Playground

สายสัมพันธ์ของชุมชน คนตรัง
และสนามฟุตบอลสีน้ำเงิน

พงษ์ฉัตร อินทรานุปกรณ์ 7 Jul 2022
Views: 609

คุณเคยรักและลุ่มหลงในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่สุดท้ายกลับกลายมาเป็นมวลพลังก้อนใหญ่ที่ส่งต่อก่อเกิดเป็นคุณค่าทางจิตใจอย่างไม่จบสิ้นไหม? ถึงแม้สิ่งนั้นจะใช้เวลากว่าทศวรรษ แต่ในที่สุดสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นแค่ความฝัน ก็กลายเป็นความจริง

นี่คือเรื่องราวความรักความผูกพันที่ยั่งยืน สายสัมพันธ์ของชุมชน คนตรัง และสนามฟุตบอลสีน้ำเงิน…การมาถึงของแลนด์มาร์กกับจุดเช็กอินแห่งใหม่คนเมืองตรังที่ไม่ได้เป็นแค่สนามฟุตบอล

ถึง Thaipower.co จะเพิ่งนำเสนอเรื่องราวของบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความฝัน ความรัก และความทุ่มเท ที่เกี่ยวโยงกับสนามแห่งนี้…สนามสีน้ำเงินที่โรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง แต่เราก็ตัดสินใจเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เราอยากให้ทุกคนได้สัมผัสถึงพลังบวกๆ และนึกถึงรอยยิ้มในดวงตาของผู้คนที่เกี่ยวพันกับสนามฟุตบอลแห่งชีวิต

ด้วยการเกิดขึ้นของ “สนามสีน้ำเงิน” แห่งหนึ่งนี้ คือ “ฝันที่เป็นจริง” จากปลายปากกาการเขียนเพื่อสมัครเข้ารับคัดเลือกในโครงการ 100 สนามฟุตบอลสร้างพลังเยาวชนไทย ประจำปี 2564 ของครูภาษาไทย ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ จังหวัดตรัง ที่ชื่อว่า ยุทธศักดิ์ ชัยแก้ว หรือ ครูเมย์ (ตามไปอ่านเรื่องราวได้ที่คอลัมน์ Passion คลิก : ยุทธศักดิ์ ชัยแก้ว ครูภาษาไทย ผู้เป็นโค้ชบอลมีฝัน ที่กลายมาเป็นโค้ชที่เปรียบได้กับลมใต้ปีกโดยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมฟุตบอลเทศบาลนครตรัง ในฐานะแชมป์กีฬาฟุตบอลจังหวัด สำหรับนักเรียนอายุ 12 ปี 5 สมัยซ้อน (ตั้งแต่ปี 2558-2562) และยังเป็นแชมป์กีฬาฟุตบอล รุ่นอายุ 12 ปี การแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับภาคใต้ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดชุมพรในปี 2558 ทำให้ได้เป็นตัวแทนไปแข่งระดับประเทศ ที่เชื่อว่าตำแหน่งแชมป์เหล่านี้เกิดขึ้นด้วย “สนามฟุตบอล” เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวนักกีฬาและทีมไปสู่ฝันในที่สุด

“ย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา ลองนึกภาพสนามฟุตบอล 7 คนที่เด็กๆ ของเราซ้อมกัน มันเป็นสนามพื้นหญ้าและอย่างที่รู้กันว่า ภาคใต้ฝนจะตกเยอะมาก ถ้าเราซ้อมทุกวัน และแน่นอนว่าโค้ชเองก็อยากให้นักเรียนซ้อมทุกวัน สนามมันก็พัง พอสนามพังเราก็จะลำบากมากเลย

เคยต้องวิ่งไปซ้อมที่สนามฟุตบอลของกศน. แต่พอเราวิ่งไปสนามโน้น ก็มีคนเล่นอยู่จำนวนมากแล้ว เด็กของเราก็ซ้อมไม่ได้ อย่างในจังหวัดตรังเองก็จะมีสนามหลักๆ อยู่อีก 2 สนามก็จริง เป็นสนามสำหรับทีม 11 คน แต่ด้วยทีมของเราเป็นชุดเด็กก็มักจะไม่ค่อยได้รับโอกาสที่จะไปซ้อมในสนามใหญ่อย่างของสนามกีฬากลางเทศบาลนครตรัง และสนามกีฬาทุ่งแจ้ง

หรือบางครั้งพอเราจะไปซ้อม ก็มีการติดคิว คือต้องไปลงคิว นานครับกว่าจะได้ซ้อม และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงพยายามขอให้มีการสนับสนุนในการสร้างสนามฟุตบอล เพราะเราเชื่อว่าสนามฟุตบอลที่ดีก็จะช่วยเพิ่มพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กๆ และทีม ถ้าเราไม่มีสนามฟุตบอล เราก็จะไม่มีที่เล่นฟุตบอล เราก็จะไม่มีที่ฝึกซ้อม และถ้าช่วงไหนฝนตกชุก ช่วงฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งส่วนมากกีฬาจะแข่งอยู่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม พอฝนตกสนามก็จะพังก่อนที่เราจะไปแข่งขันกีฬาทุกครั้ง”

 

ฝันที่ (เกือบ) กลายเป็นจริง

จากวันแรกที่สร้างทีมจนถึงวันที่รู้ว่าจะได้สนาม

ผ่านระยะเวลากว่า 8 ปี ก่อนที่ฝันตรงหน้าอยู่อยู่ก็ต้องสลายไป

 

 นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ ในฐานะครูสอนภาษาไทย และขอโอกาสเป็นโค้ชทีมกีฬาฟุตบอลที่เขารักจากผอ.สร้างทีมขึ้นมาจนประสบความสำเร็จครองแชมป์จนเข้าสู่ปีที่ 8 ในนามทีมโรงเรียนเทศบาลที่ดูเหมือนว่าฝันที่วาดไว้ว่าเด็กๆ จะมีสนามใหม่จะกลายเป็นจริง

“ที่ผ่านมาเราก็พยายามคิดว่ามีวิธีไหนบ้างที่เราจะได้สนามใหม่  ก็เลยตัดสินใจลองขอท่านนายกเทศบาลนครตรังดู  ซึ่งเราต้องไปขอเข้าแผน ผมยังจำได้ว่าท่านนายกฯ เชิญผมมาพบที่ห้อง ท่านรับปากว่า “ไอ้เมย์ ไม่ต้องกลัว สนามบอลเดี๋ยวกูสร้างให้มึงอย่างแน่นอน”

พูดง่ายๆ ก็คือเหมือนท่านอนุมัติแล้วอย่างกลายๆ แต่แล้วก็ดันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ท่านคุยกับผมช่วงนั้นเดือนพฤศจิกายน แล้วพอช่วงเดือนธันวาคม ปี 2562 ท่านประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไป เราทุกคนต่างช็อก เราเสียใจมากเลย  เหมือนฟ้าผ่ากลางใจ  ถ้าพูดตรงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะหาหนทางไหน ท่านผอ.กำธร ไตรบุญ โรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ จังหวัดตรัง ก็เลยมาพูดให้กำลังใจ ท่านเป็นคนที่สอนให้ผมรู้จักคิดต่าง  และเป็นคนจุดประกายให้ผมในการทำหนังสือขอสนามฟุตบอลจาก คิง เพาเวอร์ ด้วย 2 ประโยคที่ผมไม่เคยลืม

“ไอ้เมย์ เพื่อนสร้างยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร มึงจะทำเรื่องแค่นี้ไม่ได้เหรอ ผอ.มั่นใจว่ามึงทำได้แน่นอน” และท่านได้พูดไว้อีกประโยคหนึ่งก็คือ “อย่าอยู่หายใจไปวันๆ เราต้องทำความดีให้คนรุ่นหลังได้จดจำเราไว้ ไม่งั้นเราก็จะไม่มีความดีอะไรให้คนจดจำเราเลย”

และในเย็นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 วันนั้นเองซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครในการขอสนาม อาจจะเป็นโอกาสเดียวและโอกาสสุดท้ายที่โค้ชเมย์และเหล่าชาวเทศบาลนครตรังเฝ้ารอมาเกือบทศวรรษ อาจจะได้รับเลือกหรือไม่นั้นอย่างน้อยที่สุดก็ได้ลงมือทำ ถึงแม้จะในวินาทีสุดท้ายก็ตาม

“ผมจำได้เลยว่าเป็นวันสุดท้ายของการขอสนามละ ผมกลับถึงบ้าน และเริ่มต้นทำเอกสารตอนหกโมงเย็น แล้วผมก็นั่งทำเรื่อยๆ จนเสร็จตอนประมาณสี่ทุ่ม ก่อนที่จะกดส่งไปตอนห้าทุ่มสี่สิบห้า ผมว่าน่าจะเป็นทีมสุดท้ายด้วยซ้ำ”

ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ เช่นเดียวกับฟ้าที่สนามฟุตบอลโรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ เมื่อราวๆ ต้นเดือนธันวาคมที่มีข่าวดีจากทาง คิง เพาเวอร์ แจ้งกลับมาว่าเราเป็น 1 ใน 3 โรงเรียนของจังหวัดตรังที่ได้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก

 

เพราะสนามนี้เป็นของทุกคน

วินาทีต้องลุ้น การจุดประทัดและเสียงเฮ คือคำตอบ

ครูเมย์ :  ผลประกาศออกกี่โมงครับ

แอดมินเพจ คิง เพาเวอร์ : ผลประกาศ 19 นาฬิกาตรงค่ะ

“ผมจำได้ว่าแชทไปถามแอดมินเพจ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ พลังคนไทย จำได้ว่าวันนั้นผมตื่นเต้นมากเลย ตั้งแต่ครึ่งวันบ่าย  ทำอะไรไม่ได้เลย ผมมานั่งอยู่ข้างสนามบอลที่โรงเรียนกับคณะครูที่รอลุ้นผลอยู่ด้วยกัน 5 คน  กับทีมงานภารโรงอีก 1 คนที่ผูกพันอยู่กับสนามบอลมาตั้งแต่ต้น ตอนนั้นกลุ่มน้องๆ นักกีฬาวอลเลย์กำลังซ้อมกันอยู่  มีชาวบ้านที่แวะเวียนมาถามว่าผลออกยังๆ ๆ ๆ ตลอดทั้งวัน แล้วผมบอกเขาเล่นๆ ว่ารอฟังเสียงเฮของเราก็แล้วกัน

แล้วที่สนุกกว่านั้นครับ ผมให้ภารโรงไปซื้อประทัดมาเพื่อที่ชาวบ้านแถวนั้นจะได้รู้ว่า ถ้าเราได้รับเลือก เราจะจุดประทัด ก็รอลุ้นนะครับ จนกระทั่ง 19 นาฬิกาตรงเป๊ะ รายชื่อโรงเรียน 18 แห่งที่ได้รับคัดเลือกก็ถูกประกาศ

ทันทีที่เจอชื่อโรงเรียนของพวกเรา ผมก็ตะโกนว่า “ได้แล้วโว้ยๆ ๆ ๆ”

ผมให้ภารโรงไปจุดประทัด แล้วคนก็เข้ามาถามกันเต็มเลยครับ นักเรียนที่ซ้อมวอลเลย์อยู่ก็เดินมาที่สนาม ภาพติดตาวันนั้นภารโรงท่านนั้นลงไปจูบสนามเลยครับ แล้วก็มีชาวบ้านออกมายืนกันเต็มเลยครับ ผมจำได้ภาพตรงนั้นวันนั้นผมน้ำตาคลอ ผมโพสต์ข้อความเลยว่าเราทำได้แล้ว! ผมยังโพสต์ในเฟซบุ๊กอีกว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ผมดีใจมากนะครับที่ได้สนามนี้ นึกถึงช่วงเวลาตอนที่เราลุกขึ้นมาทำทีมฟุตบอล ความผูกพันที่มีต่อสนามแห่งนี้ มันไม่ใช่แค่เราซ้อมบอลกันตอนเย็นแล้วก็กลับ แต่เราได้มาเก็บตัวกินนอนกันที่นี่ ผมก็เลยรู้สึกผูกพันเหมือนเป็นบ้าน ถึงแม้ว่าโรงเรียนกับบ้านผมจะห่างกันแค่ 2 กิโลเมตร ทุกวันที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านก็จะแวะมา วันไหนเซ็งๆ ผมก็เข้าไปดูที่สนาม”

 

ไม่ใช่แค่สนามบอล แต่สนามหญ้าสีน้ำเงินนี้

จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อชุมชน ผู้คน เศรษฐกิจ และสังคม

 

แน่นอนว่าผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก คือ เราจะได้เห็นการเก็บตัวของนักกีฬาฟุตบอลเทศบาลนครตรังในสนามฟุตบอลหญ้าเทียมตามมาตรฐานของฟีฟ่าเป็นครั้งแรก แต่โค้ชเมย์ก็เชื่อว่า การได้มาซึ่งสนามฟุตบอลจาก คิง เพาเวอร์ ครั้งนี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้รับไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผม แต่มันจะสะท้อนไปที่เด็กด้วย เด็กก็ได้ไปด้วย เหมือนที่ คิง เพาเวอร์ เคยบอกว่า อยากให้เด็กได้เล่นฟุตบอล อยากให้ชุมชนได้เล่นฟุตบอล ให้เด็กห่างไกลยาเสพติดเป็นปัจจัยหลักเลย แต่ว่าสิ่งที่ตามมา จากที่ผมได้คลุกคลีกับสังคมชุมชนที่อยู่รายล้อมรอบบริเวณโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นร้านน้ำชาตอนเช้า ร้านน้ำตอนเที่ยง ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านเสื้อผ้า ทุกคนในชุมชนต่างเชื่อมั่นว่า ที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดตรัง เหมือนกับว่าเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ แล้วก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดตรังได้ด้วย

เพราะอย่างที่ทราบกันว่าเศรษฐกิจตอนนี้ คือมันแย่มากครับ คือมันแย่จริงๆ คนซื้อของมา 600 บาทขายได้แค่ 400 บาท คือส่วนมากจะขาดทุน การได้มาซึ่งสนามนี้เด็กจะห่างไกลยาเสพติด เด็กได้ออกกำลังกาย ได้ติดทีมชาติ  และสิ่งที่จะตามมาคือเศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอนครับ”

 

บทสรุปส่งท้ายจาก “ความฝัน” ของคนหนึ่งคน

นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการสานต่อความฝันครั้งใหม่ของใครอีกหลายคน

เป็นระยะเวลา 65 วัน (11 ก.พ. – 17 เม.ย.) นับตั้งแต่วันแรกที่กรวดดินเม็ดแรกจากฝุ่นผงจะเริ่มแปรเปลี่ยนจากสนามดินให้กลายเป็นสนามหญ้าสีน้ำเงินสดใส ในที่สุดสนามฟุตบอล “สังขวิทย์ คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม” ก็สำเร็จลุล่วงไปอย่างสวยงาม

ตัวสนามเองอยู่ในระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ สนาม และกำลังสร้างที่พักนักกีฬาข้างๆ สนาม ถึงแม้ว่าตัวสนามยังไม่เปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้รับเกียรติจาก นายภูวนัฐ สมใจ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ ท่านรองนายกเทศมนตรีนครตรัง รวมไปถึงท่านนายกเทศบาลต่างๆ ในจังหวัดตรัง มาร่วมทดสอบสนาม และเปิดโอกาสให้เหล่าบรรดานักฟุตบอลของ “สังขวิทย์นครตรัง อะคาเดมี่” มาใช้สนามในการฝึกซ้อมประจำทุกวันอาทิตย์ พร้อมทั้งบรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ ก็ได้มีโอกาสลงไปสัมผัสกับพื้นสนาม

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ใช้สนามในการเปิดคัดเลือกบรรดาเยาวชนที่สนใจเพื่อเข้าร่วมในอะคาเดมี่ คาดว่ามีจำนวนนักกีฬาที่ได้ทยอยเข้ามาแวะเวียนใช้สนามกันนับร้อยชีวิต และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกไม่น้อยเมื่อสนามถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการ

มาจนถึงวันนี้การเดินทางของสนามกีฬาสีน้ำเงินแห่งใหม่ของชุมชนชาวจังหวัดตรัง ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วพร้อมกับฝันให้ไกลและไปให้ถึงของเหล่าน้องๆ นักกีฬานับร้อยนับพันชีวิตที่มีกีฬาฟุตบอลเป็นหัวใจสำคัญ เราเชื่อเหลือเกินว่า ในอนาคตจะได้เห็นนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยที่มีสนามฟุตบอลสีน้ำเงินแห่งนี้ เป็น 1 ในเส้นทางชีวิตปูทางไปสู่ความสำเร็จพร้อมกับสนามสีน้ำเงินทั่วประเทศที่เป็นส่วนเล็กๆ ให้ทุกฝันนั้นกลายเป็นจริง

…ยังมีเรื่องที่อยากจะเล่าต่อ…

 

สายใยแห่งความผูกผัน ที่แสนน่ารัก

ที่หาซื้อไม่ได้ แต่พร้อมเชื่อมโยงถึงกันระหว่าง ผู้คน ชุมชน และคนสร้าง (สนามบอล)

 

สนามบอลหนึ่งสนามไม่เพียงสร้างคุณประโยชน์ต่อผู้คน ชุมชน แต่กลับแผ่ขยายต่อยอดเสริมสร้างคุณค่าทางจิตใจที่ไม่สามารถวัดหรือตีค่าเป็นตัวเงินได้ แต่พร้อมจะให้ใจต่อใจส่งต่อถึงกันทั้งผู้ให้และผู้รับ

“วันที่เขาติดต่อมาสร้างสนามวันแรก ตอนนั้นผมอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ก็ขับรถกลับมารับเจ้าหน้าที่เขาเลย เขามาพร้อมกับทีมงานอีกประมาณ 6 คนครับ แล้วทุกวันที่เขามาทำงาน ก็จะมีทั้งคุณครู ภารโรง แล้วก็ชาวบ้านต่างมายืนดู

การที่เขาเดินทางมาอยู่บ้านเรา มาช่วยสร้างสนามให้เรา ผมก็ไม่อยากให้เขาเหงาหรือรู้สึกว่าไม่มีใคร ไม่ว่าเขาขอช่วยอะไร หรืออย่างที่เขาเคยขอรถน้ำจะเช่ารถน้ำเพื่อมาฉีดอัด ผมก็บอกไปว่าไม่ต้องเช่า เดี๋ยวรถน้ำของเทศบาลนครเมืองตรังมี เดี๋ยวขอให้ดับเพลิงช่วยมาฉีดให้ ตรงนี้เราก็มาช่วยเขา

หรืออย่างด้านข้างเป็นป่า ช่วยถางออกให้ได้ไหม ถ้าเขาไปช่วยทำตรงนั้นอีกประเดี๋ยว มันก็จะเสียเวลาที่วางแผนในการสร้างสนามไว้ได้…เดี๋ยวมันจะไม่เป็นไปตามสัญญา

เราก็เลยเอากองช่างของเทศบาลนครเมืองตรังมาช่วยเสริม แล้วในทุก ๆ วันเวลา เรื่องความเป็นอยู่ของคนงาน ผมก็เอาแกงไปให้บ้าง เอาขนม น้ำเต้าหู้ บ๊ะจ่างไปให้เขาบ้าง หรือมีชาวบ้านคอยไปรับเขาไปซื้อไก่บ้านมาต้ม ไปซื้อผัก คือเราก็ไม่ได้ทิ้งเขาเลย ในทุกๆ วันก็จะมีทั้งผอ. มีคุณครู มีภารโรง มีชาวบ้านไปยืนข้างสนามทุกวันเลย เราไม่ได้ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว เราก็จะไปคอยช่วยเหลือเขา ไปสอบถามเขาว่าเขาขาดอะไรบ้าง เขาต้องการอะไรบ้าง”

 

สนามแห่งนี้ไม่เพียงให้โอกาส

แต่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กทุกคน…ไปสู่ฝัน

 

รวมทั้งวาริส ชูทอง  นักเตะทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่ได้รับโอกาสจาก “สนามแห่งนี้”

ครูเมย์เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วสนามฟุตบอลขนาด 7 คน โรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ แห่งนี้ ได้มีโอกาสรองรับ และสร้างเยาวชนที่รักในการเล่นฟุตบอล รวมถึงเป็นบันไดขั้นแรกๆ ให้หลายคนได้ทำในสิ่งที่รักและที่สำคัญได้สานฝันให้กลายเป็นจริง รวมทั้งวาริส ชูทองได้ต่อยอดกลายเป็นนักเตะทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างถึงที่สุด

“วาริส ชูทอง อยู่กับเราในนามนักฟุตบอลทีมเทศบาลนครตรัง รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีมาตั้งแต่ปี 2556-2559 โดยในปี 2558 ปีนั้นทีมเราเป็นแชมป์ภาคใต้ด้วย  และคุมทีมในฐานะกัปตันทีมในปี 2559 พาทีมเข้าไปได้ในอันดับ 3 เป็นเด็กที่เป็นความภาคภูมิใจของเราและน่าจะส่งต่อในการแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นหลังได้ดีเลยครับ

เขาผูกพันกับสนามนี้เพราะกินนอนอยู่ที่นี่ จากเด็กที่เล่นฟุตบอลตามแถวทุ่งนา ตามข้างบ้าน เราก็ไปจับมาอยู่กับเรา เหมือนกับเป็นบันไดก้าวแรกที่นำเขาไปสู่ทีมชาติ จะว่าไปแล้วตัววาริส ชูทองมาอยู่กับเราตั้งแต่อายุ 7-8 ปีเลยทีเดียว

พอจบจากรุ่นอายุ 12 ปีเขาก็ไปคัดตัวที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วก็อยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์มาจนถึงตอนนี้ คืออยู่ชั้น ม.5 แล้วก็ไปคัดเข้าโครงการ FOX HUNT รุ่นที่ 5 ก่อนที่จะไปติดทีมชาติอายุไม่เกิน 23 ปีที่ไปคว้ารองแชมป์อาเซียนที่ประเทศกัมพูชา ตอนนี้เขาสังกัดอยู่ทีมเยาวชนของ BG ปทุมฯ โดยสโมสรราชประชายืมตัวน้องไปเล่นอยู่”

Author

พงษ์ฉัตร อินทรานุปกรณ์

Author

จบเศรษฐศาสตร์แต่ชอบแมว เป็นคนรักภาพยนตร์ เริ่มต้นอาชีพ “Filmcooking” กับค่ายใบโพธิ์ที่ต่อมา เสี่ยเจียง เจ้าสำนักชวนให้ย้ายมาอยู่แผนกโปรโมทหนัง ชีวิตเลยนัวเนียติดหนุบหนับทั้งหนังไทย จีน ฝรั่ง จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาถึงบัด now เคยเขียนคำโปรยให้โปสเตอร์หนัง Before Sunrise เมื่อนานแล้วแต่จำแม่นจนวันนี้ว่า "ความโรแมนติกไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เพียงสบตาเธอในอ้อมกอดของฉันก็อยากหยุดเวลาและตะวันไว้ที่เธอ" ตอนนี้สนใจเป็นพิเศษในเรื่องมนุษย์และก้อนพลังบวกๆ แห่งความสัมพันธ์