Playground

วงโยฯ ราชวินิตบางแก้ว
พื้นที่รวมฝันของเยาวชนคนดนตรี

นันนภัสร์ สีหราช 11 Aug 2021
Views: 872

หลังเวลาโรงเรียนเลิก เรามักได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงลอยแว่วมาจากห้องซ้อมของวงมุมหนึ่งของโรงเรียน

ที่นี่ โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ที่ครูโรงเรียน ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันต่างรู้ดีว่า RWB มาจากชื่อเต็มของโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ…Ratwinit Bangkaeo โรงเรียนราชวินิตบางแก้วในพระบรมราชูปถัมป์ เป็นโรงเรียนที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน เปิดสอนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2515 ที่ตำบลบางแก้ว สมุทรปราการ ตอนนั้นโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 400 คน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนต้นแบบสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของกรมสามัญศึกษา และยังมีเกียรติประวัติอื่นๆ อีกมากมาย

โรงเรียนได้ให้ความรู้ด้านวิชาการ ปลูกฝังคุณธรรม โดยมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมกับส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ 21 ในขณะที่มุมหนึ่งของโรงเรียนสมาชิกในวง…นักเรียนกลุ่มใหญ่ กำลังใช้การเล่นดนตรีที่พวกเขารักสานฝันสู่ความสำเร็จ จากการรวมตัวกันเป็น “วงโยฯ” ของโรงเรียนที่ส่งต่อ “มรดก” ความรักในการเล่นดนตรีกันมาแล้วรุ่นต่อรุ่น

 

คนรักดนตรี มารวมตัวกันที่นี่

วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้วฯ มีอายุเกือบจะ 40 ปีแล้วในวันนี้ เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 โดยมีสมาชิกรุ่นแรกจนถึงปัจจุบันอยู่ประมาณ 2,000 คน

วงโยฯในรุ่นปัจจุบันมีสมาชิกนับครึ่งร้อยแน่นอนว่าสมาชิกมีทั้งส่วนของพาร์ทเครื่องเป่าลมทองเหลืองเครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเคาะจังหวะ…หรือ Percussion การบรรเลงดนตรีของเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทและหลากหลายชิ้นนี้ดำเนินไปตามลีลาในการควบคุมจังหวะของคอนดักเตอร์

“จริงๆ ผมเป็นเด็กที่อยู่วงนี้มาก่อนครับ เล่นดนตรีมากับวงนี้ตั้งแต่เด็ก ผมมีความฝันว่าวันหนึ่งจะกลับมาสอน แล้วทำให้วงของโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะตัวเองเคยเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้วในสมัยนั้น ผมตกรอบตลอดเลย…จนวันหนึ่งก็ได้มาสอนที่นี่ครับ” เหมือนฝันที่เป็นจริงแล้วครึ่งหนึ่งสำหรับ ครูไกรไกรสร จุฬาทิพย์ วาทยากรประจำวง ผู้ทำหน้าที่ฝึกสอนสมาชิก ถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่ผลักดันความรักในการเล่นดนตรีของนักเรียนแต่ละคน ให้กลายเป็นพลังแห่งเสียงดนตรีที่เป็นหนึ่งเดียว

ซ้อม ซ้อม ซ้อม

ได้เวลาซ้อม! ซึ่งก็คือตอนหลังเลิกเรียน กว่าที่พวกเขาจะได้ลงนั่งประจำที่และหยิบเครื่องดนตรีประจำตำแหน่งของแต่ละคนออกมาบรรเลงร่วมกับเพื่อนๆ ในวง เด็กวงโยฯ” ของที่นี่ฝึกกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากวอร์มร่างกายกันอย่างหนักเพราะนั่นคือพื้นฐานของความพร้อมในการเล่นดนตรี …พวกเขาต้องฝึกอะไรกันบ้าง?

“ซิตอัพ ทำตัววี วิดพื้น…หมุนแขนค่ะ”

“นักดนตรีร่างกายต้องฟิตครับ”

“มาถึง เลิกเรียน ก็ต้องซ้อม ซ้อม ซ้อมค่ะ”

“วันเข้าค่ายต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า มาวิ่งค่ะ”

“บ้านผมอยู่ไกล เลยมานอนที่โรงเรียนเลย”

   

ในช่วงที่ต้องเข้าค่าย สมาชิกของวงจะซ้อมหนักกว่าปกติไปจนถึงราว 4 ทุ่ม ไม่เฉพาะแต่การฝึกเตรียมร่างกาย จากวันซ้อมประจำตามปกติที่เริ่มตั้งแต่บ่าย 3 โมงครึ่งไปจนถึง 6 โมงเย็นทุกวัน ภาพเด็กจำนวนมากกำลังวอร์มร่างกายกันด้วยการออกกำลังกายอย่างหนักราวกับนักกีฬา และพวกเขาต้องทำสิ่งนี้ด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง อดทน…และแน่นอนว่า ต้องมีวินัย หลังจากนั้นค่อยได้เข้าห้องซ้อมดนตรีต่อไป

Thaipower.co มีโอกาสติดตามกิจกรรมประจำวันของพวกเขาในช่วงใกล้กับการประกวดสำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งเหลือเวลาเพียงแค่ 10 วันเท่านั้น การฝึกจึงยิ่งเข้มข้น “ขอให้ตั้งใจและมีสมาธิมากๆ นะครับ” ครูไกรเอ่ยสั้นๆ กับสมาชิกในวง ก่อนจะส่งสัญญาณให้ทุกคนเตรียมพร้อม

เสียงทุกอย่างจึงกลายเป็นความเงียบแบบตั้งสมาธิ มีแค่การขยับตัวเล็กน้อยเข้าสู่ความพร้อมของแต่ละคน ครูไกรค่อยจรดบาตอง ให้สมาชิกที่ประจำตำแหน่งของตัวเองอยู่แล้ว เริ่มบรรเลงเครื่องดนตรีในมือ

เสียงทูบา ทรอมโบน แซกโซโฟน ฟลุต…เสียงที่แตกต่างของแต่ละเครื่องดนตรีทุกชิ้นในวง ประสานกันออกมาเป็นท่วงทำนองของเพลงเดียวกัน  

“มันยากตรงที่ว่าทุกคนต้องเล่นออกมาให้เหมือนกัน…เป็นเสียงเดียวกัน” คำอธิบายของครูไกร ยังสะท้อนถึงเป้าหมายในการฝึกซ้อม โดยมีความสำเร็จของวงอยู่ปลายทาง “เราจะใช้วิธีการฝึก การทำซ้ำ จนนักดนตรีทุกคนเกิดความเคยชินในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วแก้เป็นจุดๆ ไป บางทีเล่นโน้ตห้องเดียว ซ้อมกันอยู่ 3 ชั่วโมงก็ยังไม่ผ่าน”

กฎ ระเบียบ และวินัย ของนักดนตรี 

“เราใช้หยาดเหงื่อของเขาชำระล้างความเห็นแก่ตัว เราฝึกทำอะไรร่วมกัน ถ้ามีหนึ่งคนผิดก็คือทุกคนผิด ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน…แมลเล็ท 20 เพอร์คัสชัน 20 ครับ…อองซอมเบิล” ครูไกรยังคงนำการซ้อมอย่างต่อเนื่อง

ใครจะนึกว่าเล่นดนตรี จะต้องถูกฝึกโหดและทุ่มเทมากขนาดนี้

“ริทึมต้องเล่นคล้ายสตริงเบส ถูกต้องไหมครับ? …ไม่ตอบ 20!” และเมื่อยังไม่มีใครตอบคำถามอีก ครูจึงเพิ่มโทษ “…30!” ครั้งนี้ตัวเลขที่ถูกเอ่ย ครูหมายถึงให้เด็กทำท่าลุกนั่งๆ แบบสก็อตจัมพ์ซ้ำๆ ตามจำนวนครั้งที่กำหนด เป็นการทำโทษหากมีใครเล่นผิดไปจากที่ตัวโน้ตกำหนด

“เคยโดนมากสุดประมาณ 2,000 ครั้งครับ” เด็กชายผู้อยู่ในทีมเชลโลเล่าให้ฟัง

“เราฝึกหนักจริงๆ ค่ะ ถ้าทำผิดจะถูกให้ลุกนั่งเริ่มจาก 20 ครั้งค่ะ นี่คือขั้นต่ำ” เตยปาณิสรา วัฒนพันธ์ หัวหน้าเซคชัน Percussion ตอนเตยเข้ามาในวงใหม่ๆ ผู้ปกครองไม่ได้สนับสนุนเท่าไหร่ เด็กจึงมีปัญหากับทางบ้านบ่อยครั้งเมื่อต้องอยู่ซ้อมเลิกเย็น “หนูเป็นเด็กเพอร์คัสชั่น ตอนแรกที่บ้านไม่เข้าใจ จะพูดตลอดว่าไม่อยากให้เล่นนะ เขาคิดว่าเหมือนตอนประถมที่แค่เล่นเพลงชาติตอนเช้า ก็ไม่น่าจะซ้อมหนักขนาดนี้ แต่พอที่บ้านเริ่มไปดูหนูประกวดเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจว่าที่หนูต้องฝึกซ้อมทุกวันอย่างหนักเพื่ออะไร ที่บ้านก็เริ่มสนับสนุนมากขึ้น…ทุกครั้งที่เล่นดนตรี หนูมีความสุขค่ะ”

 

ความรักความสุขเสียงดนตรี

“ทุกรายละเอียดสำคัญมากๆ ครับ เพราะว่าทุกตัวโน้ต ทำให้เกิดความรู้สึก” คำสอนของครูไกรก็เพื่อให้สมาชิกในวงเข้าถึงการถ่ายทอดดนตรีของวงที่แต่ละคนมีส่วนร่วม การรวมตัวกันของสมาชิกวงจำนวนมาก แต่ละคนมีต้นทุนแตกต่างกัน แต่พวกเขามีความรักในเสียงดนตรีเหมือนกัน

“หนูไม่ใช่เด็กโรงเรียนราชวินิตฯ ตั้งแต่แรก เข้าวงมาตอนม.4 เลยซ้อมหนักกว่าคนอื่นเพราะอยากตามคนอื่นให้ทัน” เพ้นท์นส.กัญญาภรณ์ วิรุฬห์พอจิต หัวหน้าเซคชัน Trumpet แนะนำตัวเอง และเธอเป็นอีกคนหนึ่งที่มีฝันอยากเป็นนักดนตรีมากๆ เธอต้องขยันมากกว่าทุกคน ในขณะที่เพื่อนเลิกซ้อมกันตอน 6 โมงเย็น แต่เวลาที่เพ้นท์เลิกซ้อมคือ 4 ทุ่มแทบทุกวัน จนเป็นมือหนึ่งในพาร์ทและยังได้เป็นหัวหน้าเซคชันด้วย

ทั้งนี้สมาชิกของวงโยฯ ราชวินิตบางแก้ว ไม่ได้มีเพียงแค่รุ่นพี่ แต่ยังมี น้อตดช.วชิรภัทร์ มั่นมา นักดนตรีเซคชัน Doublebass  เด็กชายรุ่นน้องที่ไม่ได้เป็นเด็กที่สอบเข้ามาเรียนดนตรีที่นี่ มาขอร่วมวงโดยฝึกเล่นดนตรีจากศูนย์ด้วยการเล่นดับเบิลเบสที่เขารัก “ของผมซ้อมต่างจากคนอื่นตรงใช้กล้ามเนื้อ แต่เครื่องดนตรีของคนอื่นในวงส่วนมากใช้ลมในการเป่า” ปัจจุบันน้อตเคยได้เข้าร่วมการประกวดของวงมา 2 ครั้งและได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ครั้ง

วันที่ฝันไปถึงความสำเร็จ

เมื่อวันหนึ่งที่ครูไกรได้มาสอนที่นี่ตามที่เคยตั้งใจไว้ ครูใช้ความฝันทุ่มเทนำวงไปประสบความสำเร็จได้ในปีพ.ศ. 2556 ที่วงได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด Thailand International Wind Ensemble Competition ในประเภท Category A: Division I เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน ปี 2013 และนั่นเป็นเพียงก้าวแรกและก้าวหนึ่ง สำหรับความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมประกวดสำคัญระดับนานาชาติในเวลาต่อมา ซึ่งวงได้รางวัลจาก Thailand International Wind Symphony Competition(TIWSC) จัดโดย คิง เพาเวอร์ ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ไม่ใช่ครั้งเดียว    

การมีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขัน ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ กับตัวเด็กมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ชีวิตสำหรับเด็ก มากกว่าแค่เรื่องแพ้ชนะ คือการแข่งขันจะสอนเรื่องความรับผิดชอบ การสร้างเป้าหมายในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการก้าวหน้า 

“การแข่งขันเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาเลยค่ะ เพราะมันจะทำให้เรามีเป้าหมายในการซ้อม นำความทุ่มเทที่เราตั้งใจซ้อม ไปโชว์ศักยภาพให้ทุกคนเห็น” เพ้นท์เป็นตัวแทนเพื่อนๆ บอกกับเรา

“ดนตรีเป็นวิชาทักษะ ถ้าเราไม่ฝึกซ้อมมันก็จะอยู่กับที่หรือถอยหลังลงได้ เราเลยต้องซ้อมทุกวัน” นนท์ณัฐนนท์ กู้เกียรติกาญจน์ หัวหน้าเซคชัน Flute สะสมความรักและความฝันของตัวเองในดนตรีจากการมารอดูพี่สาวซ้อม เขาคือคนหนึ่งซึ่งโชคดีที่ได้เติบโตมากับเสียงดนตรีและได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว

“เฟิร์สโน้ต…relax” ครูไกรให้สัญญาณกับเด็กๆ สมาชิกในวง เพื่อเตรียมบรรเลงการซ้อมให้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และเป็นเช่นนี้ในทุกๆ วัน “ผมจะสอนเด็กเสมอว่า จะเป็นนักดนตรีที่ดี เราต้องเป็นคนดีก่อน เมื่อเราเป็นคนดี จะทำให้เสียงดนตรีที่เขาเล่นออกมา ดีตามไปด้วย”

Author

นันนภัสร์ สีหราช

Author

นักเขียนอิสระ รักการอ่าน การฟัง การชม นิยมเรื่องเล่าให้แรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวผ่านบุคคล ดนตรี ศิลปะ หรืออาหาร

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก