People

ชัยภัค ภัทรจินดา ผู้คุมวงเตรียมฯ
ดนตรีหล่อเลี้ยงชีวิต & จิตวิญญาณ

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว 25 Oct 2023
Views: 3,226

Summary

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเข้มข้นในการคุมซ้อมและเตรียมความพร้อมให้วงเตรียมอุดมฯ ส่องประกายความสามารถบนเวที
The Power Band จนคว้ารางวัลมาได้ หนึ่งในทีมอาจารย์ผู้ดูแลการฝึกซ้อมให้วงคือสุดยอดคนดนตรี ท่านหนึ่ง และยังเป็นบุคลากรคนสำคัญในประวัติศาสตร์การดนตรีของไทย…ท่านนี้

จากความสำเร็จของวงเตรียมอุดมศึกษา บนเวทีประกวดดนตรีระดับประเทศ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 ที่ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จัดขึ้นนั้น ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจและดนตรีสร้างสรรค์ ได้ย้อนกลับไปเห็นภาพการซ้อมที่หนักหน่วงและความทุ่มเทอย่างสุดความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะนักดนตรีที่ปรากฎตัวบนเวทีเท่านั้นที่เต็มที่ ทีมซัปพอร์ตก็เต็มที่เช่นกัน

อาจารย์ชัยภัค ภัทรจินดา คือ 1 ในทีมที่เป็นลมใต้ปีกของวงเตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้ทำหน้าที่หลากหลาย เมื่อถามถึงความสำเร็จที่วงได้รับ อาจารย์บอกว่า “เราเป็นทีมเวิร์ก ทุกคนจะรู้หน้าที่ รู้ความถนัด รู้บทบาทตัวเองดี ผมมีประสบการณ์ในการฟังมานาน ตำแหน่งทางดนตรีก็น่าจะเป็น Music Director เราทำงานกันอยู่ 3 คน ทำอย่างนี้มาตลอด 10 กว่าปีแล้ว”

นอกจากนี้อาจารย์ยังมีส่วนร่วมในบทบาทอื่นๆ ด้วย “การอะเรนจ์เครื่องดนตรีบางชนิด ผมเขียนโน้ตกับจัดวางไลน์เครื่องดนตรีไทยในแต่ละเพลงให้เหมาะสมด้วย ในฐานะที่ทำงานเพลงร่วมสมัยมาเยอะ ที่เหลือก็น่าจะเป็นการแชร์ไอเดียระหว่างกัน เพราะอย่างไร 6 หู ก็น่าจะดีกว่า 2 หูอยู่แล้ว” คลิกอ่านเรื่องวงเตรียมอุดมฯ

ย้อนหลังกลับไปในเวลาก่อนหน้านี้ อาจารย์ชัยภัคคือบุคคลากรทางดนตรีไทยคนสำคัญ เป็นสมาชิกในวงดนตรีไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล อย่าง “วงกอไผ่” ซึ่งวงได้รับรางวัลมากมาย อีกทั้งภาพยนตร์โหมโรงยังมีชื่อของท่านเป็น 1 ใน 2 ผู้สร้างสรรค์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ด้วย

สำหรับผมดนตรีเป็นได้ทุกเรื่อง เป็นอะไรที่หล่อเลี้ยงเราได้

โดยที่เราไม่ต้องนั่งอยู่หน้าเครื่องดนตรีเวลาเครียดได้แต่อย่าเครียดนานให้เอาดนตรีมาช่วย”

อาจารย์ชัยภัค ภัทรจินดา
หนึ่งในทีมครูผู้ดูแล วงเตรียมอุดมศึกษา (THE POWER BAND 2023)
ศิลปินศิลปาธรและสมาชิกวงกอไผ่

 

จุดเริ่มต้นบนถนนดนตรี

กว่าจะมาถึงความสำเร็จและมีความรู้ความสามารถแบบนี้ก็คงไม่ใช่จับสลากได้มา เราเลยอยากฟังอาจารย์เล่าถึงเส้นทางสายดนตรีและแรงบันดาลใจของท่าน “เด็กๆ ผมอยู่ต่างจังหวัดก็ร้องเล่นตามประสา ในทีวีมีเพลงเปาบุ้นจิ้น เพลงปลุกใจ ก็ร้องตามเขา แต่ ป.5 เดินผ่านห้องดนตรีไทยแล้วสนใจเลยสมัครเรียนดูแล้วก็เล่นเรื่อยมา แต่จุดที่ได้พัฒนาตัวเองคือเรียนรู้จากการฟัง ได้ขยายการรับรู้ด้านดนตรี ได้ฝึกทักษะจากการฟัง คิดเปรียบเทียบว่าวงนี้เขาเล่นแบบนั้นแบบนี้”

“ผมเริ่มจากดนตรีไทยก่อน เรียนซอด้วงที่โรงเรียน แล้วที่บ้านมีขิมเก่าที่ปู่ทิ้งเอาไว้ ก็ลองเล่น เรียนรู้ด้วยตัวเอง จากนั้นขลุ่ยก็ตามมา ตอนหลังมาฟังเพลงสากล เพลงจีน ก็ได้ความรู้ด้านดนตรีส่วนอื่นเอามาปะติดปะต่อ” คลิกอ่านผลิตผลหนึ่งของอาจารย์ในฐานะผู้คุมวง ที่เรื่องนักดนตรีซออู้วงเตรียมอุดมฯ 

“เพลงสากลผมฟังตั้งแต่ยังเล่นดนตรีไม่เป็น ได้ยินจากสื่อก็จดจำ เพลงเหล่านั้นเหมือนเป็นครู พอเรามีทักษะก็ศึกษาจากเพลงเหล่านั้นแล้วแกะออกมาเป็นโน้ต พบว่าเพลงสากลมีวิธีเล่นต่างจากดนตรีไทย มีไลน์ประสาน มีเครื่องดนตรีที่ต่างกันไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นศึกษาดนตรีสากล เริ่มรู้จักเสียงและไลน์เครื่องดนตรี จนมาเรียนเรื่องคอร์ด เรื่องเสียงประสานตามมา”

 

เพลงที่ให้แรงบันดาลใจ
ในความรักดนตรีของอาจารย์ชัยภัค

• เพลงชเวดากอง (วงฟองน้ำ)

• เพลงเรื่องพระฉันท์(เพล) (วงฟองน้ำ)

• เพลงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (ฟรานซิส ยิป)

• เพลงกระบี่ไร้เทียมทาน (ไมเคิล กวัน)

 

ใช้เรียนรู้ด้วยตัวเองและการฝึกฝน
เป็นความมุ่งมั่นสำคัญ

 

 

ถ่ายทอดเทคนิคและจิตวิญญาณ

ปัจจุบันอาจารย์ชัยภัคมีงานหลักเป็นข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมตามที่เรียนมา แต่สิ่งที่ทำควบคู่กันอยู่ตลอดทั้งชีวิตคือการเป็นครู เป็นวิทยากร เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่คนรุ่นใหม่ที่รักดนตรี “ผมเริ่มเป็นครูสมัยยังเล่นดนตรีและร่วมกิจกรรมกับชมรมดนตรีของมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ก็เล่นดนตรีกับวงกอไผ่ จนอาจารย์ชนก สาคริกให้ช่วยเป็นอาสาสมัครสอนรุ่นน้อง”

“น่าจะสอนมา 10 กว่าปีแล้ว แล้วก็เป็นอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาด้วย ดูแลวงดนตรีไทยร่วมสมัย ทั้งสอน ทั้งเป็นโค้ช ทำเพลงให้ด้วย เพราะวงก็มีงานประกวดอยู่ตลอด แล้วก็ไปเป็นวิทยากรพิเศษ ให้ความรู้นักศึกษาทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท ให้หลายสถาบันที่เชิญมา”

พลัง…(ดนตรี)…ไทย พลังแห่งความเป็นไปได้

สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามของดนตรีไทยคือ “ตอนปี 2531 ผมมีโอกาสรู้จักกับพี่จ๋าย จำรัส เศวตาภรณ์ ท่านเห็นฝีมือเรา ก็เลยชักชวนไปเล่นดนตรีบันทึกเสียงในเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่องนางนวล  ผมเป่าขลุ่ยในเพลงประกอบเรื่องนั้น เป็นจังหวะดีที่เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รับรางวัลชนะเลิศเอเชียแปซิฟิก” นี่คือหนึ่งในบันไดอีกขั้นในการพาดนตรีไทยก้าวสู่วงการดนตรีในระดับสากล

 

ทำภารกิจของการเป็น “ครู”

ถ่ายทอดให้ศิษย์อย่างต่อเนื่อง

 

อาจารย์ชัยภัคยังทำงานเพลงและดนตรีควบคู่กันมาตลอด ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกวงกอไผ่ แต่งเพลง ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ โฆษณา สารคดี แต่อาจารย์ก็บอกว่ายังคงเป็นมือสมัครเล่นมากกว่า “เหมือนเรามีโอกาสและจังหวะเข้ามาทำงานส่วนนี้ หรืออาจมีสิ่งที่คนอื่นเอาไปใช้งานได้ ส่วนตัวเราก็ได้ทำตามที่ชอบ ที่มีใจรัก ทำสิ่งที่ถนัดและอยากทำมากกว่า”

นอกจากทักษะ เทคนิค หรือความรู้ในเรื่องดนตรีแล้ว อาจารย์ยังให้แนวคิดในการใช้ชีวิตด้วย “มีโอกาสก็พยายามบอกเด็กๆ ว่า ตอนนี้เราเก่ง เราคล่อง แต่เราต้องคิดให้เป็น พยายามฝึกคิดให้เยอะ ใช้เหตุผลให้เยอะ ผมสังเกตจากตัวเองนี่แหละ ว่าเราเรียนดนตรีจากการวิเคราะห์หาเหตุผล มองให้ออกว่าทุกเรื่องทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น”

“ถ้าเราฝึกคิด ฝึกทำ เช่น เรื่องการทำเพลง ถ้าเราคิดเอง ทำเองได้ สร้างอะไรที่เป็นตัวเราได้ ก็มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น คล่องอย่างเดียวถึงจุดหนึ่งมันจะหายไป เราไม่สามารถวิ่งเร็วๆ ได้ทั้งชีวิต แต่ถ้าคิดเป็นจะได้เปรียบ และทำอะไรได้อีกเยอะ”

 

ความพยายามส่งผล

เริ่มจากทำสิ่งที่รัก ได้เรียนรู้เพิ่ม ถนัดและรู้จริงในสิ่งที่ทำ เมื่อมีคนเห็นความตั้งใจและผลงาน ความสำเร็จก็ตามมา “ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) ผมได้รับรางวัลศิลปาธร ก็ดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าและมองเห็นผลงานของเรา ไม่ใช่ว่าเราทำเพลงแต่ไม่มีคนรู้จัก ที่ภูมิใจก็น่าจะเป็นมุมนั้น ว่าสิ่งที่เราทำมาอย่างยาวนานกว่า 20-30 ปี ยังมีคนชื่นชม ถือเป็นกำลังใจที่จะทำงานต่อไป”

ศิษย์สำเร็จ…อีกความสำเร็จของอาจารย์

นอกจากความสำเร็จส่วนบุคคลแล้ว ความสำเร็จของลูกศิษย์ ก็สร้างความภูมิใจให้อาจารย์ไม่น้อย ล่าสุดที่ เจสัน – ปัณณทัต นราแก้ว ตำแหน่งซอของวงเตรียมอุดมศึกษา ได้รับรางวัล Outstanding (นักร้องนัก/ดนตรียอดเยี่ยม) ของ Class A จาก THE POWER BAND 2023 พร้อมทั้งวงยังได้รางวัล Best Creative ด้วย “ผมสอนเจสันอยู่หลายวัน เน้นหนักเหมือนกันเพราะ 1 ใน 2 เพลงที่ใช้ประกวดเสียงซอต้องโดดเด่นและทำให้คนฟังรู้สึกว้าว เลยบอกเขาว่าคุณต้องมีอะไรบ้าง และต้องส่งอะไรออกไปบ้าง พยายามให้เขาเห็นภาพว่า Output สุดท้ายจะเป็นอะไร ถ้าคนฟังไม่เก็ตมันก็ไม่สำเร็จ บอกเขาว่าเสียงซอมีผลมาก ให้เขานึกให้ออกว่าความรู้สึกของเพลงตรงนั้นคืออะไร ได้ยินแล้วเขารู้สึกอย่างไร”

 

ให้ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเพลง

เป็นสิ่งสำคัญในการเล่นดนตรี

 

“นี่เป็นการสอนแบบย้อนกลับ จะทำให้เกิดความรู้สึกนั้นเราต้องมีอะไรบ้าง เช่น เสียงโน้ตต้องมีสั้นยาวหนักเบา ถ้าไม่มีเสียงซอก็จะแข็งทื่อ ไม่มีอารมณ์ และยังมีไฟต์บังคับว่า ถ้าคุณเอาเครื่องดนตรีไทยมาเล่นกับสากล ต้องให้บันไดเสียงกลมกลืนกัน ให้เสียงมันไปกันได้และไม่เพี้ยน มาดูกันที่ละวรรค ทีละประโยค ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ถ้าทำน้ำหนักแบบนี้จะสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบใดได้บ้าง และผมยังมีทางเลือกให้เขาเลือกให้เล่นแบบที่เขาถนัด เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน อีกทั้งเรามีเวลาจำกัด ความสำเร็จครั้งนี้ก็ถือว่าดีมาก อาศัยทักษะของเขาด้วย ที่สามารถแก้ไขและปรับตัวได้ค่อนข้างเยอะ”

 

Q: เทคนิคหรือแนวคิดในการทำดนตรีหรือแต่งเพลงของอาจารย์คืออะไร

A: เวลาทำเพลงผมพยายามคิดอะไรที่มันฉีกหรือต่างออกไป เช่น ทำเพลง เราอาจจะทำตามสูตรสำเร็จไปสักระยะ แต่วันหนึ่งต้องหนีจากสูตรไปเป็นไม่มีสูตรเพื่อฉีกไป ต้องทดลองทำ คนทำงานศิลปะถึงจุดหนึ่งต้องคิดแบบนี้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นซ้ำซากจำเจ ลองคิดอะไรใหม่ๆ พลิกแพลงได้ ไม่มีถูกหรือผิด ก็น่าจะสร้างงานสร้างสรรค์ได้

และสุดท้ายอาจารย์ชัยภัคยังมีข้อคิดฝากถึงลูกศิษย์ทุกคนว่า “เรื่องรางวัลหรือความสำเร็จเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีใจแต่ชีวิตจริงยังต้องเจออะไรอีกมาก ประกวดชนะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะต้องเจอหรือต้องทำในชีวิต พยายามเน้นว่าในเนื้อแท้นั้นคือให้เขารู้จริงในสิ่งที่เขาทำหรือเรียน ให้ระลึกแบบนั้นอยู่ตลอด อยากจะให้ชัดเจนว่าเขาควรจะพัฒนาเรื่องอะไรให้มากขึ้นแบบนั้นมากกว่า”

 

ปัจจัยความสำเร็จจากประสบการณ์ของอาจารย์ชัยภัค

✔ใช้เรียนรู้ด้วยตัวเองและการฝึกฝน เป็นความมุ่งมั่นสำคัญ

✔ทำภารกิจของการเป็น “ครู” ถ่ายทอดให้ศิษย์อย่างต่อเนื่อง

✔ให้ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเพลง เป็นสิ่งสำคัญในการเล่นดนตรี

 

สารคดีถ่ายทอดเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจชุด The Power Band 2023 presents a “Music Makes Life Possible” story ดนตรี ความฝัน ความเป็นไปได้ จากเวที THE POWER BAND 2023 Season 3 เวทีการประกวดวงดนตรีคุณภาพระดับประเทศ

Author

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว

Author

นักเล่าเรื่อง ผู้มีหนังสือและการเดินทางเป็นดั่งลมหายใจ นิยมชมชอบท้องฟ้า กาแฟ และแมว