Playground

สุรนารีวิทยา…ความสุขในโน้ตดนตรี

ศรัณย์ เสมาทอง 22 Sep 2021
Views: 562

ทุกวันหลังเลิกเรียน เสียงเพลงบรรเลงจากวงดุริยางค์เครื่องลมจะดังออกมาจากห้องซ้อม นักเรียนหญิงร่วมร้อยคนรวมวงบรรเลงอย่างเป็นระเบียบ มุ่งมั่น จริงจัง ตั้งใจ…แต่รู้สึกได้ถึงความสุขของทุกคน

“เราเลือกเล่นเพลงที่เราอยากเล่นเรามีเสียงดนตรีที่ดีร่วมกันเรามีปัญหาเราก็แก้ปัญหาด้วยกันเหนื่อยท้อรู้สึกแย่แล้วก็ดีขึ้นไปพร้อมกันบางทีนั่งรถ 7 ชั่วโมงเพื่อไปเล่น 15 นาทีขึ้นเครื่องบิน 20 ชั่วโมงเพื่อไปเล่น 2-3 ชั่วโมงแต่มันคือความสุข”

ทุกพื้นที่ในโรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ที่เสียงดนตรีของวง Suranaree Girls Wind Symphony แทรกเข้าไปถึง ล้วนรับรู้ได้ถึงความสุขที่ลอยมาพร้อมตัวโน้ต

 

ห้องเรียนพิเศษดนตรี

ยามเช้าวันเปิดเรียนของโรงเรียนหญิงล้วนสุรนารีวิทยายังมีวงดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติบรรดานักเรียนเห็นบทบาทอยู่เป็นประจำบางวันก็ไปบรรเลงคอนเสิร์ตเล็กๆ ตามงานต่างๆ ในจังหวัดมีไปประกวดต่างประเทศกันทุกปีเด็กหลายคนก็อยากเท่อยากเก่งเหมือน “เด็กดุริยางค์” เดินไปสมัครชมรมดนตรีสากลเผื่อจะเสริมพรพิเศษที่อาจจะมีโดยไม่รู้ตัวด้วยการฝึกฝนจนกลายเป็นความสามารถพิเศษ

ฝีมือดนตรีของนักเรียนโรงเรียนสุรนารีวิทยาไม่ได้อยู่ในระดับธรรมดาวง Suranaree Girls Wind Symphony ของโรงเรียนนี้ไปชนะบนเวทีระดับโลกมาแล้วหลายครั้งสมาชิกในชมรมมีครบตั้งแต่ม.1 – ม.6 

“อันดับแรกผมคิดว่าดนตรีให้ความมั่นใจกับเขา ให้ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า อันที่สองก็คือเสียงตบมือจากคนอื่นๆ หมายถึงการยอมรับ มาเล่นดนตรีอยู่วงดุริยางค์ เดินไปที่ไหนคนก็บอกว่ามันเก่งว่ะ มันจะมีความภูมิใจขึ้นมาในชีวิต” อ.อภิวุฒิ มินาลัย ผู้ควบคุมวงผู้ที่อยู่กับเด็กนักเรียนเสมือนคนในครอบครัวเอ่ยถึงความรู้สึกของเด็กๆ

ที่นี่มี โครงการห้องเรียนพิเศษดนตรี เป็น 1 ใน 20 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยจะรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตอนนี้เพิ่งมีครบ 3 ชั้นปี คือ ม.4 – ม.6 ชั้นปีละประมาณ 20 คน อาจารย์บอกว่าเป็นการเตรียมปีหนึ่งกลายๆ เวลาเข้ามหาวิทยาลัยจะได้ราบรื่นไม่ช็อก 

ถ้าเป็นสมัยก่อนเด็กมัธยมก็ฝึกเล่นดนตรีอย่างเดียว หรืออยู่ในวงโยธวาทิตทั้งปีเล่นเพลงกับเดินสวนสนามอยู่ 4 เพลง พอเข้าปี 1 เจอเนื้อหาวิชาดนตรีเข้าไปจะตกใจมาก โครงการจึงมีการสอนประวัติศาสตร์ดนตรี สอนดนตรีคลาสสิกเน้นไปทางเครื่องเป่า มีเรียนคีย์บอร์ดไว้เป็นพื้นฐาน เรียนการจัดการแสดงดนตรี เรียนคอรัสเพื่อฝึกประสาทหู มีการประพันธ์เพลง ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้าง 

“มีเด็กล่าฝันมาบ้างเหมือนกัน จากมุกดาหาร กาฬสินธุ์ เชียงรายก็มี เขาบอกว่าอยากเล่นดนตรีกับวงนี้ บางคนพ่อแม่ก็พยายามยื้อให้อยู่ใกล้บ้านก่อนตอนมัธยมต้น พอ ม.ปลาย ก็ขอมาสอบเข้าโครงการห้องเรียนดนตรี พวกนี้อยากเป็นนักดนตรีจริงๆ”

เรื่องราวเหมือนในหนังนักเรียนดนตรีเพียงแต่เรื่องนี้เป็นนักแสดงหญิงล้วน

ดนตรีไม่มีทางลัด

นักเรียนห้องพิเศษดนตรีทุกคนจะมีเรื่องดนตรีประจำตัวอยู่แล้วและในชมรมยังมีรุ่นน้องกับคนที่ไม่ได้อยู่ห้องเรียนดนตรีมาร่วมเล่นด้วยแต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามการเล่นดนตรีไม่มีทางลัดจะเรียนทฤษฎีแล้วเล่นเป็นเพลงได้เลยนั้นไม่มี “อยากได้เสียงแบบไหนก็ต้องซ้อมเป่าให้ได้แบบนั้นอยากตีให้ได้น้ำหนักแบบไหนก็ต้องซ้อมใครจะบอกว่าเด็กยุคใหม่ไม่ค่อยมีความอดทนมาดูเด็กดนตรีได้ว่าอดทนขนาดไหน”

สิ่งสำคัญของการเล่นเป็นวง คือ ไม่มีฮีโร่! คนที่เล่นได้แล้วจะก้าวไปคนเดียวไม่ได้ เพราะถ้ามีคนเล่นเพี้ยนไปสักคน ก็คือเพี้ยนทั้งวง คนที่เล่นดีแล้วต้องมองย้อนมาดูคนอื่น รุ่นพี่ต้องลงมาสอนรุ่นน้อง พากันไปทั้งวง เป็นการฝึกทางอ้อมให้คิดถึงคนอื่นมากกว่ามองแต่ตนเองเท่านั้น

“ทุกคนต้องดูกันว่ามีใครติดปัญหาอะไรบ้างแล้วช่วยกันบางคนอาจจะกดไม่ถูกเคลื่อนนิ้วช้าลงน้ำหนักเสียงไม่ถูกหายใจไม่เป็นนักเรียนก็ต้องช่วยเขาแก้ไขถ้าอันไหนไม่ได้จริงๆ จึงมาปรึกษาครูอีกที”

แต่ละเครื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นฟลูต (Flute)  คลาริเน็ต (Clarinet) แซกโซโฟน (Saxophone) ทรัมเป็ต (Trumpet)  ทรอมโบน (Trombone) เฟรนช์ ฮอร์น (French Horn) ยูโฟเนียม (Euphonium) ทูบา (Tuba) ดับเบิลเบส (Double Bass) เพอร์คัสชัน (Percussion) เรี่อยไปจนถึงเปียโน  ก็จะมีแบ่งเป็นเซ็กชั่น มีหัวหน้ากลุ่มผู้เล่น หรือ Principal แบบวงมืออาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพี่ม.6 ดูแลเครื่องมือเดียวกันในแต่ละแถว ซึ่งอาจจะมี 3-4 คน พากันไปแยกฝึกซ้อมก่อนจะมารวมวงด้วยกันอีกที น้องๆ ที่เป็นลูกทีมก็ต้องเตรียมตัวไว้ เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเขาก็ต้องเลื่อนขั้นมาเป็น Principal เช่นกัน

“การเล่นหรือแข่งแต่ละครั้งเราจะสลับให้มือใหม่มือเก๋าได้มีโอกาสแสดงฝีมือทุกคนเพลงที่ไม่ยากมากอาจให้น้องๆ มาโซโลนำถ้าเพลงยากก็ให้พวกประสบการณ์สูงมานำหมุนเวียนกันไป” 

เรียกว่า…ถ้าจะเก่งก็ต้องเก่งไปด้วยกันนักดนตรีที่นี่ถึงรักกันมากเป็นพิเศษ

เรียนดนตรีไปทำไม

ชัยชนะจากการแข่งขันเป็นเพียงส่วนหนึ่งปี 2562 Thailand International Wind Symphony Competition (TIWSC) ซึ่งเป็นการจัดร่วมกันของคิงเพาเวอร์ไทยเพาเวอร์กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดลตามมาด้วยปี 2563 วงดุริยางค์หญิงล้วนของโรงเรียนสุรนารีวิทยาคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน (Middle Class) รางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมที่ทำคะแนนได้สูงสุด 95.33 คะแนนในการแข่งขัน International Festival of Wind Orchestra Prague 2020 ครั้งที่ 22 จากกรุงปราก สาธารณรัฐเช็กเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่หลังจากไปกวาดรางวัลจากต่างประเทศมาเป็นระยะๆ จนเป็นที่น่าสงสัยว่าอนาคตของนักเรียนดนตรีที่นี่จะเติบโตไปทางใด

 

เขาจะรู้ไหมว่ามาเรียนดนตรีกันไปทำไม?

นักเรียนเป็นร้อยคนอาจมีบางคนที่อยากเดินทางสายดนตรีแล้วเติบโตไปเป็นนักดนตรีระดับประเทศหรือระดับโลกกลุ่มนี้จะตั้งใจไปเรียนต่อด้านดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยมีประมาณร้อยละ 5-10 เท่านั้น

“เด็กบางคนเก่งมากเก่งกว่าครูเสียอีกแต่เชื่อไหมว่าเด็กแบบนี้จะเก่งวิชาอื่นด้วยก็อยู่ที่พ่อแม่แล้วล่ะว่าจะสนับสนุนไปทางไหนบางคนก็ได้ไปเรียนดนตรีต่อบางคนก็ไปเป็นหมอ…ที่เล่นดนตรีเก่งด้วย”

อีกกลุ่มหนึ่งคือเป็นคนที่อยากเดินในสายที่ “คล้ายดนตรี” ธุรกิจดนตรีการจัดการแสดงดนตรีมัลติมีเดียภาพยนตร์ที่ใช้ดนตรีเป็นองค์ประกอบมีราวๆ 30-40 เปอร์เซ็นต์

“กลุ่มสุดท้ายคือฉันแค่อยากเล่นดนตรีให้มีความสุขแต่ไม่ได้อยากจะทำอาชีพทางด้านนี้บางคนใช้ portfolio ดนตรีไปยื่นแบบเรียนสาขาวิทยาศาสตร์การอาหารหรือสาขาภาษาฝรั่งเศสมหาวิทยาลัยรับพิจารณานะเขาดูว่าเป็นคนที่เสียสละทำเพื่อสังคมเพราะการซ้อมเพื่อไปแข่งขันต่างประเทศหลายๆ ปีมันมีการทุ่มเทและการทำงานหนักจึงพิจารณาเป็นคะแนน”

ที่จริงคำถามว่า “เรียนดนตรีไปทำไม?” คงมีไว้ถามครอบครัวและสังคมรอบข้างของเด็กเหล่านี้เสียมากกว่า

ความสุขในตัวโน้ต

“เด็กยุคนี้จะมีเหตุผลบางทีก็ถามว่าทำไมเล่นเพลงนี้ทำไมไม่เล่นอีกเพลงนึงเพลงนั้นเพราะกว่าหรือว่าไปฟังเพลงมาแล้วมาถามว่าเอาเพลงนี้มาเล่นในวงโยธวาทิตหน้าเสาธงได้ไหมอะไรอย่างนี้เด็กกล้าพูดกล้ายกมือถามกล้าเถียงโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ”

หลังเลิกเรียนประมาณ 4 โมงครึ่งนักดนตรี Suranaree Girls Wind Symphony ก็ลงมาอยู่ที่ห้องดนตรีซ้อมถึงทุ่มครึ่ง-สองทุ่มพ่อแม่จะมารับหรือบางคนก็กลับเองเพราะโรงเรียนไม่ได้อยู่นอกเมืองมากนัก

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความสุขจากตัวโน้ตคงแปลความหมายได้เหมือนเดิมเสมอมา

 

Suranaree Girl Wind Symphony & Marching Band 

โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา

 

Facebook: Suranaree Girls Wind Symphony & Marching Band

 

ปักหมุดจุดเช็คอินแชะรูปท่องเที่ยวใกล้เคียง 

สะพานไม้ 100 ปี : บ้านโคกกระชาย อำเภอครบุรี เป็นสะพานไม้พาดผ่านกลางทุ่งนากว่าร้อยไร่ ความยาวสะพาน 1 กิโลเมตร เดินชมทิวทัศน์ ถ่ายภาพสวยๆ ถ้าช่วงหลังฝนซาอาจมีเสียงหรีดหริ่งเรไร กบ เขียด ประสานเสียงราววงซิมโฟนี

อุทยานแห่งชาติเชาใหญ่ : มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ได้เดินป่าศึกษาและซึมซับธรรมชาติได้ทุกฤดู สามารถกางเต็นท์สัมผัสบรรยากาศป่า ฟังเสียงดนตรีที่บรรเลงด้วยสิงสาราสัตว์ให้อิ่มเอม

จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม : แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดดเด่นที่ทุ่งดอกไม้นานาชนิด แปลงพืชผักปลอดสารพิษ รวมถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม ไปจนถึงการพิมพ์ผ้าไหม จะลองลงมือทอผ้าย้อมผ้าก็สามารถทำได้

 

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก