Passion

Rapid Cluster คลัสเตอร์สายดนตรี
กับบทสำเร็จจากเพลงที่บรรเลงจากใจ

วรากร เพชรเยียน 4 Dec 2021
Views: 470

ไม่นานหลังจากช่วงเวลาซาวนด์เช็กจบไป การแสดงบนเวทีของจริงก็เริ่มขึ้น รวดเร็วจนแทบไม่มีเวลาให้หายใจ ทุกตัวโน้ตที่ถูกเขียนขึ้นอย่างประณีตเริงร่าผ่านฝีมือที่ลับคมมาอย่างดี บรรเลงผ่านความรักในเสียงดนตรีสมาชิกในวงทั้งแปด เปลี่ยนให้ห้องจัดที่เงียบสงัดเต็มไปด้วยสีสันและเสียงดนตรีจังหวะมันๆ

ตารางในวันสุดท้ายของการแข่งขันของการประกวด THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 ที่จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย มีชื่อของ Rapid Cluster ปรากฏอยู่ด้วย

ในช่วงบ่าย วงดนตรีที่มีชื่อชวนสงสัยของกลุ่มคนรักดนตรีเลือดบริสุทธิ์ที่มีแพสชันแรงกล้า มี ท็อปณัฐศิลป์ ครุฑชูชีพ (นักร้องนำ) มัตสึกัญญณัช กิจเจริญ (คีย์บอร์ด) อิฐปัญญทัศน์ อุณหโชค (กีตาร์) และ เลม่อนณัฏฐ์ ศรีฉ่ำ (ทรอมโบน) และสมาชิกอีก 4 คนรวมอยู่ในวง ปลุกปล้ำปั้นผลงานจนออกมาเป็นวงดนตรีที่บรรเลงเพลงบนพื้นฐานของความรักในเสียงเพลงที่แต่ละคนมี

 

คลัสเตอร์ของคนรักดนตรี

ชื่อวงชวนสงสัยที่มาเป็นเช่นไรนี้ได้มาเพราะสถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้และเพราะเป็นการรวมตัวกันอย่างเร่งด่วนจึงเป็นที่มาของชื่อวง Rapid Cluster ที่เข้ายุคเข้าสมัยคลัสเตอร์วงดนตรีนี้เกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการชักชวนของมัตสึมือคีย์บอร์ด “เริ่มจากการที่เราไปเห็นอีเวนต์นี้จากกลุ่มของมหาวิทยาลัยแล้วเราอยากลองก็เลยชวนเพื่อนๆมาลองรวมตัวกันด้วยความที่ต่างคนต่างแนวไม่เคยร่วมงานกันมาก็ต้องมาจูนกันอาจมีถกเถียงกันบ้างแต่ก็ผ่านไปได้” ซึ่งอุปสรรคของคลัสเตอร์นี้ก็มีไม่มากนักมีเพียงแค่ต้องเปลี่ยนตัวนักร้องในวินาทีสุดท้ายเท่านั้นเองแต่หลังจากนั้นก็ได้ท็อปนักร้องผู้มากความสามารถมาช่วยเป็นตัวกลางประสานวง

 เราไปเห็นอีเวนต์นี้จากกลุ่มของมหาวิทยาลัย

เลยชวนเพื่อนๆ มาลองรวมตัวกัน

ต่างคนต่างแนวก็ต้องมาจูนกัน

อาจมีถกเถียงกันบ้างแต่ก็ผ่านไปได้

มัตสึ กัญญณัช กิจเจริญ วง Rapid Cluster (คีย์บอร์ด)

 

ด้วยความสามารถของคนในวงที่มีแพสชันด้านดนตรี แต่ละคนจึงมีความชอบในสไตล์เพลงที่แตกต่างกัน คลัสเตอร์นี้จึงไม่มีแนวเพลงของวงที่ชัดเจน 

“เราเล่นแนวกว้างๆ ไม่ได้ลงลึกว่าเราต้องเล่นเพลงแนวแจ๊ส คลาสสิก หรือร็อก เราใช้พื้นฐานของแต่ละคนที่เล่นดนตรีมาใช้” ท็อปซึ่งเข้ามาเป็นนักร้องนำจึงควบตำแหน่งตัวกลางของวงไปด้วย เล่าให้เราฟังถึงแนวทางของวง “ทุกคนเป็นเหมือนเป็ดที่เล่นได้หลายๆ แนวแต่อาจจะไม่ได้ดีสุดทุกแนว เราดูว่าเพลงนี้เหมาะกับแนวอะไรมากกว่า” เลม่อนเล่าเสริม

แม้ว่าทิศทางเพลงที่แน่ชัดของวงดนตรีหนึ่งๆ จะสามารถใช้เป็นเอกลักษณ์ของวงได้ แต่ในความไม่ชัดเจนเสียทีเดียวของวงนี้นั้นกลับทำให้ทั้งคลัสเตอร์นี้สามารถขยาย เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นดนตรีไปได้หลายแนวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยมีพื้นฐานการเล่นและความชอบของทุกคนรวมอยู่ในนั้น เพลงที่ใช้ผ่านการทดสอบ ทดลองเล่นผ่านรูปแบบเพลงที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเพลงนั้นๆ “เราลองไปเรื่อยๆ เล่นอันไหนแล้วดี ก็อันนั้น” อิฐทิ้งท้าย

Free Wings ปีกแห่งฝัน

จากเพลงบังคับเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันท็อปจึงนำมาดัดแปลงเพิ่มท่อนแร็ปภาษาเหนือเพื่อเป็นเกียรติกับคุณจรัญมโนเพ็ชรศิลปินเจ้าของเพลงที่มีท่อนร้องบอกให้เราตั้งหลัก “อย่าลืมความฝัน” เหมือนดั่งคำที่คุณจรัญว่าไว้ว่ารางวัลแด่คนช่างฝันนั้นยังรออยู่ 

ไม่เพียงเท่านั้นเพลง Free Wings ที่แต่งขึ้นใหม่ก็ได้ไอเดียต่อยอดมาเช่นกัน 

“ตอนที่คิดคอนเซปต์กัน มือแซกโซโฟนบอกว่าอยากให้เพลงแต่ง สอดคล้องกับเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน ให้เป็นเหมือนบทสำเร็จจากความลำบาก เราปรับเนื้อเพลงไปตามดนตรีที่แต่งขึ้นมาพร้อมๆ กัน โดยการเล่าเป็นนิยาย เป็นนางฟ้าที่ตกลงมาแล้วหาทางกลับไปข้างบน แล้วบอกว่า เอ้า เธอลืมปีกของเธอแล้วเหรอ ลองบินขึ้นไปสิ แล้วเธอจะรู้ว่าเธอเป็นใคร” ท็อปเล่าให้ฟังถึงเนื้อเพลงที่แต่งขึ้น 

 เราเล่นแนวกว้างๆ

ไม่ได้ลงลึกว่าเราต้องเล่นเพลงแนวแจ๊ส

คลาสสิก หรือร็อก

เราใช้พื้นฐานของแต่ละคนที่เล่นดนตรีมาใช้ 

ท็อป ณัฐศิลป์ วง Rapid Cluster (ร้องนำ)

 

นอกจากเนื้อเพลงที่ถูกเขียนขึ้นอย่างประณีตแล้ว ท่วงทำนองดนตรีก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งแต่ละคนก็มีหน้าที่ดูแลการทำดนตรีในพาร์ตของตัวเอง 

“บางทีพี่ท็อปเขาต้องการให้คีย์บอร์ดใส่อย่างนี้ๆ ต้องการซาวนด์นี้ แต่ว่าถ้าเป็นแนวเพลงมันก็ต้องดูว่าเร็กเกต้องเป็นเสียงนี้ ร็อกเป็นยังไง ต้องไปเรียบเรียงแล้วค่อยมาถามวงว่าโอเคไหม” มัตสึเล่าให้ฟังถึงการทำเพลงในส่วนคีย์บอร์ดที่เธอมีท่อนโซโล่เชื่อมโยงจากเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันมาสู่เพลง Free Wings ซึ่งถือว่าเป็นตัวเปิดที่สำคัญ

ไม่เพียงโซโลคีย์บอร์ดด้วยทำนองนุ่มหวาน ท่อนโซโล่กีตาร์ของอิฐชวนโยกหัวเมามัน แต่ก็ยังมีพาร์ตเครื่องเป่าที่กว่าจะได้ออกมาเป็นทำนองเพราะๆ ก็ต้องผ่านการทำงานร่วมกันอย่างหนักหน่วง

“เครื่องเป่าก็จะแยกเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เราจะไม่ได้ให้คนเดียวเรียบเรียง คนแรกเรียบเรียงเสร็จก็โยนให้คนที่สองเอามาดัดแปลงต่อ แล้วโยนมาให้เราที่เป็นคนที่สามอีกรอบหนึ่ง แล้วก็ดัดแปลงต่อ แล้วทุกคนมาดูว่าโอเคหรือยัง ยังไม่โอเคก็ หมุนๆ บิดๆ มันจะได้สิ่งที่เกือบจะดีที่สุด” เลม่อนเล่าให้ฟังถึงการทำงานของกรุ๊ปเครื่องเป่าที่ต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนมากกว่าคนอื่นในการเขียนโน้ตเพลง 

อาจเรียกได้ว่าการทำงานในแต่ละพาร์ตของแต่ละคนเป็นการปล่อยให้ทุกคนได้โชว์ศักยภาพและความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ เป็น Free Wings ที่ไม่ใช่แค่บินขึ้นไป แต่ปล่อยฟรี ให้ทุกคนได้ลอง ได้เล่น เล่าเรื่องราวในแบบของตัวเองผ่านเสียงเพลงบนเส้นทางเดียวกัน

ทุกคนเป็นเหมือนเป็ดที่เล่นได้หลายๆ

แนวแต่อาจจะไม่ได้ดีสุดทุกแนว

เราดูว่าเพลงนี้เหมาะกับแนวอะไรมากกว่า 

เลม่อน ณัฏฐ์ วง Rapid Cluster (ทรอมโบน)

วงดนตรีจากความรักในท่วงทำนองอย่างแท้จริง

การประกวดในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนมาทำสิ่งเดียวกัน หากแต่เป็นการรวมตัวของคนที่มีแพสชันแรงๆ กับเสียงดนตรีที่แต่ละคนเริ่มเล่น ฟัง และลงมือทำมาตั้งแต่เด็ก อย่างท็อป นักร้องนำเองก็เริ่มต้นมาจากกากฟังเพลงมาตั้งแต่ยังเด็ก แล้วเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปตามวันเวลา 

“มันเหมือนการเดินทาง ตอนเด็กเราชอบแนวนี้ โตขึ้นมาเราก็มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น พอได้รับมาเยอะๆ ก็ไม่แน่ใจว่าแนวไหนที่เราชอบที่สุด เลยทำให้เราสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้ ซึ่งเราก็พยายามค้นหาตัวเองไปด้วย” 

ไม่เพียงสามารถร้องเพลงได้ทุกแนว เขายังเล่นกีตาร์และเปียโนได้ ถึงจะไม่มีคำจำกัดความสไตล์ของตัวเอง แต่ก็ไม่เชิงว่าเป็นข้อเสีย เป็นข้อดีเสียอีกที่เขาสามารถไหลไปตามดนตรีในแต่ละแนวที่ต้องการร้องได้ และในความชอบเสียงประสาน ความชอบนี้ก็ถูกใส่ไว้ในการประกวดด้วย

โดยมีอิฐ มือกีตาร์ที่เห็นชอบด้วย เพราะเขาเองก็มีความชื่นชอบในดนตรีสไตล์นั้นเช่นกัน ซึ่งเส้นทางดนตรีของอิฐนั้นก็เริ่มมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน สมัยอนุบาลสามที่โดนส่งไปเรียนเปียโน 

“เรียนไปสักพักหนึ่งก็หยุดเรียนไป ตอนนั้นคิดว่าตัวเองไม่ชอบดนตรีหรอก ทิ้งช่วงมาจนถึงประมาณ ป.6 ที่บ้านมีกีตาร์โปร่งสมัยคุณพ่อยังวัยรุ่น วันดีคืนดีเราก็หยิบขึ้นมาเล่น แล้วคุณพ่อมาเห็นก็เลยสอนพื้นฐานให้เราพอเล่นได้” จากนั้นทางบ้านก็สนับสนุนส่งให้เรียนดนตรี จนกระทั่งมาเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขาก็ได้พื้นฐานการเลือกฟังเพลงมาจากคุณพ่อ จึงทำให้สามารถเล่นและฟังเพลงได้หลากหลายรูปแบบ กระทั่งในวันนี้ต่อยอดความรักในเสียงดนตรีมาเปิดห้องซ้อมดนตรีเป็นของตัวเองย่านพระราม 9

นอกจากดนตรีประสานในเพลงแล้ว เสียงคีย์บอร์ดที่เล่นเปิดเพลง Free Wings ก็น่าตื่นตาไม่แพ้กัน สำหรับมัตสึผู้เป็นมือคีย์บอร์ดของวง จุดเริ่มต้นทางด้านดนตรีของเธอชัดเจนมาตั้งแต่ยังเด็ก 

“ตอนเราอายุประมาณ 11-12 ที่บ้านพาไปเรียนเปียโน ทีแรกก็ไม่ได้อยากจะเรียนตามประสาเด็ก แต่พอเรียนไปแล้วก็รู้สึกชอบ” จนกระทั่งสามารถสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ โดยมีครอบครัวคอยสนับสนุนความรักในดนตรี “คุณพ่อคุณแม่ก็เคยเล่นดนตรีมาก่อน เขาก็อยากให้มาทางนี้ เพราะมองว่าอายุเท่าไรก็ทำได้ เรื่องรายได้ ถ้าความชอบมา เราก็ทำได้ดีเอง” 

ปัจจุบันเธอจึงสานต่อความรักในเสียงดนตรี แป้นคีย์บอร์ดที่จรดปลายนิ้วเสกให้เธอมาเป็นครูสอนเปียโนส่วนตัว เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ตอบรับกับคำพูดของครอบครัวที่ว่า เมื่อมีความชอบ เราก็ทำได้

เราลองไปเรื่อยๆ

เล่นอันไหนแล้วดี ก็อันนั้น

อิฐ ปัญญทัศน์ วง Rapid Cluster (กีตาร์)

 

นอกจากเสียงเครื่องดนตรีอย่างกลองกีตาร์คีย์บอร์ดแล้วกลุ่มของเครื่องเป่าเองก็มีบทบาทสำคัญเช่นกันซึ่งเลม่อนมือทรอมโบนเองก็มีความรักในดนตรีมาตั้งแต่สมัยยังเด็กแม้ว่าจะโดนคุณแม่ห้ามเล่นก็ตาม 

“เราอยากเล่นดนตรีแต่ว่าแม่ไม่ให้เล่นเลย เลยแอบไปฝึกเล่นดนตรีตอนกลางวัน” จนกระทั่งวันหนึ่งคุณแม่จับได้ถึงขั้นโดนว่า แต่เธอก็ใช้เหตุผลเข้าสู้ “เราถามแม่กลับไปว่า เราเล่นดนตรีมาสักพักแล้ว เกรดตกไหม ถ้าไม่ตกมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ถึงแม่รู้แล้วเกรดก็ยังเป็นเหมือนเดิม หลังจากนั้นเขาก็อนุญาตให้เล่น” จากนั้นทรอมโบนก็คือสิ่งที่เธอเลือกเล่นเพราะไม่ซ้ำใคร ฝึกฝนเอาเอง ใช้ความเคยชิน ใช้เซนส์ เธอเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่นั้นเรื่อยมา แม้จะใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ แต่เพราะกลัวเลือด เธอจึงหันมาสนใจสาขาวิชาดนตรีบำบัด ที่เป็นจุดกึ่งกลางของสิ่งที่ชอบและสิ่งที่อยากเป็น

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่สุดท้ายได้มารวมตัวกันด้วยความเชื่อและความรักในสิ่งเดียวกัน พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมอีก 4 คน และจากการแสดงสุดฝีมือบนเวทีนี้ ก็ทำให้ Rapid Cluster ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่บอกว่าความพยายาม ความรักในสิ่งๆ หนึ่งเมื่อถูกอัดแน่นไว้มากพอ ก็สามารถเกิดผลขึ้นได้จริงๆ ซึ่งคลัสเตอร์ดนตรีวัยรุ่นยุคใหม่นี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีบทสำเร็จจากความพยายามและความลำบากอยู่จริง อย่างที่เพลง Free Wings เขียนไว้

 

เพลงและศิลปินที่ 4 สมาชิก  Rapid Cluster อยากแนะนำ

• ท็อปณัฐศิลป์ ครุฑชูชีพ

ขอแนะนำ Jacob Collier

• มัตสึกัญญณัช กิจเจริญ 

ชื่นชอบ Michael Bublé, Mariah Carey หรือ Whitney Houston

• อิฐปัญญทัศน์ อุณหโชค

ชวนติดตาม วงนั่งเล่น

• เลม่อนณัฏฐ์ ศรีฉ่ำ 

ชื่นชอบ เพลง In The Hall Of The Mountain King และ เพลงของ The Chainsmokers

 

ตามติดผลงานเพลงพิเศษ “Free Wings” ที่ไพเราะ ความหมายดีและสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งวง Rapid Cluster แต่งเอง จากขอบเวที THE POWER BAND โดยเฉพาะ ได้ที่ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย 

 

 

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ