People

ผอ.วรวิทย์ มาดิษฐ์
วิชาการสำคัญ แต่ดนตรีกีฬาก็จำเป็น

เพ็ญแข สร้อยทอง 25 Jul 2022
Views: 1,660

เวลาได้พบหรือรู้จักกับ “ครูที่น่าทึ่ง” สักคน เรามักเกิดคำถามและข้อสงสัยว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขามาเป็นครู

สำหรับ “วรวิทย์ มาดิษฐ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าซ่าน อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก คำตอบของเขาที่เราค้นพบได้จากการพูดคุยคือ ความเป็นครูถูกปลูกฝังและเติบโตในหัวใจของเขาด้วยสิ่งแวดล้อมซึ่งคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก

“อาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำแล้วได้บุญนะ

พอเรามาเรียนแล้วก็ได้ไปฝึกสอนก็ยิ่งชอบ ทำแล้วมีความสุข”

ผอ.วรวิทย์ มาดิษฐ์ โรงเรียนบ้านป่าซ่าน พิษณุโลก

 

“แม่ของผมเป็นครูและผมก็อาศัยอยู่บ้านพักครูมาตลอด”​

ความรักในอาชีพชัดเจนขึ้นตอนที่ครูวรวิทย์ได้เรียนวิชาครูและไปฝึกสอน การสอนเป็นงานที่ยากและเครียดมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นอาชีพที่ให้รางวัลอันน่าพึงพอใจอย่างมากเช่นกัน เราจะไม่พูดถึงค่าตอบแทน แต่… นี่คือ อาชีพที่คุ้มค่าและสำคัญ

“อาชีพครูเป็นอาชีพที่ทำแล้วได้บุญนะ พอเรามาเรียนแล้วก็ได้ไปฝึกสอนก็ยิ่งชอบ ทำแล้วมีความสุข”

เหตุผลในการเป็นครูมีมากมาย หนึ่งในเหตุผลที่ดีที่สุด คือ ความต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับชีวิตของเด็กๆ เช่นนั้นเองเราจึงพบเห็นว่า คนสำคัญของโลกมากมายต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากครูของพวกเขา  เบื้องหลังของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายมักจะมีครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เสมอ

“จากที่เป็นผ้าขาว ไม่รู้อะไรเลย ครูเป็นคนทำให้เขาได้รู้สิ่งต่างๆ เป็นคนนำพาสิ่งที่ถูกต้อง จุดประกายเริ่มต้นให้เขาเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เขาตั้งไว้”

 

กุญแจปฏิบัติภารกิจครูได้สำเร็จแบบ ผอ.วรวิทย์

หมั่นเอาใจใส่เด็ก ดูแลเหมือนนักเรียนเป็นลูกๆ ของตัวเอง
เป็นหนึ่งคุณสมบัติที่ดีที่ครูพึงมี

ใช้คุณธรรม วิชาการ ดนตรี กีฬา ศิลปะ ช่วยกันส่งเสริม
ให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพและเป็น “คน” ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เฝ้าสังเกตและเติมโอกาสในการพัฒนาให้กับเด็กๆ เสมอ

ให้ครูและโรงเรียนเป็นสถานที่พัฒนาคน สร้างโรงเรียน
ให้เข้มแข็งเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไป

 

การเป็นคนใจดีเอาใจใส่เด็ก ดูแลเหมือนพวกเขาเป็นลูกๆ ของตัวเอง นั่นนับเป็นหนึ่งในบรรดาคุณสมบัติที่ดีที่ครูพึงมี

“ครูมีหน้าที่สั่งสอนอบรมนักเรียน ครูที่ดีจะมีความเป็นครูอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี วางตัวดี ใส่ใจดูแลเด็ก ไม่ใช่แค่เฉพาะตอนอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น เราต้องรู้ข้อมูล รู้ไปถึงเรื่องที่บ้านของเขาด้วย ครูสมัยนี้อาจจะมีหลายอย่างที่ต้องทำนอกเหนือจากการสอน แต่นโยบายของผม คือ ห้ามทิ้งเด็ก ให้อยู่กับเด็กมากที่สุด ให้เรียนรู้และรู้จักเด็กให้มากที่สุด”

และครูที่ดีย่อมรู้ว่า นอกเหนือไปจากเรื่องวิชาการแล้ว กีฬา ศิลปะ และดนตรียังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กๆ

 

หมั่นเอาใจใส่เด็ก ดูแลเหมือนนักเรียนเป็นลูกๆ ของตัวเอง

เป็นหนึ่งคุณสมบัติที่ดีที่ครูพึงมี

 

ตามคำขวัญของโรงเรียนบ้านป่าซ่านที่ว่า “คุณธรรม วิชาการ ดนตรี กีฬา” ผอ.วรวิทย์ให้คำอธิบายว่า “ทุกอย่างจะช่วยยกระดับกันและกันครับ เด็กชอบกีฬา ดนตรี ก็ทำให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ส่งผลให้การเรียนดี กีฬาก็ช่วยยกระดับคุณธรรมหลายๆ ประการครับ  อย่างฟุตบอล ก็ได้ความสามัคคี ความมีวินัย ความอดทน และอีกมากมายครับ  ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพคน ผมเชื่อว่าคำขวัญทั้งหมด 4 อย่างจะช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ครับ

“ดนตรี กีฬา และศิลปะ สามารถช่วยสร้างจินตนาการให้เด็กๆ ทำให้ได้เรียนรู้และมีความสุข ถ้าหากว่าอัดแน่นวิชาการอย่างเดียวเขาก็จะเครียด ทำให้สารแห่งความสุขไม่หลั่งเลยตลอดทั้งวัน ถึงจะเรียนไปความรู้ก็อาจจะไม่ได้เข้าไปในสมอง ถ้าร่างกายไม่พร้อม สมองไม่พร้อมที่จะรับรู้ จะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนลดลง ถ้าเรามีสุขภาพที่ดี มีจินตนาการที่ดี  มีดนตรีมีศิลปะในหัวใจ

“อย่างศิลปะ ผมไม่ได้มองว่า เขาต้องวาดรูปสวย วาดเก่ง แค่วาดก็ทำให้เด็กได้มีจินตนาการ เด็กก็เรียนรู้อย่างมีความสุขมากขึ้น ดนตรีก็เหมือนกันมีกีตาร์มา ยังดีดไม่เป็นเลย แต่ก็รู้สึกว่าเขาเล่นไปยิ้มหัวเราะไป เขามีความสุข อยากให้ทุกโรงเรียนส่งเสริมสนับสนุนตรงนี้ เพราะว่าทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข และผมเชื่อว่า เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี”

3 ปีกับการทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ครูวรวิทย์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง “ผมสอบเป็นผู้อำนวยการได้อันดับที่ 1 สามารถเลือกโรงเรียนที่ใหญ่กว่านี้ได้” แต่เขาเลือกมาโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ เหตุผลหนึ่งคือ จะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว “ถ้าเราได้อยู่ใกล้ครอบครัว เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข แทนที่จะไปอยู่บ้านพักครู หรือต้องเดินทางไกลๆ เพื่อจะได้ทำงานในโรงเรียนขนาดใหญ่

“ผมเลือกที่นี่ ผมมีความสุข เพียงแต่ว่าผมจะทำยังไงให้ตัวผมมีความสุข แล้วให้คุณครูมีความสุขและเด็กๆ มีความสุขชุมชนมีความสุข”

จากโรงเรียนเล็กๆ ธรรมดาๆ แห่งหนึ่ง วันนี้ โรงเรียนบ้านป่าซ่านกลายมาเป็นศูนย์กลางของอำเภอที่โรงเรียนและชุมชนในนครไทย และอำเภอใกล้เคียงแวะมาใช้สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ และสนามวอลเลย์บอลระดับมาตรฐาน

เริ่มต้นจากการสร้างสระว่ายน้ำ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเด็กด้อยโอกาสทั้งอำเภอ ให้ได้ฝึกว่ายน้ำเพื่อลดปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็ก สำหรับสนามฟุตบอลหญ้าเทียมนั้นมาจากการสมัครเข้าร่วมโครงการสนามฟุตบอลสร้างพลังเยาวชนฯ ของ คิง เพาเวอร์

 

เฝ้าสังเกตและเติมโอกาสในการพัฒนา

ให้กับเด็กๆ เสมอ

“สนามนี้เริ่มแรกเลยเกิดจากการที่โรงเรียนขาดอุปกรณ์กีฬาโดยเฉพาะลูกฟุตบอล และได้ยินข่าวว่ามีโครงการแจกลูกฟุตบอลจาก คิง เพาเวอร์ ที่ต่างอำเภอซึ่งไกลจากโรงเรียนประมาณ 100 กิโลเมตร เพื่อโอกาสของเด็กๆ ผมจึงเช่ารถ 6 ล้อ และพาเด็กๆ ไปรับลูกฟุตบอลที่อำเภอเนินมะปรางครับ เด็กๆ ได้รับลูกฟุตบอลกลับมาทันกิจกรรมที่โรงเรียนและที่บ้านคนละ 1 ลูกเพื่อฝึกทักษะฟุตบอล”

แม้จะมีอุปกรณ์การฝึกอย่างลูกฟุตบอลแล้วก็พบว่า เด็กๆ ยังขาดพื้นที่สำหรับการฝึกซ้อม “สนามของโรงเรียนเป็นหลุมเป็นบ่อในหน้าฝน หน้าร้อนหญ้าก็ตายทำให้เด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ขาดโอกาสมีสนามดีๆ ในการฝึกซ้อม ในการต่อยอดโอกาสผมจึงได้หาข้อมูลแล้วก็เจอโครงการของ คิง เพาเวอร์  ก็คือ โครงการสนามหญ้าเทียมซึ่งเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาสนามทำให้มีสนามมาตรฐาน และทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้ใช้สนามตลอดปีผมจึงเขียนโครงการเสนอครับ”

“สนามสีน้ำเงิน” นี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับนักเรียนโรงเรียนบ้านป่าซ่านเท่านั้น แต่ยังมีนักเรียนและเยาวชนในอำเภอนครไทย และอำเภอใกล้เคียง รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกยังได้แวะเวียนมาทำกิจกรรมในสนามแห่งนี้ด้วย

“เรามีฝึกซ้อมทักษะฟุตบอลเป็นประจำ และเราได้เปิดให้เยาวชนทั้งอำเภอได้มีโอกาสในการมาร่วมฝึกซ้อม โดยแบ่งตารางเป็นรุ่นอายุต่างๆ เพื่อให้เกิดประประโยชน์สูงสุด เด็กๆ ได้ใช้ทำกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาพลศึกษา และยังฝึกซ้อมในช่วงหลังเลิกเรียน วันเสาร์-อาทิตย์ เป็นสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ของนักเรียนระดับอนุบาล เป็นสนามระดับมาตรฐานซึ่งแตกต่างจากสนามเดิมของโรงเรียน จะเห็นได้ชัดเจนว่าเด็กๆ ได้มีพัฒนาการเกี่ยวกับทักษะการเล่นฟุตบอล การจ่ายบอล การเลี้ยงบอลได้ดีขึ้น ทำให้เด็กมีความสามารถมากขึ้น”

 

ใช้คุณธรรม วิชาการ ดนตรี กีฬา ศิลปะ

ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพและเป็น “คน” ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

ในส่วนของการจัดการบริหารดูแลสนามนั้น ผู้อำนวยการเล่าว่า “เราบริหารโดยมีคณะกรรมการชุมชนร่วมกับโรงเรียน  เป็นผู้บริหารจัดการสนามร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมาย ให้เด็กๆ เยาวชน  ประชาชน ในอำเภอนครไทย และอำเภอข้างเคียง มีโอกาสได้มาฝึกซ้อมสนามที่มีมาตรฐานระดับโลกร่วมกัน”

โดยส่วนตัวของ ผอ.วรวิทย์เองก็มีใจรักฟุตบอล ในอดีตเคยเป็นนักฟุตบอลประจำโรงเรียนและนักกีฬาเยาวชนประจำจังหวัด และตอนนี้จึงทำหน้าที่โค้ชให้กับนักเรียนด้วย

“เด็กๆ ที่นี่รักฟุตบอลครับ เด็กๆ มีรอยยิ้มมีความสุขมากๆ ที่ได้มีสนามที่มีมาตรฐาน และทำให้เขาได้ฝึกซ้อมทุกเย็น เป็นการรวมตัวของเด็กๆ เยาวชน ทำให้ห่างไกลจากยาเสพติด

“เด็กบางคนอาจจะไม่ถนัดกีฬา แต่ชอบเรื่องดนตรีหรือศิลปะ ตอนนี้เรากำลังทำห้องดนตรี โดยนำรายได้จากสนามฟุตบอลมาสร้างและซื้ออุปกรณ์ ตอนนี้ยังมีอุปกรณ์ไม่เยอะ เพราะว่าราคาค่อนข้างแพง”

ทั้งสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ สนามวอลเลย์บอลที่มีโดมครอบ รวมไปถึงห้องน้ำ ห้องประชุม และห้องดนตรีของโรงเรียนบ้านป่าซ่านเกิดจากการระดมทรัพยากรที่เอกชนและท้องถิ่นให้การสนับสนุน ทุกอย่างไม่ได้สำเร็จในชั่วข้าม แต่เป็นการทยอยทำไปเรื่อยๆ เท่าที่เวลาและเงินทุนจะอำนวย “โรงเรียนเราห่างจากตัวอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอชาติตระการ ประมาณ 20 กิโลเมตร ตั้งแต่ผมเป็นครูยังไม่เคยเห็นสนามฟุตบอลมาตรฐานหรือสระว่ายน้ำมาตรฐานที่อำเภอนครไทย”

“สระว่ายน้ำที่เด็กๆ ค่อนอำเภอได้มาเรียน ในอำเภอนครไทยมีประมาณ 50 โรงเรียน ที่ได้มาเรียนว่ายน้ำที่นี่ก็เกือบ 30 โรงเรียน ถ้าไม่มีโควิดก็อาจจะมากันครบ”

ความตั้งใจของ ผอ.วรวิทย์ คือ อยากให้ “เด็กๆ ได้เรียนทั้งฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล ดนตรี และศิลปะ อยากจะทำโรงเรียนให้เป็นศูนย์สร้างคนอย่างแท้จริง ในทุกๆ โรงเรียนมีการสอนวิชาการอยู่แล้ว แต่เราอยากเพิ่มสิ่งเหล่านี้เข้ามาเพื่อสร้างเด็กสร้างคนให้สมบูรณ์มากขึ้น

“เป้าหมายที่ผมจะทำและทำไปแล้ว 20-30% คือ ผมจะสร้างแหล่งเรียนรู้ให้อยู่ในโรงเรียน อนาคตก็คือการต่อยอด ทั้งรักษาสนามไว้ ในอนาคตจะต้องบริหารจัดการยังไงให้อยู่ได้ แล้วเด็กๆ ในรุ่นต่อไปได้มีโอกาสได้เล่นสนามมาตรฐานเหมือนกัน

“อีกอย่างคือ ผมจะทำยังไงให้เด็กๆ ทั้งอำเภอนครไทยได้มีโอกาสมาเล่นมาใช้สนามอย่างต่อเนื่อง โดยที่แต่ละโรงเรียนไม่เดือดร้อนในเรื่องการสนับสนุน การมีเครือข่ายอย่างเช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ก็ช่วยได้ เขาก็ให้เสนอขอเข้าไป เขาเห็นว่า โรงเรียนเราเหมือนเป็นสวนสาธารณะซึ่งประชาชนได้มาใช้ประโยชน์ ถ้าคิดเป็นจำนวนครั้งก็น่าจะเป็นหมื่นครั้ง มีหลายพันคนที่มีโอกาสมาใช้ ผมก็จะทำและพัฒนาต่อยอด

 

ให้ครูและโรงเรียนเป็นสถานที่พัฒนาคน

สร้างโรงเรียนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไป

 

“เด็กๆ มีสนามฟุตบอลแล้ว แต่ยังไม่ได้ฝึกกับโค้ชเก่งๆ ระดับเอไลเซนส์ ใช่ไหม ผมก็อยากจะดึงโค้ชระดับสโมสรมา วอลเลย์บอลก็เหมือนกัน จะลองติดต่อกับทีมชาติดู ให้มาฝึกประสบการณ์ให้กับเด็กๆ”

การที่เปิดประตูให้เยาวชนเข้าไปใกล้ชิดกับกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ในทางหนึ่งนั้นคือ การสร้างชุมชนและสังคมที่ดีด้วย “ถ้าเยาวชนเขามีเวที ไม่มีเวลาว่างไปมั่วสุม ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กติดเกมต่างๆ มันก็จะลดลง เด็กบางคนไม่ถนัดกีฬา บางคนชอบศิลปะ บางคนชอบดนตรี เราพยายามมีให้ครบ เพื่อให้เด็กได้มีเวทีแสดงความสามารถ ห่างไกลจากอบายมุข

“โรงเรียนกับชุมชนเป็นสิ่งที่คู่กัน โรงเรียนเป็นสถานที่พัฒนาคน ถ้าอยากจะให้ชุมชนเข้มแข็งโรงเรียนต้องเข้มแข็ง ถ้าเราอยากจะปลูกฝังเด็กๆ อยากจะสร้างคน ตั้งแต่เด็กๆ ให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี ให้มีสังคมที่ดี มีจิตอาสา ผมมองว่า ต้องฝึก ต้องปลูกฝังจากเด็กๆ ต้องปลูกฝังที่โรงเรียน ในชุมชนมีปราชญ์ชาวบ้านหรือว่าผู้นำชุมชนที่ผมอยากจะดึงเขามาให้ความรู้เป็นต้นแบบให้กับเด็กๆ ทั้งโรงเรียนและชุมชนต้องพึ่งพาอาศัยกัน”

เพราะว่าการเรียนการสอนหรือการเป็นครูไม่ได้หยุดอยู่แค่เสียงกริ่งเมื่อเลิกเรียน เพราะงานของครู คือ การสร้างคน ที่นอกจากเสริมสร้างทักษะวิชาการให้กับนักเรียนแล้ว ยังต้องคิดถึงการเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ รวมถึงดนตรี กีฬา ศิลปะที่มีความจำไม่น้อยสำหรับการเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิต

 

ทำความรู้จัก ผอ.วรวิทย์

ครูรุ่นใหม่-ครูนักพัฒนา

ผอ.วรวิทย์ มาดิษฐ์ วัย 34 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู วรวิทย์สอบบรรจุเข้ารับราชการ เป็นครูวิชาสังคมศึกษาที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่ในปี 2562 จะสอบผ่านมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าซ่าน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ

ผอ.วรวิทย์ นับเป็นครูรุ่นใหม่และครูนักพัฒนาซึ่งเชื่อในเรื่องการมีส่วนร่วม “ผู้อำนวยการมีหน้าที่หลักๆ คือ คิดวางแผนตัดสินใจแก้ปัญหา มีหลายเรื่องที่ผมใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยหลักการมีส่วนร่วม ผมจะผสมผสานระหว่างเด็กรุ่นใหม่หรือครูรุ่นใหม่ รวมทั้งเพื่อนๆ ที่เรียนศาสตร์อื่น ไปถึงผู้นำชุมชนที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผมก็จะถามเขา จัดประชุม แล้วเอามากลั่นกรองผสมผสานเพื่อแก้ปัญหา โดยที่เราจะไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง บางทีเราอาจจะยังคิดไม่รอบคอบ เด็กรุ่นใหม่เขาก็จะมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ที่เราคาดไม่ถึง ส่วนรุ่นใหญ่เขาก็จะมีประสบการณ์ การที่เอารุ่นเก่ารุ่นใหม่ผสมผสานกันแล้ว เราก็จะแก้ไขปัญหาได้ง่ายมาก หลายครั้งที่ผมเจอปัญหาแล้วใช้วิธีนี้มันได้ผล”

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว