างานจะออกมาได้ดีกว่า สุดท้ายรู้สึกดีแล้วที่ไม่ไปฝืนใจให้ผลิตงานตามที่เราต้องการ เพราะคิดว่าการจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อเราเข้าใจเขาแล้ว เขาก็จะเข้าใจเรา

จนตั้งแบรนด์เทวาผ้าไทยที่นำชื่อภรรยามาใช้เพราะดูเข้ากันดี โดยมีการทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ทั้งสองคนได้เริ่มต้นและช่วยกันสานต่อการทอผ้าเวลาไปอบรมเรียนรู้เรื่องต่างๆ จะไปพร้อมกัน ตั้งแต่เรื่องมาตรฐานสินค้ากับกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาช่วยกันส่งต่อให้ชุมชนได้ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เรื่องการตลาดของพาณิชย์จังหวัด กรมการค้าระหว่างประเทศ แต่เวลากลับมาปฏิบัติจริงภรรยาจะมีมุมมองที่กว้างและถนัดเรื่องการตลาดมากกว่า คุณกิตติพันธ์เลยดูแลรับผิดชอบการผลิตและดูแลผู้คนในกลุ่มเป็นหลัก

 

ลายเฉพาะและเทคนิคที่แตกต่าง

สิ่งที่ทำให้กลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮและเทวาผ้าไทยต่างกับที่อื่น ชัดเจนตรงที่ผ้าหนึ่งผืนแต่จะมีลวดลายทั้งสองด้านที่ไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งเป็นลายยกดอกและอีกด้านหนึ่งเป็นลายมัดหมี่ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีคนทำเพราะทำยากมาก และการใช้ผ้าไหมถือเป็นต้นทุนที่สูง แต่ชุมชนบ้านนาคำไฮแห่งนี้ก็ยังสืบทอดกันมาต่อเนื่อง และยังได้รางวัลนวัตกรรมผ้าทอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากกระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นยังมีความแตกต่างอีกหนึ่งอย่าง คือ การคิดค้นเทคนิควิธีที่ทำให้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมมีความนุ่มลื่นและมันวาวสวยงามแตกต่างจากที่อื่น ซึ่งเกิดจากคุณกิตติพันธ์เห็นคนรุ่นก่อนเอาน้ำซาวข้าวเหนียวไปจุ่มแช่เส้นไหมหรือฝ้ายในเส้นยืนที่รอกระสวยกี่พุ่ง เพราะเวลาทอผ้าจะมีความเหนียวกว่าเดิมและไม่ขาดง่าย จึงเกิดไอเดียว่าลองนำน้ำซาวข้าวเหนียวพันธุ์ผัวหลง ซึ่งเป็นข้าวเหนียวประจำจังหวัดหนองบัวลำภูไปแช่เส้นด้ายเป็นชั่วโมงๆ ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง ปรากฏว่าทำให้ได้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่นุ่มลื่น เวลาปั่นเข้าหลอดก็ง่ายขึ้นมาก

ความร่วมมือจากชุมชน 

จากที่เริ่มต้นนำผ้าในชุมชนไปช่วยขายในงานแฟร์ต่างๆ จนตอนนี้มีประมาณ 30 คนในชุมชนที่อยู่รวมกันและแต่ละคนมีความถนัดที่ต่างกัน แต่จะคอยแลกเปลี่ยนและให้คำแนะนำกันตลอดเวลา เพื่อให้ทุกคนมองไปยังเป้าหมายและผลิตสินค้าออกมาให้ได้มาตรฐานเดียวกัน

“บางครั้งที่สินค้าทำแล้วไม่ได้ตามที่ลูกค้าขอมา ก็จะเปิดใจคุยกันตรงๆ แต่ไม่ได้เป็นการตำหนิ เพราะเลือกใช้วิธีมาช่วยกันหาทางแก้ไขไปด้วยกัน โดยต้องพยายามสื่อสารให้ถูก ใช้วิธีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกันจริงๆ และเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ แต่น่ารักของที่นี่คือ เวลาจะเอาด้ายแช่น้ำซาวข้าว ทุกคนก็พร้อมจะเก็บไว้ให้เพราะทุกบ้านต้องหุงข้าวเหนียวผัวหลงกินเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องบอกเขาล่วงหน้าพร้อมเอากระป๋องไปไว้ให้เขาเท่านั้น”

 

จุดวัดใจสำคัญสู่การผลิตสินค้าที่หลากหลาย

ช่วงแรกผลิตแต่ผ้าคลุมไหล่ แต่โอกาสเริ่มขยับขยายมากขึ้น หลังจาก คิง เพาเวอร์ ให้เริ่มทดลองส่งของไปขาย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ขายสินค้าได้แล้ว ยังทำให้กลุ่มได้ฝึกฝนทักษะหลายอย่าง ตั้งแต่ดูการผลิตให้รองรับกับออร์เดอร์ที่เข้ามา การบริหารสต็อกสินค้า หัดใช้อีเมลในการสื่อสาร ทำใบเสนอขาย จากที่เคยขายในงานแฟร์ครั้งหนึ่ง 5-10 ผืนก็ดีใจแล้ว แต่นี่คำสั่งซื้อมาครั้งเป็นกว่า 100 ชิ้น ก็ทำให้คนในชุมชนดีใจกันมาก อีกทั้งยังได้รับแนะนำให้ลองผลิตสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น จนกลายเป็นชุดเดรส กระโปรง กางเกง ที่ช่างตัดเย็บก็มาจากคนในชุมชนทั้งหมดช่วยกัน ส่วนเรื่องดีไซน์เนอร์จะมีเข้ามาช่วยจากที่ได้ผ่านการอบรมกับหน่วยงานราชการต่างๆ อยู่เสมอ

“ตอนนั้นถือเป็นจังหวะสำคัญของคนในชุมชน เพราะหลายคนกำลังตัดสินใจอนาคตของตัวเองว่าจะเดินไปทางไหนดี จะทอผ้าต่อ หรือจะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น พอได้ออร์เดอร์มาเป็นร้อยชิ้น แววตาแต่ละคนเริ่มมีน้ำมาหล่อเลี้ยงและดูมีความหวังกันมากขึ้น เพราะกลายเป็นแรงกระตุ้นและกำลังใจอย่างดีที่ทำให้ตัวเองเจอคำตอบ”

ทั้งนี้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทหลากหลาย ตั้งแต่ผ้า 2 ลายในหนึ่งผืนที่มีทั้งผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ และการแปรรูปเป็นเสื้อผ้ารูปแบบต่างๆ ที่ออกมาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนสวมใส่ยุคนี้มากขึ้น  และยังสามารถเอาเข้าเครื่องซักผ้าพร้อมกับเสื้อผ้าอื่นได้ด้วยโดยสีไม่ตก

 

พร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้ 

อีกหนึ่งเจตนาแน่วแน่ของคุณกิตติพันธ์ก็คือ ตั้งใจให้เทวาผ้าไทยนี้เป็นศูนย์เรียนรู้คอยแนะนำหรือสอนเรื่องการทอผ้าให้กับคนที่ต้องการสานต่องานทางด้านนี้ โดยไม่คิดหวงความรู้หรือวิชา ปี 2563 จึงตั้งเป็นวิชชาลัยขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาเรียนเป็นคนที่ทอผ้าอยู่ในจังหวัดอื่นโดยต้องการมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

การเผยแพร่ความรู้นี้เหมือนเป็นการเก็บรวบรวมความรู้เรื่องทอผ้าของชุมชนไว้ โดยรวบรวมปราชญ์ทางด้านนี้ไว้ ตั้งแต่การย้อมผ้า การทำมัดหมี่ การเก็บขิด การยกดอก โดยต้องพยายามถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาที่คนเรียนต้องเข้าใจง่าย ไม่ใช่ภาษาเชิงวิชาการจนเกินไป ดังนั้นวิชชาลัยแห่งนี้เหมือนเป็นการนำชุมชนมาสอนชุมชนด้วยกัน เพื่อให้คนที่มาเรียนสามารถทำได้จริงๆ

“ปล่อยความรู้ให้เต็มที่เพื่อที่ทุกคนจะได้มาช่วยกันทอผ้าไทยกันมากขึ้น และเชื่อว่าไม่มีใครสามารถลอกเลียนใครได้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่มาเรียนแล้วจะไปพัฒนาต่อยอดเป็นเอกลักษณ์หรือในแบบของตัวเองเสมอ เราเป็นแค่คนแนะนำให้ สอนให้หมด เรื่องการยกดอกการมัดหมี่แบบชุมชนเรา ใครอยากทำก็ลองติดต่อมาเรียนรู้ได้ เพราะทุกวันนี้มีคนทำน้อยมากเพราะมันยากจริง และจะรู้สึกยินดีมากถ้าใครมาเรียนแล้วสามารถนำไปต่อยอดหรือพัฒนาได้ดี เพราะจะได้มีคนมาช่วยกันสานต่อเรื่องผ้าไทยกันมากขึ้น”

เส้นทางวันนี้กับอนาคตข้างหน้า

เทวาผ้าไทยได้เดินทางมา 8 ปี จากที่ทำไม่เป็น เริ่มอยากเรียนรู้ ศึกษา ฝึกฝน จนตอนนี้ทุกคนในชุมชนก็อยากให้เกิดการสานต่ออย่างยั่งยืนโดยที่ยังสามารถมีรายได้จากอาชีพนี้อยู่ ระหว่างนี้ทางกลุ่มก็กำลังเตรียมให้ทุกอย่างเป็นระบบระเบียบ ทั้งเรื่องข้อมูลการผลิต การกระจายสินค้า การทำบัญชี การบริหารจัดการสต็อกสินค้า การส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะวันหนึ่งหากรุ่นที่ทำอยู่หมดไฟ หรือทำไม่ไหวแล้ว การส่งต่อเรื่องราวการทอผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮและเทวาผ้าไทยจะได้เกิดขึ้นและดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ

“ตอนนี้พยามยามผลักดันให้คนในชุมชนมาเรียนรู้และสืบสานการทำผ้าในชุมชนที่ให้เป็นระบบต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นประจำหรือคงอยู่ตลอดไป เป้าหมายต่อไปคือการทำการตลาดเพื่อให้รุ่นลูกหลานได้มีโอกาสไปต่อยอดในอนาคต ขณะนี้พยายามทำทุกอย่างในปัจจุบันให้ดี เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวผลที่ดีจะตามมาเอง อย่าเพิ่งไปคาดหวังมาก เพราะถ้าผิดหวังแล้วจะเสียกำลังใจมากกว่านี้”

คุณกิตติพันธ์ เชื่อว่าอย่างน้อยเทวาผ้าไทยน่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้คนที่ต้องการขับเคลื่อนของดีในชุมชนได้ กลุ่มเราที่มี 30 คนพยายามมีทัศนคติให้ตรงกันในเรื่องและเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมเปิดโอกาสให้คนนอกชุมชนที่รักการทอผ้าได้เข้ามาเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน แนวคิด เทคนิควิธี และการถ่ายทอดระหว่างกันมากขึ้น เพราะแต่ละชุมชนจะมีความชำนาญในการทอผ้าที่แตกต่างกัน โดยคิดว่ากลุ่มเราทำได้ กลุ่มอื่นๆ ก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน

จากความตั้งใจมุ่งมั่นและความสามัคคีกลมเกลียวของกลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เสน่ห์ของผ้าไทยจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

เทวาผ้าไทย

ที่ตั้ง : 264 หมู่2 บ้านนาคำไฮ ต.นาคำไฮ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู 39000

 

Facebook: TAYWA (เทวาผ้าไทย) 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: TAYWA

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถหาสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

ปักหมุดจุดเช็กอิน – แชะรูป – ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• ทุ่งนา at 9Dee คาเฟ่ ที่เป็นจุดเช็กอินให้มาแชะรูปบรรยากาศท้องทุ่งนาตามแต่ฤดูกาล พร้อมเมนูอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่หลากหลาย
• แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูพานน้อย เป็นเทือกเขาสูงที่สามารถมองลงมาเห็นวิวเมืองหนองบัวลำภูได้ทั้งหมด ยิ่งถ้าขึ้นไปตอนเย็นจะเหมือนเห็นดาวบนดิน
• ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จยกกองทัพมาที่ตำบลหนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ. 2217 เป็นอีกหนึ่งสถานที่ทุกคนควรมาสักการะพระองค์ท่าน

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง