Product

บาติกสไตล์มิกซ์แอนด์แมตช์
บนชิ้นงานของ ‘จันจาโปรดักส์’

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 12 Jul 2022
Views: 556

เราอาจคุ้นชินกับผ้าบาติกที่มีศิลปะเส้นสายบนผืนผ้าสวยงามในโทนสีที่ฉูดฉาด แต่เราจะไม่เห็นสิ่งนี้จากสินค้าจากจันจาโปรดักส์เพราะที่นี่เลือกนำเสน่ห์ของ “ผ้าบาติก” มารับบทเด่นให้สะดุดตาแต่กลมกลืนบนชิ้นผ้าไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย  โดยมี คุณจารุณี จันทรกลกิจ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก

ด้วยความตั้งใจตั้งแต่วันแรก หลังได้รู้จักผ้าบาติกจากการอบรมและมีแรงบันดาลใจอยากนำเสนอผ้าบาติกไม่เหมือนใคร จากการใช้วิธีเลือกมิกซ์แอนด์แมตช์มาเชื่อมโยงการดีไซน์สินค้าแต่ละชิ้นออกมาตลอดกว่า 10 ปี ขณะที่อนาคตจันจาโปรดักส์ได้ถูกวาดฝันเอาไว้ว่า จะสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้าให้มีคุณสมบัติเป็นกรีนโปรดักส์ให้ได้มากที่สุดในวันหนึ่ง

 

จุดสตาร์ตที่อยากให้ผ้าบาติกเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น

จากจังหวะชีวิตที่เธอตกงานในวันนั้นอาจดูเหมือนเป็นวิกฤต แต่กลับกลายเป็นโอกาสที่ทำให้สินค้าผ้าบาติกอีกหนึ่งแบรนด์ได้เกิดขึ้น เพราะหลังไปอบรมกับศูนย์อาชีพเขตจตุจักรในเรื่องการทำผ้าบาติก คุณจารุณีรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หลายรุ่นประมาณ 20 คน ในนาม ‘T-Shirt Batik’ ผลิตชิ้นงานแรกออกมาด้วยการนำลายผ้าบาติกไปติดบนเสื้อยืดและมีการตกแต่งเพิ่มเติมจากสีอะคริลิก แล้วไปขายที่สวนจตุจักร ส่วนชื่อ “จันจา” ที่ใช้มาจากชื่อของเธอกับจันทิมา พี่สาว

“เพราะตั้งใจไม่อยากให้นำเสนอผ้าบาติกแบบเดิมที่วาดลวดลายแล้วมีการขายไปทั้งผืน แต่ต้องการเพียงให้ผ้าบาติกไปโดดเด่นบนชิ้นเสื้อผ้าหรือชิ้นงานอื่นๆ ได้ ประกอบช่วงแรกลูกทีมแต่ละคนก็จะมีถนัดและชอบสร้างสรรค์งานออกมาต่างกัน เช่น ลวดลายอิสระ รูปสัตว์ต่างๆ โดยเราจะเป็นประยุกต์เอาสิ่งที่แต่ละคนวาดบนผ้าบาติกมาตกแต่งบนเสื้อยืดให้สวยงาม”

 

นำข้อจำกัดมาพัฒนาต่อ

แล้วผลตอบรับจากเสื้อยืดลายผ้าบาติกถือว่าดีมาก เพราะผ่านไปเพียง 1 ปี สินค้ากลุ่มก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็น OTOP ระดับ 4 ดาวในปี 2556 จากนั้นก็เริ่มต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยอาศัยการฟังเสียงจากลูกค้าเป็นหลัก เช่น ลูกค้าอยากได้เสื้อลายบาติกแบบนี้สามารถใส่ไปทำงานได้ด้วย เพราะเสื้อยืดสามารถใส่ได้เพียงในวันหยุดเท่านั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้นำผ้าฝ้ายที่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดอุบลราชธานี มาตัดเป็นเสื้อเชิ้ตโปโลทั้งสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย โดยยังคงคอนเซปต์นำผ้าบาติกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดีไซน์ในสินค้าแต่ละชิ้น รวมถึงการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะที่สามารถตอบโจทย์ใส่ไปทำงานได้

 

เพิ่มความหลากหลายบนทางเลือกที่เพิ่มขึ้น

จากลายบาติกบนเสื้อยืด ก็พัฒนาไปสู่เสื้อทีเชิ้ต เสื้อโปโล เสื้อแฟชั่นผู้หญิง ชุดเดรส ล้วนต่างได้รับการตอบรับที่ดี แต่อย่างไรก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดอยู่บางเรื่อง นั่นคือ การผลิตเพียงสินค้าที่สวมใส่อย่างเสื้อผ้านั้นเห็นชัดเจนว่าเวลาออกบูท เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการลองสัมผัสเนื้อผ้าและลองสวมใส่จริง เพราะกลัวซื้อไปแล้วใส่ไม่ได้

จันจาโปรดักส์จึงอยากเพิ่มทางเลือกในการผลิตชิ้นงานที่ลดข้อจำกัดตรงนี้ไปบ้าง เลยเกิดไอเดียอยากลองทำสินค้าที่ไม่ต้องคำนึงถึงขนาด ไซส์ หรือไม่ต้องมีการลองสวมใส่ จะทำออกมาเป็นอะไรได้บ้าง

ที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาก็ลงตัวที่การผลิตกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายข้าง เพราะเห็นจากกระเป๋าผ้าไหมที่แม้ราคาอาจสูงที่ระดับ 3,000-4,000 บาทต่อชิ้นแต่ก็ยังได้รับการตอบรับดี จึงเกิดแรงบันดาลใจว่า ถ้าลองเปลี่ยนวัสดุจากผ้าไหมที่นิยมกันมาเป็นผ้าบาติกดูจะออกมาเป็นอย่างไร รวมถึงน่าจะทำให้ลูกค้าเข้าถึงการใช้งานที่ง่ายและขยายรูปแบบสินค้าได้เพิ่ม และตอนที่ทางจันจาโปรดักส์เพิ่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋ามาใหม่ กลับเป็นจังหวะที่ได้เจอกับทาง คิง เพาเวอร์ พอดี

“ช่วงที่เจอกับทาง คิง เพาเวอร์ เป็นจังหวะที่เริ่มทำกระเป๋าพอดี จึงเริ่มส่งกระเป๋าถือและกระเป๋าสะพายข้าง ซึ่งลวดลายของกระเป๋าจะเน้นที่ไม่ใช่รูปทรงเหมือนผ้าบาติกทั่วไป เช่น รูปเรขาคณิต ดอกไม้ประดิษฐ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจังหวะเดียวกับที่โควิด-19 เกิดขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกภูมิใจว่าสิ่งที่เราเริ่มต้นทำใหม่สามารถเตะตาและโดนใจคนอื่น และยังมองว่าการที่ได้มาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ คิง เพาเวอร์ เหมือนได้ขึ้นห้างสรรพสินค้า หรือเป็นใบเบิกทางที่สินค้าของจันจาโปรดักส์สู่สายตาต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

ผ้าบาติกสไตล์จันจาโปรดักส์

แม้ภายหลังอาจไม่ได้ทำในนามกลุ่ม T-Shirt Batik เนื่องจากสมาชิกกลุ่มหลายคนติดภารกิจจึงไม่สามารถส่งชิ้นงานได้เหมือนเมื่อก่อน จึงเปลี่ยนชื่อมาใช้ในนาม จันจาโปรดักส์’ แทน แต่ลักษณะเฉพาะการทำบาติกสไตล์มิกซ์แอนด์แมตช์ยังคงเดิมทุกอย่าง

“เพราะเราตั้งต้นและมีความแน่วแน่อยากทำให้ผ้าบาติกได้รับความนิยมเหมือนผ้าไหมและสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศเหมือนผ้าไหมได้บ้าง เพียงต้องดีไซน์ออกแบบมิกซ์แอนด์แมตช์ให้ดี ก็สามารถเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์สำหรับสวมใส่หรือใช้งานอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้ทุกโอกาส ที่สำคัญคือ ราคาต้องจับต้องได้ง่ายกว่า จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของจันจาโปรดักส์มีเอกลักษณ์ที่ดูเรียบ เก๋ แต่มีสไตล์ ขณะที่ลวดลายหรือการให้สีสันบนผ้าบาติกต้องโดดเด่นแต่ไม่ได้ฉูดฉาด แถมบางครั้งยังต้องการให้มีความอ่อนหวาน…ดูดี”

 

ไม่หยุดเรียนรู้จนเจอนวัตกรรมทำผ้าบาติกรูปแบบใหม่

ตลอดเวลาคุณจารุณีเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วยการไปอบรมกับหน่วยงานสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่เสมอ จนไปเจอนวัตกรรมการใช้หัวบอนมาใช้เขียนลวดลายแทนเทียนในการทำผ้าบาติก ซึ่งเธอให้ความสนใจมากเพราะคิดว่าน่าจะช่วยลดการใช้พลังงานเวลาต้มเทียนซึ่งสิ้นเปลือง และยังถือเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมทางหนึ่งด้วย

นอกจากนั้นเธอยังเล่าถึงการได้เจอนวัตกรรมการใช้หัวบอนเขียนลายแทนเทียนว่า “ไปเจอและติดตามเรื่องนี้ที่งานเกษตรแฟร์มา 3 ปี แต่ไม่รู้ใครเป็นเจ้าของนวัตกรรม จนทราบว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นคนคิดและมีโอกาสได้เข้าไปอบรมพร้อมทดลองใช้น้ำที่สกัดจากบอนออกมาเขียนลาย ก็เกิดความสนใจลองมาใช้กับงานของจันจาโปรดักส์ดู”

 

หัวบอนวาดลายแทนเทียน นวัตกรรมสร้างสรรค์บนผ้าบาติก

ข้อดีของการใช้น้ำที่สกัดมาจากบอน คือช่วยลดพลังงาน เพราะทำให้ไม่ต้องต้มเทียนตลอดเวลา และเป็นการสกัดที่ไม่ได้สร้างมลพิษเพิ่มให้กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้ลดการใช้น้ำลงได้ เนื่องจากตามปกติเวลาใช้เทียนเขียนลายและลงสีแล้วต้องใช้น้ำเยอะมากในการล้างและเขย่าเทียนออก ซึ่งต่างจากบอนที่สามารถแช่และล้างด้วยน้ำเปล่าปกติได้เลย

การใช้หัวบอนทำบาติกอาจใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากเป็นงานลิขสิทธิ์และต้องซื้อน้ำสกัดหัวบอนมาใช้ ลวดลายการเขียนเส้นอาจไม่คมและพลิ้วไหวอย่างใช้เทียนวาด ทำให้เหมาะกับงานที่ไม่ต้องการความอ่อนช้อยหรือมีรายละเอียดมาก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการดีไซน์สินค้าของเราเองในแต่ละชิ้นที่ออกมาว่าจะนำผ้าบาติกไปมิกซ์แอนด์แมตช์ตรงส่วนไหนของเสื้อผ้า  นอกจากนั้นยังใช้ระยะเวลาทำผ้าบาติกนานกว่าใช้เทียน เพราะต้องรอผ้าให้แห้งนานกว่าหรือตากไว้ 1 คืน ถึงจะลงสีได้ ซึ่งต่างกับการใช้เทียนที่เมื่อร่างแบบเขียนเสร็จจะแห้งไวแล้วสามารถลงสีได้เลยภายใน 1 วัน

ดังนั้น ที่ผ่านมาจันจาโปรดักส์ยังไม่มีผลิตภัณฑ์จากหัวบอนจำนวนมาก จะเลือกใช้สำหรับงานที่มีความต้องการให้เห็นว่า การทำลวดลายบาติกนี้มีส่วนช่วยการรักษาการใช้พลังงานเพื่อลดมลพิษให้กับโลกได้

รักษ์โลกคือเทรนด์อนาคต

จากหัวบอนที่ใช้พลังงานในการผลิตผ้าบาติก ซึ่งแม้จะมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง ทว่า คุณจารุณีมองว่า การทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผ้าก็ยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ทางอ้อมเช่นกัน โดยอิงจากการชอบดูสารคดีและเชื่อว่าภาวะโลกร้อนน่าจะเป็นมหันตภัยกับโลกเรามากขึ้น จึงลองศึกษาและหาวิธีการมาปรับใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานผ้าบาติกที่สร้างรายได้ให้กับตัวเอง จะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไรบ้าง

และความตั้งใจก็เป็นผลเพราะเมื่อปีที่ผ่านมา  ‘จันจาโปรดักส์’ เพิ่งได้รับรางวัลกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กระบวนการผลิตผ้าบาติกทุกขั้นตอนจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือทำให้เป็น zero waste ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่พยายามใช้ผ้าบาติกได้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการแปรรูป โดยให้เหลือเศษผ้าให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น เช่น การนำเศษผ้าชิ้นใหญ่ไปทำลวดลายกระเป๋าแบบทูโทนที่ผสมกับผ้าฝ้าย ขณะที่ชิ้นเล็ก ๆ ก็นำไปตกแต่งมิกซ์แอนด์แมตช์บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือมาเย็บต่อกันเป็นกระเป๋าไว้ใช้ รวมถึงทำเป็นที่ปักเข็มหมุดหรือเข็มเย็บผ้า

ขณะเดียวกันในกระบวนการผลิตบาติกก็พยายามใช้น้ำให้น้อยที่สุด เช่น ปกติเมื่อใช้เทียนเขียนลายเสร็จต้องมีการลงสีและมีการล้างน้ำแปรงตลอดเวลา ก็พยายามไม่เปลี่ยนน้ำบ่อยจนกว่าสีที่ล้างเกิดเข้มและรับไม่ไหวจริง ๆ ค่อยเทเปลี่ยนน้ำ หรือในบางครั้งน้ำที่แช่และน้ำมีสีเทาเข้มก็นำไปแต้มเพิ่มสีสันบนผ้าก่อนที่จะนำมาเปลี่ยนน้ำใช้ใหม่

“เป้าหมายของจันจาโปรดักส์ต่อมา คือต้องการหานวัตกรรมมาช่วยหรือผลิตสินค้าที่เป็นกรีน โปรดักส์ให้เกิดขึ้นให้ได้ แม้จะไม่ได้ 100% ทั้งหมด แต่มองว่าแค่มีส่วนในการผลิตสินค้าออกมาเป็นกรีน โปรดักส์ ได้มากถึง 30-40% ก็ถือว่าได้มีส่วนร่วมในการรักษ์โลกแล้ว และก็เชื่อว่าถ้าทำได้จริงสินค้าที่ออกมาจะบ่งบอกความเป็นพรีเมียมในตัวเอง”คุณจารุณีได้ฉายภาพที่อยากทำผลิตภัณฑ์ให้เป็นกรีนโปรดักส์เป็นจริงในสักวัน

 

ไม่อยู่นิ่งและไม่หยุดนิ่ง

หลังเกิดโควิด-19 เข้าใจได้ว่าทุกภาคส่วนต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จันจาโปรดักส์เองก็พยายามหาทางแก้เกมด้วยการพยายามเพิ่มการกระจายสินค้ามากขึ้น เช่น ระหว่างนี้อยู่ในการเตรียมส่งกระเป๋าไปยังช่องทางออนไลน์ต่างประเทศมากขึ้น แต่รูปแบบของสินค้าและลวดลายจะต่างไปเป็นแบบกระเป๋าลักษณะทูโทนที่ใช้ผ้าบาติกไปมิกซ์แอนด์แมตช์กับผ้าฝ้ายหรือเครื่องประดับอื่น ๆ โดยจะเริ่มประเดิมประเทศญี่ปุ่นก่อน รวมถึงอาจมีการเพิ่มงานเพนต์หรือการเขียนลวดลายบนผ้ามากขึ้น

การเดินทางอดีตสู่อนาคตให้บาติกเป็นที่นิยม

เพราะมีความหวังมาตลอดว่า อยากเห็นผ้าบาติกได้รับความนิยมสวมใส่ในชีวิตประจำวันและออกงานได้มากขึ้น เหมือนเช่นดั่งผ้าไหม โดยที่ผู้ใส่ไม่ต้องเสียเงินแพงแถมการดูแลรักษาก็ง่ายเหมือนผ้าทั่วไป ไม่ต้องรอการนำไปซักด้วยมือเท่านั้นหรืออบแห้ง ซึ่งมีขั้นตอนการดูแลรักษาที่ยุ่งยาก หรืออยากเห็นผ้าบาติกมีคาแรกเตอร์เฉพาะคล้ายกับเสื้อแบบชาวเขา

“10 ปีที่อยู่มาได้ โดยเชื่อว่าสินค้าจันจาโปรดักส์มีคาแรกเตอร์ที่ไม่เหมือนใคร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอมเปิดใจเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามา ไปอบรมที่ต่าง ๆ ดูอันไหนที่ตรงกับสไตล์เราก็นำมาประยุกต์และต่อยอดให้กับสินค้าตลอด เพราะคิดว่าต้องมีการพัฒนาสินค้าไปเรื่อย ๆ ไม่เคยคิดจะเลิกทำเลยมีแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้มันดีกว่านี้ ซึ่งจากนี้ไปก็จะพยายามสร้างสรรค์ให้ออกมามีความเรียบ ง่าย เก๋ มีสไตล์หรือสวยหรูในตัวของมันเอง”

 

ลายเดียวผืนเดียวบนโลก

อยากให้ทุกคนลองเปิดใจกับงานผ้าบาติกมากขึ้นเพราะเป็นงานแฮนด์เมดที่มีการเขียนลายแต่ละชิ้นที่มีความหมายและคุณค่าในตัวเอง เพราะแทบจะเป็นลายเดียวผืนเดียวบนโลก แถมใช้เวลาในการผลิตงานต่อชิ้น 5-7 วัน และแม้ประเทศอื่นก็อาจมีงานบาติกให้เห็นเช่นกัน แต่เชื่อว่าสไตล์ของจันจาโปรดักส์จะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น การทำรูปแบบลายไทยประยุกต์เอาผ้าทอมือของศูนย์ศิลปาชีพมาสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร ถึงตอนนี้ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถสร้างความมั่นคงเป็นอาชีพได้ ซึ่งอยากให้หลายคนได้เห็นคุณค่าของงานบาติกเหมือนที่เราได้เห็น

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นผ้าบาติกมีการมิกซ์แอนด์แมตช์บนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้อย่างสวยงามแล้ว ยังเป็นสินค้ากรีนโปรดักส์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

จันจาโปรดักส์ (CHANCHAR PRODUCT)

ที่ตั้ง : 7/170 ถ .วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

 

Facebook: CHANCHAR PRODUCT

 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: CHANCHAR PRODUCT

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• ตลาดนัดจตุจักร แหล่งรวมสินค้าทุกอย่างของคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ของกิน พืชพันธุ์ ดอกไม้ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ

• สวนรถไฟ แหล่งธรรมชาติให้ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่นิยมในการไปออกกำลังกายของคนกรุงเทพฯ

• สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพของต้นไม้ บริเวณนี้ยังเป็นส่วนที่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์เด็กอีกด้วย

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง