Playground

ชุมชนทอผ้าไทยทรงดำ
อวดสายตาเวทีโลก
ด้วยสปอร์ตแวร์สไตล์โมเดิร์น

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 13 Sep 2022
Views: 5,232

ทุกชุมชนย่อมมีเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งอาจปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยยังคงความเป็นแก่นจากสิ่งที่บรรพบุรุษตั้งใจส่งต่อภูมิปัญญาให้ลูกหลานสืบไป เช่นเดียวกับชุมชนไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ที่บ้านดอนมะนาว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าของชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

ถึงตอนนี้ที่ชุมชนแห่งนี้ ผู้คนที่บ้านดอนมะนาวยังคงนุ่งผ้าที่ทอกันเองสไตล์ไทยทรงดำโบราณสืบต่อกันมาในชีวิตประจำวันและวันสำคัญต่างๆ รวมทั้งยังกำหนดเป็นวิชาให้นักเรียนรุ่นหลังได้ทำเสื้อผ้าดั้งเดิมของตัวเอง โดยล่าสุดวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของลาวโซ่งนี้ กำลังเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เพราะได้ไปแสดงผลงานและเป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจในฐานะตัวแทน “พลังไทย” เป็นสินค้าคอลเลกชันพิเศษที่ออกแบบสไตล์โมเดิร์นที่ King Power Stadium ภายใต้แบรนด์ LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ

จากเรื่องราวของวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยทรงดำ ซึ่งแฝงปรัชญาชีวิตล้ำลึกสู่สปอร์ตแวร์แฟชั่นเท่ๆ ที่มีทั้งงานฝีมือของคนไทย กลมกลืนไปกับคัตติ้งสไตล์โมเดิร์น

 

รู้จักไทยทรงดำแห่งบ้านดอนมะนาว

ชุมชนไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง แห่งบ้านดอนมะนาว เป็นหนึ่งในหลายชุมชนที่บรรพบุรุษเป็นชาวเมืองแถงเคียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 หนึ่งในคำบอกเล่าของ แม่ขวัญยืน ทองดอนจุย  อายุ 71 ปี ที่ปรึกษากลุ่มทอผ้าแห่งนี้ เล่าว่าพี่น้องชาติพันธุ์เดียวกันกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของไทย ตั้งแต่เพชรบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ชุมพร หรือที่สุพรรณบุรีก็ตั้งถิ่นฐานในหลายอำเภอ

บุคลิกของลาวโซ่ง เป็นคนที่รักษาสัจจะ ซื่อสัตย์ มีความโอบอ้อมอารี รักพวกพ้อง ใจดี มีความอดทนสูง กตัญญู เหมือนคำที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเพื่อเตือนใจเสมอว่า ต้องรู้จักรักพี่รักน้อง เมื่อต้องไปเรียนหนังสือหรือทำงานที่ต้องเจอสังคมใหม่ก็อาจทำให้ลืมเชื้อลาวโซ่งไป แต่เมื่อเติบโตอย่างน้อยต้องเชื่อฟังปู่ย่าตายาย พอถึงเวลามีงานหรือพิธีสำคัญ ก็ขอให้กลับมาสืบสานต่อจากบรรพบุรุษ และอย่าลืมเชื้อลาวโซ่งของตัวเอง

“เราได้รับคำสอนจากรุ่นแม่รุ่นพ่อว่า พี่น้องหรือคนในชุมชนไม่ว่าจะโกรธจะเกลียดกันอย่างไร แต่เมื่อถึงวันที่ต้องมาเลี้ยงหรือทำบุญให้บรรพบุรุษ ทุกคนก็ต้องกลับมารวมตัวกัน เชื่อว่านี่คือสิ่งที่สอนให้รู้จักรักใคร่สามัคคีกัน”

 

เรื่องราวและความหมายพิเศษ…กว่า 100 ปีบนผืนผ้าไทยทรงดำ

ชาวไทยทรงดำทอผ้าใช้เองเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เสื้อผ้า ผ้าซิ่น หมอน ที่นอน เสื่อ มุ้ง แต่ความน่าสนใจคือ ความหมายโดยนัยที่ซ่อนอยู่บนผืนผ้าที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝังหลักคิดให้รุ่นหลานพึงระลึกถึงปรัชญาในการใช้ชีวิตที่ลึกซึ้งผ่านผืนผ้าที่ทอด้วยรูปแบบของเส้นด้ายและลวดลายเฉพาะ ใช้ฝีมือผ่านความเชี่ยวชาญที่ก่อให้เกิดความงามแบบวิจิตรบนผ้า…ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เอกลักษณ์ของผ้าในแบบไทยทรงดำคือ มีสีพื้นของผ้าเป็นสีดำทั้งแบบผู้ชายและผู้หญิงที่ให้ความรู้สึกเท่ขรึม

สำหรับกระบวนการทำผ้าซิ่นผู้หญิง เริ่มจากผ้าพื้นสีดำไม่มีลาย สะท้อนปรัชญาที่เกี่ยวกับดิน ผ้าตรงกลางเป็น “ลายแตงโม” ชื่อเรียกของลายที่เป็นแถบรูปแบบเฉพาะและเป็นที่จดจำ…สื่อความรักชีวิตคู่ของชายหญิง ส่วนผ้าที่อยู่บริเวณช่วงล่างสุดหรือตีนซิ่น ยังสื่อถึงแก่นของชีวิต

แม้แต่ “เสื้อฮี” ที่ชาวไทยทรงดำทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงจะต้องมีเสื้อประจำตัวที่มีความพิเศษไม่ซ้ำใครตรงที่เสื้อของผู้หญิงจะถูกออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้ทั้งสองด้าน (ขณะที่ของผู้ชายทำเพื่อใส่เพียงด้านเดียว) เน้นการกลับลายสวยงามไว้ข้างใน ตั้งใจจะสื่อถึงการทำความดีที่ไม่ต้องโอ้อวด เพราะความดีก็จะปรากฏให้เห็นเองในภายหลัง

ลวดลาย การทอ เส้นด้าย และสีสัน
ล้วนสื่อเอกลักษณ์ของผ้าไทยทรงดำ

ผ้าทอชุมชนไทยทรงดำดอนมะนาว พยายามรักษาการทอผ้าแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด แม้อาจปรับเปลี่ยนขั้นตอนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการผลิตไปบ้าง แต่ยังคงแก่นของภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้

ปกติต้องมีการใช้เส้นไหมแกมฝ้ายในการทำผ้าแต่ละผืน เพราะปัจจุบันชาวบ้านยังคงเลี้ยงไหมอยู่แต่ส่งให้กรมหม่อนไหมช่วยดูแลในการย้อมสีและตีเส้นออกมาให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นสีขาว ขณะที่บางบ้านยังมีเลี้ยงไหมให้พอได้ใช้สำหรับเส้นไหมเหลือง ซึ่งเป็นไหมประจำถิ่นของชุมชนอยู่

ส่วนฝ้าย จะนำมาจากชุมชนจังหวัดใกล้เคียงแล้วย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ต่างๆ แบบธรรมชาติ ลงครามก่อน แล้วตามด้วยมะเกลือหรือประดู่ เพื่อช่วยไม่ให้สีตกหรือจางง่าย แล้วมาทอด้วยกี่พุ่งแบบโบราณหรือกี่กระตุก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาร้อยปี

“ตอนนี้การเย็บลายไม่ได้ใช้ฝ้ายแกมไหมแบบเมื่อก่อน จะเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ที่เป็นเอกลักษณ์คือการทำเส้นไหมเหลือง ซึ่งเป็นไหมโบราณที่ยังมีบางบ้านในดอนมะนาวยังทำอยู่ เพราะตัวไหมมีความแข็งแรง ไม่ค่อยเป็นโรค และมีเส้นสีเหลืองที่สวยงาม

ลวดลายการทอหรือการปักมีถึงกว่า 10 ลาย ส่วนสีของผ้าจะย้อมจากสีธรรมชาติทั้งหมด เช่น สีเหลืองมาจากต้นชมพู แก่นขนุน ดาวเรือง หรือขมิ้น สีแดงมาจากคลั่ง สีดำจากมะเกลือ สีดำแดงจากประดู่ที่เพิ่มคุณสมบัติความคงทนของสี หรือหากจะเพิ่มความมันเงาของผ้าก็ให้เผาเปลือกนุ่นและผสมไปกับตอนต้มสีประดู่”

หรืออย่างลายดอกจันทร์ที่เป็นความเฉพาะ จะใช้ผ้า 4 สีหลักที่มีความหมายพิเศษ ได้แก่ สีแดงหมายถึง การใส่ใจสังคมและชุมชน สีเขียว หมายถึง การดูแลรักษาธรรมชาติ สีขาว หมายถึง ทำจิตบริสุทธิ์ ทำความดีไม่ต้องโอ้อวด รู้จักถ่อมตน และสีส้ม หมายถึง การเป็นคนดี กตัญญู

 

ชุมชนดอนมะนาวเติบโตไปด้วยกัน

ชุดไทยทรงดำแบบดั้งเดิมหรือประยุกต์ตามสมัยได้ถูกส่งต่ออย่างกลมกลืนให้เห็นเป็นตัวอย่างในชุมชนนี้ เพราะนอกจากจะใส่กันช่วงงานเทศกาลสำคัญต่างๆ แล้ว ยังได้รับการปลูกฝังให้เข้ากับวิถีการดำรงชีวิตปัจจุบันด้วยการใส่ชุดนี้เป็นประจำ อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านดอนมะนาวจะแต่งชุดนี้เป็นประจำทุกวันพุธ ขณะที่คุณครู พนักงาน และนักเรียนโรงเรียนจะแต่งไปโรงเรียนทุกวันพฤหัสบดี และที่สำคัญมีการสอนวิธีการตัดชุดดังกล่าวไปในหลักสูตรการเย็บปักถักร้อยให้นักเรียนระหว่างชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ด้วย

เดิมผ้าชิ้นหนึ่งอาจทำเสร็จด้วยคนเพียงหนึ่งคนเท่านั้น แต่ปัจจุบันต้องอาศัยความถนัดและความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านในชุมชน…ใครถนัดทอ ย้อม หรือปักก็ให้ทำสิ่งนั้น เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบก็ไปหางาน…ทำงานอย่างอื่นมากกว่าจะกลับมารับช่วงต่อการทอผ้าเป็นหลัก ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนที่ยังทอผ้าได้ไม่มีช่องทางการจำหน่าย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้แม่ขวัญยืนรวบรวมงานผ้าของแต่ละบ้านไปขายตามงานต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และงาน OTOP เมืองทองธานี

“เริ่มแรกไม่ได้คิดจะรวบรวมชิ้นงานไปขาย แต่เห็นผ้าของแม่ทอผ้าสวยเลยลองเริ่มขายดู เมื่อเริ่มขายดีคนอื่นก็เริ่มฝากขายกัน โดยให้แต่ละคนตั้งราคาขายกันเอง แล้วค่อยบวกค่าต้นทุนในการเดินทางไปเล็กน้อย ซึ่งช่วงแรกหลายครั้งยอมขายเท่าทุนหรือขาดทุนไป เพราะคุณภาพผ้าไม่ได้กับราคาที่คนอื่นอยากได้ จนค่อยๆ เริ่มเห็นแนวว่าผ้า 1 ชิ้นควรขายเมตรละเท่าไร เกิดความพอใจทั้งสองฝ่าย และคนที่ยังทอผ้าได้ก็ถือว่าได้ช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้”

 

ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยและเข้าถึงได้ง่าย

การทอผ้าและปักผ้าแบบดั้งเดิมยังอนุรักษ์ต่อเนื่อง แต่เพื่อให้เป็นเสื้อผ้าที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ให้คนใส่ได้หลากหลายมากขึ้น จึงต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงราคาเข้าถึงได้ง่าย หรือหลายครั้งที่ลูกค้าต้องการนำผ้าไทยทรงดำที่มีลายดอกหรือมุมเหลี่ยมที่สวยงาม ไปประยุกต์ตกแต่งภายในบริเวณต่างๆ อย่างเช่นในโรงแรม ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์งานฝีมืออันวิจิตรอยู่ทั้งหมด 11 อย่างคือ ชุดไทยดำ เสื้อฮีชายและหญิง เสื้อไท เสือก้อง เสือน้อย ผ้าซิ่น กระเป๋าคาดเอว ย่าม หมอน ที่นอน และของที่ระลึกกว่า 10 อย่าง

 

สู่ผลงานออกแบบระดับโลก

จากอัตลักษณ์สำคัญของผ้าไทยทรงดำ ไม่ว่าจะเป็น การปักด้วยมือ การตัดต่อผ้า และการทอผ้า ถูกตีความนำไปสร้างสรรค์ “แฟชั่น” และคอลเลกชันพิเศษให้แต่ละชิ้นงานออกมาแบบเต็มไปด้วยเสน่ห์และความเท่

ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้การสืบสานของการทอผ้าหรือปักผ้าไทยทรงดำอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะทำให้คนในชุมชนทั้งที่ไม่เคยเย็บผ้าหรือห่างหายไปกลับมาเริ่มต้นเรียนรู้ในสิ่งที่บรรพบุรุษได้คิดค้นและส่งต่อมาให้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นนานแล้ว ที่มีคนหลายรุ่นและเริ่มเห็นคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ มาขอเรียนการปักผ้าใหม่

บุษตรี ทองเปลี่ยว ซึ่งเป็นลูกสาวของแม่ขวัญยืน หรือทายาท OTOP และยังเป็นประธานกลุ่มผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว บอกว่า การได้ผลิตสินค้าให้สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ นั้น ภาพหนึ่งคือเกิดความสามัคคีกันในชุมชนมากขึ้น เพราะทุกคนช่วยกันทำเต็มที่ หลายคนไม่เคยเย็บผ้ามาก่อนก็ฝึกกันเป็นร้อยๆ ครั้ง จนตอนนี้ปักลายได้สวยงาม เพราะมีแรงบันดาลใจอยากมีส่วนร่วมนำงานฝีมือของตัวเองและการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

ชุมชนบ้านดอนมะนาว x ความเท่แบบสากล

ความร่วมมือระหว่างชุมชนไทยทรงดำกับ คิง เพาเวอร์ ที่มีทางทีมออกแบบมาร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองกับชาวบ้านในระยะเวลาหนึ่ง จนเกิดการพัฒนาสินค้าที่เข้าใจเรื่องราวของผ้าไทยทรงดำ แล้วนำไปประยุกต์ออกแบบให้เกิดสินค้าต่างๆ ของทางเลสเตอร์ ซิตี้ ได้อย่างทันสมัย แต่ยังคงเสน่ห์และเรื่องราวในวิถีชีวิตไทยทรงดำได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็น เสื้อยืดลายสุนัขจิ้งจอกที่ไม่ได้ปักง่ายๆ ต้องรวมสรรพกำลังคนในชุมชนกว่า 28 คน ในการฝึกซ้อมงานปักมือเทคนิคลูกโซ่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะให้ออกมาสวยงาม ก่อนลงมือปักจริง หรือการทำเสื้อจากผ้าฝ้ายที่ไปย้อมฮ่อมจากสีธรรมชาติก่อนแล้วมาพิมพ์ลายทั้งชิ้น ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลายผ้าแตงโม รวมถึงการทำเสื้อแจ็กเกตที่ใส่ได้ทั้ง 2 ด้าน หรือการทำกระเป๋าคาดเอว และหมวกที่ด้านในจะมีการใช้ผ้าลายแตงโมเพื่อสะท้อนคำสอนที่บอกถึงการทำดี โดยไม่ต้องโอ้อวดของคนไทยทรงดำ

นอกจากนั้น ยังนำการทำลายดอกลวดลายต่างๆ บนผ้า เช่น พวงกุญแจทรงสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ซึ่งเป็นการย่อขนาดลูกช่วงตามชื่อเรียกของไทยทรงดำที่เป็นประเพณีการละเล่นไว้โยนหาคู่ที่จัดช่วงเทศกาลประจำปี 14 เม.ย. ทุกปี ซึ่งเป็นการใช้ลายดอกจันทร์ที่แม่ขวัญยืนได้รับการบอกเล่าว่า เป็นลายดอกไม้ในป่า หรือลูกฟุตบอลที่ระลึกทำมาจากผ้าฝ้ายทอมือย้อมคราม โดยตรงกลางของลูกเป็นการเย็บปักลายดอกแปด ซึ่งมาจากปรัชญาคำสอนทางพุทธศาสนาข้อสำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของชาวไทยทรงดำ

 

“สำเร็จ” ที่ยังไม่ถือสิ้นสุด

ต้องขอบคุณที่ทำให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เสมือนชุมชนไทยทรงดำบ้านดอนมะนาวเป็นตัวแทนของชาติพันธุ์เดียวกัน มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวและเป็นที่รู้จักกับทั่วโลกมากขึ้นจากการทำของระลึกของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้แล้ว ยังทำให้คนในชุมชนเกิดแรงบันดาลใจและฮึดที่จะมาเริ่มเรียนรู้และรักษาภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมากขึ้น ขณะที่คนใจรักและอยากจะสานต่อด้านนี้อยู่แล้ว ก็มีกำลังใจและพร้อมจะเดินหน้าสู้ต่อไป

“ตอนนี้พยายามบอกคนในชุมชนว่า ถ้าใครมีเวลาหรือจัดสรรเวลาได้ ก็ให้มาฝึกเรียนรู้เรื่องเย็บปักถักร้อยหรือลองมาฝึกทำก่อน เพื่อหาสิ่งที่มีความถนัดออกมา อย่างน้อยก็จะได้มีวิชาติดตัวและยังได้ช่วยกันรักษาภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้คิดและส่งต่อมาให้ เพราะสามารถเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมให้กับตัวเองและครอบครัวได้”

ชุมชนไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว อาจเป็นตัวอย่างของพลังชุมชนเล็กๆ ที่ทำให้เห็นความตั้งใจแท้จริงว่า อย่างน้อยถ้าเกิดความร่วมมือกันและมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ เมื่อถึงเวลาและโอกาสที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าสิ่งที่บรรพบุรุษได้วางรากฐาน ไม่ว่าจะผ่านด้วยแนวคิด วิถีชีวิต ประเพณี หรือวัฒนธรรมใดๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนนั้นสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนได้ แม้อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้างก็ตาม

 

ชุมชนไทยทรงดำ บ้านดอนมะนาว สุพรรณบุรี

ที่ตั้ง : 39 หมู่ 2 ต.ดอนมะนาว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 72110

 

MIND MAKER AND HANDMAKER THAI SONG DUM COLLECTION”

แฟชั่นสปอร์ตแวร์ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมบอกเล่าเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยทรงดำที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ผ่านคัตติ้งสไตล์โมเดิร์นที่มีเอกลักษณ์ทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืดปักมือลายจิ้งจอก แจ็กเกตสไตล์มินิมอล (Limited Edition) กลับใส่ได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง ใช้เทคนิคลายผ้าต่อล้อลายแตงโม ด้านสอง ผ้าฝ้ายทอมือสีดำเรียบ กระเป๋าคาดเอว หมวกแก๊ป พวงกุญแจนำโชค ลูกบอลผ้าฝ้าย

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: THAI SONG DUM COLLECTION 

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน – แชะรูป – ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• บ้านริมนาคาเฟ่ คาเฟ่ในบรรยากาศอยู่ท่ามกลางทุ่งนา จิบกาแฟแบบใกล้ชิดธรรมชาติ และมีเมี่ยง กลีบบัว เมนูแนะนำที่ห้ามพลาดของที่นี่

• ตลาดบางลี่ ตลาดเก่าชุมชนดั้งเดิมอายุเป็นร้อยปี เป็นตลาดเช้าที่หาของกินได้หลากหลาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือ โจ๊ก เป็ดพะโล้ ต้มเลือดหมู ฯลฯ สายแชะ ต้องแวะไปถ่ายรูปกับรถแดงหวานเย็นในตำนานสายบางลี่-กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้เหลือรถแดงที่ยังคงวิ่งอยู่เพียงแค่สายนี้สายเดียวเท่านั้น

• หอชมทุ่ง จุดชมวิวที่ใช้เชือกกับไม้ไผ่มัดไว้ด้วยกันสร้างเป็นหอคอยที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง มีมุมเปลผูกไว้ให้นอนชมพระอาทิตย์ขึ้นกับวิวทุ่งนาจากมุมสูง ที่เต็มไปด้วยความงามของธรรมชาติ

 

พาส่องเบื้องหลังการทำงานของทีมดีไซเนอร์ และที่มาของแรงบันดาลใจตามรอยสายใยวัฒนธรรมที่เกิดจากความรัก ถักทอเป็นผืนผ้า สู่ปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้ง

 

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ