Product

กระเป๋า “E-Nang”
ต้องมนตร์ไทลื้อ…เสน่ห์ผ้าทอชนหนัง

ม.ล.จินดาภรณ์ ชยางกูร 21 Jan 2022
Views: 2,302

“อีนาง” เหมือนเป็นคำที่ผู้ใหญ่ชาวไทลื้อใช้เรียกเด็กสาวที่อายุน้อยกว่าและน่าเอ็นดู ที่มาของชื่อแบรนด์ที่ทำให้อมยิ้มและอบอุ่นข้างในใจ ส่งให้ “ผ้าทอน่าน” ส่วนประกอบสำคัญบนกระเป๋าถือดูโดดเด่นเป็นเสน่ห์แบบไทยที่ไม่อาจละสายตาไปหากยังไม่พินิจดูให้ละเอียดสักครั้งหลังได้ยินเรื่องราวอันยาวนานของผ้าชนิดนี้

คุณกุ้ง – ศรีสุดา โวทาน ลูกหลานชาวไทยลื้อ ที่แม้เธอเติบโตมากับการทอผ้าแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้ถูกสอนให้ลงมือทอด้วยตัวเองสักครั้ง เธอเติบโตมาเคียงข้างกับกี่ทอผ้า ทว่าไม่ได้ทักษะทอผ้า อย่างไรก็ดีเธอยังชอบงานผ้ามาก เวลาผ่านไปเธอทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งใจเสมอว่าอยากกลับมาสร้างอะไรบางอย่างที่บ้านเกิด พร้อมกับต่อยอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ผ้าทอที่หลงใหลเลยมาได้เป็นไอเดียทำกระเป๋า อีกสิ่งที่เธอชอบไม่แพ้กัน

ผ้าทอไทลื้อและกระเป๋าหนังแบรนด์ “อีนาง” เลยได้มีโอกาสวางขายมาหลายคอลเล็กชัน…หลายสไตล์ มากว่า 3 ปีแล้ว

 

เริ่มต้นจากบ้าน

ผ้าทอไทลื้อจากจังหวัดน่าน ชิ้นแรกๆ ที่คุณกุ้งนำมาใช้เธอบอกว่าเป็น ผ้าหลบ “ลายขาวดำแดง ชิ้นนี้บอกเอกลักษณ์ของไทลื้อในอำเภอปัว” ชาวไทยลื้อเป็นชาติพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่อาศัยแค่ในน่าน และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทย แบ่งเป็นหลายชุมชน ทำให้ไทลื้อแต่ละชุมชนเขาก็จะมีเอกลักษณ์ในงานผ้าแตกต่างกันไป ที่เธอเลือกใช้ผ้าหลบในงานชิ้นแรกๆ ก็ด้วยบรรพบุรุษของเธออยู่ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน นี้เอง

ลวดลายผ้าของแต่ละที่ก็จะมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อ ศาสนาอยู่บ้างขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ลายผ้าแล้วล่ะว่าต้องการจะสื่อถึงอะไรเป็นหลัก

การใช้ผ้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระเป๋าสมัยใหม่ คุณกุ้งก็ยังคงคาแรคเตอร์ความเป็นผ้าดั้งเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนอะไรนอกจากจะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด “ผ้าหนึ่งผืนเราไม่ได้ใช้ทุกส่วนไปกับกระเป๋าหนึ่งใบ ใช้วิธีดีไซน์กระเป๋าให้เข้ากับตัวผ้า เพื่อให้ใช้ประโยชน์ผ้าได้มากที่สุด เหลือทิ้งน้อยที่สุด”

เธอเล่าต่ออีกว่าแต่ละคอลเลกชันของกระเป๋า ทางแบรนด์จะใช้เรื่องราว จิตวิญญาณความเป็นผ้ามาสื่อสารผ่านตัวกระเป๋า อย่างคอลเลกชันก๋วยสลากที่วางขายใน คิง เพาเวอร์ นั่นก็ได้แรงบันดาลใจมาจากประเพณีดั้งเดิม

“ก๋วยสลาก” แรงบันดาลใจที่นำอดีตมาสู่ปัจจุบัน

หากพูดถึงก๋วยสลาก อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนรุ่นใหม่จะเข้าใจได้ในทันทีว่ากำลังพูดถึงอะไร แต่นี่คือประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแสนนาน ในภาคเหนือจะเรียกชื่อต่างกันไปตามในแต่ละท้องถิ่น ที่น่านเรียกกันว่า ตานก๋วยสลาก เหมือนเป็นประเพณีบุญใหญ่ ทำบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับไปและสงเคราะห์แก่คนยากไร้อีกด้วย

ผู้คนจะเตรียมของใส่ในชะลอม จะมีคนจากหลายหมู่บ้านมารวมกัน หนึ่งวันก่อนวันตานก๋วยสลากจะมีการจัดเตรียมของมาใส่ใน ก๋วย เป็นเหมือนชะลอม ซึ่งมีหลายขนาดตามกำลังของแต่ละคน อาจเรียกว่าเป็น ก๋วยน้อย ก๋วยใหญ่ ที่จะเขียนเส้นสลากระบุว่าเป็นของใคร

ในวันตานก๋วยสลากจะมีการนิมนต์พระจากหลายวัดมาช่วยรับเส้นสลาก “ในก๋วยสลากจะใส่พวกของสด ของแห้ง เหมือนเครื่องสังฆทาน แล้วเขียนสลากคล้ายคูปองมีเลขกำกับเอาไว้มาวางรวมกัน หลังจากพระสงฆ์ทำพิธีกรรม ก็จะมีการแบ่งสลากเฉลี่ยกันให้กับพระสงฆ์ หลังจากนั้นก็จะมีการถวายก๋วยตามเส้นสลาก ให้ศีลให้พร อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับก็จบพิธี” เธอขยายความ

 

กระเป๋าคอลเลกชันก๋วยสลากที่คล้ายกับชะลอมใบในความทรงจำ

จากที่เคยใช้ชะลอมใส่ของ พฤติกรรมคนก็เปลี่ยนไปใช้ชะลอมน้อยลง เปลี่ยนเป็นถุงผ้า ถุงกระดาษ หรือตะกร้าพลาสติกตามที่หาได้ บางคนก็ใส่เงินทำบุญในซอง “เราเลยทำกระเป๋าที่คล้ายกับชะลอมหรือภาชนะที่ใช้บรรจุของได้ เรียกเป็นก๋วยสลากอีนางใหญ่ ก๋วยสลากอีนางเล็ก ก๋วยสลากศรีดาใหญ่  ก๋วยสลากศรีดามินิ ก๋วยสลากซองเป็นคลัตช์” จะเห็นชัดเลยว่าแรงบันดาลใจของคอลเลกชันก๋วยสลากนั้นได้ผันตัวเองมาเป็นกระเป๋าหนังที่ดูทันสมัยได้อย่างไม่เคอะเขิน และก๋วยสลากของอีนาง เป็นผ้าทอไทลื้อสีคราม สีขาว ลายพญานาค

และอีกชิ้นที่น่าสนใจเช่นกัน คือหน้ากากผ้า “ใช้ผ้าที่เหลือจากการทำกระเป๋า แต่การใช้ผ้าทอความหนาจะหนากว่าหน้ากากผ้าในตลาดทั่วไปเล็กน้อยและเราต้องใช้ผ้ามัสลินทำซับด้านในเพื่อไม่ให้ละอองฝ้ายสัมผัสกับผิวหน้าโดยตรง” คุณกุ้งเล่าว่าไม่ว่าจะใน คิง เพาเวอร์ หรือที่หน้าร้าน ลูกค้าคนไทยก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนสินค้าแฮนด์เมดของแบรนด์อีนาง “ลูกค้าคนไทยในต่างประเทศก็ซื้อกระเป๋าไปใช้ด้วยเหมือนกัน”

เมื่อได้ทำด้วยใจ สิ่งที่ชอบและสนใจกลายเป็นผลงานที่สร้างงานให้ชุมชน

“กุ้งเป็นคนชอบใช้กระเป๋าหนัง แต่ปัญหาของกระเป๋าหนัง คือน้ำหนัก เลยมาคิดต่อว่าอีกความชอบหนึ่ง คือผ้าทอพื้นเมือง เลยอยากเอามาผสมกันเพื่อลองใช้เอง” แล้วเธอก็พบว่าความชอบนี้ต่อยอดขายได้ ก็เลยเรียนทำเครื่องหนังจริงจัง สร้างกลุ่มผ้าทอ ชวนชาวบ้านมาทำงาน ตัวเธอเป็นคนออกแบบกระเป๋า ทำแพท เทิร์น สร้างเรื่องราว “บางคอลเลกชันก็พิเศษจริงๆ อยากทดลองทำอะไรที่ต่างออกไป ใช้ผ้าอื่น ลองงานปักดู”

อย่าง ‘พันดวง’ เป็นคอลเลกชันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานลอยกระทง ที่ถูกทำขึ้นตอบสนองแรงใจของเธอล้วนๆ “เอาผ้ามาจากทางเชียงราย งานปักของนักโทษชายแดนสามค่ะ” อาจไม่ได้ทำขายแต่บางครั้งคุณกุ้งก็จะทำการทดลองกับผ้าต่างชนิดไปเรื่อยๆ เพื่อศึกษาเอาประสบการณ์และความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ชอบอยู่เรื่อยๆ

อีกสิ่งที่ขับเคลื่อนแรงใจของแบรนด์ได้อย่างมาก คือผู้คนที่เธอเรียกว่าทีมงาน “แม่ๆ ป้าๆ ที่ทอผ้าให้เราเขาน่ารัก” ทาง “อีนาง” ไม่ได้ลงมือทอผ้าเอง แต่เป็นการซื้อผ้ามาจากกลุ่มทอผ้าอีกต่อหนึ่ง กระเป๋าขายได้ ผ้าก็ขายได้ “เป็นกำลังใจให้กับทั้งเราและคนทอผ้าเลยที่ได้ขายสิ่งที่ลงมือทำกันมาโดยที่เราก็ไม่ได้ไปกำกับว่าเขาต้องทอแบบนั้นแบบนี้ เป็นการทำไปด้วยกันมากกว่า”

 

มั่นใจในงานที่สร้างจากสองมือ

กระเป๋าทุกใบจากแบรนด์ “อีนาง” เย็บด้วยมือทั้งหมด เรียกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ทำให้กว่าจะได้กระเป๋าหนึ่งใบจึงใช้เวลา ทั้งทอผ้าทั้งเย็บหนังและผ้า เสร็จมาเป็นกระเป๋าที่วางขายได้ แต่ก็มีเหมือนกันบางใบที่ใช้เย็บจักร ซึ่งทางแบรนด์เลือกที่จะบอกลูกค้าเสมอใบไหนเย็บแบบไหน แต่ “อีนาง” ยังคงเชื่อเสมอว่า ผ้าทอและหนังแท้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์สำคัญ

ความแตกต่างของการเย็บมือและเย็บจักรนั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ชิ้นงาน “งานเย็บมือแต่ละชิ้นอาจไม่ได้เนี้ยบกริบจนหาที่ติไม่ได้ แต่งานเราละเอียด ไม่หยาบ แค่ไม่เนี้ยบเหมือนกับใช้เครื่องจักร”

หลายคนอาจเคยคิดและยังคงสงสัยว่าทำไมกระเป๋าแบรนด์ไทยที่ใช้วัสดุไทยแท้ๆ นี่ราคาสูงเกินความคาดหวังไป แบรนด์ “อีนาง” และกลุ่มศรีดาแฮนด์เมดอาจให้คำตอบได้ว่าทุกชิ้นที่นำมาประกอบกันรวมถึงวิธีการที่ใช้นั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้ ใส่ทั้งประสบการณ์ วัฒนธรรม และส่วนหนึ่งของเวลาชีวิตลงไป

ทุกบาทที่ใช้จ่ายกับของไทยนั้นหล่อเลี้ยงชุมชน หล่อเลี้ยงชีวิตคนและสานต่อวัฒนธรรม” มากกว่ากระเป๋าหนึ่งใบ หากเราลองเปิดตาดูจะเห็นว่าเบื้องหลังผ้าทอไทลื้อนั้นมีอีกหลายชีวิตที่จะช่วยพาเอกลักษณ์ของกลุ่มคนเล็กๆ ให้ยังคงเดินต่อไปได้ ไม่หล่นหายไปตามวันเวลาที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน

 

อีนาง (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศรีดาแฮนด์เมด)

ที่ตั้ง : 104 บ้านหัวดอย ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน

 

Facebook: E-NANG

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: E-NANG

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

วัดศิลาแลง ที่เที่ยวธรรมชาติ มีสายน้ำกูนไหลไปตามซอกหินผา หินทั้งสองด้านถูกกัดเซาะจนเป็นลวดลายเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีวังน้ำอยู่เจ็ดวังในระยะ 400 เมตร เที่ยวช่วงฤดูแล้งน้ำจะใสมองเห็นทะลุลงไปถึงท้องน้ำ

โรงเรียนชาวน้ำ พื้นที่พักผ่อนท่ามกลางความเขียวขจีของทุ่งนา เป็นโฮมสเตย์บ้านพักไม้โดยกลุ่มชาวบ้าน และยังการสอนทำนาให้ความรู้ด้านการเกษตรอีกด้วย

กำแพงเมืองปัว กำแพงโบราณ เวียงวรนคร (เมืองพลัว) ถือเป็นโบราณสถานอายุกว่า 700 ปีแล้ว ใกล้กับวัดพระธาตุเบ็งสกัด อิฐเก่าสีแดงดูมีเสน่ห์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่โอบล้อมปัวมาแสนนาน

 

Author

ม.ล.จินดาภรณ์ ชยางกูร

Author

นักเขียนที่ชอบออกไปข้างนอกเพื่อได้กลับบ้าน สนุกกับการฟังมากกว่าพูด และอ่านบันทึกการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจโลกและผู้คนจากมุมมองของคนที่หลากหลาย