Playground

“แพรวพราว” งดงามร่วมสมัย
จากผืนดินแล้งที่สุดของไทย

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 5 Jan 2023
Views: 511

“อำเภอนาโพธิ์ได้ชื่อว่าแล้งที่สุดในประเทศไทย ปลูกพืชอะไรก็ไม่ได้”

เรื่องราวนี้โด่งดังมาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว หลายคนอาจเกิดไม่ทัน หลายคนที่ไม่เคยออกจากเมืองไปสัมผัสชีวิตชนบทแท้ๆ อาจไม่เข้าใจ “พื้นที่แห้งแล้ง แต่ว่าเราทอผ้าสวย เราชำนาญเรื่องทอผ้า” ปุ๋ย-แสงเดือน จันทร์นวล ดีไซน์เนอร์และผู้ดูแลการผลิตของแบรนด์แพรวพราวย้ำอยู่หลายครั้ง

คุณปุ๋ยพาย้อนประวัติศาสตร์ของบุรีรัมย์บ้านเกิด เล่าถึงผ้าถุงชาวบ้านที่นุ่งเข้าวัด นุ่งชีวิตประจำวัน หรือผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันล้วนเป็นผ้าไหม ผ้าซิ่นไหมเก่าแล้วก็จะเปลี่ยนสถานะมาเป็นผ้าคลุมกระด้งเลี้ยงไหมเพื่อกันแมลงอื่นเข้าไปรบกวน “ถ้าผ้าเก่ามากๆ ก็จะกลายเป็นผ้าขี้ริ้วไปโดยปริยาย ปุ๋ยยังทันเห็นยายเอาผ้าไหมมาทำผ้าขี้ริ้วเลยค่ะ”

ครับพี่…นาโพธิ์เมืองแล้ง…แต่ใช้ผ้าไหมถูพื้น!!!

 

ของดีที่หาเจ้าของไม่ค่อยเจอ

ดั้งเดิมเลยบ้านนาโพธิ์จะทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นผ้าซิ่นบ้าง ผ้าผืนใหญ่สำหรับตัดเสื้อบ้าง เขาเรียกกันเองง่ายๆ ว่า ผ้าลายโบราณ “เป็นลวดลายของอีสาน-ลาว ทั้งลายบันไดสวรรค์ ลายนาคเจ็ดหัว นาคเก้าหัว ลายต้นสน ลายขอพับ ลายขอหลง อะไรเหล่านั้น”

เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เข้ามาส่งเสริมการทอผ้าทดแทนการเกษตรเพราะแห้งแล้งเหลือเกิน ลายขอหลงก็เป็นลายเอกที่ส่งเสริมให้ทอ “ยากอยู่นะ มัดหมี่ไป มัดหมี่มา คนมัดน่ะหลงเองเลย”

แม้จะพูดติดตลก แต่ลายผ้าไหมมัดหมี่ของบ้านนาโพธิ์นั้นสวยจริงๆ

“ในหนึ่งผืนผ้าจะมีหลายๆ ลายประกอบกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงลาย แม่สอนมายังไง ลูกก็ทำตามซ้ำๆ มาเรื่อย จนมาถึงรุ่นพี่ที่เริ่มทำเป็นธุรกิจผ้า ก็จะเอาลายดั้งเดิมเหล่านั้นมาประกอบหรือจัดเรียงใหม่บ้าง แล้วตั้งชื่อเป็นลายใหม่แล้วแต่คนที่ประกอบลายขึ้นมาจะเรียก”

แต่ถ้าเป็นผ้าซิ่น เอกลักษณ์ดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ คือ “ซิ่นตีนแดง” เป็นซิ่นลายสวยที่มีหัวซิ่นและตีนซิ่นเป็นสีแดง เป็นการทอติดกันทั้งผืน โดยตอนขึ้นเส้นยืนก็มีด้ายสีแดงฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาของกี่ ไม่ได้นำผ้าแดงมาต่อหัวต่อตีนซิ่นแต่อย่างใด

“ผ้าลายโบราณจะเน้นสีน้ำตาล สีออกดำๆ แดงๆ เขียวๆ สวยค่ะ แต่ต้องรอคนมาซื้อและต้นทุนก็สูงมาก บางช่วงที่เศรษฐกิจไทยไม่ดีก็ขายยาก คนที่มาซื้อก็มักเลือกผ้าของชาวบ้านที่ฝีมือดี แล้วคนที่ฝีมือไม่ค่อยดีล่ะ…เขาก็ไม่ได้ขายสักที มันก็ท้ออยู่นะ ท้อถึงขนาดต้องมองหาอาชีพอื่นเพื่อหาทางหารายได้เลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวกันเลย”

ยังชื่นชมลายผ้าว่าสวยงามกันอยู่เลย ถึงจุดท้อเร็วเสียจริง!!

จากพื้นบ้านสู่ทุกชนชั้น

เรื่องฝีมือทอผ้าคนนาโพธิ์ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญคือตลาดต่างหาก “เอกลักษณ์พิเศษของเรา คือเราทำด้วยมือ ที่อื่นเขาอาจมีเครื่องจักรมาช่วยบ้าง ใช้กี่กระตุกบ้าง แต่เรานี่เป็นกี่มือแบบพื้นบ้าน 100 เปอร์เซ็นต์เลยค่ะ เลยต้องใช้เวลาทำนาน” กระบวนการผลิตที่ดีงามย่อมมีคนมองเห็น

ทางกลุ่มได้มีโอกาสไปออกร้านในกรุงเทพฯ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เห็นผ้าของบ้านนาโพธิ์แล้วชอบที่เป็นไหมแท้ทอด้วยกี่มือ จึงสั่งทอพิเศษเพื่อนำไปใช้ส่วนตัวและเป็นของฝาก หลายครั้งเข้าจึงเกิดไอเดียว่า ออกแบบผ้าให้มีดีไซน์ที่ร่วมสมัยเพื่อขายให้กับชาวต่างชาติน่าจะเป็นการดี

แบรนด์ “แพรวพราว” จึงเกิดขึ้น และตั้งใจอยากวางขายใน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี

“ก็ประมาณ 15 ปีมาแล้ว เราเน้นไปที่ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ออกแบบให้ทันสมัยหน่อย เพื่อลูกค้าที่จะบินออกต่างประเทศ ให้ชาวต่างชาติเห็นแล้วซื้อได้ง่าย สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน” ต้องเริ่มปรับการออกแบบโดยใช้ทีมดีไซน์เนอร์จากทางแพรวพราว และดีไซน์เนอร์จาก คิง เพาเวอร์ ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ซึ่งคุณปุ๋ยก็เป็นหนึ่งในทีมออกแบบและเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างดีไซน์เนอร์ของทางแบรนด์กับแม่ๆ ป้าๆ ที่ทอผ้า เพราะเขารู้ว่าจะปรับให้ได้อย่างที่ออกแบบที่จุดไหนขั้นตอนไหน

แต่ละแบบที่ผ่านการคัดเลือกไปวางขายก็ตั้งเป็นรหัสไว้ เพื่อง่ายในงานสั่งผลิตซ้ำ แล้วก็ออกแบบเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ แบบไหนขายดีก็ทำเพิ่ม แบบไหนไม่เป็นที่นิยมก็เก็บไว้ก่อน รอเข้าเทรนด์จึงนำออกมาผลิตใหม่อีกครั้ง

เมื่อธุรกิจเป็นระบบมากขึ้น ชาวบ้านนาโพธิ์จะมาเลี้ยงไหมเอง สาวไหมเอง เพื่อนำมาทอไม่ได้อีกแล้ว เขาแบ่งงานกันไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ “นาโพธิ์จะเป็นสายทอเพราะแห้งแล้ง หมู่บ้านอื่นที่มีลำห้วย  ลำธารก็จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อย่างบ้านหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง อำเภอลำปลายมาศ หรือไปทางอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีทางจังหวัดขอนแก่นบ้าง หมู่บ้านที่มีน้ำก็รับปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แล้วส่งมาให้บ้านนาโพธิ์เป็นคนย้อมและทอผ้า”

สไตล์ของแบรนด์แพรวพราวจะดูร่วมสมัย เพราะอยากให้ลูกค้าซื้อไปแล้วใช้ได้จริง ไม่ใช่ผ้าสำหรับสะสม พยายามหาทางทำให้ผ้าคลุมไหล่ผืนใหญ่นุ่มและเบา สามารถม้วนแล้วเหลือเล็กๆ เท่ากำมือ ใส่ในกระเป๋าถือหรือนำไปพันหูกระเป๋าได้ไม่เทอะทะ สีสันแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของลูกค้า เช่น หน้าหนาวผ้าจะออกสีเข้ม สีดำ น้ำตาล เทา พอเข้าหน้าร้อน จะเป็นสีสดใส เขียว ชมพู ม่วง ส้ม พิเศษสุดก็เทศกาลฟุตบอลจะมีผ้าสีธงชาติให้เลือกใช้เลือกเชียร์ทีมโปรด

“คนอเมริกา ยุโรป สามารถใช้ได้ คนเมืองในกรุงเทพฯ วัยรุ่น คุณหญิงคุณนายก็ใช้ได้ แต่พอมาดูกระบวนการผลิต เรายังติดดินอยู่ เป็นวิถีพื้นบ้านแบบดั้งเดิม นั่นคือความตั้งใจของเรา”

 

พลิก “แล้ง” ให้อยู่รอด

ก่อนโควิดคนทอผ้ามีอยู่ 17 หมู่บ้าน รวมแล้วหลายร้อยคน พอเจอภาวะโรคระบาดคนทอลดเหลือประมาณ 110-120 คน  แรงงานหลักจะอายุระหว่าง 30-60 ปี ยังลุ้นกันอยู่ว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ จะมาสืบทอดหรือเปล่า เพราะดูเหมือนจะสนใจงานด้านอื่นกันไปแล้ว

“แต่ยังไงทำนาก็เป็นอาชีพหลักค่ะ ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมเฉพาะผู้หญิง ปกติผ้าคลุมไหล่ 10 ผืน ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ก็ทำเสร็จ ถ้าคนทอผ้าน้อยนะ เข้าฤดูทำนาแบบนี้ 2 เดือน ก็ไม่เสร็จค่ะ เราถึงต้องใช้คนทอผ้าเยอะเพื่อสลับกัน วันนี้บางคนลงนา บางคนทอผ้า งานถึงจะออกได้เป็นปกติ”

ด้วยการทำธุรกิจที่เป็นระบบทำให้ชาวบ้านมีรายได้สม่ำเสมอ ไม่ต้องก้มหน้าก้มตาทอผ้าสวยๆ ของใครของมัน แล้วนั่งรอคนมาซื้อแบบที่เคยทำมา

“เราก็อยากจะรับทำผ้าให้ทุกคนที่ติดต่อมา ถ้าคิดดีไซน์ไว้ลองมาคุยกันได้ เพราะปุ๋ยอยากให้ชาวบ้านได้มีงานทำ มีรายได้สม่ำเสมอ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นผ้าไหมที่ใช้การทำมือแบบที่เราทำ เรายืนยันว่าจะไม่ใช้เครื่องจักรค่ะ”

“แพรวพราว” ทำให้เราเห็นพลังของการออกแบบและการวิเคราะห์ผู้บริโภคว่ามีความสำคัญเพียงไร จากพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าแล้งที่สุดในประเทศไทย ก็สามารถนำงานฝีมือออกมาสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและทำให้   แม่ๆ ป้าๆ บ้านนาโพธิ์ยิ้มสดใสได้ทุกวัน

 

แพรวพราว (PRAEPRAO)

ที่ตั้ง: 60/10 ถนนรองเมืองซอย 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. 10330

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย

คลิก: PRAWPRAO

 

ปักหมุดจุดเช็คอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• เฝ้าดูนกกระเรียนพันธุ์ไทย ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์ มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติแล้วยังมีชีวิตรอดในธรรมชาติร่วม 70 ตัว และขยายพันธุ์เพิ่มอีก หลังจากที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติกว่า 50 ปี นับเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษาด้านการอนุรักษ์ที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีชุมชน

• ลูกชิ้นยืนกิน อันนี้ไม่ต้องคิดมาก กระแสดังหลังจากน้องลิซ่า Black Pink เอ่ยถึง “ลูกชิ้นยืนกิน” ร้านลูกชิ้นหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ก็โด่งดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน อารมณ์สตรีทฟู้ท หยิบลูกชิ้นจิ้มน้ำจิ้มกินพร้อมผัก เช่น แตงกวา กะหล่ำปลี สนทนาประสาเพื่อนระหว่างยืนกินเพลินๆ

• เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน สามารถไปชมวิวสันเขื่อนได้ สามารถลงเล่นน้ำได้ เห็นคนนิยมใช้ห่วงยางลงไปลอยเล่นเพื่อพักผ่อนคลายร้อน ริมอ่างเก็บน้ำมีร้านอาหาร มีบ้านพักและค่ายพักแรมด้วย

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ